ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #272 : 6 นรก "วนลูป" ในการ์ตูนญี่ปุ่น

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 11.76K
      8
      5 ก.ค. 57

    ช่วงนี้  เห็นว่าทั้งอนิเมะมังงะหลายเรื่อง เริ่มมีพล็อตดำเนินเรื่องแบบ “วนลูป” ออกมาค่อนข้างเยอะพอสมควร  แน่นอนว่าหลายคนให้ความรู้สึกกันกับการดำเนินเรื่องแบบนี้แตกต่างกัน ดังนั้นบทความนี้จึงขอพูดการดำเนินเรื่อง “วนลูป” หน่อยว่า ผมมีความคิดเห็นและมองพล็อตดำเนินเรื่องแนวนี้ยังไงบ้าง

    ลูป (Loop) หากดูตามพจนานุกรมแล้วมีหลายความหมาย  เป็นต้นว่า การเคลื่อนที่เป็นวงแหวน, ทำเป็นห่วง (ผูกเป็นห่วง), ห่วงคุมกำเนิดที่นำไปใส่ในช่องคลอด ฯลฯ

                    ตามคำศัพท์ของคอมพิวเตอร์แล้ว วนลูป หมายถึง คำสั่งในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สั่งให้ย้อนกลับไปปฏิบัติคำสั่งเดิมซ้ำ แทนทีจะทำคำสั่งต่อไปตามปกติ การสั่งให้ทำซ้ำนั้น อาจสั่งให้ทำจนกว่า...... วนอยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ เมื่อวนพอแล้ว ก็จะต้องมีคำสั่งให้ออกจากวงวนนั้นอีกทีหนึ่ง นี่คือความหมายว่า วนลูป” (ง่ายคือๆ ทำซ้ำไปมาไม่มีวันสิ้นสุด)

                    ส่วนคำไทยที่ตรงกับคำว่า ลูปก็คือ วังวน ซึ่งหมายถึงการถูกดึงให้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ หรืออะไรบางอย่าง ซึ่งการที่จะหลุดพ้นนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะทำได้หรือไม่ บางคนก็ทำไม่ได้ต้องจมอยู่กับวังวนตลอดกาลก็มี (เช่น วังวนแห่งการแก้แค้น, วังวนแห่งการเจ็บปวด, วงวันแห่งความตกต่ำ) แน่นอนว่าศาสนาพุทธเองก็พูดถึงวังวนเอาไว้อย่าง วังวนแห่งกรรม ที่มนุษย์อย่างเราๆ นั้นมีกรรม ทุกข์ ไม่วันจักจบสิ้น

                    พูดถึง วังวนแห่งกรรมแล้ว เมื่อเทียบกับคำว่า วนลูปแทบไม่แตกต่างกันเลย เพราะทั้งสองอย่างล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น  จนเรียกได้ว่าเป็น นรกทั้งเป็นก็ว่าได้

     วนลูป” (Time Loop) เป็นพล็อตที่พบมากในนิยายวิทยาศาสตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจักรวาลที่เดินข้ามกาลเวลาเป็นเรื่องปกติา) หมายถึง เหตุการณ์ที่เราต้องติดอยู่ในห้วงเวลา เหตุการณ์ (ไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน) ซ้ำไปซ้ำมา แบบไม่รู้จักจบสิ้น หากเมื่อมีอะไรแทรก (เช่น เราตาย, เพื่อนตาย, คนรักตาย) ก็จะเกิดการรีเซ็ต (Snap Back) ขึ้นมาใหม่ ให้กลับไปยังจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ (วันที่เริ่มเกิดเหตุวันลูป) และส่วนมากหลังจากที่วนลูปกลับมาสู่เริ่มต้นตัวเรายังคงจดจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้แบบเดจาวู ในขณะที่ตัวละครอื่นๆ นอกจากตัวเราไม่ความจำแม้แต่น้อยว่าวนลูป

    หากเปรียบเทียบง่ายๆ อีก มันก็คือไทม์แมนซีนย้อนอดีตดีๆ นี้เอง เพียงแค่การย้อนอดีตดังกล่าวเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย จู่ๆ มันก็เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีสัญญาณเตือนอะไรทั้งสิ้น และไม่ทราบเหตุผลทำให้เกิด (ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราต้องหาเอาเองว่าทำไมมันถึงเกิด) ตัวเราถูกย้อนอดีตไปยังเหตุการณ์เดิมซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จักจบสิ้น แน่นอนว่าสถานการณ์ที่ใครๆ ไม่อยากจะเจอหรืออยากเข้าไปสัมผัสอย่างแน่นอน 

                    ตัวอย่างที่หลายคนรู้จักกันดี คือภาพยนตร์  Groundhog Day (1993) ซึ่งในเรื่องกล่าวถึงพระเอกฟิลล์ คอนเนอร์ (แสดงโดย Bill Murray) ต้องพบผลกระทบขอเวลา ที่เขาติดอยู่ในวังวนวันเวลา ที่ต้องใช้วันเดิมวันเดียวซ้ำไปซ้ำมา แทนที่จะเป็นวันใหม่

    นอกจากนี้มีเรื่องคล้ายๆ “วนลูป” อย่างเรื่อง Steins; Gate  ที่พระเอกรินทาโร่ โอคาเบะ ต้องย้อนเวลาหลายครั้งเพื่อช่วยเพื่อนสมัยเด็ก จนเหมือนวนลูป  แต่ไม่ใช่เรียกวนลูป หากแต่มันคือ "ข้ามเส้นโลก" (World line) เป็นทฤษฏีที่ว่าถ้าโลกใบนี้คือเชือกที่เป็นเส้นตรง  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอดีตเกิดขึ้นทุกสิ่งบนโลกจะข้ามไปยังเส้นโลกที่เป็นเชือกเส้นใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเดิม ซึ่งคล้ายกับ “โลกคู่ขนาน”  (หรือจักรวาลคู่ขนาน)

    ส่วน “จักรวาลคู่ขนาน” แตกต่างจากวนลูป เพราะจักรวาลคู่ขนาน, มิติคู่ขนาน หรือโลกคู่ขนานนั้น เป็นแนวคิดว่า จักรวาลที่ดำเนินไปพร้อมกับจักรวาลที่เราอยู่นี้ ในโลกนี้ที่เรามีตัวตนอยู่ในขณะนี้ ยังมีตัวเราอีกคนหนึ่งในอีกโลกหนึ่ง และโลกที่ว่ามีมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งโลกเหล่านี้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า “หากว่า” กล่าวคือเมื่อมีเหตุการณ์หนึ่งให้เราตัดสินใจหลายตัวเลือก และตัวเลือกต่างๆ จะเกิดโลกคู่ขนานมากมายนั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าก็มีบุคคลพิเศษที่สามารถไปๆ มาระหว่างโลกคู่ขนาน มิติต่างๆ ได้ เป็นต้นว่าอลิซาเบท จาก  Bioshock Infinite

    กลับมาที่ “วนลูป” ต่อ (ก่อนที่จะออกทะเลไปเสียก่อน) แน่นอนว่า การ์ตูนญี่ปุ่นการดำเนินเรื่องแบบ “วนลูป” นั้นมีมานานแล้วเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้วนลูปทั้งเรื่อง แต่เน้นไปเพียงเป็นช่วง (ตอน, รูท)  เท่านั้น เป็นต้นว่า Jinrui wa Suitai Shimashita ตอนที่ 7-8 การบริหารเวลาของคุณภูติ (The Fairies' Time Management ) ซึ่งเป็นตอนที่นางเอกติดห้วงเวลา “วนลูป”  หลายครั้งมากในระหว่างเดินทางไปรับผู้ช่วย หรือจะอาจเป็นความสามารถพิเศษเล็กๆ อย่างเรื่อง Cardcaptor Sakura  นางเอกใช้การ์ด “วนลูป” ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ  หรือ JoJo's Bizarre Adventure ก็มีสแตนท์ที่มีความสามารถคล้ายๆ กับวนลูปคือสแตนท์ของโจรูโน่ โจบาน่า ที่ชื่อ โกลด์ เอ็กสืพีเรียน เรเควี่ยม (Gold Experience Requiem) ที่หากโจมตีศัตรู ศัตรูจะถูกวนลูปไปในช่วงเวลา ตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอดกาล เมื่อตายไปแล้วหนึ่งครั้งก็จะฟื้นมา กลับมาในเหตุการณ์ที่ตนตายอีกครั้งเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ถือว่าเป็นความสามารถที่โหดมาก

    แน่นอนว่าผมไม่สามารถระบุได้ว่าการ์ตูนไหนมีเรื่อง “วนลูป” ก่อน แต่ถ้าจะเอาแบบที่หามา เก่าสุดคืออนิเมะ “ลามู ทรามวัยจากต่างดาว” (Urusei Yatsura)  ภาพยนตร์ตอน Beautiful Dreamer ที่เปิดตัวในปี 1984 ซึ่งเป็นภาพยนตร์จอเงินชุดที่สองของลามู ซึ่งเนื้อเรื่องที่พระเอกอาตารุติดอยู่ในวังวนของวนลูป ในวันจัดงานโรงเรียน ที่วกวนซ้ำซากไม่จบไม่สิ้น ไม่ยอมขึ้นวันใหม่ (ซึ่งภายหลังพระเอกได้รู้แล้วว่าเป็นฝีมือของปีศาจฝัน)

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีอนิเมะและมังงะที่ “วนลูป” กลายเป็นการดำเนินเรื่องหลักๆ แถมเริ่มฮิตอีกต่างหาก  และแน่นอนว่าคนที่ดู/อ่าน แนวนี้มีความคิดเห็นและความรู้สึกแตกต่างกัน

    ที่น่าสนใจคือ การ์ตูนญี่ปุ่นที่ใช้ “วนลูป” ที่นำมาใช้ดำเนินเนื้อเรื่องหลักๆ นั้น ช่วงนี้จะออกไปทางดราม่า, เลือดสาด, ลึกลับ, จิตวิทยา เป็นหลัก (หากสมัยก่อน ส่วนมากเป็นตอนๆ และออกไปทางตลกหรือโรแมนติกมากกว่า) กล่าวคือมักดำเนินเรื่องที่พระเอกตกอยู่ในวังวนเหตุการณ์ “วนลูป” ที่ได้เห็นเหตุการณ์คนสำคัญของพระเอก (ส่วนมากเป็นนางเอก ไม่ก็คนรัก) ตายต่อหน้าต่อตา หรือไม่ก็ ตัวเอกตาย หากแต่แทนที่จะดำเนินต่อไป ก็จะเกิดการรีเซ็ตกลับมาจุดเริ่มต้นอีกครั้ง ซึ่งพระเอกจะพยายามทำทุกอย่างไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำสอง แต่กลายเป็นว่าไม่ว่าจะทำอย่างไร ตนก็ไม่สามารถหยุดความตายนี้ได้เลย เขาต้องกลับไปยังจุดเริ่มต้นแบบนี้ซ้ำไปมาโดยไม่รู้จบ

    ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุที่วนลูปนั้น  ก็เกิดขึ้นเพราะความต้องการที่ตัวเอกต้องการที่จะ “แก้ไขอดีต” แก้ไขข้อผิดพลาดที่ผ่านมา ที่ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ตรงกับเงื่อนไข ซึ่งหากทำไม่ตรง ก็ไม่สามารถผ่านเหตุการณ์ไปได้ และต้องรีเซ็ตกลับมาเหมือนเดิม

    ที่น่าสนใจคือ ในขณะที่การวนลูปในสื่อบังเทิงต้องการให้คนแก้ไขข้อผิดพลาด หากแต่ตำนานเก่าแก่ของโลก จะพบว่า “วนลูป” ส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ให้โอกาสให้คนแก้ไขความผิดพลาด หรือแก้ไขบาปตนเอง แต่เป็นการลงโทษคนแบบไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด ในตำนานกรีกมีเรื่องเทพเจ้าลงโทษแบบวนลูปชั่วนิรันดร์ ที่ดังๆ คือการลวโทษโพรมีธีอุสที่แอบขึ้นไปขโมยไฟสวรรค์ของโอลิมปัส จนถูกลงโทษด้วยการจับตรึงไว้กับชะง่อกผาสูง  ตอนกลางวันจะทรมานเพราะจะมีนกเหยี่ยว (หรือพญาแร้ง) บินมาจุกกินตับของโพรมีธีอุสและจะต้องตาย แต่ตอนกลางคืนตับจะงอกเกิดขึ้นใหม่แล้วฟื้นในเช้าวันใหม่ และนกเหยี่ยวจะบินมากินตับอีกเป็นเช่นนี้ไปตลอดกาล  วนลูปเป็นเวลานานถึงสามหมื่นปี จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากเฮอร์คิวลิสวีรบุรุษแห่งกรีก ซึ่งเฮอร์คิวลิสได้สังหารนกเหยี่ยวนั้นจนตาย และปลดปล่อยเทพโพรมีธีอุสจากบ่วงเครื่องพันธนาการในที่สุด

    ที่ญี่ปุ่น (และความเชื่อ “นรก” ในศาสนาพุทธ) ก็มีดินแดนหนึ่งที่เรียกว่านารากุ (Naraku) หรือก็คือ “นรก” ที่คนทำบาปจะได้รับโทษทัณฑ์ซ้ำไปซ้ำมาในนรกชั่วนิรันดร์ (ขึ้นอยู่กับโทษสมัยมีชีวิตอยู่)

    นอกจากนี้ ยังมีตำนานนอร์สมีวัลฮัลลา (Valhalla) สวรรค์ของพวกไวกิ้ง (แต่ผมอ่านมันเหมือนนรกไงชอบกล) ที่วิญญาณของนักรบที่ถูกสังหารจะถูกส่งไปที่นั้น เพื่อทำสงครามในวันแร็คนาร็อค ที่นั้นพวกเขาจะฝึกซ้อมการต่อสู้จริงๆ หากพวกเขาตายจากการต่อสู้ก็จะคืนชีพและถูกส่งไปยังงานเลี้ยง ให้ดื่มกินอย่างสำราญ และกลับไปทำสงครามอีกครั้ง เป็นแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

    แต่ "นรกวนลูป" ในสื่อบันเทิงไม่ได้ใจร้ายเหมือนการวนลูปนรกในตำนานเสมอไป เพราะสาเหตุหลักๆ ของการวนลูปนั้นต้องการให้ตัวเอกที่ติดวนลูปต้องการทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้าย การช่วยเหลือคน  ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ข้อดีของการดำเนินเรื่อง “วนลูป” ก็คือ หลายเรื่องทำได้น่าติดตามมาก ยิ่งมีการหยอดคำถามมากมายให้คนดูติดตามต่อ ไม่ว่าจะเป็น “มันเกิดขึ้นเพราะอะไร”, “พระเอกจะทำอย่างไรเมื่อเกิดวนลูปไม่รู้จบ” หรือ “จะเกิดอะไรขึ้นต่อ”

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่า การวนลูปจะออกไปทางดราม่า ความตาย แต่กระนั้นก็มีคนดูบางส่วนให้ความเห็นว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” ดูแล้ว งง แทนที่จะดูดราม่า ซึ่งบางเรื่องหากจบไม่เคลียร์ ดำเนินเรื่องไม่กระจ่าง ยิ่งเซ็งหนักหลายเท่าไปอีก

    ดังนั้น “การวนลูป” ถือว่าเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ยากมาก

                  สำหรับบทความนี้ ผมมีการ์ตูน 6 เรื่อง ทั้งมังงะและอนิเมะ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการ “วนลูป” แต่การวนลูปที่ว่า ผมเรียกว่า “นรกวนลูป” ที่เนื้อหาออกไปทางดราม่า เลือดสาด ความ งง ไม่ว่าจะสำหรับคนดูหรือตัวเอกของเรื่อง ที่เรียกได้ว่าตายทั้งเป็น!!

                   

    Girls Go Around

                    
                 
    ประเดิมเรื่องแรก การ์ตูนมังงะที่ผมอุตส่าห์อวยว่าเป็นการ์ตูนดีที่ “แนะนำ” แต่อนิจจาน่าเสียดายตอนท้ายดันจบแบบตัดจบ (??) ไปอย่างน่าเสียดาย

                    Girls Go Around เป็นการ์ตูนแนวฮาเร็ม ลึกลับ เลือดสาด ผลงานของ Chida Eito (คนเขียนมังงะเป็นคนเดียวกับคนวาดมังงะ Hanasaku Iroha) มี 2 เล่มจบ โดยเป็นเรื่องราวของ “ซายามะ เคียวสุเกะ” หรือ “เคียว” เด็กหนุ่มมัธยมปลายธรรมดาที่มีปรัชญาชีวิตว่าหากทำผิดพลาดอะไรลงไปเขาจะไม่นึกเสียใจในภายหลัง หากแต่แล้ววันหนึ่งเขาต้องเข้าไปอยู่วนลูปของเพื่อนสาวสี่คนที่ประกอบไปด้วย “โยโกเซะ จิฮีโระ” เพื่อนสมัยเด็ก, “ซีนะ โทโมกะ” สาวนักกีฬาที่อยู่ห้องเดียวกัน, “ฮาซายามะ มิยาบิ” หัวหน้าของพระเอก และ “อิซุมิ ฮิโยริ” ทวินเทลผู้ร่าเริง   (ตอนหลังเพิ่มน้องแว่นหนอนหนังสือ)   ซึ่งปกติแล้วนอกเหนือคนที่ถูกวนลูป คนรอบตัวที่ถูกวนลูปด้วยจะไม่มีความทรงจำ แต่กลายเป็นว่ามีเขาคนเดียวเท่านั้นที่ดันจำได้

                    และเพื่อหลุดพ้นกับวงวนแห่งการวงลูปนี้ เจ้าของลูปจะต้องทำสิ่งที่ค้างคาใจ (หรือต้องการแก้ไข หรือตั้งใจที่จะทำ) ภายในวันดังกล่าวให้สำเร็จ ซึ่งหากทำไม่ได้จะถูกวนลูปมาเป็นวันเดิมอีก แน่นอนว่าสิ่งที่ค้างคานั้นดูเหมือนง่าย หากแต่สำหรับเจ้าของที่โดนลูปแล้วมันกับยากอย่างบอกไม่ถูก

                    สอง-สามตอนแรกเรียกว่าได้ใจผมเต็มๆ  เพราะการ์ตูนได้นำเสนอเกี่ยวกับชีวิตของวัยรุ่นที่บางครั้งมีความตั้งใจจะทำอะไร หากแต่ว่าไม่สามารถทำได้ จนมีความรู้สึกว่าอยากย้อนกลับไปแก้ไขมันสักครั้ง อย่างตอนแรกเป็นสาวนักกีฬาที่อยากเข้าชมรม หากอีกใจหนึ่งก็ไม่กล้าเข้าเพราะปมจิตใจที่ตนรู้สึกว่ามีปมดอยทางร่างกายกลัวคนอื่นล้อเลียน ส่วนอีกคนเป็นหัวหน้าห้องเจ้าระเบียบที่อยากมีชีวิตวัยรุ่นธรรมดาสักครั้ง (สำหรับผู้หญิงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก) หากแต่ใจหนึ่งไม่สามารถทำได้เพราะตนต้องปฏิบัติตามระเบียบ พูดง่ายๆ คือสองสามตอนดังกล่าวพระเอกจำเป็นต้องแก้ปมจิตใจเหล่านั้น ให้พวกเธอทำสิ่งค้างคาในใจให้สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นการปักธงแบบฮาเร็มก็ว่าได้

                    อย่างไรก็ตาม ในช่วงตอน 4 -10 หลังเนื้อหาไม่ได้ให้ผมประทับใจมากนัก ออกไปทางเนิ่บๆ มากกว่า กว่าที่จะเร่งให้น่าสนใจก็ตอนที่ 9-10 (ซึ่งตอนเป็นสองตอนสุดท้ายของเรื่อง)  จากตอนแรกเหมือนแนวชีวิตประจำวันวัยรุ่น มากลายเป็นดราม่าเลือดสาดไปเสียได้

    สปอย (ดูจากภาพเอาที่จีนแดง) ตอนท้ายๆ พระเอกต้องติดอยู่ในวนลูปที่เขาต้องพบการตายของเพื่อนสมัยเด็ก หากแม้เขาจะหยุดความตายได้ แต่วนลูปจะทำให้เพื่อนสาวในฮาเร็มคนใดคนหนึ่งต้องตายเพราะอุบัติเหตุอยู่ดี ผลสุดท้ายเพื่อไม่ให้คนอื่นต้องตาย เขาเลยตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตายเอง เพื่อหยุดความตายนี้ หากแต่กลายเป็นว่าเพื่อนสมัยเด็กไม่ยอมรับความตายพระเอก จึงเกิดวนลูปของเพื่อนสมัยเด็กขึ้น โดยให้ทุกอย่างวนกลับมาใหม่ เริ่มช่วงเวลาของตอนที่ 1 อีกครั้ง (ช่วงเวลาที่พระเอกฆ่าตัวตาย โรงเรียนก็จะจบเทอมแล้ว ส่วนตอนที่ 1 เป็นช่วงเปิดเทอมแรก) และคราวนี้ความทรงจำพระเอกหายหมดสิ้น มีเพียงเพื่อนสมัยเด็กเท่านั้นที่จดจำได้  และดูเหมือนว่ามันไม่ใช่การวนลูปครั้งเดียวอีกด้วย!! (มิน่าทำไมเพื่อนสมัยเด็กเรื่องนี้ถึงดูเงียบๆ น่ากลัว และดูอ้างว้างยังไงบอกไม่ถูก  แถมไม่มีวนลูปด้วย ที่แท้มาตอนท้ายนี้เอง ถือว่าเป็นเพื่อนสมัยเด็กที่เสียสละ และยินดีที่จะเป็นแบบนี้ตลอดไป แม้จะตายทั้งเป็นก็ตาม)

    เสียดายที่เรื่องนี้จบไม่แอปปี้สักเท่าไหร่  ผมว่า ความจริงคนเขียนต้องการให้เนื้อเรื่องยาวอีก (เห็นได้จากเพิ่มเพื่อนสาวในชมรมอีก แต่ตอนหลังให้กลายเป็นตัวประกอบซะงั้น) ไม่รู้ว่าโดนตัดจบ หรือฝีมือไม่ถึง ผลก็คืออารมณ์ตอนจบออกไปทาง  “อ้าว จบแค่นี้เหรอ มีต่ออีกหรือเปล่า” ผลสุดท้ายพระเอกไม่สามารถแก้ปมจิตใจเพื่อนสมัยเด็กได้เลย กลายเป็นฮาเร็มไม่สมบูรณ์อีกเรื่อง

                    แม้ว่า Girls Go Around จะไม่จบแฮปปี้นัก แต่กระนั้นก็ทำให้ผมได้เห็น “นรกวนลูป” ชัดเจน คือ มันเป็นนรกที่ไม่สามารถหนีพ้นได้ (นอกจากต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น) ไม่ว่าคุณจะตายไปแล้วก็ตามวนลูปก็กลับมาให้คุณฟื้นคืนชีพไปที่จุดเริ่มต้นอีก เหมือนการรีเซ็ตเกมใหม่ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับ ตายทั้งเป็นเลยแม้แต่น้อย

     

                    All You Need Is Kill

                    
                
    All You Need Is Kill
    แปลไทยให้มันๆ ก็ “ฆ่าเม่งให้หมด” เป็นนิยายไลท์โนเวลไซไฟ สงครามทหารสู้รับกับมนุษย์ต่างดาว แต่งโดย Hiroshi Sakurazaka วาดประกอบโดย Yoshitoshi ABe ซึ่งเป็นนิยายที่ได้รับยกย่องโดยนักเขียนอาขชีพด้วยกัน และได้รับรางวัลมากมาย จนมีช่อเสียงถึงขั้น  ในชื่อ Edge of Tomorrow (แสดงโดยทอมครูซ) ซึ่งจะฉายในเดือนมิถุนายน 2014  ในชื่อไทย นักรบอมตะสู้สุดอนาคต

    All You Need Is Kill เป็นเรื่องเล่าจากมุมมองของ “คิริยะ เคย์จิ ” ที่พึ่งประจำการใหม่ในกองกำลังป้องกันประเทศ เพื่อต่อสู้กับ “เอเลี่ยน มิมิค” ลึกลับที่มารุกรานโลก หากแต่เคย์จิถูกฆ่าตายในการรบศึกแรกของเขา แต่อย่างไรก็ตามจู่ๆ เขาก็กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งในวันก่อนเข้าสู่สนามรบศึกแรก และนั้นเองทำให้เคย์จิได้รู้ว่าเขาติดห้วงเวลา “วนลูป” หากเขาตายก็จะคืนชีพไปจุดเดิมอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่หนียังไรก็ไม่สามารถหนีพ้น  แต่อย่างไรก็ตามเพราะการวนลูปนี้เองทำให้เคย์จิได้เรียนรู้ทักษะการต่อสู้ ราวกับทหารที่ผ่านการรบพันครั้ง ซึ่งเคย์จิพยายามฝึกฝนตนเองเพื่อเอาชนะชะตากรรมนี้ จนกระทั่งเขาได้รู้จัก “วาทาลาสกี้ ริต้า”  ซึ่งมีชะตากรรมคล้ายเขา

    ส่วนในมังงะนั้นเป็นผลงานดัดแปลงโดย Takeshi Obata ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนคุ้นเคยกับนักเขียนท่านนี้ดีจากผลงานที่ผ่านมา Hikaru No Go, Death Note และ Bakuman และ All You Need Is Kill  เป็นอีกหนึ่งผลงานที่แสดงถึงความเก่งของคนเขียนได้เป็นอย่างดี  

    All You Need Is Kill เป็นอีกเรื่องที่นำเรื่อง “วนลูป” มาใช้อย่างสร้างสรรค์  แม้ว่าเรื่องวนลูปจะเป็นเรื่องของไซไฟ แต่น้อยมากที่วนลูปจะถูกนำมาใช้พล็อตที่มีฉากหลังเป็นโลกอนาคตหรือว่าแนวสงครามมนุษย์กับมนุษย์ต่างดาว (เพราะส่วนใหญ่แล้ว “วนลูป” เน้นเรื่องชีวิตประจำวันใกล้ตัวมากกว่า) ทำให้แนวคิดแบบนี้ถือว่าแปลกใหม่พอสมควร

    และนั้นเองทำให้การดำเนินเรื่องสงครามสู้กับมนุษย์ต่างดาวดูแล้วน่าสนใจขึ้น

    อย่างไรก็ตาม แม้ฉากหลังจะเป็นเรื่องของโลกอนาคตไซไฟ ชะตากรรมของโลก แต่เนื้อหาก็ยังคงอยู่ในมุมมองของตัวเอกคนเดียว พระเอกที่เป็นบุคคลธรรมดา ที่ไม่ได้วิเศษวิโสอะไรมากมาย อีกทั้งไม่ได้เป็นวีรบุรุษกู้ชาติอะไรด้วย  และการดำเนินเรื่องยังคงเป็นเรื่องของ “นรกวนลูป” อยู่ดี ที่ตัวเอกตกอยู่ในห้วงเวลา “วนลูป” ที่การตายไม่ใช่สุดสิ้นสุดของชีวิต และไม่สามารถหนีได้ ต่อให้หนีสุดฟ้าไกล หรือฆ่าตัวตาย เขาก็ต้องกลับมาอยู่จุดเริ่มต้นอยู่ดี โดยเขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้หยุดวังวนแบบนี้ได้เลย

    แน่นอนสิ่งที่เราได้เห็นการ์ตูนเรื่องนี้ก็คือการพัฒนาจิตใจและตัวตนของเคย์จิ  จากตอนแรกเขาเป็นทหารหนุ่มผู้ที่ไม่เคยไปยังสนามรบ และตายครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าฝีมือของเขา “อ่อนหัด” และ “กาก” มาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการ “วนลูป” กับ “ตายมากกว่าร้อยครั้ง” ทำให้เขาเติบโตขึ้นไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือจิตใจ ร่างกายของเคย์จิเหมือนผ่านสมภูมิรบมานับไม่ถ้วน มาถึงตอนนี้เขาได้กลายเป็น “เครื่องจักรนักฆ่า”  ไปแล้ว

    และนอกเหนือจากร่างกายแล้ว ดูเหมือนว่าจิตใจของเคย์จิก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากตอนแรกเขาเป็นทหารใหม่ที่ดูสดใส แต่เมื่อผ่านการวนลูปเขาเห็นสภาพสมภูมิสงครามหลายพันครั้ง เห็นคนตาย ตนเองตาย เขาก็เริ่มจิตใจเยือกเย็น ดวงตามืดมนเหมือนปลาตาย ราวกับว่าพระเอกเริ่มสูญเสียความเป็นมนุษย์ลงไปทีละเล็กทีละน้อย  

                   
                      
    Kagerou Days

                    
                    
    Kagerou Days  ยอมรับเลยว่า ตอนแรกผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แม้จะเห็นฟิคมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ค้นว่ามันมีเนื้อหาเป็นยังไง มันเป็นแนวอะไร

                    จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมก็ได้ไปเจอคลิปยูทูปโดยบังเอิญ เป็นคลิปในชื่อ Kagerou Days ซึ่งเป็นภาพของเด็กชายและเด็กหญิงคู่หนึ่งที่ติดอยู่ใน “นรกวนลูป” แห่งความตาย ซ้ำไปซ้ำมาแบบไม่รู้จักจบสิ้น หลังจากดูคลิปแล้วความรู้สึกผมคือ “ผมกลัวนรกวนลูปเป็นบ้า” มันเป็นนรกที่ไม่สามารถหลุดพ้นอะไรได้เลย คุณต้องเห็นคนที่คุณรักตายต่อหน้าต่อตานับครั้งไม่ถ้วน ซ้ำยังตายอย่างโหดร้ายอีกต่างหาก และนั้นเองทำให้ผมสนใจเรื่องนี้ว่ามันคือเรื่องอะไรกันแน่?

    เท่าที่ค้นข้อมูล (ผมค้นจากเว็บด้านล่าง ใครอยากมีอะไรเสริม บอกได้น่ะครับ ผมก็ไม่ค่อยรู้เหมือนกัน) Kagerou Days เริ่มต้นมาจากเพลง Vocaloid ในชื่อชุด Kagerou Project  เปิดตัวเมื่อปี 2011 เนื้อหาของเพลงจะเป็นการเล่าตัวละครที่มีพลังวิเศษ (?) ซึ่งอยู่บนโลกเดียวกัน และเกี่ยวเนื่องกัน ตัวเพลงจะเล่าเป็นบทๆ  ของตัวละครนั้นๆ (และเกือทุกตอนล้วนมีการวนลูปเข้ามาเกี่ยวข้อง) โดยตัวละครหลักๆ คือ “คิซารากิ ชินทาโร่” นีทและฮิคคิโคโมริติดมา 2 ปี ที่ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ วันหนึ่งเขาได้เป็นมาสเตอร์ของ “เอเนะ” AI ที่มีชีวิตจิตใจอาศัยอยู่ในคอมพิวเตอร์ของเขา และนอกจากนี้ชินทาโร่ยังมีน้องสาวชื่อ “คิซารากิ โมโมะ” ซึ่งมีพลังวิเศษที่เรียกว่า "ดึงดูดสายตา" ทำให้คนอื่นต่างมองมาที่ตน กลายเป็นจุดสนใจ และด้วยความสามารถนี้ทำให้เธอกลายเป็นไอดอลดังไปโดยบริยาย โดยหารู้ไม่ว่าทั้งชินทาโร่และน้องสาวจะต้องพบพรรคพวกที่มีชะตากรรมประหลาดร่วมกันในเวลาต่อมา

                    เว็บที่ผมค้นข้อมูล http://suikosig.exteen.com/20120722/12304-kagerou-project-12305

    ตัวเพลงได้รับความนิยมมาก จนเกิดแฟนฟิค จิ้นวาย จิ้นคู่รัก ไปจนถึงการทำเป็นมังงะ ไลท์โนเวล (มี 2 เล่ม) และอนิเมะที่กำลังจะออกฉายในปี 2014 เร็วๆ นี้

    คลิปซับไทย http://www.youtube.com/watch?v=w4MK22dZ-uk

    สำหรับเนื้อหาของ Kagerou Days เล่าถึงช่วงฤดูร้อน วันที่ 15 สิงหาคม ในมุมมองของเด็กชายหนึ่ง (ซึ่งตอนหลังผมถึงได้รู้ว่าชื่อ “อะมะมิยะ ฮิบิยะ”) ตอนนั้นเขาอยู่กับเด็กสาวเพื่อนสมัยเด็กที่เขาแอบชอบ (ซึ่งผมมารู้ชื่อหลังว่าชื่อ “อาซะฮินะ ฮิโยริ”) ในสวนสาธารณะ ฮิโยริได้ลูบแมวและนำมันมาอยู่บนตัก หากแต่ทันใดแมวก็ได้กระโจนออกไป ฮิโยริจึงวิ่งไล่ตามจนเธอออกไปยังถนน และพอดีเวลานั้นไฟจราจรได้เปลี่ยนเป็นสีแดง (ไฟจราจรสำหรับคนข้ามถนน หมายถึงคนให้คนข้ามถนนอยู่กับที่ รอรถผ่าน) และเธอก็ถูกรถชนตายในที่สุด

    ฮิบิยะเห็นภาพดังกล่าวก็ช็อก แต่ทันใดเขาก็รู้สึกตัวอีกทีก็ตื่นมาที่บ้าน ในวันที่ 14 สิงหาคม ทำให้เขาคิดว่านั้นเป็นเพียงแค่ความฝัน เขาออกจากบ้าน และพบว่าฮิโยริยังมีชีวิตอยู่  เธออยู่ในม้านั่งในสวนสาธารณะเหมือนความฝันดังกล่าว โดยความกลัวว่าฝันจะเป็นจริง เขาเลยพาฮิโยริออกจากสวนสาธารณะ หากแต่ระหว่างทางท่อนเหล็กจากอาคารสูงได้ตกลงมาเสียทะลุร่างของฮิโยริ และเธอก็เสียชีวิตลงต่อหน้าต่อตาฮิบิยะ

    ฮิบิยะมารู้สึกตัวอีกครั้งใน 14 สิงหาคม  และนั้นเองทำให้เขารู้สึกตัวว่าเขาตกอยู่ในห้วงของ “วนลูป” แบบไม่รู้จบ โลกที่ว่าเขารู้ว่า ไม่ว่าเขาจะช่วยเหลือเธอด้วยวิธีใด สุดท้ายเธอก็ตายทุกครั้ง

    จนในที่สุดฮิบิยะได้ตัดสินใจที่จะช่วยเหลือเธอ ด้วยการเอาตัวเข้าแลก ให้เขาตายแทนฮิโยริ  อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นภาพก็ตัดมาที่ฮิโยริตื่นขึ้นในบ้านของตนเอง เธอบ่นกับแมวว่า "ทำไมมันวนกลับมาแบบนี้อีกแล้ว" แสดงให้เห็นว่าฮิโยริเองก็ตกอยู่ในห้วงเวลาวนลูปที่เห็นฮิบิยะตายต่อหน้าเธอ เช่นกัน  แล้วเรื่องของเธอและเขาจะจบอย่างไรนั้น ก็ขอให้ติดตามใน Kagerou Days ฉบับมังงะและอนิเมะเร็วๆ นี้

                   
                      
    Suzumiya Haruhi "Endless Eight"

                    
                    
    จากอันดับที่ผ่านมาจะเห็นว่า “นรกวนลูป”  นั้นถูกนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นดราม่า เลือดสาด ความตาย บางเรื่องก็มีส่วนผสมของแอ็คชั่น ไม่ก็รักโรแมนติก  สิ่งเหล่านี้ทำให้เรื่องนี้น่าติดตามยิ่งขึ้น แม้บางครั้งความรู้สึกที่ดูจะ งง ก็ตาม

                    แต่คราวนี้ตรงกันข้าม เมื่อ “นรกวนลูป” กลับกลายเป็นดาบสองคม แทนที่จะสร้างสรรค์ กลับกลายเป็นนรกสำหรับหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนรกของตัวละครในเรื่อง นรกของคนดู และหรือแม้แต่นรกของผู้กำกับ

    Suzumiya Haruhi  (2006) เป็นอนิเมะที่ดังมาก (จนบัดนี้ก็ดังอยู่) โดยเป็นเรื่องของนักเรียนมัธยมปลายธรรมดาคนหนึ่งชื่อ “เคียวน์” ที่ได้รู้จักสึซึมิยะ ฮารุฮิ เป็นนักเรียนหญิงชั้นเดียวของเขา ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆรอบตัวจากจิตใต้สำนึกได้โดยที่เธอไม่รู้ตัว เธอได้ก่อตั้งชมรมที่เรียกว่า "หน่วยเอสโอเอส" (SOS dan) และบังคับให้เขาเข้าชมรม และที่ชมรมนั้นเขาได้รู้จักนางาโตะ ยูกิ, อาซาฮินะ มิคุรุ โคอิซึมิ อิซึกิ ซึ่งทั้งสามไม่ใช่นักเรียนธรรมดา ทั้งหมดถูกส่งเข้ามาเพื่อจับตาดูฮารุฮิ และพยายามทำให้เธอใช้ชีวิตอยู่อย่างคนปกติ

    ภาคแรก ทัตซึยะ อิชิฮาระผู้กำกับได้รับคำชมอย่างล้นหลาม แน่นอนว่าเมื่อซีซั่นแรกได้รับคำชม ก็ต้องมีซีซั่นต่อ อย่างไรก็ตามซีซั่นที่สองกลับกลายเป็นซีซั่นที่ได้รับเสียวิจารณ์ด้านลบ โดยเฉพาะช่วงตอน "Endless Eight" หรือ “สิงหาอลวน” อันเป็นที่รู้จักกันดีนั้นเอง

                    Suzumiya Haruhi สิงหาอลวน (หลายคนเรียก ฮารุฮิ ซีซั่น 2) มี 8 ตอน ฉายเมื่อ 19 มิถุนายน -7 สิงหาคม 20091 โดยเนื้อหาเป็นช่วงปิดเทอมหน้าร้อนของมัธยมปลายปี 1 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเคียวน์และพรรคพวกได้ทำกิจกรรมมากมาย ตามแนวคิดของฮารุฮิที่ว่า “ปิดเทอมมีหนเดียว มันต้องเล่นสนุกให้สุดเหวี่ยงสิ” ไม่ว่าจะเป็นออกค่ายฤดูร้อน, ว่ายน้ำที่สระน้ำ, บงโอโดริ, ไปเที่ยวเทศกาลดอกไม้ไฟ, ดูดาว, ซ้อมตีเบสบอล ฯลฯ ซึ่งพวกฮารุฮิได้ทำกิจกรรมที่ว่าทั้งหมด หากแต่ระหว่างทำกิจกรรมนั้นเองเคียวน์ก็สัมผัส “เดจาวู” (เป็นอาการที่รู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งพบครั้งแรกนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดมา แล้ว แต่จำไม่ได้ว่าเกิดขึ้นในฝันหรือในอดีต) อย่างรุนแรง จนแทบปวดหัว

                    ภายหลังเคียวน์ก็ได้รู้ว่าพวกตนได้ติดห้วงเวลา “วนลูป” ที่ฮารุฮิสร้างขึ้น (โดยไม่ได้ตั้งใจ) เพื่อไม่ให้สิงหาคมต้องหมดไป  ซึ่งมีแต่เคียวน์และพรรคพวกจำได้ (ยกเว้นฮารุฮิและทุกคนบนโลก) พวกเขาต้องติดอยู่ช่วงเวลา 17 สิงหาคม-31 สิงหาคม ในเดือนเดียวกันซ้ำไปซ้ำมาแบบไม่รู้จบจักสิ้น และที่น่าตกใจคือพวกเคียวน์ติดอยู่ในวนลูปซ้ำมากกว่า 15,498 ครั้ง!! (คิดปีราว 594 ปี!!) อย่างไรก็ตามสุดท้ายเคียวน์ก็สามารถหลุดพ้นได้ด้วยการทำฮารุฮิพอใจและใช้ชีวิตจนคุ้มกับช่วงปิดเทอมนี้ ทำให้การวนลูปสิ้นสุดลง และกลายเป็นวันเปิดเทอมใหม่ในที่สุด

                    อนิเมะนั้นดัดแปลง ในช่วงฤดูร้อน ของนิยายฮารุฮิในตอน “ความไม่สิ้นสุดของสึซิมิยะ ฮารุฮิ” ซึ่งเนื้อหาอารมณ์เกี่ยวกับการทำกิจกรรมหน้าร้อนของพวกเคียวน์ ที่ตอนแรกสนุกสนาน แต่ตอนหลังเริ่มเกิดความเบื่อหน่าย และอยากให้สิ้นสุดเสียที อย่างไรก็ตามเนื้อหาของนิยายก็ไม่ได้ยาวอะไรมาก แต่อนิเมะลากยาวถึง 8 ตอน

                    Suzumiya Haruhi "Endless Eight" เป็นตอนที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดในเรื่องของความซ้ำซากของตอนนี้ คือเป็นตอนที่เที่ยวเล่นเกือบทั้งเรื่อง แม้จะมีเรื่องการวนลูปก็ตาม ส่วนสาเหตุที่เป็น 8 ตอน เพราะเกิดในเดือน 8  นอกจากนรกสำหรับตัวละครแล้ว ยังเป็นนรกของคนดู ที่ตอนแรกดูด้วยความสนใจ หากแต่เมื่อผ่านไป 3 ตอนเริ่มออกอาการ และมาถึงตอนที่ 4 ก็เริ่มรู้แล้วว่ามันซ้ำ เนื้อเรื่องเดิม การกระทำเดิม ไม่ว่าจะเป็นฉาก บทสนทนา แม้จะมีจุดแตกต่างแต่ก็เปลี่ยนรายละเอียดนิดหน่อยเท่านั้น (มุมกล้อง มุมมอง) ซ้ำไปซ้ำมาถึง 8 ตอน แม้ว่าทางทีมงานจะออกบอกว่า สาเหตุที่ทำแบบนี้ก็เพื่อทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงการวนลูป ที่เกิดจากสิ่งที่ฮารุฮิได้พูดไว้ว่าต้องการหน้าปิดเทอมฤดูร้อนตลอดไป แน่นอนผลก็คือทำให้คนดูได้ความรู้สึกเบื่อหรืออึดอัดแบบในตัวละครจริงๆ พวกเคียวน์วนลูปถึงหมื่นครั้ง ในขณะที่คนชมวนลูป 8 ครั้งก็แทบบ้าแล้ว

                    อย่างไรก็ตาม ผู้ชมหลายคนไม่ได้สนสิ่งที่ผู้กำกับพยายามสื่อ เพราะในอีกมุมมองหนึ่งถือว่าเป็นการทรยศของผู้กำกับ มองว่ามักง่าย เสียความรู้สึกที่รออย่างยาวนานกว่าตอนใหม่จะออกฉาย พร้อมขนามนามว่าเป็นอนิเมะที่น่าเบื่อน่าหน่ายที่สุดในวงการก็ว่าได้ (เห็นเขาว่าน่ะ)  ผลคืออนิเมะช่วงนี้เสียชื่อผู้กำกับไปโดยสิ้นเชิง แม้จะมีมูฟวี่จะกู้ชื่อเสียงได้ก็ตาม


                   Boku dake ga Inai Machi

     
                   Boku dake ga Inai Machi (2012) ผลงานของ ซังเบย์ เคย์  เป็นหนึ่งในการ์ตูนมังงะที่ผมแนะนำเลย หลังจากเรือนรกแป๊กสนิท (สำหรับผม) ไม่เชื่อดูผู้รอดชีวิตสิถามจริงเถอะคนเขียนพิศวาลอะไรกับสาวริมฝีปากหนาหว่า (ฮ่า)

    หลังจากสองผลงานที่ผ่านมาของคนเขียนเน้นแนวเซอร์ไววัล มาคราวนี้คนเขียนเปลี่ยนแนวบ้างมาเป็นแนวลึกลับ ดราม่า และโศกนาฏกรรมบ้าง (แถมคราวนี้เซอร์วิสโหดๆ น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จนไม่เชื่อเลยว่าเรื่องนี้เป็นฝีมือของคนเขียนคนเดียวกัน)  พูดตามตรงก็คือผมอ่านไม่ออกว่าเนื้อหาหลักๆ คืออะไร (ฮ่า) เรื่องนี้ลิขสิทธิ์โดยสยามคงจะวางแผงเร็วๆ นี้ โดยเนื้อเรื่องเกิดในปี 2006 เป็นเรื่องของนักเขียนมังงะที่ชื่อ “ซาโตรุ ฟุจินูมะ” ที่ผลงานขายไม่ออก ส่งต้นฉบับเท่าไหร่ก็ไม่ผ่าน เลยทำงานเป็นคนส่งพัสดุ โดยมีสาวมัธยม “ไอริ” แอบชอบอยู่ห่างๆ แต่เขาก็ไม่เปิดใจอะไรให้คนอื่นเลย

    นายฟุจิมูระนั้นมีปมจิตใจในอดีต สมัยที่เขายังเป็นเด็กประถม  เขาได้เห็นศพที่ถูกหั่นเป็นชิ้นๆ ของ “ฮินะ” เพื่อนสาวร่วมชั้นของเขา (ซึ่งเมื่อดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้ว่าฮินะเป็นรักแรกของนายฟุจินูมะ และเขาก็รู้ว่าแม่ของฮินะเป็นของฆ่าฮินะ โดยเขาไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้แต่แจ้งตำรวจก็ไม่มีใครเชื่อ) เป็นเหตุทำให้กลายเป็นบาปเรื่อยมา

    แต่แล้ววันหนึ่ง ระหว่างที่เขากำลังไปส่งของเหมือนวันปกติอยู่นั้น จู่ๆ เขาก็ติดอยู่ห้วงเวลา “วนลูป” (เชื่อว่าเป็นความสามารถของเขาเอง และเปิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่รู้เมื่อหร่) กลับมายังจุดเดิมเมื่อ 3-5 นาทีอีกครั้ง ว่าสาเหตุที่เกิดวนลูปนั้นเนื่องจากใกล้ตัวเขากำลังมีเหตุร้ายที่รอเขาไปช่วยเหลือหรือยับยั้ง หากเขาทำเป็นไม่สนใจปล่อยผ่านไป ก็จะวนลูปซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าเขาจะช่วยเหลือหรือตัดสินทำอะไรบางอย่างไม่ให้เกิดเหตุร้าย และนั้นทำให้เขาช่วยชีวิตคนจากอุบัติเหตุหลายครั้ง

    ต่อมา ในวันหนึ่ง ระหว่างที่กลับมาบ้าน เขาก็พบ “แม่” ของเขานอนจมกองเลือดเพราะถูกมีดแทง (ถามจริงเถอะคนเขียนชอบสาวปากหนาใช่เปล่า) แม้จะมีการวนลูปหลายครั้งแต่เขาไม่สามารถช่วยเหลือแม่ของเขาได้เลย จนกระทั่งระหว่างวนลูปอยู่นั้นเขาก็เห็นเงาคนต้องสงสัยอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ แต่ระหว่างที่เขาไล่ตามคนร้ายอยู่นั้น จู่ๆ เขาก็ย้อนอดีตไปยังปี 1988  เขาพบว่าตนเองกลายเป็นเด็กประถม และได้พบกับฮิมะอีกครั้ง โดยไม่รู้ว่าเหตุใดเขาถึงเป็นเด็กประถม และทำไมฮิมะถึงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ (พระเอกตอนเป็นเด็กประถมน่ารัก กว่าตอนโตอีกน่ะนั้น)

    สำหรับเรื่องนี้ นอกจากมีวนลูปแล้ว ยังมีเรื่องของการย้อนอดีตเพิ่มเข้ามาอีกต่างหาก  ซึ่งแน่นอนหากมีเรื่องพวกนี้ หลายคนคงคิดว่ามันต้องมี งง แน่นอน ( ประมาณว่า เดี๋ยววนลูป เดี๋ยวก็ย้อนเวลา ไปมา ไปกลับ ระหว่างปัจจุบันและอดีต แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หลายคนดูการ์ตูนเรื่องนี้ กลับสนุกไม่น่าเชื่อ เพราะการ์ตูนได้วางปม ปริศนามากมาย ทำให้น่าติดตามมากขึ้น แม้จะมีการย้อนอดีตแต่หลายคนรู้สึกว่าเป็นการย้อนอดีตที่น่าประทับใจจริงๆ เพราะพระเอกได้กลับไปเจอเขารักยังมีชีวิตอยู่ไม่ว่าจะเป็น "แม่" และ "ฮานะ" จุดเด่นเรื่องนี้ไม่ได้เซอร์ไววัลเลือดสาดเหมือนที่ผ่านมา แต่อารมณ์ออกทางลึกลับ ดราม่า โรแมนติก ผสมคิลเลอร์หน่อยๆ บวกกับบรรยากาศในเรื่องที่ส่วนใหญ่เป็นฤดูหนาว ทำให้การ์ตูนมังงะเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมและกลายเป็นการ์ตูนน่าอ่านเรื่องหนึ่ง (และเป็นหนึ่งในมังงะที่เสนอเข้าชิงรางวัล Taisho Awards)

     

    Little Busters!   

     
                   Little Busters!  (ลิตเติลบัสเตอส์!) ไม่พูดก็คงไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มีการใช้ “วนลูป”  ได้อย่างมีดราม่า และหักมุมอย่างน่าปวดตับ แต่หากคลี่คลาย แก้ปมปวดตับแล้ว ซาบซ่าถึงใจมาก และเป็นหนึ่งในอนิเมะเกมจีบสาวที่ผมแนะนำให้หลายคนได้ดู  มิน่าล่ะเรื่องนี้โอตากุอวยนักอวยหนา

    Little Busters!  เป็นเรื่องของนาโอเอะ ริกิ นักเรียนมัธยมปลายและเป็นเด็กกำพร้าที่มีร่างกายอ่อนแอ  ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มเพื่อนสมัยเด็กชื่อ Little Busters  และปัจจุบัน ริกิขึ้นปีสองแล้ว  ทุกคนก็โตหมดแล้ว แต่ริกิเหมือนขาดอะไรบางอย่าง  ริกิได้เสนอความเห็นว่าอยากทำอะไรให้เหมือนสมัยเด็กๆ บ้าง เคียวสุเกะ ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มก็ได้ตัดสินใจว่าจะทำทีมซอร์ฟบอลเพื่อแข่งขัน แต่เพราะว่าคนไม่พอ ริกิกับรินจึงต้องออกหาสมาชิกเข้าร่วมกลุ่ม จนกระทั่งได้พบกับเด็กสาวมากมายและได้มาร่วมในกลุ่ม Little Busters!

    แน่นอนว่า Little Busters!  ตอนแรกเป็นเกมแนวจีบสาว (เกมโป๊อีกต่างหาก) ที่มีจุดเด่นคือรูทสาวๆ ของแต่ละคนดราม่ามากๆ และยังมีส่วนผสมของเรื่องเหนือธรรมชาติอีกด้วย จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่ “วนลูป” จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีกทั้งยังมีส่วนสำคัญต่อเรื่องด้วย

    สำหรับการ “วนลูป” ของริกิ เริ่มขึ้นในรูทของ “คุรุกายะ ยุยโกะ” ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเดียวกับริกิ แต่เนื่องด้วยความเก่งทุกด้านและดูเป็นความเป็นผู้ใหญ่ทำให้หลายคนต่างมองเป็น “พี่สาว” มากกว่าจะเป็นเด็กวัยเดียวกัน อย่างไรก็ตามภายใต้ความเก่งนี้ยังมีด้านอ่อนแอซ่อนอยู่

    โดยลูปของ  “คุรุกายะ ยุยโกะ” เป็นรูทที่ริกิต้องติดวนลูปของวันที่ 20 มิถุนายน (ซึ่งเป็นวันที่ฝนตกเกือบทั้งวัน)  ซ้ำไปซ้ำมาแบบไม่สิ้นสุด (จำนวนซ้ำไม่สามารถระบุได้) ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันที่คุรุกายะมีความสุขมากที่สุด (ในเกมเป็นช่วงที่ริกิคบกับคุรุกายะ แต่ในอนิเมะตัดเรื่องพวกนี้ออกไป) จนเธอถึงกับเอยคำพูดต่อหน้าริกิว่า “ถ้าเป็นแบบนี้ตลอดไปก็ดีสิน่ะ...”

    หลังจากนั้นริกิก็พบว่าเขาติดอยู่ในวนลูปวันที่ 20 มิถุนายนซ้ำไปซ้ำมาแบบไม่มีที่สิ้นสุด เหตุการณ์ต่างๆ เหมือนฉายซ้ำไปซ้ำมา โดยเขาไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร (แถมบางลูปมีหิมะตก แทนที่จะเป็นฝนอีกต่างหาก) จนกระทั่งริกิขอพบกับคุรุกายะ ก็ได้รู้ความจริงว่าทั้งหมดนั้นเป็นความฝันของคุรุกายะ โดยสาเหตุที่ริกิต้องเข้าไปติดก็เพราะเป็นช่วงเวลาที่เธอมีความสุขที่สุด (เพราะปมจิตใจของเธอก็คือ การไม่เคยยิ้ม ไม่เคยพบกับเพื่อนหรือความสุขใดๆ กระทั่งมาพบกับริกิกับเพื่อน) จนไม่อยากให้มันผ่านไป

    อย่างไรก็ตาม คุรุกายะก็ได้บอกกับริกิว่าทุกอย่างจะกลับเป็นปกติ หากเขาตื่นขึ้นมาจากฝัน แต่ริกิจะลืมทุกอย่างที่เกิดขึ้น ผลสุดท้ายทุกอย่างก็เป็นปกติ ส่วนริกิจะจำอะไรได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่คนดูมากกว่านั้น

     ในอนิเมะ Little Busters! Refrain  “คุรุกายะ ยุยโกะ” นั้นจะประมาท 1-3 ตอนจบ แต่ในเกมจีบสาวต้นฉบับนั้นรูทมีความยาวมากกว่านั้น และอนิเมะไม่ได้เน้นความรักของชายและหญิง เรื่องรักๆของริกินั้นไม่ได้พูดถึงมากนัก (เนื่องด้วยไม่เคยเล่นเกมจีบสาว จึงขอพูดถึงเนื้อเรื่องอนิเมะน่ะครับ)

     

                    ถ้าพูดถึง “วนลูปนรกเลือดสาด” ไม่พูดถึง Higurashi no Naku Koro ni หรือ“ยามเมื่อเหล่าจักจั่นกรีดร้อง” ของ ริวคิชิ 07  ก็คงไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการวนลูปที่ดังที่สุดจนกลายเป็นตำนานไปแล้ว เรื่องราวของโศกนาฏกรรมของหมู่บ้านฮินามิซาวะ ที่ตอนแรกๆ เราเห็นแต่ฉากเลือดสาด ความตายทั้งสิ้น แต่ที่โหดร้ายคือตัวละครที่ชื่อ “รุเดะ ริกะ” มิโกะตัวน้อยๆ ประจำศาลเจ้าของหมู่บ้าน ที่มีความสามารถมองเห็นอนาคตว่าตนเองจะถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม (สาเหตุที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมก็เพราะเธอต้องการจดจำฆาตกรที่แท้จริง จึงขอร้องให้ฆาตกรฆ่าชนิดกรีดลึกร่างของตนให้ฝังลึกในจิตวิญญาณ เมื่อเธอเกิดใหม่ก็จะจดจำได้ว่าใครฆ่าตน)

    นอกจากนี้ริกะยังติดอยู่ในวนลูปเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำไปซ้ำมาแบบไม่รู้จักจบสิ้น แม้ริกะพยายามเปลี่ยนแปลงชะตากรรมยังไงก็ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์แห่งการวนลูปก็ได้เกิดขึ้นเมื่อการวนลูปมากเท่าไหร่ “เคอิจิ” และเพื่อนของเธอ ก็ยิ่งจำสิ่งที่ผ่านมาได้มากขึเร ผลสุดท้ายพวกเขาก็ได้สร้างปาฏิหาริย์มากมายจนสามารถช่วยชีวิตเรนะ ช่วยหมู่บ้าน และเปลี่ยนชะตากรรมได้สำเร็จ

    ส่วนอีกเรื่องคล้ายๆ วนลูปเช่นกัน ก็คือเรื่อง Umineko no Naku Koro niหรือ “เมื่อเสียงนางนวลร่ำร้อง” ผลงานชิ้นที่สองจากยามเมื่อเหล่าจักจั่นกรีดร้อง  ของ ริวคิชิ 07  เช่นกัน ซึ่งเนื้อเรื่องเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 1986 ในเกาะ “รคเค็นจิมะ” ที่ห่างไกลจากผู้คน ลูกหลานสมาชิกประจำตระกูลอุชิโรมิยะและคนรับใช้ได้นัดหมายมาที่เกาะแห่งนี้ แต่กลายเป็นว่าเกือบทั้งหมดต้องถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม ในคืนเดียว อีกทั้งยังมีเรื่องเหนือธรรมชาติเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตามมีเพียงพระเอกที่ชื่อ “อุชิโรมิยะ แบทเลอร์” เท่านั้นที่ไม่เชื่อว่าการฆาตกรรมที่ว่าไม่ใช่ฝีมือของมนุษย์แต่เป็นฝีมือของคน และนั้นเองทำให้เขาถูกวนลูปไปในเหตุการณ์ วันที่ 4-5 ตุลาคม 1986 ซ้ำไปซ้ำมา ยาวนาน 12 ปี แม้ว่าเหตุการณ์หลักๆ จะซ้ำกัน แต่รายละเอียดแตกต่างกัน (เช่น ลำดับคนตาย และคนรอดชีวิต) ไม่ที่สิ้นสุด  (จนคนดูบางคนถึงกับร่ำร้องว่า “ตรูดูไม่รู้เรื่องเฟ้ย”)

    นี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นกับ “วนลูป” ในการ์ตูนญี่ปุ่น ความจริงยังมีวนลูปอีกมากที่ไม่ได้พูดถึง แต่มากในที่นี้ไม่เยอะมากมายเท่าใดนัก เพราะ “วนลูป” ยังคงเป็นพล็อตที่นำมาดำเนินเรื่องยาก โอเคมันน่าติดตาม แต่ในอีกความหมายถึงมันจำกัดเฉพาะกลุ่มมาก เพราะส่วนใหญ่มีแต่ดราม่า และเนื้อหาส่วนใหญ่ซับซ้อนมาก ทำให้ไม่เหมาะสำหรับแนวที่มีเนื้อหาที่หนักสมองมากนัก

    ยกตัวอย่างที่ไม่ได้พูดถึง ส่วนมากเป็นการ์ตูนสั้น ไม่กี่ตอนจบ  เช่นเรื่อง Gyakusou Shoujo - Owaranai Natsuyasumi, Tabi to Michizure, Sunset and Curry Manhwa, Back to the Jack (มีแปลไทย) ส่วนเนื้อหาจะเป็นยังไงนั้น ค้นหาเอาเองน่ะครับ

    นอกจากนี้ก็มีไลท์โนเวลเรื่อง Utsuro no Hako to Zero no Maria (Novel) ที่เนื้อหามืดมนมาก โดยเป็นเรื่องของ “โฮชิโนะ คาสึกิ” ที่ได้รู้จักเด็กผู้หญิงที่ย้ายมาใหม่ชื่อ “โอโตนาชิ อายะ” ซึ่งดูเหมือนเธอรู้จักเธอ แต่เขาจำไม่ได้อะไรเลย ซึ่งภายหลังทั้งคู่ก็ติดอยู่ในลูปเหตุการณ์ต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา (ปล. นับถือแฟนนิยายเรื่องนี้มาก ขนาดไม่มีแปลไทย ยังสามารถตามอ่านได้ คนจะชอบนี้ ทำถึงที่สุดจริงๆ)

     

                    ดูจากอันดับที่ผ่านๆ มา จะพบว่าส่วนใหญ่แนวการดำเนินเรื่อง “วนลูป” จะคล้ายๆ กับแนว “ย้อนอดีต” ดีๆ นี้เอง ที่ตัวเอกจะต้องกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดของตนเอง เช่น ช่วยเหลือผู้อื่น การแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น หรือปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น แม้ว่าบางครั้งการวนลูปจะเจ็บปวดไม่ว่าจะเป็นตัวเอกตายหลายครั้ง หรือเห็นคนรักตายหลายครั้งก็ตาม

    ยกตัวอย่างง่ายๆ Groundhog Day เป็นภาพยนตร์วนลูป ที่ตัวเอกต้องติดในวนลูปที่ติดอยู่ในวันเดิมๆ เหตุการณ์เดิมๆ คำพูดเดิมๆ ทุกวัน ซึ่งตัวเอกมีอาชีพเป็นนักข่าวที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว มองโลกไม่แง่ร้าย ไม่คิดถึงจิตใจคนอื่น ได้เริ่มรู้แล้วว่าสาเหตุที่เขาติดวนลูปก็เพื่อให้เขาปรับปรุงตัวเอง มองโลกในแง่ดี ช่วยเหลือคนอื่น หากทำให้คนอื่นมีความสุข เราก็มีความสุขด้วย เป็นต้น

     

     


    Ghosts N Goblins

     

                    ส่วนในวงการวีดีโอเกมนั้น ตัวอย่างที่โด่งดังสุดๆ คอเกมคงรู้จักกันดีแน่นอน Ghosts N Goblins ใน 1985 เกมแอ็คชั่นด้านข้างสุดหินๆ สุดๆ (โครตยากระดับประวัติศาสตร์วงการเกม) และใช้วนลูปเป็นครั้งแรก ซึ่งเรารับบทเป็นอัศวินผู้กล้าต้องพันผ่าลูกน้องของจอมมารปีศาจ เพื่อช่วยเจ้าหญิงที่ถูกจับตัวไป แต่ตอนท้ายฉากแทนที่จะจบแล้ว ดันกลายเป็นว่า “เป็นกับดัก” แถมยัวนลูปกลับไปเล่นด่านหนึ่งใหม่อีก  แถมเพิ่มความหินเข้าไปอีก (ปกติมันก็ยากอยู่) ผู้เล่นเกมสมัยนั้นแทบจะปาจอยทิ้ง แถมสบถคำหยาบอีกต่างหาก ซึ่งหากใครอยากเคลียร์เกมต้องอดทนเป็นอย่างสูงเพื่อเข้าสู่การต่อสู้ที่แท้จริง

     

    หลังจากดูพล็อตแนว “วนลูป” คราวๆ แล้วจะพบว่าตัวเอกที่ติดอยู่ใน “วังวนวนลูป” มีอยู่สามจำพวก พวกแรกคือพวกถูกลงโทษ (แน่นอนว่าเป็นคนที่นิสัยไม่ได้) ให้ไปอยู่ชะตากรรมแห่งการวนลูปซ้ำไปซ้ำมาแบบไม่รู้จบสิ้น ไม่สามารถหนีพ้นได้

    พวกที่สองคือ พวกที่ยอมรับชะตากรรมแห่งการวนลูป ยอมที่จะติดอยู่ในลูปเพราะพอใจโลกแบบนั้น สาเหตุเพราะมันเป็นโลกแห่งความสุข อยู่กับคนที่เรารัก มีช่วงเวลาดี ๆ ให้กัน จนไม่อยากให้วันเวลาแบบนี้ผ่านไป ไม่อยากให้จบลง จึงเกิดการวนลูปขึ้นเพื่อไม่ให้ถึงวันใหม่ที่อาจจะไม่มีความสุขอีก แม้จะถูกมองว่าไม่ยอมรับความจริง หรือไม่มีความกล้าที่จะเผชิญหน้าก็ตาม

    และพวกสุดท้าย ซึ่งถือว่าตัวเอกสายหลักของ “วนลูป” ที่เราควรทำเป็นแบบอย่าง นั้นคือพวกที่ต่อสู้แบบไม่ท้อถอย เพื่อหลุดพ้นการ “วนลูป” แม้หลายครั้งจิตใจจะท้อถอย (โดยเฉพาะกรณีที่ตัวเอกต้องเห็นคนรักตายต่อหน้าต่อตาหลายครั้ง)  แต่ก็กัดฟันอดทนที่จะต่อสู้ต่อ ด้วยความคิดที่ว่ามันน่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ ผลสุดท้ายด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง, ความพยายามและความเชื่อมั่นก็สามารถเอาชนะชะตากรรมที่แสนโหดร้ายได้ในที่สุด

    จะว่าไปแนวการดำเนินเรื่อง วนลูปจะคล้ายๆ กับแนว ย้อนอดีตดีๆ นี้เอง ที่ตัวเอกจะต้องกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดของตนเอง เช่น ช่วยเหลือผู้อื่น การแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น หรือปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น

    บางครั้ง “การวนลูป” ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เพราะการวนลูปนั้นต้องการให้เราปรับปรุงตัว ซึ่งอยู่ที่เราว่ารู้สึกตัวหรือไม่ จะสามารถทำได้หรือไม่

    ยกตัวอย่าง Groundhog Day เป็นภาพยนตร์วนลูป ที่ตัวเอกต้องติดในวนลูปที่ติดอยู่ในวันเดิมๆ เหตุการณ์เดิมๆ คำพูดเดิมๆ ทุกวัน ซึ่งตัวเอกมีอาชีพเป็นนักข่าวที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว มองโลกไม่แง่ร้าย ไม่คิดถึงจิตใจคนอื่น

    แน่นอนว่า ชีวิตของเรานั้นไม่มีทางที่จะเจอ “วนลูป” หรือ “ย้อนอดีต” แน่นอน หากเราผิดพลาดอะไรไป มันก็ไม่มีกลับไปแก้ไขอะไรได้  นอกจากนี้การใช้ชีวิตซ้ำๆ ซากๆแบบเดิมทุกวันก็ไม่แตกต่างอะไรกับการวนลูป ดังนั้นเราควรใช้ชีวิตแบบมีสติ ควรใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า การทำอะไรเพื่อส่วนรวม เอาใจเขาใส่ใจเรา และเราก็มีชีวิตที่มีแต่ความสุขในที่สุด

     


    “จงทำวันนี้ให้ดีที่สุด”

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×