ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    100 อันดับ โลกต้องจารึก

    ลำดับตอนที่ #117 : ปริศนาโลกตะลึง) ย้อนรอยนอสตราดรามุส (Nostredame) ตอนที่ 3 คำทำนายและจุดจบ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.5K
      0
      12 มี.ค. 50



    ย้อนรอยนอสตราดามุส


                   
    เพราะคำทำนายเหล่านี้นี่เอง ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของนอสตราดามุสขจรขจายไปทั่วฝรั่งเศสและทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ทั้ง ๆ ที่ในสมัยนั้นคนส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก และทั้งหนังสือก็มีราคาค่อนข้างแพง ซึ่งผู้ที่พอจะหาซื้อมาอ่านได้ก็มีเฉพาะแต่คนร่ำรวยเท่านั้น

                    หนังสือคำทำนายของนอสตราดามุส  นอกจากจะเป็นที่นิยมอ่านกันในหมู่ประชาชนธรรมดาแล้วยังได้ระบาดเข้าไปในแวดวงของนักอ่านในราชสำนักฝรั่งเศสอีกด้วย  อย่างไรก็ตามแม้ว่าประชาชนจากทุกสารทิศจะนิยม ยกย่องคำทำนายของนอสตราดามุส  แต่ก็มีบุคคลบางพวกซึ่งมีจำนวนมิใช่น้อย มีปฏิกิริยาต่อต้านคำทำนายของเขา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ  พวกแพทย์และนักโหราศาสตร์ ซึ่งพากันกล่าวโจมตีนอสตราดามุสว่า ไม่รักศักดิ์ศรีในความเป็นแพทย์ลดตัวลงมาทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการทางวิทยาศาสตร์


                   
    เข้าเฝ้าพระราชินีแห่งฝรั่งเศส

                    ผลปรากฏว่า คำทำนายบางตอนในหนังสือ Prophecies มีข้อความที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ข้าราชบริพารในราชสำนักฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แก่คำทำนายที่ว่า พระเจ้าอังรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสจะสิ้นพระชนม์ ในสนามประลองฝีมือ เพราะคำทำนายนี้เองที่ทำให้ พระนางแคทรีน เดอ เมอดีซี พระราชินีแห่งฝรั่งเศส  ทรงหวั่นพระทัยถึงกับทรงรับสั่งให้คนเดินทางไปตามตัวนอสตราดามุสมาเข้าเฝ้า

                    นอสตราดามุสเริ่มออกเดินทางมากรุงปารีส  เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.. 1556 การเดินทางมาครั้งนี้ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือนแทนที่จะเป็นสองเดือนอย่างปกติ ทั้งนี้เพราะ พระนางแคทรีนทรงร้อนพระทัยมาก ถึงกับทรงมีรับสั่งให้จัดม้าเร็วไปรับถึงเมืองซาลอง และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นอสตราดามุสได้เข้าพักอยู่ในโรงแรมแซงต์  มิเชล ซึ่งอยู่ใกล้ย่านตำบลนอเทรอดัม

                    สมเด็จพระราชินีคงจะร้อนพระทัยอยากพบมาก เพราะว่าในวันรุ่งขึ้นพระนางได้ทรงส่งหัวหน้าสมุหราชองครักษ์ไปพานอสตราดามุสมาเฝ้าที่พระราชวัง  แซงต์  เยอแม็ง อังเลอี ในทันที


                   
    ทำนายชะตากรรมพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส

                    ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ในวันที่นอสตราดามุสเข้าเฝ้า ได้บันทึกไว้ว่า   พระนางเมอดีซี  ทรงสนทนาอยู่กับนอสตราดามุส นานประมาณ  2 ชั่วโมง  สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พระนางทรงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งคนไปตามนอสตราดามุสมาเข้าเฝ้า  ก็เพราะคำทำนายบทที่ 35  ในเซ็นจูรี  ที่ 1 ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับคำทำนายของ ลุค กอลิค โหรผู้โด่งดังชาวอิตาเลียน   ซึ่งทำนายไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.. 1556

                    โหรลุค กอลิค เขียนคำทำนายส่งมาถวาย พระเจ้าอังรีที่ 2  เพื่อกราบทูลเตือนพระองค์มิให้ทรงทำการประลองฝีมือกับผู้ใดอย่างเด็ดขาด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   ห้ามประลองฝีมือในปีที่พระองค์มีพระชนมายุ 41 พรรษา มิฉะนั้นพระองค์จะได้รับอันตราย คือจะได้รับบาดเจ็บที่พระเศียร หรือถึงขั้นพระเนตรบอด หรือสิ้นพระชนม์ อย่างใดอย่างหนึ่ง คำทำนายของโหร ลุค  กอลิคนี้เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่ข้าราชบริพารในราชสำนักเพราะมีรายงาน ว่าพระเจ้าอังรีที่ 2 ทรงปรึกษาหารือเรื่องนี้กับ นายอังเนอ เดอ มองต์โมรังซี หัวหน้าตำรวจหลวง และข้าราชการในพระราชสำนักอื่น ๆ อีก 2 คนคือ โคลด แดโอเบอส์ปีน  และ  บรังโตเมอ ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในบันทึกความทรงจำของบุคคลทั้งสาม คำทำนายของนอสตราดามุสในเรื่องดังกล่าวนี้ที่เป็นภาษาฝรั่งเศสมีดังนี้

                    Le lion jeune le lvieux surmontera,

                    En champ bellique par singulier duelle :

                    Dons caige d'or les yeux lue creverg,

                    Deux classes une, plus mouriir, mort cruelle.

                    แปลความว่า "สิงห์หนุ่มจะชนะสิงห์เฒ่าในการประลองยุทธ์ สิงห์หนุ่มจะตะปบถูกตาสิงห์เฒ่าแตก สิงห์หนุ่มจะถูกล้อมจับไปขังในกรงทอง สิงห์ เฒ่าจะได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานยิ่ง"

                    ว่ากันว่า  พระนางแคทรีน เมอดีซี  ได้ทรงตรัสถามนอสตราดามุสเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอังรีที่ 2 ผู้พระสวามี และพระนางก็ได้รับคำตอบจนเป็นที่พอพระทัย  ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในคำทำนายของนอสตราดามุส จวบจนกระทั่งสิ้นประชนม์

                    ส่วนพระเจ้าอังรีที่ 2 นั้น ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้นอสตราดามุสเข้าเฝ้าเป็นระยะเวลาเพียงสั้น ๆ พระองค์มิได้สนพระทัยในคำทำนายมากนัก อย่างไรก็ตาม พระองค์ได้พระราชทานเงินแก่นอสตราดามุส  จำนวน 100 เหรียญ ส่วนพระนางแคทรีน เมอดีซี ทรงพระราชทานเพิ่มให้อีก 30 เหรียญ

                    ว่าที่จริงเงินที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ หากจะว่าไปแล้วยังไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่นอสตราดามุสใช้ในการเดินทางเข้ามาเฝ้าในครั้งนี้ด้วยซ้ำไป  เฉพาะเที่ยวมากรุงปารีสเที่ยวเดียวได้ใช้จ่ายไปถึง 100 เหรียญ เมื่อเดินทางถึงกรุงปารีสแล้ว นอสตราดามุสไม่มีเงินเหลือติดตัวอยู่เลยจึงได้ยืมเงินจากชายผู้หนึ่งชื่อ มองซิเออ โมเรล

                    หลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากจดหมายที่เขียนโต้ตอบกัน  ระหว่างนอสตราดามุสกับมองซีเออ โมเรล โดยนอสตราดามุสเขียนจดหมายถึง บอกว่า เขาได้รับจดหมายลงวันที่ 12 ตุลาคม ค.. 1561 ของมองซีเออ โมเรลแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.. 1561

                    จดหมายฉบับนี้ได้ท้าวความว่า เมื่อนอสตราดามุสเดินทางไปตกระกำลำบากในปารีส  คราวไปเข้าเฝ้าพระนางแคทรีนเมื่อปี ค.. 1556 นั้น ได้ยืมเงินจากโมเรล  เป็นจำนวน 12 เหรียญ 2 เซนต์ ตอนเข้าเฝ้าพระนางแคทรีน นอสตราดามุสได้กราบทูลเพื่อให้พระนางเมตตาชดใช้หนี้จำนวนนี้แก่นายโมเรลแทนตน แต่พระนางไม่ทรงยินยอม

                    จดหมายที่นอสตราดามุสเขียนถึงครั้งนี้  เป็นการตอบจดหมายฉบับที่สอง  ซึ่งนอสตราดามุสอ้างว่า  ตนไม่ได้รับจดหมายทวงหนี้ฉบับแรก           นอสตราดามุสบอกนายโมเรลให้นำกระดาษบันทึกที่เขาแนบมาด้วยกับจดหมายไปมอบให้กับเพื่อน ๆ ของนอสตราดามุส  ที่ทำงานอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอังรีที่ 2 ซึ่งเพื่อน ๆ  จะเป็นผู้ใช้หนี้ให้นายโมเรลแทน

                    ในจดหมาย นอสตราดามุสบอกกับนายโมเรลด้วยว่า เขาจะเดินทางไปปารีสอีกครั้งหนึ่งในไม่ช้านี้  เมื่อเหตุการณ์วุ่นวายทางด้านศาสนาได้เงียบสงบลงแล้ว ทั้งนี้เพื่อหาที่เรียนในปารีสให้ซีซาร์ลูกชายของเขา และเขาจะไปเยี่ยมนายโมเรลในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย     จดหมายมีลายเซ็นของเลขานุการ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นลายเซ็นของ ดร.ชาวิญญี   ติดตามด้วยลายเซ็นของนอสตราดามุส


                   
    ผูกดวงให้พระราชโอรสและพระราชธิดา

                    หลังจากที่นอสตราดามุสเข้าเฝ้า พระเจ้าอังรีที่ 2 และพระนางแคทรีน        ในครั้งแรกแล้วนั้น เขายังไม่ได้เดินทางกลับบ้านที่เมืองซาลองในทันที ยังวนเวียนอยู่แถวปารีสต่อไปอีก แต่ทว่าได้ย้ายที่พักจากโรงแรมแซงต์ มิเชล ไปพักอยู่ที่บ้านอันหรูหราของ อาร์คบิช็อบแห่งเมืองซังส์  และได้พักอยู่ที่นี่เป็นเวลาสองสัปดาห์

                    ต่อมาพระนางแคทรีนทรงส่งคนไปตามตัวนอสตราดามุสมาเข้าเฝ้าอีกเป็นครั้งที่สอง คราวนี้ได้รับมอบหมายจากพระนางให้ ผูกดวงชะตาของ พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 7   พระองค์ของพระนาง นอสตราดามุสทำการผูกดวงตามหลักโหราศาสตร์แล้วทำนายว่า พระราชโอรสทุกพระองค์ของพระนางแคทรีนจะได้เป็นกษัตริย์ แต่ในกาลต่อมาปรากฏว่า  คำทำนายไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด ทั้งนี้เพราะในพระราชโอรส 4 พระองค์นั้น มีองค์หนึ่งพระนามว่า ฟรังซัวส์  ทรงสิ้นพระชนม์ก่อนเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นไปได้ไหมว่าที่ทำนายไว้เช่นนั้น ที่จริงแล้วเขาหมายถึงว่าพระนางแคทรีนจะทรงเห็นพระราชโอรสเป็นกษัตริย์  4 พระองค์  ไม่ได้หมายความถึงว่า        พระราชโอรสทั้ง 4  พระองค์จะได้เป็นกษัตริย์  หากตีความใหม่เป็นเช่นนี้  ก็แสดงว่านอสตราดามุสทำนายไม่ผิดแม้แต่นิดเดียว  เพราะว่าพระราชโอรสของพระนางที่พระนามว่า  อังรีที่ 3  ทรงเป็นกษัตริย์ถึง 2 ประเทศ คือ เป็นกษัตริย์โปแลนด์ก่อนแล้วจึงเสด็จกลับมาเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศส


                    ถูกฝ่ายศาสนจักรคุกคาม

                    หลังจากข่าวนี้แพร่สะพัดไปได้ไม่นาน ก็มีหลายคนมาเตือนนอสตรา  ดามุสให้ระวังตัว  เพราะว่าศาลพระของฝ่ายศาสนจักรคาทอลิกที่กรุงปารีส กำลังเตรียมการสอบสวนเพื่อเล่นงานเขาอยู่ ในข้อหาที่ประพฤติตนเป็นเยี่ยงนักไสยศาสตร์

                    เมื่อรู้ว่าอันตรายกำลังจะมาเยือน  นอสตราดามุสจึงได้รีบเก็บข้าวของ  เดินทางกลับเมืองซาลองบ้านของเขาในทันที เขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชาวเมืองซาลอง  ในฐานะเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เมืองซาลอง เมื่อกลับมาอยู่ที่บ้านกับครอบครัวแล้ว   นอสตราดามุสก็ยังไม่หายจากโรคปวดข้อ (โรคเก๊าท์) ดูเหมือนอาการของโรคจะหนักยิ่งกว่าที่อยู่ในปารีสเสียอีก  วันหนึ่ง ๆ ผ่านไปโดยที่เขาทำงานหนักอะไรไม่ได้เลย แต่งานที่เขายังพอทำได้ต่อไปก็คือการผูกดวงให้กับบุคคลสำคัญ ๆ ที่ไปมาหาสู่ที่บ้าน

                    นอกจากนั้นเขายังคงมุมานะเขียนหนังสือคำทำนาย Prophecies  บทที่เหลือ ๆ  อยู่ต่อไปจนจบสมบูรณ์ เมื่อเขียนต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้จบแล้ว นอสตราดามุสไม่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มในทันที  ได้แต่แจกจ่ายคำทำนายบางตอนในต้นฉบับให้แก่ผู้สนใจนำไปอ่านกัน จวบจนกระทั่งปี ค.. 1568 หลังจากนอสตราดามุสเสียชีวิตได้ 2 ปี หนังสือเล่มนี้จึงได้รับการตีพิมพ์เป็นฉบับสมบูรณ์เป็นครั้งแรก


                   
    คำทำนายดวงชะตาของกษัตริย์ฝรั่งเศส

                    เหตุที่นอสตราดามุสไม่ยอมพิมพ์หนังสือคำทำนายเล่มนี้ทันทีที่เขียน ต้นฉบับเสร็จนั้น  น่าจะเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการ สิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอังรีที่ 2  พระสวามีในพระนางแคทรีน เมอดีซี  และที่สำคัญที่สุดก็อย่างที่กล่าวมาแล้วคือ  นอสตราดามุสได้เขียนคำทำนายเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ไว้ ในคำโคลงที่ 35 ในหมวดเซ็นจูรีที่ 1

                    เมื่อคำทำนายของเขาปรากฏเป็นจริงขึ้นมาเช่นนั้น  เขาจึงคิดว่าหากพิมพ์มันออกไปเป็นเล่มน่าจะเป็นการไม่ดีเป็นแน่   ควรที่จะรอไปอีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอังรีที่ 2 จะเลือนหายไปจากความทรงจำของประชาชน

                    เรื่องราวเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าอังรีที่ 2  มีอยู่ว่า ในฤดูร้อนปี ค.. 1559 ทางราชสำนักฝรั่งเศสได้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งยิ่งใหญ่มโหฬารแก่เจ้านายในราชสำนัก พร้อมกันสองคู่ โดยมีจุดมุ่งหมาย ทางการเมืองเป็นสำคัญ คือสร้างความมั่นคงทางการเมืองให้แก่ราชวงศ์วารัวส์ คู่แรก  เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบธ พระราชธิดาในพระเจ้าอังรีที่ 2  และพระนางแคทรีน เดอ เมอดีซี  ทรงอภิเษกสมรสกับ  พระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งประเทศ สเปน ส่วนคู่ที่สอง เจ้าฟ้าหญิงมาร์กูรีต์ พระกนิษฐภคินีในพระเจ้าอังรีที่ 2  ทรงอภิเษกสมรสกับ ดยุคแห่งเมืองซาวอย

                    หลังจากเสร็จพิธีอภิเษกสมรสครั้งนี้แล้ว ได้มีการจัดงานมหกรรม      สมโภชต่อไปอีกสามวัน  ซึ่งในงานนี้มีการจัดประลองฝีมือกันที่ถนนแซงต์  อังตวน    ในกรุงปารีสอีกด้วย

                    ในการประลองฝีมือในสองวันแรก พระเจ้าอังรีที่ 2  ทรงเข้าประลองฝีมือด้วย  ปรากฏว่าพระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือคู่แข่งขันทุกคน ในวันที่สาม  พระองค์ทรงลงแข่งประลองฝีมือกับ กาเบรียล ลอร์จ คอมต์ เดอ มองต์โก     เมอรี่  สมุหราชองครักษ์ชาว

    สก็อต ในยกแรก ๆ  ของการแข่งขันวันนี้ ทางฝ่าย  มองต์โกเมอรี่ ได้แสดงความสามารถออกมาว่ามีฝีมือเท่าเทียมกับพระเจ้าอังรี ที่ 2  แต่พระเจ้าอังรีที่ 2 ทรงมีทิฐิมานะอย่างแรงกล้า จึงได้ทรงท้ามองต์โกเมอรี่  ให้ประลองฝีมือจนถึงขั้นให้รู้แพ้รู้ชนะกันในยกที่สาม

                    แม้ว่า พระเจ้าอังรีที่ 2 จะฉลองพระองค์ด้วยเสื้อเกราะแน่นหนา  แต่ทว่าในการสู้กันในยกที่สามนี้ มองต์โกเมอรี่บังเอิญแทงอาวุธประลองซึ่งเป็นไม้ธรรมดาลอดช่องมองของพระมาลา (หมวก) ถูกพระเจ้าอังรีที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่พระเนตรและพระศอ อีก 10  วันต่อมาพระองค์ก็สิ้นพระชนม์เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ซึ่งก็ตรงกับคำทำนายของนอสตราดามุสที่ว่า พระเจ้าอังรีที่ 2  ซึ่งนอสตราดามุสเปรียบเปรยว่าเป็นสิงห์เฒ่าต่อสู้กับสิงห์หนุ่ม   สิงห์หนุ่มจะชนะ  สิงห์เฒ่าจะตาแตกและเสียชีวิต  เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว

                    ว่ากันว่า ในช่วงก่อนที่พระเจ้าอังรีที่ 2 และมองต์โกเมอรี่จะลงสนามแข่งขันกันในรอบสุดท้ายนั้น พระนางแคทรีน เดอ เมอดีซี ทรงหวั่นพระทัยเหมือนกับเป็นลางสังหรณ์ว่า  เหตุการณ์จะเหมือนในคำทำนายของ ลุค กอลิค โหรชาวอิตาเลียน และใน คำทำนายของนอสตราดามุส  พระนางจึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบทูลพระสวามีให้ทรงล้มเลิกการประลองยุทธ์ในรอบสุดท้ายนี้

                    นอกจากนั้น ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น  เด็กชายคนหนึ่งที่ได้เข้าไปรอชมการประลองฝีมือในครั้งนี้ ได้ร้องตะโกนกราบทูลมิให้พระเจ้าอังรีที่ 2 ทรงทำการประลองฝีมือต่อไป แต่ทว่า พระเจ้าอังรีที่ 2 มิได้สนพระทัยในคำกราบทูลของพระราชินีและเสียงตะโกนเตือนของเด็กคนนั้น ผลก็คือพระองค์ต้องสูญเสียพระชนม์ชีพในที่สุด

                    หลังจากนั้นต่อมา ทางเจ้าหน้าที่ของพระราชสำนัก  ได้นำตัวหนูน้อยที่ร้องตะโกนในวันนั้นมาทำการสอบสวน เด็กคนนั้นได้ให้การว่า ตนไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงทำให้ใจกล้าตะโกนไปในวันนั้น ตนรู้แต่เพียงว่า หากพระเจ้าอังรีที่ 2 ทำการสู้รบต่อไป พระองค์จะทรงได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต

                    มองต์โกเมอรี่   เกรงกลัวความผิดฐานทำให้พระเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์   เขาจึงได้หลบหนีออกจากพระราชวังไป แม้ว่าพระเจ้าอังรีที่ 2 จะทรงมี    กระแสรับสั่งก่อนสิ้นพระชนม์ว่าพระองค์ทรงพระราชทานอภัยโทษให้มองต์ โกเมอรี่  แต่พระนางแคทรีนไม่ทรงยอมพระราชทานอภัยโทษให้  พระนางได้ทรงส่งเจ้าพนักงานออกติดตามจับกุมมองต์โกเมอรี่มาขังคุกไว้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตรงกับตอนหนึ่งในคำทำนายที่ว่า "สิงห์หนุ่มจะถูกจับมาคุมขังในกรงทอง"


                   
    ถูกชาวปารีสประท้วงขับไล่

                    กล่าวกันว่า  มองต์โมรังซี  หัวหน้าตำรวจหลวงประจำราชสำนักฝรั่งเศส   ได้พลั้งปากพูดวิจารณ์ในที่ชุมนุมชนแห่งหนึ่งว่า "ที่พระเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์คราวนี้ เพราะไอ้โหรระยำมันทำนายกันเอาไว้"

                    แม้ว่ามองต์โมรังซี ไม่ได้บอกอย่างแน่ชัดว่า "โหรระยำ" ที่ว่านั้นเป็นนอสตราดามุส  หรือว่าลุค กอลิค โหรชาวอิตาเลียนที่ส่งคำทำนายมาถวายพระเจ้าอังรีที่ 2 กันแน่  แต่พวกประชาชนที่ได้ยินคำนี้ต่างเข้าใจว่าเป็นนอสตราดามุส จึงโกรธแค้นมากพากันเดินขบวนประท้วง โห่ร้องสาปแช่งและแห่หุ่นนอสตราดามุสไปเผาที่จัตุรัสแห่งหนึ่งในกรุงปารีส นอกจากนั้น   ฝูงชนในกรุงปารีสยังได้เรียกร้องให้ฝ่ายศาสนจักรจัดการขั้นเด็ดขาดกับเขาอีกด้วย

                    เงามหาภัยจากศาสนจักรได้ทาบลงสู่ชีวิตของนอสตราดามุสอีกครั้งหนึ่ง   หลังจากที่เขาเคยโดนคณะกรรมการสอบสวนที่เมืองตูลูสเล่นงานแบบนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อยี่สิบปีก่อน

                    อย่างไรก็ตาม นอสตราดามุสยังคงมีชีวิตปลอดภัยอยู่ที่เมืองซาลอง    โดยได้รับบารมีปกป้องคุ้มครองจากพระนางแคทรีน เดอ เมอดีซี ซึ่งขณะนี้     ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการในพระเจ้าฟรังซีส์ที่ 2 พระราชโอรสผู้ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา


                   
    ทำนายชะตากรรมของราชวงศ์ฝรั่งเศส

                    ราชวงศ์วารัวส์  ประสพกับชะตากรรมอันเลวร้ายอีกครั้งหนึ่ง ในเดือน พฤศจิกายน ค..1560 คราวนี้  พระเจ้าฟรังซีส์ที่ 2 ยุวกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสทรงประชวรหนัก  ยุวกษัตริย์พระองค์นี้ทรงอภิเษกกับ เจ้าหญิงแมรี่  แห่งสก็อตแลนด์ ซึ่งพระนางเสด็จมาประทับอยู่กับพระมารดา คือ  พระนางมารี เดอ กุยส์ ในราชสำนักฝรั่งเศส ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังจากพระราชบิดาคือ พระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสก็อตแลนด์ สวรรคตแล้ว

                    เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ค.. 1560 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ยุวกษัตริย์  ฟรังซีส์ที่ 2 ทรงประชวรหนักอยู่นั้น มิเชล สุรีอาโน เอกอัครราชทูตเวนิช ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่เมืองออร์เลอังส์  ประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งรายงานถึงเจ้าเมืองเวนิช (สำเนารายงานฉบับนี้ ปัจจุบันอยู่ที่ห้องสมุดบีบลีโอแต็ก นาซี-โอนัล ประเทศฝรั่งเศส) แจ้งว่า

                    "ปัจจุบัน ข้าราชสำนักของกษัตริย์ฝรั่งเศสแต่ละคน กำลังหวนรำลึกถึงคำทำนายบทที่ 35 ในหมวดเซ็นจูรีที่ 10 ของนอสตราดามุสกันอยู่ และโจษขานกันในเรื่องนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน"

                    คำทำนายที่เอกอัครราชทูตเวนิชอ้างถึงนี้ เป็นคำโคลงภาษาฝรั่งเศสว่า

                    Premier fils veufve malheureux mariage,

                    Sans muls enfans deux Isles en discorde,

                    Avant dixhuict incompetant eage,

                    De l'autre pres plus bas sera l'accord.

                    แปลได้ความว่า "ลูกชายคนโตของแม่หม้ายจะโชคร้าย แต่งงานแล้วไม่มีลูกสืบสกุล  และจะสิ้นชีวิตก่อนอายุ 18 ปี เกาะสองเกาะจะเกิดการขัดแย้งรบพุ่งกัน  ลูกคนเล็กของแม่หม้ายจะแต่งงาน  อายุน้อยกว่าพี่ชายเสียอีก"

                    คำทำนายนี้เป็นที่แน่ชัดว่ากล่าวถึง พระเจ้าฟรังซีส์ ที่ 2 ที่ทรงอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงแมรี่สจ๊วต แห่งสก็อตแลนด์ แต่ทั้งสองพระองค์ไม่สามารถที่จะมีพระราชโอรสและพระราชธิดาได้ ต่อมาเจ้าหญิงแมรี่ สจ๊วต ทรงเสด็จกลับประเทศสก็อตแลนด์ พระนางเป็นผู้ก่อเหตุการณ์อันนำไปสู่การขัดแย้งระหว่างประเทศสก็อตแลนด์กับประเทศฝรั่งเศส พระเจ้าฟรังซีส์ที่ 2 สวรรคตก่อนพระชนมายุครบ 18 พรรษา (คือตอนอายุ 17 ปี 10 เดือน 15 วัน) พระอนุชาของพระองค์คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ที่ 9 ทรงอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงอลิซาเบธแห่งออสเตรีย เมื่อพระชนมายุเพียง 11 พรรษาเท่านั้น


                   
    มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วยุโรป

                    เมื่อต้นเดือนธันวาคม ค.. 1560 นิคโคโล โทร์มาบูนี่ เอกอัครราชทูตทัสคานี ประจำราชสำนักฝรั่งเศส ส่งรายงานถึง ดยุคโคสิโม แห่งฟลอเรนซ์ เพื่อแจ้งสถานการณ์ในราชสำนักฝรั่งเศส ว่า

                    "พระอาการประชวรของพระเจ้าฟรังซีส์ ที่ 2 ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจนัก  และนอสตราดามุสได้ทำนายไว้ว่า   ในเดือนนี้   ราชสำนักฝรั่งเศสจะสูญเสียพระบรมวงศานุวงศ์ที่เยาว์พระชันษาถึงสองพระองค์ ด้วยโรคร้ายที่วงการแพทย์ยังไม่เคยพบมาก่อน"

                    คำทำนายของนอสตราดามุสก็ได้เป็นจริงอีกเช่นเคย  คือ  พระเจ้า ฟรังซีส์ ที่ 2  ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.. 1560 และในเดือนเดียวกันนี้ มีเชื้อพระวงศ์ผู้เยาว์ของ  ราชวงศ์วารัวส์  อีกพระองค์หนึ่งได้สิ้นพระชนม์ลงที่เมือง  รอเชอ-ซีร์-ยอง    เชื้อพระวงศ์พระองค์นี้เป็นองค์รัชทายาท ลำดับสุดท้ายของ ราชวงศ์วารัวส์

                    ในช่วงนี้ ชื่อเสียงของนอสตราดามุสโด่งดังออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป ดังเช่นมีหลักฐานว่าในเดือนมกราคม  .. 1561 ชางตองยี  เอกอัครราชทูตสเปนประจำราชสำนักฝรั่งเศส ได้ถวายรายงานกราบทูลพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปนว่า

                    "ประชาชนชาวฝรั่งเศสต่างตกตะลึง ที่ราชสำนักได้สูญเสียองค์รัชทายาท ลำดับที่ 1   และลำดับสุดท้าย ในเดือนเดียวกันถึง 2 พระองค์ ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในครั้งนี้ ได้สร้างความงงงันให้แก่ราชสำนักแห่งฝรั่งเศส เพราะมันตรงกับที่นอสตราดามุสได้ทำนายไว้ ที่จริงโหรผู้นี้น่าที่ทางการ   ฝรั่งเศสจะเนรเทศออกไปนอกประเทศเสียให้รู้แล้วรู้รอด ดีกว่าที่จะปล่อยให้เขาขายคำทำนายอันจะมอมเมาประชาชนให้เชื่อในสิ่งที่เหลวไหลไร้ประโยชน์"

                    ในเดือนพฤษภาคม ค.. 1561 มิเชล สุรีอาโน เอกอัครราชทูตเวนิช  ก็ได้เขียนรายงานถึงเมืองเวนิชอีกครั้งหนึ่งว่า

                    "มีคำทำนายอีกอย่างหนึ่งที่เล่าลือกันไปทั่วประเทศฝรั่งเศส เป็นคำทำนายที่เขียนขึ้นโดยโหรเทวดาตาทิพย์ชื่อนอสตราดามุส ซึ่งทำนายว่า      พระราชชนนีจะมีวโรกาสได้ทอดพระเนตรเห็นโอรสทั้งสามพระองค์ของพระนางได้ครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์"


         
               มีความสัมพันธ์กับกษัตริย์ต่างเมือง

                    นอกจากจะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับราชสำนักฝรั่งเศสโดยตรงแล้ว นอสตราดามุสก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับ ดยุคแห่งซาวอย และ พระนางมาร์กูรีต์ อีกด้วเหมือนกัน

                    คงจำกันได้ว่า พระนางมาร์กูรีต์พระองค์นี้เป็นพระกนิษฐภคินีใน พระเจ้าอังรีที่ 2   ซึ่งในงานสมโภชพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระนาง กับ ดยุคแห่งซาวอย  ในครั้งนั้น  ได้เกิดเหตุการณ็ร้ายขึ้น ทำให้พระเจ้าอังรีที่ 2 สิ้นพระชนม์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

                    หลังจากงานพิธีอภิเษกสมรสเสร็จสิ้นลงแล้ว ดยุคแห่งซาวอยยังไม่        เสด็จกลับในทันที  เพราะว่าในตอนนั้นเมืองซาวอยเกิดกาฬโรคระบาดอย่างหนัก   พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะประทับอยู่ที่เมือง ๆหนึ่งในมณฑลโปรวองซ์ ต่อมาในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.. 1559 ดยุคแห่งซาวอยมีพระราชประสงค์จะเสด็จ พระราชดำเนินไปเมืองนิช ผ่านทางเมืองซาลอง โดยมีพระนางมาร์กูรีต์ทรงร่วมไปในขบวนเสด็จของพระสวามีด้วย ดังนั้นประชาชนในเมืองซาลองจึงได้ไปรอรับเสด็จ ในครั้งนี้ซีซาร์บุตรชายของนอสตราดามุส เขียนเล่าเหตุการณ์ ในช่วงนั้นไว้ว่า

                    "พระนางมาร์กูรีต์ทรงพระราชทานวโรกาสให้คุณพ่อได้เข้าเฝ้าอยู่เป็นเวลานาน  นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่คุณพ่อเป็นอย่างยิ่ง"

                    หลังจากนั้น ดยุคแห่งซาวอยและพระนางมาร์กูรีต์  ได้ทรงติดต่อกับนอสตราดามุสอยู่เสมอ ๆ เช่น เมื่อปี ค.. 1561  ทั้งสองพระองค์ทรงรับสั่งให้ผูกดวงชะตาราศีของทารกที่อยู่ในพระครรภ์ของพระนางมาร์กูรีต์ นอสตราดามุสผูกดวงคราวนี้โดยไม่ต้องใช้วันเดือนปีเกิดและเวลาตกฟากแล้วทำนายว่าทารกที่อยู่ในพระครรภ์ของพระนางจะเป็นเพศชาย และต่อไปในภายภาคหน้าจะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

                    ปรากฏว่าคำทำนายของนอสตราดามุสมีความแม่นยำอีกตามเคย ทารกที่เขาผูกดวงทำนายไว้นี้ ต่อมาก็คือ เจ้าชายชาร์ลส์ เอ็มมานุเอล เจ้าชายพระองค์นี้ทรงมีอิทธิพลมาก  และทรงใช้อิทธิพลนี้คุกคาม พระเจ้าอังรีที่ 4 ผู้ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่ในฝรั่งเศส


                   
    พระราชชนนีฝรั่งเศสเสด็จเยี่ยม

                    เมื่อปี ค.. 1564 พระราชชนนี แคทรีน เดอ เมอดีซี และ พระเจ้า ชาร์ลส์ที่ 9 พระราชโอรสองค์ที่สองของพระนางพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ ได้เสด็จพระพาสทั่วพระราชอาณาจักรฝรั่งเศส โดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่สำคัญคือ เพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งเกิดการแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าตามนิกายศาสนาของตน ๆ

                    การเสด็จประพาสในครั้งนี้ใช้เวลาทั้งสิ้นรวม 2 ปี  และขบวนเสด็จประพาสจะหยุดอยู่ที่พรมแดนฝรั่งเศส-สเปนเป็นแห่งสุดท้าย ซึ่งพระนางเอลิซาเบธ  พระราชธิดาของพระนางแคทรีน  และพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน พระราชบุตรเขย จะทรงรอรับเสด็จอยู่ที่จุดนี้

                    พระราชชนนีทรงรับสั่งให้ลดจำนวนข้าราชบริพารที่ตามขบวนเสด็จในครั้งนี้ ให้มีจำนวนน้อยที่สุด คือให้เหลือเพียง 800 คนเท่านั้น เมื่อขบวน  เสด็จผ่านไปถึงมณฑลโปรวองซ์  พระราชชนนีทรงรำลึกถึงนอสตราดามุส จึงมีพระราชดำริที่จะเสด็จไปทรงเยี่ยมเขาที่เมืองซาลองด้วย

                    แต่ว่าก่อนหน้าที่ขบวนเสด็จจะไปถึงเมืองซาลองเพียงไม่กี่วัน ทางเมืองนี้เกิดกาฬโรคระบาดอย่างร้ายแรง ราษฎรเป็นจำนวนมากพากันอพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น จึงไม่มีราษฎรที่จะมาถวายการต้อนรับตามเส้นทางที่ขบวนเสด็จจะต้องผ่าน พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 ทรงพิโรธมาก ถึงกับมีพระบรมราชโองการป่าวประกาศให้ราษฎรทุกคนกลับคืนสู่เมืองซาลอง  หากราษฎรผู้ใดไม่กลับมาจะถูกลงพระราชอาญาอย่างหนัก

                    ขบวนเสด็จของพระราชชนนีและพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9  ได้มาถึงเมืองซาลองในเวลาบ่ายสามโมงของวันที่ 17 ตุลาคม ค.. 1564 ในตัวเมืองมีการประดับตกแต่งอย่างสวยสดงดงาม มีการติดธงทิวและแผ่นป้ายถวายพระพรไว้เป็นระยะ ๆ ถนนสายต่าง ๆ ที่ขบวนเสด็จจะผ่านนั้น ก็ถูกปรับพื้นให้เรียบถมด้วยทราย โรยด้วยกิ่งโรสแมรี่

                    พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9  ประทับบนหลังม้าทรงพันธุ์แอฟริกาสีเทา          พระหัตถ์กุมบังเหียนกำมะหยี่สีดำขลิบทอง   อยู่ในชุดฉลองพระองค์คลุมสีม่วง ชายสีเงินยวงผูกด้วยริบบิ้นสีเงิน พระกรรณยุคลสวมกุณฑลเขี้ยวหนุมานคู่ใหญ่โตมโหฬาร

                    พสกนิกรในเมืองซาลองได้ไปรอรับเสด็จกันอย่างล้นหลาม แต่นอสตราดามุสไม่ได้ไปร่วมพิธีรับเสด็จในครั้งนี้ด้วย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9  จึงมีกระแสรับสั่งให้ไปพามาเข้าเฝ้าในภายหลัง

                    ซีซาร์ บุตรชายของนอสตราดามุส  เขียนบรรยายเหตุการณ์ในตอนที่บิดาของเขามาเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 และพระราชชนนีว่า ขณะนั้น  นอสตราดามุสป่วยเป็นโรคเก๊าท์  เดินไปไหนมาไหนไม่ค่อยสะดวก

                    ในวันเข้าเฝ้า มือหนึ่งของนอสตราดามุสถือหมวกกำมะหยี่ อีกมือหนึ่งถือไม้เท้า พระราชชนนีแคทรีนจงรับสั่งให้นำลูกทั้ง 6 คนของนอสตราดามุส รวมทั้งคนที่เป็นหญิงที่ชื่อ ไดอานา  ซึ่งนอนแบเบาะอยู่มาเข้าเฝ้าด้วย

                    จากนั้น พระนางรับสั่งให้ดูดวงชะตาให้พระราชโอรส  เอ็ดเวิร์ดแห่งอังจู  พระนางทรงพอพระทัยที่นอสตราดามุสทำนายว่า เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะได้เป็นกษัตริย์  ซึ่งปรากฏต่อมาว่า  คำทำนายมีความแม่นยำอีก  เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งอังจู  ต่อมาได้เป็น  พระเจ้าอังรีที่ 3  พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์วารัวส์พระองค์สุดท้าย


                   
    ทำนายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในฝรั่งเศส

                    ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ นอสตราดามุสสังเกตเห็นเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของข้าราชบริพารที่ตามมาในขบวนเสด็จ พอเห็นเด็กคนนั้นเพียงแวบเดียวเท่านั้น นอสตราดามุสก็หยั่งรู้เหตุการณ์ได้ล่วงหน้าว่า ในอนาคตเด็กคนนี้จะเป็นผู้ที่สถาปนาราชวงศ์ใหม่  ปกครองประเทศฝรั่งเศสสืบต่อจากราชวงศ์วารัวส์

                    แต่เพื่อความแน่ใจยิ่งขึ้น  นอสตราดามุสได้เดินเข้าไปหาเด็กน้อยคนนั้นเพื่อขอดูไฝที่ร่างกายของแก แต่เด็กตกใจวิ่งหนีไป ต่อมาในเช้าวันรุ่งขึ้น นอสตราดามุสได้ไปแอบดูเด็กคนนี้แก้ผ้าอาบน้ำ ก็ได้เห็นไฝเม็ดสำคัญอยู่ที่ร่างกาย   จึงได้ทำนายอนาคตของเด็กว่า    จะมีบุญวาสนาสูงได้เป็นถึงกษัตริย์ฝรั่งเศส

                    กาลต่อมาก็เป็นจริงตามคำทำนาย  เด็กน้อยอังรีคนนั้นก็คือ พระเจ้าอังรี ที่ 4  แห่งนาวาร์เรอ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ใหม่ของประเทศฝรั่งเศส


     
                   เป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนัก

                    ก่อนที่ขบวนเสด็จประพาสจะเริ่มออกเดินทางจากเมืองซาลองไปยังเมืองต่าง ๆ   ในมณฑลอาร์ลีส์ต่อไป พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 ทรงพระราชทาน รางวัลแก่นอสตราดามุส เป็นเงิน 200 เหรียญ ส่วนพระราชชนนี แคทรีน เดอ เมอดีซี ทรงพระราชทานเพิ่มให้อีก 100 เหรียญ  นอกจากนั้น พระนางก็ยังทรงมีพระเมตตาแต่งตั้งนอสตราดามุสเป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนัก อีกด้วย ซึ่งยังความปลาบปลื้มยินดีแก่นอสตราดามุสเป็นอย่างยิ่ง เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติ แถมมีเงินเดือนให้ทุกเดือนอีกด้วย


                   
    พลังดูหมอเสื่อมได้เหมือนกัน

                    นอสตราดามุสใช่ว่าจะทำนายเหตุการณ์ถูกทุกครั้งเสมอไป บางครั้งก็เคยทำนายผิดพลาดไว้เหมือนกัน เช่นที่ได้ทำนายว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 จะได้อภิเษกสมรสกับ พระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 แห่งประเทศอังกฤษ

                    แต่เมื่อทางราชสำนักฝรั่งเศสส่งคณะทูตไปสู่ขอยังราชสำนักอังกฤษ พระนางกลับปฏิเสธว่า

                    "พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 แม้ว่าจะทรงมีบุญญาธิการสูงส่ง แต่พระองค์ก็ยังทรงพระเยาว์เกินไปที่จะเป็นสามีของฉัน"

                    เมื่อเห็นว่าคำทำนายของตนผิดพลาด  นอสตราดามุสได้กลับคำทำนาย อีกครั้งหนี่งว่าพระอนุชาของพระชาร์ลส์ที่ 9 คือ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งอังจู       (ต่อมาคือพระเจ้าอังรีที่ 3) จะได้อภิเษกสมรสกับ พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 เมื่อตอนที่พระนางมีพระชนมายุมากขึ้น

                    แต่คำทำนายไม่ถูกต้องอีกเช่นเดิม เมื่อทางราชสำนักฝรั่งเศสส่งทูตไปติดต่อทาบทาม พระนางเอลิซาเบธได้ทรงปฏิเสธทำนองเดียวกับที่เคยทรง ปฏิเสธในคราวของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9

                    เหตุที่นอสตราดามุสทำนายผิดพลาดในระยะหลัง ๆ นี้  เข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะความชราภาพ เพราะเกิดเจ็บป่วย หรือเพราะเขาต้องการประจบสอพลอราชสำนักฝรั่งเศส  เพื่อผลประโยชน์แก่ตนอย่างใดอย่างหนึ่ง

                    มีอีกคำทำนายหนึ่งที่ผิดพลาด แต่ตอนนั้น พระนางแคทรีน เดอ       เมอดีซี ทรงเชื่อว่าจะเป็นความจริง ในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งของพระราชชนนีที่มีไปถึง   นายมองต์โมรังซี   หัวหน้าตำรวจหลวงประจำราชสำนักฝรั่งเศส มีข้อความว่า

                    "นอสตราดามุสทำนายว่า พระเจ้าอยู่หัวลูกชายฉัน (พระเจ้าชาร์ลส์  ที่ 9)  ทรงมีดวงชะตาราศีดีมาก พระองค์จะมีพระชนมายุยืนยาว    พอ ๆ กับเธอ  ซึ่งนอสตราดามุสบอกว่า  เธอจะตายเมื่ออายุ 90 ปี"

                    แต่ความจริงกลับไม่เป็นไปตามคำทำนายดังกล่าว เพราะว่า นายมองต์ โมรังซีผู้นี้เสียชีวิตในปี   ..  1567   เมื่ออายุเพียง  74  ปี   ส่วนพระเจ้าชาร์ลส์    ที่ 9  ทรงสิ้นพระชนม์ในปี  .. 1574 เมื่อพระชนมายุแค่ 24 พรรษา

                    ในช่วงสองปีสุดท้ายแห่งบั้นปลายชีวิต นอสตราดามุสมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีเกียรติยศเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคมยิ่งขึ้น ก็เพราะได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชสำนักฝรั่งเศส แต่สังขารร่างกายของเขาก็ยังถูกโรคเก๊าท์คุกคามอยู่ต่อไปจนกระทั่งเสียชีวิตลงในที่สุด

                    ในบรรดาโหรด้วยกัน นับว่านอสตราดามุสเป็นหนึ่งในโหรเพียงไม่กี่คนที่อาศัยพรสวรรค์ในการทำนายทายทักทำมาหากินเลี้ยงตนเองและครอบครัว อย่างมีความสุขตามอัตภาพ ส่วนโหรคนอื่นๆ ส่วนมากเป็นโหรกันเพราะใจรัก  ไม่หวังที่จะใช้วิชาโหราศาสตร์เพื่อประโยชน์ในทางสะสมทรัพย์สินเงินทองใดๆ ทั้งสิ้น   ดังนั้น ชีวิตและครอบครัวของโหรหลายต่อหลายคนจึงเป็นชีวิตที่แร้นแค้น ต้องตกระกำลำบากอยู่ชั่วชีวิต

                    สาเหตุที่โหรไม่ยอมฉวยโอกาสใช้พรสวรรค์ของตน เพื่อกอบโกยเงินทองและสร้างเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่ตนเองนั้น ก็เพราะเชื่อว่า หากทำเช่นนั้นจะทำให้พลังความสามารถในการทำนายทายทักที่ตนมีอยู่เสื่อมสลายไป

                    ในข้อนี้จะเห็นได้จากตัวอย่างของนอสตราดามุส ซึ่งทำนายทายทักผิดพลาดไปในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิต ก็น่าจะเป็นเพราะ "ราชาโหรโลก" ผู้นี้มีจิตเป็นอกุศลต้องการประจบสอพลอราชสำนักฝรั่งเศส จึงทำให้พรสวรรค์ในการทำนายทายทักของเขาเสื่อมประสิทธิภาพลงไป


                   
    อวสานแห่งชีวิต

                    เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ค.. 1566  โรคเกาต์ได้แสดงอาการกำเริบหนักขึ้น  ในฐานะที่เป็นแพทย์ นอสตราดามุสตระหนักแก่ใจเป็นอย่างดีว่า ความตายกำลังคืบคลานใกล้เขาเข้ามาทุกขณะ  เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม  ปีเดียวกัน   เขาจึงได้ส่งคนไปนิมนต์พระในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกมาที่บ้านเพื่อฟังคำสารภาพบาปและประกอบพิธีศาสนาเป็นครั้งสุดท้ายให้แก่เขา

                    เมื่อ ดร.ชาวิญญี ผู้ศิษย์เข้ามากล่าวคำ "ราตรีสวัสดิ์" ในคืนนั้น   นอสตราดามุสได้กล่าวกับศิษย์ว่า เขาคงจะไม่มีชีวิตอยู่เพื่อรับอรุณรุ่งของวันใหม่ได้อีกต่อไป และแล้วในเช้าวันรุ่งขึ้นคือเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม  มีผู้พบนอสตราดามุสนอนฟุบตายอยู่บนตั่งที่เขาเคยใช้รองเหยียบขึ้นนอนเป็นประจำหลังจากโรคเก๊าท์ได้แสดงอาการกำเริบอย่างหนัก

                    ลักษณะและอาการตายของนอสตราดามุสนี้  เป็นไปตามที่เขาเขียนทำนายไว้ในหนังสือ Prophecies ที่ว่า "trouve tout mort intre le lit et le banc. "จะนอนตายที่ตั่งขึ้นเตียงนอน"


                   
    อนุสรณ์สถานของราชาโหรโลก

                    ศพของนอสตราดามุส ราชาโหรโลกนามกระเดื่อง ถูกนำไปฝังไว้ที่     กำแพงโบสถ์คอร์เดอลิเย เมืองซาลอง ที่หลุมศพ นางแอนน์ ผู้ภรรยาได้สร้างแผ่นหินอ่อนขนาดใหญ่ จารึกนามและวันเกิดวันตาย เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สามีด้วย

                    ต่อมาในช่วงที่เกิดการปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส พวกทหารได้ไปเปิดหลุมฝังศพของนอสตราดามุสแห่งนี้ แล้วนำศพของเขาไปฝังไว้ที่โบสถ์อีกแห่งหนึ่งในเมืองซาลอง โบสถ์แห่งใหม่นี้คือ  โบสถ์แซงต์ โลรังต์

                    ปัจจุบัน หลุมฝังศพของนอสตราดามุสก็ยังอยู่ที่นั่น ที่หลุมมีภาพวาดของเขาติดอยู่ด้วย เป็นภาพสวมหมวกทรงสี่เหลี่ยม  ซึ่งเป็นหมวกแห่งความสำเร็จในชีวิตที่เขาได้ปริญญาเอกสาขาแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย.


                   
    พร้อมกับปริศนาที่ว่าคำทำนายของคำเป็นของจริงหรือหลวงลวงกันแน่
    !

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×