ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    บทความวิชาเกรียน - ข้อมูลเทวดาฉบับฮาเฮ

    ลำดับตอนที่ #14 : พระวายุ : ลูกเมียน้อยผู้ยิ่งใหญ่

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 428
      7
      25 มี.ค. 59

    พระวายุ : ลูกเมียน้อยผู้ยิ่งใหญ่



    เรื่องเมียหลวงเมียน้อย ลูกเมียหลวงเมียน้อยแย่งมรดกเป็นเรื่องที่เอามาเล่นกันบ่อยในละครหรือนิยายไทย ครั้นไปดูการ์ตูนญี่ปุ่นก็ยังมีเรื่องทำนองเดียวกัน เช่นเรื่องอินุยาฉะ ที่พระเอกผู้เป็นลูกเมียน้อยต้องมาแย่งชิงดาบมรดกของพ่อ จากพี่ชายผู้เกิดจากเมียหลวง พอเห็นเรื่องพวกนี้บ่อยเข้าก็อดนึกถึงเทวดาบางท่านไม่ได้ ตอนนี้จึงขอเล่าเกี่ยวเทวดาองค์นั้นเสียหน่อย

    ตอนก่อนหน้าผมได้เล่าเรื่องของพระอัคนี หนึ่งในคณะวสุเทพทั้งแปดมาแล้ว ในตอนนี้ก็จะมาเล่าถึงอีกหนึ่งวสุเทพผู้มีบทบาทสำคัญเช่นกัน นั่นคือเทพแห่งลมที่ถูกเรียกว่า “พระวายุ” หรือชื่ออื่นว่า “มารุต” “อนิล” “ปวันวาตะ” “คันธวาหะ” หรือที่คนไทยคุณปากกันในชื่อ “พระพาย” นั่นเอง

    คนไทยส่วนใหญ่มักคุ้นบทบาทของพระพายจากรามเกียรติ์ ในฐานะผู้นำกำลังและอาวุธของพระอิศวรไปซัดเข้าปากนางสวาหะ และเป็นพ่อของหนุมาน (ในรามายณะ เป็นผู้พัดขนมวิเศษให้นางลิงอัญชนาไปกิน) หรือหากจะรู้จักมากกว่านั้นขึ้นมาหน่อยก็จะอยู่ในฐานะพ่อของภีมะในมหาภารตะ แต่เรื่องราวและบทบาทของเทพแห่งลมนั้นยังมีมากกว่านั้นมาก ซึ่งผมก็จะขอเล่าในอันดับต่อไป

    เรื่องความเป็นมาของพระพายปรากฏในหลายที่มา บ้างก็ว่ากำเนิดมาจากลมหายใจออกของสิ่งมีชีวิตแรก บ้างก็ว่าเป็นบุตรแห่งพระรุทระ ถือขวานเป็นอาวุธ แต่ที่มาที่ดูจะตื่นเต้นที่สุดคงมาจากรามายณะ ซึ่งผมจะเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับชมกัน

    ว่าหลังบรรดาแทตย์ หรืออสูรซึ่งเป็นบุตรของนางทิติ ถูกพระอินทร์โยนลงมาจากสวรรค์ นางทิติก็รู้สึกสงสารลูกของตัวเอง ผูกใจเจ็บลูก ๆ ของนางอทิติมาโดยตลอด จึงคิดอยากแก้แค้นเหล่าเทพอาทิตย์ แต่ตนเองก็เป็นสตรีแถมยังเป็นผู้ใหญ่ ครั้นจะไปรบรากับหลาน ๆ ก็คงจะลำบาก

    นางทิติเลยไปหาพระฤๅษีกัศยปเทพบิดรผู้เป็นสามี แล้วออดอ้อนแกมบังคับสามี ขอมีลูกอีกสักคนที่มีพลังมหาศาลกว่าพระอินทร์และกลุ่มเทพอาทิตย์ ซึ่งพลังระดับนั้นที่คงสั่นสะเทือนจักรวาลได้ไม่ยากเลย

    ปรากฏว่าฤๅษีกัศยปเทพบิดรอาจจะเห็นใจและเกรงใจชายา จึงจัดไปตามคำขอ แต่มีข้อแม้อยู่ว่าหลังจากที่ทำลูกตามคำขอแล้ว นางทิติจะต้องใช้เวลาทั้งหมดก่อนคลอดไปบำเพ็ญเพียรที่ตำบลกุศปลพ และต้องตั้งครรภ์เป็นเวลา ๑,๐๐๐ ปี!

    ผู้หญิงคนเดียวต้องห่างสามีไปแสนไกล แถมต้องตั้งท้องอีกยาวนานนับพันปี ดูเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่ความสงสารลูกและแค้นพระอินทร์มันรุนแรงยิ่งกว่า นางทิติจึงตกลงรับข้อเสนอนี้ แล้วออกไปบำเพ็ญตบะเพื่อจะได้ลูกที่แข็งแกร่งกว่าเหล่าเทพอาทิตย์ทั้งมวล

    ร้อนถึงพระอินทร์เจ้าเก่า กลัวว่าตัวเองจะโดนปฏิวัติซ้อน จึงพยายามทำดีกับนางทิติแต่เนิ่น ๆ โดยการลงจากสวรรค์มาปรนนิบัติรับใช้นางทิติระหว่างบำเพ็ญบารมี ให้นางอยู่อย่างสะดวกสบายทุกประการ และความช่างเอาอกเอาใจของพระอินทร์ก็ทำให้นางทิติใจอ่อน ให้อภัยพระอินทร์ ถึงขนาดเอ่ยปากว่าลูกที่เกิดมาแต่เดิมตั้งใจให้ไปปราบพระอินทร์ แต่ตอนนี้เปลี่ยนใจแล้ว ว่าจะยกลูกที่เกิดมาให้เป็นเพื่อนพระอินทร์แทน

    การได้เพื่อนใหม่มาคงจะทำให้พระอินทร์ชื่นใจอยู่บ้าง แต่พระอินทร์เองก็ยังระแวงว่าอำนาจที่ตัวเองและพี่น้องยึดมาจากเหล่าอสูร อาจถูกน้องชายที่จะเกิดมาใหม่ ปฏิวัติซ้อนเมื่อไรก็ได้ เพราะอย่างไรก็ตามเด็กที่เกิดมาใหม่ได้รับพรจากบิดาแห่งทวยเทพแล้วว่าจะเก่งกว่าลูกนางอทิติทั้งหลาย ดังนั้นพระอินทร์เลยคิดจะตัดไฟตั้งแต่ต้นลม...

    ถ้ามันเกิดมาแล้วเก่งมาก ก็ฆ่าเด็กในท้องไม่ให้มันได้เกิด!

    วันหนึ่งที่นางทิติผู้เป็นเมียน้อยของพ่อเผลอ พระอินทร์ลูกเมียหลวงก็ฉวยโอกาสย่อส่วนตัวเอง ชำแรกกายมุดเข้าไปในมดลูกของนางทิติ จากนั้นก็ใช้วัชระที่ทรงอานุภาพสับเด็กทารกในครรภ์อย่างอำมหิต จนเด็กคนเดียวกระจายออกเป็นเจ็ดส่วน!

    ถ้าเป็นเด็กมนุษย์ก็ควรจะตายไปนานแล้ว แต่นี่เป็นลูกเทพที่ได้รับพรให้เกิดมาเก่งกว่าพระอินทร์ โดนสับไปเจ็ดชิ้นก็ยังไม่ยอมตาย แถมเจริญกลายเป็นทารกอีกเจ็ดคน และร้องไห้งอแงตั้งแต่อยู่ในท้อง พระอินทร์ก็สับซ้ำอีกรอบจนกระจายเป็น ๔๙ ส่วน พร้อมกับบอกให้แต่ละส่วนหยุดร้อง หรือภาษาสันสกฤตว่า “มารุต” นั่นจึงเป็นนามแรกที่เหล่าทารกนั้นถูกเรียก (บางแห่งว่าสับแค่ ๗ ส่วนแล้วหยุดแค่นั้น)

    ระหว่างพระอินทร์กำลังสับน้องชายตัวเองอย่างทารุณ นางทิติก็รู้สึกปั่นป่วนในท้องจนสะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อตั้งสติดี ๆ ก็รู้ว่าพระอินทร์เข้าไปทำร้ายเด็กในท้อง ก็บอกพระอินทร์ให้หยุดมือ และยกลูกทั้งหมดในท้องให้เป็นบริวารของพระอินทร์ ซึ่งภายหลังเทพที่เกิดจากนางทิตินี้ก็ได้รับหน้าที่เป็นเทพแห่งธาตุลม เรียกกันว่าพระวายุ คอยดูแลลมเจ็ดประการ ได้แก่

    ๑. ลมตะวันออก

    ๒. ลมตะวันตก

    ๓. ลมเหนือ

    ๔. ลมใต้

    ๕. ลมพัดในเทวโลก

    ๖. ลมพัดในพรหมโลก

    ๗. ลมในห้วงอากาศ

    อย่างไรก็ตาม ทั้งสี่สิบเก้าส่วนนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นคนเดียวกัน มีชีวิตจิตใจร่วมกัน ดังนั้นเราจะพบว่าภาพเขียนของพระวายุในยุคมหากาพย์มีรูปลักษณ์เป็นเทพซึ่งมีสีกายขาวเหมือนเมฆหมอก สวมอาภรณ์คล้ายพระอินทร์ บางทีมีสองมือบ้าง สี่มือบ้าง มีอาวุธคือธงและลูกศร ทรงกวางเป็นพาหนะ แต่บางครั้งจะเห็นพระวายุขี่ม้า หรือนั่งรถม้าสีม่วง ๆ แดง ๆ เรียกว่าเป็นม้า “วลาหก” ซึ่งเป็นม้าที่สามารถวิ่งในอากาศในอย่างรวดเร็ว และทิ้งร่องรอยเป็นทางเมฆ เหมือนกับเครื่องบินไอพ่นในยุคปัจจุบัน

    พูดถึงม้าแล้ว พระวายุยังเป็นเทพที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือเชื่อกันว่าเป็นผู้สร้างม้าดีสี่จำพวกขึ้นมา คือ

    ๑. ม้าวลาหก คือม้าประเภทที่พระพายใช้เป็นพาหนะ วิ่งบนอากาศได้ และในวลาหกัสสชาดก ได้อธิบายว่าม้านี้มีกำลังฤทธิ์สามารถนำพามนุษย์ ๒๕๐ คนบินขึ้นไปในอากาศได้

    ๒. ม้าอาชาไนย คือม้าที่มีความสามารถในการเรียนรู้และฝึกหัดได้ดี

    ๓. ม้าสินธพ คือม้าฝีเท้าดีที่มีถิ่นกำเนิดลุ่มแม่น้ำสินธุ หรืออาจแปลได้ว่าเป็นม้าในตำนานพวกหนึ่ง ซึ่งมีฝีเท้าเบาจนสามารถวิ่งบนน้ำได้

    ๔. ม้าอัสดร หรือเอาเข้าจริงแล้วคือล่อ (Mule) อันเป็นสัตว์ผสม เกิดจากพ่อลาแม่ม้า ในโลกมนุษย์ปัจจุบันนั้นล่อเป็นสัตว์พาหนะที่ดี อายุยืน แข็งแรงทรหดมากกว่าม้า แต่ต้องการอาหารน้อยกว่าม้า ซ้ำยังมีความสามารถในการเดินในพื้นที่ขรุขระได้ดี

    นอกจากสร้างม้าฝีเท้าดีแล้ว พระวายุนั้นมีความสำคัญที่สุดในการดำรงชีพของมนุษย์ แม้จะมีศักดิ์เป็นลูกเมียรองก็ตาม เห็นได้จากในอุปนิษัทมีเรื่องเล่าประมาณว่าร่างกายมนุษย์นั้น ประกอบด้วยการพิทักษ์หรือได้พลังจากเทพเจ้าทั้งหลาย วันหนึ่งหมู่เทพจะทดลองว่าใครสำคัญที่สุดในการดำรงชีพของมนุษย์ เทพทั้งหลายทดลองหยุดรักษาร่างกายมนุษย์ทีละองค์ ก็ทำให้มนุษย์พิการบ้าง ป่วยบ้าง แต่พอพระวายุหยุดให้กำลังแก่มนุษย์ มนุษย์ก็ดิ้นทุรนทุรายจะขาดใจตายทันที นั่นเพราะลมหายใจซึ่งมีก๊าซออกซิเจน มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์มากที่สุดในทัศนะของคนเขียนคัมภีร์

    แต่ถึงจะได้รับหน้าที่ยิ่งใหญ่ แต่พระวายุเองก็เคยทำหน้าที่บกพร่องอยู่บ้าง กล่าวคือมีครั้งหนึ่ง พระวายุได้ลองฤทธิ์กับพญาอนันตนาคราช (บางแห่งว่าพญาครุฑ) โดยโจมตีใส่พญานาคด้วยการเนรมิตลมพัดใส่เขาพระสุเมรุ โดยที่พญานาคเป็นผู้ต้านรับ ผลปรากฏว่าแม้พระวายุจะเนรมิตลมมาสักเท่าใด พญานาคก็ดูดกลืนลมทั้งหลายของพระวายุเข้าไปจนหมด

    สิ่งเกิดขึ้นทำให้พระวายุเลือดขึ้นหน้า คิดจะทุ่มกำลังทั้งหมดเอาชนะพญานาค ถึงกับดึงเอาพลังลมหายใจของสิ่งมีชีวิตทั้งจักรวาลมารวมกันที่ตัวเอง หมายจะพิชิตพญานาคให้ได้ ทำให้เหล่าเทพและมนุษย์เดือดร้อน พระอิศวรจึงตัดสินให้ทั้งสองเสมอกัน พญานาคก็คายลมที่พระวายุพัดมาออกจากปาก ทำให้เขาพระสุเมรุบางส่วนหักกระเด็น และเชื่อกันว่าส่วนที่กระเด็นนั้นกลายเป็นเกาะลงกาหรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน เหล่าเทพที่เห็นการต่อสู้ก็สรรเสริญทั้งคู่ว่าเป็นผู้ทรงพลังมาก

    นอกจากเรื่องนั้นแล้ว พระวายุก็เคยก่อเรื่องจนผู้คนเดือดร้อนอีกครั้งในรามายณะ เมื่อบุตรพระวายุผู้เป็นลิงน้อยนาม “อัญชนียะ” เห็นดวงอาทิตย์แดง ๆ บนฟ้าแล้วคิดว่าเป็นผลไม้สุก จึงกระโดดขึ้นไปหมายจะกิน ทว่าพระราหูก็กำลังจะอมดวงอาทิตย์เช่นกัน พอเห็นลิงน้อยก็ไม่พอใจที่มีคนจะมาแย่ง แต่พระราหูสู้อำนาจลิงไม่ได้จึงหลบหนี เจ้าลิงตามไปก็พบพระอินทร์ทรงช้างผ่านมา ก็คิดว่าช้างเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง จึงจะจับกิน พระอินทร์เลยยิงสายฟ้าใส่จนตกลงไปกระแทกพื้นจนคางหัก


    พระวายุลูกเมียน้อยเห็นพระอินทร์ผู้เป็นลูกเมียหลวงรังแกลูกตัวเองก็เกิดความไม่พอใจ อุ้มลูกลิงน้อยเข้าไปหลบอยู่ในถ้ำ พร้อมกับเอาสายลมทั้งหมดที่ตัวเองดูแลเข้าไปด้วย บรรดาสิ่งมีชีวิตก็พากันเดือดร้อนอีกหน จนพระพรหมต้องมามาไกล่เกลี่ยและพาเหล่าเทพมาให้พรแก่ลิงน้อย และมอบชื่อใหม่ว่า “หนุมาน” และหลังจากลูกตนเองได้รับพรจากพระอินทร์และปวงเทพทั้งหลาย พระอินทร์และพระวายุก็ไม่เคยมีเรื่องกระทบกระทั่งกันอีก

    จะเห็นว่าถึงพระวายุจะเป็นลูกเมียน้อย แต่ก็ยังมีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้บรรดาเทพอาทิตย์ลูกเมียหลวง และคนสมัยก่อนก็เชื่อกันว่าที่โลกเราอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเหล่าเทพสมัครสมานสามัคคีกัน ทำหน้าที่ของตนอย่างไม่บกพร่อง ดังนั้นมนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นลูกเมียหลวงหรือลูกเมียน้อย เป็นชนชั้นวรรณะใด ยากดีมีจนอย่างไร ก็ควรจะสมัครสมานสามัคคีกันไว้ ให้สังคมของเราสงบสุขและพัฒนาไปได้นะครับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×