ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    บทความวิชาเกรียน - ข้อมูลเทวดาฉบับฮาเฮ

    ลำดับตอนที่ #21 : พระธตรฐ : ราชาผู้ชื่อโหล

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 474
      4
      1 ธ.ค. 59

    พระธตรฐ : ราชาผู้ชื่อโหล

    ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ธตรฐ

    กล่าวถึงโลกบาลสามองค์คือพระกุเวร พระวิรุฬหก พระวิรูปักษ์ไปแล้ว จะไม่กล่าวถึงองค์สุดท้ายก็กระไรอยู่ นั่นคือพระธตรฐหรือท้าวธตรฐ ผู้เป็นโลกบาลแห่งทิศตะวันออก ราชาแห่งเหล่าคนธรรพ์ทั้งมวลนั่นเอง

    เรื่องราวของพระธตรฐในฐานะราชาคนธรรพ์มีอยู่ไม่มากเท่าไรนัก เรียกว่ามีน้อยยิ่งกว่าน้อยก็ได้ เพราะไม่เป็นที่บูชาของมนุษย์แบบเดี่ยวๆ เหมือนพระกุเวร ไม่มีบทบาทที่ส่งผลต่อวรรณคดีเรื่องใดมากแบบพระวิรุฬหก แล้วก็ไม่ได้ปกครองอมนุษย์ที่มีความใกล้ชิดกับความเชื่อของมนุษย์อย่างนาคแบบพระวิรูปักษ์ เวลามนุษย์พูดถึงพระธตรฐ ก็มักจะพูดถึงเป็นเซ็ตร่วมกับจตุโลกบาลองค์อื่นๆ

    ข้อมูลของพระธตรฐนั้นปรากฏอยู่ในคติพุทธ  ปรากฏลักษณะขึ้นมาชัดเจนอีกหน่อยในทางนิกายมหายาน โดยระบุว่าเป็นโลกบาลแห่งทิศตะวันออก ผิวกายโทนแดง เป็นเทพผู้เกี่ยวข้องกับฤดูร้อน ทรงพิณ ซึ่งก็ไม่แปลกสักเท่าไรนัก เพราะพิณหรือเครื่องดนตรีนั้นเป็นอัตลักษณ์ของคนธรรพ์ อันเป็นชนกลุ่มที่ชอบการร้องรำทำเพลง ส่วนฤดูร้อนนั้นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความกระฉับกระเฉง เข้ากับผู้ชอบเสียงเพลงและความรื่นเริงอย่างคนธรรพ์

    ว่าแล้วก็วกมาเล่าเรื่องคนธรรพ์สักพัก คนธรรพ์นั้นเป็นอมนุษย์พวกที่อยู่ในความปกครองของพระธตรฐนั้นมีปรากฏอยู่ในทั้งคติความเชื่อแบบพุทธและฮินดู โดยในคติฮินดูนั้นระบุว่าคนธรรพ์เป็นอมนุษย์ที่มีหน้าที่ปรุงน้ำโสมให้เหล่าเทวดา นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เล่นดนตรีและขับร้องเพลงให้เหล่าเทวดา ดังนั้นในคติพราหมณ์ – ฮินดูจึงเรียกวิชาเกี่ยวกับการดนตรีว่าคนธรรพ์วิทยา ซึ่งหน้าที่เล่นดนตรีก็ยังปรากฏอยู่ในคติของพุทธเช่นกัน 

    รูปร่างและลักษณะของคนธรรพ์นั้นเชื่อกันว่าคล้ายเทวดา แต่ไม่งดงามเท่า ในคติพราหมณ์ – ฮินดู ปรากฏว่าคนธรรพ์นั้นนอกจากจะมีรูปร่างคล้ายมนุษย์แล้ว ยังมีคนธรรพ์ที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายสัตว์ เช่นม้าหรือนก และในมหาภารตะได้ระบุว่าคนธรรพ์นั้นมีกลุ่มย่อยแตกแขนงออกไปอีกมาก ซึ่งกลุ่มย่อยนั้นรวมไปถึงเหล่ากินนรด้วย (ดังที่ผมเคยได้เล่าว่ากินนรนั้นแตกแขนงมาจากคนธรรพ์ผสมกับมนุษย์ในตอนของพระพุธ) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่เรียกว่า “โรหิตะ” (Rohitas) ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่าพวกนี้เป็นคนธรรพ์แบบไหนเหมือนกัน แต่เท่าที่ลองค้นในหนังสือ “Walking in Albion: Adventures in the Christed Initiation in the Buddha Body” ของ Richard Leviton ได้บอกว่าเป็นกลุ่มย่อยของคนธรรพ์ที่พิทักษ์ดินแดนทางใต้ ในรามายณะ ระบุว่ามี 5 ตน มีรัศมีสว่างดังดวงอาทิตย์ ชื่อว่าไศลูษะ , ครามณี , ภิกษุ , ศุภระ และพภรุ

    คนธรรพ์มีทั้งที่อาศัยในต้นไม้ และมีคนธรรพ์ระดับสูงที่อาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์เช่นกัน เช่นปัญจสิงขร หรือพระมาตุลี ที่บางแห่งได้ระบุว่าเป็นคนธรรพ์ และบรรดาคนธรรพ์ในคนธรรพ์โลกทั้งหลายตามคติฮินดู

    คนธรรพ์นั้นมีนิสัยรักสนุกและชอบทำอะไรตามอำเภอใจ บางครั้งอาจเป็นภัยต่อมนุษย์ได้เพราะความไม่สมกฎเกณฑ์และความขี้เล่นของเขา วิธีการวิวาหะแบบตามอำเภอใจไม่สนญาติผู้ใหญ่ ขอแค่ชายหญิงรักกันและปลงใจมีสัมพันธ์กันนั้น ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์จึงเรียกว่า “คนธรรพ์วิวาหะ”

    ราชาหรือผู้เป็นใหญ่ในบรรดาคนธรรพ์นั้นมีอยู่มาก เช่นที่ปรากฏในมหาสมัยสูตรของพุทธ ก็ปรากฏชื่อจิตตเสน นโฬราช ชโนสภ ปัญสิงขร ติมพรู หรือทางฮินดูที่ผมเคยกล่าวไปว่าเชื่อว่าคนธรรพ์มีราชาคือจิตรางคทะ ซึ่งบางท่านอาจจะงงว่า อ้าว ไหนบอกว่าพระธตรฐเป็นราชาคนธรรพ์ แล้วไหนคนธรรพ์จึงมีราชาเยอะนัก อันนี้ต้องไปดูเรื่องของพระกุเวรประกอบครับ จะพบว่าในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานั้นมีเมืองเล็กเมืองน้อยมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม พระธตรฐมีศักดิ์เป็น “มหาราช” ซึ่งอาจหมายถึงราชาผู้เป็นใหญ่กว่าราชาคนธรรพ์ทั้งปวงในเมืองคนธรรพ์อื่นๆ นั่นเอง

    พระธตรฐนั้นมีเทพบุตรฤทธิ์มากอันมีศักดิ์เป็นลูกชายถึง 91 องค์ อันปรากฏในอาฏานาฏิยสูตร เช่นเดียวกับโลกบาลองค์อื่นๆ ซึ่งเหล่าลูกชายของพระธตรฐนั้นถูกเรียกว่า “อินทะ” ซึ่งหมายถึงผู้เป็นใหญ่ ซึ่งแต่ละคนจะมีชื่อเฉพาะอื่นๆ ไว้ให้เรียกกันสับสนหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

    แต่ที่น่าสนใจกว่าลูกชายของพระธตรฐคือลูกสาวครับ... แต่ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนเจ้าชู้จนสนใจเทพสาวๆ มากกว่าเทพหนุ่มหรอกนะครับ แต่เป็นเพราะมีเรื่องให้มาเล่าต่างหาก 

    เรื่องลูกสาวของพระธตรฐ ปรากฏอยู่ในชาดก คือสิริกาฬกัณณิชาดก เป็นเรื่องข้อพิพาทของนางสิริ ลูกสาวพระธตรฐ กับนางกาฬกัณณิหรือกาลกรรณี ลูกสาวพระวิรูปักษ์ ตอนนั้นทั้งคู่เกิดอยากไปอาบน้ำที่สระอโนดาตในป่าหิมพานต์พร้อมกันพอดี เลยจัดเตรียมเครื่องหอมแล้วไปยังสระ แต่ก็ดันไปถึงสระพร้อมกันอีก

    แล้วทั้งคู่ก็เถียงกันว่าใครจะได้สิทธิ์การอาบก่อน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมแบ่งๆ กันอาบไม่ได้รึไง สระมันก็ไม่ได้เล็กๆ หรือจะเป็นเพราะเขาไม่ถูกกันมาก่อนรึเปล่าก็ไม่รู้ เลยถือคติเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ เทพธิดาชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองก็ไม่อาจจะอาบน้ำในสระเดียวกันพร้อมกันได้ 

    กาลกรรณีบอกว่าตัวเองทำหน้าที่ตรวจดูโลก ปกป้องรักษาโลก ออกแนวช่วยพ่อทำงาน ดังนั้นตัวเองควรจะได้อาบก่อน แต่สิริบอกว่าตัวเองเป็นเทพธิดาที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นชื่อเสียงแก่บิดา ต้องได้อาบก่อน เมื่อทั้งคู่ต่างยกเหตุผลแบบนี้มา ก็ไม่อาจจะเอาชนะกันได้ เลยพากันไปฟ้องพ่อ ให้พ่อตัดสินว่าใครจะได้คิวอาบน้ำก่อนกัน

    ทั้งพระธตรัฐและพระวิรูปักษ์เจองี้ก็ถึงกับติดสตันท์ ตัดสินคดีพิพาทของอมนุษย์ที่ปกครองมันง่าย แต่ตัดสินเรื่องลูกสาวทะเลาะกันมันช่างยาก เลยส่งเรื่องไปให้พระกุเวรและพระวิรุฬหกต่อ ซึ่งอีกสองโลกบาลก็ไม่อาจตัดสินได้เหมือนกัน เลยส่งไปหาพระอินทร์เจ้าเก่า… นี่ถ้าผมเป็นพระอินทร์นี่คงเอามือกุมขมับแล้วบ่น “อะไรๆ ก็กู” แน่ๆ การเป็นใหญ่เป็นโตนี่มันมาพร้อมกับภาระหนักอึ้งจริงๆ ฮา

    ปรากฏว่าพระอินทร์ก็ไม่ตัดสินให้อีก เพราะเห็นว่าทั้งคู่ก็เป็นลูกสาวของผู้ใต้บังคับบัญชา จะตัดสินให้ฝ่ายใดดีกว่าเองก็อาจจะมีปัญหาอื่นตามมา เลยโยนให้เทพธิดาทั้งคู่ไปหาเศรษฐีชื่อสุจิปริวาระ อันเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งตอนนั้นมีที่นั่งที่นอนอันสะอาดไม่เปรอะเปื้อน โดยเศรษฐีตัดสินให้ใครได้นั่งนอนบนนั้นหนึ่งคืน คนนั้นจะได้อาบน้ำก่อน

    กาลกรรณีกลับไปแต่งกายด้วยผ้าเขียวและเปล่งรัศมีเหาะลงมาหาเศรษฐีโดยลอยอยู่กลางอากาศกลางเที่ยงคืน เศรษฐีก็คงงงๆ ว่าดึกดื่นป่านนี้มีใครไม่รู้โผล่มาลอยเหนือตัวเอง และเห็นว่านางกาลกรรณีมีผิวสีดำ กริยาท่าทางช่างดูไม่น่ารักเอาเสียเลย ซึ่งนางก็ได้แนะนำตัวว่าชื่อกาลกรรณีหรือนางกาลี หรือคนขนานนามว่านางจัณฑีผู้ฉุนเฉียว (ซึ่งทุกชื่อดันไปตรงกับเจ้าแม่กาลีในคติฮินดูเสียอย่างนั้น) เป็นธิดาพระวิรูปักษ์ ขอนอนบนที่นอนสะอาดๆ ในบ้านนี้สักคืน

    เศรษฐีจึงถามนางว่าเจ้าปลงใจในชายผู้มีปกติอย่างไร ความประพฤติอย่างไร หรือเอาง่ายๆ คือถามสเปคของแม่เทพธิดากาลีนี่แหละ ซึ่งเจ๊แกก็ตอบไปว่าชอบผู้ชายที่ชอบแข่งดีแข่งเด่นกับคนอื่น ชอบโอ้อวด ไม่อยากให้คนอื่นเป็นใหญ่เท่า หวงแหนสมบัติไม่ยอมให้ใคร โกรธง่ายแม้เรื่องเล็กน้อย ดื่มเหล้า ชอบเล่นการพนัน พูดง่ายๆ คือเจ๊แกชอบผู้ชายแนวแบดบอยว่างั้นแหละ

    เศรษฐีได้ยินดังนั้นเลยบอกให้ไปบ้านหลังอื่นเถอะ บ้านนี้ไม่มีและไม่ต้อนรับคนแบบนี้ แม่เทพธิดากาลีก็เชิดใส่ บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ง้อ ที่นอนทิพย์แบบนี้บนสวรรค์มีอีกเยอะแยะ และคนที่เจ๊แกชอบก็มีอยู่อีกมากบนโลก แล้วก็จากไป

    พอถึงคราวของนางสิริ นางก็เหาะลงมายืนเสมอกับเศรษฐี เปล่งรัศมีสีทอง ไม่ได้เหาะกลางอากาศแบบกาลกรรณี เศรษฐีเห็นก็ถามอีกว่าเป็นใคร นางก็แนะนำตัวว่าเป็นธิดาพระธตรฐ ชื่อสิริลักษมี เป็นเทพธิดาผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน พอเศรษฐีถามหาสเปค นางก็บอกไปตามจริงว่าชอบคนขยัน ไม่โกรธ เป็นมิตร รักษาศีล ไม่โอ้อวด ถ่อมตน พูดจาไพเราะแม้จะเป็นใหญ่เป็นโตรู้จักสงเคราะห์คนอื่น แน่นอนว่าเศรษฐีโพธิสัตว์ก็ต้องพอใจในคำตอบ และเชิญให้เทพธิดานอนในทันที ซึ่งนั่นก็ทำให้นางได้สิทธิ์ในการอาบน้ำก่อนนั่นเอง

    ที่กล่าวมาข้างคนนั่นเป็นเรื่องราวของพระธตรฐกับญาติวงศ์ของเขา แต่เราอาจพบชื่อธตรฐได้ในอีกหลายแห่งที่ไม่ใช่โลกบาล จะบอกว่าเป็นเทวดาที่ชื่อโหล เป็นชื่อยอดฮิตที่ปรากฏบ่อยก็ไม่ผิด ในพจนานุกรมของ อ. เปลื้อง ณ นคร เราจะพบว่าธตรฐหรือธตรัฐนั้น มีความหมายว่า “ผู้รั้งเมือง” หรือ “ผู้มีแว่นแคว้นอันมั่นคง” ในภาษาสันสกฤตเขียนว่าธฤตราษฎร์ 

    เนื่องจากผู้มีชื่อนี้มีจำนวนไม่น้อย ว่าแล้วก็รวบรวมเรื่องของผู้มีชื่อธตรฐ และธฤตราษฎร์ นอกจากชื่อตำแหน่งของโลกบาลมาเล่ากันเสียหน่อย

    ธฤตราษฎร์แรกนั้นน่าจะคุ้นกันมากสำหรับคนชอบวรรณกรรมฮินดู นั่นคือชื่อราชาตาบอดในมหาภารตะ ผู้เป็นบิดาแห่งฝั่งเการพ ซึ่งเป็นฝั่งอธรรม เขาเกิดมาพร้อมดวงตาอันมืดมิด 

    ธตรฐต่อมาเป็นชื่อตระกูลหงส์ทองแห่งเขาจิตตกูฏในป่าหิมพานต์ ปรากฏในมหาหังสะชาดก โดยมีพระโพธิสัตว์เป็นราชาแห่งเหล่าหงส์ทอง ตัวใหญ่เท่าดุมเกวียนมีพรรณดุจทองคำ มีรอยแดง ๓ รอยคาดอยู่ที่คอ มีรอยพาดลงไปทางลำคอไปโดยระหว่างท้อง ๓ รอย มีรอยที่หางอีก ๓ รอย มีบริวารหกเก้าหมื่นหกพันตัว 

    ธตรฐต่อมาเป็นชื่อของพญานาคในภูริทัตชาดก เป็นพญานาคแห่งแม่น้ำยมุนา เป็นลูกของพระวรุณนาคราช มีบริวารมากมาย วันหนึ่งบริวารจับเต่ามาเล่น เต่าจะเอาชีวิตให้รอดจึงหลอกลวงว่าเป็นทูตของพระเจ้าพาราณสี จะมาเจรจายกพระธิดาสมุททชาให้พญานาคธตรฐ พญานาคก็ไม่มีการเช็คความน่าเชื่อถือของข้อมูล ส่งทูตไปขอพระธิดาทันที

    แน่นอนว่าพระเจ้าพาราณสีไม่ยกให้ (จะยกให้ได้ไงเล่า จู่ๆ มีใครไม่รู้มาขอลูกสาวแบบนั้น แถวดันไม่ใช่คนอีก) พญาธตรฐจึงให้ไพร่พลนาคเข้าไปบุกรุกทั่วเมือง และขอให้ส่งขอนางสมุททชามาอีกครั้ง พระเจ้าพาราณสีจึงยกลูกสาวให้ แต่ถ้าลูกสาวเกิดเบื่อหน่าย พญานาคธตรฐก็อยู่กินกับนางจนมีลูกด้วยกันถึงสี่ และหนึ่งในนั้นคือพระโพธิสัตว์

    นอกจากนี้ธตรฐยังเป็นชื่อใช้เรียกกลุ่มนาคผู้เป็นใหญ่ และยังเป็นชื่อหนึ่งในเจ็ดราชาในมหาโควินทสูตรอีกด้วย ซึ่งจะเห็นว่าชื่อนี้ช่างเป็นชื่อยอดนิยม ที่มีคนใช้กันมาก ทว่าแต่ละคนที่ใช้ชื่อตัวหรือชื่อตำแหน่งเดียวกัน กลับมีบุคลิกนิสัยต่างกัน สถานภาพต่างกันไป

    นับประสาอะไรกับสังคมมนุษย์ ถึงจะมีชื่อเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน หรืออาชีพเดียวกัน ก็ใช่ว่าจะเป็นคนแบบเดียวกัน เราจึงไม่สามารถเหมารวมได้ว่าคนชื่อแบบนี้ อาชีพแบบนี้ จะต้องเลวหรือดีแบบนั้น มีบุคลิกภาพแบบนั้น นิสัยแบบนั้นแน่ๆ ดังนั้นเราจึงควรทำความรู้จักให้ลึกซึ้ง ไม่มองแบบเหมารวม เพื่อความเข้าใจที่มีต่อผู้อื่นครับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×