รู้ก่อนรักษาด้วย "สเต็มเซลล์" (ไทยรัฐ)
สเต็มเซลล์ (stem cell) หรือ "เซลล์ต้นกำเนิด" เป็น วิธีการหนึ่งในการบำบัดรักษาโรค โดยเซลล์ต้นกำเนิด สามารถแบ่งตัวได้เซลล์ใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนเดิม และเจริญเติบโตเป็นเซลล์ต่างๆได้หลายชนิด
เซลล์ต้นกำเนิด จำแนกชนิดได้เป็น เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน (embryonic stem cell) กับ เซลล์ต้นกำเนิดผู้ใหญ่ (adult stem cell) ในปัจจุบันสามารถนำไปใช้บำบัดโรคได้บางโรคเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีโรงพยาบาลบางแห่งโฆษณาว่ามีการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษา โรคอื่นๆ ด้วย ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภค จึงควรจะต้องทราบข้อมูลที่สำคัญต่อไปนี้ไว้ กล่าวคือ
คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการประชุมการกำกับดูแลสเต็มเซลล์ ครั้งที่ 1/2550 เกี่ยวกับการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่ใช้ในการ วิจัยและรักษาโรค มีใจความสำคัญว่า
เซลล์ต้นกำเนิดเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับ ในเบื้องต้นเฉพาะเรื่องการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษา โรคบางโรค เช่น มะเร็งเม็ดเลือด ส่วน การรักษาโรคอื่นๆ ด้วย เซลล์ ต้นกำเนิดยังอยู่ในขั้นตอน วิจัยและพัฒนา เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการรักษา รวมทั้งยังต้องมีการติดตามประเมินผลความปลอดภัย
ที่ประชุมคณะทำงานฯ มีความเห็นร่วมกันในเบื้องต้นว่า
1. ในการกำกับดูแลเซลล์ต้นกำเนิด และ การใช้เซลล์ต้นกำเนิดในทางการแพทย์ จำเป็นต้องใช้กฎหมายหลายฉบับร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้สามารถดำเนินการกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิผล
2. ขั้นตอนการวิจัยรักษาโดยเซลล์ต้นกำเนิด จำเป็นต้องอาศัยข้อกำหนด ข้อบังคับในขั้นตอนการวิจัยเข้ามาดูแล แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีพระราชบัญญัติการวิจัยทดลองในมนุษย์ จึงได้อาศัยข้อกำหนดนานาชาติในเรื่องจริยธรรมการวิจัยในคนมาปรับใช้ ซึ่งต้องยึดถือข้อกำหนดในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด
3. การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในอนาคตอันใกล้อาจมีการรักษาด้วยเซลล์ต้น กำเนิด โดยต้องศึกษากระบวนการวิธีโดยการเตรียมเซลล์ และการให้ผลในสัตว์ทดลอง และการทดสอบทุกขั้นตอนในมนุษย์ ทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชนจึงควรระมัดระวัง หากมีการเชิญชวนเข้าไปรักษาโดยเซลล์ต้นกำเนิดของสถานพยาบาลต่อไปในอนาคต
ความคิดเห็น