Jdongseng
ดู Blog ทั้งหมด

ว่าด้วยเรื่องตำนานของ 'Geass'

เขียนโดย Jdongseng
อ่า...
ที่จริงมันไม่ได้ตรงตัวกีอัสแบบชัดๆ เลยนะคะ
เป็นตำนานอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคำสาปค่ะ ^^

ยังไงก็ลองมาอ่านดูนะ

ที่มาของคำว่า "กีอัส" จากเรื่อง Code Geass [ไม่ Spoil น่อ]
เพิ่มเติมเนื้อหาเล็กน้อยครับ



เพื่อนๆ ที่เคยดูอนิเมเรื่อง Code Geass กันมาแล้วเคยนึกสงสัยกันบ้างมั้ยครับ ถึงที่มาของชื่อเรื่องนี้ โดยเฉพาะคำว่า "Geass" ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหลักสำคัญหลักหนึ่งของเรื่องนี้เลยทีเดียว (ก็เป็นความสามารถของพระเอกนี่นา เหอๆๆ) ผมเองทีแรกก็ไม่ได้ติดใจหรือสงสัยอะไรมากไปกว่าชื่อความสามารถมันแปลกดี และก็ลืมไปในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากไปสนใจเอากับความสนุกน่าติดตามของเนื้อเรื่องมากกว่า

จนกระทั่งวันนี้ ผมนำหนังสือ "ปวงเทพผู้นิราศ" ของคุณพัณณิดา ภูมิวัฒน์ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวตำนานเทพเจ้าของชาวเคลติกและติวตันนิก (ชนชาติที่เคยอาศัยอยู่แถบไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ และยุโรปเหนือในสมัยโบราณ) ที่เคยอ่านจบไปแล้วมาพลิกอ่านดูเล่นๆ อีกครั้ง (ผมชอบอ่านเรื่องราวเทพปกรณัมหรือตำนานต่างๆ พวกนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ดังนั้นถึงจะเป็นหนังสือที่อ่านจบแล้ว ก็ยังชอบเอามาพลิกดูเล่นๆ แก้เซ็งอยู่บ่อยๆ) และก็ได้เห็น "คำๆ หนึ่ง" ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นที่มาของคำว่า "กีอัส" ในชื่อเรื่อง Code Geass แม้จะมีข้อแตกต่างกันในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยอยู่ไม่น้อยก็ตาม

คำๆ นั้นคือ "เกส"

เกส (Geis) หรือเขียนได้อีกอย่างว่า Geissi, Ges, Geas และ Geasa (คำสุดท้ายเป็นรูปพหูพจน์ของคำทั้งหมดในข้างต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า 2 คำสุดท้าย คือ Geas และ Geasa นั้นเขียนคล้ายคำว่า Geass ซึ่งเป็นความสามารถของลูลูชมาก) เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งในอารยธรรมของชาวเคลติก (ชนพื้นเมืองบนเกาะอังกฤษแถบเวลส์ คอร์นวอล ไอร์แลนด์และสก็อตแลนด์ในสมัยโบราณ) เกสมีความหมายค่อนข้างคลุมเครือ แต่เรียกได้อย่างกว้างๆ ว่า "ข้อห้าม" (คล้ายๆ กับการ "ถือ" ของคนไทย เช่น ชายไทยบางคนที่ "ถือ" ไม่ยอมให้ผู้หญิงนอนเหนือหัวของตน เป็นต้น) แต่เป็นข้อห้ามเฉพาะบุคคล มิได้มีผลกระทบต่อสังคมหรือคนหมู่มาก

การเกิดเกสนั้นมีได้หลายสาเหตุ เช่น ถูกสาปแช่ง หรือเกี่ยวข้องกับการนับถือสิ่งต่างๆ คำสาบาน หรือข้อห้ามประจำตัวของแต่ละบุคคล บางครั้งก็เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น เช่น ห้ามปฏิเสธงานเลี้ยง ห้ามออกทางประตูเล็ก ห้ามไปในทางแพร่ง ห้ามกินเนื้อสัตว์ที่มีชื่อเดียวกับตนเอง เป็นต้น

แม้เกสจะมีความหมายคลุมเครือ แต่อำนาจข้อห้ามของมันนั้นศักดิ์สิทธิ์และรุนแรงยิ่งนัก การละเมิดเกสมักส่งผลร้ายแรงที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมและความผิดพลาดอยู่เสมอ นักรบมีชื่อในตำนานของเคลติกหลายคนต้องประสบกับหายนะเนื่องจากจำต้อง "ละเมิดเกสของตนด้วยความจำเป็น" เช่น คูฮูลินน์ สุดยอดนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในตำนานของเคลติก ต้องจบชีวิตลงเนื่องจากละเมิดเกสของตนในข้อ "ไม่กินเนื้อสุนัข" (คูฮูลินน์ ในภาษาเคลติกแปลว่า "สุนัขล่าเนื้อของคูลินน์" ) บางคนแม้ไม่ได้ตายเพราะละเมิดเกสโดยตรง ก็ถือได้เช่นกันว่าตายเพราะเกสเป็นต้นเหตุ เช่น คอนลา บุตรชายของคูฮูลินน์ผู้มีเกสถึง 3 ข้อ คือ ห้ามหันหลังกลับ ห้ามปฏิเสธการท้ารบ และห้ามบอกชื่อตนแก่ผู้ใด จนต้องเสียชีวิตด้วยมือบิดาของตนเองในที่สุด

เกสมิได้จำกัดแค่ความเชื่อ ข้อห้าม หรือคำสาบานของแต่ละคนเท่านั้น บางคนที่มีอำนาจเวทมนตร์ก็สามารถลงเกสกับผู้ใดก็ได้ ซึ่งเกสในลักษณะนี้จะใกล้เคียงกับ "คำสาป" เสียมากกว่า เช่น เอเรียนรอด ผู้ชิงชังบุตรชายของตนเองถึงขนาดลงเกส (สาป) ลูกไว้ถึง 3 ข้อ คือ จะไม่มีวันมีชื่อยกเว้นแต่เอเรียนรอดจะเป็นผู้ตั้งให้เอง จะไม่มีวันได้รับอาวุธเว้นแต่เอเรียนรอดจะเป็นผู้มอบให้เอง และจะไม่มีวันได้ภรรยาเป็นมนุษย์ ร้อนถึงกวิเดียนผู้เป็นลุงต้องใช้อุบาย "ซิกแซก" ผ่านเกสชั่วช้าทั้ง 3 ข้อมาได้ในที่สุด

จากที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ แม้จะมีข้อแตกต่างกันอยู่มากระหว่างความสามารถ "กีอัส" ของลูลูช กับ "กฎแห่งเกส" ของชาวเคลท์ แต่อย่างไรก็ตาม หากนับว่าความสามารถ "กีอัส" ของลูลูช คือการลง "คำสาป" ใส่ผู้โดนให้ต้องทำตามคำสั่งของผู้ลงคำสาปทุกอย่าง แม้แต่ "ไปตายซะ" ได้โดยไม่อาจขัดขืนแล้ว ก็นับได้ว่าเกสในลักษณะคำสาปนี้ใกล้เคียงกับความสามารถกีอัสของลูลูชไม่น้อย ยิ่งไม่นับว่าผู้ใช้กีอัสทุกคน (อย่างน้อยก็ 2 คนที่เราเห็นในตอนนี้) ต้องมีชีวิตราวกับต้องคำสาป ทั้งๆ ที่มีอำนาจล้นฟ้า แต่กลับมีชะตากรรมต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวไร้ผู้อยู่เคียงข้าง เนื่องจากอำนาจล้นฟ้าที่ตนมีอยู่ย้อนกลับมาทำร้ายตนเอง เช่น กีอัสของเหมาที่สามารถอ่านใจคนได้ แต่ไม่สามารถควบคุมการอ่านใจได้ ทำให้ต้องได้ยินเสียงในจิตใจคนอื่นอยู่ตลอดเวลาจนสภาพจิตตกต่ำจนใกล้บ้า เป็นต้น (จริงๆ ยังมีอีกคนที่อยากยกตัวอย่างแฮะ แต่เอาไว้ดูเองในตอน 22 - 23 ดีกว่านะ เหอๆๆ)

Credit:wannarit2255@gundamseed.thai-forum.net

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น