ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.ปลาย

    ลำดับตอนที่ #1 : ระบอบการเมืองการปกครอง

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 66.49K
      21
      30 ก.ค. 54

    ระบอบการเมืองการปกครอง

    ลักษณะการเมืองการปกครอง

    ระบอบประชาธิปไตย

    คือ ระบอบการปกครองตนเองของประชาชน โดยผ่านการเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรไปบริหารและดูแลเรื่องกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่และโดยการตรวจสอบควบคุมดูแลของประชาชนโดยตรงหรือการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน เช่น การยื่นเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย การยื่นถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบ การแสดงความคิดในการทำประชาพิจารณ์ การออกเสียงในการทำประชามติ
              ระบอบประชาธิปไตย ระบอบนี้มีลักษณะเด่นอยู่ที่การแข่งขันอย่างเสรีระหว่างกลุ่มหรือพรรคการเมืองต่างๆ เพียงเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนมากในประเทศให้เป็นรัฐบาล ทำหน้าที่บริหารกิจการต่างๆ ของประเทศตามนโยบายที่กลุ่มหรือพรรคนั้นได้วางไว้ล่วงหน้า ลักษณะเด่นดังกล่าวนี้จะดำรงอยู่ได้ตลอดไปถ้ากลุ่มหรือพรรคการเมืองนั้น ๆ ยึดหลักการประชาธิปไตยเป็นหลักในการต่อสู้แข่งขันทางการเมืองการปกครอง
    หลักการของระบอบประชาธิปไตย
              1. อำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรือบางทีก็เรียกกันว่า อำนาจของรัฐ (state power) เป็นอำนาจที่มาจากปวงชน และผู้ที่จะได้อำนาจปกครองจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ
              2. ประชาชนมีสิทธิที่จะมอบอำนาจปกครองให้แก่ประชาชนด้วยกันเอง โดยการออกเสียงเลือกตั้งตัวแทนเพื่อไปใช้สิทธิใช้เสียงแทนตน เช่น การเลือก สส. หรือ สว. โดยมีการกำหนดวันเลือกตั้งและมีวาระการดำรงตำแหน่ง เช่น ทุก 4 ปี หรือ 6 ปีเป็นต้น
              3. รัฐบาลจะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อาทิ สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต เสรีภาพในการพูด การเขียน การแสดงความคิดเห็น การชุมนุม โดยรัฐบาลจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเล่านี้
    เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีงามของประชาชน
              4. ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการที่จะได้รับบริการทุกชนิดที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน เช่น สิทธิในการ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
              5. รัฐบาลถือกฎหมายและความเป็นธรรมเป็นบรรทัดฐานในการปกครอง และในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มชน รวมทั้งจะต้องไม่ออกกฎหมายที่มีผลเป็นการลงโทษบุคคลย้อนหลัง

              ระบอบประชาธิปไตยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และแบบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
              1. แบบแรกมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ได้แก่ อังกฤษ เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทย
              2. แบบที่สองมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ได้แก่ ฝรั่งเศส อินเดีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

    ข้อดีและข้อเสียของ ระบอบประชาธิปไตย
              1. ข้อดีของระบอบประชาธิปไตย ที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
                   1.1 เปิดโอกาสให้ประชาชน ส่วนข้างมากดำเนินการปกครองประเทศ โดยประชาชนส่วนข้างน้อยมีสิทธิที่จะดำรงอยู่และทำการคัดค้านการปกครองของฝ่ายข้างมากได้ ข้อดีข้อนี้มีส่วนทำให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม เนื่องจากการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยฝ่ายเสียงข้างมากนั้นย่อมจะมีความถูกต้องมากและผิดพลาดน้อย ขณะเดียวกันฝ่ายเสียงข้างน้อยจะคอยเป็นกระจกเงา และท้วงติดผลเสียที่จะต้องป้องกันมิให้เกิดขึ้นตลอดเวลา
                   1.2 เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเสมอหน้ากัน ตัวอย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีหรือยากจน มีสิทธิที่จะรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองและสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานาธิบดี ซึ่งทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกคนดีและมีความสามารถเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าว
                   1.3 ถือกฎหมายเป็นมาตรฐานในการดำเนินการปกครอง โดยใช้กฎหมายบังคับแก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีหรือยากจน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือประชาชน ยังผลให้ทุกคนเสมอกันโดยกฎหมาย
                   1.4 ช่วยระงับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเองโดยสันติวิธี โดยมีศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งช่วยทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยมีกฎหมายเป็นกรอบของความประพฤติของทุกคน
              2. ข้อเสียของระบอบประชาธิปไตย ที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
                   2.1 มีความล่าช้าในการตัดสินใจทำการต่าง ๆ เนื่องจากต้องมีการปรึกษาหารือและผ่านขั้นตอนมาก เช่นการตรา กฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้เวลาบางครั้งหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน เนื่องจากต้องมีการอภิปรายกันในสภา และแก้ไขปรับปรุงกันมากกว่าจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ผู้นำของประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขโดยรีบด่วน จึงมักจะคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศของตน
                   2.2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปกครองมาก ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ หรือเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้ง ต้องใช้เงินทองเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้นำประเทศที่กำลังพัฒนามักคิดว่าประเทศของตนยากจนเกินไปที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตยได้
                   2.3 อาจนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายได้ ถ้าประชาชนส่วนมากในประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ไม่รู้จักใช้สิทธิเสรีภาพให้อยู่ภายในกรอบของกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้ประเทศชาติเจริญช้าลงอีก ด้วยเหตุนี้ผู้นำของประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศ จึงคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะสมกับประเทศของตน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย

    รากฐานสำคัญของประชาธิปไตย
                   อธิบายในเชิงวิชาการ (เชิงมีเหตุผลยืนยันสอดคล้องน่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้)ได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ต้องอยู่บนรากฐานหลักการที่สำคัญ 5 ประการ คือ
                   1. หลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของโดยใช้ อำนาจที่มีตามกระบวนการเลือกตั้งอย่างอิสระและทั่วถึงในการให้ได้มาซึ่งตัวผู้ปกครองและผู้แทนของตน รวมทั้งประชาชนมีอำนาจในการคัดค้านและถอดถอนผู้ปกครองและผู้แทนที่ประชาชนเห็นว่า ไม่ได้บริหารประเทศในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เช่น มีพฤติกรรมฉ้อโกง หาผลประโยชน์ทับซ้อนจนร่ำรวยผิดปกติ
                   2. หลักเสรีภาพ ประชาชนทุกคนมีความสามารถในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บุคคลต้องการ ตราบเท่าที่การกระทำของเขานั้น ไม่ไปละเมิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือละเมิดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติ
                   3. หลักความเสมอภาค การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและคุณค่าต่างๆของสังคมที่มีอยู่จำกัดอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกกีดกันด้วยสาเหตุแห่งความแตกต่างทางชั้นวรรณะทางสังคม ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือด้วยสาเหตุอื่น
                   4. หลักการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติธรรม การให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สิน การแสดงออก การดำรงชีพ ฯลฯ อย่างเสมอหน้ากัน โดยผู้ปกครองไม่สามารถใช้อำนาจใดๆลิดรอนเพิกถอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ และผู้ปกครองไม่สามารถใช้อภิสิทธิอยู่เหนือกฎหมาย หรือเหนือกว่าประชาชนคนอื่นๆได้
                   5. หลักการเสียงข้างมาก (Majority rule)ควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิของเสียงข้างน้อย (Minority Rights) การตัดสินใจใดๆที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนเข้าสู่ระบบการเมือง การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ ย่อมต้องถือเอาเสียงข้างมากที่มีต่อเรื่องนั้นๆ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินทางเลือก โดยถือว่าเสียงข้างมากเป็นตัวแทนที่สะท้อนความต้องการ/ข้อเรียกร้องของประชาชนหมู่มาก
                   หลักการเสียงข้างมากนี้ ต้องใช้ควบคู่ไปกับการ เคารพและคุ้มครองสิทธิเสียงข้างน้อยด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า ฝ่ายเสียงข้างมากจะไม่ใช้วิธีการพวกมากลากไปเพื่อผลประโยชน์ของพวกตนอย่างสุดโต่ง แต่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด เพื่อสร้างสังคม ที่ประชาชนเสียงข้างน้อย รวมทั้งชนกลุ่มน้อย ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ได้อย่างสันติสุข โดยไม่มีการเอาเปรียบกัน และไม่มีการสร้างความขัดแย้งในสังคมมากเกินไป

    ระบอบเผด็จการ

     มีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่บุคคลเพียงคนเดียวหรือคณะเดียวหรือพรรคเดียว โดยบุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวสามารถใช้อำนาจนั้นควบคุมบังคับประชาชนได้โดยเด็ดขาด หากประชาชนคนใดคัดค้านผู้นำหรือคณะผู้นำก็จะถูกลงโทษให้ทำงานหนักหรือถูกจำคุก
              ระบอบเผด็จการมี 3 แบบ คือ เผด็จการทหาร เผด็จการฟาสซิสต์ และเผด็จการคอมมิวนิสต์ ดังต่อไปนี้
              1. ระบอบเผด็จการทหาร หมายถึง ระบอบเผด็จการที่คณะผู้นำฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองโดยตรงหรือโดยอ้อม (ผ่านทางพลเรือนที่พวกตนสนับสนุน) และมักจะใช้กฎอัยการศึกหรือรัฐธรรมนูญที่คณะของตนสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการปกครอง โดยทั่วไปคณะผู้นำทหารมักจะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการชั่วคราว ระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือหลังจากล้มเลิกระบอบประชาธิปไตย โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดภัยคุกคามบางอย่างต่อความมั่นคงของรัฐ ส่วนมากแล้วเมื่อเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ สงบลง คณะผู้นำทางทหารก็มักจะอ้างสาเหตุต่าง ๆ นานาเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศต่อไปอีก ไม่ยอมที่จะคืนอำนาจกลับมาให้ประชาชนโดยง่าย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหภาพพม่าในปัจจุบันนี้เป็นต้น แต่ทว่าเมื่อเวลายิ่งผ่านเนิ่นนานออกไปกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนรวมทั้งแรงกดดันจากนานาชาติ ก็จะทำให้คณะผู้นำทางทหารกุมอำนาจการปกครองไว้ไม่ได้ ในที่สุดก็จำเป็นต้องคืนอำนาจให้ประชาน แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ในบางประเทศก็เกิดความวุ่นวาย มีการต่อสู้ระหว่างกำลังของประชาชนกับกำลังของรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งจากประวัติศาสตร์การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการปกครองที่ผ่านมา มักจะจบลงโดยชัยชนะเป็นของฝ่ายประชาชน เช่นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่โรมาเนีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ตัวอย่างของการปกครองแบบเผด็จการทหาร เช่น การปกครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นระยะที่พลเอกโตโจและคณะนายทหารใช้อำนาจเผด็จการในการปกครอง หรือการปกครองของไทยระหว่างที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2511 อำนาจการปกครองประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิวัติ ซึ่งนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ส่วนในปัจจุบัน(พ.ศ. 2541) ก็มี เช่น การปกครองของสหภาพพม่าภายใต้การนำของพลเอกตาน ส่วย เป็นต้น
              2. ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่ผู้นำคนหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจและกองทัพให้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ ผู้นำในระบอบการปกครองเผด็จการฟาสซิสต์มักจะมีลัทธิการเมืองที่เรียกกันว่า ลัทธิฟาสซิสต์ เป็นลัทธิชี้นำในการปกครองและมุ่งที่จะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการถาวร โดยเชื่อว่าระบอบการปกครองแบบนี้เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยให้ประเทศของตนมีความเจริญก้าวหน้าโดยเร็ว ตัวอย่างของการปกครองระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ เช่น การปกครองของอิตาลีสมัยมุสโสลินีเป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2473 – 2486 การปกครองของเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์เป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2476 – 2488 หรือการปกครองของสเปนสมัยจอมพลฟรังโกเป็นผู้นำระหว่าง
    พ.ศ. 2480 – 2518 เป็นต้น
              3. ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่พรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวได้รับการยอมรับ หรือสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลต่าง ๆ และกองทัพให้เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ คณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่า ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์เป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นอิสระจากการถูกกดขี่โดยชนชั้นนายทุน รวมทั้งทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าและเข้มแข็งทัดเทียมกับต่างประเทศได้เร็วกว่าระบอบการปกครองแบบอื่น ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มีความแตกต่างจากระบอบเผด็จการทหารอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ ระบอบเผด็จการทหารจะควบคุมเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนเท่านั้น แต่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์จะใช้อำนาจเผด็จการควบคุมกิจกรรมละการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ด้วยเหตุนี้นักรัฐศาสตร์จึงเรียกระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์อีกอย่างหนึ่งว่า ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ
    หลักการของระบอบเผด็จการ
              1. ผู้นำคนเดียวหรือคณะผู้นำของกองทัพ หรือของพรรคการเมืองเพียงกลุ่มเดียวมีอำนาจสูงสุด และสามารถใช้
    อำนาจนั้นได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ในประเทศ
              2. การรักษาความมั่นคงของผู้นำหรือคณะผู้นำ มีความสำคัญกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้นำอย่างเปิดเผยได้
              3. ผู้นำหรือคณะผู้นำสามารถที่จะอยู่ในอำนาจได้ตลอดชีวิต หรือนานเท่าที่กลุ่มผู้ร่วมงานหรือกองทัพยังให้การสนับสนุน ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนผู้นำได้โดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ
              4. รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ไม่มีความสำคัญต่อกระบวนการทางการปกครองเหมือนในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นแต่เพียงรากฐานรองรับอำนาจของผู้นำหรือคณะผู้นำเท่านั้น ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่จัดขึ้นก็เพื่อให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งผู้สมัครที่ผู้นำหรือคณะผู้นำส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน รัฐสภาก็จะประชุมกันปีละ 5 – 10 วัน เพื่อรับทราบและยืนยันให้ผู้นำหรือคณะผู้นำทำการปกครองต่อไป ตามที่ผู้นำหรือคณะผู้นำเห็นสมควร
    ข้อดีและข้อเสีย ของระบอบเผด็จการ
              ข้อดีของระบอบเผด็จการ ได้แก่
              1. รัฐบาลสามารถตัดสินใจทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้รวดเร็วกว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เช่น สามารถออกกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากเสียงข้างมากในรัฐสภา ทั้งนี้ก็เพราะผู้นำหรือคณะรัฐมนตรีมักจะได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาไว้ล่วงหน้าให้ออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับบางอย่างได้เอง
              2. แก้ปัญหาบางอย่างได้อย่างมีประสิทธิผลกว่าระบอบประชาธิปไตย เช่น สั่งการปราบการจลาจล การก่ออาชญากรรม และการก่อการร้ายต่าง ๆ ได้อย่างเฉียบขาดมากกว่า โดยไม่จำต้องเกรงว่าจะเกินอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ เนื่องจากศาลในระบอบเผด็จการไม่ได้มีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีเหมือนในระบอบประชาธิปไตย
              ข้อเสียของระบอบเผด็จการ ได้แก่
              1. เป็นการปกครองโดยบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ซึ่งย่อมจะมีการผิดพลาดและใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องได้โดยไม่มีใครรู้หรือกล้าคัดค้าน
              2. มีการใช้อำนาจเผด็จการกดขี่และลิดรอนสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งประทุษร้ายต่อชีวิตของคนหรือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ปกครอง
              3. ทำให้คนดีมีความสามารถที่ไม่ใช่พวกพ้อง หรือผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ปกครองไม่มีโอกาสดำรงตำแหน่งสำคัญในทางการเมือง
              4. ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่และขาดสิทธิเสรีภาพ ย่อมจะไม่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่และอาจพยายามต่อต้านอยู่เงียบ ๆ หรือมิฉะนั้นบางคนก็อาจจะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นพวกปัญญาชน ทำให้ประเทศชาติขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ
              5. อาจนำประเทศชาติไปสู่ความพินาศได้ เหมือนดังฮิตเลอร์ได้นำประเทศเยอรมนี หรือพลเอกโตโจได้นำประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผลปรากฏว่าทั้งสองประเทศประสบความพินาศอย่างย่อยยับ หรือตัวอย่างเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เห่งอิรัค ได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองประเทศคูเวต และไม่ยอมถอนตัวออกไปตามมติขององค์การสหประชาชาติ จนกองกำลังนานาชาติต้องเปิดฉากทำสงครามกับอิรักเพื่อปลดปล่อยคูเวต และผลสุดท้ายอิรักก็เป็นฝ่ายปราชัยอย่างย่อยยับ ทำให้ประชาชนชาวอิรักต้องประสบความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต การพัฒนาประเทศหยุดชะงัก ทั้งนี้เป็นเพราะการตัดสินใจผิดพลาดของผู้นำเพียงคนเดียว
              เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการต่างก็มีข้อดีและข้อเสียดังกล่าว จึงทำให้ชนชั้นนำและประชาชนจำนวนหนึ่งในประเทศต่างๆ เลือกใช้ระบอบการปกครองที่พวกตนคิดว่าเหมาะสมกับประเทศของตนในขณะนั้น และสามารถช่วยแก้ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศของตนตามแนวทางที่พวกตนเชื่อได้ ดังจะเห็นได้ว่า ในระยะตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา บางประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของตนจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เช่น เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น โปรตุเกส สเปน เป็นต้น ส่วนบางประเทศก็เปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระบอบเผด็จการทหาร เช่น พม่า นิการากัว เอธิโอเปีย เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน บางประเทศก็เปลี่ยนจากระบอบเผด็จการฟาสซิสต์หรือเผด็จการทหารเป็นระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ เช่น เกาหลีเหนือ เป็นต้น

    การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
              สังคมทุกสังคมจะเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นได้ ย่อมต้องมีระเบียบวินัยและผู้นำของสังคมเป็นหลักในการปกครอง ผู้นำของสังคมระดับประเทศโดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การใช้พระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทรงมิได้ใช้พระราชอำนาจเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง แต่มีองค์การหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบต่าง ๆ กันไป พระราชอำนาจทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นฐานะประมุขของรัฐ หรือในฐานะอื่น ได้ถูกกำหนดไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ

    รูปแบบของรัฐ
    รัฐ หรือรัฐประชาชาติ
    โดยทั่วไปมี 2 รูปแบบ คือ รัฐเดี่ยว กับรัฐรวม
              1. รัฐเดี่ยว เป็นรัฐที่มีรัฐบาลเพียงรัฐบาลเดียวเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยปกครองอาณาเขต หรือดินแดนทั้งหมด ประชาชนที่อยู่ในรัฐถือว่าอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกัน รัฐอาจจะจัดระบบการปกครองให้มีหน่วยปกครองระดับรองกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อให้บริการหรือให้ความสะดวกแก่คนในรัฐ รัฐเดี่ยวนี้แม้จะมีการจัดตั้งหน่วยงานปกครองท้องถิ่น เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครอง หรือดำเนินการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในท้องถิ่น แต่ก็เป็นรูปแบบของการปกครองตนเอง หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ตราขึ้นมาจากส่วนกลาง คือ การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีรัฐบาลกลางเป็นผู้ควบคุม การปกครองตนเองจะมีอำนาจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรัฐบาลแห่งชาติว่ามีความต้องการกระจายอำนาจเพียงใด กล่าวคือ อำนาจอธิปไตยมีศูนย์รวมอยู่ที่รัฐบาลในส่วนกลาง จึงทำให้การดำเนินงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นการวางนโยบายหรือการบริหารต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดและควบคุมดูแลของรัฐบาลกลางเป็นหลัก การปกครองแบบนี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีอาณาเขตไม่กว้างขวางมาก ท้องถิ่นมีลักษณะไม่ต่างกันมาก และประชาชนในรัฐมีความเกี่ยวข้องผูกพันกันในทางประวัติศาสตร์ เช่น ไทย ฝรั่งเศส ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ เป็นต้น
              2. รัฐรวม รัฐประเภทนี้ได้แก่ การที่รัฐอย่างน้อย 2 รัฐมารวมกันเป็นรัฐเดียว โดยแบ่งการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็นสัดส่วน มีรัฐบาล 2 ระดับ ได้แก่ รัฐบาลกลาง กับรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลทั้ง 2 ระดับต่างมีอำนาจหน้าที่ของตนโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยทั่ว ๆ ไป รัฐบาลกลางของรัฐรวมจะใช้อำนาจอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐทั้งหมด หรือผลประโยชน์อันเป็นส่วนรวมของรัฐ เช่น การติดต่อกับต่างประเทศ การรักษาความมั่นคงของชาติ การเงินและการคลัง เป็นต้น ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการดำเนินกิจการอันเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นโดยเฉพาะ เช่น การจัดการศึกษา การรักษาความสงบภายใน การรักษาสุขภาพของประชาชนเป็นต้น รัฐรวมประกอบด้วยหลาย ๆ รัฐเข้ามารวมกันเป็นรัฐประชาชาติใหญ่ เรียกว่า สหพันธรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยมลรัฐต่าง ๆ ถึง 50 มลรัฐ สาธารณรัฐเยอรมนี มีรัฐต่าง ๆ รวมกันถึง 16 รัฐ เป็นต้น รัฐธรรมนูญของรัฐรวมหรือสหพันธรัฐแบ่งแยกอำนาจของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นออกจากกันอย่างเด่นชัดว่า รัฐบาลใดมีขอบเขตของอำนาจหน้าที่อย่างไร ทั้งนี้เพื่อป้องกันความขัดแย้งอันอาจจะเกิดขึ้นได้ ปกติรัฐที่มีการปกครองแบบรัฐรวม มักจะเป็นรัฐหรือประเทศใหญ่ มีอาณาเขตกว้างขวาง มีภูมิประเทศและสภาพท้องถิ่นไม่เหมือนกัน เช่น สหพันธรัฐรัสเซีย ออสเตรเลีย บราซิล สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย เป็นต้น

    การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
              รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับยืนยันความเป็นประมุขสูงสุดของพระมหากษัตริย์ โดยบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ หมายความว่า ผู้ใดจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ผู้ละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง รัฐธรรมนูญบางฉบับถึงกับไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
              การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ได้รับการเชิดชูให้อยู่เหนือการเมือง และกำหนดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการดำเนินการทางการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญได้กำหนดพระราชอำนาจของ
    พระมหากษัตริย์ ดังนี้
              1. ทรงใช้อำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตย เช่น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ดังนี้
              ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทางใช้อำนาจในการออกกฎหมาย คำแนะนำ และยินยอมของรัฐสภา เมื่อรัฐสภาร่างกฎหมายขึ้นแล้วจะทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายตามขั้นตอนของ
    รัฐธรรมนูญ
              ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี หมายความว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรี
    พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีดำเนินการไปนั้น ถือว่ากระทำไปในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพราะบรรดาพระราชบัญญัติพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติและรับผิดชอบทั้งสิ้น โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ พระราชอำนาจทางด้านบริหารของพระมหากษัตริย์ดังกล่าวได้แก่ การตราพระราชกฤษฎีกาไม่ขัดต่อกฎหมาย การประกาศใช้และยกเลิกใช้กฎอัยการศึก การประกาศสงคราม เมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา การทำสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก หรือสนธิสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ และการพระราชทานอภัยโทษ
              ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล หมายถึง ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและการพ้นจาก ตำแหน่งของผู้พิพากษาและตุลาการก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการจะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์
              2. ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงอยู่ภายใต้กฎหมายก็เพียงเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ทรงอยู่เหนือกฎหมายอื่น ๆ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องตามกฎหมายใด ๆ มิได้ ทั้งนี้ก็เพราะต้องการเทิดทูนองค์พระประมุขของชาติ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด (The King can do no wrong) หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบในพระบรมราชโองการหรือการกระทำในพระปรมาภิไธยของพระองค์ในกรณีที่มีความเสียหายบกพร่องเกิดขึ้น ผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการจะต้องรับผิดชอบ เพราะในทางปฏิบัตินั้น พระมหากษัตริย์มิได้ทรงริเริ่ม หรือดำเนินข้อราชการต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง จะต้องมีเจ้าหน้าที่หรืองค์กรหนึ่งองค์กรใดเป็นฝ่ายดำเนินการและกราบทูลขึ้นมา จะไปละเมิดกล่าวโทษพระมหากษัตริย์มิได้
              3. ทรงเป็นุพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก นั่นก็คือทรงเป็นผู้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในขอบขันฑสีมาด้วย โดยไม่เลือกแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใด สถาบันพระมหากษัตริย์กับศาสนาจึงเป็นสัญลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่งของชาติไทย  รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะและเป็นองค์อุปถัมภ์ค้ำชูศาสนาอื่น ๆ อย่างเสมอหน้ากัน
              4. ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย คำว่า พระมหากษัตริย์ หมายถึง นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์ในอดีตจึงต้องทรงนำทัพออกศึกด้วยพระองค์เอง ปัจจุบันแม้การรบจะไม่เกิดมีขึ้นแล้วก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นมั่งขวัญของเหล่าทหารหาญ และเหนือสิ่งอื่นใดทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ตามที่รัฐธรรมนูญได้ถวายพระเกียรติยศไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ว่า พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม และนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นภายหลังก็ได้มีบทบัญญัติทำนองเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ทุกฉบับ พระราชสถานะ จอมทัพไทย ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้จำหลักลงในสำนึกของทหารไทยทุกคนเริ่มตั้งแต่ธงไชยเฉลิมพลประจำกองทหารนั้น ก็เป็นมงคลสูงสุดสำหรับหน่วย ด้วยเหตุว่าเป็นของที่ได้รับพระราชทานและได้บรรจุเส้นพระเจ้า(เส้นผม) ไว้ในพระกรัณฑ์(ตลับ) บนยอดปลายสุดของธง ดังนั้นเมื่อ กองทหารและธงไชยเฉลิมพลไปปรากฏอยู่ ณ ที่ใด ก็เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินร่วมไปด้วยในกองทัพนั้น ทหารไทยจึงมีขวัญมั่นคงเพราะต่างทราบดีว่าตนปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติเช่นเดียวกับพระประมุขของตนนั่นเอง
              5. ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานเกียรติยศแก่ชนทุกชั้นไม่ว่าจะเป็นฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ สมณศักดิ์ (ฐานันดรศักดิ์ของพระภิกษุสงฆ์) และบรรดาศักดิ์ (ฐานันดรศักดิ์ของขุนนาง ข้าราชการ) และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกตระกูลทุกลำดับชั้นด้วย การที่จะทรงสถาปนาฐานันดรศักดิ์หรือพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ในสมัยราชาธิปไตยพระราชอำนาจเหล่านี้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว การสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์
    การพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ
              อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีธรรมเนียมที่จะทรงสถาปนาฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์และพระราชทานสมณศักดิ์อยู่ แต่สำหรับบรรดาศักดิ์ขุนนางหรือข้าราชการนั้น ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว
              6. ทรงเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี คณะองคมนตรี คือ คณะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อองค์พระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา องคมนตรีประกอบด้วยผู้มทรงคุณวุฒิต่าง ๆ โดยมีประธานองคมนตรีคนหนึ่งกับองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน การเลือก การแต่งตั้ง และการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพียงแต่ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือพ้นจากตำแหน่งขององค์มนตรีอื่นๆ ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิ้น
              7. ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หมายถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน พระมหากษัตริย์ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ เช่น ประชวร ทรงผนวช ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ปกติแล้วเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ใดด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ผู้นั้นก็เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ถ้ามิได้ทรงแต่งตั้งไว้ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบและในบางกรณีเช่น เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง หรือระหว่างที่ยังไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อนได้
              ในรัชกาลปัจจุบันมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลายคราว เช่น เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาในต่างประเทศช่วงต้นรัชกาล เมื่อทรงผนวช หรือเมื่อเสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในต่างประเทศ
          8. ทรงแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กฎมณเฑียรบาลหมายถึง กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นใช้บังคับในกิจการส่วนพระองค์ เช่น พระราชพิธีต่าง ๆ กิจการที่เกี่ยวกับสมาชิกแห่งพระราชวงศ์ หรือกิจการที่เกี่ยวกับราชสำนักหรือภายในเขตพระราชฐาน โดยไม่เกี่ยวกับราษฎรอื่น ๆ
              การสืบราชสมบัติ หมายถึง การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งนับต่อเนื่องจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนมิให้ขาดตอนกัน อันเป็นธรรมเนียมนานาประเทศ
              การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใดให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ
           9. ทรงทำหนังสือสัญญา ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้หนังสือสัญญาได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
           10. ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา ข้าราชการในพระองค์ และข้าราชการระดับสูง
           11. พระราชทานอภัยโทษ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษโดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

    อิทธิพลของระบอบการเมืองการปกครองที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต

           1.ทำให้คนในสังคมได้เห็นความสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันและได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนต่อการปกครอง  ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองทุกระดับ  ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ

          2.ทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง

          3.ส่งเสริมให้เกิดการแสดงความคิดเห็น

          4.ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ  กลุ่มผลประโยชน์  โดยคนที่ประกอบอาชีพเดียวกันมารวมกลุ่มกัน

          5.ทำให้ชีวิตของคนในท้องถิ่นมีการติดต่อสัมพันธ์กันในเรื่องต่างๆ  เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในท้องถิ่นตน

    สถานการณ์การเมืองการปกครองของสังคมไทย

    การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดย คณะราษฎร ซึ่งนำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในการเมืองการปกครองของไทย เพราะเป็นการเปลี่ยนจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  เป็นหลักในการปกครอง

    เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จแล้ว ก็มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก  แม้จะเป็นกฎหมายที่ใช้ชั่วคราวก็ตาม และหลักจากนั้นประเทศไทยก็ปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักมาโดยตลอด  แม้จะมีการยุบเลิกรัฐธรรมนูญบ้างก็เป็นการชั่วครั้งชั่วคราว  ในที่สุดก็จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทดแทนเสมอไป คงกล่าวได้ว่า การปกครองของไทยนั้นพยายามที่จะยึดหลักการปกครองโดยกฎหมาย  คือ ให้มีบทบัญญัติ  กฎเกณฑ์ กติกาที่แน่นอนเป็นแนวทางในการปกครอง

    ประเทศไทยมีการใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครอง  จนกระทั่งถึงฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 รวมแล้ว 14 ฉบับ ทุกฉบับจะประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขขึ้น  แม้บทบัญญัติของธรรมนูญแต่ละฉบับ จะเป็นประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ตามหลักสากล  เช่น ในทุก
    ฉบับจะต้องมีสมาชิกรัฐสภาประเภทแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยร่วมกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจาการเลือกตั้งอยู่เสมอ
      รัฐสภาบางสมัยมีสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด  เป็นต้น ก็เป็นเพราะเหตุผลและความจำเป็นบางประการตามสถานการณ์ในขณะนั้น

    ปัญหาสำคัญทางการเมืองการปกครองของไทย 

    ปัญหาสำคัญทางการเมืองการปกครองของไทยในอดีต

                    นับตั้งแต่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย  ในปีพ.ศ.  ๒๔๗๕  นั้น  จนถึงขณะนี้เราพัฒนาระบบการเมืองในรูปแบบนี้มา  ๗๔  ปี  เป็นช่วงระยะที่ไม่ยาวนานในการพัฒนาและเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติรัฐประหารการสับเปลี่ยน กันขึ้นสู่อำนาจทั้งที่ชอบธรรมและขาดความชอบธรรม  มีการเลือกตั้งทั้งที่พยายามหาวิธีการและรูปแบบต่างๆเพื่อให้เกิดความชอบธรรมหลากหลายวิธี แต่ก็ยังไม่เคยปรากฏว่ามีรัฐบาลชุดใดที่สามารถอยู่ได้ครบวาระมักจะเกิดเหตุการณ์ยุบสภาบ่อยครั้งมากในสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ จนกระทั้งนักวิชาการและผู้รักบ้านเมืองทั้งหลายออกมาสร้างกระแสเรื่อง การปฏิรูปการเมืองซึ่ง ธีรยุทธ บุญมีอธิบายเรื่องจุดเปลี่ยนทางการเมืองอาจสรุปได้    ยุค  คือ

                    ๑.  ประชาธิปไตยยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕  เป้าหมายการต่อสู้ทางการเมืองในยุคนี้คือ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย  คนกลุ่มที่ต่อสู้ผลักดันก็คือ  คณะข้าราชการ  ทหารและพลเรือน  นำโดยอาจารย์ปรีดี  พนมยงค์ และพลเอกพหลพลหยุหเสนา และผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยได้การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งคราวสลับกับ ระบอบเผด็จการทหาร คุณูปการของการเปลี่ยนแปลง  ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕  ก็คือ  ทำให้ประเทศเข้าสู่วิถีการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก  แต่เนื่องจากประเทศไทยยังขาดฐานทางเศรษฐกิจสมัยใหม่และชนชั้นกลางผู้คนจึงมองประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ  เป็นเพียงสิ่งซึ่งประสิทธิ์ประสาทหรือเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเฉยๆ โดยไม่เกี่ยวพันเป็นผลประโยชน์ในชีวิตประจำวันแต่อย่างใดส่งผลให้กลุ่มข้าราชการซึ่งมีทั้งความรู้ ฐานะ  และอำนาจมากที่สุดมนสังคมก้าวมาสู่อำนาจอย่างรวดเร็วคณะข้าราชการทหารพลเรือนมีอำนาจครอบงำทางเศรษฐกิจ การเมืองเป็นช่วงเวลายาวนานที่ทางสังคม-รัฐศาสตร์เรียกว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตยเกิดเป็นความล้าหลังและความตึงเครียด  จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองขึ้นอีกครั้ง

              ๒.  ยุคประชาธิปไตยประชาชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  เป้าหมายคือ การต่อต้านคัดค้าน ระบบเผด็จการทหาร  เพื่อให้ได้การปกครองประชาธิปไตยแบบที่มีการเลือกตั้ง  พลังสำคัญที่ผลักดันคือ  นักศึกษา  ปัญญาชน  ทำให้เราได้รัฐบาลมาจากระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่  คุณประโยชน์ของเหตุการณ์  ๑๔  ตุลาคม พ.ศ.  ๒๕๑๖  ก็คือปลดเปลื้องธุรกิจต่างๆทั้งท้องถิ่นและระดับชาติให้พ้นจากการครอบงำของทหารและข้าราชการ  ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาตัวเองให้เติบโตทันสมัยในอีกด้านหนึ่งช่วยสร้างสำนึกประชาธิปไตยของคนไทยเพิ่มมากขึ้น และทำให้เกิดระบบพรรคการเมือง  และการเลือกตั้งถูกครอบงำเกือบสิ้นเชิงโดยนักการเมือง  ผู้ทรงอิทธิพลท้องถิ่น  และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ต่างๆ เกิดปัญหาซื้อเสียง  คอรัปชั่นโกงกิน   เพื่อถอนทุน  การฉ้อฉลอำนาจ  ไม่ฟังเสียงประชาชนเพราะนักการเมืองซื้อเสียงเข้ามาได้

                    ๓.  ยุคของการปฏิรูปการเมืองคือตั้งแต่เหตุการณ์ พฤษภาคม  ๒๖๓๕  จนมาถึงปัจจุบันซึ่งอาจจะถือว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูปการเมืองมุ่งหวังจะแก้ปัญหาความไม่ชอบธรรมของระบบการเมืองที่เกิดจากการซื้อเสียงและการคอรัปชั่นโกงกิน การปฏิรูปการเมือง จึงเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจ ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไปอย่างมาก

    ปัญหาสำคัญทางการเมืองการปกครองของไทยในปัจจุบัน

    สภาพปัญหาทางการเมืองการปกครองในปัจจุบันจะต้องมีการแก้ไขปัญหาทางการเมือง

    การปกครองอย่างเร่งด่วน   นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย  จนถึงปัจจุบันได้พัฒนาในทางที่ดีขึ้น  แต่เป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น เพราะเห็นได้โดยหลัก    ประการที่ยังปฏิบัติไม่สมบูรณ์ คือ  ๑.  ทางการเมืองประชาชนยังไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนัก  ๒.  ทางด้านเศรษฐกิจประชาชนก็ถูกลิดรอนจากรัฐบาล  รวมทั้งกลุ่มอิทธิพล  เช่น  การยึดที่ดินที่เดิมเป็นของประชาชนแต่เดิมให้เป็นป่า  ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนและขาดรายได้  ๓.  ด้านสังคมที่เกิดความไม่เท่าเทียมกันยึดเอาคนที่มีเงินที่ยศเป็นบุคคลที่สูง...ส่วนนายอุทัย  พิมพ์ใจชน  อดีตประธานรัฐสภาให้แนวคิดว่า  ”......ความจริงแล้วการเมืองไทยในอดีตเป็นการเมืองที่ล้มเหลวไปทุกๆ เรื่อง  อาจจะเป็นเพราะจุดหนึ่งมาจากผู้ที่เข้ามาเป็นฝ่ายบริหารอยู่ในลักษณะรัฐบาลผสม  พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเกรงอกเกรงใจกัน  พรรคขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายของตัวเองได้  เนื่องจากอำนาจต่อรองระหว่างพรรคร่วมมีสูงมาก  การเลือกตั้งในแต่ละครั้งล้วนมีการโกงการเลือกตั้ง  ซื้อเสียงและข่มขู่  ทำให้ประชาชนเจ้าของคะแนนเสียงที่แท้จริงไม่สามารถออกมาลงคะแนนได้  พอมีการปฏิรูปการเมืองเห็นได้ชัดเจนว่าในการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงแม้จะมีนักการเมืองเก่าๆ ติดยึดในลีลาแบบเดิมก็ถูก กกต.เล่นงานได้ชะงัด..จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการตั้งองค์กรอิสระหลายองค์กรทำหน้าที่ดูแลและตรวจสอบการทำหน้าที่ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่ดินรัฐสภา แต่องค์กรอิสระเหล่านี้ก็ยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์นัก เช่น  คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็โดนศาลพิพากษา ให้มีความผิดเรื่องขอเงินให้กับกลุ่มตัวเองพรรคพวกตนเอง ต้องมีการสรรหากันใหม่ ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินไปจนถึงขั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยตามคำแนะนำของวุฒิสภา ก็ยังมีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าไม่ถูกกฎหมาย องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนทำหน้าที่ของตนยังไม่สมบูรณ์ รัฐบาลซึ่งเลือกตั้งสองครั้งได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากมาย โดยเฉพาะครั้งที่สองที่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ มีพรรคที่ได้คะแนนมากจัดตั้งรัฐบาลและทำนโยบายตอนหาเสียงเป็นนโยบายรัฐ มีโครงการที่สำคัญหลายอย่างเช่น ๓๐ บาทรักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการโคล้านตัว โครงการ SML อื่นๆอีกมากมาย ในขณะที่คะแนนเสียงของ รัฐบาลมีมากถึง ๓๗๕ เสียงฝ่ายค้านมีเพียง ๑๒๕  เวลาจะตรวจสอบเรื่องใดๆ ก็ไม่สามารถทำได้มากนัก สื่อทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาบางครั้งก็ถูกระงับจนสื่อที่ออกมามีความเป็นสื่อด้วยตนเองหรือไม่ ในแง่เศรษฐกิจด้วยภาวะน้ำมันแพง วิกฤตไข้หวัดนก ลำไยถูก ลองกองถูกผลผลิตทางการเกษตรในชาติเสียหาย ภัยธรรมชาติ สินามิ เหล่านี้เป็นตัวแปรที่จะในการนำมาวิเคราะห์ทั้งสิ้น จากที่กล่าวมาข้างต้นการเมืองในปัจจุบันจึงมีฐานแนวคิดจากการปฏิรูปการเมือง

    นโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย
                  การกำหนดนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ทุกประเทศจะมีเป้าหมายคล้ายกัน คือ การรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งได้แก่ เอกราช ความมั่นคง
    ความเจริญรุ่งเรือง และเกียรติภูมิของชาติ สำหรับการกำหนดนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยนั้น อยู่ภายใต้องค์ประกอบต่าง ๆ โดยแบ่งการกำหนดนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยเป็น 2 ช่วง ดังนี้
    นโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
    การกำหนดนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
              การกำหนดนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
    1. ปัจจัยภายนอกประเทศ ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบาย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด มีดังนี้
    1) องค์การสันนิบาตชาติ ก่อนที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย องค์การสันนิบาตชาติไม่สามารถทำหน้าที่ในการรักษาเอกราชทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศสมาชิก คือ จีนซึ่งถูกญี่ปุ่นรุกรานและยึดครองแมนจูเรียปี พ.ศ. 2474 ได้ ความล้มเหลวขององค์การสันนิบาตชาติในวิกฤตการณ์แมนจูเรียนี้มีสาเหตุมาจากชาติมหาอำนาจ คือ อังกฤษและฝรั่งเศสไม่สนับสนุนให้องค์การสันนิบาตชาติลงโทษและหยุดยั้งการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นในแมนจูเรีย เนื่องจากต้องการให้ญี่ปุ่นขยายดินแดนไปทางเหนือของเอเชีย เพื่อว่าญี่ปุ่นจะได้ไม่สนใจลงไปทางใต้ของเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของตน นอกจากเพียงแค่ประฌามการกระทำของญี่ปุ่นเท่านั้น จากกรณีดังกล่าวรัฐบาลไทยตัดสินใจสั่งให้ผู้แทนไทยประจำสันนิบาตชาติงดออกเสียงในญัตติประฌาม การกระทำของญี่ปุ่นในแมนจูเรีย ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่งดออกเสียง ทำให้ประเทศสมาชิกอื่นตำหนิไทยว่าไม่ร่วมมือกับสันนิบาตชาติ แต่ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกขอบคุณประเทศไทยเป็นอย่างมาก และหันมาส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศไทยมากขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมในระยะต่อมา
    2) การขยายอิทธิพลของญี่ปุ่น เนื่องจากชาติมหาอำนาจไม่แสดงความสนใจที่จะยับยั้งการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นในจีน ญี่ปุ่นจึงมีความมั่นใจว่าตนจะสามารถขจัดอิทธิพลของชาติตะวันตกให้หมดไปจากเอเชียได้ จึงประกาศว่าจะจัดระเบียบใหม่ในเอเชีย เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชาวเอเชียอย่างแท้จริง โดยยึดครองเมืองใหญ่ ๆ ด้านตะวันออกของจีนได้ทั้งหมด เช่น เซี่ยงไฮ้ และนานกิง เป็นต้น ทำให้จอมพลเจียง ไค เช็ค ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีน ต้องย้ายนครหลวงไปที่นครจุงกิงทางด้านตะวันตกของจีน เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้เตรียมพร้อมที่จะเคลื่อนลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันเป็นเขตอิทธิพลของชาติตะวันตก ซึ่งญี่ปุ่นได้ฉวยโอกาสเมื่อขยายอิทธิพลเข้าสู่อินโดจีน อังกฤษ และฝรั่งเศส
                    การขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นในเอเชียทำให้ไทยวิตกว่าอาจจะมีอันตรายมาถึงได้ จึงได้ขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและทางวัฒนธรรมกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกเหนือจากการพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่นทำให้ประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาสงสัยว่าไทยสนับสนุนญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้นอกจากไทยจะปฏิเสธแล้วยังเตือนให้ประเทศตะวันตกรู้ถึงแผนการของญี่ปุ่นที่จะขยายอิทธิพลลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ขณะเดียวกันไทยได้ขอซื้ออาวุธสมัยใหม่จากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกามาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกันประเทศให้แก่กองทัพไทย และหลังจากเกิดสงครามโลกขึ้นในยุโรปแล้ว ไทยได้ประกาศวางตนเป็นกลางและขอให้ชาติมหาอำนาจช่วยค้ำประกันความเป็นกลางของไทยด้วย โดยรัฐบาลไทยได้ลงนามในสัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษและฝรั่งเศส และลงนามในสัญญามิตรภาพกับญี่ปุ่น
    2. ปัจจัยในประเทศ ปัจจัยภายในที่มีส่วนกำหนดนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในระบอบประชาธิปไตยมี 2 ประการ ดังนี้
    1) ความเป็นชาตินิยม ปัจจัยภายในที่มีส่วนผลักดันให้รัฐบาลไทยดำเนินการนโยบายต่างประเทศต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกและต่อประเทศมหาอำนาจ คือ ลัทธิชาตินิยมซึ่งถือเป็นอุดมการณ์ในการสร้างชาติให้เข้มแข็งและในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย ซึ่งปลูกฝังให้แก่คนไทยรุ่นใหม่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว โดยพระองค์ทรงปลุกเร้าคนไทยให้มีความสำนึกทางชาตินิยมและตระหนักถึงภัยที่กำลังคุกคามความเป็นไทยไว้ในพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ ทั้งในรูปบทความและบทละคร อาทิ ความเป็นชาติไทยแท้จริง ยิวแห่งบูรพาทิศ และเมืองไทยจงตื่นเถิด เป็นต้น นอกจากนั้น ผู้นำไทยที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ได้นำลัทธิหรือความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการเมืองและสังคม ซึ่งได้แก่ ลักทธิชาตินิยม ซึ่งกำลังแพร่หลายอยู่ในเยอรมณี อิตาลี และญี่ปุ่นมาเผยแพร่ให้แก่คนไทย และผลักดันให้รัฐบาลไทยใช้ลัทธิชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติให้เข้มแข็ง และในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
    อาจกล่าวได้ว่า นโยบายการสร้างความสำนึกในชาตินิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกระแวงชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและคุมเศรษฐกิจของไทย และจากความเคืองแค้นชาติยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่เคยรังแกไทยในอดีต และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการของผู้นำไทยรุ่นใหม่นี้ที่พยายามจะสร้างชาติไทยให้เข้มแข็ง เพื่อแผ่อิทธิพลไปยังดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชของไทยในอดีต เช่น ลาว เขมร หัวเมืองมลายู และบริเวณรัฐไทยใหญ่ เป็นต้น
    2) ผู้นำทางการเมือง ผู้นำไทยที่มีแนวคิดในทางการเมืองและสังคมภายใต้ลัทธิชาตินิยมในขณะนั้นได้แก่ พันเอกพระสารสาส์นพลขันธ์ ซึ่งเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และมีความสำนึกในชาตินิยมสูงมาก เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2481 ได้เริ่มงานสร้างชาติไทยร่วมกับคณะ โดยเฉพาะหลวงวิจิตรวาทการ โดยกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยให้เป็นวันชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 และพ.ศ. 2483 รัฐบาลได้ประกาศใช้รัฐนิยมถึง 8 ฉบับ ซึ่งได้แก่ การใช้ชื่อประเทศประเทศไทยแทนประเทศสยาม การกำหนดหน้าที่ของคนไทยในการป้องกันประเทศ การเรียกชาวไทยทุกภาคว่าชาวไทย การยืนเคารพธงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี การใช้สินค้าไทย การเปลี่ยนทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่ และการชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ
    อย่างไรก็ตาม ยังมีบุคคลชั้นนำของไทยอีกหลายคน เช่น นายปรีดี พนมยงค์ และนายดิเรก ชัยนาม ซึ่งเห็นด้วยในนโยบายนิยมไทยแต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่อต้านประเทศยุโรป ได้ผลักดันให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายผูกมิตรกับชาติมหาอำนาจทุกฝ่ายไว้ โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะขอความช่วยเหลือจากสองประเทศนี้ในการต่อต้านการรุกรานจากญี่ปุ่น และเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ร่วมมือกับญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นายปรีดี พนมยงค์ และผู้ร่วมอุดมการณ์ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นจากภายใน ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ดังนั้นอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองและภูมิหลังของผู้นำไทยเป็นปัจจัยภายในที่มีส่วนผลักดันให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศแตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากสถานการณ์ด้านการเมืองและการทหารในเอเชียได้เปลี่ยนแปลง ทำให้ปัจจัยภายในของไทยมีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศมากขึ้น
    การดำเนินนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย
    เนื่องจากปัจจัยภายนอกยังคงมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย และปัจจัยภายในก็มีบทบาทมากขึ้น ทำให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศแตกต่างไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องประสบอุปสรรคมากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่เพิ่มขึ้น และด้วยแนวทางที่แตกต่างไปจากอดีต
    1. เป้าหมายการดำเนินนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย เป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย คือ การรักษาเอกราชของชาติ การรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน การรักษาความมั่นคงของชาติ การรักษาสันติภาพในโลก และการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติ สำหรับการรักษาเอกราชของชาตินั้น รัฐบาลไทยได้ทำให้เอกราชของชาติไทยมีความสมบูรณ์ ทั้งทางด้านการเมืองและการศาล กล่าวคือ การประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่เริ่มจัดทำขึ้นแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อขจัดเงื่อนไขที่บังคับไว้ในสนธิสัญญาที่ทำไว้กับประเทศยุโรปที่กำหนดไว้ว่า ศาลไทยจะมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ชาวยุโรปตกเป็นจำเลย ก็ต่อเมื่อประเทศไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและอาญา ตลอดจนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและความอาญาเรียบร้อยแล้วเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งปรากฏว่ารัฐบาลสมัยประชาธิปไตยประกาศใช้ประมวลกฎหมายดังกล่าวได้ครบทุกฉบับในปี พ.ศ. 2478 จึงทำให้ใช้เป็นข้ออ้างในการเจรจากับประเทศยุโรปเพื่อทำสนธิสัญญาใหม่กับประเทศยุโรปและญี่ปุ่น ยกเลิกข้อจำกัดในเอกราชทางศาลของไทยได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2480
    ส่วนการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนและความมั่นคงของชาตินั้น ได้มีการริเริ่มให้ยุวชนทหารการขยายและบำรุงกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ให้มีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ รวมทั้งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ เช่น รถถัง ปืนต่อสู้อากาศยาน เรือรบ เรือดำน้ำ และเครื่องบิน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการป้องกันราชอาณาจักร การปรับปรุงกองทัพดังกล่าว ทำให้ต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสวิตกมากว่ารัฐบาลไทยอาจใช้กำลังรุนแรงกับฝรั่งเศส จึงขอเจรจาทำสัญญาไม่รุกรานกับประเทศไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยขอให้ฝรั่งเศสยอมยกดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดเอาไปจากประเทศไทยในอดีตคืนให้กับประเทศไทย เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมเจรจาด้วยรัฐบาลไทยจึงตัดสินใจใช้กำลังทหารสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2483 ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้ดินแดนในเขมรและลาวคืนจากฝรั่งเศสจำนวน 4 จังหวัด โดยการไกล่เลี่ยของญี่ปุ่น อาจกล่าวได้ว่าการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสนี้เป็นนโยบายต่างประเทศของไทยเพียงนโยบายเดียวที่แตกต่างไปจากนโยบายต่างประเทศที่ผ่านมาที่ต้องยอมเสียดินแดนให้แก่มหาอำนาจเพื่อรักษาเอกราชของชาติเอาไว้
    2. แนวทางดำเนินนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย แนวทางที่รัฐบาลไทยอาจเลือกใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศมีอยู่ 2 แนวทาง คือ แนวทางสันติ หมายถึง การใช้การเมือง การฑูต การเศรษฐกิจ และการค้า รวมทั้งจิตวิทยา เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองกับต่างประเทศเพื่อให้ต่างประเทศเห็นพ้องหรือยอมตามที่ไทยต้องการ และแนวทางรุนแรง หมายถึง การใช้การทหารเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อบังคับให้ต่างประเทศสนองผลประโยชน์ของไทย
    ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยนิยมใช้แนวทางสันติเป็นหลัก ดังจะเห็นได้ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยกเว้นในยามที่ไทยมีกำลังทหารเข้มแข็งเท่านั้น จึงจะใช้แนวทางรุนแรงเพื่อขยายอาณาเขตของไทยออกไปให้กว้างขวาง ส่วนสมัยอยุธยานั้น นิยมใช้แนวทางรุนแรงเป็นหลัก เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกเว้นแต่ในยามที่ไทยอ่อนแอ จึงจะใช้แนวทางสันติ และสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงใช้กำลังทหารขยายอาณาเขตของไทยไปยังดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงของพระราชอาณาจักรไทยนั่นเอง
    สำหรับการติดต่อกับประเทศมหาอำนาจนั้น ไทยได้ใช้การเมือง การฑูตเป็นเครื่องมือในการติดต่อสร้างสัมพันธไมตรี เช่น ยอมทำสัญญาเสียเปรียบกับประเทศมหาอำนาจ และบางครั้งก็ต้องยอมเสียดินแดนให้กับประเทศมหาอำนาจ เพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติด้วย
    เมื่อประเทศไทยก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้ใช้แนวทางสันติเป็นแนวทางหลัก การที่ไทยตัดสินใจใช้กำลังทหารยึดดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ก็เนื่องจากความรู้สึกชาตินิยมของคนไทยซึ่งเป็นปัจจัยภายใน ในขณะที่ฝรั่งเศสอ่อนแอลงอย่างมาก อันเป็นปัจจัยภายนอกช่วยสนับสนุนให้ไทยใช้แนวทางรุนแรง
    อาจกล่าวได้ว่า การที่รัฐบาลไทยในยุคประชาธิปไตยเลือกใช้แนวทางสันติ และหลีกเลี่ยงการใช้แนวทางรุนแรงดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้นมีสาเหตุอันเนื่องมาจากลักษณะประจำชาติไทยที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของไทยที่เป็นรัฐขนาดกลาง จึงทำให้ไทยใช้แนวทางรุนแรงกับประเทศเพื่อนบ้านที่อ่อนแอกว่า และใช้การเมืองการฑูตผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจ หรือเพื่อนบ้านที่เข้มแข็งกว่า
    3. อุปสรรคและการแก้ไข การแก้ไขสนธิสัญญาบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคกับต่างประเทศและการเรียกร้องดินแดนที่ถูกยึดเป็นอาณานิคม เป็นปัญหาอันเป็นเป้าหมายของไทยในการแก้ไข การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ไทยประสบอุปสรรคทั้งในด้านการใช้แนวทางสันติและแนวทางรุนแรง ซึ่งรัฐบาลได้พยายามหาทางแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวด้วยวิธีการ ดังนี้
    1. วิธีทางการฑูต อุปสรรคสำคัญของการแก้ไขสนธิสัญญาบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค คือความไม่เต็มใจของประเทศมหาอำนาจในยุโรปที่จะแก้ไขสนธิสัญญาที่ให้ประโยชน์แก่พวกเขา ซึ่งไทยได้แก้ปัญหาความไม่เต็มใจของประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นได้สำเร็จ ด้วยวิธีทางการทูต 2 ประการ ดังนี้
    1) การเจรจากับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผลประโยชน์ทางการค้าและชาวอเมริกันมีน้อยกว่าคนยุโรปที่อยู่ในประเทศไทย จึงขอให้สหรัฐอเมริกายอมยกเลิกสนธิสัญญาเก่า และทำสนธิสัญญาใหม่บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ซึ่งมีผลทำให้ไทยเจรจาเพื่อขอทำสนธิสัญญาใหม่บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคกับอังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ได้ในเวลาต่อมา
    2) สร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น เนื่องจากการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นในเอเชีย ทำให้ไทยต้องสร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในด้านการค้าและวัฒนธรรมมากขึ้น เพื่อใช้ความใกล้ชิดกับญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือต่อรองกับประเทศมหาอำนาจในยุโรป ซึ่งไม่ต้องการให้ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นมากเกินไป
    2. การใช้แนวทางรุนแรง การดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อการขยายดินแดนของไทยตามกระแสชาตินิยมของคนไทยต้องประสบอุปสรรคอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีอาวุธทันสมัยจากต่างประเทศมาสร้างความเข้มแข็งให้แก่กองทัพไทย ขณะเดียวกันต่างประเทศก็ไม่เต็มใจขายอาวุธทันสมัยให้ เพราะเกรงว่าไทยอาจใช้อาวุธเหล่านั้นร่วมมือกับประเทศอื่นคุกคามผลประโยชน์ของตน เช่น สหรัฐอเมริกาไม่ยอมส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดให้แก่ไทย เพราะเกรงว่าจะใช้อาวุธเหล่านั้นทำสงครามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสทั้ง ๆที่ได้ตกลงขายให้แล้ว เป็นต้น ส่งผลให้กองทัพไทยด้อยสมรรถภาพ รัฐบาลไทยจึงแก้ปัญหาด้วยการบำรุงขวัญและกำลังใจให้ทหารไทยฮึกเหิม พร้อมที่จะทำการรบเพื่อแก้แค้นฝรั่งเศสที่เคยทำความเจ็บใจให้แก่ประเทศไทยในอดีต ซึ่งทำให้กองทัพไทยประสบชัยชนะ โดยฝรั่งเศสยอมเจรจาคืนดินแดนบางส่วนให้กับไทย นอกจากนี้เมื่อญี่ปุ่นมีแผนการจะบุกไทยเพื่อเป็นทางผ่านไปโจมตีพม่าและมลายู ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ รัฐบาลไทยได้ใช้วิธีออกกฎหมายกำหนดหน้าที่ของคนไทยในการรบ และใช้การโฆษณาจูงใจเพื่อระดมประชาชนไทยให้มีส่วนช่วยต่อต้านการรุกรานของชาติมหาอำนาจ
    ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    1. ด้านเศรษฐกิจ หลังจากการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคเป็นผลสำเร็จในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติได้เข้าสู่ความเสมอภาคโดยสมบูรณ์ ยังผลให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับนานาชาติให้ประโยชน์แก่ไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านภาษีศุลกากร ซึ่งคู่ค้าที่สำคัญของไทยได้แก่ ประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับสินค้าสำคัญของยุโรปที่ไทยสั่งซื้อ ได้แก่ ด้ายดิบ ด้ายเย็บผ้า ผ้า และสิ่งต่าง ๆ ที่ทำด้วยฝ้าย รวมทั้งเหล็ก เหล็กกล้า และวัสดุต่าง ๆ ที่ทำด้วยเหล็ก และเหล็กกล้า เครื่องจักร ส่วนของเครื่องจักร นมข้น และสุรา เป็นต้น
    ขณะเดียวกัน ไทยได้ส่งสินค้าด้านเกษตรและวัตถุดิบ เช่น ข้าว ไม้สัก ยางพารา และดีบุกไปขายยังประเทศเหล่านี้เป็นการแลกเปลี่ยน และเนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแข่งกับประเทศยุโรป และมีราคาถูกกว่า รวมทั้งอยู่ใกล้กับไทยมากกว่าประเทศยุโรป ญี่ปุ่นจึงเป็นผู้ค้ารายใหม่ที่สำคัญของไทย ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสลดลงเป็นอย่างมาก และเมื่อประเทศยุโรป ต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าประเภทเครื่องจักรและสิ่งทอมาขายให้กับไทยได้ ไทยต้องหันไปซื้อสินค้าดังกล่าว รวมทั้งเครื่องบินจากสหรัฐอเมริกาแทนจึงทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น
    อย่างไรก็ตาม ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อิทธิพลของชาวยุโรปรวมทั้งชาวจีนได้กุมเศรษฐกิจของไทยไว้ถึงร้อยละ 95 โดยเฉพาะอังกฤษ เนื่องจากไทยใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงก์เป็นเงินสำรองต่างประเทศ และมีชาวอังกฤษเป็นที่ปรึกษาด้านการคลัง รวมทั้งกิจการต่าง ๆ เช่น การเดินเรือ เหมืองแร่ ป่าไม้ ยาสูบ และธุรกิจส่งสินค้าเข้า-ส่งสินค้าออก เป็นต้น จนกระทั่งสงครามเอเชียบูรพาเกิดขึ้น ไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจึงเข้าควบคุมธุรกิจต่าง ๆ ทั้งของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาไว้ทั้งหมด
    2. ด้านการเมือง แม้ว่าประเทศไทยจะมีความเสมอภาคกับนานาชาติที่เป็นสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติประเทศไทยยังไม่ได้มีฐานะเท่าเทียมกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ในเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางศาล และการใช้อำนาจเก็บภาษีศุลกากรเนื่องจากสนธิสัญญาที่ประเทศเหล่านั้นทำกับประเทศไทยไว้บางประการ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น กงสุลต่างประเทศยังมีอำนาจในการถอนคดีจากศาลไทยได้ ยกเว้น ศาลฎีกา จนกว่าประเทศไทยจะประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาครบถ้วนแล้ว 5 ปี ส่วนด้านการค้าซึ่งสนธิสัญญากำหนดว่าภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสนธิสัญญา ไทยจะไม่เก็บภาษีศุลกากรแก่สินค้าบางอย่างในอัตราสูงกว่าร้อยละ 5 เช่น ด้ายดิบ ด้ายเย็บผ้า ผ้า และสิ่งต่าง ๆ ที่ทำด้วยฝ้าย รวมทั้งเหล็ก เหล็กกล้า รวมทั้งวัสดุต่าง ๆ ที่ทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักร ส่วนของเครื่องจักร นมข้น และสุรา เป็นต้น ต่อมาหลังจากที่ไทยประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวได้ครบทุกฉบับในปี พ.ศ. 2478 จึงเปิดการเจรจากับสหรัฐอเมริกา ประเทศยุโรป รวมทั้งยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น เพื่อทำสนธิสัญญาใหม่บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค ในปี พ.ศ. 2480 ซึ่งทำให้ไทยมีฐานะเท่าเทียมกับนานาชาติตั้งแต่นั้นมา
    3. ด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบผูกมิตรกับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศมหาอำนาจ แม้ว่าในยุคเริ่มต้นประชาธิปไตยนั้น ไทยจะมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองกับญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ก็ยังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจยุโรปและสหรัฐอเมริกาไว้ ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจจึงมีลักษณะ ดังนี้
    1) การจ้างที่ปรึกษาราชการ ประเทศไทยจ้างชาวยุโรปและอเมริกาให้รับราชการเป็นที่ปรึกษางานด้านต่าง ๆ เช่น ชาวอังกฤษเป็นที่ปรึกษาการคลังและสอนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมาย ชาวฝรั่งเศสเป็นที่ปรึกษากฎหมายและสอนภาษาฝรั่งเศส สำหรับชาวอเมริกันนั้นไทยได้จ้างให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 โดยทรงเห็นว่า สหรัฐอเมริกาไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับไทย จึงน่าจะให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยได้ดีที่สุด
    2) การส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ รัฐบาลไทยได้ส่งนักเรียนที่เรียนดี รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้ส่งบุตรหลานไปศึกษาวิชาการสมัยใหม่ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อกลับมารับราชการในประเทศไทย ซึ่งได้รับเงินเดือนสูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาในประเทศ
    3) การได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมกับประเทศให้มากขึ้น เช่น ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีค่านิยมในศิลปวัฒนธรรมของยุโรป และสหรัฐอเมริกา มากกว่าญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีซึ่งสูงกว่าญี่ปุ่น นอกจากนี้ผู้สนับสนุนให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาประกอบธุรกิจและท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นพิเศษ
    นโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยยุคปัจจุบัน
                    การกำหนดนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในยุคปัจจุบัน อาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
    1. องค์ประกอบภายในประเทศ องค์ประกอบภายในที่สำคัญที่รัฐบาลมักจะนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายต่างประเทศมี 4 ประการ ดังนี้
    1) การเมืองภายในประเทศ หมายถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นผลจากการ
    เคลื่อนไหวและพฤติกรรมของผู้นำทางการเมืองกลุ่มผลประโยชน์ และพรรคการเมืองที่แสดงออกผ่านทางสถาบันทางการเมืองและสื่อมวลชนในประเทศซึ่งมีทั้งการขัดแย้งและความร่วมมือกันในเหตุการณ์ต่าง ๆ กระบวนการทางการเมืองภายในอันเป็นผลมาจากโครงสร้างทางการเมืองและบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมืองและสื่อมวลชนรวมทั้งเสถียรภาพของตัวผู้นำเป็นปัจจัยในด้านการเมืองที่มีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย
    2) เศรษฐกิจภายในประเทศ หมายถึง ลักษณะและระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนกระบวนการทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงานและกลุ่มธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งอาจขัดแย้งกันหรืออาจร่วมมือกันเพื่อกดดันรัฐบาลดำเนินการพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มตน อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ
    3) อุดมการณ์ของชาติ หมายถึง ระบบความคิด ความเชื่อเกี่ยวกับสังคมในชาติถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามที่จะต้องรักษาไว้ หรือดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงหรือได้มาในที่สุด อุดมการณ์ของชาติจึงเป็นสิ่งจูงใจให้คนในชาติร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขสภาวะทางสังคมที่ขัดกับสิ่งที่คนในชาติส่วนใหญ่ถือว่าดีงามที่พวกเขาต้องการรักษาไว้หรือได้มา ซึ่งย่อมจะมีผลผลักดันให้รัฐบาลกำหนดนโยบายทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อรักษาหรือให้ได้มาในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในชาติต้องการ
    สำหรับอุดมการณ์ของชาติไทย ซึ่งคนไทยยึดมั่นรวมกันมาช้านานแล้ว และต้องการรักษาไว้ตลอดไปคือ ความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา บุคคลชั้นนำของไทยจำนวนหนึ่งได้ประกาศความศรัทธาในลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม หรือลัทธิประชาธิปไตย รวมทั้งพยายามที่จะปลูกฝังให้ประชาชนเลื่อมใสในลัทธิดังกล่าวด้วย อาจกล่าวได้ว่า ความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และอุดมการณ์ประชาธิปไตยมีส่วนชี้แนวทางให้คนไทยมีพฤติกรรมทางสังคมบางอย่างร่วมกันและมีความรักใคร่สามัคคี รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายภายในและภายนอกประเทศให้สอดคล้องและส่งเสริมเป้าหมายของอุดมการณ์นี้ เช่น คนไทยทุกคนจะได้รับการสั่งสอนอบรมตั้งแต่เล็กจนโตให้มีความรักชาติ ยึดมั่นในศาสนา และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ตลอดจนเลื่อมใสในการปกครองระบบประชาธิปไตย เนื่องจากอุดมการณ์ของชาติดังกล่าวนี้ มีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างมาก กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ สโมสร สมาคน และพรรคการเมืองต่าง ๆ จึงประกาศเจตนาเหมือน ๆ กันว่าจะยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เช่น ในการปฏิญาณตนของบัณฑิตใหม่ทุกมหาวิทยาลัยจะประกาศเหมือนกันว่า จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในทำนองเดียวกันรัฐบาลไทยในยุคประชาธิปไตยทุกคณะต่างประกาศนโยบายว่า จะยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ดังตัวอย่างในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 พันตำรวจโททักษิน ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น อุดมการณ์ของชาติดังที่กล่าวมานี้ มีส่วนผลักดันให้รัฐบาลไทยที่ผ่านทุกรัฐบาล กำหนดเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศคล้ายคลึงกัน ดังนี้ คือ การรักษาเอกราชของชาติ การรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน การรักษาความมั่นคงของชาติ การรักษาสันติภาพในภูมิภาคและในโลก และการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ
    4) สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศ สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ได้แก่ พื้นที่ ทรัพยากร และประชากรของประเทศ และโดยเหตุผลที่ทุกประเทศในโลกมีเป้าหมายสำคัญในนโยบายต่างประเทศเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน ดังนั้นในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ รัฐบาลทุกประเทศจึงต้องนำเอาสภาพภูมิศาสตร์ของประเทสมาเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญเสมอก่อนที่จะตกลงใจเลือกนโยบายต่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งมาปฏิบัติ นอกจากนั้น อาจกล่าวได้ว่าสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศมีส่วนทำให้ประเทศต่าง ๆ กำหนดนโยบายต่างประเทศแตกต่างกัน เช่น ประเทศที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเลหรือมหาสมุทร เช่น ญี่ปุ่น ย่อมจะกำหนดนโยบายต่างประเทศแตกต่างไปจากประเทศที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นดิน เช่น ประเทศเนปาล เป็นต้น
    สำหรับประเทศไทยนั้น สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศตลอดมา เนื่องจากพื้นที่ของประเทศไทยมีรูปร่างเหมือนขวาน ซึ่งพื้นที่ตอนบนมีเขตแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ส่วนพื้นที่ตอนล่างเป็นแผ่นดินที่ยื่นออกไปในมหาสมุทรจึงล้อมรอบไปด้วยทะเลทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก อีกทั้งมีเขตแดนดินติดกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 2 ประเทศ คือ พม่า และมาเลเซีย ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นโทษมากกว่าที่เป็นคุณต่อประเทศไทย นอกจากนี้ ประชากรของไทยในปัจจุบันซึ่งมีประมาณ 63.1 ล้านคน ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยและนับถือศาสนาพุทธ และอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ได้แก่ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ชาวไทยใน 4 จังหวัดภาคใต้ และผู้ที่นับถือภูติผีปีศาจ เช่น ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ซึ่งประชากรเหล่านี้ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน
    ด้านทรัพยากรของไทยนั้น มีทรัพยากรประเภทอาหารและประเภทแร่ธาตุอยู่มากเกินความต้องการภายในประเทศ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และดีบุก รวมทั้งสินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งสามารถส่งเป็นสินค้าขาออกนำเงินตราเข้าประเทศเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนแร่ธาตุประเภทเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันและถ่านหินนั้นมีอยู่น้อยไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศจำเป็นต้องนำเข้าคิดเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาทต่อปีเช่นกัน
    โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า แม้สภาพทางภูมิศาสตร์จะเป็นคุณแก่ประเทศไทย แต่ปัญหาที่เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ต้องแก้ไขปัญหาตลอดเวลา เช่น มีพื้นที่และอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังได้ปักปันเขตแดนให้ชัดเจน อีกทั้งฝั่งทะเลมีความยาวและไม่ติดต่อกันซึ่งยากแก่การป้องกันได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหากับชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่น และไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
    จากสภาพภูมิศาสตร์ทั้งที่เป็นคุณและโทษต่อประเทศไทยดังกล่าว รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายต่างประเทศโดยใช้ประจากสภาพที่เป็นคุณ และหลีกเลี่ยงการดำเนินนโยบายที่อาจทำให้สภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นโทษอยู่แล้วส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ นโยบายต่างประเทศที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยึดนโยบายผูกมิตรกับนานาประเทศ ที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกับประเทศไทย หรืออาจคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ
    2. องค์ประกอบภายนอกประเทศ หมายถึง ระบบระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ระบบระหว่างประเทศระดับโลก หรือระบบโลก ที่เกิดจากพฤติกรรมของมหาอำนาจเป็นส่วนใหญ่ และระบบภูมิภาคที่เกิดจากพฤติกรรมของมหาอำนาจและของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคที่ดำรงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นปัจจัยที่มีส่วนกดดันให้รัฐบาลของทุกประเทศตัดสินใจดำเนินนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากระบบระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศชาติ ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่มีส่วนกดดันให้รัฐบาลไทย ซึ่งเป็นประเทศระดับกลางมักจะนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดนโยบายต่างประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติมี 3 ประการ ดังนี้
    1) การแข่งขันเพื่อขยายอำนาจของมหาอำนาจ การแข่งขันเพื่อขยายอำนาจของมหาอำนาจทั้งอดีตและปัจจุบันมีผลกระทบต่อประเทศไทยเสมอ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของโลก จึงทำให้มหาอำนาจสนใจที่จะแผ่เข้ามาครอบงำและแสวงผลประโยชน์ เช่น การแข่งขันเพื่อขยายอำนาจของอังกฤษและฝรั่งเศสช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 24 และต้นพุทธศตวรรษที่ 25 มีผลกดดันให้รัฐบาลไทยเร่งปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยทั้งในด้านการทหารและการบริหารประเทศ รวมทั้งการผูกมิตรกับประเทศตะวันตกทุกประเทศ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสประเทศในยุโรปถึง 2 ครั้ง รวมทั้งส่งพระราชโอรสและสามัญชนที่เรียนดีไปศึกษาวิชาทหารและวิทยาการสมัยใหม่ในยุโรป การปรับตัวของประเทศไทยในขณะนั้นทำให้ได้รับประสบการณ์ทางการทูตอย่างมาก และช่วยวางพื้นฐานที่ดีในการดำเนินนโยบายต่างประเทศให้แก่รัฐบาลไทยในระยะต่อมา พื้นฐานดังกล่าวคือ การรักษาดุลทางการทูตกับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่ประเทศไทยมากกว่านโยบายผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งเพียงประเทศเดียว การที่ประเทศไทยต้องปรับนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศนั้น ส่งผลให้สามารถดำรงความเป็นเอกราชไว้ได้จนกระทั่งปัจจุบันนี้
    2) การขัดแย้งทางอุดมการณ์ของมหาอำนาจ การขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างมหาอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยกับสหภาพโซเวียตผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง หรือที่เรียกว่าสงครามเย็น นั้นเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วโลก โดยทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องตัดสินใจว่าจะรับเอาอุดมการณ์ของมหาอำนาจใด มหาอำนาจหนึ่งมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของตนหรือไม่ สำหรับรัฐบาลไทยเลือกดำเนินนโยบายสนับสนุนสหรัฐอเมริกาทั้งในด้านการเมืองและการทหารในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เนื่องจากไม่ต้องการลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งลัทธิดังกล่าวมุ่งทำลายสถาบันสำคัญคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์และเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นแบบคอมมิวนิสต์
    ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่มีส่วนกำหนดนโยบายต่างประเทศ ขณะนั้นเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันในการกำหนดนโยบาย
    3) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการทหารในเอเชีย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบบระหว่างประเทศระหว่างภูมิภาค เป็นปัจจัยภายนอกที่มีส่วนกดดันให้ประเทศไทยต้องปรับนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านการเมืองและการทหารที่เปลี่ยนไป ผลจากการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกในปี พ.ศ. 2534 ทำให้สงครามเย็นระหว่างสองอภิมหาอำนาจสิ้นสุดลงโดยปริยาย ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางการเมืองและการทหารรวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่สำคัญนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจเดิมมีอันต้องเสื่อมสลายและถูกแทนที่ด้วยระเบียบโลกใหม่ โดยมีสหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้นำของโลกเพียงฝ่ายเดียว สำหรับการเมืองของไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในขณะที่ด้านการทหารมีนโยบายลดขนาดกำลังพลลงเพื่อให้เกิดความคล่องตัว แต่เพิ่มสมรรถนะความเข้มแข็งที่เรียกว่า จิ๋วแต่แจ๋ว
    3. ผลประโยชน์ของชาติ นโยบายต่างประเทศของไทยที่กำหนดขึ้นจากเหตุปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกประกอบกันนั้น ประสบผลสำเร็จในการช่วยรักษาผลประโยชน์ของชาติที่สำคัญ ดังนี้
    1) ด้านการรักษาเอกราชของชาติ ประเทศไทยรักษาความเป็นชาติเอกราชไว้ได้เกือบตลอดเวลากว่า 700 ปี โดยเสียเอกราชให้แก่พม่าเพียง 2 ครั้ง รวมเวลา 15 ปีเท่านั้น ย่อมแสดงว่านโยบายต่างประเทศของไทยประสพความสำเร็จในการรักษาผลประโยชน์ของชาติและอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประกอบกัน ดังนี้
    (1) ความสามารถทางการทูตของผู้นำประเทศ ผู้นำของประเทศไทยมีความสามารถในทางการทูตเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศสอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่อาจเป็นภัยคุกคามเอกราชของชาติได้เกือบตลอดเวลา นับตั้งแต่สมัยอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งพระองค์ทรงส่งราชทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อกันว่าทรงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของฝรั่งเศสมากเป็นพิเศษ เนื่องจากทรงต้องการให้ฝรั่งเศสสนใจประเทศไทยเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดาซึ่งขัดแย้งในผลประโยชน์ทางการค้ากับไทย อันเป็นภัยคุกคามต่อเอกราชของประเทศไทยในขณะนั้น
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงใช้วิธีสร้างดุลทางการทูตกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซีย นอกจากนี้ยังจ้างชาวอเมริกันมาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเกี่ยวกับกิจการต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยทรงเห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับประเทศไทย เป็นต้น
    (2) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การที่คนไทยส่วนใหญ่พูดภาษาไทยและนับถือศาสนาพุทธ อยู่ร่วมกันอย่างสันติกับคนไทยส่วนน้อยที่พูดภาษาอื่นและนับถือศาสนาอื่น รวมทั้งพระมหากษัตริย์ของไทยแม้จะทรงเป็นพระพุทธมามกะ แต่ก็ทรงให้ความอุปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นที่ประชาชนนับถือทุกศาสนา ทำให้ประเทศไทยไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาที่ต่างประเทศอาจยกมาเป็นข้ออ้างในการโจมตีได้
    (3) ที่ตั้งภูมิศาสตร์ การที่ประเทศไทยไม่มีพรมแดนติดกับประเทศมหาอำนาจนั้นทำให้ไม่ถูกกดดันหรือมีความขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจโดยตรง ต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า และเวียดนาม ที่มีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องเผชิญกับการกดดันหรือถูกคุกคามจากจีนตลอดเวลา ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ ซึ่งปรากฏว่าทั้ง 2 ประเทศ ต่างถูกจีนรุกรานและยึดครองเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเวียดนามต้องตกเป็นประเทศราชของจีนนานเกือบหนึ่งพันปี นอกจากนี้ ดินแดนส่วนที่ติดกับทะเลและมหาสมุทรของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเส้นทางคมนาคมทางเรือของประเทศมหาอำนาจ เช่น โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา และอังกฤษ ซึ่งมหาอำนาจเหล่านั้นต้องการใช้ดินแดนเป็นที่จอดเรือหรือเก็บสินค้า ยังผลให้ประเทศดังที่กล่าวมาตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจดังกล่าวนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี
    สำหรับประเทศไทยเนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีผลดีต่อการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รัฐบาลไทยทุกคณะจึงไม่ยอมอนุญาตให้มีการขุดคลองคอคอดกระตามข้อเสนอของมหาอำนาจ เพื่อต้องการย่นระยะการเดินทางของเรือสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ตอนใต้ของไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเรือที่มหาอำนาจต้องการไว้ในครอบครอง เช่นเดียวกันกับคลองสุเอซและคลองปานามา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไทยสามารถใช้การฑูตรักษาดุลแห่งความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นไว้โดยไม่เสียเอกราช
    2) ด้านความมั่นคงของชาติ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง มีการนำเอาหลักความมั่นคงร่วมกันมาบรรจุไว้เป็นหลักการขององค์การสหประชาชาติ มีผลผูกพันประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ต้องร่วมมือกับประเทศอื่นในการรักษาความมั่นคงของสมาชิกทุกประเทศให้พ้นจากการคุกคามของประเทศอื่น แต่หลังจากสหภาพโซเวียตยับยั้งไม่ให้องค์การสหประชาชาติปฏิบัติหน้าที่ตามอุดมคติของสหประชาชาติ เช่น คัดค้านการกระทำของสหประชาชาติในเกาหลี เป็นต้น ทำให้ไทยต้องหาวิธีการรักษาความมั่นคงของตนเอง โดยสนับสนุนนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกา ภายใต้องค์การร่วมป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้ไทยรู้สึกมีความมั่นคงปลอดภัยจากการรุกรานของคอมมิวนิสต์ แต่กลับทำให้ความมั่นคงภายในถูกคุกคามจากการบ่อนทำลายภายในเป็นอย่างมาก เพราะสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่างให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ส่งผลให้ พคท. ปฏิบัติการบ่อนทำลายความมั่นคงภายในประเทศได้มากขึ้นนับเป็นอันตรายต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงทบทวนนโยบายความมั่นคงของไทยซึ่งผูกพันกับสหรัฐอเมริกาอย่างเหนียวแน่นเสียใหม่ โดยเปิดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และผูกมิตรกับรัฐบาลใหม่ใน 3 ประเทศอินโดจีน ในปี พ.ศ. 2518 และ 2519 ตามลำดับ
    เมื่อสงครามเย็นยุติลง สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศผู้นำโลกในระบบทุนนิยมแต่เพียงฝ่ายเดียวและหลังจากประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงใช้นโยบายการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบการป้องกันประเทศตามแนวทางการรักษาความมั่นคงสมบูรณ์แบบรวมทั้งสนับสนุนภารกิจในการรักษาสันติภาพในภูมิภาคภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติ
    โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า นโยบายต่างประเทศที่ผูกพันความมั่นคงของประเทศไว้กับสหรัฐอเมริกาและต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้น ให้ประโยชน์ด้สนความมั่นคงแก่ประเทศไทยน้อยกว่านโยบายต่างประเทศที่มุ่งผูกมิตรและทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศเหล่านั้นจะมีระบอบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นแนวนโยบายต่างประเทศที่ประเทศไทยเคยปฏิบัติอย่างได้ผลดีมาก่อน
    3) ด้านเศรษฐกิจ การติดต่อกับต่างประเทศในสมัยอยุธยานั้นประเทศไทยให้ความสำคัญกับการค้าต่างประเทศเป็นพิเศษ ขณะที่ประเทศตะวันตกต้องขยายการค้ากับเอเชียตะวันออกและเผยแพร่คริสต์ศาสนามายังดินแดนแห่งนี้ ดังจะเห็นได้ว่าโปรตุเกส สเปน ฮอลันดา และฝรั่งเศส ได้เข้ามาตั้งสถานีการค้า รวมทั้งบาทหลวงและ

    มิชชั่นนารีได้เผยแพร่ศาสนาในประเทศไทยโดยเสรี ซึ่งประเทศตะวันตกเหล่านี้ได้ยึดดินแดนของเอเชียเป็นอาณานิคมในเวลาต่อมา ประเทศไทยจึงหาวีการเอาใจประเทศเหล่านี้ด้วยการให้ประดยชน์ทางการค้าอย่างเสมอหน้ากัน เพื่อให้ประเทศเหล่านี้ช่วยป้องกันประเทศไทยไม่ให้ถูกรังแกจากประเทศตะวันตกด้วยกัน
    ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 รัฐบาลไทยได้ดำเนินโยบายต่างประเทศเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา โดยให้ประโยชน์ทางการค้าอย่างเสมอหน้ากัน เนื่องจากรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองมากกว่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการอนุญาตให้ต่างประเทศส่งสินค้าเข้ามาในประเทศโดยเสียภาษีอากรขาเข้าเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ผ้าของไทยจากอุตสาหกรรมครัวเรือนต้องล่มสลายไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถสู้ราคากับสินค้าผ้าราคาถูกจากโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศตะวันตกได้เลย
    หลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นฝ่ายชนะ ทำให้ได้เข้าร่วมในการประชุมและลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2462 ส่งผลให้ประเทศไทยยกเลิกสิทธิสภาพอาณาเขตทางศาลและสิทธิทางการค้าที่ประเทศผู้แพ้ คือ เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ได้รับตามสนธิสัญญาที่ทำไว้กับประเทศไทยเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี จึงเรียกร้องให้ประเทศตะวันตกอื่น ๆ ยอมสละสิทธิพิเศษดังกล่าวที่ได้รับจากสนธิสัญญาที่ทำกับประเทศไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ทั้งหมด เมื่อปี พ.ศ. 2470 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยจึงได้ใช้นโยบายต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ เช่น การทำการค้ากับทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน และการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับประเทศที่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือการค้ากับประเทศไทยเป็นการตอบแทน โดยไม่ต้องให้สิทธิพิเศษนั้นแก่ประเทศอื่น รวมทั้งกำหนดภาษีศุลกากรให้สูงขึ้นเพื่อกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ และคุ้มครองแก่อุตสาหกรรมภายในประเทศได้อย่างเต็มที่
    หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เป็นลำดับแต่ภาวะเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปัจจุบันได้ใช้นโยบายการพาณิชย์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่มุ่งยกระดับนโยบายด้านการค้าต่างประเทศสู่การพัฒนาเครือข่ายการตลาดเข้าสู่ระดับโลก เพื่อให้สนองตอบความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันการณ์ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยผนึกและสอดรับเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอันเข้มแข็งในโลกยุคไร้พรมแดน ด้วยนโยบายด้านการด้านการพาณิชย์ซึ่งเร่งผลักดันให้ภาคเอกชนพร้อมเผชิญการแข่งขันเสรีในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และพยายามให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าสินค้าและบริการในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการแสดงสินค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้นสนับสนุนการค้าเสรีในการค้าระหว่างประเทศ ด้วยบทบาทเชิงรุกในเวทีการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนนโยบายการค้าเสรีอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายด้านการคลัง ด้วยการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลต่อการยกระดับรายได้ของประชากร ปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริงที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ รวมทั้งการบริหารการคลังอย่างมีเสถียรภาพและจะกู้เงินเฉพาะเพื่อการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างฐานรายได้ให้แก่ประชาชนและภาคเอกชนเป็นหลัก
    4) ด้านเกียรติภูมิ ประเทศไทยเป็นเอกราชมาช้านานถือว่าเอกราชและความมั่นคงของชาติเป็นผลประโยชน์สำคัญที่สุดที่จะต้องรักษา รัฐบาลไทยจึงยอมที่จะสละผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเกียรติภูมิ เพื่อรักษาเอกราชและความมั่นคงของชาติไว้เสมอ นับตั้งแต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ซึ่งยอมเสียสละผลประโยชน์ทางการค้าและอธิปไตยทางศาล เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศตะวันตกคุกคามเอกราชของไทย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยยินยอมให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อช่วยปกป้องความมั่นคงของไทย แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะถูกตำหนิจากเพื่อนบ้านว่าประเทศไทยเป็นสมุนของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น  หากแต่สถานการณ์บังคับให้รัฐบาลต้องตัดสินใจกระทำเพื่อรักษาเกียรติศักดิ์หรือเกียรติภูมิของชาติ แม้การกระทำนั้นจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือเศรษฐกิจก็ตาม เช่น ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถยึกครองอินโดจีนได้ในปี พ.ศ. 2518 ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาต้องถอนทหารกลับประเทศ นอกจากรัฐลาบไทยจะปฎิเสธการย้ายทหารอเมริกันมาไว้ที่ประเทศไทยแล้ว ยังขอให้สหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากประเทศไทยด้วย หลักจากนั้นรัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างอิสระ ด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์กับทุกประเทศ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและการเมือง ยังผลให้เกียรติภูมิของประเทศสูงขึ้น จนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกไม่ประจำของคณะมนตรีแห่งสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ.2527
    สำหรับนโยบายด้านการต่างประเทศในปัจจุบัน รัฐบาลได้เน้นการทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจพร้อมกับการทูตด้านอื่น ๆ เพื่อฟื้นฟูและสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกด้านให้การคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งของภาคเอกชนไทย แรงงานไทยและคนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อนำมาซึ่งความเข้าใจอันดีระหว่างกันในการแก้ไขปัญหาและการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ จริงใจและโดยสันติวิธี

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×