คติชนวิทยาในหมู่บ้านของฉัน
การศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิต เกิดจากความเป็นอยู่ของมนุษย์ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีการสืบทอดตลอดมา เรียกว่า คติชนวิยา
วิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ในแต่ละท้องที่จะมีความแตกต่างกัน ประเพณี พิธีกรรม ของแต่ละพื้นที่นั้น สามารถบ่งบอกถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนั้นได้เช่นกัน เนื่องจากประเพณีและพิธีกรรมเป็นวัฒนธรรมที่เสริมสร้างความผูกพัน ความเป็นพวกเดียวกัน ประพฤติปฏิบัติหรือกระทำในสิ่งที่เป็นแบบแผนเดียวกัน ประเพณี พิธีกรรมบางอย่างมีบทบาทเป็นเครื่องมือควบคุมการประพฤติปฏิบัติของคนในสังคมทำให้เกิดความสงบ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่กระทำผิดหรือประพฤติตน “แหวกประเพณี”
จากการศึกษาหาข้อมูลที่ บ้านด่าน ตำบลเชียงหวาง อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี พบว่า ชาวบ้านมีประเพณีและพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน ดังนี้ การสะเดาะเคราะห์ บุญเดือนสาม(บุญข้าวจี่) บุญเดือนสี่(บุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติ) และบุญเดือนเจ็ด(บุญบั้งไฟ) ที่กล่าวมานี้ไม่สามารถแบ่งได้ว่าสิ่งใดคือประเพณี สิ่งใดคือพิธีกรรม เพราะทุกอย่างจะต้องประกอบขึ้นพร้อมกัน
การสะเดาะเคราะห์เป็นการทำพิธีตามความเชื่อโบราณว่าจะสามารถส่งเสริมดวงชะตาให้ดีขึ้นมักรวมไปถึงการต่ออายุ หรือแก้ไขสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นดี การเริ่มทำบุญตั้งแต่ต้นปีก็จะเพิ่มดวง เสริมสง่าราศีให้ชีวิตมีความสุขและประสบความสำเร็จตลอดทั้งปีและตลอดไปอย่างแน่นอน ชาวบ้านจะนิยมทำกันเมื่อมีอายุครบ ๑๕ ปี และ ๒๕ ปี เพราะเชื่อกันว่าช่วงอายุที่กล่าวมานี้จะมีภัย เกิดอันตรายถึงตายได้หรือไปดูหมอ ดูดวง แล้วคำทำนายบอกว่าจะมีเคราะห์ การสะเดาะเคราะห์ทำเฉพาะวันอังคาร หากวันอังคารตรงกับวันพระก็จะไม่ทำ ช่วงเวลาที่ใช้ทำพิธีกรรมนี้จะทำในช่วงบ่ายหรือชาวบ้านเรียกว่า “ยามผีตกป่า” และกระทง(ใช้กาบกล้วยทำเป็นห้องสี่เหลี่ยม) รวมทั้งของทุกอย่างจะใช้อย่างละ ๙ หากไม่ทำตามนี้จะถือว่าสะเดาะเคราะห์ไม่ตก
บุญเดือนสามหรือเรียกอีกอย่างว่า บุญข้าวจี่ เป็นประเพณีของชาวอีสาน ที่กระทำกันในเดือนสาม จนเรียกว่า บุญเดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นบุญประเพณีสำคัญที่มีกำหนดอยู่ในฮีตสิบสอง ดังรู้จักกันทั่วไปว่า “เดือนสามคล้อยจั่วหัวปั้นข้าวจี่ เดือนสี่คล้อยจั่วน้อยเทศน์มะที (มัทรี)” นิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม คือ ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา (เดือนสาม ขึ้น ๑๔ ค่ำ) แล้ว ส่วนใหญ่จะกำหนดวันแรม ๑๓ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ เดือนสาม ที่หมู่บ้านของฉันบุญข้าวจี่ถือเป็นการทำบุญอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะทำข้าวจี่เพื่อเตรียมไปทำบุญตักบาตรและอีกส่วนหนึ่งเอาไปวางตามกำแพงวัด หรือใส่ใบตองวางหน้า สถานที่เก็บเถ้ากระดูก สืบเนื่องมาจากชาวบ้านมีความเชื่อว่าเวลามีงานบุญหรือถึงวันสำคัญต่าง ๆ หากคนที่มีชีวิตอยู่ได้กิน คนที่ล่วงลับไปแล้วก็ควรจะได้กินเช่นกัน
บุญเดือนสี่หรือบุญผะเหวด บ้างก็เรียกบุญมหาชาติ ที่บ้านของข้าพเจ้าจะจัดขึ้นในกลางเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งการจัดงานนั้นมีอยู่ด้วยกันสามวัน วันแรก เป็นวันโฮม เตรียมความพร้อม จัดตกแต่งสถานที่คือ วัด ส่วนตอนเย็นทุกครัวเรือนจะเลี้ยงสังสรรค์หรือชาวอีสานเรียกว่า กินบุญ และในเย็นของวันโฮมมีการจับกัณฑ์ที่วัด เพื่อเสี่ยงทายดวงชะตาของแต่ละปี วันที่สอง เป็นวันบุญ ในช่วงเช้าเวลาประมาณตี่สี่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชนพร้อมด้วยชาวบ้านจะออกไปแห่พระอุปคุต เพื่อให้ท่านเข้ามารักษาคุ้มครองงานบุญครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตลอดทั้งวันมีการจัดกิจกรรม สอยดาว รำวงชาวบ้านและการแห่กัณฑ์ของหมู่บ้านอื่นที่มาร่วมทำบุญ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. เริ่มการแห่พระเสสันดรเข้าเมือง ส่วนตอนเย็นมีมหรสพแสดงตลอดทั้งคืน พอถึงเวลาตีสามชาวบ้านจะแห่ข้าวพันก้อน เช้าของวันที่สาม เป็นวันฟังเทศน์ ที่วัดบ้านของข้าพเจ้ามีใบลานเรื่องพระเสสันดร มัทรี และการเทศน์มีด้วยกันสองแบบ คือ หากเป็นพระที่วัดเทศน์เอง จะเรียกว่า เทศใบลาน แต่หากจ้างพระนักเทศน์จะเรียกว่า เทศน์พระเสสันดร มัทรี เวลาพระเทศน์จะมีจังหวะช่วงของการเล่นเสียง ญาติโยมที่นั่งฟังจะโปรยหรือหว่านข้าวสารใส่พระ เพื่อสิ่งใดนั้นยังไม่มีเหตุผลที่แน่ชัด บ้างก็ว่า เป็นการหยอกพระ บ้างก็ว่าเป็นการชื่นชมการเล่นเสียงของพระที่เทศน์ขึ้นเสียงสูงได้ เสร็จจากการฟังเทศน์ชาวบ้านจะเก็บข้าวสารหว่านนั้นไปให้ไก่กิน ด้วยความเชื่อที่ว่าไก่จะได้ไม่เป็นโรค
บุญเดือนเจ็ดหรือบุญบั้งไฟ จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน งานมีสองวัน วันแรกจัดขบวนแห่ ภายในขบวนประกอบด้วย ขบวนขันธ์ ๕ โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่เดินนำขบวน ถัดมาเป็นรถแห่บั้งไฟ ขบวนฟ้อนรำ พอขบวนมาถึงวัดจะมีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและจุดบั้งไฟถวายปู่ใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าการจุดบั้งไฟถวาย ถือเป็นการบูชาและถวายปู่ใหญ่ ที่คอยคุ้มครองรักษาทุกคนในหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุขวันที่สอง เป็นวันจุดบั้งไฟ ประเพณีบุญบั้งไฟจัดขึ้นเพื่อบูชาพระยาแถน ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ
จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมานั้น จะเห็นว่าประเพณีและพิธีกรรมของชาวบ้านด่านไม่สามารถแยกจากกันได้ ทั้งสองอย่างจะต้องทำควบคู่กันไป ข้อมูลมีทั้งที่เป็นมุขปาฐะและลายลักษณ์ แต่โดยส่วนมากนั้นในชุมชนบ้านด่านจะเป็นข้อมูลทางมุขปาฐะ เป็นการบอกเล่า สืบทอดต่อกันมา ตามความเชื่อของบรรพบุรุษ
ผู้ให้ข้อมูล
๑. นายทองสา โสตาศิริ อายุ ๒. นางนารี โสตาศิริ อายุ ๓. นายนาวิน บัวเงิน อายุ 45
ความคิดเห็น