ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #11 : พัฒนาการของยุโรปสมัยกลาง : การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของยุโรปสมัยกลาง

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 14.22K
      3
      13 พ.ย. 56


    2. การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของยุโรปสมัยกลาง

        หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกใน ค.ศ.476 สภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของยุโรปตะวันตกเต็มไปด้วยความวุ่นวายจากการอพยพเข้ามาของอนารยชนเผ่าต่างๆ แต่ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาของการสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งมีความแตกต่างจากอารยธรรมสมัยโบราณ นักประวัติศาสตร์เรียกประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ว่า สมัยกลาง โดยแบ่งออกเป็น 3ระยะ ได้แก่

    2.1 ระยะต้น

         เริ่มตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกใน ค.ศ.476 จนถึงประมาณ ค.ศ.1000 เป็นสมัยของการก่อรูปของอารยธรรมและสังคมของยุโรปใหม่ ซึ่งเป็นสมัยที่มีความตกต่ำทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่า ยุคมืด (Dark Ages)

     2.1.1 การเมือง

         ก่อนจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย ชนเผ่าเยอรมันบางกลุ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนจักรวรรดิโรมันมาเป็นเวลานานแล้ว ชนเผ่าเยอรมันบางคนรับราชการเป็นทหารของจักรวรรดิโรมัน แต่หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ชนเผ่าเยอรมันเหล่านี้ได้ตั้งอาณาจักรปกครองดินแดนส่วนต่างๆขึ้น ได้แก่
      
        1.ชนเผ่าแฟรงก์ (Frank) เข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่เป็นประเทศฝรั่งเศสและเบลเยียม ต่อมาเป็นพวกแรกที่สามารถรวมดินแดนยุโรปตะวันตกเข้าเป็นจักรวรรดิเดียวกันได้เป็นผลสำเร็จ
         
         2.ชนเผ่าออสโตรกอท (Ostrogoth) อพยพเข้าไปตั้งอาณาจักรในประเทศอิตาลี แต่ถูกจักรวรรดิไบแซนไทน์ปราบปรามใน ค.ศ.554

         3.ชนเผ่าลอมบ์ด (Lombard) เข้าไปตั้งอาณาจักรในประเทศอิตาลีใน ค.ศ.568

         4.ชนเผ่าแองโกลแซกซัน (Anglo Saxon) เข้าไปตั้งอาณาจักรในเกาะอังกฤษ

         5.ชนเผ่าเบอร์กันเดียน (Burgundian) ตั้งอาณาจักรในภาคใต้ของฝรั่งเศสแถบลุ่มน้ำโรน

         6.ชนเผ่าวิซิกอท (Visigoth) เข้าไปตั้งอาณาจักรในประเทศสเปน ต่อมาถูกพวกอาหรับเข้ารุกรานใน ค.ศ.711

         7.ชนเผ่าแวนดัล (Vandal) เข้าไปตั้งอาณาจักรในภาคเหนือของทวีปแอฟริกา


         หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา อาณาจักรของชนเผ่าต่างๆเหล่านี้ก็ได้ล่มสลายลง เหลือเพียงชนเผ่าแองโกลแซกซันในประเทศอังกฤษและชนเผ่าแฟรงก์ในประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น ที่ยังคงสามารถรักษาอาณาจักรไว้ได้

         ในช่วงเวลานี้การเมืองในยุโรปตะวันตกมีความปั่นป่วนและเกิดสงครามระหว่างชนเผ่าขึ้นตลอดเวลา เพราะแต่ละชนเผ่าต่างพยายามขยายอาณาเขตของตนเองออกไป จนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่7 พวกแฟรงก์ในดินแดนฝรั่งเศสพยายามผนวกดินแดนต่างๆเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรของตน

         และมีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดในสมัยของจักรพรรดิชาร์เลอมาญ สามารถรวบรวมยุโรปตะวันตก ยุโรปกลาง และดินแดนของอิตาลีเข้าเป็นจักรวรรดิเดียวกันได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และได้รับการสวมมงกุฎจากสันตะปาปาแห่งกรุงโรมให้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกเมื่อ ค.ศ.800

         ในยุคสมัยของจักรพรรดิชาร์เลอมาญ พระองค์ทรงพยายามฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจโดยรับแนวความคิดจากคริสต์ศาสนา การปกครองส่วนกลางรวมศูนย์อำนาจที่องค์จักรพรรดิและราชสำนัก ส่วนการปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งเป็นมณฑล โดยพระองค์ได้ส่งขุนนางไปปกครอง มีอำนาจสิทธิ์ขาดในแต่ละมณฑล

         แต่หลังจากจักรพรรดิชาร์เลอมาญสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.814 จักรวรรดิก็เริ่มแตกแยก ในที่สุดหลัง ค.ศ.843 จักรวรรดิถูกแบ่งแยกเป็น 3ส่วน ซึ่งพัฒนามาเป็นอาณาจักรฝรั่งเศส จักรวรรดิเยอรมัน และอิตาลี และพวกขุนนางท้องถิ่นต่างก็มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถแบ่งแยกดินแดนของจักรวรรดิออกเป็นแคว้นต่างๆ นำไปสู่การปกครองแบบฟิวดัลอย่างแท้จริงในช่วงเวลาต่อมา

     2.1.2 เศรษฐกิจ

         เมื่อชนเผ่าเยอรมันเข้ามาตั้งถิ่นฐานภายในดินแดนต่างๆแล้ว ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นเกษตรกรรมใช้ระบบนาโล่ง พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ คือข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต และข้าวบาร์เลย์ ส่วนระบบชลประทานขนาดใหญ่ถูกละเลยตั้งแต่ช่วงเวลาสิ้นสุดสมัยโรมัน ในสมัยจักรพรรดิชาร์เลอมาญได้พยายามทำนุบำรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สร้างสะพาน ขุดคลอง จัดระบบการพาณิชย์ กำหนดมาตราชั่ง ตวง วัด ผลิตเงินตรา
        
        ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่9 นี้ได้เกิดระบบฟิวดัล (feudalism) ขึ้น ระบบนี้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบการเมืองการปกครองของยุโรปสมัยกลางในเวลาต่อมา

               feudalism มาจากคำว่า fiefs หมายถึง ที่ดินที่เป็นพันธสัญญาระหว่างเจ้านาย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เรียกว่า ข้า พวกเจ้าของที่ดินจะเป็นพวกขุนนาง เรียกว่า ลอร์ด (lord) ส่วนผู้ที่อยู่ใต้อำนาจของขุนนางเรียกว่า วัสซัล (vassal)

                   ความสำคัญของระบบฟิวดัล คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับข้าตามระดับชั้นจากบนลงล่าง กษัตริย์จึงเป็นเจ้านายชั้นสูงสุดของระบบ ที่ดินทั่วราชอาณาจักรเป็นของกษัตริย์

     2.1.3 สังคม

                 สังคมในช่วงเวลาสมัยกลางตอนต้นมีความวุ่นวายมาก ขาดระเบียบวินัยและความมั่นคง สังคมเมืองแทบล่มสลาย ภาวะตกต่ำ ผู้คนทั่วไปอ่าน และเขียนหนังสือไม่ได้ ยกเว้นพระและนักบวช
                  ในช่วงเวลานี้คริสต์ศาสนาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในยุคกลางตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นชีวิต โดยคริสตจักรเป็นสถาบันเดียวที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ การที่คริสต์ศาสนาเข้ามามีบทบาทต่อสังคม เนื่องจากสภาพความวุ่นวายในช่วงปลายสมัยจักรวรรดิโรมัน ทำให้ประชาชนเข้าหาที่พึ่ง คือ ศาสนา ซึ่งมีฐานะเป็นสถาบันหลักของจักรวรรดิโรมันเพียงสถาบันเดียวที่มีประสิทธิภาพและมีความเข้มแข็งแม้จักรวรรดิจะล่มสลายไปแล้ว

         สถาบันคริสต์ศาสนามีประมุขทางศาสนา คือ สันตะปาปา มีหน้าที่กำหนดนโยบายทุกอย่าง ดังนั้นเมื่อจักรวรรดิโรมันสิ้นสุดลง ศาสนจักรได้ร่วมมือกับกษัตริย์ของพวกอนารยชน ทำให้รักษาความปลอดภัยไว้ได้ ศาสนจักรจึงทำหน้าที่แทนจักรวรรดิโรมันในการยึดเหนี่ยวประชาชนยุโรปไว้ และรักษาวัฒนธรรมความเจริญต่างๆสืบต่อมา


     2.2 ระยะกลาง

         ระยะกลางเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1000-1350 ช่วงเวลานี้เป็นระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสังคมตะวันตกมีประชากรเพิ่มขึ้น คริสต์ศาสนาและระบบฟิวดัลมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด และเริ่มมีพัฒนาการในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งภูมิปัญญา

     2.2.1 การเมือง

         1.ความขัดแย้งระหว่างคริสตจักรกับจักรวรรดิ

                  จักรวรรดิแฟรงก์ล่มสลายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่9 ดินแดนของจักรวรรดิได้แบ่งแยกออกเป็นฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี

                  ดินแดนเยอรมันมีจักรพรรดิปกครองแต่ทว่าไม่มีอำนาจมากนัก จนในสมัยของพระเจ้าออทโทที่1 ได้ทรงปกครองเยอรมันและอิตาลี สันตะปาปาจอห์นที่12 จึงทรงสถาปนาพระเจ้าออทโทที่1 ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)    
                                
                   ในค.ศ.962 ทั้งจักรพรรดิและสันตะปาปาต่างอ้างอำนาจในการปกครองร่วมกันในจักรวรรดิ ในช่วงเวลานี้ศาสนจักรยังไม่มีอำนาจเต็มที่ จนกระทั่งศาสนจักรได้มีการปฏิรูปอำนาจของศาสนจักรให้มีอำนาจสูงสุด

                   ในที่สุดสันตะปาปาก็ทรงประกาศว่าศาสนจักรมีอำนาจเหนือจักรพรรดิ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสันตะปาปากับจักรพรรดิขึ้น ประกอบกับจักรพรรดิเยอรมันทรงพยายามขยายอำนาจในดินแดนอิตาลีซึ่งสันตะปาปามีอิทธิพลอยู่ จักรพรรดิเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อำนาจของศริสตจักรที่กรุงโรม การต่อสู้ดังกล่าวส่งผลให้ขุนนางแต่ละแคว้นมีอำนาจมากขึ้น ทำให้ระบบฟิวดัลมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น

                    สำหรับอังกฤษและฝรั่งเศส ศาสนจักรไม่ค่อยแทรกแซงการเมืองภายในมากนัก สถาบันกษัตริย์พยายามเพิ่มอำนาจของตนเองในการปกครอง ทำให้อำนาจของขุนนางลดลงไป

                   ในอังกฤษเกิดความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนาง ในที่สุดพระมหากษัตริย์ต้องยอมจำนนต่อคณะขุนนาง และคณะขุนนาง ได้กลายมาเป็นสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษ

                    ส่วนฝรั่งเศส กษัตริย์กลับมีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีอำนาจในการปกครองเบ็ดเสร็จ และกลายมาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่สุด

        2.ระบบฟิวดัลเจริญรุ่งเรืองสูงสุด

                     ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่9-10 พวกอนารยชนจากสแกนดิเนเวีย(ปัจจุบัน คือ นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก)ที่เรียกว่าพวกไวกิ้ง ได้เข้ารุกรานจักรวรรดิของพวกแฟรงก์ ปรากฏว่าจักรวรรดิของพวกแฟรงก์ไม่มีกำลังเข้มแข็งพอ การป้องกันภัยจากพวกไวกิ้งตกเป็นหน้าที่ของพวกขุนนางท้องถิ่นหรือเจ้าของที่ดิน จัดตั้งเป็นกองทหารป้องกันการรุกราน
    ทำให้ขุนนางท้องถิ่นสามารถสร้างอิทธิพลของตนเอง เกิดลักษณะการเมืองแบบหลายศูนย์อำนาจขึ้น ขุนนางเริ่มมีอำนาจจนสามารถต่อรองอำนาจกับกษัตริย์ ระบบฟิวดัลได้มีการพัฒนาจนกลายเป็นระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่สำคัญของยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่11-13 แล้วเริ่มเสื่อมลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่14 และสลายตัวลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่16


    2.2.2 เศรษฐกิจ

         ในระยะแรกการค้าซบเซา เนื่องจากในระบบฟิวดัลแต่ละแมเนอร์มีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ แต่เมื่อเกิดสงครามครูเสดซึ่งเป็นสงครามระหว่างคริสต์ศาสนากับศาสนาอิสลามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่11-12ผู้คนออกไปสู่โลกภายนอกทำให้เกิดความต้องการสินค้า ระบบเศรษฐกิจเริ่มมีการขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะการค้าและอุตสาหกรรมในหัวเมืองสำคัญในอิตาลี เช่น เวนิส เจนัว และเขตเมืองในเนเธอร์แลนด์
         
         พ่อค้าเริ่มมีการติดต่อการค้าระหว่างประเทศ การค้าทางบกมีความเจริญไม่น้อยไปกว่าการค้าทางทะเล มีการตั้งศูนย์การค้าในหัวเมืองท้องถิ่น โดยการร่วมลงทุนระหว่างพ่อค้ากับคนในท้องถิ่น การค้าทางทะเลเริ่มมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะในเขตทะเลเหนือและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สินค้าจากต่างแดนได้แพร่สะพัดเข้ามาในยุโรป

         ผลจากการขยายตัวของการค้าทำให้เกิดชุมชนการค้าและอุตสาหกรรม ส่งผลให้ชาวชนบทละทิ้งที่นาเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายหรือประกอบอาชีพผลิตสินค้าหัตถกรรมในเขตเมือง ทำให้สังคมเมืองมีการขยายตัว เริ่มเกิดระบบเงินตราขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพื่อใช้ในการซื้อขายสินค้า และเกิดสมาคมอาชีพ ซึ่งแบ่งเป็นสมาคมพ่อค้าและสมาคมการช่าง ซึ่งเมื่อพวกนี้มีฐานะทางการเงินมั่นคงขึ้นก็ได้มีส่วนสนับสนุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อให้คุ้มครองกิจการทางเศรษฐกิจของตน
    เอง


    2.2.3 สังคม

         การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ยุติลงอีกครั้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่13-14 เนื่องจากเกิดสงครามร้อยปี ซึ่งเป็นสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส และเกิดการระบาดของกาฬโรคทำให้ประชากรในยุโรปเสียชีวิตเป็นจำนวนมากถึง1ใน3ของประชากรทั้งทวีปทำให้เขตเมืองได้เริ่มเสื่อมลงอีกครั้ง

         หลังจากคริสต์ศตวรรษที่11เป็นต้นมา การขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรมเจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยเฉพาะในประเทศแถบเมดิเตอร์เร-เนียน ทำให้เริ่มเกิดชุมชนเมืองขึ้น อันประกอบไปด้วยชาวเมืองซึ่งไม่ได้อยู่ในสังคมฟิวดัล แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ดำเนินชีวิตประกอบการค้าและอุตสาหกรรม ผลของการค้าที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นยังทำให้สังคมฟิวดัลและขุนนางเริ่มเสื่อมอำนาจลง แต่พวกพ่อค้าเริ่มมีอำนาจมากขึ้น เนื่องจากสังคมเริ่มมองที่ฐานะความมั่นคงเป็นหลักสำคัญ

          ในช่วงเวลานี้คริสต์ศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองสูงสุด สันตะปาปามีฐานะเป็นสถาบันสากลที่เป็นระบบ เห็นได้จากชัยชนะของคริสตจักรที่เหนือกว่าจักรพรรดิ เป็นผลจากการครอบงำทางความเชื่อของศาสนาที่มีต่อประชาชน

           กล่าวได้ว่า ศาสนามีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในยุโรป รวมประชาชนในอาณาจักรเข้าด้วยกันภายใต้กฎเกณฑ์ของศาสนจักรและมีอิทธิพลต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของยุโรปกลาง
               แต่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่13สถาบันศาสนาเริ่มเสื่อมลง


    2.3 ระยะปลาย

         สมัยนี้มีช่วงระยะเวลาระหว่างค.ศ.1350-1500 ช่วงเวลานี้เป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ศาสนาถูกลดบทบาทลง ความคิดแบบมนุษยนิยมเริ่มเข้ามามีบทบาทในทัศนคติและความคิดของคนในสังคม
       
        ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในดินแดนต่างๆของยุโรปตะวันตก ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ ความเสื่อมของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์Holy Roman Empire และการเกิดรัฐชาติขึ้นในฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปน

    2.3.1 ศาสนา

         1.ความเสื่อมของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

          การแข่งขันกันของจักรวรรดิเยอรมันแห่งจักรวรรดิโรมันกับสันตะปาปาแห่งคริสตจักรเนื่องมาจากการที่ทั้งจักรพรรดิเยอรมันทรงพยายามรวบรวมจักรวรรดิทั้งในดินแดนเยอรมันและอิตาลี ซึ่งขัดกับผลประโยชน์ทางการเมืองของคริสตจักรที่กรุงโรม และสันตะปาปาทรงมีความเชื่อว่าคริสตจักรมีอำนาจเหนืออาณาจักร

         2.การเกิดรัฐชาติ

         ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่14 อำนาจของสถาบันกษัตริย์ในยุโรปตะวันตกตกต่ำลง เนื่องจากขุนนางไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ ขณะเดียวกันกษัตริย์ก็หันไปพึ่งพาพวกพ่อค้ามากขึ้นระบบฟิวดัลจึงเสื่อมสลายไป และเมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ชาติก็เกิดความแตกแยก เกิดสงครามระหว่างขุนนาง เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆภายในประเทศ

         สันตะปาปาเคยทรงบัพพาชนียกรรมจักรพรรดิเยอรมันหลายพระองค์และสนับสนุนให้เกิดสงครามการเมืองในเยอรมันขึ้นเพื่อทำลายอำนาจของจักรพรรดิ ผลก็คือตั้งแต่ ค.ศ.1273เป็นต้นมา จักรพรรดิกลายเป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจ อำนาจตกเป็นของเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ดินแดนเยอรมันและอิตาลีจึงแตกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยไม่สามรถรวมตัวกันได้ จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จึงกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการเมืองของดินแดนเยอรมันเท่านั้น

          จนทำให้ขุนนางอ่อนแอลงประกอบกับได้เกิดสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่14-15จึงยิ่งทำให้ขุนนางเสื่อมอำนาจอย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้กษัตริย์สามารถรวบรวมอำนาจและก่อตั้งรัฐขึ้นมาได้ในเวลาต่อมา เกิดเป็นรัฐชาติภายใต้การนำของกษัตริย์


    2.3.2 เศรษฐกิจ

         เศรษฐกิจในช่วงนี้สามารถแบ่งได้เป็น2ช่วงเวลาได้แก่

        1.ช่วงคริสต์ศตวรรษที่14
         
         เป็นช่วงเวลาของความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจของยุโรปทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการค้า โดยมีสาเหตุมาจากสภาวะสงครามและเกิดกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในทวีปยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบ ทำให้ขาดแคลนอย่างรุนแรง เพราะประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก

         2.ช่วงคริสต์ศตวรรษที่15

         ระบบเศรษฐกิจได้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง กิจการอุตสาหกรรมได้รับการพัฒนา ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านช่างฝีมือ การทอผ้า และการทำเหมืองแร่ ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจในเขตเมืองทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบฟิวดัลต้องเสื่อมลง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่15 เกิดกลุ่มนายทุนซึ่งลงทุนในกิจการด้านต่างๆ

         ในช่วงปลายศตวรรษที่15 ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการเดินเรือทำให้ชาวยุโรปค้นพบดินแดนแห่งใหม่ๆซึ่งเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและเป็นแหล่งวัตถุดิบ ทำให้ชาวยุโรปอพยพไปยังดินแดนแห่งใหม่พร้อมกับยึดครองดินแดนแห่งนี้เป็นสถานีการค้า การขยายตัวทางการค้าและการยึดครองดินแดนทำให้ชนชั้นนายทุนร่ำรวยขึ้น

          แต่ชนชั้นขุนนางและชนชั้นแรงงานต้องยากจนลง พวกนายทุนได้ให้การสนับสนุนสถาบันกษัตริย์เพื่อปกป้องคุ้มครองกิจการทางเศรษฐกิจของตน ขณะที่พวกขุนนางต้องยอมอ่อนน้อมต่อกษัตริย์และชนชั้นนายทุนขุนนางที่ต้องการขายที่ดินให้แก่ชนชั้นอื่นๆ จึงเริ่มมีการลงทุนในที่ดินทางด้านเกษตรกรรมเพื่อหวังผลกำไร ทำให้เศรษฐกิจแบบฟิวดัลต้องยุติลงในคริสต์ศตรวรรษที่16


    2.3.3 สังคม

         ในช่วงเวลานี้สังคมระบบฟิวดัลและศาสนจักรเริ่มเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด การเกิดสังคมเมือง การค้า ทำให้เกิดสังคมชั้นกลางขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยชนชั้นกลางมีสถานะอยู่ระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่างกับชนชั้นชาวนา ชนชั้นกลางต้องการรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งในการคุ้มครองทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันกษัตริย์ก็ต้องการการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง ดังนั้นจึงเกิดความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นทั้งสองขึ้น ก่อให้เกิดลักษณะของสังคมที่เปลี่ยนไป คือ

         1.สังคมระบบฟิวดัลเสื่อมสลายลง
         เนื่องจากสงครามครูเสดทำให้ขุนนางต้องออกไปทำสงครามและเสียชีวิตจำนวนมาก และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ขุนนางยากจนลงอีกทั้งพวกข้าติดที่ดินได้หลบหนีอพยพเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก

        2.ชนชั้นกลางขึ้นมามีอำนาจแทนที่ชนชั้นขุนนาง
         เนื่องจากสังคมได้เปลี่ยนค่านิยมจากเรื่องชาติกำเนิดมาเป็นฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละบุคคล

         3.เกิดขบวนการนักวิชาการสายมนุษย์นิยมที่หันไปสนใจศึกษาอารยธรรมกรีกและโรมัน
         นักวิชาการกลุ่มนี้พยายามแยกกรอบความคิดทางศาสนาออกจากการศึกษาของตนเอง





    ผู้จัดทำงานนำเสนอ

    นางสาว นภธร    ธาวนพงษ์        เลขที่ 17     ม.6.1
    นางสาว บุษกร    ธนโชติวรพงศ์   เลขที่ 23     ม.6.1











    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×