ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #12 : พัฒนาการของยุโรปสมัยกลาง : เหตุการณ์สำคัญในยุโรปสมัยกลาง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 887
      2
      30 ต.ค. 56

    เหตุการณ์สำคัญในยุโรปสมัยกลาง



    สงครามครูเสด
    ในสมัยกลางได้เกิดสงครามระหว่างคริสต์ศาสนากับศาสนาอิสลามขึ้น เรียกว่า “สงครามครูเสด” สงครามนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชาวยุโรปและชาวมุสลิมในหลายด้านด้วยกัน

    สาเหตุทางด้านการเมือง
    ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 เกิดการเปลี่ยนแปลงในจักรวรรดิอาหรับ เมื่อพวกเซลจุกเติร์ก ได้เข้าไปมีอำนาจในจักรวรรดิอิสลาม ต่อมาใน ค.ศ. 1071 กองทหารเซลจุกเติร์กรบชนะกองทหารจักรวรรดิไบแซนไทน์(โรมันตะวันออก) ในดินแดนอาร์เมเนีย พวกเซลจุกเติร์กยึดครองคาบสมุทรตุรกีไว้ได้ทั้งหมด และรุกรานจักรวรรดิไบแซนไทน์ จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ขอความช่วยเหลือไปยังคริสตจักรที่กรุงโรม สันตะปาปาเออร์บันที่ 2 จึงประชุมขุนนางในยุโรปให้ไปช่วยจักรวรรดิไบแซนไทน์รบกับพวกเซลจุกเติร์ก

    สาเหตุทางด้านศาสนา
    ในช่วงเวลาที่พวกเซลจุกเติร์กเข้ามามีอำนาจในดินแดนตะวันออกได้ปิดกั้น กรุงเยรูซาเลมไม่ให้ชาวคริสต์ไปแสวงบุญ และกระทำทารุณกรรมกับชาวคริสต์ สันตะปาปาจึงใช้สาเหตุดังกล่างชักชวนชาวคริสต์ให้ไปทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ การปลดปล่อยกรุงเยรูซาเลมจากพวกนอกศาสนา ผลของการชักชวนของสันตะปาปาทำให้ชาวยุโรปทั้งขุนนาง พ่อค้าและประชาชนสามัญพากันเดินทางไปจักรวรรดิไบแซนไทน์และดินแดนปาเลสไตน์

    การที่ชาวยุโรปตื่นตัวเข้ามาร่วมในสงครามครูเสด ก็เนื่องจากเหตุผลหลายประการด้วยกัน
    1. ชาวยุโรปกลางมีความศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า ทำให้ชาวยุโรปจำนวนมากเดินทางไปทำสงครามเพื่อปลดเปลื้องตนเองทางจิตวิญญาณ เนื่องจากสันตะปาปาทรงประกาศยกบาปให้กับผู้ที่ไปรบในสงครามครั้งนี้
    2. บุคคลที่ไม่มีที่ดินในยุโรป โดยเฉพาะขุนนางในระดับล่างและสามัญชนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองต้องการจะครอบครองที่ดินในดินแดนตะวันออกกลาง
    3. ประชาชนต้องการเสี่ยงโชคและผจญภัยเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งในดินแดนตะวันออก
    4. พวกพ่อค้าชาวอิตาลีต้องการขยายขอบข่ายการค้าขายไปยังดินแดนทางตะวันออกภายใต้การคุ้มครองของพวกคริสต์
    5. การแข่งขันทางอำนาจระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง กษัตริย์ต้องการให้พวกขุนนางลดจำนวนลงเพื่อครอบครองที่ดินขุนนาง

    บทสรุปของสงคราม
    สงครามครูเสดเกิดขึ้นในระหว่าง ค.ศ. 1096-1291 ในช่วงระยะเวลาดังกล่างมีช่วงของการทำสงครามและการพักรบเป็นระยะๆ ในที่สุดสงครามครูเสดก็ขุติลงใน ค.ศ. 1291 เมืองอาเกร (Acre) ที่มั่นแห่งสุดท้ายของพวกครูเสดถูกกองทัพอียิปต์ยึดครอง นับเป็นความล้มเหลวของกองทัพยุโรปที่ไม่สามารถยึดครองกรุงเยรูซาเลมและดินแดนปาเลสไตน์จากจักรวรรดิมุสลิมได้

    ผลกระทบของสงครามครูเสด
    1. ระบบฟิวดัลเสื่อมลง สงครามครูเสดทำให้ขุนนางลดจำนวนลง เนื่องจากเสียชีวิตในสงคราม ขุนนางที่เหลือก็ยากจนลง สถาบันกษัตริย์จึงแข็งแกร่งขึ้น และพวกข้าติดที่ดินได้รับอิสระ
    2. สงครามครูเสดทำให้การค้าขยายตัวไปทั่วทั้งดินแดนภาคตะวันตกและดินแดนภาคตะวันออก สินค้าจากภาคตะวันออกได้เข้าไปแพร่หลายในยุโรป เช่น ผ้าไหม เครื่องเทศ
    3. เมืองต่างๆ กลางเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรือง เช่น นครรัฐในอิตาลี
    4. เมื่อการค้าขยายตัวส่งผลให้เมืองต่างๆ ขยายตัว และมีการนำแร่เงินและทองเข้ามาเผยแพร่ในยุโรป ทำให้การซื้อขายใช้ระบบเงินตราแทนที่การแลกเปลี่ยนสินค้า
    5. ชนชั้นผู้นำของกองทัพครูเสดได้นำเอาอารยธรรมกรีก-โรมัน ทั้งจากดินแดนจักรวรรดิไบแซนไทน์และจักรวรรดิมุสลิมกลับเข้ามาเผลแพร่ในยุโรปอีกครั้ง





    สงครามร้อยปี
    สงครามร้อยปีเป็นเหตุการณ์สงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยสงครามเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1337 และสิ้นสุดสงครามใน ค.ศ. 1453 สงครามครั้งนี้มีระยะเวลากว่า 100 ปี โดยเหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนรูปแบบทางการเมืองและสังคมในสมัยกลางอย่างสิ้นเชิง จากความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือแคว้น มาเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่

    สาเหตุของสงคราม
    1. ความขัดแย้งในเรื่องดินแดนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส นับตั้งแต่ วิลเลียม ดุ๊ก แห่งแคว้นนอร์มองดี ซึ่งเป็นข้าติดที่ดินของกษัตริย์ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองและ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษ ใน ค.ศ.1066 นับตั้งแต่นั้นมากษัตริย์อังกฤษก็มีที่ดินในประเทศฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก แต่กษัตริย์ฝรั่งเศสก็พยายามแย่งชิงดินแดนดังกล่างกลับคืนมาจากกษัตริย์อังกฤษในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ประเทศอังกฤษเหลือดินแดนเพียงไม่กี่แห่งในประเทศฝรั่งเศส
    2. สิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 3 (ค.ศ. 1312-1377) กษัตริย์อังกฤษทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงฝรั่งเศส แต่ขุนนางฝรั่งเศสกลับเลือกพระเจ้าฟิลิปที่ 6 (ค.ศ. 1328-1350) เป็นกษัตริย์
    3. อังกฤษต้องการผนวกสกอตแลนด์ แต่สกอตแลนด์ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้ต่อต้านอังกฤษ ทำให้อังกฤษไม่พอใจฝรั่งเศส
    4. ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ ฝรั่งเศสได้พยายามขัดขวางความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างอังกฤษกับแคว้านฟลานเดอร์(ประเทศเบลเยียมในปัจจุบัน) และฝรั่งเศสได้ขัดขวางการที่อังกฤษพยายามขึดครองแคว้นกาสโกนีเพื่อเป็นศูนย์กลางการค้า
    5. สาเหตุภายในประเทศ เนื่องจากกษัตริย์ทั้งสองประเทศกำลังประสบปัญหาการขยายอำนาจของขุนนาง จึงต้องการใช้สงครามระหว่างประเทศดึงความสนใจของขุนนางและประชาชน

    สถานกาณ์ของสงคราม
    ในช่วงระยะเวลาร้อยปี อังกฤษและฝรั่งเศสทำสงครามกันเป็นระยะๆ เมื่อเกิดสงคราม กองทัพอังกฤษได้โจมตีฝรั่งเศส กองทัพฝรั่งเศสพยายามต่อต้าน แต่กองทัพอังกฤษสามารถเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสได้ ทำให้ฝรั่งเศสต้องทำสัญญาสันติภาพกับอังกฤษใน ค.ศ. 1358 โดยอังกฤษได้ครอบครองดินแดนฝรั่งเศสหลายแห่งด้วยกัน และยังได้รับเงินค่าไถ่องค์พระเจ้าจอห์นที่ 2 กษัตริย์ฝรั่งเศสที่ถูกจับเป็นเชลยศึกด้วย ในขณะเดียวกัน อังกฤษก็ยอมยกเลิกการอ้างสิทธิในตำแหน่งกษัตริย์ฝรั่งเศส หลังจากสงคราม ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาโรคระบาดและความไม่สงบภายในประเทศ ดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในประเทศฝรั่งเศสได้ทำการต่อต้านอังกฤษ พร้อมกับขอให้ฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สงครามได้เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1370 ในสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ 5 แห่งฝรั่งเศส สงครามระยะนี้กองทัพฝรั่งเศสได้เปรียบในการรบกับกองทัพอังกฤษ ในที่สุดอังกฤษก็เหลือดินแดนในประเทศฝรั่งเศสเพียงเล็กน้อย
    หลังสงครามสงบ ฝรั่งเศสต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างฝ่ายต่อต้านอังกฤษกับฝ่ายนิยมอังกฤษ ในที่สุดฝ่ายนิยมอังกฤษเป็นฝ่ายชนะ ทำให้ทั้งสองประเทศสงบศึกกันนานกว่า 2 ทศวรรษ แต่อังกฤษยังคงแทรกแซงทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศสและเกิดสงครามขึ้นเป็นระยะๆ กองทัพอังกฤษรุกรานฝรั่งเศส แต่กองทัพฝรั่งเศสมีวีรสตรีโจนออฟอาร์ค เป็นผู้นำทัพ จึงสามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษได้ที่เมืองออร์เล-ออง ในค.ศ. 1429 และเอาชนะกองทัพอังกฤษได้หลายครั้ง ในปีต่อมา โจนถูกจับตัวโดยฝ่ายสนับสนุนอังกฤษ ถูกดำเนินคดีในศาลศาสนา และถูกลงโทษเผาทั้งเป็นใน ค.ศ. 1430 วีรกรรมของโจนได้ก่อให้เกิดความคิดเรื่องชาตินิยมในหมู่ชาวฝรั่งเศสอย่างรุนแรง
    หลังจากนั้นกองทัพฝรั่งเศสได้ทำการยึดครองดินแดนกลับคืนจากกองทัพอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งสงครามได้ยุติลงใน ค.ศ. 1453


    ผลกระทบของสงครามร้อยปี
    ผลกระทบต่อประเทศอังกฤษ
    1. ผลจากสงครามทำให้กษัตริย์อังกฤษทรงหันมาสนพระทัยกิจการภายในประเทศและการค้ากับดินแดนโพ้นทะเล
    2. สภาวะสงครามร้อยปีได้เพิ่มอำนาจของรัฐสภาอังกฤษในการต่อรองกับกษัตริย์เนื่องจากสงครามทำให้รัฐบาลต้องการเงิน จึงมีการต่อรองเพื่อให้รัฐสภาผ่านความเห็นชอบงบประมาณที่ใช้ในการทำสงคราม ทำให้รัฐสภามีอำนาจมากขึ้น
    3. สงครามร้อยปีทำให้เกิดชาตินิยมในหมู่ชาวอังกฤษจากชัยชนะของกองทัพอังกฤษ ขณะเดียวกันกษัตริย์มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น จากการสนับสนุนของชาวอังกฤษในการต่อต้านต่างชาติ
    4. ขุนนางเสียชีวิตและยากจนลง ทำให้กษัตริย์อังกฤษสามารถรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางได้สำเร็จ

    ผลกระทบต่อประเทศฝรั่งเศส
    1. สงครามร้อยปีได้ส่งเสริมอำนาจเด็ดขาดแก่กษัตริย์ฝรั่งเศสในการปรับปรุงกองทัพเพื่อปราบปรามขุนนางและทำสงครามกับต่างชาติ
    2. รัฐสภาได้ยอมรับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศส ทำให้กษัตริย์มีอำนาจมากขึ้นจนพัฒนากลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเวลาต่อมา
    3. สงครามร้อยปีได้กระตุ้นความคิดชาตินิยมในหมู่ชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะแนวความคิดเรื่องความเป็นชาติเดียวกัน วีรกรรมของโจนออฟอาร์คได้กลายเป็นตำนานของชาวฝรั่งเศสมานานนับศตวรรษจนถึงปัจจุบัน

    ความเสื่อมของศาสนจักรในช่วงปลายสมัยกลาง
    1. การเกิดลัทธิชาตินิยมและรัฐชาติได้ก่อตัวขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส กษัตริย์สามารถปกครองขุนนางได้ ประชาชนให้การสนับสนุนการเกิดรัฐชาติและอำนาจของกษัตริย์มีมากขึ้น เกิดการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสกับสันตะปาปา เช่น การต่อสู้ระหว่างพระเจ้าฟิลิปที่ 4 กับสันตะปาปาโบนิฟาซที่ 8 ผลก็คือกษัตริย์ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะและได้แต่งตั้งสันตะปาปาองค์ใหม่
    2. ความแตกแยกภายในของศาสนจักร ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 เกิดเหตุการณ์ความแตกแยกของศาสนจักรอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีสันตะปาปา 2 องค์ในเวลาเดียวกัน คือ องค์หนึ่งประทับที่สำนักสันตะปาปาที่กรุงโรม อีกองค์หนึ่งประทับที่สำนักสันตาปาปาที่เมืองอาวิญง(Avignon) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ถึงแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะยุติลงในเวลาต่อมา แต่ก็ทำให้คริสตจักรอ่อนแอลง เกิดความปั่นป่วนในระบบการบริหารงานของคริสตจักร ทำให้เกิดความแตกแยกและความเสื่อมศรัทธาในหมู่คริสต์ศาสนิกชน ในเวลาต่อมาศาสนจักรเกิดปัญหาการฉ้อฉลจึงยิ่งทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา อันนำไปสู่การปฏิรูปศาสนาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16

    การสิ้นสุดสมัยกลาง
    ในตอนปลายสมัยกลาง การค้าขยายตัวตามเมืองต่างๆ ทั่วยุโรป เกิดชนชั้นกลาง คือ พ่อค้าและผู้ประกอบอาชีพที่ใช้ความรู้ เช่น แพทย์ ครู นักกฎหมาย แทรกระหว่างชนชั้นสูง ได้แก่ เจ้านายและขุนนาง และชนชั้นต่ำ ได้แก่ ชาวนาและช่างฝีมือ ชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นพวกที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ปกป้องตน ในขณะเดียวกันขุนนางในระบบฟิวดัลอ่อนแอลง เป็นเหตุให้กษัตริย์รวมดินแดนต่างๆ ตั้งเป็นรัฐชาติ เมื่อเข้าสูสมัยใหม่ ทางด้านความคิดเห็น ประชาชนทั่วไปต้องการแสวงหาความรู้ที่นอกเหนือจากที่ศาสนจักรกำหนด จึงเริ่มหันไปสนใจอารยธรรมกรีกและโรมันที่มีมาก่อนคริสต์ศาสนา นำไปสู่การฟื้นฟูศิลปวิทยาเมื่อเริ่มสมัยใหม่ ซึ่งทำให้สมัยใหม่มีความแตกต่างจากสมัยกลางอย่างใหญ่หลวง




    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×