Waiting in the Dark สร้างจากหนังสือขายดีของ ‘โอตสึ อิจิ’ (นามปากกาของ ฮิโรตากะ อาดาจิ)
นักเขียนนิยายลึกลับเขย่าขวัญที่ถูกขนานนามให้เป็น
“ผลงานที่ทำให้นักเขียนวัย 17 ปีกลายเป็นดาวรุ่งในชั่วข้ามคืน”
(เก่งเหมือนด็อกเตอร์ป็อบบ้านเราเลย) โดยมีผลงานเขียนการรันตีมาแล้วมากมาย
โดยเฉพาะบ้านเรานั้นเพียบ! อาทิ ฤดูร้อน ดอกไม้ไฟ
และร่างที่ไร้วิญญาณของฉัน,รอยสักรูปหมา,โทรศัพท์สลับมิติ,ฉันหายไปในวันหยุด ฯลฯ
และล่าสุด ‘นัดหมายในความมืด’ (แปลโดย พรพิรุณ กิจสมเจตน์ )
ซึ่งหากใครได้อ่านแล้วคงทราบกันดีว่า ‘ลีลา’ หรือสำนวนภาษาที่ใช้ในการถ่ายทอด
รวมทั้งการบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร
และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในห้องของสาวตาบอดกับหนุ่มผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฆาตกร
ผู้เขียนได้บรรจงถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ความไม่น่าไว้วางใจ
อารมณ์อันครั่นคร้าม กระทั่งปฏิกิริยาโต้ตอบที่ตัวละครทั้งสองต่างพยายาม
จะสื่อสารต่อกันนั้นได้ดีเหลือเกิน
เมื่อนำหนังสือเรื่องนี้
มาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มโดยใช้บริการไอดอลชั้นนำของญี่ปุ่นอย่าง ‘ทานากะ เรนะ’
เชื่อว่าหนุ่มๆ หลายคนคงเทหน้าตักให้ความสนใจ
ติดตามดูหนังเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกมากโข โดยเฉพาะชายหนุ่มที่มาประกบคู่อย่าง ‘เฉินป๋อหลิน’ ด้วยแล้ว
ก็ไม่ยากเกินคาดเดาว่าหนังเรื่องนี้จะต้องประสบความสำเร็จ
ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน! (ก็เล่นคัดนักแสดงมาเอาใจหนุ่มๆสาวๆ ซะขนาดนั้น!)
เรื่องราวของ ‘มิจิรุ’
(ทานากะ เรนะ กับบทสาวตาบอด สไลด์ผมสั้นๆ รับรูปใบหน้าของเธองดงามยิ่งนัก -นี่อาจจะเป็นสาวตาบอดที่สวยที่สุดในโลกก็ว่าได้)
สาวตาบอดผู้อยู่ในโลกไร้แสงมาตั้งแต่เล็ก
เธอมีพ่อเป็นแหล่งพักพิงเพียงคนเดียว
ซึ่งเธอก็ได้แต่อาลัยอาวรณ์คิดถึงแม่ผู้ทอดทิ้งไปมาโดยตลอด
และเมื่อวันหนึ่งที่พ่อตายจาก
เธอจึงอาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพัง
มิจิรุมีเพื่อนสนิทสมัยประถมคนเดียวที่คอยแวะเวียนไปมาหาสู่
และชวนออกไปเที่ยวเล่นบ้างเป็นครั้งคราว
ความเงียบเหงาเข้าปกคลุมความรู้สึกเดียวดายของมิจิรุได้ไม่นาน
เมื่อในเช้าวันต่อมา มีชายหนุ่มท่าทางพิรุธแอบย่องเงียบเข้ามาในบ้านของเธอ
ข่าวการฆาตกรรมตรงหน้าสถานีรถไฟในวันเดียวกันบอกให้เรารับรู้ว่า
ผู้ต้องสงสัยที่หลบหนีคนนั้นคือ ‘อากิฮิโระ’ (เฉินป๋อหลิน)
พนักงานหนุ่มในบริษัทเดียวกันกับผู้ตาย
ซึ่งหนังจงใจอาศัยความเงียบภายในบ้าน
และความเป็นคนพิการทางสายตาของมิจิรุ ‘เล่น’ กับอารมณ์ของคนดู
เพื่อประวิงเวลาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแยบยล
คือทำให้คนดูเกิดความรู้สึกสงสัยแกมฉงนสนเทห์ว่า
อากิฮิโระใช้พื้นที่ตรงมุมห้อง (ทั้งที่ตัวบ้านกับสถานีรถไฟอยู่ไม่ห่างกันนัก)
เป็นแหล่งกลบดานทำไม?
(ถ้าเพื่อหลบหนีตำรวจตรงอื่นมีถมเถไป)
และบานหน้าต่างที่อยู่ตรงเหนือหัว เขาใช้ประโยชน์จากมันคอยชำเลืองส่องส่องดูอะไรอยู่
ถึงหลายครั้งหลายครา! (ถ้านอกจากสันนิษฐานขั้นพื้นฐาน เพื่อดูตำรวจตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ!)
จากนั้น หนังจึงย้อนกลับไปเผยอดีตของ อากิฮิโระในเวลาต่อมาว่า
นอกจากเขาเป็นพนักงานชาวจีนเพียงคนเดียวในบริษัทผลิตโปสเตอร์แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นด้วยแล้ว
ด้านมนุษย์สัมพันธ์ส่วนตัวของเขายังบกพร่องอีกต่างหาก
เขาเป็นคนไม่ช่างพูด ไม่ค่อยสุงสิงอีนังขังขอบกับเพื่อนร่วมงานด้วยกันเท่าไหร่นัก
สภาพสุจริตดังกล่าวจึงกลายเป็นแกะดำของเพื่อนฝูงไปโดยปริยาย
โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานที่ทำตัวคล้ายพี่ใหญ่ในกลุ่ม
(เขามักอวดร่ำอวดรวยให้เพื่อนฟังว่า มีธุรกิจใหญ่โตต่างๆนาๆอยู่ต่างประเทศ
อีกทั้งยังมีสาวมากหน้าหลายตามาห้อมล้อมมากมาย)
ซึ่งเขามักรังแก กลั่นแกล้งให้อากิฮิโระขุ่นข้องหมองใจอยู่ถ่ายเดียวเป็นประจำ
ก่อนที่ภาพจะตัดสลับกลับมาสู่สถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้ง
เพื่อยืนยันให้คนดูร่วมรับรู้ต่อเหตุการณ์ฆาตกรรมในครั้งนี้ว่า
มูลเหตุ และแรงจูงใจสำคัญน่าจะมาจาก ‘ความโกรธแค้นส่วนตัว’
ของอากิฮิโระ ที่ถูกกลั่นแกล้งจนทนไม่ไหว
จึงตัดสินใจล้างแค้น ด้วยการผลักเพื่อนพนักงานชนรถไฟที่แล่นมาด้วยความเร็วตายคาที่
แล้วกลัวความผิดจึงหนีมากลบดานอยู่ในบ้านหลังที่มีหญิงสาวตาบอดพักอาศัยอยู่
แต่เพียงไม่นานมิจิรุก็เริ่มประหวั่นพรั่นพรึง
ว่าบ้านที่ตนอาศัยมีสิ่งแปลกปลอมบางอย่างเข้ามาคุกคามจิตใจ
ตั้งแต่ เสียงแปลกๆ (ซึ่งเธอเล่าให้เพื่อนสนิทฟังว่าเป็นเสียง ’ผี’)
,ขนมปังในตู้เย็นที่จู่ๆก็ลดจำนวนลง
(เพราะเธอกินอยู่คนเดียวอยู่ทุกวัน และหนูก็คงเปิดตู้เย็นเองไม่ได้),
ที่สำคัญ ‘ความรู้สึก’ ที่เธอสงสัยมาตลอดว่า
เธอไม่ได้อยู่ในบ้านหลังนี้เพียงคนเดียวแน่!
(ฉากหนึ่งซึ่งบ่งบอกว่าเธอรู้สึกไม่ผิดก็คือ
ฉากที่เธอกำลังปีนหยิบของบนหลังตู้แล้วพลัดตกลงมา
พร้อมของบนหลังตู้ที่ร่วงกรูตกระเนระนาดนั้น
มีโถชามใบหนึ่งซึ่งกำลังหล่นใส่หน้ามิจิรุ
แต่จู่ๆมันกลับวางระนาบอยู่ข้างลำตัวของตัวเธอ
โดยไม่มีร่องรอยของการแตกสลาย
เธอจึงกล่าวต่อสุญญากาศกับสิ่งที่เธอรู้สึกไปว่า “ขอบคุณ” )
รายละเอียดในเวลาต่อมาก็เริ่มบ่งชี้
พร้อมเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจที่คนดูร่วมรู้สึกร่วมมาตลอดว่า
อากิฮิโระ ต้องเป็นคนฆาตกรรมนายคนนั้นแน่ๆ
เมื่อภาพเริ่มย้อนกลับไปสู่ฉากชานชาลานั้นอีก (ถึง 2-3 ) หน
ซึ่งหนังตัดอารมณ์ความรู้สึกปรักปรำในส่วนนี้ของคนดูได้ดีเหลือเกิน
เอาง่ายๆก็คือ หลอกคนดูให้หลงเชื่อตามได้ตั้งนาน (ฮา)
พร้อมกันนั้น ความน่าติดตามยังส่งผลให้เรารู้สึกเห็นใจต่อเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น!
“ตนเป็นคนจีน” ซึ่งแน่นอน มันมีเหตุผลสารพันประการมาลองรับ
เริ่มจากการที่เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัย (มีเจ้าหน้าสถานีรถไฟเห็นเขาวิ่งหลบหนีไป)
จนมาถึงเหตุผลส่วนตัว (เป็นปฏิปักษ์กับเพื่อนร่วมงานด้วยกัน)
รวมทั้งเรื่องเชื้อชาติถิ่นกำเนิด (เป็นคนต่างด้าว)
และเมื่อหลายเหตุผลมาประกอบร่วมกัน มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด
หากเขาต้องโทษถูกคุมขังขึ้นมาจริงๆ ก็ในเมื่อสังคมได้พิพากษ์เขาไปหมดแล้ว!
ซึ่งการที่คนในสังคมใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินคนด้วยกัน
แม้จะต่างเชื้อชาติกันก็ตาม มันออกจะดูร้ายแรงเกินไป
ในสังคมทุกวันนี้ หนังจึงตั้งใจตบหน้าคนดูแล้วบอกว่า
‘สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่อย่างที่เห็นก็เป็นได้’
นอกจากนี้หนังยังให้ข้อคิดสัจธรรมสอนใจเกี่ยวกับ ‘การก้าวข้ามความกลัว’
’โลกนอกกะลา’ ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
หากใครนิยมชมชอบหนังสือเรื่องนี้มาก่อนคงชวนให้ติดตามได้ไม่ยาก
เพราะสไตล์การเล่าเรื่องในหนังเรื่องนี้มันช่างเงียบเหงาเหมือนในหนังสือไม่มีผิดเพี้ยน
(หนังเล่นกับอารมณ์ของตัวละครเป็นส่วนใหญ่ อีกอย่างเฉินป๋อหลินพูดญี่ปุ่นไม่ชัด!)
ทว่าเจ้าความเงียบเหงาที่ว่านี่แหละ
กลับดูดซับอารมณ์คนดูให้ติดตามไปได้ตลอดทั้งเรื่องไม่ชวนให้ง่วงเหงาหาวนอนเลยแม้แต่น้อย
โดยเฉพาะเมื่อหนังเฉลย ‘ความลับ’ ตรงหน้าต่างบานนั้น!
|
ความคิดเห็น