หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ชื่อเรื่อง :  InLaw...(yaoi)
ใครแต่ง : Kissa_step
13 ต.ค. 66
80 %
2 Votes  
#1 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Blue Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 8 เม.ย. 58
~InLaw~ ผมรัก...อัยการ (Yaoi) นวนิยายแนวสืบสวน ผลงานของ Kissa…step เป็นเรื่องราวของเต็มสิบ นักศึกษากฎหมายชั้นปีที่สามที่ตกหลุมรักสิ้นฟ้า ผู้ช่วยอัยการหนุ่มสุดหล่อ ขณะที่เขาไปฝึกงานที่สำนักงานอัยการสูงสุด แต่เรื่องราวความรักในครั้งนี้ของเขาดูจะมีอุปสรรค ไม่เพียงแต่เขาต้องแข่งกันกับเพชรทนายหนุ่มสุดเก่ง อดีตรุ่นพี่คนสนิทของสิ้นฟ้าเท่านั้น แต่ความลับในอดีตของสิ้นฟ้าที่เริ่มกลับมาส่งผลกับชีวิตในปัจจุบันของเขา ซึ่งดูจะพัฒนาและกลายเป็นอุปสรรคความรักและความสัมพันธ์เขายิ่งกว่า คงต้องตามติดความรักของพวกเขาว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 22 แล้ว
ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้คือ การผนวกเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนเข้ากับความรักสามเส้าของชายสามคน ซึ่งมีการสร้างและพัฒนาปมปัญหาของแนวเรื่องทั้งสองไปพร้อมๆ กัน ที่ทวีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น แม้ว่า Kissa…step จะพยายามสร้างความแปลกใหม่กับเรื่องโดยเลือกนำเสนอชีวิตของผู้ช่วยอัยการ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีจะมีการนำมาเป็นตัวละครในนวนิยายแนวนี้เท่าใดนัก แต่ สิ้นฟ้า กลับแทบจะไม่ได้ทำหน้าที่สะท้อนภาพผู้ช่วยอัยการและหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ช่วยอัยการมากเท่าใดนัก ไม่ว่าการรวบรวมหลักฐานเพื่อเขียนสำนวนฟ้อง การส่งฟ้อง และการพิจารณาคดีในชั้นศาล จึงเห็นว่า ถ้า Kissa…step ยังจะยืนยันให้สิ้นฟ้าเป็นผู้ช่วยอัยการต่อไปก็ควรจะสร้างความเป็นผู้ช่วยอัยการให้ชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ แต่หากยังยืนยันให้สิ้นฟ้ามีบุคลิกลักษณะเช่นเดิม ก็ควรจะต้องเปลี่ยนอาชีพของเขาจากผู้ช่วยอัยการ มาเป็นตำรวจหรือตำรวจนอกเครื่องแบบจะดูเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ที่เขาเลือกกระทำอยู่มากกว่า
ใน ~InLaw~ ผมรัก...อัยการ (Yaoi) มีการเปลี่ยนผู้เล่าเรื่องกลับไปมาระหว่างตัวละครสำคัญของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เต็มสิบ สิ้นฟ้า และ เพชร ซึ่งจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงผู้เล่าได้สร้างเรื่องให้มีมิติที่อย่างน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดเรื่องราวความรักที่เล่าผ่านสายตาของตัวละครทั้งสาม อันแสดงถึงแง่มุมความรักที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวละครเหล่านี้จะเล่าถึงเหตุการณ์เดียวกัน ขณะเดียวกัน Kissa…step ยังใช้กลวิธีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่าเรื่องเพื่อสลับจุดเน้นไปมาระหว่างแนวเรื่องรักกับเรื่องสอบสวน นับเป็นกลวิธีการเขียนที่ใช้โดยตลอดเรื่อง
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า “ผม” ในชื่อเรื่องกับมุมมองผู้เล่าเรื่อง “ผม” ในช่วงต้นของเรื่องที่กำหนดให้เป็น “เต็มสิบ” กลับกลายเป็นกับดักที่สกัดการสร้างความหลากหลายของมุมมองและเสียงเล่าในงานนวนิยายเรื่องนี้ เพราะ “ผม” ในที่นี้แสดงให้เห็นว่า Kissa…step เลือกแล้วว่าจะให้ “เต็มสิบ” เป็นผู้เล่าและถ่ายทอดเรื่องต่างๆ ทั้งหมดในเรื่อง ดังนั้น เมื่อผู้เขียนเปลี่ยนมุมมองในการเล่าจาก “เต็มสิบ” ไปยังตัวละครอื่นอาจสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านบางคนได้ เพราะ “ผม” ที่ปรากฏในเรื่องบางตอนก็มิได้หมายถึง เต็มสิบ แต่หมายถึงตัวละครตัวอื่น ด้วยเหตุนี้ ทางแก้ง่ายๆ ที่จะช่วยเพื่อลดความสับสนในประเด็นนี้ ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เขียนสามารถที่จะสลับมุมมองของผู้เล่าเรื่องได้อย่างเสรี นั่นคือ การเปลี่ยนชื่อเรื่องจาก “~InLaw~ ผมรัก...อัยการ” เป็น “~InLaw~ อัยการที่รัก” ซึ่งชื่อเรื่องใหม่ดังกล่าวช่วยเปลี่ยนศูนย์กลางของเรื่องจาก “เต็มสิบ” มาเป็น “สิ้นฟ้า” อย่างที่ควรจะเป็น เพราะ “สิ้นฟ้า” ไม่เพียงแต่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญของความรักสามเส้าในครั้งนี้เท่านั้น แต่อดีตที่ลึกลับและซับซ้อนของเขายังเป็นชนวนและเหตุปัจจัยของการสืบสวนเพื่อคลี่คลายความลับดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้นไปพร้อมกันด้วย
งานแนวสืบสวนที่เน้นการทำงานของอัยการในเรื่องความสมจริงนับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้ทั้งกับตัวละครและเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคลี่คลายคดีในเรื่องนี้ส่วนใหญ่อาศัยการให้ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้รับสารภาพการกระทำผิดของตนเอง มากกว่าที่จะแสดงความสามารถของผู้ช่วยอัยการในการรวบรวมหลักฐานเพื่อทำสำนวนส่งฟ้องและคลี่คลายคดี เพราะในความเป็นจริงผู้ต้องสงสัยจะไม่สารภาพจนกว่าจะจนด้วยพยานและหลักฐาน ซึ่งขัดกับสิ่งที่ Kissa…step พยายามเสนอมาโดยตลอดว่าสิ้นฟ้าเป็นผู้ช่วยอัยการที่เก่งมาก ขณะเดียวกันยังพบว่าในนวนิยายเรื่องนี้มีเนื้อหาหลายฉากที่ขาดความสมจริง ซึ่งนับเป็นข้อด้อยของเรื่องที่ต้องแก้ไข อาทิ การให้สิ้นฟ้าทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาในคดีเสพแอมเฟตามีน แม้ว่าเขาจะจับตัวประกันไว้ก็ตาม แต่ผู้ต้องหาที่มีเพียงมีดเป็นอาวุธ และตกอยู่ในวงล้อมของตำรวจที่มีอาวุธปืนครบมืออยู่แล้ว จึงน่าจะทำเพียงแค่ยิงให้บาดเจ็บก็น่าจะเพียงพอกับความผิดที่เขากระทำแล้ว เพราะเขามิได้เป็นผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ที่มีแนวโน้มว่าจะสังหารตัวประกัน เช่นเดียวกับการที่สิ้นฟ้าและพวกปลอมตัวเป็นนักศึกษาพยาบาลเพื่อเข้าไปสืบคดี ก็ขาดความสมจริง เนื่องจากนักศึกษาพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง มีนักศึกษาชายน้อย และนักศึกษาส่วนใหญ่จะรู้จักและคุ้นหน้ากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้น การปลอมตัวในครั้งนี้แทนที่จะสามารถทำตัวให้กลมกลืนไปกับคนรอบข้าง กลับกลายเป็นทำตัวให้เป็นจุดเด่นที่สังเกตได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก อีกทั้ง การเชิญตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนเป็นสิทธิ์และความชอบธรรมที่ตำรวจและอัยการสามารถที่จะทำได้ จึงไม่จำเป็นต้องทำให้กลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนหรือสุ่มเสี่ยงให้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายด้วยการให้อัยการและตำรวจโป๊ะยาสลบและลักพาตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนดังที่นำเสนอไว้ในเรื่อง ยิ่งไปกว่านั้น คดี “Ticket one way” นับว่าเป็นคดีที่ยังขาดความสมจริงอย่างมาก เพราะ Kissa…step มุ่งเน้นที่ความเก่งของสิ้นฟ้ามากจนเกินไป ซึ่งการที่สิ้นฟ้ายังสะกิดใจว่าการตายของหญิงสาวชาวไทยในครั้งนี้มิใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการฆาตกรรม ด้วยการได้เห็นศพผู้ตายแบบผ่านๆ เท่านั้น และยิ่งการคลี่คลายคดีที่สิ้นฟ้าเปิดโปงความผิดของจำเลยก็อาศัยเพียงหลักฐานแวดล้อมที่พบจากการสอบสวนทั่วๆ ไปเท่านั้น ซึ่งตำรวจอเมริกันเจ้าของคดีก็น่าจะเห็นความผิดปกตินี้ด้วยและสามารถคลี่คลายคดีได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่าคดีนี้จะสมจริงมากขึ้น หากกำหนดให้ฉากฆาตกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นที่การสืบสวนสอบสวนของตำรวจยังไม่มีเครื่องมือหรือยังไม่เข้มแข็งและไม่ก้าวหน้าเท่าอเมริกา
ผู้วิจารณ์เห็นว่า Kissa…step ไม่ควรใช้อีโมติคอนในนวนิยายเรื่องนี้ เพราะอีโมติคอนลดทอนความน่าเชื่อถือของทั้งตัวละครและแนวเรื่องสืบสวนโดยภาพรวมลงอย่างน่าเสียดาย แม้ว่าเนื้อหาที่ใช้อีโมติคอนจะเป็นการเสนอมุมมองความรักตัวละครที่ยังเป็นวัยรุ่นแบบเต็มฟ้าก็ตาม
ข้อด้อยประการสำคัญของเรื่องที่ควรต้องแก้ไขคือ คำผิด เนื่องจากในเรื่องมีคำผิดปรากฏเป็นจำนวนมาก เช่น นอกจากคำผิดแล้วยังพบว่าบางครั้ง Kissa…step ยังเลือกใช้คำผิดความหมายหรือเลือกใช้คำไม่เหมาะสมกับบริบทของเรื่องด้วย เช่น ช็อค เขียนเป็น ช๊อก เชิร์ต เขียนเป็น เชิ้ท อุตส่าห์ เขียนเป็น อุตส่า ว้ายเขียนเป็น ว๊าย แล่เนื้อ เขียนเป็น แร่เนื้อ ประคอง เขียนเป็น ประครอง แฮะ เขียนเป็น แหะ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ ผกามาศ เขียนเป็น
พกามาศ น้า เขียนเป็น น๊า เคาน์เตอร์ เขียนเป็น เค้าเตอร์ สายพันธุ์ เขียนเป็น สายพันธ์ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ เผอเรอ เขียนเป็น เพลอเรอ ย้า เขียนเป็น ย๊า ว้าว เขียนเป็น ว๊าว พึมพำ เขียนเป็น พรึมพรำ จอห์น เขียนเป็น จอร์น ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ สามเส้า เขียนเป็น สามเศร้า แว้บ เขียนเป็น แว๊บ ชำเลือง ชำเรือง ลุกลี้ลุกลน เขียนเป็น รุกลี้รุกรน ฉีดยาชา เขียนเป็น ชีทยาชา เกษียณ เขียนเป็น เกษียร (เกษียณ หมายถึง สิ้นไป แต่ เกษียร หมายถึง น้ำนม) และ โฮะ เขียนเป็น โห๊ะ ขณะเดียวกันยังมีบางประโยคที่ Kissa…step ยังใช้คำไม่เหมาะกับบริบทแวดล้อมในประโยค อาทิ จุดจอดรับของรถเมล์คือ ป้าย แต่ในเรื่องนี้กลับใช้คำว่า สถานี (คำว่า สถานีใช้กับ รถไฟ รถไฟฟ้า เท่านั้น) หรือในประโยคที่ว่า ทางเราขอกันตัวคุณไว้เป็นผู้ต้องหา ประโยคที่นิยมเขียนคือ การจะกันตัวไว้ส่วนใหญ่จะใช้กับพยาน เช่น ทางเราขอกันตัวคุณไว้เป็นพยาน แต่ถ้าใช้กับผู้ต้องหาจะใช้ประโยคว่า ทางเราขอกันจับตัวหรือคุมตัวคุณในฐานะผู้ต้องหา ทั้งนี้ หากได้แก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ก็จะช่วยปรับให้เรื่องถูกต้อง สมบูรณ์ และน่าอ่านเพิ่มมากขึ้น
     
 
ชื่อเรื่อง :  Second of World [Online] [ดอง]
ใครแต่ง : NemuriHime
8 พ.ค. 60
100 %
2 Votes  
#2 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 4 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluew Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 8 เม.ย. 58
นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง Second of World (Online) ผลงานของ Nemuri Hime ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 13 แล้ว เป็นเรื่องราวของนิกซ์ หญิงสาวผู้เป็นเจ้าหญิงนิทราในโลกจริง แต่เธอกลับมีชีวิตโลดแล่นได้อีกครั้งในโลกของเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นโลกเสมือนของคนอื่น ชีวิตของนิกซ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เธอจะฟื้นฟูและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในโลกจริงได้หรือไม่ หรือเธอจะใช้ชีวิตอยู่แต่เฉพาะในโลกเสมือนต่อไป
Second of World (Online) ใช้แนวคิดเรื่องโลกคู่ขนานมาเป็นแนวการสร้างเรื่อง แม้ว่า
นวนิยายแฟนตาซีจำนวนไม่น้อยได้ใช้แนวคิดนี้ในการนำเสนอเรื่อง แต่ทว่า Nemuri Hime สามารถทำให้ผู้อ่านสนใจและติดตามได้ตั้งแต่เปิดเรื่อง โดยการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “Second of world” เกมออนไลน์ที่ชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นเกมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเท่านั้น แต่ยังเป็นนวัตกรรมสำคัญทางการแพทย์ที่เกมดังกล่าวจะช่วยรักษาผู้ป่วยโคม่าหรือเจ้าหญิง/เจ้าชายนิทราด้วยการกระตุ้นคลื่นสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกติอีกครั้งด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า Nemuri Hime ไม่ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเชื่อมโยงหรือพัฒนาเพื่อให้เห็นศักยภาพและความสำคัญของเกมกับการกระตุ้นคลื่นสมองของคนไข้มากนัก
นวนิยายเรื่องนี้มีพื้นฐานของการสร้างโลกคู่ขนานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทที่หนึ่งในการเปิดเรื่อง ที่ Nemuri Hime ทิ้งปมปัญหาที่น่าสนใจและน่าจะได้รับการพัฒนาต่อไป อาทิ เรื่องราวความลับในชีวิต กับภารกิจสำคัญอีกสองประการของนายพลเซินที่ต้องปฏิบัติให้ลุล่วง ตัวตนที่แท้จริงของเฮร่า ความแตกต่างของผู้เล่นในโลกออนไลน์ระหว่างผู้เล่นปกติ กับผู้ป่วยอาการโคม่า ซึ่งความแตกต่างที่ปรากฏในโลกเสมือนของคนทั้งสองกลุ่มกลับแทบจะไม่ต่างกัน แม้ว่า Nemuri Hime จะสร้างเงื่อนไขว่า ผู้ป่วยโคม่าจะมีความจำเสื่อมเมื่ออยู่ในโลกเสมือน แต่สภาวะความจำเสื่อมดังกล่าวไม่ชัดเจนมากพอให้ผู้อ่านตระหนักได้ว่า นิกซ์ ผู้ป่วยเจ้าหญิงนิทรา แตกต่างจาก เฮร่า คนปกติอย่างไร แต่ดูเหมือนว่าทิศทางการพัฒนาของเรื่องในช่วงต่อมา ได้ละความสนใจจากปมปัญหาที่เปิดไว้แล้วในช่วงต้นอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์เห็นว่าความเชื่อมต่อของโลกคู่ขนานระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนที่เปิดเรื่องไว้ในตอนต้นเรื่อง ดูจะค่อยๆ ถูกตัดขาดจากกันโดยปริยาย เมื่อ Nemuri Hime เน้นการนำเสนอแต่เฉพาะโลกของเกม แต่กล่าวถึงโลกจริงเพียงแค่ว่าผู้เล่นเกมบางคนจะต้องออฟไลน์ออกจากเกมเพื่อกลับไปในโลกจริงเท่านั้น ขณะเดียวกันทิศทางของเรื่องถูกเปลี่ยนไปยังแนวเรื่องสูตรสำเร็จโรงเรียนเวทมนตร์แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิกซ์ เจ้าหญิงนิทราในโลกจริง สาวน้อยความจำเสื่อมในโลกเสมือน แต่กลายเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษที่หาได้ยากในโลกเสมือน เพราะมีธาตุหลักในตัวถึง 3 ธาตุ ต่อมาอาวุธวิญญาณ ไซเลนท์ ยังเลือกเป็นอาวุธประจำกายของเธออีกด้วย ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวเรื่องที่พัฒนาในช่วงต่อมาแทบจะไม่เชื่อมโยงกับแนวคิดของโลกคู่ขนานที่เปิดเรื่องไว้ตั้งแต่ต้น จึงไม่แน่ใจว่าแนวเรื่องที่ Nemuri Hime ต้องการจะนำเสนอนั้นคืออะไรกันแน่ระหว่าง โลกคู่ขนาน (ที่เปิดตัวไว้แล้วอย่างน่าสนใจ) เกมออนไลน์ หรือ โรงเรียนเวทมนตร์ แต่แนวโน้มที่เห็นในขณะนี้ดูจะโน้มเอียงไปในแนวโรงเรียนเวทมนตร์มากขึ้น นับตั้งแต่นิกซ์และเฮร่าสมัครและเข้ารับการคัดเลือกเพื่อฝึกหัดเป็นทหารของอาณาจักรเอเลเมนท์ เป็นต้นไป
การที่ Nemuri Hime มีความตั้งใจที่จะยกย่องและเชิดชูประเทศไทยให้กลายเป็นชาติมหาอำนาจที่ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสุดยอดของโลก นับว่าน่าสนใจ เพราะไม่ค่อยมีนวนิยายแนวนี้ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฉากสำคัญในการดำเนินเรื่อง แต่ความตั้งใจนี้กลับถูกกลบทับด้วยตัวการตั้งชื่อตัวละครด้วยภาษาต่างประเทศ และยังไม่มีตัวละครที่ใช้ชื่อไทยเลย จึงเห็นว่า Nemuri Hime น่าจะกล้าที่จะแสดงจุดยืนในประเด็นนี้ให้หนักแน่นยิ่งขึ้นด้วยการใช้ชื่อตัวละครทั้งหมดเป็นชื่อไทย เพราะเมื่อประเทศไทยกลายเป็นผู้นำและมหาอำนาจใจด้านนี้ จึงไม่แปลกที่ภาษาไทยจะกลายเป็นภาษาสากลในวงการนี้ไปพร้อมกันด้วย
ข้อด้อยอีกประการที่พบคือ คำผิด ที่ยังพบอยู่ประปราย เช่น กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนตร์ เดียว เขียนเป็น เดี่ยว นี่ เขียนเป็น นิ พึมพำ เขียนเป็น พึมพัม แฮะ เขียนเป็น แหะ ไอ้ เขียนเป็น ไอ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย อุตส่าห์ เขียนเป็น อุส่า คทา เขียนเป็น คฑา เมื่อกี้ เขียนเป็น มะกี้ เมื่อคืน เขียนเป็น มะคืน เนอะ เขียนเป็น เน๊อะ ต่างๆ นานา เขียนเป็น ต่างๆ นาๆ จอมเวท เขียนเป็น จอมเวทย์ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ และ พลัด (พลัดกับ) เขียนเป็น พลัดพลาด
     
 
ชื่อเรื่อง :  สุริยัน ระฟ้า
9 ต.ค. 58
80 %
8 Votes  
#3 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Blue Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 8 เม.ย. 58
นวนิยายแนวซึ้งกินใจเรื่อง สุริยัน ระฟ้า ผลงานของ ศิลานิรันดร์ เป็นเรื่องราวความรักข้ามเวลาของดวงแก้วหรือแก้ว หญิงสาวชาวไทย กับ เลอสรวงกษัตริย์แห่งสรวงศิลานคร ผู้ที่มีเหตุจำเป็นต้องข้ามมิติเวลามาใช้ชิวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ ตะวัน เจ้าของไร่ระฟ้าและคฤหาสน์ระฟ้าผู้โด่งดัง และเฝ้ารอคอยดวงแก้วเติบโตมากว่า 20 ปี เพราะลูกที่เกิดขึ้นจากเธอจะช่วยปลดเปลื้องบ้านเมืองของเขาให้พ้นจากคำสาปได้ ความรักข้ามภพระหว่างเขากับเธอเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป ขณะนี้เขียนถึงตอนที่ 21 แล้ว
สุริยัน ระฟ้า เป็นนวนิยายที่มีเรื่องราวซับซ้อนเรื่องหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่ให้ตัวละครข้ามภพข้ามชาติ โดยที่เนื้อเรื่องเกิดทั้งในภพปัจจุบันและภพอดีต ซึ่ง ศิลานิรันดร์ สร้างความลับและปมปัญหาที่ชวนให้ผู้อ่านติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวตนที่แท้จริงของตะวัน และศักรินทร์ ขณะเดียวกันนวนิยายเรื่องนี้ยังมีความซับซ้อนของโครงเรื่องด้วย เพราะมีทั้งโครงเรื่องหลัก (main plot) ที่เกี่ยวกับการปลดเปลื้องเมืองสรวงศิลานครในอดีตชาติให้พ้นคำสาป และโครงเรื่องรอง (sub-plot) อีกเป็นจำนวนมากที่สอดประสานและสนับสนุนให้โครงเรื่องหลักมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำสงครามระหว่างอาณาจักร เรื่อราวความรักในหลากหลายแง่มุมของตัวละครที่อยู่ในภพอดีตและภพปัจจุบัน ทั้งความสมหวังในความรัก ความผิดหวัง และ การแอบรัก เป็นต้น
การที่จะเขียนนวนิยายข้ามภพให้มีความน่าสนใจนั้น ผู้เขียนจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างเรื่องราวทั้งสองภพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในนวนิยายเรื่องนี้ที่ ศิลานิรันดร์ พยายามสร้างเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นทั้งสองภพพอๆ กัน และตัวละครส่วนใหญ่ก็ปรากฏในทั้งสองภาพ แม้ว่าจะมีแค่ตัวละคร 2 ตัวที่ข้ามภพไปมาได้ คือ แก้ว และ ตะวัน ขณะที่ตัวละครตัวอื่นๆ นั้น ต่างเป็นคนในภพอดีตที่มาเกิดใหม่ในภพปัจจุบันเท่านั้น โดยไม่หลงเหลือความทรงจำในภพอดีตติดมายังภาพปัจจุบันเลย ยกเว้นศักรินทร์ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่านวนิยายเรื่องนี้ยังไม่สามารถสร้างความสมดุลดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ เพราะเปิดเรื่องด้วยเรื่องราวและตัวละครของภพปัจจุบัน แต่ผู้เขียนกลับแทบจะไม่ปูพื้นให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับตัวละครพวกนี้เลย จนอาจะสร้างความงุนงงและสับสนให้ผู้อ่านอย่างมาก ทั้งนี้ผู้วิจารณ์เข้าใจว่าเหตุผลประการสำคัญที่ผู้เขียนไม่ให้ภูมิหลังของตัวละครทั้งหมดไว้ เพราะต้องการจะไปเฉลยในภพอดีตที่จะอยู่ในเนื้อเรื่องช่วงต่อมา จึงเห็นว่าผู้เขียนควรให้ข้อมูลเบื้องหลังของตัวละครในยุคปัจจุบันให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความสมเหตุผลต่างๆ ของเรื่องให้เพิ่มขึ้น อาทิ การเพิ่มเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าตะวันแอบรักและแอบติดตามดวงแก้วมานานกว่า 20 ปี เขมิกาที่ดูแลและภักดีต่อตะวันมานานปี ความรักและความสัมพันธ์ของเข้มกับขวัญเรือนที่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป หรือ อินทัชสนใจและแอบรักแก้วมาตลอดระยะเวลาที่อิงอรกับแก้วเป็นเพื่อนกัน นอกจากนี้ยังเห็นว่า ศิลานิรันดร์ กล่าวถึงเรื่องราวในภพปัจจุบันในช่วงต้นอย่างรวบรัดตัดความมากเกินไป และมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเป็นจำนวนมากที่ขาดที่มีที่ไป ทั้งยังส่งผลต่อความสมจริงของเรื่องด้วย อาทิ การที่แม่ของอิงอรใช้เธอเป็นเครื่องมือกำจัดเข้ม ก่อนที่พ่อของอิงอรจะทราบความจริงเกี่ยวกับชาติกำเนิดของเข้มที่เป็นความลับมากกว่า 20 ปี หรือ ขจรทราบเรื่องเข้มและอิงอรถูกทำร้ายได้อย่างไร จึงขับรถตามไปช่วยไว้ทัน
ในการสร้างตัวละครนั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่า ศิลานิรันดร์ จำกัดกรอบการสร้างตัวละครของตนแคบจนเกินไป กล่าวคือ การตั้งโจทย์ในการสร้างตัวละครไว้แทบจะชัดเจนว่า ชะตาชีวิตของตัวละครเด่นๆ ในยุคปัจจุบันทุกตัว เป็นผลมาจากการกระทำหรือความผูกพันกันที่มีมาในอดีตชาติ คนที่รักกันในชาติที่แล้วก็กลับมาเป็นคนรักกันต่อไปในชาตินี้ คนที่ผิดหวังในความรักในอดีตชาติ เมื่อมาภพปัจจุบันก็ต้องผิดหวังซ้ำอีก หรือคนที่เป็นศัตรูกันในอดีตชาติก็ยังคงความเป็นศัตรูกันต่อไปในชาตินี้ จนทำให้ตัวละครในเรื่องขาดมิติที่หลากหลาย ทั้งๆ ที่การเขียนงานแนวข้ามภาพข้ามชาติเช่นนี้ เปิดโอกาสให้ผู้เขียนมีเสรีภาพในการปรับเปลี่ยนบุคลิกและลักษณะนิสัยของตัวละครต่างๆ ได้ง่าย หากจะมีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของตัวละครบ้างก็จะช่วยให้เรื่องราวในภพอดีตแลปัจจุบันไม่ซ้ำกันมากจนเกิดไป จนทำให้ผู้อ่านคาดเดาทิศทางของเรื่องได้ง่าย ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความน่าสนใจและความติดตามของเรื่องให้มีเพิ่มขึ้นด้วย
ศิลานิรันดร์ สร้างความน่าติดตามให้กับเรื่องไว้ในหลากหลายวิธี ทั้งการเปิดประเด็นการคาดการณ์ในอนาคต (foreshadow) ไว้เป็นระยะๆ ซึ่งจะใช้บ่อยกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตะวันในช่วงต้นเรื่อง เช่น การบรรยายว่าตะวันไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น และ ตะวันจะจากไปไกลๆ ไม่ได้ไปแค่โรงพยาบาลในเมือง อีกวิธีที่นิยมใช้คือ การทิ้งท้ายการจบแต่ละบทไว้ด้วยเหตุการณ์ที่ชวนให้ติดตามว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร รวมทั้งการเปิดปมปัญหาที่น่าสนใจไว้ก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนาและคลีคลายปมปัญหานั้นในช่วงต่อมา เช่น การเปิดให้แก้วเป็นมือที่สามที่จะเข้ามาทำลายความรักระหว่างเจ้าเลอสรวงกับพระมเหสี เจ้าหญิงเกษรา หรือ ความรักที่ซ่อนเร้นระหว่างเจ้าหญิงเกษรากับเจ้าชายเขมรินทร์ พระอนุชาของเจ้าเลอสรวง
อย่างไรก็ดีเห็นว่า ศิลานิรันดร์ อาจจะต้องปรับที่มาที่ไปของฉากอีโรติกแต่ละฉากให้มีความสมเหตุผลมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะดูเหมือนผู้เขียนจงใจและต้องการจะให้มีฉากเหล่านั้นในนวนิยายของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นของเรื่องในภพปัจจุบันที่พยายามผู้เขียนบรรยายและให้ภาพตะวันเป็นจอมมารที่ใจร้าย ที่มักจะเข้ามาจู่โจมและลวนลามแก้วเสมอทั้งในยามหลับและยามตื่น ทั้งๆ ที่ตัวตนของตะวันที่ปูไว้ในเรื่องนั้นไม่ได้มีบุคลิกลักษณะที่สอดรับกับข้อกล่าวหาหรือพฤติกรรมที่แสดงออกในฉากอีโรติกเหล่านี้เลย เมื่อเกิดความขัดกันของบุคลิกตัวละครเช่นนี้ อาจส่งผลต่อการสร้างภาพแง่ร้ายของตะวันในใจผู้อ่านได้ เพราะตะวันจะกลายเป็น “ชายหื่น” ไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับภาพของศักรินทร์ที่กระทำการล่วงเกินต่ออิงอรเสมอเมื่อมีโอกาส
การใช้ภาษาในเรื่องพบว่า มีการแยกระดับของภาษาที่ใช้ระหว่างสองภพค่อนข้างชัดเจน เมื่ออยู่ในภพอดีตระดับของภาษาต่างๆ ที่ตัวละครใช้จะดูประณีตและใช้คำเก่ากว่าเมื่ออยู่ในภพปัจจุบัน สำหรับการสร้างบทบรรยายและบทสนทนาที่ปรากฏในเรื่องนั้น พบว่าไม่มีปัญหา ศิลานิรันดร์ สามารถสร้างได้อย่างลื่นไหล อันช่วยให้เรื่องน่าอ่านและชวนติดตามได้เป็นอย่างดี หากจะมีสะดุดบ้างก็เฉพาะช่วงที่มีการเปลี่ยนระดับภาษาระหว่างภาษาในภพอดีตและภพปัจจุบันที่มักจะมีสำนวนแปลกๆ ที่ไม่คุ้นเคยแทรกอยู่ เช่น หัวใจกันดารรัก เสนอว่าควรเปลี่ยนเป็น หัวใจไร้รัก นั่นอาจเป็นเพราะ ศิลานิรันดร์ ให้ความสำคัญ ใส่ใจและระมัดระวังเกี่ยวกับความถูกต้องของการสะกดคำค่อนข้างมาก จึงพบคำผิดบ้างเพียงเล็กน้อย อาทิ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ อณูเนื้อ เขียนเป็น อณุเนื้อ ความสัมพันธ์ เขียนเป็น ความสำพันธ์ รัตนชาติ เขียนเป็น รัตะชาติ ประชวร เขียนเป็น ประชวน รักสามเส้า เขียนเป็น รักสามเศร้า ภายใน เขียนเป็น ถายใน สัญญาณ เขียนเป็น สัญญาน พายุบุแคม เขียนเป็น พายุบุเคม และ ดาวดึงส์ เขียนเป็น ดาวดึง
     
 
ชื่อเรื่อง :  1:11 MISS YOU ALWAYs {Yaoi-BL}
ใครแต่ง : แมวจร~
29 พ.ค. 58
80 %
5 Votes  
#5 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
วิจารณ์นิยาย Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 25 มี.ค. 58
นวนิยายแนว YAOI / BL เรื่อง 1:11 MISS YOU ALWAYSผลงานของ Nopoxaเป็นเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างเก้าและเมฆที่รู้จักกันมานานเกือบตลอดชีวิตของตน แล้วความรักความสัมพันธ์ของเขาทั้งคู่จะเป็นอย่างไร เมื่อความรักฉันท์เพื่อนที่เก้ามีต่อเมฆเปลี่ยนระดับไปเป็นความรักฉันท์คนรัก
แก่นเรื่อง “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” มักเป็นที่นิยมใช้ในงานเขียนแนว YAOI / BL แต่ Nopoxa นำมาใช้ในงานเรื่องนี้ได้พยายามสร้างให้เรื่องมีความแตกต่างจากเรื่องอื่น โดยการทวีความซับซ้อนของแก่นเรื่องให้เกิดขึ้นกับตัวละครหลายๆ ตัวในเรื่อง จนดูเหมือนจะเป็นความรักที่วนกันเป็นวงกลม และสร้างความเจ็บปวดให้กับตัวละครทุกตัวที่ตกอยู่ในวังวนแห่งรัก ไม่ว่าจะเป็น เก้าที่แอบรักเมฆ แพรที่แอบรักเก้า บาสที่แอบรักเมฆ (และเรื่องที่นำเสนอไปนั้นยังทำให้ผู้อ่านแอบคิดไม่ได้ว่า โจ้ก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่แอบรักบาสด้วย)ซึ่ง Nopoxa กำหนดให้ตัวละครแต่ละตัวต่างมีวิธีจัดการกับความรักเฉพาะที่แตกต่างกันไป จึงนับเป็นการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ความรักในหลากหลายมิติได้อย่างน่าสนใจ
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า นวนิยายเรื่องนี้มุ่งเน้นแต่การบรรยายความรู้สึกของตัวละครเอกเพียง 2 ตัวคือเก้าและเมฆ (ซึ่งเน้นหนักไปที่เก้ามากกว่า) จึงละเลยตัวละครอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาในด้านความรักเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามNopoxa สามารถนำเสนอโลกภายในของเก้าและเมฆได้เป็นอย่างดี โดยสามารถตีแผ่ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในใจ ไม่ว่าจะเป็น ความสุขในการแอบรัก ความสับสนไม่แน่ใจในความรู้สึก ความเศร้าที่ต้องผิดหวังในความรัก ความหึงหวง และความเกรี้ยวโกรธต่างๆ
ความน่าสนใจหรือการที่นิยายลักษณะนี้จะสร้างความประทับใจให้ได้คือ การเน้นการกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร แต่นวนิยายเรื่องนี้ยังไม่สามารถสร้างความรู้สึกร่วมของผู้อ่านที่มีต่อตัวละครได้มากนัก เนื่องจากเหตุผลที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนความรักที่เก้ามีต่อเมฆยังไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะให้ผู้อ่านเชื่อว่า ความผูกพันในฐานะเพื่อนนานนับสิบปีที่เขามีต่อเมฆนั้นได้เปลี่ยนกลายไปความรักในอีกรูปแบบหนึ่งแล้วจริงๆ เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากการเปิดเรื่องในช่วง 4 ตอนแรกนั้นเป็นเพียงการบรรยายชีวิตประจำวันทั่วไปของตัวละครเป็นเหตุการณ์สั้นๆ อาทิ ตื่นนอน ไปเรียน ดื่มกาแฟ หรือกินโจ๊ก จนดูประหนึ่งว่าจะไม่ได้มีความสำคัญกับการพัฒนาเนื้อเรื่องและความสัมพันธ์ของตัวละครเท่าใดนัก ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่ขาดไปก็คือ การปูพื้นให้เห็นถึงระดับและความหมายของคำว่าเพื่อนสนิทที่เก้ามีต่อเมฆและเมฆมีต่อเก้าที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เองที่เห็นแก่นแกนสำคัญในการพัฒนาเรื่องราวความรักของคนทั้งคู่ต่อไป แต่เท่าที่บรรยายไว้ในขณะนี้ ยากที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าความผูกพันที่คนทั้งคู่มีต่อกันจะสามารถพัฒนาไปสู่ความรักได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกของเก้าที่มีต่อเมฆ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า หาก Nopoxa ปรับเนื้อหาในช่วงเปิดเรื่องใหม่ซึ่งอาจจะยังคงเล่าถึงวิถีชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปของเก้าและเมฆอยู่ก็ได้ แต่เน้นการบรรยายความรู้สึกในเชิงลึกของตัวละครทั้งสองให้มากขึ้น ก็จะเสริมต่อให้กับการพัฒนาการของความสัมพันธ์ที่วางไว้แล้วในช่วงต่อๆ ไปได้ดีขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างให้เห็นพัฒนาทางอารมณ์และเข้าใจความรู้สึกของตัวละครเท่านั้น แต่ยังจะช่วยสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างผู้อ่านกับตัวละครให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
ข้อด้อยอีกประการหนึ่งที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในนวนิยายเรื่องนี้คือ คำผิด จึงเสนอว่า Nopoxaควรจะต้องใส่ใจกับความถูกต้องของการสะกดคำให้มากขึ้น หากไม่แน่ใจว่าเขียนอย่างไรจำเป็นต้องตรวจสอบจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไปพร้อมกันด้วย สำหรับคำผิดที่พบเกิดมาจากหลายสาเหตุ กล่าวคือ 1) ไม่ทราบว่าคำที่ถูกต้องสะกดอย่างไร เช่น บันใด บันได ต่างๆ นานา เขียนเป็นต่างๆ นาๆ เบียร์ เขียนเป็น เบีย หาวหวอดๆ เขียนเป็นหาววอดๆ พึมพำ เขียนเป็นพึมพรำ ฮืมเขียนเป็นหืม เอาซี่/ เอาสิ / เอาซิ เขียนเป็นเอาสิ่ นิ่ง เขียนเป็นหนิ่ง ไหน เขียนเป็น ใหน เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย ลำบาก เขียนเป็น รำบาก ตะกร้า เขียนเป็น ตะกล้า หาย เขียนเป็น ฉาย ปลิดทิ้ง เขียนเป็น ปริทิ้ง กระเป๋า เขียนเป็น ประเป๋า ของ เขียนเป็น ขอ พิเรนทร์เขียนเป็น พิเรน อุส่าเขียนเป็น อุตส่าห์ เช็ด เขียนเป็นเช้ดขีดฆ่าข้อความ เขียนเป็นขีดคร่าข้อความ ปะติดปะต่อ เขียนเป็น ประติดประต่อ คุกรุ่นเขียนเป็นครุกรุ่นสังเกต เขียนเป็น สังเกตุเครดิต เขียนเป็น เครดิด ฉิบหาย เขียนเป็น ชิบหาย อาละวาด เขียนเป็น อาลวาด กระทั่ง เขียนเป็น กระทัก ทุเลา เขียนเป็น ทุเรา รถจักรยาน เขียนเป็น รกจักร์ยาย เกียรติ เขียนเป็น เกียรต เสื้อเชิร์ต เขียนเป็น เสื้อเชิ้ต และ สัมภาระ เขียนเป็น สัมพาระ2) ใช้คำพ้องเสียงผิดเช่น ลม เขียนเป็น รม (ลมหมายถึง ธาตุอย่างหนึ่งในร่างกาย, อากาศที่เคลื่อนที่ แต่ รมหมายถึง การอบด้วยความร้อนหรือควันไฟ) คลองถมเขียนเป็น ครองถม (คลอง หมายถึง ทางน้ำหรือลำน้ำที่เกิดขึ้นเองหรือขุดเชื่อมกับแม่น้ำหรือทะล แต่ครอง หมายถึง ปกครองรักษาด้วยความเป็นใหญ่, ดำรงไว้, รักษาไว้)วันพุธ เขียนเป็น วันพุทธ (พุธ หมายถึง ชื่อวันที่ 4 ของสัปดาห์ แต่พุทธ หมายถึง ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน) เกียจคร้านเขียนเป็น เกลียดคร้าน (เกียจหมายถึง คด, ไม่ซื่อ, โกง, คร้าน แต่เกลียด หมายถึง ชัง, ไม่ชอบจนรู้สึก ) หน้าตาเขียนเป็น น่าตา(หน้า หมายถึง ส่วนของศีรษะตั้งแต่หน้าผากจรดคาง แต่ น่า หมายถึง คำที่ประกอบหน้ากริยาหมายถึง ควร, ชวนให้, ทำให้)และ อิดโรย เขียนเป็น อิฐโรย (อิด หมายถึง โรงแรง, อ่อนกำลัง, อ่อนแรง แต่ อิฐ หมายถึง ดินเผาที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้ก่อตึกและกำแพงเป็นต้น) 3) ความสับสนในการใช้วรรณยุกต์ เช่น เล้ยเขียนเป็น เล๊ยอะรั้ยเขียนเป็น อะไร๊ ฮะ เขียนเป็นห๊ะฮ้าวเขียนเป็นห๊าวอ้าวเขียนเป็น อ่าว เว้ยเขียนเป็น เว่ยถอยห่างเขียนเป็น ถอยหางเหมือนเขียนเป็น เหมื่อน สักครู่เขียนเป็น สักครู ที่แล้วเขียนเป็นทีแล้วและบ่อยเขียนเป็น บอยอย่างไรก็ดี ในเรื่องของการการใช้วรรณยุกต์มีกฎช่วยจำง่ายๆ สำหรับการเขียนคำที่ใช้วรรณยุกต์ตรีและจัตวาได้ว่า มีเฉพาะตัวอักษรกลาง 9 ตัวเท่านั้นที่ใช้ได้ คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ หากเป็นพยัญชนะตัวอื่นที่นอกเหนือ 9 ตัวนี้ห้ามใช้กับวรรณยุกต์ตรีและจัตวาโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ยังมีคำบางคำที่เขียน 2 แบบด้วย เช่น แพร / แพร์ ซึ่ง Nopoxa อาจจะต้องเลือกว่าจะเขียนแบบหนึ่งแบบไปเลย เพื่อจะไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนได้
     
 
ใครแต่ง : ArtaniA
22 ก.ย. 58
80 %
8 Votes  
#6 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 4 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 23 มี.ค. 58
Lucky Curse อภินิหารคำสาปอลเวง!!


Lucky Curse อภินิหารคำสาปอลเวง!! ผลงานของ Artani A เป็นนวนิยายแฟนตาซี ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 10 แล้ว เรื่องราวต่างๆ ในเรื่องเกิดขึ้นจากแผนการของภูตวิสกี้ที่ต้องการคัดเลือกมนุษย์ 5 คน มาช่วยปรับสมดุลและสร้างความแข็งแกร่งให้กับวิหารเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่พำนักของเทพเจ้า ภูตวิสกี้จะส่งภูตไปคุ้มครองมนุษย์ที่ได้รับเลือกขณะที่เดินทางมายังวิหารแห่งนี้ หนึ่งในมนุษย์ที่ถูกคัดเลือกคือ วิซตา เพทอส บุตรสาวของเทวทูตเพทอส มนุษย์ที่ถูกคัดเลือกให้มาเป็นเทวทูตประจำวิหาร เพื่อทำหน้าที่ฟังเรื่องราวของภูตที่ถูกมนุษย์รังแกอยู่เป็นประจำ ซึ่งตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติต้องทำไปตลอดชีวิต และไม่สามารถออกจากวิหารได้ ดังนั้น ส่วนหนึ่งของแผนการของวิสกี้ในครั้งนี้ เพื่อให้เทวทูตพาทอสได้มีโอกาสพบวิซตา บุตรสาวที่เขาไม่ได้พบเธอมานานถึง 14 ปีแล้ว ในระหว่างการเดินทางมายังวิหารแห่งเทพเจ้านี้ เหล่ามนุษย์ที่ได้รับคัดเลือกต่างต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรประหลาดที่เหล่าภูตมอบให้กับมนุษย์ที่ตนคัดเลือก แต่มนุษย์กลับรู้สึกว่าตนได้รับคำสาปมากกว่าพร และพรดังกล่าวก็เป็นเหตุให้เกิดความอลเวงต่างๆ ขึ้นอยู่เสมอๆ จนทำให้มนุษย์กลุ่มนี้ต่างพยายามที่จะมุ่งหน้าไปยังวิหารแห่งเทพเพื่อลบล้างพรที่ตนได้รับ จึงน่าติดตามว่าพวกเขาจะทำได้สำเร็จหรือไม่ อย่างไร
ผู้วิจารณ์เคยอ่านนวนิยายเรื่องนี้ไปจนจบภาค 1 แล้วก่อนที่ Artani A จะนำมารีไรท์ใหม่ในครั้งนี้ ซึ่งเห็นว่าการ
รีไรท์ทำให้เรื่องราวที่นำเสนอกระชับขึ้นกว่าเดิมและสร้างเงื่อนไขที่ให้ตัวละครมนุษย์ต้องเดินทางไปยังวิหารศักดิ์สิทธิ์ได้หนักแน่นมากขึ้น ในช่วง 10 ตอนแรกที่โพสต์ไว้นี้นับว่าอยู่ในช่วงของการนำเรื่องและการเปิดตัวละครสำคัญในเรื่องให้ผู้อ่านรู้จักเท่านั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า Artani A สร้างตัวละครได้อย่างมีสีสันและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจ ทั้งตัวละครที่เป็นมนุษย์และภูติ จนสามารถกระตุ้นให้ผู้อ่านติดตามอ่านเพราะอยากทราบว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไรได้เป็นอย่างดี
Lucky Curse อภินิหารคำสาปอลเวง !! นับเป็นนิยายแฟนตาซีอีกเรื่องหนึ่งที่มีความซับซ้อน ซึ่งมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นนวนิยายขนาดยาวได้ เนื่องจากในเรื่องมี่ทั้งโครงเรื่องหลัก คือ แผนการของวิสกี้ ที่ดึงมนุษย์ทั้ง 5 คนให้เดินทางไปยังวิหารศักดิ์สิทธิ์เพื่อลบล้างพร (คำสาป) เหล่านี้ ขณะเดียวกันยังมีโครงเรื่องย่อย (sub-plot) อันเป็นเรื่องราวเฉพาะของตัวละครเอง รวมไปถึงภูตต่างๆ ที่มาสร้างสีสัน และความน่าติดตามให้กับเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ห่างเหินระหว่างวิซตากับพ่อ หรือความแค้นระหว่างวิซต้ากับนักกวีพเนจรทั้งเจ็ด รวมไปถึงที่มาที่ไปของเอลดริซ เอนเซนเทีย เด็กหนุ่มกำพร้าแห่งเคโอทอร์ และเรื่องราวความรักระหว่างภูตวิสต้าที่หลงรักวิซตา มนุษย์ที่ตนเองให้พร ทั้งนี้มีแนวโน้มว่า โครงเรื่องย่อยๆ เหล่านี้จะมีเพิ่มขึ้นเมื่อ Artani A เปิดตัวละครหลักใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่า โครงเรื่องย่อยที่สร้างขึ้นนั้นช่วยทำให้เรื่องมีมิติและน่าติดตามมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยสนับสนุนโครงเรื่องหลักให้หนักแน่นมากขึ้น
ความสนุกและน่าสนใจประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้คือ พรที่ภูตมอบให้เหล่ามนุษย์ โดย Artani A นำจุดเด่นของมนุษย์แต่ละคนมาเป็นเงื่อนไขในการให้พรอันแปลกประหลาดและได้กลายเป็นเหตุให้เกิดความอลเวงต่างๆ ขึ้นกับชีวิตพวกเขาและคนรอบข้าง อาทิ เอลดริช ชายหนุ่มที่กินจุผิดมนุษย์ จนต้องหาเงินเป็นจำนวนมาเพื่อซื้ออาหาร มิเรน่าภูตของเขาก็ให้พรเขาว่าไม่ต้องกินอะไรอีกเลย เพื่อเขาจะได้เหลือเงินเยอะๆ หรือ วิซต้า กลัวผีมาก ภูตวิสกี้ให้พรเธอให้เห็นวิญญาณต่างๆ เพื่อสร้างความกล้าหาญให้กับเธอ หรือ วายวินด์ กลัวจูเดียร์ เทซูรา เหนื่อยจากการพูดมากของเธอ จึงให้พรให้เธอพูดได้แค่วันละ 100 พยางค์ หลังจากนั้นให้ซาพีค นกสีฟ้าพูดแทนเธอ และ วัลการ์ มิสเทริค มือสังหารรับจ้าง ได้รับพรจากภูตไลท์ให้ทำความดีละเว้นความชั่ว หากไม่ทำตามจะถูกเวทมนตร์ของภูติไลท์ทรมาน
Artani A ไม่มีปัญหาในการสร้างบทสนทนาของตัวละครต่างๆ ที่สามารถสร้างได้อย่างเป็นธรรมชาติและเหมาะสมกับตัวละครแต่ละตัว ขณะที่บทบรรยายก็ช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพตัวละคร ฉาก ได้เป็นอย่างดี อันรวมถึงการบรรยายฉากการต่อสู้ที่ถือว่าเป็นฉากสำคัญที่มักปรากฏอยู่เป็นระยะๆ โดยตลอดเรื่อง ซึ่ง Artani A บรรยายได้อย่างสั้น กระชับ และมีสีสัน อันช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและสร้างภาพการต่อสู้ อันรวมถึงการใช้พลังที่แตกต่างกันของตัวละครได้ชัดเจนขึ้น แม้ว่า Artani A จะรีไรท์ใหม่และใส่ใจในเรื่องความถูกต้องการภาษาเขียนแล้วก็ตาม แต่ยังพบว่าในเรื่องยังมีคำที่สะกดผิดหลงเหลืออยู่ อาทิ ร่ำลา เขียนเป็น ล่ำลา กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา เฟ้ย เขียนเป็น เฟ่ย อันตรธาน เขียนเป็น อันตรทาน อัฒจันทร์ เขียนเป็น อัฒจันทน์ ผลข้างเคียง เขียนเป็น ผลค้างเคียง นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนอีก 2 ประการที่พบ ประการแรก คือ การใช้คำว่า “นักกวี” โดยปกติคำว่า “นัก” มักจะใช้ประกอบคำกริยา เพื่อสร้างให้คำกริยานั้นเป็นคำนาม เช่น นักเขียน นักเรียน นักร้อง นักบวช แต่คำว่า “กวี” ในที่นี้ ไม่ได้เป็นคำกริยา แต่เป็นคำนามซึ่งหมายถึงผู้แต่งบทกวีอยู่แล้ว จึงเห็นว่าควรใช้คำว่า “กวี” แทนคำว่า “นักกวี” ประการที่สอง คือ พบว่ามีชื่อตัวละครตัวเดียวกัน แต่มีวิธีเขียนสองอย่างคือ เฮิร์ต และ เฮิร์ส จึงเห็นว่า Artani A ควรจะเลือกวิธีเขียนอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย เพื่อไม่สร้างความสับสนให้ผู้อ่าน อย่างไรก็ดี หากมีการแก้ไขคำผิดเหล่านี้ก็จะช่วยให้นิยายเรื่องนี้ถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น

     
 
ชื่อเรื่อง :  WildRose Court
3 เม.ย. 67
300 %
17 Votes  
#7 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 13 พ.ย. 57
WildRose Court (คฤหาสน์กุหลาบป่า)
นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง WildRose Court (คฤหาสน์กุหลาบป่า) ของ gin / จิณัฐ (โพสต์ถึงตอนที่ 11) เป็นเรื่องราวของ อลิซ โรส สาวน้อยเจ้าของสวนแอปเปิ้ล ที่กลายเป็นหมากตัวสำคัญในแผนการของโรธอส ตุลาการหนุ่มเจ้าของคฤหาสน์กุหลาบป่า ที่ได้ชื่อว่าเป็นสวนกุหลาบที่สวยที่สุดในเดอ เฟลอร์ ที่จะบ่มเพาะให้อลิซกลายเป็นกุหลาบเลอค่า โรธอสเริ่มต้นด้วยการยึดสวนแอปเปิ้ลและกักตัวแองเจลล่า พี่สาว ซึ่งเป็นญาติที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวของอลิซไว้ เขาลบความทรงจำของแอลเจลล่าและสร้างความทรงจำใหม่ให้แองเจลล่าคิดว่าเธอเป็นน้องสาวของเขา เมื่ออลิซตามมาพบแองเจลล่ากลับต้องทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส เพราะแอลเจลล่าไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเธอหลงเหลืออยู่เลย แต่อลิซยังคงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะต้องทวงทั้งพี่สาวและสวนแอปเปิ้ล ซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดในชีวิตของเธอกลับคืนมาจากโรธอสให้ได้
จุดเด่นของเรื่องนี่ประการหนึ่ง คือ gin / จิณัฐ สามารถนำชื่อดอกไม้ต่างๆ มาสร้างเป็นชื่อตระกูล และชื่อตัวละคร ขณะเดียวกันก็ยังนำลักษณะเด่นของดอกไม้มาสร้างเป็นรูปลักษณ์ สัญลักษณ์ หรือ บุคลิกของตัวละครเหล่านั้นด้วย จึงเห็นว่าผู้เขียนน่าจะมีความรู้หรือได้ศึกษาเกี่ยวกับดอกไม้เหล่านี้มาเป็นอย่างดี จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องได้อย่างลงตัวและน่าสนใจ จึงสามารถสร้างให้ WildRose Court (คฤหาสน์กุหลาบป่า) มิได้เป็นเพียงเรื่องราวของดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นราชินีดอกไม้เหนือดอกไม้อื่นเท่านั้น แต่ยังทำให้นวนิยายเรื่องนี้อบอวลไปด้วยมวลดอกไม้นานาชนิดไปพร้อมกันด้วย
การที่ gin / จิณัฐ ตั้งใจวางโครงเรื่อง WildRose Court (คฤหาสน์กุหลาบป่า) ไว้อย่างซับซ้อน ซึ่งมีทั้งโครงเรื่องหลัก (main plot) ที่เน้นเรื่องราวเงื่อนงำแห่งมวลดอกไม้แห่งเดอ เฟลอร์ โดยที่แกนกลางของเรื่องอยู่ที่การบ่มเพาะให้อลิซกลายเป็นกุหลาบเลอค่า และยังสร้างโครงเรื่องย่อย (sub-plot) ให้กับตัวละครเกือบทุกตัวที่ปรากฏในเรื่องขณะนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแผนการและตัวตนที่แท้จริงของโรธอส ความขัดแย้งระหว่างไวท์ แลคติฟลอร่า เพื่อนสนิทและผู้ร่วมงานของโรธอสกับคนในตระกูลของเขาเอง ความเป็นมาของมีเรอร์ จิตวิญญาณแห่งกระจก ปมขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างลีฟกับฟรองสองพี่น้องตระกูลแกลดิโอลัส ความสัมพันธ์ระหว่างแองเจลล่ากับฟรอง และลาเวนกับซิล หรือ ใครคือศัตรูที่โรธอสต้องระวัง และเป็นศัตรูกับเขาเรื่องใด การสร้างความซับซ้อนเช่นนี้ในทางหนึ่งนับเป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่อง เพราะมีประเด็น ความลับ และเงื่อนงำจำนวนมากให้ผู้อ่านอยากติดตาม แต่การโครงเรื่องย่อยจำนวนมากที่สร้างความซับซ้อนให้กับเรื่องก็อาจกลายเป็นข้อด้อยได้ด้วยเช่นกัน หากนักเขียนไม่สามารถควบคุมจังหวะเวลาในการเปิดโครงเรื่องใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาปมปัญหาของโครงเรื่องเหล่านั้นให้สนับสนุนและสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกับโครงเรื่องใหญ่ที่ต้องการนำเสนอได้
ผู้วิจารณ์เห็นว่า gin / จิณัฐ ยังไม่สามารถควบคุมจังหวะของการเปิดโครงเรื่อย่อยใหม่ๆ ได้ดีนัก เพราะ ในขณะที่ผู้อ่านยังไม่ได้รับการคลี่คลายใดๆ จากโครงเรื่องหลักของเรื่อง ที่เปิดด้วยปริศนาที่ว่าแผนการที่แท้จริงของโรธอสคืออะไร และอลิซมีความสำคัญกับการทำให้เขาบรรลุผลอย่างไร แต่ gin / จิณัฐ กลับระดมเปิดตัวละครที่มาพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก การเปิดตัวละครแต่ละตัวในที่นี้เหมือนกับเปิดโครงเรื่องย่อยเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เพราะ gin / จิณัฐ สร้างให้ตัวละครแต่ละตัวต่างมีเรื่องราว ความลับและปริศนาในชีวิตที่น่าติดตาม จึงเห็นว่าการเปิดเรื่องด้วยโครงเรื่องย่อยจำนวนมากในช่วงเวลาสั้นๆ เช่นนี้ส่งผลให้ 12 ตอนแรกของเรื่องเต็มไปด้วยคำถามและปัญหานานัปการที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ในการแก้ปัญหานี้เห็นว่า gin / จิณัฐ ควรจะต้องเว้นจังหวะระยะห่างของตัวละครให้มากกว่านี้ โดยอาจจะต้องพัฒนาโครงเรื่องของตัวละครแต่ละตัวไประยะหนึ่งก่อน แล้วจึงจะเปิดตัวละครและโครงเรื่องต่อไป การทำเช่นนี้จะช่วยลดความคลุมเครือของเรื่องลงได้ ขณะเดียวกันจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผลในการกระทำของตัวละครต่างๆ ซึ่งจะชวนให้ผู้อ่านสนุกที่จะติดตามเรื่องราวต่างๆ ของตัวละครมากยิ่งขึ้น
ข้อสงสัยอีกประการหนึ่ง คือ การที่โรธอสประกาศต่อสาธารณชนว่า แอลเจลล่าเป็นน้องสาวเขานั้น โดยคิดเพียงว่าถ้าทำให้แองเจลล่าสามารถจดจำเรื่องราวของตระกูลและคนใกล้ชิดได้ทั้งหมดแล้วจะสามารถปิดบังความลับนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น โรธอสและตระกูลของเขาเป็นคนดังของเมืองนี้ และอยู่ในเมืองนี้มานานมาก จึงยากที่จะเชื่อว่าคนใกล้ชิดเขา รวมทั้งคนอื่นๆ ในเมืองจะไม่ทราบว่าแท้ที่จริงแล้วเขาไม่เคยมีน้องสาวมาก่อน เช่นเดียวกันแองเจลล่าและตระกูลของเธอก็อยู่ในเมืองนี้มานานเช่นกัน จึงน่าจะมีคนทราบความเป็นมาของเธอบ้าง แม้ว่า gin / จิณัฐ จะให้เหตุผลว่าทั้งโรธอสและแองเจลล่าต่างเป็นคนเก็บตัวก็ตาม
gin / จิณัฐ มีความสามารถในการสร้างบทบรรยายและบทสนทนาที่ดี จึงสามารถที่จะสร้างทั้งเรื่องราวและตัวละครได้อย่างมีเอกลักษณ์และน่าติดตาม และยังเอาใจใส่ความถูกต้องของการสะกดคำอย่างมาก จนแทบจะไม่พบคำผิดเลย จึงทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างลื่นไหลและน่าอ่าน แต่เพื่อให้เรื่องถูกต้องสมบูรณ์มากขึ้น จึงอยากให้แก้ไขคำที่สะกดผิด 2 คำ คือ ฮะ / หา เขียนเป็น ห๊ะ และ ปะทะ เขียนเป็น ประทะ
     
 
ใครแต่ง : The Alisia ★
9 ส.ค. 57
80 %
13 Votes  
#8 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 30 ต.ค. 57
The Tarot of Arcena ฉีกตำนานไพทารอท นวนิยายแนวแฟนตาซี ของ Charming Alisia เป็นเรื่องราวการผจญภัยของเพรทเซล เด็กหนุ่มหน้าหวานที่มาจากโลกอื่น และเป็นเด็กในตำนานที่จะช่วยให้อาร์คาน่ากลับมาพบความสงบสุขอีกครั้ง เขาและเพื่อนร่วมทางอีก 4 คน ที่ช่วยกันตามหาและรวบรวมไพ่ทารอททั้ง 22 ใบ ซึ่งเพิ่งโพสต์ถึงตอนที่ 12
ในนวนิยายเรื่องนี้ Charming Alisia ไม่เพียงสร้างแก่นเรื่องทั้งหมดอยู่ที่การรวบรวมไพ่ แต่ยังสร้างเป็นเงื่อนไขกำกับไว้อีกครั้งตั้งแต่เปิดเรื่องว่า ความสงบสุขของอาร์คาน่าจะหวนคืนมาอีกครั้งเมื่อรวบรวมไพ่ทารอททั้ง 22 ใบได้สำเร็จ และบุคคลสำคัญที่ตำนานระบุคือเพรทเซลเด็กหนุ่มจากโลกอื่น ขณะเดียวกันเพรทเซลก็จะไม่ได้กลับบ้านจนกว่าจะรวบรวมไพ่ทั้งหมดได้ครบ เมื่อแก่นเรื่องเน้นที่ความสำคัญของไพ่ทารอท แต่ในช่วงแรกผู้เขียนกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับไพ่ จนทำให้ผู้อ่านไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับไพ่มากนัก อาทิ ไพ่มีความสำคัญต่อความสงบสุขของอาร์คาน่าอย่างไร วิธีการรวบรวมไพ่ หรือเหตุผลที่ไพ่บางใบจะปรากฏตัวกับคนบางคนเท่านั้น Charming Alisia น่าจะเพิ่มรายละเอียดในส่วนนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนและทำให้เรื่องมีความน่าติดตามมากขึ้น ซึ่งอาจไม่ต้องรอไปเฉลยพร้อมกันทั้งหมด หลังจากที่เดินทางไปถึงเกาะลึกลับและได้พบกับท่านเทเรียสก็ได้
แม้ว่า Charming Alisia จะสร้างข้อจำกัดของการรวบรวมไพ่ไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อความสงบสุขของอาร์คาน่า แต่เมื่ออ่านเรื่องมาจนถึงปัจจุบันกลับไปที่เพรทเซลและผองเพื่อนเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ก็พบว่าเกือบทั่วทั้งดินแดนอาร์คาเนียยังมีความสงบสุขอยู่ และประชาชนยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่พบว่าดินแดนในเกิดความสับสนวุ่นวายหรือเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับอาณาจักรแห่งนี้เลย อันเป็นเหตุเร่งด่วนที่จะต้องรีบออกค้นหาและรวบรวมไพ่ทารอทเหล่านี้เลย อาจจะเห็นแต่เพียงแนวโน้มของความวุ่นวายจากการเกริ่นเรื่องสงครามระหว่างเฟราเนียร์ที่ต้องการจะทำสงครามเพื่อยึดจามาลังเป็นของตนเท่านั้น และความป่วยไข้ของท่านเทเรียส ผู้ที่สั่งให้ปูโร่มังกรเพลิงตัวน้อยไปนำเพรทเซลมารวบรวมไพ่ยังดินแดนแห่งนี้เท่านั้นเอง
ในช่วงต้นแม้ว่าจะมีไพ่ 2 ใบปรากฏแล้วคือ the sun กับ the chariot แต่เรื่องราวส่วนใหญ่กลับไม่ได้เน้นไปที่การติดตามหาไพ่ซึ่งเป็นภารกิจหลักของเรื่อง เพราะ Charming Alisia มุ่งเน้นไปที่การเปิดตัวละครต่างๆ ที่จะเป็นเพื่อร่วมเดินทางกับ เพรทเซล ไม่ว่าจะเป็นกิลลาท ทายาทช่างตีดาบแห่งกลอรี่ฮิลล์ ที่ต้องออกตามหาแร่เรื่องแสงที่เกาะลึกลับเพื่อสร้างดาบที่ทรงอานุภาพที่สุดของอาร์คาน่าและสร้างชื่อเสียงให้กับตระกูลของตน มิลแลนด์ เจ้าชายผู้อ่อนแอแห่งเฟราเนียร์ ผู้หนีออกจากพระราชวังเพื่อเรียนรู้และเข้าใจความหมายที่แท้จริงของชีวิต เอสกร้า มิโนทอร์ ชายผู้คลั่งเลือดแห่งเอลกราโด้ โจรขี้เมาที่มีฝีมือในการต่อสู้ และอลาบาส บาทหลวงแห่งศาสนาโอเวียน จึงเห็นว่า Charming Alisia ควรจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างสองเรื่องนี้ให้ได้ เพราะขณะนี้ทั้งความสนุกสนานและความมีชีวิตชีวาของเหล่าเพื่อนพ้องของเพรทเซลอาจทำให้ทั้งผู้อ่านและเพรทเซลดูละลืมเลือนภารกิจสำคัญของตนไปแล้วว่า จะต้องรีบตามหาไพ่เพื่อที่จะได้เดินทางกลับไปยังโลกของตนได้โดยเร็ว แม้ว่า 1 ปีในโลกอาร์คาน่าเท่ากับเพียง 1 ชั่วโมงในโลกมนุษย์เท่านั้นก็ตาม
จุดเด่นของเรื่องอยู่ที่การสร้างตัวละครที่มีความแตกต่างกันทั้งบุคลิก ลักษณะ อุปนิสัย และความชอบส่วนตัวที่โดดเด่น เมื่อพวกเขาเหล่านั้นมารวมตัวกันแล้วก็ยิ่งช่วยสร้างสีสัน ความสนุกสนาน ความวุ่นวายต่างๆ ให้กับเรื่องราวได้มากขึ้น ซึ่งชวนให้ติดตามว่าการผจญภัยสุดป่วนของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และลงเอยแบบใด นอกจากนี้ Charming Alisia ยังเพิ่มมิติและความซับซ้อนให้กับเรื่องด้วยภูมิหลังและจุดมุ่งหมายในการเดินทางของตัวละครเหล่านี้ที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันบทบรรยายและบทสนทนาระหว่างตัวละครต่างๆ นับว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างความสนุกสนานให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายว่าอรรถรสและความสนุกเหล่านี้ถูกลดทอนลงด้วยคำผิดเป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่า Charming Alisia คงต้องให้ความสำคัญกับการสะกดคำอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งคำผิดที่พบ อาทิ บิดเบือน เขียนเป็น บิดเบือ ก่นด่า เขียนเป็น กร่นด่า กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา อ้าว เขียนเป็น อ่าว สัญญาณ เขียนเป็น สัญญาน เวท เขียนเป็น เวทย์ เฮอะ เขียนเป็น เห๊อะ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ ล็อค เขียนเป็น ล๊อค สนทนา เขียนเป็น สนธนา ประยุกต์ เขียนเป็น ประยุกษ์ เจตจำนง เขียนเป็น เจตจำนงค์ ศิวิไลซ์ เขียนเป็น ศิวิไล ตะเบ็ง เขียนเป็น ตะเบง ทรัพยากร เขียนเป็น ทรัพยากรณ์ กับดัก เขียนเป็น กัปดัก อานุภาพ เขียนเป็น อานุภาค ทุรกันดาร เขียนเป็น ทุรกันดาน อารยธรรม เขียนเป็น อารยะธรรม และ โคลงเคลง เขียนเป็น โครงเครง รวมทั้งยังมีคำที่ผิดบ่อยครั้งมาก คือ คำที่สะกดด้วยวรรณยุกต์ตรี เช่น มี้ เขียนเป็น มี๊ หร้อก เขียนเป็น หร๊อก มั้ย เขียนเป็น มั๊ย ซึ่งหลักง่ายๆ ในการเขียนคำที่สะกดด้วยวรรณยุกต์ตรี (และจัตวา) จะใช้กับตัวอักษร 9 ตังที่เป็นอักษรกลางเท่านั้น คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ นอกจากนี้ยังมีการใช้ลักษณนามผิด เช่น ก้อนเมฆก้อนใหญ่ เขียนเป็น ก้อนเมฆลูกใหญ่ และการเลือกใช้คำผิด เช่น ภาพวาด หรืองานจิตรกรรม ต้องใช้เป็นผลงานของจิตรกร ส่วน งานปั้น หรือประติมากรรม เป็นผลงานของประติมากร หาก Charming Alisia แก้ไขและปรับปรุงข้อผิดพลาดต่างๆ จะช่วยให้ผลงานถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น
     
 
ใครแต่ง : Blueblur
7 ก.พ. 58
100 %
1 Votes  
#9 REVIEW
 
เห็นด้วย
2
จาก 2 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 30 ต.ค. 57
นวนิยายแนวรักหวานแหววเรื่อง Bitterblossom : รักหวาน (ขม) ของต้นฤดูร้อน ของ The Moxen เรื่องราวความรักสามเส้าระหว่างหลิน หญิงสาวกำพร้าที่เพิ่งย้ายมาอยู่บ้านที่ได้รับเป็นมรดกจากคุณยาย เพราะอยู่ใกล้กับที่ทำงานมากกว่า กับเพื่อนบ้านชื่อริว ชายหนุ่มรูปหล่อเป็นเจ้าของร้านดอกไม้ ที่ชอบหาเรื่องมาทานข้าวที่บ้านเธอบ่อยๆ และ โจ เพื่อนร่วมงานสุดเท่ ที่เข้ามาสนิทสนมและหาเรื่องชวนหลินไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอๆ แต่เรื่องราวยิ่งวุ่นวายเข้าไปอีก เมื่อปอเพื่อนร่วมงานของริวแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าชอบเขา และยังมีทิพย์ประชาสัมพันธ์สาวที่บริษัทมาสารภาพกับหลินว่าแอบชอบโจมานานกว่า 2 ปีแล้ว เรื่องราวความรัก (ขมๆ) ที่เริ่มต้นเมื่อหลินย้ายบ้านใหม่ในช่วงต้นฤดูร้อนจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป ขณะที่โพสต์ถึงตอนที่ 16 แล้ว
Bitterblossom : รักหวาน (ขม) ของต้นฤดูร้อน นวนิยายแหวานแหววที่ไม่ได้มีเพียงแก่นเรื่องหลักอยู่ที่รักสามเส้าของคนสามคน คือ หลิน ริว และโจ แต่ The Moxen ยังเพิ่มความซับซ้อนของเรื่องด้วยโครงเรื่องย่อยของการมีหญิงสาวแสนดีที่หลินรู้จักมาแอบรักชายหนุ่มทั้งสองอีกด้วย ซึ่งหลินเองก็เป็นผู้ล่วงรู้ความในใจของทั้งปอและทิพย์เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเพิ่มให้ตัวละครชายที่เป็นที่หมายปองของหญิงสาวทั้งสองคนต่างมีความลับและความหลังในใจที่ยังไม่ได้เปิดเผยออกมาอีก จึงนับว่าเป็นการสร้างเรื่องราวได้อย่างมีมิติและน่าติดตาม แต่น่าเสียดายว่า The Moxen ยังขาดการพัฒนาโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยที่วางไว้อย่างน่าสนใจ เพราะตลอด 16 ตอนที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเรื่องจะดำเนินไปเรื่อยๆ ตามชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวันของหลิน ตั้งแต่ตื่นนอน ออกเดินทางไปทำงาน ทำงาน ทานอาหารกลางวัน เลิกงาน เดินทางกลับบ้าน และในช่วงวันหยุดก็อาจจะมีกิจกรรมพิเศษบางอย่าง จึงทำให้เรื่องดูจะขาดจุดเน้นที่จะดึงดูดความสนใจผู้อ่านให้ติดตามอ่านเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่าการเล่ารายละเอียดบางอย่างในชีวิตของหลินหากไม่สำคัญไม่ต้องอธิบายหรือบรรยายมากนักก็ได้ เช่น ฉากที่อธิบายรสชาติอาหารญี่ปุ่นที่หลินไปทานกับโจ หรือ ฉากการทำความสะอาดบ้านและห้องครัวของหลินตอนย้ายบ้านมาใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า หาก The Moxen สร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องโดยนำมาปมปัญหาที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักสามเส้า การแอบรัก หรือ ความลับและความหลักของตัวละครต่างๆ นำมาสร้างเป็นเงื่อนไข และพัฒนาปมปัญหาเหล่านี้ให้ทวีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความรักที่ต้องเลือกของหลิน จากนั้นค่อยขมวดปมปัญหาให้พัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุดคือจุดที่หลินต้องเลือก ก่อนที่จะคลี่คลายเรื่องราวความรักครั้งนี้ในตอนจบเรื่อง ก็น่าจะทำให้เรื่องนี้มีปมเรื่องที่น่าสนใจและติดตามมากกว่าการตามดูชีวิตประจำวันของหลินไปเรื่อยๆ เช่นนี้
ข้อบกพร่องอีกประการหนึ่งคือ ความสมจริงของตัวละคร แม้ว่า The Moxen จะเน้นย้ำผู้อ่านให้ตระหนักอยู่เสมอว่าตัวละครทั้งหมดของเรื่องอยู่ในวัยทำงานแล้วก็ตาม แต่บุคลิก แนวคิด คำพูดและการกระทำของตัวละครส่วนใหญ่ดูคล้ายกับว่ายังเป็นนักเรียนในระดับมัธยมปลายหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้น จึงทำให้ผู้อ่านยากที่จะเชื่อว่าคนเหล่านั้นเรียนจบและทำงานแล้วจริงๆ ดังนั้น หาก The Moxen ยังจะยืนยันให้ตัวละครของตนเป็นคนที่ทำงานแล้วก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ตัวละครทั้งหมดมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ริวที่ยังมีความเป็นเด็กมากๆ จนไม่อาจจะเชื่อได้ว่าเขาเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบทั้งตัวเอง ซึ่งอยู่บ้านตามลำพังคนเดียว และดูแลธุรกิจร้านดอกไม้ของตนเองมาหลายปีแล้ว
อย่างไรก็ตามยังพบว่า The Moxen ไม่มีปัญหาในเรื่องสร้างบทบรรยายและบทสนทนา ที่ช่วยสร้างให้เห็นบุคลิก ลักษณะ อุปนิสัยต่างๆ ของตัวละครได้เป็นอย่างดี รวมทั้งบทบรรยายความในใจของตัวละครด้วย แต่สิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วนคือการสะกดคำ เนื่องจากพบคำผิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ คือ 1) การสะกดคำผิด อาทิ เน็ต เขียนเป็น เนต พึมพำ เขียนเป็น พืมพำ ปรากฏ เขียนเป็น ปรากฎ น็อค เขียนเป็น น๊อค เว็บไซต์ เขียนเป็น เว็บไซด์ เหลือบ เขียนเป็น เลือบ สารคดี เขียนเป็น สาระคดี เปล่า เขียนเป็น ป่าว สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ ปะติดปะต่อ เขียนเป็น ประติดประต่อ ขวักไขว่ เขียนเป็น ขวักไกว่ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา เปิ่น เขียนเป็น เปิ่ม หยักหน้า เขียนเป็น หงักหน้า ล็อต เขียนเป็น ล๊อต เขียวแป๊ดๆ เขียนเป็น เขียวแป็ดๆ ผลัดกัน เขียนเป็น ผลักกัน เคหสถาน เขียนเป็น เคหะฐาน เซ็ง เขียนเป็น เซง สถานการณ์ เขียนเป็น สถานการน์ จนกระทั่ง เขียนเป็น จำกระทั่ง เหรอ / หรือ เขียนเป็น หรอ เฟอร์นิเจอร์ เขียนเป็น ฟอร์นิเจอร์ ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพันธ์ คะยั้นคะยอ เขียนเป็น ขยังขยอ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ และ สัญญาณ เขียนเป็น สัญญาน 2) การใช้วรรณยุกต์ผิด เช่น นี่นา เขียนเป็น นินา ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ หว้าย เขียนเป็น หว๊าย มั้ย เขียนเป็น ไม๊ย ม้า เขียนเป็น ม๊า นี่ เขียนเป็น นี้ นี่นา เขียนเป็น นี้หน่า ว้าย เขียนเป็น ว๊าย หนอย เขียนเป็น หน๊อย ย้าก เขียนเป็น ย๊าก มะ เขียนเป็น ม๊ะ เน้อ เขียนเป็น เน๊อ หนำใจ เขียนเป็น หน่ำใจ ดูคร่าวๆ หรือ ดูราวๆ เขียนเป็น ดูคราวๆ เดี๋ยว เขียนเป็น เดี้ยว วี้ดว้าย เขียนเป็น วี้ว๊าย มั้กๆ เขียนเป็น มั๊กๆ 3) การใช้คำผิดความหมาย เช่น ค้นขวายหา ควรเขียนว่า ค้นหา หรือ ขวนขวายหา กลั้นหัวเราะ เขียนเป็น ข่มหัวเราะ (ข่มมักใช้กับอารมณ์ เช่น ข่มความโกรธ) หรือประโยคที่ว่า “นอกไส้อื่น ยังมีไส้นี้อีกนะ” ควรเขียนว่า “นอกจากไส้นี้ ยังมีไส้อื่นอีกนะ” 4) การใช้ลักษณนามผิด เช่น ดาวเป็นล้านดวง เขียนเป็น ดาวเป็นล้านตัว จึงเห็นว่าต่อไป The Moxen ต้องให้ความสำคัญในประเด็นนี้มากขึ้น และวิธีที่ดีที่สุดคือตรวจสอบความถูกต้องจากพจนานุกรมอีกครั้ง
     
 
ใครแต่ง : THE RoundTable
1 มี.ค. 59
80 %
22 Votes  
#10 REVIEW
 
เห็นด้วย
2
จาก 2 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Blue Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 ต.ค. 57
Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์


นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์ ของ The Roundtable ซึ่งโพสต์ถึงตอนที่ 13 เป็นการเล่าถึงตำนานของยักษ์หนุ่มตนหนึ่งที่ชื่อ โฮชิโนะ ชิน ผู้มีชะตากรรมซับซ้อนและกุมความลับสำคัญๆ จนเป็นที่หมายปองของคนจำนวนมากที่ต้องการให้เขาไขความลับนั้นออกมา แต่วันหนึ่งเขาได้ทำสัญญากับวิญญาณนักรบทั้ง 6 เพื่อให้ได้ครอบครองบัลลังก์แห่งราชันย์ ซึ่งเขามีเวลาในการปฏิบัติพันธกิจที่สัญญาให้สำเร็จอย่างจำกัดเพียง 12 เดือนเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเขาจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในครั้งนี้ด้วยชีวิตของตนเอง
Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์ นับเป็นนวนิยายที่มีโครงเรื่องซับซ้อน เพราะนอกจากจะมีโครงเรื่องหลัก (main plot) คือการปฏิบัติพันธกิจของ โฮชิโนะ ชิน ที่สัญญาไว้กับวิญญาณนักรบทั้ง 6 ให้สำเร็จในเวลาอันจำกัดแล้ว The Roundtable ยังสร้างโครงเรื่องย่อย (sub plot) ขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ 13 ตอน ก็มีโครงเรื่องย่อยนับสิบโครงเรื่อง อาทิ (1) กรรมผูกพันของชินที่ต้องตามหาคน 3 คน คือ คู่กรรม คู่แท้ และ คู่ลิขิต (2) หน้าที่ของเทพเจ้าธอร์ที่ต้องตามหาดวงวิญญาณ 108 ดวงที่หนีมาจากวัลฮัลลาให้พบและนำกลับไป (3) ความรักความแค้นระหว่างฌ้อปาอ๋องเซี่ยงหวี หยูจีน (หรือ ชิน ในชาติปัจจุบัน) กับ หลิวปัง (หรือ จีเฟ่น ในชาติปัจจุบัน) (4) พันธกิจที่ฌ้อปาอ๋องเซี่ยงหวีตั้งใจจะทำให้ชินจำได้ว่าตัวเขาเองคือหยูจีภายใน 12 เดือน (5) ชะตาชีวิต ความผูกพัน และความลับระหว่างชินกับฌาน (6) ความบังเอิญที่คนจากนอร์สหลายกลุ่มมาหาชิน เพราะอยากทราบเบาะแสของฌาน ไม่ว่าจะเป็น ธอร์ ยอร์มุนกานดร์ เฮลา และ วิญญาณนักรบ (7) เฮลากับการตามหาฌานเพื่อปลดปล่อยเธอจากพันธนาการแห่งโอดิน และปลดปล่อยโลกนี้จากลิขิตฟ้า (8) แผนการเบื้องหลังของเซิร์ทและโลกิในการจ้างวิญญาณนักรบให้ตามหาฌาน (9) ชินกับพันธกิจที่ต้องกระทำตามต้นตระกูลยักษ์ของตนที่ต้องสาปมนุษย์ในเมืองอากาเนะ ที่ต้องฆ่าชาวอากาเนะเพื่อล้างแค้นให้กับบรรพบุรุษ แต่ขณะเดียวกันเขากลับเป็นคนที่ชาวเมืองอากาเนะยกให้เป็นเจ้าเมือง เพราะเขาสาบานว่าจะปกป้องเมืองนี้และปกป้องมนุษย์ในเมืองนี้ด้วย (10) ชินต้องตามหานักดนตรีจากตระกูลหลักของเมืองทั้ง 4 ตนเพื่อมาเล่นดนตรีเพื่อบูชาเทพเจ้าประจำเมืองภายใน 2 สัปดาห์ การสร้างโครงการย่อยปริมาณมากมากเช่นนี้ ในทางหนึ่งช่วยให้เนื้อหาของเรื่องมีความหลากหลายและน่าสนใจ แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อมีปริมาณมากเกินไปอาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของเรื่องได้ กล่าวคือโครงเรื่องย่อยเหล่านี้ถูกลดทอดความของโครงเรื่องหลักที่ผู้เขียนต้องการสื่ออย่างน่าเสียดาย ขณะเดียวกันยังขัดจังหวะให้การดำเนินโครงเรื่องหลักสะดุดเป็นระยะๆ จนบางครั้งดูเหมือนว่าโครงเรื่องหลักดังกล่าวแทบจะไม่จะเดินเลยก็ตาม ขณะเดียวกันก็น่าเป็นห่วงว่า The Roundtable จะร้อยเรียงประเด็นที่นำเสนอในโครงเรื่องย่อยๆ ที่เปิดไว้จำนวนมากทั้งหมดเข้ากับโครงเรื่องหลักได้อย่างแนบสนิทได้อย่างไร จึงเห็นว่าวิธีแก้ง่ายๆ คือ The Roundtable อาจจะต้องเลือกตัดโครงเรื่องย่อยบางเรื่องที่ยังไม่สำคัญกับโครงเรื่องหลักออกไปเสียบ้าง หรือถ้าคิดว่าทุกโครงเรื่องย่อยที่นำเสนอสำคัญกับนวนิยายเรื่องนี้ ก็คงต้องทิ้งระยะการเปิดโครงเรื่องย่อยแต่ละเรื่องไม่ให้กระชั้นและถี่เช่นนี้ และอาจจะต้องค่อยๆ ปิดประเด็นที่เปิดในโครงเรื่องย่อยลงบ้าง ก่อนที่จะเปิดโครงเรื่องย่อยใหม่ๆ ขึ้นมา
ในประเด็นนี้ก็เช่นกัน ผู้วิจารณ์เห็นว่า The Roundtable เปิดโครงเรื่องหลักหลายๆ เรื่องในเวลาใกล้ๆ กันมากเกินไป ในขณะที่โครงการเรื่องหลักยังดำเนินไปน้อยและไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้ผู้อ่านจดจำได้ เมื่อถูกโครงเรื่องย่อยที่สนุกสนานและหลากหลายมาแทรกอยู่เป็นระยะๆ อาจทำให้ผู้อ่านลืมโครงการเรื่องที่นวนิยายเรื่องนี้ต้องการเสนอได้ไม่ยากนัก แม้ว่าโครงเรื่องย่อยทั้งหมดที่ The Roundtable สร้างขึ้นส่วนใหญ่นั้นเพื่ออธิบายขยายความเรื่องราวและความเป็นไปในชีวิตของโฮชิโนะ ชินก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า The Roundtable อาจจะต้องทบทวนและวางแผนเพื่อสร้างสมดุลของจังหวะในการดำเนินเรื่องระหว่างโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยอีกครั้งก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิดความกลมกลืนได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อีกประการหนึ่งคือ การสร้างเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า (metafiction) กล่าวคือ ขณะที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้ ผู้อ่านไม่ได้อ่านกังอ่านเรื่องของ ฮิชิโนะ ชิน โดยตรง แต่กำลังอ่านเรื่องเล่าของชายคนหนึ่งที่เล่าเรื่องของ ฮิชิโนะ ชิน ให้เด็กกลุ่มหนึ่งฟัง แม้ว่าในตอนเปิดเรื่อง The Roundtable กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจน เมื่ออ่านๆ ไป ผู้อ่านมักจะลืมไปว่ากำลังอ่านเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าอยู่ อาจจะด้วยด้วยความเนียนของการเล่าเรื่อง แต่ The Roundtable ก็จะกระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านตระหนักในประเด็นนี้อยู่เป็นระยะๆ อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์เห็นว่า The Roundtable ยังใช้เทคนิคสร้างเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากนักเขียนส่วนใหญ่ที่เลือกใช้กลวิธีนี้ในการแต่งเรื่องเพื่อสร้างระยะห่างระหว่างผู้อ่านกับเรื่องที่อ่านให้มากขึ้น ซึ่งผู้อ่านต้องตระหนักรู้ถึงระยะห่างที่ว่านี้อยู่ตลอดเวลาที่อ่าน หรือบางครั้งก็จะนำมาเพื่อใช้เป็นการสร้างมุมมองใหม่ของการเล่าเรื่อง เช่นอาจจะให้ตัวละครในเรื่องวิพากษ์การเขียนของนักเขียนซ้อนในเรื่องที่เล่าอีกครั้งหนึ่ง แต่ในเรื่องนี้ผู้อ่านกลับรู้สึกว่าอ่านเรื่องเล่าปกติ โดยมักจะไม่ค่อยตระหนักว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า หาก The Roundtable ไม่คอยกระตุ้นเตือนเป็นระยะๆ ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าของนวนิยายเรื่องนี้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ชื่อเรื่องที่ The Roundtable จงใจให้ชื่อว่า Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์ เพราะคำว่า “Tale of Eventide” หมายถึง เรื่องเล่ายามพลบค่ำ หรือถ้าเป็นเรื่องที่เล่าให้เด็กๆ ฟังดังในเรื่องนี้ ก็อาจจะนับว่าเป็นนิทานก็นอนได้ ส่วนวลีที่ว่า “พันธนาอัตตานิรันดร์” ในที่นี้มีความหมายถึง โฮชิโนะ ชิน เพราะชีวิตของเขาจึงไม่ต่างจากการถูก “พันธนาการตัวตน (หรืออัตตา) ชั่วนิรันดร์” ที่ต้องประสบชะตากรรมมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ที่ชีวิตของเขาถูกพันธนาการติดกับฌาน คนที่เขาต้องอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อปกป้อง ในฐานะผู้พิทักษ์แห่งฌาน ซึ่งเขามิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของชื่อเรื่อง Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์ ก็คือ เรื่องเล่าตอนพลบค่ำที่เกี่ยวกับ ฮิชิโนะ ชิน นั่นเอง
โทนของเรื่องเมื่อ The Roundtable เปิดเรื่องด้วยบทสรุปในชีวิตของ ฮิโรเนะ ชิน ที่นำเสนอด้วยโทนที่หม่นเศร้า เป็นชีวิตของชายหนุ่มที่น่าสงสารต้องพบกับความผิดหวังและความเจ็บช้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ผู้อ่านทำใจที่จะยอมรับว่าเมื่อเปิดอ่านเรื่องต่อๆ ไปจะพบชีวิตที่แสนรันทดของหนุ่มน้อยคนนี้ แต่ The Roundtable กลับพลิกโทนเรื่องทั้งหมดจากเรื่องที่หม่นเศร้ากลายเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และความสนุกสนาน แม้ว่าจะมีบางฉากบางตอนที่แทรกความโศกเศร้าไว้ด้วย แต่ก็นับเป็นส่วนน้อยของเรื่อง จนในตอนแรกผู้วิจารณ์เคยตั้งคำถามกลับตัวเองว่า
ฮิชิโนะ ชิน ในฉากเปิดเรื่อง กับฉากต่อๆ มาเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์คาดว่าเรื่องในช่วงต่อจากนี้อาจจะค่อยๆ ลดความสดใสและมีชีวิตชีวาของเขาลง ขณะเดียวกระแสเรื่องอาจจะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางไปสู่โทนหม่นเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้จบเรื่อง หาก The Roundtable ยังคงต้องการให้ ฮิชิโนะ ชิน ต้องประสบกับชะตากรรมดังที่สรุปจุดจบไว้แล้วตั้งแต่ต้น
การสร้างบทบรรยาย บทสนทนา รวมทั้งการสร้างตัวละครในเรื่องโดยรวม นับว่า The Roundtable ทำได้เป็นอย่างดี เพราะทั้งบทบรรยายและบทสนทนาไม่เพียงแต่ช่วยสร้างให้ตัวละครมีชีวิตชีวา มีความโดนเด่น น่าจดจำเท่านั้น แต่ยังสร้างให้เรื่องราวมีความน่าสนใจและน่าอ่านด้วยภาษาที่ถักทอเรียงร้อยต่อกันอย่างลื่นไหล หากจะมีสะดุดบ้างก็เพราะมีคำผิดแทรกอยู่ประปราย อาทิ สาธารณชน เขียนเป็น สาธารณะชน กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพันธ์ หยักศก เขียนเป็น หยักโศก กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน อุปโลกน์ เขียนเป็น อุปโลก เวท เขียนเป็น เวทย์ สวิตซ์ เขียนเป็น สวิตร์ กลยุทธ์ เขียนเป็น กลยุทธิ์ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ ทัศนียภาพ เขียนเป็น ทรรศนียภาพ และ กังวาน เขียนเป็น กังวาล นอกจากนี้ยังมีการเลือกใช้คำพ้องเสียงผิด คือ ต้องเพิ่งแม่นี่ (เพิ่ง หมายถึง ดำเนินกิริยานั้นไปไม่นาน เช่น เพิ่งจบ เพิ่งนอน) แต่ประโยคที่ถูกต้องคือ ต้องพึ่งแม่นี่ (พึ่ง หมายถึง อาศัย พึ่งพิง)
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12