หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ใครแต่ง : Winterlake
1 ม.ค. 57
100 %
6 Votes  
#91 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
วิจารณ์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 21 พ.ย. 56
นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง AelZen ปริศนา มายาภูติ ของ Winterlake เรื่องนี้น่าจะเป็นนวนิยายขนาดยาวอีกเรื่องหนึ่ง เพราะขณะนี้เพิ่งโพสต์ถึงบทที่ 11 เท่านั้นเอง เป็นเรื่องราวของเฟอร์ริก เด็กหนุ่มผู้ถูกเลือกและต้องใช้ชีวิตของตนเป็นผู้แบกรับชะตากรรมซึ่งผูกพันอย่างใกล้กับซิลไคล์น ราชาภูติแห่งความมืดที่รอคอยมากว่าห้าพันปีเพื่อที่จะทำลายกำแพงมายาลง ขณะเดียวกันก็มีไวเวิร์กเพื่อนสนิทของเฟอร์ริกเป็นผู้ติดตามและจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นไว้
นวนิยายเรื่องนี้อยู่ในช่วงเปิดเรื่องเท่านั้น จึงเป็นแค่เพียงการปูให้ผู้อ่านทราบถึงประวัติความเป็นมาของตัวละคร 3 ตัวหลัก นั่นคือ เฟอร์ริก ไวเวิร์น และ ซิลไคล์น ซึ่งในขณะนี้เน้นที่เฟอร์ริกเป็นหลัก นับว่า Winterlake เปิดเรื่องได้น่าสนใจ และกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจที่จะติดตามเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นกับตัวละครกลุ่มนี้ต่อไป
นวนิยายเรื่องนี้ที่ยังคงอยู่ในช่วงเปิดเรื่องอยู่นั้น ความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องจึงมีเพียงข้อสังเกต 2-3 ประการที่พบเท่านั้น ประเด็นแรก คือ ยังไม่พบการนำเสนอโครงเรื่องหลัก (main plot) และแก่นเรื่องหลัก (theme) ว่านวนิยายเรื่องนี้ต้องการจะนำเสนอสิ่งใด และอะไรคือแก่นของเรื่องอย่างแท้จริง เพราะการนำเสนอเรื่องมาจนถึงขณะนี้ (11 บท) เรื่องเน้นไปที่เฟอร์ริกเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ควรจะเป็นผู้ดำเนินเรื่องหลักก็คือ ซิลไคล์น เพราะซิลไคล์นดูจะเป็นผู้กุมความลับทั้งหมดในเรื่องไว้ด้วยตนเอง และเป็นผู้กำหนดและวางแผนทั้งหมดว่าใครควรทำอะไร ขณะเดียวกันยังเป็นผู้ออกคำสั่งให้ทั้งเฟอร์ริกและไวเวิร์นทำตามความต้องการของตนเป็นหลักด้วย แต่ในเรื่องก็ยังไม่เปิดเผยว่าการที่ซิลไคล์นกลับมาและเลือกเฟอร์ริก เพราะเฟอร์ริกเป็นผู้ปลดปล่อยเขาออกมาก่อนเวลาอันควรนั้น มีวัตถุประสงค์หรือมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่อันใดที่ต้องกระทำ
ด้วยเหตุนี้ การดำเนินเรื่องจึงดูเหมือนจะเป็นการเล่าไปเรื่อยๆ โดยขาดจุดเน้นที่จะให้ผู้อ่านร่วมคาดเดาไปด้วยว่าเรื่องราวจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป แม้ว่าผู้เขียนจะเปิดปริศนาหรือปมต่างๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ที่บอกไว้อย่างชัดเจนว่า เฟอร์ริกจะเป็นผู้ปิดตำนาน และไวเวิร์กจะเป็นผู้จดบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ แต่ตลอดมาผู้เขียนก็ยังไม่เฉลยว่าตำนานที่ว่านั้นคืออะไร แต่ผู้อ่านพอจะคาดเดาได้แต่เพียงว่าตำนานที่เกิดขึ้นจะต้องเกี่ยวกับกับซิลไคล์นอย่างแน่นอนเท่านั้น
ประการต่อมาพบว่า นวนิยายเรื่องนี้ยังคงเดินตามสูตรสำเร็จของนวนิยายแนว
แฟนตาซีแนวโรงเรียนอยู่ เพราะว่ายังเน้นให้โรงเรียนเวทมนต์เป็นฉากหลักสำคัญของเรื่อง และให้ทั้ง
เฟอร์ริกและไวเวิร์กเป็นอดีตศิษย์เก่าและกลายมาเป็นครูใหม่ของโรงเรียนแห่งนี้ด้วย ทั้งๆ ที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็มิได้ให้ความสำคัญกับทั้งการเรียนหรือแม้แต่การสอนของคนทั้งคู่เท่าไรนัก แม้ว่าผู้เขียนจะบอกใบ้ไว้เป็นนัยถึงความสำคัญของว่าปราสาทเอลเซน ซึ่งกลายเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กโต และป่าศักดิ์สิทธิ์บริเวณโรงเรียนมีความสำคัญก็ตาม แต่ในเรื่องก็ยังไม่เน้นให้เห็นความสำคัญของสถานที่ทั้งสองแห่งในโรงเรียนนี้เท่าใดนัก แต่ฉากสำคัญของเรื่องกลับอยู่นอกบริเวณโรงเรียนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากที่บ้านของเฟอร์ริก มักจะเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทั้งในชีวิตของเฟอร์ริก ซิลไคล์ และของนวนิยายเรืองนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การตามล่าแก้วผลึกแห่งจิตวิญญาณในตัวของฟริน น้องชายของเฟอร์ริกก็เริ่มจากบ้านของเฟอร์ริกก่อน และค่อยจบลงที่ถนนละแวกบ้าน หรือการที่เฟอร์ริกกลายเป็นอมตะในวันเกิดครอบ 10 ขวบของฟริน เพราะต้องการช่วยชีวิตฟรินน้องชายเข้าไว้ ก็เกิดขึ้นที่บ้านอีกเช่นกัน จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับโรงเรียนมากนักก็ได้ ดังนั้น หากผู้เขียนยังคงยืนยันที่จะใช้โรงเรียนเป็นฉากสำคัญในเรื่องก็ควรจะต้องสร้างเรื่องโดยเน้นโรงเรียนให้มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น หรือใช้โรเรียนเป็นแกนกลางในการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ข้อสังเกตประการต่อไปคือ การที่ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความเก่งกล้าของพลังอำนาจของซิลไคล์นที่ไม่มีใครเทียบได้นั้น จึงเกิดคำถามว่าเมื่อเขามีพลังอำนาจมากเช่นนี้แล้ว เหตุใดเขาจึงไม่ปฏิบัติภารกิจให้เสร็จในเร็ววัน ทั้งๆ ที่มันก็ล่าช้ามานานกว่า 5 พันปีแล้ว เหตุใดจะต้องรอเวลากว่า 3 ปี ในช่วงที่เฟอร์ริกหายไป และเมื่อเฟอร์ริกกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนเวทมนตร์เหมือนเดิมแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเริ่มปฏิบัติภารกิจสำคัญของเขาสักที
ในประเด็นเรื่องการเขียนนั้น พบว่าผู้เขียนมีความสามารถในการสร้างบทบรรยาย ทั้งการบรรยายลักษณะของตัวละคร และการบรรยายสถานที่ต่างๆ เรื่องได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้อ่านสารมารถสร้างจินตนาการและอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้ ในการสร้างบทสนทนานั้น ผู้เขียนก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน เพราะบทสนทนาเหล่านี้ช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับตัวละคร และสร้างให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างลื่นไหล ชวนติดตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ลดทอนความสมบูรณ์และความน่าอ่านไปอย่างน่าเสียดาย คือ คำผิดที่พบบ้างประปราย จึงเห็นว่าหากผู้เขียนสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้ก็จะช่วยให้เรื่องราวสมบูรณ์ และน่าอ่านมากขึ้น คำผิดที่พบ เช่น กะทันหัน เขียนเป็น กะทันหัน อนุญาต เขียนเป็น อนุญาติ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ เกล็ดหิมะ เขียนเป็น เกร็ดหิมะ ฮะ หรือ หา เขียนเป็น ห๊า ปะทุ เขียนเป็น ประทุ จ้อกแจ้กจอแจ เขียนเป็น จอกแจกจอแจ สัญชาตญาน เขียนเป็น สัญชาติญาณ ว้าก เขียนเป็น ว๊าก อณู เขียนเป็น อนู ซี้ดซ้าด เขียนเป็น ซี๊ดซ๊าด พุ่ง เขียนเป็น พุ้ง เป็นต้น
     
 
ใครแต่ง : claymask
7 ม.ค. 60
80 %
5 Votes  
#92 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
วิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 11 มิ.ย. 57
นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง Black Merchant – ลันซ่าพ่อค้าแห่งกรีนยาร์ด ผลงานของ Claymark เป็นเรื่องราวชองลันซ่า พ่อค้ามืดที่มีความเป็นมาลึกลับแห่งกรีนยาร์ด ที่ต้องเข้าไปพัวพันกับการชิงบัลลังก์ของอาณาจักรต่างๆ ในมุดโด ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเรื่องราวความรักระหว่างลันซ่ากับแอรีส เพื่อนสาวรู้ใจที่เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก และความรักระหว่างลันซ่ากับท่านหญิงแอนเดรีย ผู้นำตระกูลลาสทรอน ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 16
Black Merchant – ลันซ่าพ่อค้าแห่งกรีนยาร์ด มีความน่าติดตามและมีมิติที่น่าสนใจ เนื่องจากในเรื่องมิได้มีเพียงแต่โครงเรื่องหลัก (main plot) ที่เป็นเรื่องราวอดีตที่ลึกลับ และการเข้าไปพัวพันกับสงครามแย่งชิงบัลลังก์ครั้งนี้ของลันซ่าเท่านั้น แต่ Claymark ยังได้สร้างโครงเรื่องย่อย (sub-plot) จำนวนมากที่เกี่ยวกับตัวละครและความเป็นมาของเมืองและอาณาจักรต่างๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กับเรื่องราวของลันซ่าไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากระหว่างที่ลันซ่าเดินทางไปทั่วอาณาจักร เขาได้ติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งมิตรและศัตรู ผู้อ่านจึงได้เห็นแล้วเข้าใจประวัติความเป็นมาและเรื่องราวความเป็นไปของอาณาจักรและตัวละครอื่นๆ ที่นอกเหนือจากลันซ่า ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งระหว่างตระกูลรอบส์ กับตระกูลลาสทรอน ของ แอนเดรีย คนรักของลันซ่า เรื่องราวของกษัตริย์ทีดอน และเจ้าชายเวอร์ดี้ แห่งกรีนยาร์ด หรือ ลูกศิษย์ทั้งสี่ของการิส พ่อค้าในตำนานที่เป็นอาจารย์ของลันซ่า และ อาณาจักรนีมุสทิส แห่งดินแดนทางตอนใต้ ซึ่งเป็นอาณาจักรเดียวที่กษัตริย์ทีดอนไม่เคยปราบได้ หรือเรื่องราวของมังกรเทรกอน จ้าวแห่งมังกรทั้งปวง ซึ่งมีความผูกพันราชวงศ์โกล์ดเฟรม เจ้าของ “ดวงตาสยบมังกร” ซึ่งโครงเรื่องย่อยเหล่านี้ทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้โครงเรื่องหลักมีความน่าใจและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ Claymark ยังสามารถสร้างความน่าติดตามให้กับนวนิยายเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจในหลายๆ วิธี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างปริศนา และ คำทำนาย เพื่อสร้างความน่าติดตามให้กับเรื่อง เช่น ปริศนาแผนที่สมบัติเก่าที่ต้องนำผ้าคลุมทั้ง 4 ผืนที่กระจายอยู่กับทายาททั้งสี่ของตระกูลนาริสตันมาต่อกันก็จะเปิดเผยความลับของมังกรเทรกอนได้ หรือความลับที่มาของตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลันซ่า โกลโด้ (เพื่อนรวมอาจารย์กับลันซ่า) และ ลูกแก้วคำทำนายของแม่เฒ่าทูเรที่ปรากฏบัลลังก์กุหลาบแห่งกรีนยาร์ด หลังจากที่ลันซ่าและเจ้าหญิงแอนเดรียจับมือกัน การวางแผนการต่างๆ ก็นับเป็นการสร้างความน่าสนใจอีกประการให้กับเรื่อง ทั้งการสร้างแผนการในการดำเนินการของลันซ่า เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของตน หรืออีกวิธีการหนึ่ง คือ การวางแผนกลศึกและการชิงไหวชิงพริบระหว่างอาณาจักรอยู่เป็นระยะๆ ที่มีการวางแผนซ้อนแผนกันอยู่เสมอๆ ยิ่งไปกว่านั้น Claymark ยังสร้างความน่าสนใจด้วย การทิ้งท้ายตอนจบของเรื่องในแต่ละตอนไว้อย่างน่าสนใจ และชวนให้ติดตาม เพราะมักจะทิ้งค้างให้ผู้อ่านอยากทราบตอนต่อไปว่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์จะดำเนินไปในทิศทางใด
ความโดดเด่นอีกประการในเรื่องนี้คือ การสร้างตัวละคร พบว่าในเรื่องมีตัวละครเป็นจำนวนมาก แต่ทว่า Claymark สามารถสร้างให้ตัวละครแต่ละลักษณะเด่นเฉพาะตัวและเอกลักษณ์ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านจดจำตัวละครเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันตัวละครที่สร้างขึ้นมีการผสมผสานทั้งด้านดีและไม่ดีคละเคล้ากันไป ซึ่งหลายครั้ง Claymark ใช้เรื่องราวของตัวละครเป็นอุทาหรณ์สอนผู้อ่านได้พร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการที่ โยฮัน พ่อของแอนเดรีย ยอมรับว่าเขาเสียใจที่แม่ของ
แอนเดรียตายหลังจากคลอดเธอไม่นาน จนเขามิอาจทำใจอยู่ใกล้ชิดกับแอนเดรียได้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อเขาทำใจยอมรับความจริงได้ เขาก็พร้อมที่จะแก้ไขความผิดพลาดที่ตนได้ละเลยบุตรสาวไปเป็นเวลานาน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าตัวละครหลากหลายมิติที่สร้างขึ้นนี้ช่วยสร้างให้เรื่องราวมีความเข้มข้นและน่าติดตามมากขึ้น
ข้อดีอีกประการของนวนิยายเรื่องนี้คือ การใช้ภาษา ซึ่ง Claymark ใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการสร้างบทบรรยายและบทสนทนา ซึ่งนับเป็นหัวใจของเรื่อง จะพบว่าในบทบรรยาย Claymark ก็สามารถที่จะช่วยสร้างจินตนาการให้ผู้อ่านเข้าใจถึงอาณาจักรต่างๆ ชีวิตความเป็นอยู่ และ มังกรโบราณต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวการต่อสู้ในสงครามครั้งต่างๆ ได้อย่างเห็นภาพต่างๆ เหล่านี้ได้ ขณะเดียวกันบทสนทนาที่สร้างขึ้น สร้างความลื่นไหลให้กับเรื่อง และช่วยส่งให้ตัวละครและเรื่องราวมีชีวิตและมีมิติมากขึ้น จึงช่วยสร้างให้เรื่องราวน่าติดตาม
ด้วยกลวิธีหลากหลายที่ Claymark เลือกมาใช้ในการสร้างเรื่อง จึงช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้มิได้เป็นเรื่องที่เน้นแฟนตาซีแนวผจญภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการผสมผสานเข้ากับการชิงไหวชิงพริบระหว่างเมืองและอาณาจักรต่างๆ ท่ามกลางกลิ่นอายสงคราม ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเรื่องราวความรักของตัวละครไปได้อย่างลงตัว
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่า การที่นวนิยาเรื่องนี้มีความซับซ้อนอย่างมาก จึงทำให้มีตัวละครมีจำนวนมาก แม้ว่า Claymark จะช่วยผู้อ่านด้วยการการแบ่งกลุ่มตัวละครออกเป็นกลุ่มตระกูล แต่ก็ยังพบว่า แต่ละตระกูลมีโครงสร้างภายในตระกูลที่ซับซ้อน เพราะไม่ได้มีแต่เพียงตระกูลหลักเท่านั้น ในบางตระกูลยังมีคนนอกตระกูลด้วย เช่น ตระกูลพรีเอนด์ เป็นตระกูลหลัก ตระกูลรอง (ลูกนอกสมรส) คือ บลูซี และในแต่ละตระกูลจะมีทหารและอัศวินคู่ใจอีกจำนวนหนึ่ง ยิ่งทำให้ปริมาณตัวละครและเรื่องราวยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีก จึงเห็นว่า Claymark อาจจะลดตัวละครที่ไม่จำเป็นต่อเรื่องลงบ้างก็ได้ โดยเฉพาะตัวละครบางตัวที่ออกมาช่วงสั้นๆ ก็จะช่วยลดความสับสนให้ผู้อ่านได้
แม้ว่า Claymark จะสร้างตัวละครแต่ละตัวได้อย่างมีเอกลักษณ์และช่วยให้จดจำได้ง่าย แต่ด้วยปริมาณของตัวละครที่ค่อนข้างมากแล้ว และเรื่องราวของแต่ละตระกูลยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ซึ่งอาจเป็นข้อด้อยที่สร้างความสับสนให้กับผู้อ่านได้ เนื่องจากพบว่าในขณะที่ Claymark เขียนเล่าถึงเรื่องราวในแต่ละตระกูลจะมีการให้รายละเอียดในเรื่องของตระกูลหลัก ที่ตั้งของตระกูล สัญลักษณ์ประจำตระกูล ความโดดเด่นของตระกูล ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของตระกูล สมาชิกในตระกูล และ ตระกูลย่อย ซึ่งผู้อ่านต้องมีสมาธิในการอ่านอย่างมาก ไม่เช่นนั้นอาจะเกิดความสับสนได้ง่ายขณะที่อ่าน (ผู้วิจารณ์ยอมรับว่าขณะนี้อ่านได้ทำแผนผังตระกูลเหล่านี้ เพื่อช่วยจำถึงจะช่วยไม่ให้สับสนได้) อาทิ การจะจดจำตัวละครสักตัวเพื่อให้เข้าใจความซับซ้อนของเรื่อง เช่น ท่านหญิงแอนเดรีย ผู้อ่านต้องต้องจำให้ได้ว่าเธอเป็นลูกสาวของลอร์ดโยฮัน เป็นคนของตระกูลลาสทรอน เป็นผู้ปกครองลาสทรอน ซึ่งเป็นตระกูลทางเหนือของไฮแลนด์ สัญลักษณ์ประจำตระกูลคือ ค้อนและทั่ง ทรัพยากรที่สำคัญคือ เหล็ก หลังศึกมฤตยูเขียว รวมอาณาจักรร่วมกับพันธมิตร 2 ตระกูลคือ กับ ตระกูลพรีเอนด์ (สัญลักษณ์คือ ฉลาม ทรัพยากร เกลือ ปกครองเวสท์แลนด์) และตระกูลกรีนยาร์ด (สัญลักษณ์คือกุหลาบ ทรัพยากรคือ ไม้ ปกครองกรีนยาร์ด) ซึ่งร่วมกันต่อต้าน มังกร หรือ ราชวงศ์โกล์ดเฟลม และยังมีศัตรูคู่อาฆาตคือ รอบส์ (อินทรีย์) ที่ปกครองนาโคเปีย ด้วยเหตุนี้ หาก Claymark จะช่วยลดความสับสนให้ผู้อ่าน อาจจะตัดในเรื่องของสัญลักษณ์ประจำตระกูล หรือ ทรัพยากรออกไปก็ได้ และกล่าวถึงเฉพาะชื่อตระกูลอย่างเดียวก็พอ (เพราะบ่อยครั้งที่ Claymark จะใช้สลับระหว่างชื่อตระกูล กับสัญลักษณ์ของตระกูล ในการกล่าวถึงตัวละคร) และเท่าที่สำรวจขณะนี้ก็มีจำนวนตระกูลหลักมากถึง 9 แล้ว อันได้แก่ นาวิสตัน (หมูป่า) พรีเอนด์ (ฉลาม) รอบส์ (อินทรีย์) ลาสทรอน (ค้อนและทั่ง) กรีนยาร์ด (กุหลาบ) นีมุสทิส (แมลงป่องชูหางสีเหลือง) เรดแฟรงค์ (สิงโต) โกล์ดเฟลม (มังกร) และตระกูลหมาป่า นอกจากนี้ยังมีตระกูลเล็กๆ อีก เช่น บลาสท์ (น้ำไหลในหุบเขา) รวมทั้งยังมีตระกูลของพวกลูกนอกสมรสอีก ไม่ว่าจะเป็น ร็อค และ บลูซี ทั้งนี้ยังไม่รวมพวกพ่อค้าในสมาพันธ์พ่อค้า (และสัญลักษณ์หลังผ้าคลุมพ่อค้าที่แตกต่างกันออกไป และสัญลักษณ์เหล่านั้นต่างมีความหมายในตัวเองด้วย) และอัศวินมังกร (แบ่งตามสีและเผ่าพันธุ์มังกรของตน)
ข้อด้อยอีกประการที่ลดทอนความสมบูรณ์ของเรื่องคือ คำผิด ที่พบบ้างประปราย จึงเห็นว่า Claymark น่าจะกลับไปทบทวนเรื่องอีกครั้ง เพื่อแก้ไขคำผิดต่างๆ อีกครั้ง คำผิดที่พบ เช่น พิภพ เขียนเป็น ภิภพ โสเภณี เขียนเป็น โสเพณี เหม่อลอย เขียนเป็น เหมื่อลอย ลาดตระเวน เขียนเป็น ลาดตระเวน เกียรติ เขียนเป็น เกียรติ์ สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ ถาโถม เขียนเป็น ถ่าโถม กลยุทธ์ เขียนเป็น กลยุทธ สังเกตการณ์ เขียนเป็น สังเกตุการณ์ โน้ต เขียนเป็น โน๊ส กฎ เขียนเป็น กฏ นายอาลักษณ์ เขียนเป็น นายอารักษณ์ เสน่ห์ เขียนเป็น สเน่ห์ ประจัญ เขียนเป็น ประจัน ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพันธ์ ถนอม เขียนเป็น ถนอน สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ นานาพันธุ์ หรือ นานาพรรณ เขียนเป็น นานาพันธ์ ผุพัง เขียนเป็น ผุผัง เสบียง เขียนเป็น สเบียง กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน อุปโลกน์ เขียนเป็น อุปโลก คำนวณ เขียนเป็น คำนวน ราชันย์ เขียนเป็น ราชันต์ แบล็กร็อค เขียนเป็น แบล๊กร๊อค อากัปกิริยา เขียนเป็น อากับกิริยา จอมเวท เขียนเป็น จอมเวทย์ อนุญาต เขียนเป็น อนุญาติ อิสรภาพ เขียนเป็น อิสระภาพ เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนต์ คณิกา เขียนเป็น คนิกา เกียรติยศ เขียนเป็น เกียรติ์ยศ ตะกละตะกลาม เขียนเป็น ตะกละตะกราม น่าจะ เขียนเป็น หน้าจะ คนโท เขียนเป็น คณโฑ ปรารถนา เขียนเป็น ปราถนา ผลุนผลัน เขียนเป็น ผลุนผัน พาณิชย์ เขียนเป็น พานิช ภารกิจ เขียนเป็น ภาระกิจ อสุนี เขียนเป็น อสุนีย์ มอดไหม้ เขียนเป็น ม้อดไหม้ ทูต เขียนเป็น ฑูต และ บางครั้ง เขียนเป็น บ้างครั้ง
     
 
ชื่อเรื่อง :  Rewrtie
ใครแต่ง : เคี้ยวหมาก
23 ส.ค. 57
60 %
22 Votes  
#93 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
วิจารณ์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 9 มิ.ย. 57
นวนิยายของ เคี้ยวหมาก เรื่อง Please Forget Me กรุณาลืมฉัน ที่โพสต์ถึงตอนที่ 23 แล้ว เป็นเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างทัศคานี เคียวชินคุปต์ หรือ เตชินห์ ที่ต้องเป็นคู่หมั้นของ ภัควาริน โภคิน หรือ พิมฐา ด้วยข้อตกลงระหว่างผู้ใหญ่ของสองตระกูลที่เขาไม่ต้องการ เพราะเขามีผู้หญิงที่เขารักมาอยู่แล้ว นั่นคือ ราณี เขาจึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะยกเลิกข้อตกลงนี้ แต่ยิ่งเขาหนีมากเท่าไร เขาต้องเข้าไปพัวพันและใกล้ชิดกับภัควารินมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ภัควารินก็มีอัษศดิณย์ (หรือโยฮัน) ที่ชอบเธอมาตั้งแต่ครั้งที่เธอยังไม่สูญเสียความทรงจำ พยายามจะเข้ามาดูแล ปกป้อง และทำให้เธอจำเขาได้ เรื่องราวความรักระหว่างพวกเขาจะดำเนินไปในทิศทางใด ต้องติดตามกันต่อไป
นวนิยายเรื่องนี้เปิดเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เนื่องจาก เคี้ยวหมาก เลือกเหตุการณ์ด้วยการให้หนุ่มสาวคู่หนึ่งถูกชายชุดดำกลุ่มหนึ่งไล่ล่า และชายหนุ่มก็คนนั้นถูกยิง ขณะที่หญิงสาวถูกจับตัวไป ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยใคร่รู้ต่อไปว่า ชายหนุ่มและหญิงสาวคู่นี้เป็นใคร เหตุใดจึงถูกตามล่า กลุ่มคนที่ตามล่าเป็นใคร ชายหนุ่มที่ถูกยิงจะตายหรือไม่ และหญิงสาวที่ถูกจับตัวไปจะเป็นอย่างไรต่อไป นับเป็นการสร้างปริศนาหรือปมปัญหาทิ้งค้างไว้ให้ผู้อ่านติดตามอ่านเรื่องราวในตอนต่อไป นอกจากนี้ เคี้ยวหมากยังใช้กลวิธีนี้เป็นหลักในการดำเนินเรื่องต่อๆ มา ซึ่งเราจะพบว่า เคี้ยวหมาก สร้างปมปริศนาและปมปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความลับและเบื้องหลังของตัวละคร ซึ่งบางปมหรือบางปริศนาก็ได้คลี่คลายและเฉลยไปแล้ว แต่บางปมก็ยังเปิดทิ้งค้างไว้อยู่
โดยส่วนตัวเห็นว่ากลวิธีนี้นับว่าช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจและติดตามการคลี่คลายของปมปัญหาเหล่านี้ได้ แต่การสร้างเรื่องโดยใช้กลวิธีนี้เป็นหลักในการดำเนินเรื่อง ผู้เขียนต้องเลือกนำเสนอปมปัญหาหรือปริศนาเพียงไม่กี่ปม และปมที่ใช้ควรที่จะเป็นปมปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเรื่องโดยตรง แต่หากผู้เขียนสร้างปริศนาไว้เป็นจำนวนมากเกินไป และบางปริศนาก็ยังเปิดค้างไว้นานเกินไป จนดูเป็นการถ่วงเวลาไม่เฉลยปมปัญหานี้เสียที การใช้กลวิธีเช่นนี้อาจจะกลายเป็นข้อด้อยของเรื่องได้ เพราะลดทอนความน่าสนใจและน่าติดตามของเรื่องลง เมื่อพิจารณาในนิยายเรื่องนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่า เคี้ยวหมาก นำกลวิธีนี้มาใช้มากเกินไป เนื่องจากเปิดปมปริศนาบ่อยครั้งเกินไป ด้วยการสร้างให้ตัวละครหลักทุกตัวต่างมีปมและอดีตที่ปกปิดไว้ ไม่ว่าจะเป็น
ทัศคานี ภัควาริน อัษศดิณย์ และ ราณี แต่ในตอนเฉลยปริศนาและคลี่คลายปมปัญหา เคี้ยวหมาก กลับเลือกเฉลยความลับเฉพาะของ ทัศคานี เท่านั้น จนทำให้ดูเหมือนว่าความลับของตัวละครอื่นๆ ที่เปิดไว้ไม่มีสำคัญกับเรื่องที่ต้องการเสนอเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ปริศนาที่เกี่ยวกับอดีตของภัควาริน ในขณะที่เป็นพิมฐา ความรักความผูกพันระหว่างพิมฐา กับ อัษศดิณย์ หรือ สถานะของราณีในตระกูลโภคิน ก็นับว่ามีความสำคัญกับเรื่อง และอยู่ในความสนใจของผู้อ่านไม่แพ้กัน ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า เคี้ยวหมาก ควรที่จะเปิดเผยความลับของตัวละครอื่นๆ ไปพร้อมๆ กับทัศคานี ก็จะสร้างความสมดุลให้กับเรื่องได้มากขึ้น
ความโดดเด่นอีกประการของเรื่อง คือ การสร้างตัวละคร จะพบว่า เคี้ยวหมาก สร้างตัวละครแต่ละตัวได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เด่นชัด ทั้งรูปร่างหน้าตา และอุปนิสัยใจคอ ซึ่งทำให้ผู้อ่านจดจำตัวละครแต่ละตัวได้ ทั้งนี้ต้องยกความดีให้กับการสร้างบทบรรยายและบทสนทนาต่างๆ ในเรื่อง ที่ช่วยสร้างและเสริมให้ตัวละครที่สร้างขึ้นมีชีวิตและโลดเล่นอยู่ในเรื่องได้อย่างมีชีวิตชีวาและน่าติดตาม
แม้ว่า เคี้ยวหมาก จะไม่มีปัญหาในการสร้างบทบรรยายและบทสนทนา แต่ยังพบคำผิดอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งลดทอนความสมบูรณ์และความน่าอ่านของเรื่องลง จึงอยากให้ปรับปรุงในส่วนนี้ก็จะช่วยให้การเขียนถูกต้องสมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้ คำผิดที่พบ เช่น ปุ่ม เขียนเป็น ปุ๋ม พะยูน เขียนเป็น พยูน ฮ่ะ เขียนเป็น ห้ะ แปรเปลี่ยน เขียนเป็น แปลเปลี่ยน เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย ตื้อตัน(ตรงศีรษะ) เขียนเป็น ตื้นตัน(ตรงศีรษะ) เลือดกบปาก เขียนเป็น เลือกกบปาก กัดฟัน เขียนเป็น กันฟัน ชะง่อนหิน เขียนเป็น ชะงอยหิน กวาดตาหา เขียนเป็น กราดตาหา แว้บ เขียนเป็น แว๊บ คุกเข่า เขียนเป็น คุเข่า ผมเผ้า เขียนเป็น ผมเพล้า แหง เขียนเป็น แหง่ ประโยชน์ เขียนเป็น ประโยค เปิดโปง เขียนเป็น เปิดโปรง ครุ่นคิด เขียนเป็น คุ้นคิด ฉุกคิด เขียนเป็น ฉุดคิด เซ็ง เขียนเป็น เซง พะรุงพะรัง เขียนเป็น พะลุงพะลัง อินเทอร์เน็ต เขียนเป็น อินเตอร์เนท อนาถ เขียนเป็น อนาต ถือไพ่ เขียนเป็น ถือไผ่ ตัดพ้อต่อว่า เขียนเป็น ตัดท้อต่อว่า ม้า ไหม หรือ มั้ย เขียนเป็น ม๊า เพี้ยะ เขียนเป็น เผี๊ยะ ตัวเก็ง เขียนเป็น ตัวเกร็ง สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ เฮอะ เขียนเป็น เห๊อะ ไฉน เขียนเป็น ฉไน ขี้มูกโป่ง ขี้มูกโปร่ง ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพัน เว้ย เขียนเป็น เว๊ย เฮ้ย เขียนเป็น เฮ๊ย อ้าว เขียนเป็น อ่าว หมั่นไส้ เขียนเป็น หมั้นไส้ คร้าบ เขียนเป็น คร๊าบ หนำใจ เขียนเป็น หน่ำใจ หอบแฮกๆ เขียนเป็น หอบแหกๆ น้า เขียนเป็น น๊า พัลวัน เขียนเป็น พลวัน ยั้วเยี้ย เขียนเป็น ยั้วเยี๊ย เนรมิต เขียนเป็น เนริมิต คร่ำครึ เขียนเป็น ค่ำคึก แทรก เขียนเป็น แซก กะเผลกๆ เขียนเป็น กระเพกๆ เกียรติ เขียนเป็น เกียรติ์ เหลียวซ้ายแลขวา เขียนเป็น เลี้ยวซ้ายแลขวา ซอมซ่อ เขียนเป็น ซอมซอ บัดซบ เขียนเป็น ปัดซบ ตะกละ เขียนเป็น ตละกะ
ข้อด้อยอีกประการที่พบคือ ความสมจริงของเรื่อง เนื่องจากพบว่ามีเหตุการณ์หลายตอนที่ยังขาดความสมจริงอยู่ อาทิ การเปิดเรื่องให้พิมฐาที่ยังเป็นเด็กเล็กขนาดนั้น จะสามารถถูกทิ้งให้ดำเนินชีวิตอยู่ตามลำพังในสภาพที่คล้ายขอทานหลังจากที่คุณยายเสียชีวิต โดยไม่มีองค์กรใดเข้ามาดูแล ทั้งเธอยังมีโอกาสมาเรียนหนังสือร่วมเพื่อนๆ ที่ฐานะดี โดยเฉพาะอัษศดิณย์และตรีชฏา ที่ผู้เขียนปูพื้นฐานว่าฐานะดีได้ หรือ การพบกันระหว่างภัควาริน กับ อัษศดิณย์ บนเครื่องบิน เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะพาเธอไปเลี้ยงอาหารได้ เพราะอาหารบนเครื่องบินระหว่างประเทศเป็นอาหารชุดที่ทางสายการบินจัดเตรียมบริการมาไว้แล้ว ไม่มีพื้นที่เปิดบริการเป็นห้องอาหารที่ผู้โดยสารสามารถสั่งอาหารได้เหมือนในรถไฟ
ข้อสังเกตอีกประการเกี่ยวกับตัวละครในเรื่อง พบว่ามีตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่ เคี้ยวหมาก ละเลยแทบจะไม่กล่าวถึงเลย จนดูเหมือนกับว่าตัวละครตัวนี้ไม่เคยมีตัวตน และไม่มีความสำคัญต่อเรื่อง ทั้งๆ โดยส่วนตัว ผู้วิจารณ์เห็นว่าตัวละครตัวนี้น่าจะมีส่วนสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอน่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญในความรักระหว่างอัษศดิณย์กับพิมฐา (หรือภัควาริน) นั่นคือ ตรีชฏา หากพิจารณาตามที่ผู้เขียนปูพื้นฐานของตัวละครไว้อย่างชัดเจนว่า ตรีชฏา รัก อัษศดิณย์ มาตั้งแต่เด็ก และเธอหวงเขามาก จึงเป็นไปไม่ได้เลยว่าเมื่อเธอถูกอัษศดิณย์ทิ้งในวันแต่งงานเพื่อไปหาพิมฐา ตรีชฏาจะทนอยู่เฉยๆ ให้อัษศดิณย์อยู่ใกล้ชิดกับพิมฐา ศัตรูหัวใจหมายเลขหนึ่งของเธอได้อีกครั้ง หรือผู้แต่งยังคงเก็บไปให้ปมปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตอนต่อไป
     
 
ชื่อเรื่อง :  1:11 MISS YOU ALWAYs {Yaoi-BL}
ใครแต่ง : แมวจร~
29 พ.ค. 58
80 %
5 Votes  
#94 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
วิจารณ์นิยาย Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 25 มี.ค. 58
นวนิยายแนว YAOI / BL เรื่อง 1:11 MISS YOU ALWAYSผลงานของ Nopoxaเป็นเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างเก้าและเมฆที่รู้จักกันมานานเกือบตลอดชีวิตของตน แล้วความรักความสัมพันธ์ของเขาทั้งคู่จะเป็นอย่างไร เมื่อความรักฉันท์เพื่อนที่เก้ามีต่อเมฆเปลี่ยนระดับไปเป็นความรักฉันท์คนรัก
แก่นเรื่อง “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” มักเป็นที่นิยมใช้ในงานเขียนแนว YAOI / BL แต่ Nopoxa นำมาใช้ในงานเรื่องนี้ได้พยายามสร้างให้เรื่องมีความแตกต่างจากเรื่องอื่น โดยการทวีความซับซ้อนของแก่นเรื่องให้เกิดขึ้นกับตัวละครหลายๆ ตัวในเรื่อง จนดูเหมือนจะเป็นความรักที่วนกันเป็นวงกลม และสร้างความเจ็บปวดให้กับตัวละครทุกตัวที่ตกอยู่ในวังวนแห่งรัก ไม่ว่าจะเป็น เก้าที่แอบรักเมฆ แพรที่แอบรักเก้า บาสที่แอบรักเมฆ (และเรื่องที่นำเสนอไปนั้นยังทำให้ผู้อ่านแอบคิดไม่ได้ว่า โจ้ก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่แอบรักบาสด้วย)ซึ่ง Nopoxa กำหนดให้ตัวละครแต่ละตัวต่างมีวิธีจัดการกับความรักเฉพาะที่แตกต่างกันไป จึงนับเป็นการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ความรักในหลากหลายมิติได้อย่างน่าสนใจ
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า นวนิยายเรื่องนี้มุ่งเน้นแต่การบรรยายความรู้สึกของตัวละครเอกเพียง 2 ตัวคือเก้าและเมฆ (ซึ่งเน้นหนักไปที่เก้ามากกว่า) จึงละเลยตัวละครอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาในด้านความรักเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามNopoxa สามารถนำเสนอโลกภายในของเก้าและเมฆได้เป็นอย่างดี โดยสามารถตีแผ่ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในใจ ไม่ว่าจะเป็น ความสุขในการแอบรัก ความสับสนไม่แน่ใจในความรู้สึก ความเศร้าที่ต้องผิดหวังในความรัก ความหึงหวง และความเกรี้ยวโกรธต่างๆ
ความน่าสนใจหรือการที่นิยายลักษณะนี้จะสร้างความประทับใจให้ได้คือ การเน้นการกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร แต่นวนิยายเรื่องนี้ยังไม่สามารถสร้างความรู้สึกร่วมของผู้อ่านที่มีต่อตัวละครได้มากนัก เนื่องจากเหตุผลที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนความรักที่เก้ามีต่อเมฆยังไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะให้ผู้อ่านเชื่อว่า ความผูกพันในฐานะเพื่อนนานนับสิบปีที่เขามีต่อเมฆนั้นได้เปลี่ยนกลายไปความรักในอีกรูปแบบหนึ่งแล้วจริงๆ เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากการเปิดเรื่องในช่วง 4 ตอนแรกนั้นเป็นเพียงการบรรยายชีวิตประจำวันทั่วไปของตัวละครเป็นเหตุการณ์สั้นๆ อาทิ ตื่นนอน ไปเรียน ดื่มกาแฟ หรือกินโจ๊ก จนดูประหนึ่งว่าจะไม่ได้มีความสำคัญกับการพัฒนาเนื้อเรื่องและความสัมพันธ์ของตัวละครเท่าใดนัก ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่ขาดไปก็คือ การปูพื้นให้เห็นถึงระดับและความหมายของคำว่าเพื่อนสนิทที่เก้ามีต่อเมฆและเมฆมีต่อเก้าที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เองที่เห็นแก่นแกนสำคัญในการพัฒนาเรื่องราวความรักของคนทั้งคู่ต่อไป แต่เท่าที่บรรยายไว้ในขณะนี้ ยากที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าความผูกพันที่คนทั้งคู่มีต่อกันจะสามารถพัฒนาไปสู่ความรักได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกของเก้าที่มีต่อเมฆ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า หาก Nopoxa ปรับเนื้อหาในช่วงเปิดเรื่องใหม่ซึ่งอาจจะยังคงเล่าถึงวิถีชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปของเก้าและเมฆอยู่ก็ได้ แต่เน้นการบรรยายความรู้สึกในเชิงลึกของตัวละครทั้งสองให้มากขึ้น ก็จะเสริมต่อให้กับการพัฒนาการของความสัมพันธ์ที่วางไว้แล้วในช่วงต่อๆ ไปได้ดีขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างให้เห็นพัฒนาทางอารมณ์และเข้าใจความรู้สึกของตัวละครเท่านั้น แต่ยังจะช่วยสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างผู้อ่านกับตัวละครให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
ข้อด้อยอีกประการหนึ่งที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในนวนิยายเรื่องนี้คือ คำผิด จึงเสนอว่า Nopoxaควรจะต้องใส่ใจกับความถูกต้องของการสะกดคำให้มากขึ้น หากไม่แน่ใจว่าเขียนอย่างไรจำเป็นต้องตรวจสอบจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไปพร้อมกันด้วย สำหรับคำผิดที่พบเกิดมาจากหลายสาเหตุ กล่าวคือ 1) ไม่ทราบว่าคำที่ถูกต้องสะกดอย่างไร เช่น บันใด บันได ต่างๆ นานา เขียนเป็นต่างๆ นาๆ เบียร์ เขียนเป็น เบีย หาวหวอดๆ เขียนเป็นหาววอดๆ พึมพำ เขียนเป็นพึมพรำ ฮืมเขียนเป็นหืม เอาซี่/ เอาสิ / เอาซิ เขียนเป็นเอาสิ่ นิ่ง เขียนเป็นหนิ่ง ไหน เขียนเป็น ใหน เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย ลำบาก เขียนเป็น รำบาก ตะกร้า เขียนเป็น ตะกล้า หาย เขียนเป็น ฉาย ปลิดทิ้ง เขียนเป็น ปริทิ้ง กระเป๋า เขียนเป็น ประเป๋า ของ เขียนเป็น ขอ พิเรนทร์เขียนเป็น พิเรน อุส่าเขียนเป็น อุตส่าห์ เช็ด เขียนเป็นเช้ดขีดฆ่าข้อความ เขียนเป็นขีดคร่าข้อความ ปะติดปะต่อ เขียนเป็น ประติดประต่อ คุกรุ่นเขียนเป็นครุกรุ่นสังเกต เขียนเป็น สังเกตุเครดิต เขียนเป็น เครดิด ฉิบหาย เขียนเป็น ชิบหาย อาละวาด เขียนเป็น อาลวาด กระทั่ง เขียนเป็น กระทัก ทุเลา เขียนเป็น ทุเรา รถจักรยาน เขียนเป็น รกจักร์ยาย เกียรติ เขียนเป็น เกียรต เสื้อเชิร์ต เขียนเป็น เสื้อเชิ้ต และ สัมภาระ เขียนเป็น สัมพาระ2) ใช้คำพ้องเสียงผิดเช่น ลม เขียนเป็น รม (ลมหมายถึง ธาตุอย่างหนึ่งในร่างกาย, อากาศที่เคลื่อนที่ แต่ รมหมายถึง การอบด้วยความร้อนหรือควันไฟ) คลองถมเขียนเป็น ครองถม (คลอง หมายถึง ทางน้ำหรือลำน้ำที่เกิดขึ้นเองหรือขุดเชื่อมกับแม่น้ำหรือทะล แต่ครอง หมายถึง ปกครองรักษาด้วยความเป็นใหญ่, ดำรงไว้, รักษาไว้)วันพุธ เขียนเป็น วันพุทธ (พุธ หมายถึง ชื่อวันที่ 4 ของสัปดาห์ แต่พุทธ หมายถึง ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน) เกียจคร้านเขียนเป็น เกลียดคร้าน (เกียจหมายถึง คด, ไม่ซื่อ, โกง, คร้าน แต่เกลียด หมายถึง ชัง, ไม่ชอบจนรู้สึก ) หน้าตาเขียนเป็น น่าตา(หน้า หมายถึง ส่วนของศีรษะตั้งแต่หน้าผากจรดคาง แต่ น่า หมายถึง คำที่ประกอบหน้ากริยาหมายถึง ควร, ชวนให้, ทำให้)และ อิดโรย เขียนเป็น อิฐโรย (อิด หมายถึง โรงแรง, อ่อนกำลัง, อ่อนแรง แต่ อิฐ หมายถึง ดินเผาที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้ก่อตึกและกำแพงเป็นต้น) 3) ความสับสนในการใช้วรรณยุกต์ เช่น เล้ยเขียนเป็น เล๊ยอะรั้ยเขียนเป็น อะไร๊ ฮะ เขียนเป็นห๊ะฮ้าวเขียนเป็นห๊าวอ้าวเขียนเป็น อ่าว เว้ยเขียนเป็น เว่ยถอยห่างเขียนเป็น ถอยหางเหมือนเขียนเป็น เหมื่อน สักครู่เขียนเป็น สักครู ที่แล้วเขียนเป็นทีแล้วและบ่อยเขียนเป็น บอยอย่างไรก็ดี ในเรื่องของการการใช้วรรณยุกต์มีกฎช่วยจำง่ายๆ สำหรับการเขียนคำที่ใช้วรรณยุกต์ตรีและจัตวาได้ว่า มีเฉพาะตัวอักษรกลาง 9 ตัวเท่านั้นที่ใช้ได้ คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ หากเป็นพยัญชนะตัวอื่นที่นอกเหนือ 9 ตัวนี้ห้ามใช้กับวรรณยุกต์ตรีและจัตวาโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ยังมีคำบางคำที่เขียน 2 แบบด้วย เช่น แพร / แพร์ ซึ่ง Nopoxa อาจจะต้องเลือกว่าจะเขียนแบบหนึ่งแบบไปเลย เพื่อจะไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนได้
     
 
ชื่อเรื่อง :  InLaw...(yaoi)
ใครแต่ง : Kissa_step
13 ต.ค. 66
80 %
2 Votes  
#96 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Blue Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 8 เม.ย. 58
~InLaw~ ผมรัก...อัยการ (Yaoi) นวนิยายแนวสืบสวน ผลงานของ Kissa…step เป็นเรื่องราวของเต็มสิบ นักศึกษากฎหมายชั้นปีที่สามที่ตกหลุมรักสิ้นฟ้า ผู้ช่วยอัยการหนุ่มสุดหล่อ ขณะที่เขาไปฝึกงานที่สำนักงานอัยการสูงสุด แต่เรื่องราวความรักในครั้งนี้ของเขาดูจะมีอุปสรรค ไม่เพียงแต่เขาต้องแข่งกันกับเพชรทนายหนุ่มสุดเก่ง อดีตรุ่นพี่คนสนิทของสิ้นฟ้าเท่านั้น แต่ความลับในอดีตของสิ้นฟ้าที่เริ่มกลับมาส่งผลกับชีวิตในปัจจุบันของเขา ซึ่งดูจะพัฒนาและกลายเป็นอุปสรรคความรักและความสัมพันธ์เขายิ่งกว่า คงต้องตามติดความรักของพวกเขาว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 22 แล้ว
ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้คือ การผนวกเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนเข้ากับความรักสามเส้าของชายสามคน ซึ่งมีการสร้างและพัฒนาปมปัญหาของแนวเรื่องทั้งสองไปพร้อมๆ กัน ที่ทวีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น แม้ว่า Kissa…step จะพยายามสร้างความแปลกใหม่กับเรื่องโดยเลือกนำเสนอชีวิตของผู้ช่วยอัยการ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีจะมีการนำมาเป็นตัวละครในนวนิยายแนวนี้เท่าใดนัก แต่ สิ้นฟ้า กลับแทบจะไม่ได้ทำหน้าที่สะท้อนภาพผู้ช่วยอัยการและหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ช่วยอัยการมากเท่าใดนัก ไม่ว่าการรวบรวมหลักฐานเพื่อเขียนสำนวนฟ้อง การส่งฟ้อง และการพิจารณาคดีในชั้นศาล จึงเห็นว่า ถ้า Kissa…step ยังจะยืนยันให้สิ้นฟ้าเป็นผู้ช่วยอัยการต่อไปก็ควรจะสร้างความเป็นผู้ช่วยอัยการให้ชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ แต่หากยังยืนยันให้สิ้นฟ้ามีบุคลิกลักษณะเช่นเดิม ก็ควรจะต้องเปลี่ยนอาชีพของเขาจากผู้ช่วยอัยการ มาเป็นตำรวจหรือตำรวจนอกเครื่องแบบจะดูเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ที่เขาเลือกกระทำอยู่มากกว่า
ใน ~InLaw~ ผมรัก...อัยการ (Yaoi) มีการเปลี่ยนผู้เล่าเรื่องกลับไปมาระหว่างตัวละครสำคัญของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เต็มสิบ สิ้นฟ้า และ เพชร ซึ่งจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงผู้เล่าได้สร้างเรื่องให้มีมิติที่อย่างน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดเรื่องราวความรักที่เล่าผ่านสายตาของตัวละครทั้งสาม อันแสดงถึงแง่มุมความรักที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวละครเหล่านี้จะเล่าถึงเหตุการณ์เดียวกัน ขณะเดียวกัน Kissa…step ยังใช้กลวิธีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่าเรื่องเพื่อสลับจุดเน้นไปมาระหว่างแนวเรื่องรักกับเรื่องสอบสวน นับเป็นกลวิธีการเขียนที่ใช้โดยตลอดเรื่อง
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า “ผม” ในชื่อเรื่องกับมุมมองผู้เล่าเรื่อง “ผม” ในช่วงต้นของเรื่องที่กำหนดให้เป็น “เต็มสิบ” กลับกลายเป็นกับดักที่สกัดการสร้างความหลากหลายของมุมมองและเสียงเล่าในงานนวนิยายเรื่องนี้ เพราะ “ผม” ในที่นี้แสดงให้เห็นว่า Kissa…step เลือกแล้วว่าจะให้ “เต็มสิบ” เป็นผู้เล่าและถ่ายทอดเรื่องต่างๆ ทั้งหมดในเรื่อง ดังนั้น เมื่อผู้เขียนเปลี่ยนมุมมองในการเล่าจาก “เต็มสิบ” ไปยังตัวละครอื่นอาจสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านบางคนได้ เพราะ “ผม” ที่ปรากฏในเรื่องบางตอนก็มิได้หมายถึง เต็มสิบ แต่หมายถึงตัวละครตัวอื่น ด้วยเหตุนี้ ทางแก้ง่ายๆ ที่จะช่วยเพื่อลดความสับสนในประเด็นนี้ ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เขียนสามารถที่จะสลับมุมมองของผู้เล่าเรื่องได้อย่างเสรี นั่นคือ การเปลี่ยนชื่อเรื่องจาก “~InLaw~ ผมรัก...อัยการ” เป็น “~InLaw~ อัยการที่รัก” ซึ่งชื่อเรื่องใหม่ดังกล่าวช่วยเปลี่ยนศูนย์กลางของเรื่องจาก “เต็มสิบ” มาเป็น “สิ้นฟ้า” อย่างที่ควรจะเป็น เพราะ “สิ้นฟ้า” ไม่เพียงแต่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญของความรักสามเส้าในครั้งนี้เท่านั้น แต่อดีตที่ลึกลับและซับซ้อนของเขายังเป็นชนวนและเหตุปัจจัยของการสืบสวนเพื่อคลี่คลายความลับดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้นไปพร้อมกันด้วย
งานแนวสืบสวนที่เน้นการทำงานของอัยการในเรื่องความสมจริงนับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้ทั้งกับตัวละครและเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคลี่คลายคดีในเรื่องนี้ส่วนใหญ่อาศัยการให้ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้รับสารภาพการกระทำผิดของตนเอง มากกว่าที่จะแสดงความสามารถของผู้ช่วยอัยการในการรวบรวมหลักฐานเพื่อทำสำนวนส่งฟ้องและคลี่คลายคดี เพราะในความเป็นจริงผู้ต้องสงสัยจะไม่สารภาพจนกว่าจะจนด้วยพยานและหลักฐาน ซึ่งขัดกับสิ่งที่ Kissa…step พยายามเสนอมาโดยตลอดว่าสิ้นฟ้าเป็นผู้ช่วยอัยการที่เก่งมาก ขณะเดียวกันยังพบว่าในนวนิยายเรื่องนี้มีเนื้อหาหลายฉากที่ขาดความสมจริง ซึ่งนับเป็นข้อด้อยของเรื่องที่ต้องแก้ไข อาทิ การให้สิ้นฟ้าทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาในคดีเสพแอมเฟตามีน แม้ว่าเขาจะจับตัวประกันไว้ก็ตาม แต่ผู้ต้องหาที่มีเพียงมีดเป็นอาวุธ และตกอยู่ในวงล้อมของตำรวจที่มีอาวุธปืนครบมืออยู่แล้ว จึงน่าจะทำเพียงแค่ยิงให้บาดเจ็บก็น่าจะเพียงพอกับความผิดที่เขากระทำแล้ว เพราะเขามิได้เป็นผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ที่มีแนวโน้มว่าจะสังหารตัวประกัน เช่นเดียวกับการที่สิ้นฟ้าและพวกปลอมตัวเป็นนักศึกษาพยาบาลเพื่อเข้าไปสืบคดี ก็ขาดความสมจริง เนื่องจากนักศึกษาพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง มีนักศึกษาชายน้อย และนักศึกษาส่วนใหญ่จะรู้จักและคุ้นหน้ากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้น การปลอมตัวในครั้งนี้แทนที่จะสามารถทำตัวให้กลมกลืนไปกับคนรอบข้าง กลับกลายเป็นทำตัวให้เป็นจุดเด่นที่สังเกตได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก อีกทั้ง การเชิญตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนเป็นสิทธิ์และความชอบธรรมที่ตำรวจและอัยการสามารถที่จะทำได้ จึงไม่จำเป็นต้องทำให้กลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนหรือสุ่มเสี่ยงให้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายด้วยการให้อัยการและตำรวจโป๊ะยาสลบและลักพาตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนดังที่นำเสนอไว้ในเรื่อง ยิ่งไปกว่านั้น คดี “Ticket one way” นับว่าเป็นคดีที่ยังขาดความสมจริงอย่างมาก เพราะ Kissa…step มุ่งเน้นที่ความเก่งของสิ้นฟ้ามากจนเกินไป ซึ่งการที่สิ้นฟ้ายังสะกิดใจว่าการตายของหญิงสาวชาวไทยในครั้งนี้มิใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการฆาตกรรม ด้วยการได้เห็นศพผู้ตายแบบผ่านๆ เท่านั้น และยิ่งการคลี่คลายคดีที่สิ้นฟ้าเปิดโปงความผิดของจำเลยก็อาศัยเพียงหลักฐานแวดล้อมที่พบจากการสอบสวนทั่วๆ ไปเท่านั้น ซึ่งตำรวจอเมริกันเจ้าของคดีก็น่าจะเห็นความผิดปกตินี้ด้วยและสามารถคลี่คลายคดีได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่าคดีนี้จะสมจริงมากขึ้น หากกำหนดให้ฉากฆาตกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นที่การสืบสวนสอบสวนของตำรวจยังไม่มีเครื่องมือหรือยังไม่เข้มแข็งและไม่ก้าวหน้าเท่าอเมริกา
ผู้วิจารณ์เห็นว่า Kissa…step ไม่ควรใช้อีโมติคอนในนวนิยายเรื่องนี้ เพราะอีโมติคอนลดทอนความน่าเชื่อถือของทั้งตัวละครและแนวเรื่องสืบสวนโดยภาพรวมลงอย่างน่าเสียดาย แม้ว่าเนื้อหาที่ใช้อีโมติคอนจะเป็นการเสนอมุมมองความรักตัวละครที่ยังเป็นวัยรุ่นแบบเต็มฟ้าก็ตาม
ข้อด้อยประการสำคัญของเรื่องที่ควรต้องแก้ไขคือ คำผิด เนื่องจากในเรื่องมีคำผิดปรากฏเป็นจำนวนมาก เช่น นอกจากคำผิดแล้วยังพบว่าบางครั้ง Kissa…step ยังเลือกใช้คำผิดความหมายหรือเลือกใช้คำไม่เหมาะสมกับบริบทของเรื่องด้วย เช่น ช็อค เขียนเป็น ช๊อก เชิร์ต เขียนเป็น เชิ้ท อุตส่าห์ เขียนเป็น อุตส่า ว้ายเขียนเป็น ว๊าย แล่เนื้อ เขียนเป็น แร่เนื้อ ประคอง เขียนเป็น ประครอง แฮะ เขียนเป็น แหะ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ ผกามาศ เขียนเป็น
พกามาศ น้า เขียนเป็น น๊า เคาน์เตอร์ เขียนเป็น เค้าเตอร์ สายพันธุ์ เขียนเป็น สายพันธ์ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ เผอเรอ เขียนเป็น เพลอเรอ ย้า เขียนเป็น ย๊า ว้าว เขียนเป็น ว๊าว พึมพำ เขียนเป็น พรึมพรำ จอห์น เขียนเป็น จอร์น ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ สามเส้า เขียนเป็น สามเศร้า แว้บ เขียนเป็น แว๊บ ชำเลือง ชำเรือง ลุกลี้ลุกลน เขียนเป็น รุกลี้รุกรน ฉีดยาชา เขียนเป็น ชีทยาชา เกษียณ เขียนเป็น เกษียร (เกษียณ หมายถึง สิ้นไป แต่ เกษียร หมายถึง น้ำนม) และ โฮะ เขียนเป็น โห๊ะ ขณะเดียวกันยังมีบางประโยคที่ Kissa…step ยังใช้คำไม่เหมาะกับบริบทแวดล้อมในประโยค อาทิ จุดจอดรับของรถเมล์คือ ป้าย แต่ในเรื่องนี้กลับใช้คำว่า สถานี (คำว่า สถานีใช้กับ รถไฟ รถไฟฟ้า เท่านั้น) หรือในประโยคที่ว่า ทางเราขอกันตัวคุณไว้เป็นผู้ต้องหา ประโยคที่นิยมเขียนคือ การจะกันตัวไว้ส่วนใหญ่จะใช้กับพยาน เช่น ทางเราขอกันตัวคุณไว้เป็นพยาน แต่ถ้าใช้กับผู้ต้องหาจะใช้ประโยคว่า ทางเราขอกันจับตัวหรือคุมตัวคุณในฐานะผู้ต้องหา ทั้งนี้ หากได้แก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ก็จะช่วยปรับให้เรื่องถูกต้อง สมบูรณ์ และน่าอ่านเพิ่มมากขึ้น
     
 
ชื่อเรื่อง :  รากเหง้า
ใครแต่ง : อ. อกาลิโก
5 พ.ค. 56
80 %
7 Votes  
#99 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
วิจารณ์รากเหง้า โดย bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 18 มิ.ย. 56
รากเหง้า เป็นนวนิยายแนว อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของ อ. อกาลิโก ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 9 แล้ว เป็นเรื่องราวความผูกพันและชะตาชีวิตของคนในครอบครัวของยายบัว ซึ่งเรื่องเล่าย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ของเธอว่า สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ตั้งแต่ในวัยเด็ก จนกระทั่งแต่ละคนต่างแยกย้ายไปมีครอบครัวของตน ทั้ง พ่อแก้ว แม่มาลี พี่สามทั้งสาม คือ พี่เอ้ย พี่ผัด พี่จงจิต และ บารมี น้องชายคนเล็ก
แม้ว่าเรื่องราวในขณะนี้จะยังดำเนินไปในช่วงของการเปิดเรื่อง ซึ่งเป็นการปูพื้นให้ผู้อ่านได้รู้จักกับครอบครัวของบัว โดยให้คุณยายบัวทำหน้าที่เล่าเรื่องราวชีวิตของคนในตระกูลของเธอให้ลูกๆ หลานๆ ฟัง โดยค่อยๆ เปิดเรื่องราวชีวิตของคนในรุ่นพ่อแม่ เริ่มตั้งแต่พ่อแก้วและแม่มาลีในช่วงที่แม่มาลีตั้งท้องลูกคนที่ 5 ก็คือบารมี ที่คลอดออกมาเป็นลูกชายคนเดียวสมใจ และเล่าถึงช่วงชีวิตวัยเด็กของลูกๆ ทั้ง 5 ก่อนที่ลูกสาวทั้ง 4 จะมีแฟนและต่างแต่งงานแยกไปมีครอบครัวของตนเอง คงเหลือแต่บารมีที่ยังอยู่กับพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังมีข้อบกพร่องที่ชัดเจนที่พบในหลายประเด็น คือ
ประเด็นแรกคือ ความสมจริงในการแต่งเรื่องเล่าย้อนยุค การแต่งเรื่องย้อนยุค สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ ความสมจริงของเรื่อง เพราะว่าเรื่องราวในอดีตเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงมีข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมากที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้เขียนสร้างเรื่องเล่าย้อนยุคให้ได้บรรยากาศและในยุคสมัยนั้น แต่ในนิยายเรื่องนี้ ยังมีเหตุการณ์บางตอนที่ยังไม่อาจสร้างให้ผู้อ่านเชื่อว่าสมจริงได้ แม้ว่าในช่วงต้นของเรื่อง อ. อกาลิโก ตั้งใจที่จะปูให้เรื่องให้ย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2500 ซึ่งเห็นความพยายามที่จะสร้างบรรยากาศแห่งยุคสมัยให้ผู้อ่านคล้อยตาม ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงค่าเงิน หรือรัฐบาลออกกฎหมายเรื่องการศึกษาภาคบังคับในปี 2508 แต่ข้อมูลที่ให้บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวในช่วงต้นที่ อ. อกาลิโก เขียนให้เห็นว่าอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่ไม่ร่ำรวย เป็นหนี้เป็นสิน สู้การเป็นพ่อค้าไม่ดี และชาวนาก็อยากที่จะเลิกทำอาชีพนี้ นับว่าขัดแย้งกับบริบทที่เป็นจริงของยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายพัฒนาประเทศด้วยการออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (2504-2509) ซึ่งนโยบายหลักที่รัฐบาลเน้นก็คือ การสนับสนุนภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกข้าวของชาวนา เพราะข้าวนับว่าเป็นสินค้าออกสำคัญที่ทำรายได้ให้กับประเทศในสมัยนั้นอย่างมาก
นอกจากนี้ ในการบรรยายบรรยากาศของฉากย้อนยุค บางครั้งยังมีเหตุการณ์ที่แปลกแยกจากยุคสมัยแทรกอยู่เป็นระยะๆ เช่น การที่ให้เอ้ยจับบารมีมาแต่งหน้า และบอกน้องๆ ว่าให้บารมีปากสีแดงตามโทรทัศน์นั้น เพราะโทรทัศน์สีในประเทศไทยเริ่มในทศวรรษที่ 2510-2519 ไม่ได้เกิดในยุค 2500 หรือการที่ผู้เขียนบรรยายให้เด็กหญิงยากจนในชนบทยุค 2500 ถักโครเชต์เล่นเวลาพัก ซึ่งโครเชต์ในยุคนั้นยังเป็นของฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพง เพราะไหมพรมและเข็มถักเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศ อีกประการหนึ่งคือ การกล่าวถึงค่าเงิน บางครั้งก็ถูกบางครั้งก็แพง เช่น บางครั้งผู้เขียนก็เขียนว่าสมุดราคาเล่มละ 50 สตางค์แพงมาก แต่เมื่อพ่อทำงานมีเงินเหลือ 1,000 บาท ก็บอกว่าเงินเหลือไม่พอใช้ ทั้งๆ ที่ ในสมัยนั้นใครที่มีเงิน 1,000 บาทนับว่าเป็นคนรวยได้แล้ว เพราะเทียบง่ายๆ ว่าราคาทองในยุคนั้นเพียงบาทละ 400 บาทเท่านั้นเอง ดังนั้น การจะแต่งเรื่องย้อนยุคให้สมจริง ผู้เขียนจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล บริบททางประวัติศาสตร์และสังคม เพื่อสร้างชีวิต ความเป็นอยู่ และเรื่องราวได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จนเรื่องที่แต่งขึ้นนั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องย้อนยุคจริงๆ
ประการต่อมา คือ แก่นเรื่องหลัก ที่ดูยังไม่มีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า อ. อกาลิโล จะให้เรื่องดำเนินไปในทิศทางใด ขณะนี้จับได้แค่ว่าเป็นการเล่าถึงประวัติชีวิตและเรื่องราวของคนในครอบครัวของบัวไปเรื่อยๆ เท่านั้น การเปิดเรื่องในช่วงแรกด้วยการปูพื้นตัวละครต่างๆ อย่างยืดยาว โดยยังไม่สร้างปมขัดแย้ง และพัฒนาปมขัดแย้งใดๆ ที่เร้าความสนใจของผู้อ่านเช่นนี้ ยกเว้นการเปิดปมอาฆาตของนางพรายเท่านั้น อาจจะทำให้คนอ่านเบื่อและเลิกอ่านเรื่องต่อได้ จึงเห็นว่าในช่วงแรกอาจจะตัดเรื่องการเรียนและการไปโรงเรียนของบัวและบารมีออกก็ได้ เพราะเรื่องราวในช่วงนี้ไม่ได้มีความสำคัญต่อการพัฒนาเรื่องในช่วงต่อไปมากนัก เนื่องจากผู้แต่งก็ไม่ได้สร้างให้ชีวิตของตัวละครสองตัวที่ได้เรียนหนังสือนั้น มีชีวิตแตกต่างจากพี่ๆ อีก 3 คนที่ไม่ได้เรียนแต่อย่างใด
การไม่บรรยายสถานที่นับเป็นข้อบกพร่องที่พบอีกประการหนึ่ง จากการอ่านเรื่องราวมาจนถึงตอนที่ 9 แล้วพบว่า ฉากหลักที่ผู้เขียนควรสร้างความชัดเจนให้กับผู้อ่านคือ ครอบครัวของบัว เพราะว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ในตอนต้นเกิดขึ้นที่นั่น และการอธิบายฉากที่ชัดเจนสร้างจินตภาพของผู้อ่านได้มากขึ้น เนื่องจากการให้ภูมิหลังของตัวละครจะช่วยเสริมจินตนาการให้เห็นภาพความแร้นแค้น ยากจนของครอบครัวนี้ได้อย่างที่ผู้เขียนตั้งใจ แต่การที่ผู้เขียนไม่ระบุตำแหน่งของที่อยู่ว่าตั้งอยู่ในส่วนใดของประเทศอย่างชัดเจนเช่นนี้ สร้างความสับสนให้ผู้อ่านเป็นอย่างมาก เมื่อผู้เขียนไม่บอก ผู้อ่านก็ต้องคาดเดาเอาเอง โดยอาศัยข้อมูลและบริบทรอบๆ ต่างๆ ที่ผู้เขียนให้ไว้ แต่ภาพที่ปรากฏก็เลื่อนไหลไปเรื่อยๆ บางครั้งก็รู้สึกว่าครอบครัวนี้น่าจะอยู่ในภาคอีสาน เพราะตัวละครกินข้าวเหนียว แต่ก็ไม่แน่ใจเพราะบางครั้งก็บอกว่ากินน้ำพริกหนุ่ม กับไข่ต้ม ซึ่งก็ชวนให้คิดว่าน่าจะอยู่ภาคเหนือได้ แต่ต่อมาเมื่อให้พ่อนำข้าวไปขาย แล้วเจ้าของโรงสีให้ปลาทู 100 ตัว เพื่อใช้แทนการลดจำนวนข้าวที่ติดไว้แทน การชวนให้คิดว่าบ้านน่าจะอยู่ภาคกลางและติดทะเล แต่บริบทอื่นๆ ก็ไม่เอื้ออีก เพราะบางครั้งพ่อก็เข้าไปหาของป่าใกล้ๆ บ้าน ก็ที่บริบทรอบข้างเปลี่ยนไปบ่อยๆ เช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้ภาพความแร้นแค้นและยากจนของครอบครัวบัวที่ผู้เขียนต้องการสร้างพร่าเลือนไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากครอบครัวบัวดูจะจนก็แต่เพียงจากการบอกเล่าของผู้เขียนเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาจากสภาพทั่วไปที่ผู้เขียนบรรยายไว้ก็พบว่า ครอบครัวของบัวก็พอมีพอกิน ไม่ร่ำรวย แต่ก็ไม่ถึงกับยากจนแร้นแค้นมากเท่าที่ผู้เขียนต้องการ
ประเด็นสุดท้าย คือ การเขียน ผู้วิจารณ์เห็นว่า อ. อกาลิโกไม่มีปัญหาในเรื่องของการเขียนบทบรรยายและบทสนทนา แต่สิ่งที่อยากให้ผู้เขียนตัดออกในการบรรยายคือ การใส่คำขยายความไว้ในวงเล็บ ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการอธิบายความ หรือแทรกมุมมองดังกล่าวไว้ในความคิดหรือคำพูดของตัวละครตัวหนึ่งตัวใดได้เลย หรืออาจแทรกไว้ในคำบรรยายของผู้เล่าเรื่องก็ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านอ่านเรื่องได้อย่างลื่นไหล และไม่สะดุดเป็นระยะๆ เช่นนี้ หรือคำอธิบายในวงเล็บบางแห่งอาจตัดทิ้งไปเลยก็ได้ เช่น ไปโรงพาบาล (ออกเสียงไม่ถูกเพราะไม่ได้เรียนหนังสือ) เพราะประโยคที่ใช้เป็นภาษาพูด ไม่จำเป็นต้องออกเสียงถูกต้องตามภาษาเขียนก็ได้ และผู้อ่านทราบอยู่แล้วว่าตัวละครที่พูดไม่ได้เรียนหนังสือ จึงไม่แปลกที่จะออกเสียงผิดได้
ปัญหาสำคัญในการเขียนที่ อ.. อกาลิโก จำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยด่วน คือ การสะกดคำ เพราะว่ามีคำผิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุจาก 2 ประการหลักๆ คือ การใช้วรรณยุกต์ผิด เช่น เถอะ เขียนเป็น เถ่อะ เปรอะเปื้อน เขียนเป็น เปร่อะเปือน ไอ้ เขียนเป็น ไอ่ เรือน เขียนเป็น เรื่อน ชาย เขียนเป็น ช่าย ไพเราะ เขียนเป็น ไพเร่าะ ไม้ เขียนเป็น ไม่ อ้าว เขียนเป็น อ่าว ชาวไร่ เขียนเป็น ช่าวไร เหงื่อ เขียนเป็น เหงื้อ แนะนำ เขียนเป็น แน่ะนำ จังหวะ เขียนเป็น จังหว่ะ เยอะ เขียนเป็น เย่อะ อั๊วะ เขียนเป็น อ้วะ แก๊ง เขียนเป็น แก้ง เปรอะ เขียนเป็น เปร่อะ เที่ยว เขียนเป็น เทียว แก่ เขียนเป็น แก รุ่งเรือง เขียนเป็น รุ่งเรื่อง หมั่นไส้ เขียนเป็น หมันไส้ ทะเลาะ เขียนเป็น ทะเล่าะ เลอะเทอะ เขียนเป็น เล่อะเท่อะ แวะ เขียนเป็น แว่ะ
การสะกดผิดอีกสาเหตุหนึ่งคือ การไม่ทราบว่าคำที่ถูกสะกดอย่างไร เช่น มโนสำนึก เขียนเป็น มโนนึก
ฝ้าฟาง เขียนเป็น ฟ่าฟาง สาบาน เขียนเป็น สาบาญ ทุกข์ เขียนเป็น ทุก โบสถ์ เขียนเป็น โบส ขี้เกียจ เขียนเป็น
ขี้เกิยจ เถลไถล เขียนเป็น ถะเหลถะไหล / ทะเหลทะไหล ขมวด เขียนเป็น ขะมวด ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ เฆี่ยน เขียนเป็น เคี่ยน จ้า เขียนเป็น จร้า เซ็งแซ่ เขียนเป็น แซงแซ่ เฒ่า หรือ เถ้าแก่ เขียนเป็น เถ้า ต่างๆ นานา เขียนเป็น ต่างๆ นาๆ ขื่อ เขียนเป็น คื่อ ลาบ เขียนเป็น ลาป บำรุง เขียนเป็น บำรูง ทิด เขียนเป็น ทิต ฮึด เขียนเป็น หึด ธนบัตร เขียนเป็น ธนบัติ กบาล เขียนเป็น กระบาน กล้าแดด เขียนเป็น กล่ำแดด สัมภาระ เขียนเป็น สัมพาระ
สะท้าน เขียนเป็น สะท้าย แย้ม เขียนเป็น แย้ อาถรรพ์ เขียนเป็น อาธรรพ์ รวดร้าว เขียนเป็น รวดร้าย หรือ เขียนเป็น รื้อ สังขาร เขียนเป็น สังขาน ยี่หระ เขียนเป็น ยี่หร่า พิเรนทร์ เขียนเป็น พิเรน ทะนุถนอม เขียนเป็น ถะนุถนอม มรรคทายก เขียนเป็น มัคทายก รื่นหู เขียนเป็น ลื่นหู ว้าย เขียนเป็น ว๊าย ระคนกลัว เขียนเป็น ประคนกลัว และ
ตาถลน เขียนเป็น ตาถะโหลน
ทั้งนี้เห็นว่าเรื่องยังเพิ่งเขียนในช่วงต้น อ. อกาลิโก ลองกลับไปทบทวนและปรับแก้งานอีกครั้ง ก็ไม่น่าที่จะเสียเวลามากนัก และจะช่วยให้ผลงานน่าอ่านและสมบูรณ์มากขึ้นด้วย
     
 
ใครแต่ง : Neung
6 ต.ค. 56
100 %
1 Votes  
#100 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
วิจารณ์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 9 ธ.ค. 56
Undecryption รหัสลับ โจรกรรมสะท้านโลก
นวนิยายแนวผจญภัย เรื่อง Undecryption รหัสลับ โจรกรรมสะท้านโลก ของ Neung เพิ่งโพสต์ถึงบทที่ 7 ซึ่งเป็นเรื่องราวของ เลออน ไลน์เนอร์ ไคล์น คาล์เชียน และ แบล็ก เลโอแนล กลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมปลายอัจฉริยะที่ต้องการปล้นเอกสารลับของ DD Bank แต่กลับต้องไปเกี่ยวพันกับอาวุธชีวภาพนิวเคลียร์อย่างไม่ตั้งใจ จนทำให้ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยความวุ่นวายและอันตราย
Neung เปิดเรื่องได้อย่างน่าตื่นเต้นและชวนติดตาม ขณะเดียวกันยังสร้างเรื่องให้มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย เพราะโดยที่นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้มีแต่เพียงโครงเรื่องหลัก (main plot) ที่ผูกพันชะตาชีวิตของตัวละครหลักทั้งสามคนไว้กับอาวุธชีวภาพนิวเคลียร์ ซึ่งมีความลับซุกซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ตามล่าที่ต้องการต้นฉบับเอกสารลับแท้ที่จริงแล้วเป็นใครกันแน่ หรือความสำคัญของต้นฉบับเอกสารลับคืออะไร รวมทั้งปริศนาที่ปรากฏในเอกสาร ทั้งรหัสลับแปดหลัก และ อัศวินทั้ง 5 ที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ ขณะเดียวกันยังได้สร้างโครงเรื่องย่อย (sub plot) และปริศนาและปมปัญหาต่างๆ ที่น่าสนใจไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ ปริศนาการตายของพ่อแม่ไคล์น และแบล็ก การหายตัวไปของคาร์ล พี่ชายคนเดียวของไคล์น และ ความสัมพันธ์ระหว่างคาร์ลกับกลุ่มคนลึกลับที่ตามล่าพวกเด็กหนุ่มทั้งสามคน ซึ่งคาดว่าผู้เขียนจะค่อยๆคลี่คลายปม ปริศนา และความลับเหล่านี้ต่อไป
ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าผู้เขียนเน้นการสร้างฉากบู้ล้างผลาญตามแบบภาพยนตร์ action ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวูด ที่ต้องมีฉากระเบิดที่อลังการและฉากซากอาคารที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงความยิ่งใหญ่และมั่งคั่งของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความสูญเสียจากการต่อสู่อันรุนแรงนี้ ฉากความรุนแรงเหล่านี้จะดูสมจริงได้ก็เมื่อมีคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ เช่นระหว่างผู้ก่อการร้ายทุนหนาข้ามชาติ กับรัฐบาลของสหรัฐ เช่น FBI SWAT หรือหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ แต่เมื่อในนวนิยายเรื่องนี้กำหนดให้คู่ต่อสู้ของผู้ก่อการร้ายที่ต้องการเอกสารลับที่เกี่ยวกับอาวุธชีวภาพนิวเคลียร์กลับเป็นเพียงเด็กหนุ่มมัธยมปลายสามคน จึงเห็นว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มีศักยภาพทั้งเรื่องอาวุธ กำลังคน และมีทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมากกลุ่มนี้ น่าจะมีวิธีการจัดการกับการนำเอกสารลับจากเด็กทั้งสามได้อย่างเงียบเชียบและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะเลือกปฏิบัติการแหวกหญ้าให้งูตื่น โดยการท้าทายรัฐบาลสหรัฐด้วยการระเบิดสถานีตำรวจ 4 แห่ง และ DD Bank ก่อนที่ตัวเองจะมีเอกสารสำคัญที่เป็นไพ่ไม้ตายไว้ในครอบครอง ขณะเดียวกันการตอบโต้ของรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้ดูจะด้อยประสิทธิภาพมากกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากเมื่อเกิดระเบิดที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเช่นนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่น่าจะเป็นเพียง FBI ที่มีผู้รับผิดชอบภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้เป็นเพียงตำรวจหญิงมิเชล รอนสัน เท่านั้น แต่ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ควรที่จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติหลายหน่วยงานร่วมมือกัน และผู้ที่คุมปฏิบัติการนี้น่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสั่งการมากกว่า มิเชล รอนสัน
ในส่วนของการเขียนนั้น ผู้เขียนสามารถที่จะสร้างตัวละครแต่ละตัวอย่างชัดเจน และมีบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และความถนัดเฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยเฉพาะตัวละครเอกวัยรุ่นทั้งสาม แต่มีข้อสงสัยประการหนึ่งเกี่ยวกับการบรรยายรูปร่างของเลออน ไลน์เนอร์ ในอารัมภบท ที่มีเนื้อความขัดกัน กล่าวคือ ตอนหนึ่งบรรยายว่า เลออน ใบหน้าเรียวยาว แต่ต่อมากลับบรรยายว่า ใบหน้าอันกลมมน จึงสงสัยว่าแท้จริงแล้วผู้เขียนต้องการให้เลออนหน้ายาวหรือหน้ากลมกันแน่ ขณะเดียวกันการสร้างบทบรรยายต่างๆ ก็บรรยายได้ละเอียดและเห็นภาพ ทั้งฉากการต่อสู้ และเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับบทสนทนาระหว่างตัวละครต่างๆ ก็สร้างได้อย่างสมจริงและชวนให้เรื่องราวน่าติดตาม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามีคำผิดปรากฏเป็นจำนวนมาก จึงลดทอนความถูกต้องและสมบูรณ์ของบทบรรยายและบทสนทนาเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย
คำผิดที่พบมีจากหลายสาเหตุ เช่น 1) การใช้วรรณยุกต์ผิด เช่น อึมครึม เขียนเป็น อึ่มครึ้ม ยียวน เขียนเป็น ยี่ยวน รุงรัง เขียนเป็น รุ่งรัง จ้ำอ้าว เขียนเป็น จ่ำอ้าว รายล้อม เขียนเป็น ร่ายล้อม ว้ากกกกก เขียนเป็น ว๊ากกกกก
2) การสะกดผิด เช่น อิริยาบถ เขียนเป็น อริยบท ซูบผอม เขียนเป็น สูบผอม ผมหยักศก เขียนเป็น ผมหยักโศก กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา (ลมหวีดหวิว)กระโชก เขียนเป็น (ลมหวีดหวิว)กระโซม ตระการตา เขียนเป็น ตระกานตา เขม็ง (หมายถึง ตึง เกร็ง แข็ง แน่วแน่) เขียนเป็น เขม่น (หมายถึง รู้สึกไม่ชอบหน้าหรือไม่พอใจ) สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ เอาน่า เขียนเป็น เอาหน่า ทิฐิ เขียนเป็น ทิถิ เลศนัย เขียนเป็น เลิศนัย ทอด(ยาว) เขียนเป็น ถอด อินเทอร์เน็ต เขียนเป็น อินเตอร์เน็ต อิเล็กทรอนิกส์ เขียนเป็น อิเล็คทรอนิกส์ (หน้าตา)เหยเก เขียนเป็น เหยแก่ อัมพาต เขียนเป็น อัมภาต ประเมิน เขียนเป็น ประเมิณ ระลึก เขียนเป็น ระรึก ระลอก เขียนเป็น ระรอก พิสดาร เขียนเป็น พิศดาล ฝ้าเพดาน เขียนเป็น ฟากเพดาน ทรมาน เขียนเป็น ทรมาณ วิมาน เขียนเป็น วิมาร กฎ เขียนเป็น กฏ เวท เขียนเป็น เวทย์ ประจันหน้า เขียนเป็น ประจันทร์หน้า กระปรี้กระเปร่า เขียนเป็น กระปี้กระเปร่า ตะครุบ เขียนเป็น ตระคุบ หลา (หมายถึง มาตราวัด) เขียนเป็น หรา (หมายถึง ก๋า ร่า) แผนการ เขียนเป็น แผนการณ์ ประจัน เขียนเป็น ประจัณฑ์ สังเกตการณ์ เขียนเป็น สังเกตุการณ์ เอ้อระเหย เขียนเป็น เอ้อละเหย หวงแหนเขียนเป็น แหงหวน โอ่อ่า เขียนเป็น โอ่อาห์ สถานการณ์ เขียนเป็น สถานะการณ์ คอลัมน์ เขียนเป็น คอลัมภ์ อันธพาล เขียนเป็น อันตพาล เมามัน เขียนเป็น เมามันส์ ก้าวเท้า เขียนเป็น ก้าวท้าว ผ้าก็อซ (ผ้าพันแผล) เขียนเป็น ผ้าสก็อต ทรัพย์สิน เขียนเป็น สรรพสิน กบดาน เขียนเป็น กบดาล ปืนพก เขียนเป็น ปืนผก ค่อย(ยังชั่ว) เข้า(ยังชั่ว) ผลีผลาม เขียนเป็น พลีพลาม กฎหมาย เขียนเป็น กฏหมาย พิภพ เขียนเป็น ภิภพ ประจวบเหมาะ เขียนเป็น ประจบเหมาะ 3) การใช้คำที่ไม่มีความหมาย เช่น กระโชม นั่งต่อม่อ 4) การใช้คำขยายผิด จมูกสันทัด สันทัดมักใช้ในการขยายรูปร่าง ไม่นิยมใช้ขยายจมูก จมูกมักใช้ว่า จมูกได้รูป จมูกโด่งเป็นสัน จมูกเล็ก จมูกโต เป็นต้น บุคคลบริสุทธิ์ ไม่นิยมใช้ ส่วนมากจะใช้ว่า ผู้บริสุทธิ์ รหัสยี่ยั๊ว (ในที่นี้คำที่ถูกต้องคือ ยั้วเยี้ย) ยั้วเยี้ย ใช้มักขยายคนหรือสัตว์จำนวนมากที่เคลื่อนไหวขวักไขว่ไปมา แต่รหัส มักใช้ว่า รหัสจำนวนมาก รหัสจำนวนมหาศาล อารมณ์โกรธพลุกพล่าน (พลุกพล่าน หมายถึง เกะกะชวักไขว่) ควรใช้ว่า อารมณ์โกรธพลุ่งพล่าน (พลุ่งพล่าน หมายถึง เดือดพล่าน (อารมณ์)ไม่ปกติเพราะโมโห) ช้อยสายตามอง ควรใช้ว่า ช้อนสายตามมอง หรือ ช้อนตามอง และ ควันโขมงโฉงสีขาว ควรใช้ว่า ควันโขมงสีขาว หรือ ควันคลุ้งสีขาว เพราะคำว่า โขมงโฉงเฉง มักใช้ขยาย เสียง หมายถึง เสียงเอ็ดอึง เช่น เสียงดังโขมงโฉงเฉง
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12