หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ใครแต่ง : 1.618
26 ส.ค. 56
100 %
1 Votes  
#112 REVIEW
 
เห็นด้วย
2
จาก 2 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Blue Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 ต.ค. 57
นวนิยายแนวหวานแหวว เรื่อง Servent Love ภารกิจหัวใจยัยคนใช้มือใหม่ ผลงานของ 1.6.18 เป็นเรื่องราวของกล้วยหอม สาวน้อยผู้น่าสงสารที่ถูกเพื่อนแกล้งจนต้องย้ายโรงเรียนหนี แต่ที่โรงเรียนใหม่เธอกกลับต้องลดสถานะจากนักเรียนกลายเป็นคนใช้จำเป็นของคริษฐ์หรือไคเบอร์ ประธานนักเรียนสุดหล่อ กับบรรดาคณะกรรมการนักเรียนเพื่อนสนิททั้ง 5 คนของเขา ซึ่งความใกล้ชิดนี้ได้พัฒนาเป็นความรักที่เกิดขึ้นท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายต่างๆ
Servent Love ภารกิจหัวใจยัยคนใช้มือใหม่ ไม่เพียงจะไม่ต่างจากนวนิยายสูตรสำเร็จแนวนี้เรื่องอื่นๆ มากนัก ที่พระเอกของเรื่องต้องเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ รวย เป็นที่หมายปองของผู้หญิงจำนวนมาก แต่ไม่สนใจใครมาก่อน แต่ต้องมาตกหลุมรักผู้หญิงที่ด้อยกว่าในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ฐานะ หรือแม้แต่ความสามารถ ซึ่งทั้งสองมักจะเริ่มต้นด้วยความไม่ชอบหน้า ทะเลาะ และกลั่นแกล้งกัน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นความรักในที่สุด แต่นวนนิยายเรื่องนี้ยังมีโครงเรื่อง จังหวะการดำเนินเรื่องและทิศทางของเรื่องคล้ายคลึงกับละครชุดยอดนิยมทางโทรทัศน์เรื่อง F4 ไม่ว่าจะ
เวอร์ชั่นของไต้หวัน เกาหลี หรือ ญี่ปุ่น อีกด้วย แต่จะต่างกันในรายละเอียดประเด็นสำคัญคือ ใน Servent Love ภารกิจหัวใจยัยคนใช้มือใหม่ กลุ่มของพระเอกมีกัน 6 คน แต่ F4 มี 4 คน และนางเอก F4 เป็นนักเรียนทุน ขณะที่กล้วยหอมเป็นนักเรียนปกติ แต่ต้องยอมเป็นคนรับใช้พระเอก เพราะเขาได้ยึดสร้อยคอสำคัญของเธอไว้เป็นตัวประกัน
สีสันของเรื่องที่เน้นการสร้างความสนุกสนานให้กับเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยการสร้างอารมณ์ที่ล้นเกิดความเป็นจริงในทุกๆ ด้าน ซึ่งเทคนิคการนำเสนอเรื่องในลักษณะเช่นนี้มักจะปรากฏการ์ตูน หรือละครชุดทางโทรทัศน์ที่ตัวละครแสดงในลักษณะของ over acting เพื่อสร้างความสนุกสนานในการผู้ชม มากกว่าที่จะปรากฏในงานงานเขียนประเภทนวนิยาย ดังนั้น เมื่อนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้กับการเขียนนวนิยาย นอกจากจะเป็นการสร้างฉากและเหตุการณ์ที่รุนแรงเกินความจำเป็นแล้ว ยังลดทอนความสมจริงของเรื่องลงไปอย่างมากด้วย ซึ่งพบว่ามีเรื่องราวในหลายฉากหลายตอนในที่ผู้อ่านไม่เชื่อว่าจะเกิดลักษณะเช่นนี้ในชีวิตจริงได้ เช่น การที่กล้วยหอมต้องทนให้เชอรี่และเพื่อนๆ ของเธอแกล้งอย่างรุนแรงมาตั้งแต่อนุบาล จนถึง ม. 6 ทั้งๆ ที่สถานะทางบ้านเธอก็ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกจนต้องยอมอดทนถึงขนาดนั้น อีกทั้งในโรงเรียนแห่งนี้ก็ไม่มีอะไรที่ดึงดูดให้เธอต้องทน เพราะว่าเพื่อนๆ ทุกคนในห้องก็ยินดีที่จะเห็นกล้วยหอมถูกแกล้งซ้ำๆ ทุกวัน หรือกลุ่มแฟนคลับที่หลงรักไคเบอร์จะรุมตบตีผู้หญิงทุกคนที่พวกเธอคิดว่าไคเบอร์ให้ความสนใจอย่างรุนแรงมาก ซึ่งเป็นการยากที่นักเรียนส่วนใหญ่ที่เป็นลูกผู้ดีมีตระกูลเหล่านี้จะต้องทนรับสภาพที่ถูกกระทำอย่างเงียบๆ อยู่เพียงฝ่ายเดียว
ความไม่สมจริงในนวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะฉากการกลั่นแกล้งเท่านั้น แต่ยังมีปรากฏอยู่เป็นระยะๆ โดยตลอดเรื่อง อาทิ เช่น ความรักที่ไคเบอร์มีต่อกล้วยหอม เพราะตลอดช่วงต้นของเรื่อง 1.6.18 ไม่ได้สร้างเรื่องราวให้ผู้อ่านเห็นถึงพัฒนาการทางอารมณ์ของไคเบอร์ที่มีต่อกล้วยหอมว่า อะไรในตัวกล้วยหอมที่ทำให้เขาสนใจ จนกระทั่งพัฒนาเป็นความรักได้ เพราะการพบกันระหว่างไคเบอร์กับกล้วยหอมจะเป็นการสร้างความหงุดหงิด โกรธ และไม่พอใจ ระหว่างกันเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความรักได้เลย จึงเห็นว่า 1.6.18 ควรจะเพิ่มเรื่องราวที่สร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่ไคเบอร์มีต่อกล้วยหอม และกล้วยหอมมีต่อไคเบอร์ให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อพัฒนาไปสู่ความรักระหว่างเขาและเธอในที่สุด ก็จะสร้างความน่าเชื่อถือและอารมณ์ร่วมของผู้อ่านได้มากกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ยังมีหอพักและห้องพักที่กล้วยหอเข้าไปอยู่ในวันแรกที่มีสภาพแย่ยิ่งกว่าห้องเก็บของ จึงทำให้ผู้อ่านยากที่จะเชื่อได้ว่าโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนสำหรับผู้ดีที่หรูหราอย่าง St. High School จะให้นักเรียนที่เสียงเงินค่าเล่าเรียนแพงขนาดนี้อยู่ในห้องเช่นนั้นได้ หากเรื่องนี้จะสมเหตุผล 1.6.18 คงจะต้องลดสถานะของกล้วยหอมจากเด็กนักเรียนปกติลง เหลือเป็นแค่เด็กนักเรียนทุนของโรงเรียน จึงทำให้เธอต้องทนอยู่ในห้องเล็กๆ แคบๆ และสกปรกเช่นนั้น รวมทั้งยังกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอต้องตกอยู่ในสภาพคนรับใช้ของประธานนักเรียนและเพื่อนๆ ของเขาด้วยความจำใจและอดทน เพราะไคเบอร์และเพื่อนๆ เป็นคนกุมชะตาชีวิตของเธอไว้ว่าเธอจะได้ทุนเพื่อเรียนที่โรงเรียนนี้ต่อหรือไม่ และ ฉากที่มีโจรปล้นสวาทเข้ามาดักทำร้ายนักเรียนอยู่ในหอหญิงของโรงเรียน ซึ่งขัดกันการบรรยายมาตั้งแต่ต้นเรื่องว่า โรงเรียนแห่งนี้มีความเข้มงวดในเรื่องการเข้าออกจากโรงเรียนของนักเรียน ซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดรัดกุม จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีโจรเล็ดลอดเข้าแฝงตัวอยู่ในโรงเรียนได้ การสร้างความรุนแรงจนถึงระดับสูงสุด โดยที่ตัวละครไม่มีเหตุผลอันสมควรเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะไม่สร้างความสมจริงให้กับเรื่องเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นการปลูกฝังและสั่งสมความรุนแรงให้กับผู้อ่านไปพร้อมกันด้วย จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่นักเขียนจะต้องพึงระวัง เพรานักเขียนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเขียนและสร้างขึ้นมาด้วย
ทั้งนี้ เหตุผลประการสำคัญของความไม่สมจริงส่วนใหญ่ในนวนิยายเรื่องนี้มาจากความพยายามของ 1.6.18 ที่ต้องการสร้างเรื่องให้สนุกด้วยการสร้างอารมณ์ต่างๆ ของตัวละครในเรื่องไปยังจุดสูงสุดเสมอ เช่น ฉากการแกล้งกันก็ต้องแกล้งให้รุนแรงที่สุด อาทิ การถูกรุมตบ การถูกตัดผม หรือ การถูกขังไว้ในห้องน้ำและเอาน้ำถูพื้นราด ฉากความรุนแรงก็จะแสดงความรุนแรงที่สูงสุด อาทิ ฉากการสอนต่อสู้ของโบลัน ก็ทำให้ลูกศิษย์บาดเจ็บ หรือ กล้วยหอมป้องกันตัวจากการถูกไคเบอร์ลวนลามด้วยการเตะเขาจนสลบด้วยท่าจระเข้ฝาดหาง และฉากการแสดงความรักของไคเบอร์ที่แสดงต่อกล้วยหอมในครั้งแรกโดยการพยายามลวนลามเธอ อันเป็นผลเนื่องมาจากการกินยาผิด
1.6.18 ไม่มีปัญหาในเรื่องการสร้างตัวละคร เนื่องจากตัวละครแต่ละตัวที่ปรากฏในเรื่องต่างมีบุคลิก ลักษณะ และอุปนิสัยใจคอที่โดดเด่น ชัดเจน ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านจดจำและแยกแยะตัวละครต่างๆ เหล่านี้ได้ง่าย รวมทั้งไม่มีปัญหาในเรื่องของการสร้างบทบรรยายและบทสนทนาด้วย แม้ว่าปริมาณของบทบรรยายในเรื่องยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับบทสนทนาก็ตาม แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาอย่างมากในนวนิยายเรื่องนี้คือ คำผิดมีพบเป็นจำนวนมาก ซึ่งเห็นว่า 1.6.18 ควรต้องระมัดระวังในเรื่องการสะกดคำมากขึ้น เพื่อจะผู้อ่านอ่านเรื่องได้เรื่องลื่นไหล ราบรื่น และต่อเนื่อง โดยไม่สะดุดกับคำผิดเป็นระยะๆ เช่นนี้ ซึ่งคำผิดที่พบ อาทิ หนำซ้ำ เขียนเป็น หน่ำซ้ำ บรา เขียนเป็น บลา จราจร เขียนเป็น จลาจล เอ็กซ์ เขียนเป็น เอ๊กซ์ คุกรุ่น เขียนเป็น คุกกรุ่น กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา ขนมจีบ เขียนเป็น ขนมจีน ต้นหางนกยูง เขียนเป็น ต้นนกยูง พิรุธ เขียนเป็น พิรุท ฟองฟ่อด เขียนเป็น ฟองฟ๊อด พิเรนทร์ เขียนเป็น พิเรน แฮะ เขียนเป็น แหะ ทุลักทุเล เขียนเป็น ทุกลักทุเล อัจฉริยะ เขียนเป็น อัจริยะ และ หน้าร้อนผ่าวๆ เขียนเป็น หน้าร้าวผ่าวๆ การใช้วรรณยุกต์ตรีผิด เช่น ว้าย เขียนเป็น ว๊าย ไม่มี้ เขียนเป็น ไม่มี๊ น้า เขียนเป็น น๊า คลิ้ก เขียนเป็น คลิ๊ก และ นุ้มนุ่ม เขียนเป็น นุ๊มนุ่ม การแก้ไขข้อผิดพลาดในประเด็นนี้มีหลักการช่วยจำง่ายๆ คือ วรรณยุกต์ตรีและจัตวาจะใช้เฉพาะกับอักษรกลาง 9 ตัว คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ เท่านั้น
     
 
ใครแต่ง : THE RoundTable
1 มี.ค. 59
80 %
22 Votes  
#113 REVIEW
 
เห็นด้วย
2
จาก 2 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Blue Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 ต.ค. 57
Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์


นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์ ของ The Roundtable ซึ่งโพสต์ถึงตอนที่ 13 เป็นการเล่าถึงตำนานของยักษ์หนุ่มตนหนึ่งที่ชื่อ โฮชิโนะ ชิน ผู้มีชะตากรรมซับซ้อนและกุมความลับสำคัญๆ จนเป็นที่หมายปองของคนจำนวนมากที่ต้องการให้เขาไขความลับนั้นออกมา แต่วันหนึ่งเขาได้ทำสัญญากับวิญญาณนักรบทั้ง 6 เพื่อให้ได้ครอบครองบัลลังก์แห่งราชันย์ ซึ่งเขามีเวลาในการปฏิบัติพันธกิจที่สัญญาให้สำเร็จอย่างจำกัดเพียง 12 เดือนเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเขาจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในครั้งนี้ด้วยชีวิตของตนเอง
Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์ นับเป็นนวนิยายที่มีโครงเรื่องซับซ้อน เพราะนอกจากจะมีโครงเรื่องหลัก (main plot) คือการปฏิบัติพันธกิจของ โฮชิโนะ ชิน ที่สัญญาไว้กับวิญญาณนักรบทั้ง 6 ให้สำเร็จในเวลาอันจำกัดแล้ว The Roundtable ยังสร้างโครงเรื่องย่อย (sub plot) ขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ 13 ตอน ก็มีโครงเรื่องย่อยนับสิบโครงเรื่อง อาทิ (1) กรรมผูกพันของชินที่ต้องตามหาคน 3 คน คือ คู่กรรม คู่แท้ และ คู่ลิขิต (2) หน้าที่ของเทพเจ้าธอร์ที่ต้องตามหาดวงวิญญาณ 108 ดวงที่หนีมาจากวัลฮัลลาให้พบและนำกลับไป (3) ความรักความแค้นระหว่างฌ้อปาอ๋องเซี่ยงหวี หยูจีน (หรือ ชิน ในชาติปัจจุบัน) กับ หลิวปัง (หรือ จีเฟ่น ในชาติปัจจุบัน) (4) พันธกิจที่ฌ้อปาอ๋องเซี่ยงหวีตั้งใจจะทำให้ชินจำได้ว่าตัวเขาเองคือหยูจีภายใน 12 เดือน (5) ชะตาชีวิต ความผูกพัน และความลับระหว่างชินกับฌาน (6) ความบังเอิญที่คนจากนอร์สหลายกลุ่มมาหาชิน เพราะอยากทราบเบาะแสของฌาน ไม่ว่าจะเป็น ธอร์ ยอร์มุนกานดร์ เฮลา และ วิญญาณนักรบ (7) เฮลากับการตามหาฌานเพื่อปลดปล่อยเธอจากพันธนาการแห่งโอดิน และปลดปล่อยโลกนี้จากลิขิตฟ้า (8) แผนการเบื้องหลังของเซิร์ทและโลกิในการจ้างวิญญาณนักรบให้ตามหาฌาน (9) ชินกับพันธกิจที่ต้องกระทำตามต้นตระกูลยักษ์ของตนที่ต้องสาปมนุษย์ในเมืองอากาเนะ ที่ต้องฆ่าชาวอากาเนะเพื่อล้างแค้นให้กับบรรพบุรุษ แต่ขณะเดียวกันเขากลับเป็นคนที่ชาวเมืองอากาเนะยกให้เป็นเจ้าเมือง เพราะเขาสาบานว่าจะปกป้องเมืองนี้และปกป้องมนุษย์ในเมืองนี้ด้วย (10) ชินต้องตามหานักดนตรีจากตระกูลหลักของเมืองทั้ง 4 ตนเพื่อมาเล่นดนตรีเพื่อบูชาเทพเจ้าประจำเมืองภายใน 2 สัปดาห์ การสร้างโครงการย่อยปริมาณมากมากเช่นนี้ ในทางหนึ่งช่วยให้เนื้อหาของเรื่องมีความหลากหลายและน่าสนใจ แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อมีปริมาณมากเกินไปอาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของเรื่องได้ กล่าวคือโครงเรื่องย่อยเหล่านี้ถูกลดทอดความของโครงเรื่องหลักที่ผู้เขียนต้องการสื่ออย่างน่าเสียดาย ขณะเดียวกันยังขัดจังหวะให้การดำเนินโครงเรื่องหลักสะดุดเป็นระยะๆ จนบางครั้งดูเหมือนว่าโครงเรื่องหลักดังกล่าวแทบจะไม่จะเดินเลยก็ตาม ขณะเดียวกันก็น่าเป็นห่วงว่า The Roundtable จะร้อยเรียงประเด็นที่นำเสนอในโครงเรื่องย่อยๆ ที่เปิดไว้จำนวนมากทั้งหมดเข้ากับโครงเรื่องหลักได้อย่างแนบสนิทได้อย่างไร จึงเห็นว่าวิธีแก้ง่ายๆ คือ The Roundtable อาจจะต้องเลือกตัดโครงเรื่องย่อยบางเรื่องที่ยังไม่สำคัญกับโครงเรื่องหลักออกไปเสียบ้าง หรือถ้าคิดว่าทุกโครงเรื่องย่อยที่นำเสนอสำคัญกับนวนิยายเรื่องนี้ ก็คงต้องทิ้งระยะการเปิดโครงเรื่องย่อยแต่ละเรื่องไม่ให้กระชั้นและถี่เช่นนี้ และอาจจะต้องค่อยๆ ปิดประเด็นที่เปิดในโครงเรื่องย่อยลงบ้าง ก่อนที่จะเปิดโครงเรื่องย่อยใหม่ๆ ขึ้นมา
ในประเด็นนี้ก็เช่นกัน ผู้วิจารณ์เห็นว่า The Roundtable เปิดโครงเรื่องหลักหลายๆ เรื่องในเวลาใกล้ๆ กันมากเกินไป ในขณะที่โครงการเรื่องหลักยังดำเนินไปน้อยและไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้ผู้อ่านจดจำได้ เมื่อถูกโครงเรื่องย่อยที่สนุกสนานและหลากหลายมาแทรกอยู่เป็นระยะๆ อาจทำให้ผู้อ่านลืมโครงการเรื่องที่นวนิยายเรื่องนี้ต้องการเสนอได้ไม่ยากนัก แม้ว่าโครงเรื่องย่อยทั้งหมดที่ The Roundtable สร้างขึ้นส่วนใหญ่นั้นเพื่ออธิบายขยายความเรื่องราวและความเป็นไปในชีวิตของโฮชิโนะ ชินก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า The Roundtable อาจจะต้องทบทวนและวางแผนเพื่อสร้างสมดุลของจังหวะในการดำเนินเรื่องระหว่างโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยอีกครั้งก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิดความกลมกลืนได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อีกประการหนึ่งคือ การสร้างเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า (metafiction) กล่าวคือ ขณะที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้ ผู้อ่านไม่ได้อ่านกังอ่านเรื่องของ ฮิชิโนะ ชิน โดยตรง แต่กำลังอ่านเรื่องเล่าของชายคนหนึ่งที่เล่าเรื่องของ ฮิชิโนะ ชิน ให้เด็กกลุ่มหนึ่งฟัง แม้ว่าในตอนเปิดเรื่อง The Roundtable กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจน เมื่ออ่านๆ ไป ผู้อ่านมักจะลืมไปว่ากำลังอ่านเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าอยู่ อาจจะด้วยด้วยความเนียนของการเล่าเรื่อง แต่ The Roundtable ก็จะกระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านตระหนักในประเด็นนี้อยู่เป็นระยะๆ อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์เห็นว่า The Roundtable ยังใช้เทคนิคสร้างเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากนักเขียนส่วนใหญ่ที่เลือกใช้กลวิธีนี้ในการแต่งเรื่องเพื่อสร้างระยะห่างระหว่างผู้อ่านกับเรื่องที่อ่านให้มากขึ้น ซึ่งผู้อ่านต้องตระหนักรู้ถึงระยะห่างที่ว่านี้อยู่ตลอดเวลาที่อ่าน หรือบางครั้งก็จะนำมาเพื่อใช้เป็นการสร้างมุมมองใหม่ของการเล่าเรื่อง เช่นอาจจะให้ตัวละครในเรื่องวิพากษ์การเขียนของนักเขียนซ้อนในเรื่องที่เล่าอีกครั้งหนึ่ง แต่ในเรื่องนี้ผู้อ่านกลับรู้สึกว่าอ่านเรื่องเล่าปกติ โดยมักจะไม่ค่อยตระหนักว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า หาก The Roundtable ไม่คอยกระตุ้นเตือนเป็นระยะๆ ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าของนวนิยายเรื่องนี้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ชื่อเรื่องที่ The Roundtable จงใจให้ชื่อว่า Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์ เพราะคำว่า “Tale of Eventide” หมายถึง เรื่องเล่ายามพลบค่ำ หรือถ้าเป็นเรื่องที่เล่าให้เด็กๆ ฟังดังในเรื่องนี้ ก็อาจจะนับว่าเป็นนิทานก็นอนได้ ส่วนวลีที่ว่า “พันธนาอัตตานิรันดร์” ในที่นี้มีความหมายถึง โฮชิโนะ ชิน เพราะชีวิตของเขาจึงไม่ต่างจากการถูก “พันธนาการตัวตน (หรืออัตตา) ชั่วนิรันดร์” ที่ต้องประสบชะตากรรมมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ที่ชีวิตของเขาถูกพันธนาการติดกับฌาน คนที่เขาต้องอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อปกป้อง ในฐานะผู้พิทักษ์แห่งฌาน ซึ่งเขามิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของชื่อเรื่อง Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์ ก็คือ เรื่องเล่าตอนพลบค่ำที่เกี่ยวกับ ฮิชิโนะ ชิน นั่นเอง
โทนของเรื่องเมื่อ The Roundtable เปิดเรื่องด้วยบทสรุปในชีวิตของ ฮิโรเนะ ชิน ที่นำเสนอด้วยโทนที่หม่นเศร้า เป็นชีวิตของชายหนุ่มที่น่าสงสารต้องพบกับความผิดหวังและความเจ็บช้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ผู้อ่านทำใจที่จะยอมรับว่าเมื่อเปิดอ่านเรื่องต่อๆ ไปจะพบชีวิตที่แสนรันทดของหนุ่มน้อยคนนี้ แต่ The Roundtable กลับพลิกโทนเรื่องทั้งหมดจากเรื่องที่หม่นเศร้ากลายเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และความสนุกสนาน แม้ว่าจะมีบางฉากบางตอนที่แทรกความโศกเศร้าไว้ด้วย แต่ก็นับเป็นส่วนน้อยของเรื่อง จนในตอนแรกผู้วิจารณ์เคยตั้งคำถามกลับตัวเองว่า
ฮิชิโนะ ชิน ในฉากเปิดเรื่อง กับฉากต่อๆ มาเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์คาดว่าเรื่องในช่วงต่อจากนี้อาจจะค่อยๆ ลดความสดใสและมีชีวิตชีวาของเขาลง ขณะเดียวกระแสเรื่องอาจจะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางไปสู่โทนหม่นเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้จบเรื่อง หาก The Roundtable ยังคงต้องการให้ ฮิชิโนะ ชิน ต้องประสบกับชะตากรรมดังที่สรุปจุดจบไว้แล้วตั้งแต่ต้น
การสร้างบทบรรยาย บทสนทนา รวมทั้งการสร้างตัวละครในเรื่องโดยรวม นับว่า The Roundtable ทำได้เป็นอย่างดี เพราะทั้งบทบรรยายและบทสนทนาไม่เพียงแต่ช่วยสร้างให้ตัวละครมีชีวิตชีวา มีความโดนเด่น น่าจดจำเท่านั้น แต่ยังสร้างให้เรื่องราวมีความน่าสนใจและน่าอ่านด้วยภาษาที่ถักทอเรียงร้อยต่อกันอย่างลื่นไหล หากจะมีสะดุดบ้างก็เพราะมีคำผิดแทรกอยู่ประปราย อาทิ สาธารณชน เขียนเป็น สาธารณะชน กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพันธ์ หยักศก เขียนเป็น หยักโศก กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน อุปโลกน์ เขียนเป็น อุปโลก เวท เขียนเป็น เวทย์ สวิตซ์ เขียนเป็น สวิตร์ กลยุทธ์ เขียนเป็น กลยุทธิ์ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ ทัศนียภาพ เขียนเป็น ทรรศนียภาพ และ กังวาน เขียนเป็น กังวาล นอกจากนี้ยังมีการเลือกใช้คำพ้องเสียงผิด คือ ต้องเพิ่งแม่นี่ (เพิ่ง หมายถึง ดำเนินกิริยานั้นไปไม่นาน เช่น เพิ่งจบ เพิ่งนอน) แต่ประโยคที่ถูกต้องคือ ต้องพึ่งแม่นี่ (พึ่ง หมายถึง อาศัย พึ่งพิง)
     
 
ใครแต่ง : Blueblur
7 ก.พ. 58
100 %
1 Votes  
#114 REVIEW
 
เห็นด้วย
2
จาก 2 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 30 ต.ค. 57
นวนิยายแนวรักหวานแหววเรื่อง Bitterblossom : รักหวาน (ขม) ของต้นฤดูร้อน ของ The Moxen เรื่องราวความรักสามเส้าระหว่างหลิน หญิงสาวกำพร้าที่เพิ่งย้ายมาอยู่บ้านที่ได้รับเป็นมรดกจากคุณยาย เพราะอยู่ใกล้กับที่ทำงานมากกว่า กับเพื่อนบ้านชื่อริว ชายหนุ่มรูปหล่อเป็นเจ้าของร้านดอกไม้ ที่ชอบหาเรื่องมาทานข้าวที่บ้านเธอบ่อยๆ และ โจ เพื่อนร่วมงานสุดเท่ ที่เข้ามาสนิทสนมและหาเรื่องชวนหลินไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอๆ แต่เรื่องราวยิ่งวุ่นวายเข้าไปอีก เมื่อปอเพื่อนร่วมงานของริวแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าชอบเขา และยังมีทิพย์ประชาสัมพันธ์สาวที่บริษัทมาสารภาพกับหลินว่าแอบชอบโจมานานกว่า 2 ปีแล้ว เรื่องราวความรัก (ขมๆ) ที่เริ่มต้นเมื่อหลินย้ายบ้านใหม่ในช่วงต้นฤดูร้อนจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป ขณะที่โพสต์ถึงตอนที่ 16 แล้ว
Bitterblossom : รักหวาน (ขม) ของต้นฤดูร้อน นวนิยายแหวานแหววที่ไม่ได้มีเพียงแก่นเรื่องหลักอยู่ที่รักสามเส้าของคนสามคน คือ หลิน ริว และโจ แต่ The Moxen ยังเพิ่มความซับซ้อนของเรื่องด้วยโครงเรื่องย่อยของการมีหญิงสาวแสนดีที่หลินรู้จักมาแอบรักชายหนุ่มทั้งสองอีกด้วย ซึ่งหลินเองก็เป็นผู้ล่วงรู้ความในใจของทั้งปอและทิพย์เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเพิ่มให้ตัวละครชายที่เป็นที่หมายปองของหญิงสาวทั้งสองคนต่างมีความลับและความหลังในใจที่ยังไม่ได้เปิดเผยออกมาอีก จึงนับว่าเป็นการสร้างเรื่องราวได้อย่างมีมิติและน่าติดตาม แต่น่าเสียดายว่า The Moxen ยังขาดการพัฒนาโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยที่วางไว้อย่างน่าสนใจ เพราะตลอด 16 ตอนที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเรื่องจะดำเนินไปเรื่อยๆ ตามชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวันของหลิน ตั้งแต่ตื่นนอน ออกเดินทางไปทำงาน ทำงาน ทานอาหารกลางวัน เลิกงาน เดินทางกลับบ้าน และในช่วงวันหยุดก็อาจจะมีกิจกรรมพิเศษบางอย่าง จึงทำให้เรื่องดูจะขาดจุดเน้นที่จะดึงดูดความสนใจผู้อ่านให้ติดตามอ่านเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่าการเล่ารายละเอียดบางอย่างในชีวิตของหลินหากไม่สำคัญไม่ต้องอธิบายหรือบรรยายมากนักก็ได้ เช่น ฉากที่อธิบายรสชาติอาหารญี่ปุ่นที่หลินไปทานกับโจ หรือ ฉากการทำความสะอาดบ้านและห้องครัวของหลินตอนย้ายบ้านมาใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า หาก The Moxen สร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องโดยนำมาปมปัญหาที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักสามเส้า การแอบรัก หรือ ความลับและความหลักของตัวละครต่างๆ นำมาสร้างเป็นเงื่อนไข และพัฒนาปมปัญหาเหล่านี้ให้ทวีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความรักที่ต้องเลือกของหลิน จากนั้นค่อยขมวดปมปัญหาให้พัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุดคือจุดที่หลินต้องเลือก ก่อนที่จะคลี่คลายเรื่องราวความรักครั้งนี้ในตอนจบเรื่อง ก็น่าจะทำให้เรื่องนี้มีปมเรื่องที่น่าสนใจและติดตามมากกว่าการตามดูชีวิตประจำวันของหลินไปเรื่อยๆ เช่นนี้
ข้อบกพร่องอีกประการหนึ่งคือ ความสมจริงของตัวละคร แม้ว่า The Moxen จะเน้นย้ำผู้อ่านให้ตระหนักอยู่เสมอว่าตัวละครทั้งหมดของเรื่องอยู่ในวัยทำงานแล้วก็ตาม แต่บุคลิก แนวคิด คำพูดและการกระทำของตัวละครส่วนใหญ่ดูคล้ายกับว่ายังเป็นนักเรียนในระดับมัธยมปลายหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้น จึงทำให้ผู้อ่านยากที่จะเชื่อว่าคนเหล่านั้นเรียนจบและทำงานแล้วจริงๆ ดังนั้น หาก The Moxen ยังจะยืนยันให้ตัวละครของตนเป็นคนที่ทำงานแล้วก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ตัวละครทั้งหมดมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ริวที่ยังมีความเป็นเด็กมากๆ จนไม่อาจจะเชื่อได้ว่าเขาเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบทั้งตัวเอง ซึ่งอยู่บ้านตามลำพังคนเดียว และดูแลธุรกิจร้านดอกไม้ของตนเองมาหลายปีแล้ว
อย่างไรก็ตามยังพบว่า The Moxen ไม่มีปัญหาในเรื่องสร้างบทบรรยายและบทสนทนา ที่ช่วยสร้างให้เห็นบุคลิก ลักษณะ อุปนิสัยต่างๆ ของตัวละครได้เป็นอย่างดี รวมทั้งบทบรรยายความในใจของตัวละครด้วย แต่สิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วนคือการสะกดคำ เนื่องจากพบคำผิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ คือ 1) การสะกดคำผิด อาทิ เน็ต เขียนเป็น เนต พึมพำ เขียนเป็น พืมพำ ปรากฏ เขียนเป็น ปรากฎ น็อค เขียนเป็น น๊อค เว็บไซต์ เขียนเป็น เว็บไซด์ เหลือบ เขียนเป็น เลือบ สารคดี เขียนเป็น สาระคดี เปล่า เขียนเป็น ป่าว สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ ปะติดปะต่อ เขียนเป็น ประติดประต่อ ขวักไขว่ เขียนเป็น ขวักไกว่ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา เปิ่น เขียนเป็น เปิ่ม หยักหน้า เขียนเป็น หงักหน้า ล็อต เขียนเป็น ล๊อต เขียวแป๊ดๆ เขียนเป็น เขียวแป็ดๆ ผลัดกัน เขียนเป็น ผลักกัน เคหสถาน เขียนเป็น เคหะฐาน เซ็ง เขียนเป็น เซง สถานการณ์ เขียนเป็น สถานการน์ จนกระทั่ง เขียนเป็น จำกระทั่ง เหรอ / หรือ เขียนเป็น หรอ เฟอร์นิเจอร์ เขียนเป็น ฟอร์นิเจอร์ ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพันธ์ คะยั้นคะยอ เขียนเป็น ขยังขยอ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ และ สัญญาณ เขียนเป็น สัญญาน 2) การใช้วรรณยุกต์ผิด เช่น นี่นา เขียนเป็น นินา ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ หว้าย เขียนเป็น หว๊าย มั้ย เขียนเป็น ไม๊ย ม้า เขียนเป็น ม๊า นี่ เขียนเป็น นี้ นี่นา เขียนเป็น นี้หน่า ว้าย เขียนเป็น ว๊าย หนอย เขียนเป็น หน๊อย ย้าก เขียนเป็น ย๊าก มะ เขียนเป็น ม๊ะ เน้อ เขียนเป็น เน๊อ หนำใจ เขียนเป็น หน่ำใจ ดูคร่าวๆ หรือ ดูราวๆ เขียนเป็น ดูคราวๆ เดี๋ยว เขียนเป็น เดี้ยว วี้ดว้าย เขียนเป็น วี้ว๊าย มั้กๆ เขียนเป็น มั๊กๆ 3) การใช้คำผิดความหมาย เช่น ค้นขวายหา ควรเขียนว่า ค้นหา หรือ ขวนขวายหา กลั้นหัวเราะ เขียนเป็น ข่มหัวเราะ (ข่มมักใช้กับอารมณ์ เช่น ข่มความโกรธ) หรือประโยคที่ว่า “นอกไส้อื่น ยังมีไส้นี้อีกนะ” ควรเขียนว่า “นอกจากไส้นี้ ยังมีไส้อื่นอีกนะ” 4) การใช้ลักษณนามผิด เช่น ดาวเป็นล้านดวง เขียนเป็น ดาวเป็นล้านตัว จึงเห็นว่าต่อไป The Moxen ต้องให้ความสำคัญในประเด็นนี้มากขึ้น และวิธีที่ดีที่สุดคือตรวจสอบความถูกต้องจากพจนานุกรมอีกครั้ง
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12