หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ใครแต่ง : K.W.E.
15 ต.ค. 66
80 %
92 Votes  
#11 REVIEW
 
เห็นด้วย
18
จาก 19 คน 
 
 
บทวิจารณ์ มีอา-มังกรน้อยปาฏิหาริย์ - (Master And The Little Dragon) -

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 18 ม.ค. 54
นิยายเรื่อง มีอา มังกรน้อยปาฏิหาริย์ ผลงานของ K.W.E. ที่นำมาฝากไว้ให้วิจารณ์ เป็นเรื่องราวของฟิล เด็กหนุ่มอายุสิบแปดปีที่เป็นเกษตรกร อาศัยอยู่ตัวคนเดียว เนื่องจากแม่และน้องสาวที่ชื่อมีมี่เสียชีวิตไป และเครนี่ผู้เป็นพ่อ ก็กลับไปเป็นอัศวินมังกร อาชีพเก่าของเขา ด้วยเหตุผลที่ยังไม่เปิดเผย นอกจากฟิลจะเป็นเกษตรกรขายผักและไวน์แล้ว เขาก็ยังมีความสามารถพิเศษคือ การสื่อสารกับสัตว์ต่างๆ และสามารถใช้เวทมนตร์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ถึงแม้ฟิลจะต้องอาศัยอยู่ตัวคนเดียว แต่เขาก็ยังมีหลวงพ่อโรเบิร์ต เพื่อนของบิดา คอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ
เนื่องจากเครนี่ทิ้งครอบครัวไปเป็นอัศวินมังกร จึงทำให้ฟิล “เกลียด” พ่อและมังกรตลอดมา แต่แล้ววันหนึ่งก็มีสาวน้อยนาม “มีอา” ตกลงมาจากท้องฟ้า เรื่องราวมาเฉลยภายหลังว่าเธอคือมังกรน้อยที่ถูกส่งมาจาก “อีเทอร์โร่” ดินแดนที่เหล่ามังกรอพยพหนีไปเมื่อหลายพันปีก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ที่ชอบใช้ประโยชน์จากมังกร... การมาของมีอาคือสิ่งที่ “อีวา” มารดาของมังกรทั้งปวง หวังว่าเธอจะนำความสัมพันธ์อันดีหวนคืนสู่มนุษย์และมังกร อีกทั้งสร้างสันติภาพกลับคืนสู่ “เคลเฟอร์” โลกมนุษย์ในเรื่องนี้อีกด้วย

หลังจากที่ได้อ่านนิยายเรื่องนี้จนจบ 21 ตอน ตามที่ผู้เขียนได้โพสต์ไว้ และได้ตามไปอ่านบทความ “ก่อนจะมาเป็นนิยายเรื่อง มีอา-มังกรน้อยปาฏิหาริย์”แล้วก็พบว่า ตัวละครที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้คือมีอา มังกรน้อยนั่นเอง เพราะผู้แต่งกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก “มิลรีฟ” มังกรน้อยในเกม Summon nights 4 และนำเอาภาพของมิลรีฟมาใช้แทนมีอาอีกด้วย รองลงมาคือฟิล เด็กหนุ่มที่มีความสามารถหลากหลายดังที่กล่าวมา ในช่วงต้นของนิยายเรื่องนี้ เป็นการบรรยายถึงวิถีชีวิตของตัวละครเอกทั้งสองตัว ไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตร ทำอาหาร นำพืชผักและไวน์ไปขายในเมือง ต้องต่อสู้กับหมาป่าและคนร้าย ฯลฯ ระหว่างที่บรรยายวิถีชีวิตของทั้งสองคน ผู้เขียนก็ถือโอกาสบรรยายภาพของโลกเคลเฟอร์ไปด้วยว่ามีสภาพแวดล้อมอย่างไร มีเมืองและป่าเป็นแบบใด มีสิ่งมีชีวิตแบบใดอาศัยอยู่บ้าง ซึ่งก็ถือว่าทำได้อย่างแนบเนียนดี

ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลกับมีอาแสดงออกผ่านการอ่านนิทานให้ฟังก่อนนอน การทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ผู้อ่านจะเห็นว่าฟิลเปิดใจรับมีอามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุเพราะความน่ารักของมีอา และยังเป็นเพราะความคล้ายกันระหว่างมีอาและมีมี่ น้องสาวที่ฟิลเคยสูญเสียไป ทว่าสิ่งที่ผู้อ่านมองเห็นไม่ชัดนักคือความเกลียดชังมังกรของฟิลซึ่งผู้เขียนพยายามย้ำด้วยคำพูดตลอดเวลาว่า ฟิลเกลียดมังกร ทว่าเท่าที่อ่านเห็นเขาเพียงแต่พร่ำพูด และมีตัวละครอื่นเช่นหลวงพ่อโรเบิร์ตคอยย้ำเตือนกับผู้อ่านเท่านั้น แต่พฤติกรรมของเขาที่แสดงออกว่าเกลียดมังกรนั้นยังไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจน ผู้เขียนน่าจะต้องเพิ่มเติมส่วนนี้ให้มากขึ้นทั้งก่อนที่ฟิลจะได้พบมีอา และในช่วงต้นของการอยู่ร่วมกันระหว่างสองคน เช่น อาจจะให้ฟิลมองมังกรในตลาดอย่างเกลียดชัง หรือให้เขาทำร้ายมังกร หรือไม่อยากให้มังกรเข้าใกล้บ้าง แต่ในเนื้อเรื่องฟิลรับมีอาเข้ามาอยู่ด้วยอย่างง่ายดายตั้งแต่ตอนแรก ถึงแม้ว่าในขณะนั้นยังไม่เป็นที่ประจักษ์ในเรื่องว่าสาวน้อยคนนี้เป็นมังกร แต่เมื่อเธอเอ่ยออกจากปากตัวเองว่า “มีอาเป็นมังกรค่ะ” แล้ว หากเป็นผู้ที่เกลียดชังมังกรก็ควรจะมีการ “ทำใจลำบาก” บ้าง ก่อนที่จะรับเธอมาอยู่ด้วย อีกทั้งยังจะต้องมีการปรับตัวในช่วงแรกๆ เช่น ฟิลอาจจะต้องให้มีอาไปอยู่ในคอกม้า หรือใช้ให้มีอาทำงานหนักๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เห็นความน่ารักของมีอา หรือความเหมือนน้องสาวของตน จึงค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อมีอา

ในด้านของการบรรยายลักษณะของตัวละคร นอกจากมีอาที่ผู้เขียนให้ผู้อ่านได้เห็นภาพจากในเกมแล้ว การบรรยายตัวละครอื่นยังไม่ค่อยชัดเจนนัก แม้แต่ฟิลเอง ผู้อ่านก็ยังไม่เห็นว่า ฟิลมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ผู้เขียนต้องไม่สับสนระหว่างการบรรยายพฤติกรรม ลักษณะนิสัยของตัวละคร ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว (มีการบรรยายว่าฟิลเป็นลูกใคร มีนิสัยอย่างไร ชอบทำอะไร เป็นต้น) กับการบรรยายรูปร่างลักษณะของตัวละคร เมื่อผู้อ่านไม่เห็นหน้าตาของตัวละครเอกเสียแล้ว ตัวละครอื่นๆ เช่นหลวงพ่อโรเบิร์ต ลอร่า เครนี่ ฯลฯ ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะได้เห็นเพียงภาพอันรางเลือนเท่านั้นเอง แม้แต่มีอาที่รู้สึกว่าเห็นภาพชัดเจน ก็เป็นเพราะภาพที่นักเขียนนำมาให้ดูต่างหาก ไม่ใช่จากคำบรรยายของนักเขียน เพราะคำบรรยายมีอาในร่างมังกรนั้นก็เห็นภาพแค่ “มังกรขนาดเล็กสีชมพู” เท่านั้นเอง จึงอยากให้ผู้เขียนบรรยายรูปร่างหน้าตา ตลอดจนการแต่งกายของตัวละครให้มากกว่านี้

การดำเนินเรื่องในช่วงต้นนอกจากการเล่าเรื่องชีวิตประจำวันของฟิลและมีอาแล้ว ยังมีการสลับไปเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในอดีต สาเหตุที่อีวาพาเหล่ามังกรระดับสูงอพยพไปจากเคลเฟอร์ โดยผู้เขียนเล่าผ่าน “นิทานภาพ” ที่มีอานำมาให้ฟิลอ่านให้ฟังก่อนนอน ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นข้ออ้างที่ดีที่จะสลับไปเล่าเรื่องนี้ อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากชีวิตประจำวันบ้าง แต่คำว่า “นิทานก่อนนอน” ย่อมหมายถึง หนังสือที่ไม่มีรายละเอียดมากนัก เป็นการเล่าด้วยการบรรยายอย่างง่าย เพื่อให้เด็กฟัง นอกจากนี้ผู้เขียนยังบอกไว้อีกด้วยว่าเป็น “นิทานภาพ” ซึ่งก็คือ หนังสือที่แสดงภาพเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากการบรรยายยาวยืดของผู้เขียนที่เขียนไว้ถึงสองตอน จึงขอแนะนำว่า หากยังคงต้องการจะเล่าผ่านนิทานภาพ ก็ควรจะวาดภาพจริงๆ ไปเลย อาจเป็นภาพแบบเด็กๆ เป็นมุมมองของมีอา ก็ได้ หรือหากจะบรรยายยาวๆ ก็อาจจะหาข้ออ้างอื่น เช่น ฟิลได้พบหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญ หรือหาเหตุอื่นที่ทำให้เขาได้รู้เรื่องนี้ อีกทางเลือกหนึ่งคืออาจจะยังไม่ต้องเล่าประวัติศาสตร์ในตอนนี้ แต่ค่อยๆ เล่าผ่านมีอาก็ได้

ช่วงต่อมาผู้เขียนเริ่มเล่าถึงการทำสัญญาระหว่างฟิลและมีอา ประกอบกับเรื่องของการทำสงครามระหว่างไฮแลนด์กับประเทศที่ฟิลและมีอาอาศัยอยู่ สาเหตุที่ฟิลและมีอาต้องทำสัญญากันก็เป็นเพราะหากมังกรไม่ทำสัญญากับมนุษย์แล้วก็จะต้องป่วยจนถึงแก่ชีวิต ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ผู้เขียนได้เกริ่นเอาไว้และย้ำอย่างสม่ำเสมอ จึงไม่รู้สึกแปลกหรือขัดเมื่อมีอาเริ่มเกิดอาการป่วยจนต้องทำสัญญา และเมื่อมีอาป่วยก็ทำให้ฟิลนึกถึงอาการป่วยของน้องสาวก่อนที่จะเสียชีวิต ทำให้เขาไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก เหตุผลสองประการนี้ถือเป็นความสมเหตุสมผลที่ยอมรับได้ จึงขอชื่นชมผู้เขียนที่ได้ปูเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี (หากจะไม่นับเรื่องการเล่าประวัติศาสตร์ผ่าน “นิทานภาพ” ที่ได้กล่าวไปแล้ว) นอกจากนี้ในช่วงที่ผู้เขียนเริ่มพูดถึงแม่และน้องสาวของฟิล กับสาเหตุที่ผู้เป็นพ่อต้องหนีจากครอบครัวไป ว่าเป็นเพราะน้องสาวเป็น “มังกรเชื้อสายมนุษย์” ที่ไม่อาจจะอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ และอาจจะไม่สามารถทำสัญญาได้ด้วย เนื่องจากเป็นมังกรที่ไม่สมบูรณ์ที่ไม่สามารถแปลงร่างเป็นมังกรได้ ก็ถือว่าเป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลดี ส่วนการที่นักเขียนให้น้องสาวของฟิลยังคงป่วยตายทั้งที่พ่อไม่อยู่แล้ว เพื่อให้ฟิลโทษตัวเองว่าอาจจะเป็นเพราะตนนั้น ผู้วิจารณ์ก็ยังอยากจะทราบว่าผู้เขียนจะหาทางออกให้กับเรื่องนี้อย่างไร เพราะเท่าที่อ่านดูยังไม่เห็นสาเหตุอื่นที่ทำให้น้องสาวฟิลตายนอกจากเชื้อสายผู้บังคับมังกรของฟิล เมื่อเครนี่ต้องจากครอบครัวไปเพราะเรื่องนี้ เขาเองก็น่าจะพาฟิลไปด้วยเพราะอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีมี่ต้องตายเช่นกัน แต่กลับปล่อยฟิลไว้กับน้องสาว หากผู้เขียนยังรักษามาตรฐานเดิม คือมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลกับเรื่องนี้ได้ ก็จะเป็นการดีมาก

อีกประเด็นหนึ่งที่เริ่มพูดถึงคือการทำสงครามระหว่างประเทศของฟิลกับไฮแลนด์ ซึ่งจะเป็นการดึงเหล่ามังกรเข้าสู่สมรภูมิรบที่กำลังจะมาถึง เรื่องราวอยู่ในระหว่างการปูทางให้ผู้อ่านเข้าใจว่าสงครามเกิดขึ้นได้อย่างไร และให้ภาพประเทศไฮแลนด์อย่างคร่าวๆ ว่าเป็นประเทศที่ต้องการแย่งชิงทรัพยากรจากผู้อื่น และนิยมใช้มังกรที่มีขนาดใหญ่ พละกำลังสูง แต่มีความเร็วต่ำ และผู้เขียนเริ่มพาฟิลกับมีอาเข้ากองทัพ ด้วยการพาไปฝึกในฟาร์มมังกร ที่แห่งนั้นฟิลได้เรียนรู้ว่าเขามีความสามารถทำสัญญากับมังกรหลายตัวได้ เรื่องราวเท่าที่อ่านก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ แต่การที่ฟิลทำสัญญากับมังกรได้หลายตัว โดยอาจจะไม่นำมีอาเข้าสู่สนามรบ ก็ทำให้ผู้วิจารณ์นึกไปถึงเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจนว่า ผู้เขียน “รัก” ตัวละครที่ชื่อมีอามากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีอาติดอยู่ในเหมือง หาทางออกไม่ได้ นอกจากจะพ่นไฟใส่กองเหล็กจนหลอมละลายเท่านั้น ในขณะนั้นมีอายังพ่นไฟได้แค่แบบธรรมดา แต่ทันใดนั้นเอง เธอกลับพ่นไฟ “บลูเฟลม” ที่มีความรุนแรงสูงมากได้ทันที หรือในตอนที่ต้องต่อสู้กับทหารมังกรสามคน มีอาก็ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ทั้งที่ตนเองเป็นเพียงมังกรเด็กที่ต้องสู้กับทหารที่มีประสบการณ์รบ หรือตอนที่ฟิลแอบหนีไปกองทัพเพียงคนเดียว มีอาก็ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็สามารถตามตัวพบ เป็นต้น การที่ผู้เขียนให้ฟิลสามารถทำสัญญากับมังกรได้หลายตัวก็แสดงว่า ผู้เขียนอาจจะใช้มังกรบางตัวมาสังเวยเพื่อให้มีอายังคงมีสวัสดิภาพที่ดีในชีวิตต่อไป จึงขอแนะนำว่า ผู้เขียนควรลดความ “รัก” มีอาให้น้อยลง และพยายามเขียนเรื่องอย่างสมจริงมากขึ้น อยากให้ลองคิดดูว่าฟิลกับมีอา ควรจะได้ร่วมชีวิตและร่วมรบกันอย่างเต็มที่ ร่วมทุกข์ร่วมสุขซึ่งกันและกัน เป็นคู่หูที่แท้จริง เพราะในขณะนี้ความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นกับมีอา เป็นเพียงการร้องไห้ของเด็กๆ แค่ไม่ทันข้ามคืน ความเศร้าก็หายไปเท่านั้น ยังไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่าง “คู่ทำสัญญามังกร” ที่ควรจะเป็น ผู้วิจารณ์ขอแนะนำว่า ผู้เขียนควรจะไปอ่านหนังสือนิยายที่เป็นแนวนี้ เช่น Eragon หรือ Dragon Delivery หรือภาพยนตร์เรื่อง How to train your dragon ที่แต่ละเรื่อง มังกรที่เป็นตัวเอกก็ล้วนเป็นมังกรในตำนาน แต่พวกเขาหรือเธอก็ต้องเผชิญกับผยัญตราย
อย่างแท้จริงร่วมไปกับคู่หูที่เป็นมนุษย์

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึง คือ การหาทางออกอย่างง่ายๆ ของผู้เขียนเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เช่น การออกจากเหมืองที่ได้พูดไปแล้ว จู่ๆ มีอาก็มี “บลูเฟลม” ได้ตอนนั้นพอดี ตอนต่อสู้กับทหารมังกรทั้งสาม ก็ให้บังเอิญว่าหลวงพ่อโรเบิร์ตเคยเป็นรองแม่ทัพมาห้ามไว้ได้พอดี หรือตอนที่ฟิลหลบหลีกไปตามป่าเพื่อไม่ให้มังกรมองเห็นได้ง่าย ก็ให้บังเอิญว่ามังกรของแลนซาร์ดมี “หูทิพย์” ที่ทำให้ความพยายามของฟิลไร้ประโยชน์ แม้แต่เรื่องที่ควรจะเน้นย้ำเป็นเรื่องสำคัญ อย่างความสัมพันธ์ระหว่างเครนี่และฟิล ทั้งๆ ที่เกลียดกันมานานหลายปี แต่กลับคืนดีกันได้อย่างง่ายดาย เพียงเพราะการปลอบโยนของมีอา และการเล่าเรื่องของโรเบิร์ต ถึงแม้ว่ามีอาจะสามารถเยียวยาจิตใจได้เพียงใด และโรเบิร์ตจะมีความน่าเชื่อถือแค่ไหนสำหรับฟิล แต่สำหรับพ่อที่ฟิลเกลียดฝังใจ และเป็นคนที่ทำให้ตนเองต้องอยู่คนเดียวมานานแสนนานนั้น ถึงแม้มีอาและโรเบิร์ตจะพยายามช่วย และฟิลก็รับรู้สิ่งเหล่านั้น แต่เขาก็น่าจะมีทิฐิที่ทำให้การคืนดีกับพ่อต้องใช้เวลามากกว่านี้ ไม่ใช่คืนดีกันในชั่วข้ามคืนอย่างที่เป็นอยู่

สำหรับการสะกดผิดเท่าที่มองเห็น ส่วนมากเป็นการสะกดผิดที่เกิดขึ้นจากการรีบพิมพ์ จึงขอแนะนำให้ผู้เขียนตรวจทานให้ดีก่อนที่จะโพสต์ก็จะช่วยได้

------------------
     
 
ใครแต่ง : มะนาวขาว
28 ธ.ค. 56
80 %
171 Votes  
#12 REVIEW
 
เห็นด้วย
17
จาก 17 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Rotkäppchen :: นิทานของสาวน้อยหมวกแดง

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 16 ก.ค. 55
นิยายเรื่อง Rotkäppchen :: นิทานของสาวน้อยหมวกแดง ของ มะนาวขาว เป็นนิยายที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งในเว็บไซต์เด็กดี ขณะที่เขียนบทวิจารณ์นี้ผู้เขียนแต่งได้ถึงบทที่ 29 แต่กว่ามะนาวขาวจะได้อ่านบทวิจารณ์ ผมก็คาดว่านิยายเรื่องนี้คงจะดำเนินเรื่องไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก เพราะผู้เขียนแต่งนิยายได้ค่อนข้างรวดเร็ว อาจเป็นเพราะการวางโครงเรื่องที่มีการวางแผนมาอย่างดี ดังที่ผู้อ่านได้สัมผัสขณะอ่านนิยาย

เรื่องราวของ Rotkäppchen :: นิทานของสาวน้อยหมวกแดง ก็เป็นดังชื่อเรื่อง คือเป็นเรื่องราวของสาวน้อยหมวกแดงนาม แมรี่โกลด์ วูดส์แมน และมนุษย์หมาป่าที่ชื่อ ชาฮาร์ คานิดาล์ย แต่ความสัมพันธ์ของคนคู่นี้มิได้เป็นไปดังนิทานที่เคยได้ยินได้ฟังกันมา เพราะแทนที่มนุษย์หมาป่าจะพยายามฆ่าสาวน้อยหมวกแดงเพื่อกินเป็นอาหาร เขากลับหลงรักเธอ ยิ่งกว่านั้นทั้งสองคนก็รู้จักกัน และเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่วัยเยาว์

เมื่อกล่าวเช่นนี้อาจทำให้เข้าใจไปว่านิยายเรื่องนี้เป็นการตีความนิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงใหม่ แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสาวน้อยหมวกแดงและมนุษย์หมาป่าในเรื่องนี้เป็นการหยิบยืมบุคลิกของตัวละครในนิทานมาเปลี่ยนแปลงให้หนูน้อยกลายเป็นสาวสวยเจ้าความคิด ในขณะที่มนุษย์หมาป่าก็กลับกลายเป็นนักเล่านิทานผู้รักเด็กที่ต้องปกปิดตัวตนไว้ในร่างมนุษย์ เรื่องราวหลักของนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ความรักของคนทั้งสอง ซึ่งถูกกีดกันจากความเกลียดชังระหว่างเผ่าพันธุ์มนุษย์และหมาป่า ที่แม่มดเป็นผู้วางแผนก่อขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมนุษย์หมาป่าคนอื่นๆ เชื่อว่าหากนำสาวน้อยหมวกแดงมาบูชายัญจะสามารถปลดปล่อยพวกเขาจากคำสาป จึงทำให้ชาฮาร์ต้องคอยปกป้องเธอจากพวกเดียวกัน

เนื้อเรื่องหลักนอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงการนำบุคลิกของตัวละครในนิทานมาใช้ในนิยายที่แต่งขึ้นใหม่แล้ว ในนิยายเรื่องนี้ยังมีการผสมผสานนิทานจำนวนมากเข้าไปในเนื้อเรื่องตามความตั้งใจของผู้เขียนที่จะ “รวมความหลากหลายของนิทานหลายเรื่องร้อยเรียงกันเป็นหนึ่งเดียว” โดยการใช้กลวิธีการดำเนินเรื่องที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การให้ชาฮาร์เล่านิทานเรื่องนั้นๆ เอง เพราะเป็นนักเล่านิทานอยู่แล้ว หรือผู้เขียนได้ดัดแปลงเนื้อเรื่องของนิทานดังเหล่านั้น เช่น เจ้าหญิงนิทรา สโนว์ไวท์ ซินเดอเรลล่า ราพันเซล เป็นต้น ให้เข้ากับเนื้อเรี่องหลัก ซึ่งก็สามารถผสมผสานนิทานเหล่านั้นเข้ากับเนื้อเรื่องของนิยายได้เป็นอย่างดี โดยผู้อ่านไม่รู้สึกว่าเรื่องราวของนิทาน “โดด” ออกมา ผมต้องขอยอมรับว่าในบางบทนั้นอ่านไปแล้วแทบไม่ทราบว่ามีนิทานแทรกอยู่ จนกระทั่งได้อ่านความเห็นของผู้เขียนตรงท้ายบท จึงขอชมเชยว่าผู้เขียนทำส่วนนี้ได้แนบเนียนดีมาก แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนต้องระวังไม่ให้เนื้อเรื่องย่อยของตัวละครอื่นๆ เด่นจนบดบังเนื้อเรื่องหลัก ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับนิยายที่มีนิทานจำนวนมากเป็นส่วนประกอบ แต่ก็ต้องขอให้ผู้เขียนพยายาม

ในขณะที่ผู้เขียนสามารถร้อยเรียงเรื่องราวหลากหลายเข้ามาอยู่ในนิยายเรื่องเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ แต่การเล่าเรื่องกลับอ่านดูแล้วรู้สึกค่อนข้างธรรมดา ปัญหาอาจอยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่องที่เป็นการบอกเล่าตรงๆ อยู่เกือบตลอดเวลา จึงขอแนะนำว่าผู้เขียนอาจจะต้องคิดค้นกลวิธีการเล่าเรื่องที่มีความแยบยลมากกว่านี้ เช่น มีการปิดบังบางอย่างไว้เป็นความลับ หรือเล่าเรื่องจากมุมมองของตัวละครอื่นๆ โดยอาจจะลองอ่านนิยายเรื่องอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางก็ได้

ผมได้อ่านคอมเมนต์จากผู้อ่านนิยายเรื่องนี้ว่าตัวละครทุกตัวต่างมีเหตุผลของการกระทำ แม้แต่ตัวร้ายก็ไม่ใช่ตัวละครที่มีเพียงด้านเดียว ก็เห็นว่าเป็นจริงเช่นนั้น แต่ด้วยความที่ผู้เขียนอยากจะให้ตัวละครมีเหตุผลเช่นนี้เอง จึงทำให้ตัวละครส่วนใหญ่ออกมาบอกเล่าสาเหตุของการกระทำของตน ซึ่งการใช้รูปแบบการเขียนซ้ำๆ เช่นนี้ ในบางครั้งผู้อ่านก็รู้สึกเหมือนจิตแพทย์ที่ต้องนั่งฟังความรู้สึกของตัวละคร จึงรู้สึกว่าตัวละครไม่ต้องเล่าความรู้สึกของตัวเองก็ได้ แต่อาจจะให้ผู้อ่านหรือตัวละครอื่นได้เข้าใจตัวละครนั้นๆ จากการกระทำของพวกเขา หรือให้ตัวละครอื่นเป็นคนพูด น่าจะแนบเนียนดีกว่า

สิ่งหนึ่งที่ขอชื่นชมผู้เขียนคือความละเอียด และเอาใจใส่ในการเขียน ทั้งการผสมผสานเรื่องราวนิทานเรื่องต่างๆ นอกจากจะมีความกลมกลืนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ผู้เขียนก็ยังมีการอธิบายเป็นเกร็ดความรู้ไว้ท้ายบทบางบทด้วย แสดงให้เห็นถึงการทำการบ้านมาเป็นอย่างดี (แต่จะดีกว่านี้หากผู้เขียนสามารถสอดแทรกเกร็ดความรู้เหล่านั้นไว้ในเนื้อเรื่องอย่างแนบเนียน) แม้แต่ชื่อของตัวละครแต่ละตัวก็ยังอธิบายให้เห็นถึงที่มาที่ไปและความหมายต่างๆ ดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ในบทหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับอธิบายชื่อของตัวละครโดยเฉพาะ ความใส่ใจเช่นนี้จึงแตกต่างจากนิยายแฟนตาซีทั่วๆ ไป ที่บางครั้งผู้เขียนอาจจะตั้งชื่อที่ฟังดูเท่ แต่ไม่มีความหมาย เมื่อมีความละเอียดและใส่ใจดังนี้แล้ว จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องของการสะกดคำ เท่าที่พบมีอยู่น้อยมาก เชื่อว่าถ้าผู้เขียนได้ตรวจสอบอีกครั้งก็คงจะไม่มีคำที่สะกดผิดเลย

สุดท้ายนี้ผมอยากจะให้กำลังใจ “มะนาวขาว” อีกครั้ง เนื่องจากเห็นถึงความตั้งใจในการเขียนนิยายเรื่องนี้ หากแก้ไขจุดบกพร่องที่ได้กล่าวไปแล้ว เชื่อว่านิยายเรื่อง Rotkäppchen :: นิทานของสาวน้อยหมวกแดง คงจะเป็นนิยายในดวงใจใครหลายคนได้ไม่ยาก
     
 
2 ธ.ค. 59
80 %
20 Votes  
#13 REVIEW
 
เห็นด้วย
17
จาก 18 คน 
 
 
บทวิจารณ์ วิหคดั้นเมฆา ผู้กล้าฝ่ายุทธจักร

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 29 ธ.ค. 53
วิหคดั้นเมฆา ผู้กล้าฝ่ายุทธจักร ของ จันทร์พันฝัน เป็นนิยายกำลังภายเรื่องยาวที่ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 34 แล้ว เป็นเรื่องราวของสือหย่งหลุน หลานชายคนหนึ่งของตระกูลสือ หนึ่งในสี่ตระกูลดังของแผ่นดิน กับฟ่านไป่หนิง ลูกศิษย์สาวของหมอเทวะแห่งแผ่นดิน ที่โชคชะตาบันดาลให้มาพบกัน และผูกพันกันด้วยน้ำมิตรและหัวใจ

นิยายเรื่องนี้เปิดเรื่องแปลกที่เริ่มต้นด้วยจุดสูงสุด (climax) ของเรื่อง โดยให้ฟ่านไป่
หนิงและสือหย่งหลุนปะมือกัน และฟ่านไป่หนิงกำลังจะลงมือฆ่าสือหย่งหลุน จากนั้นค่อยเล่าย้อนทวนเหตุการณ์ไปยังวันแรกที่คนทั้งคู่พบกันและกลายเป็นสหายสนิท ซึ่งพัฒนาไปสู่การเป็นคนรู้ใจกันในที่สุด
หากผู้ที่เคยอ่านนิยายกำลังภายในรุ่นคลาสสิกของจีน ก็คงหนีไม่พ้นผลงานของปรมาจารย์อย่าง
โกวเล้ง และกิมย้ง จะพบว่าผลงานที่โดดเด่นเหล่านี้เกิดมาจาก 2 สาเหตุที่สำคัญ คือ การสร้างตัวละครที่มีบุคลิกที่ชัดเจน และมีมิติที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าตัวละครเหล่านั้นมีชีวิตอยู่จริง จนกลายเป็นที่จดจำไม่รู้ลืม ไม่ว่าจะเป็นตัวละครเอก หรือว่าตัวประกอบ ดังเช่นเรื่อง มังกรหยก แม้ว่าจะมีตัวละครจำนวนมากพอๆกับนิยายเรื่องนี้ แต่ผู้อ่านก็สามารถที่จะจำตัวละครเหล่านั้นได้เกือบทั้งหมด เพราะว่าตัวละครแต่ละตัวต่างมีบุคลิกเฉพาะตัวที่โดดเด่น เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ เรื่องราวเหล่านั้นมักจะแฝงคุณธรรมในการดำเนินชีวิต และเรื่องราวของน้ำมิตรของตัวละครอยู่เสมอ การนำเสนอความคิดในเรื่องคุณธรรมในการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อมิตร หน้าที่ของอาจารย์ หน้าที่ของศิษย์ หน้าที่ของบุตร สามี หรือ ภรรยา และ หน้าที่ของกษัตริย์และขุนนาง เป็นต้น เนื่องจากค่านิยมในสังคมจีนจะใช้คุณธรรมกำกับวิถีการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ
ในกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่า วิหคดั้นเมฆา ผู้กล้าฝ่ายุทธจักร สามารถเข้าถึงหัวใจของงานประเภทนี้ ในแง่ของการแฝงคุณธรรมการดำเนินชีวิตในเรื่อง มากกว่าการสร้างตัวละคร เนื่องจากในเรื่องพบแง่มมุมของคุณธรรมในหลากหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมิตรระหว่างสือหย่งหลุน และฟ่านไป่หนิง คุณธรรมของแพทย์ที่พยายามรักษาคนเจ็บให้หายมากกว่าเห็นแก่ยศฐาบรรดาศักดิ์หรืออามิสสินจ้างใดๆ ความจงรักภักดีระหว่างลูกพรรคกับเจ้าสำนัก ที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าพรรค แม้ว่าเขาจะตายไปแล้วก็ตาม

แต่ในการสร้างตัวละครพบว่ายังไม่พบว่ามีตัวละครตัวใดเลยที่ถูกชุบให้มีชีวิตขึ้นมาอย่างชัดเจน และมากพอที่จะให้สร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านอย่างไม่รู้ลืม แม้ว่า จันทร์พันฝัน จะพยายามเน้นย้ำให้เห็นว่าสือหย่งหลุนเป็นคนซื่อตรงและยึดมั่นในคุณธรรม แต่ไม่ทันคน จนถูกหลอกได้ง่าย และมักถูกผู้อื่นเอาเปรียบอยู่เสมอ ขณะที่ฟ่านไป่หนิงเป็นคนฉลาด ชอบแกล้งผู้คน และเอาตัวรอดได้ ในที่นี้สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่ายังขาดไปคือ ผู้อ่านยังไม่เห็นพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญาของตัวละครที่แสดงให้เห็นวุฒิภาวะที่เพิ่มขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนและยากลำบากมากขึ้นอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันตัวละครประกอบตัวอื่นๆ แม้จะมีบุคลิกที่โดดเด่นและหลากหลายต่างกันออกไป แต่ก็ยังไม่เป็นที่จดจำมากเท่าใดนัก นั่นเป็นเพราะมีจำนวนตัวละครมากเกินกว่าที่จะจดจำได้ทั้งหมด และตัวละครส่วนใหญ่ก็มีบทบาทไม่มากนัก สำหรับตัวละครที่ผู้อ่านพอจำได้ส่วนใหญ่จะเป็นตัวละครที่เด่นจริงๆ หรือมีโอกาสปรากฏตัวในเรื่องมากกว่าตัวละครตัวอื่น เช่น ซินแสเทวะเจ้าจื้อสุย และ สามจางเค่อ

สิ่งที่สร้างความโดดเด่นให้กับนิยายเรื่องนี้อย่างมากคือ ความสามารถในการเขียนของ จันทร์พันฝัน ซึ่งนับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเขียนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบทบรรยายหรือบทสนทนา ก็สามารถที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆออกมาได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพทั้งฉาก บรรยากาศ และตัวละครที่ปรากฏได้อย่างละเอียด จนสามารถเห็นภาพตามไปด้วยไม่ยากนัก นอกจากนี้ยังมีคลังคำเป็นจำนวนมากที่สามารถเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ได้เหมาะสมกับบริบทและเนื้อหา ทั้งยังคงใส่ใจและระมัดระวังในเรื่องความถูกต้องของการเขียน จึงพบว่ามีคำผิดน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณเนื้อหาจำนวนมากที่นำเสนอ และเพื่อให้เรื่องนี้สมบูรณ์มากขึ้นจึงขอกล่าวถึงคำผิดที่พบเพื่อห้นักเขียนก้ไข ดังนี้ กระหยิ่มยิ้มย่อง เขียนเป็น กระยิ่มยิ้มย่อง ทะเลสาบ เขียนเป็น ทะเลสาป อุปโลกน์ เขียนเป็น อุปโลก ปีติ เขียนเป็น ปิติ ลาดตะเวน เขียนเป็น ลาดตะเวณ คำนวณ เขียนเป็น คำนวน ขะมักเขม้น เขียนเป็น ขมักเขม้น กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน ปลอดโปร่ง เขียนเป็น ปลอดโปล่ง พยักเพยิด เขียนเป็น พยักเผยิด หืม เขียนเป็น หืมม์ อาวุโส เขียนเป็น อวุโส กิตติศัพท์ เขียนเป็น กิติศัพท์ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ กล้าแข็ง เขียนเป็น กร้าแข็ง กล้าแกร่ง เขียนเป็น กร่าแกร่ง ดาษดื่น เขียนเป็น ดาดดื่น กระตือรือร้น เขียนเป็น กระตือรือล้น วิ่งปรู้ด เขียนเป็น วิ่งปรูด และ กาลเทศะ เขียนเป็น กาละเทศะ และบางประโยคยังมีการเลือกใช้คำบางคำที่ไม่เหมาะกับบริบทอยู่บ้าง เช่น ชาวยุทธที่เชี่ยวกรำในวงการ น่าจะใช้ว่า ชาวยุทธที่ผาดโผนอยู่ในวงการมาช้านาน อีกประโยคหนึ่งคือ หมู่ตึก...ผ่านการขัดเกลามา น่าจะเปลี่ยนเป็น หมู่ตึก...ผ่านการดูแลรักษา หรือ หมู่ตึก ... ผ่านการบูรณะดูแล นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตประการหนึ่งที่อยากจะแลกเปลี่ยนคือ กระบี่วิเศษของสำนักง้อไบ้ ที่ในนิยายเรื่องนี้ระบุว่าชื่อ “กระบี่พิสุทธิ์สิ้นปรารถนา” นั้น หากเป็นผู้ที่ชื่นชอบผลงานกำลังภายใน เมื่อกล่าวถึงกระบี่วิเศษของสำนักง้อไบ้ ก็จะนึกถึงกระบี่อิงฟ้าทันที

โดยส่วนตัวเห็นว่า เรื่องนี้จะน่าติดตามมากขึ้นกว่านี้ ถ้า จันทร์พันฝัน จะเลือกนำเสนอโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยจำนวนไม่มากนัก เพราะว่าจะช่วยให้เรื่องดำเนินไปอย่างกระชับและเน้นเฉพาะประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอเท่านั้น จะเห็นได้ว่า แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะดำเนินไปถึงตอนที่ 34 แล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าใกล้จุดที่จะเป็นชนวนเหตุให้ทั้งฟ่านไป่หนิงและสือหย่นหลุนต้องมาแต่หักจนถึงขั้นจะฆ่าฟันกันเองได้เลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะนิยายเรื่องนี้มีโครงเรื่องย่อยเป็นจำนวนมากที่แทรกอยู่ในโครงเรื่องหลัก โดยส่วนตัวเห็นว่าโครงเรื่องหลักที่ จันทร์พันฝัน ต้องการนำเสนอคือ เรื่องราวการพัฒนาพลังฝีมีอของสือหย่งหลุนว่าวันใดที่เขาจะได้เป็นดั่งวิหกดั้นเมฆา จนเป็นผู้ที่สามารถไปสู่จุดสูงสุดได้ดังหวังและตั้งใจ เนื่องจากเขาต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้งของตระกูลมาตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อล้างแค้นศัตรูที่ฆ่าบิดาและบ่าวไพร่ในตระกูลอีก 13 ชีวิตที่ถูกฆ่าในคืนเดียวอย่างลึกลับ ขณะเดียวกันเหตุการณ์ครั้งนั้นยังส่งผลให้เขาไม่สามารถที่จะก้าวหน้าในวิชายุทธได้อย่างตั้งใจ แม้ว่าจะอดทน ขยันและทุ่มเทเพียงใดก็ตาม เพราะร่างกายได้รับปราณพิษ ทำให้ไม่สามารถโคจรพลังวัตรได้ครบรอบ ซึ่งปราณพิษนี้ก็เป็นเงื่อนปมสำคัญที่จะนำไปสู่ศัตรูของเขาได้ ด้วยเหตุนี้ จุดเน้นของเรื่องน่าจะอยู่ที่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสือหย่งหลุนกับฟ่านไป่หนิง ไปพร้อมๆกับการพัฒนาพลังยุทธและสืบหาศัตรูที่ฆ่าพ่อของตน แค่นี้เรื่องก็มีขนาดใหญ่มากพอแล้ว หาก จันทร์พันฝัน ยังเสียดายโครงเรื่องย่อยอื่นๆที่วางแผนไว้แล้ว ก็สามารถนำโครงเรื่องย่อยเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นเรื่องแยกกันเป็นเอกเทศ ก็จะได้นิยายชุดของตัวละครกลุ่มนี้อีกหลายเรื่อง

แต่ถ้า จันทร์พันฝัน ยังคงยืนยันที่จะดำเนินเรื่องอย่างที่ตั้งใจไว้ต่อไป ก็คงต้องแนะนำว่าการเขียนนิยายขนาดยาวที่มีโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยจำนวนมากเช่นนี้ โครงเรื่องย่อยๆที่สร้างขึ้นมาเหล่านั้นมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนโครงเรื่องใหญ่ หรือหากเรื่องราวในโครงเรื่องย่อยแยกออกจากโครงเรื่องใหญ่ ก็จำเป็นต้องการจุดร่วมระหว่างเรื่องเหล่านั้นให้ได้ เมื่อพิจารณา วิหคดั้นเมฆา ผู้กล้าฝ่ายุทธจักร ที่ดำเนินเรื่องจนถึงขณะนี้จะพบว่ามีโครงเรื่องย่อยแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อนับจากเริ่มต้นจนถึงตอนปัจจุบันพบว่า มีโครงเรื่องย่อยๆ ที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆเกือบสิบเรื่องแล้ว นับตั้งแต่การเสาะหาต้นสามใบไร้รากเพื่อรักษาอาการของฟ่านไป่หนิง การตามไปหาพ่อแม่ของฟ่านไป่หนิงที่ไปรักษาตัวอยู่ที่เกาะสิ้นสวรรค์ ความขัดแย้งระหว่างตระกูลสือกับตระกูลโต่ว แผนการของสมาคมรัตติกาลกับเรื่องราวของยุทธภพ ความลับของสกุลทัง การลอบทำร้ายองค์ชาย เรื่องราวของหมอเทวะ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของจินถู่ซือไถ่ เจ้าสำหนักง้อไบ้กับซู่อี้เนียง ศิษย์สาวแห่งตระกูลซู่ที่ถูกดักลอบทำร้าย และยังมีบางเหตุการณ์ที่ผูกพันกับราชสำนักด้วย อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ยังไม่เห็นจุดเชื่อมโยงของ จันทร์พันฝัน ที่จะร้อยเรื่องราวเหล่านี้ให้เป็นหนึ่งเดียว จึงทำให้โครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยในที่นี้ยังมีลักษณะที่แยกกันอยู่เป็นเอกเทศ ซึ่งส่งผลให้เรื่องดูเยิ่นเย้อไม่กระชับ และมีแนวโน้มว่าจะขยายออกไปเรื่อยๆ มากกว่าที่จะเปิดเรื่องเป็นภาพกว้างแล้วค่อยๆ กระชับหรือขมวดเรื่องที่เปิดทิ้งไว้มารวมกันที่จุดศูนย์กลางอันเป็นหัวใจหรือแก่นเรื่องที่ต้องการนำเสนอ

ทั้งนี้เห็นว่ามีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นิยายเรื่องนี้มีความยาวมากจนเยิ่นเย้อ เนื่องจาก จันทร์พันฝัน ใส่ใจกับการอธิบายทุกๆเหตุการณ์ที่กล่าวถึงอย่างละเอียด แม้ว่าบางเหตุการณ์ที่ไม่สำคัญกับโครงเรื่องหลักหรือแก่นเรื่องที่ต้องการเสนอ ทั้งๆที่เหตุการณ์เหล่านั้นสามารถกล่าวถึงเพียงคร่าวๆ หรือกล่าวถึงอย่างรวบรัดบ้างก็ได้ เช่น ลูกแก้วน้ำแข็งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องราวของตระกูลทัง นอกจากนี้ เนื้อหาในเรื่องไม่เพียงแต่กล่าวถึงความสำคัญของตระกูลสือ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ตระกูลใหญ่ของแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงเรื่องราวสัมผัสไปยังตระกูลใหญ่อีกสามตระกูลด้วย ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับยุทธภพอย่างใกล้ชิด จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงพรรคใหญ่ๆ ของยุทธภพอีก จึงทำให้ตัวละครในเรื่องนี้มีเป็นจำนวนมาก และค่อยๆ โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันตัวละครที่เปิดตัวไปแล้วก็ยังมีความสำคัญกับเรื่องต่อไป

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า จันทร์พันฝัน น่าเริ่มที่จะขมวดปมปัญหาบางข้อที่เปิดไว้ได้แล้ว เพื่อที่จะลดขนาดของเรื่องลง ขณะเดียวกันก็อาจจำเป็นต้องทยอยปิดบทบาทของตัวละครบางตัวในเรื่องไปพร้อมกันด้วย ไม่เช่นนั้นกว่าจะจบเรื่องก็จะมีตัวละครที่ยังมีบทบาทและโลดแล่นอยู่ไม่ต่ำกว่า 50 ตัวเป็นแน่ ซึ่งปริมาณเรื่องที่แผ่ขยายกว้างออกไปกับจำนวนตัวละครที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ นั้น เริ่มสร้างปัญหาให้กับผู้อ่านบ้างแล้ว เพราะจำตัวละครที่มีชื่อคล้ายกันสับสน หรือบางครั้งก็จำชื่อตัวละครบางตัวไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครที่โผล่ขึ้นมาในระยะเวลาสั้นๆ หรือไม่มีความสำคัญกับเรื่องมากนัก

โดยสรุปต้องยอมรับว่า จันทร์พันฝัน นับว่าเป็นนักเขียนที่มีทักษะการเขียนที่ดี และสามารถเขียนงานแนวนี้ได้ แต่ด้วยประสบการณ์การเขียนที่ยังไม่มากนัก จึงถ่ายทอดทุกๆอย่างที่อยากนำเสนอไว้ในนิยายเพียงเรื่องเดียว ซึ่งนับเป็นปัญหาที่นักเขียนหน้าใหม่ส่วนใหญ่เผชิญกันมาแล้วทั้งนั้น จึงอยากให้ระลึกไว้เสมอว่ายิ่งเรื่องเยิ่นเย้อมากเท่าใด ก็ส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความเบื่อหน่ายได้มากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ จันทร์พันฝัน ลองทบทวนและถามตัวเองอีกครั้งว่าเรื่องใดกันแน่ที่ต้องการนำเสนอจริงๆ เมื่อเลือกได้แล้วก็มุ่งความสนใจไปที่เรื่องนั้นเป็นอันดับแรก โดยพยายามตัดเรื่องย่อยๆ อื่นๆที่อยากกล่าวถึงออกไปก่อน ก็จะช่วยสร้างให้เรื่องนี้กระชับมากขึ้นได้

-----------------------------------
     
 
ชื่อเรื่อง :  Because,you're my love (yaoi)
ใครแต่ง : llคนตาลูป
5 พ.ย. 52
80 %
115 Votes  
#14 REVIEW
 
เห็นด้วย
17
จาก 19 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Because, you’re my friend

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 5 ต.ค. 52
Because, you’re my friend ของ IIคนตาลูป เป็นนิยาย yaoi ยาว 56 ตอน (รวมตอนพิเศษ) ผู้วิจารณ์เห็นว่าเนื้อเรื่องที่นำเสนอไม่ต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆในแนวนี้ เท่าใดนัก เรื่องราวและเหตุการณ์ส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวละครเหล่านี้ที่มีทั้งความรักและความแค้น ที่ยังคงวนเวียนอยู่ในรั้วโรงเรียน เรื่องราวของ “ไผ่” นักเรียนมัธยมปลายที่แอบรักเพื่อนสนิทของตน แต่ไม่กล้าบอกรักเพราะกลัว “เซน” เพื่อนรักจะรังเกียจและสูญเสียมิตรภาพที่ยาวนานมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ท้ายที่สุดด้วยความเข้าใจผิดและไม่รู้ใจตัวเองของเซนก็เป็นเหตุให้ความรักของทั้งสองต้องจบสิ้นลง ในขณะเดียวกันไผ่ก็พบกับรักแท้ที่ “แทมิน” มอบให้มาเยียวยาหัวใจและร่างกายที่บอบช้ำจากการกระทำของเซน

การนำเสนอเรื่องก็ยังคงเน้นบทสนทนามากกว่าบทบรรยาย แม้ผู้เขียนจะออกตัวไว้แล้วเกี่ยวกับความอ่อนด้อยในการเขียนบทบรรยาย แต่การมีบทสนทนามากกว่า 80% ในแต่ตอนนั้นทำให้นิยายเรื่องนี้เหมาะที่จะเป็นบทละครมากกว่า จึงเห็นว่าผู้เขียนน่าจะปรับสัดส่วนของบทบรรยายให้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็น่าจะมีสัดส่วนสักครึ่งต่อครึ่งกับบทสทนาก็ยังดี นอกจากนี้ การเลือกใช้อีโมติคอนของผู้เขียนอาจจะเหมาะที่จะอยู่ในบทสนทนาที่นำเสนอก็จริง แต่ด้วยปริมาณอีโมติคอนจำนวนมากนี้กลับทำให้บางตอนดูรกและน่ารำคาญ เพราะอีโมติคอนบางตัวสามารถตัดออกได้ โดยเฉพาะการใช้ติดๆกันเมื่อจบประโยค หรือขึ้นต้นประโยคใหม่ ลักษณะที่พบบ่อยมากอีกประการหนึ่งคือ การใช้อีโมติคอนลอยๆ ขึ้นมาโดยไม่มีทั้งบทบรรยายหรือบทสนทนาใดๆ รองรับนั้น ผู้เขียนสามารถแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้บทบรรยายความรู้สึกของตัวละครแทนการใช้สัญลักษณ์อีโมติคอน ก็จะช่วยให้สามารถสื่อความกับผู้อ่านได้ชัดเจนขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าเรื่องนี้มีภาษาวิบัติอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นทั้งความตั้งใจของผู้เขียนที่จงใจนำมาใช้ในบทสนทนา และบางครั้งก็เกิดจากการสะกดผิดของผู้เขียนเอง โดยเฉพาะคำว่า “อ้าว” จะเขียนเป็น “อ่าว” คำว่า “เอ่ย” จะเขียนเป็น “เอ๋ย” หรือ “แป๊บ” เขียนเป็น “แปบ” ทุกครั้ง และยังมีคำที่สะกดผิดอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอยากเสนอให้ผู้เขียนกลับไปตรวจแก้อีกครั้ง

นิยายเรื่องนี้ไม่เพียงแต่เน้นเรื่องราวความรักและความแค้นของเหล่าตัวละครเท่านั้น แต่ยังนำเสนอปัญหาชีวิตครอบครัวที่ตัวเอกต้องเผชิญเพื่อเพิ่มความน่าสงสารให้กับไผ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่ไผ่ถูกพ่อแม่ลืมทั้งๆที่มีตัวตนและอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันมาตลอดสิบกว่าปี เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา พ่อกับแม่ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงในชีวิต เพื่อไปรับ “ทิว” ฝาแฝดของไผ่ที่ต้องแยกไปให้ย่าเลี้ยงตั้งแต่เด็กมาอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันให้เร็วที่สุด และตลอดเวลาพ่อแม่ก็มุ่งแต่จะชดเชยความขาดของทิว โดยพยายามโทรหา ไปเยี่ยมและฉลองวันเกิดให้โดยตลอด ยิ่งพ่อแม่สนใจทิวมากเท่าใด ก็ยิ่งละเลยและหลงลืมไผ่มากขึ้นเท่านั้น จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของครอบครัวของไผ่ที่ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ นี้ สร้างความสะเทือนอารมณ์ให้ผู้อ่านได้อย่างมาก

แต่ในสายตาของผู้วิจารณ์เห็นว่าเรื่องราวชีวิตครอบครัวของไผ่ที่ผู้เขียนนำเสนอมีข้อบกพร่องอยู่ นั่นคือ ถ้าจะให้ฉากที่แม่และพ่อรู้ตระหนักถึงความจริงที่น่าเศร้า ว่าพวกเขาลืมและทอดทิ้งลูกที่อยู่กับตนมาตลอด 10 กว่าปี พ่อกับแม่ก็ต้องลืมไผ่ให้ตลอด ไม่ใช่ว่าลืมไปบ้าง จำได้บ้าง เพราะในช่วงประมาณหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น แม่ยังจำไผ่ได้อยู่เลย เช่น ตอนที่ 5 เมื่อพ่อแม่ไปรับทิวมาก็ยังแนะนำให้ไผ่รู้จักกับทิว หรือตอนที่ 12 พ่อกับแม่ก็ยังแสดงความไม่พอใจและดุไผ่ที่ทำกิริยาไม่ดีขณะที่พวกเขาจัดงานวันเกิดให้ทิว ความขัดกันของเหตุการณ์ในเรื่องทำให้คนอ่านสับสนว่าแท้ที่จริงแล้วพ่อกับแม่ลืมว่ามีไผ่ หรือพ่อกับแม่ลืมว่าไผ่กับทิวเป็นฝาแฝดกันแน่

โดยส่วนตัวผู้วิจารณ์คิดว่าพ่อกับแม่ที่ยอมทำงานหนักเพื่อให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากัน ไม่น่าที่จะละเลยและทอดทิ้งลูกชายวัย 5 ขวบให้อยู่ตามลำพัง และปล่อยให้ไผ่เติบโตมาด้วยการต้องช่วยตัวเองตั้งแต่อายุเท่านั้นจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยพ่อแม่ไม่เหลียวแล ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน หรือแม้กระทั่งการศึกษา ขณะเดียวกันการที่แม่ต้องนำทิวไปฝากย่าเลี้ยงเพราะไม่สามารถเลี้ยงลูกเล็กๆ พร้อมกันสองคน ก็ไม่น่าทำให้แม่เสียใจจนถึงขั้นปิดกั้นจิตตนเองจนหลงลืมไผ่ไปได้ หรือถึงแม้แม่จะเสียใจ แต่พ่อก็ไม่น่าลืม จึงเห็นว่า วิธีแก้ง่ายที่สุดเพื่อสร้างความสมจริงให้กับเรื่องคือการเปลี่ยนภูมิหลังของตัวละคร ให้สลับกันระหว่างชีวิตของ “ไผ่” กับ “ทิว” โดยให้ไผ่เป็นลูกชายที่พ่อแม่นำไปฝากไว้ จนลืมไปว่ามีลูกชายคนนี้ ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่กับคุณย่าที่สอนให้เขาเข้าใจความจำเป็นที่พ่อแม่ต้องนำมาฝากไว้ แต่อาจจะไปอยู่กับญาติคนอื่นที่ไม่ดูแล ขณะเดียวกันก็ให้พ่อแม่รัก “ทิว” ลูกชายที่อยู่กับตนเองมากเพื่อชดเชยความรักที่ลูกชายอีกคนไม่ได้รับ จนท้ายที่สุด “ไผ่” กลายเป็นเด็กที่มีเกิดปมในชีวิต รู้สึกไม่ผูกพันกับพ่อแม่ และเกลียดทิว เพราะเป็นผู้ที่มาแย่งความรักและพรากทุกอย่างไปจากเขา น่าจะสมจริงและตรงกับความต้องการของผู้เขียนมากกว่า

ความไม่สมเหตุผลยังมีอีกประเด็นที่พบคือ ความแค้นของ “เอฟ” ที่มีต่อแทมิน จนถึงกับออกมาประกาศกร้าวว่า “หากแทมินยังไม่ตาย ความแค้นของผมมันก็ยังไม่จบ” จึงเป็นเรื่องน่าแปลกมากที่ความแค้นเหล่านั้นของเอฟหมดไปทันทีที่ “เซน” เสนอตัวยอมเป็นเครื่องเล่นของเอฟ เพื่อแลกกับความปลอดภัยของไผ่ที่กลายเป็นเป้าหมายในการแก้แค้นแทมิน เพราะในความเป็นจริง เซนไม่ได้มีความผูกพันกับแทมินจนทำให้แทมินเสียใจถ้าเอฟจับเซนไป และการจับเซนไปน่าจะเป็นการช่วยแทมินทางอ้อมด้วยซ้ำไป เพราะเซนคือศัตรูความรักอันดับหนึ่งของแทมิน จึงไม่มีเหตุผลใดที่เอฟจะมาช่วยสนับสนุนความรักของแทมิน แม้จะเป็นทางอ้อมก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดเวลาที่เซนอยู่กับเอฟ ทั้งแทมินและไผ่ก็ไม่รู้เลยว่าเซนหายไปไหน ด้วยเหตุนี้ ข้อตกลงระหว่างเอฟกับเซนจึงไม่น่าจะมีผลต่อการแก้แค้นของเอฟดังที่ผู้เขียนตั้งประเด็นไว้ ประกอบกับเรื่องราวที่ปูพื้นไว้นั้นก็มีเพียงแต่ความแค้นของแทมินที่มีต่อเอฟเท่านั้น เพราะเอฟเป็นสาเหตุให้แทยองพี่ชายของแทมินต้องตายไปก่อนวัยอันควร ไม่มีตอนใดในเรื่องระบุให้เห็นเลยว่าเอฟแค้นแทมินเรื่องอะไร ผู้วิจารณ์เห็นว่าการสร้างเรื่องราวระหว่างเซนกับเอฟนั้นเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่จะแสดงให้เห็นว่า ท้ายที่สุดเซนและเอฟก็หนีผลกรรมไม่พ้น (จนดูเหมือนว่าเป็นการแก้แค้นแทนไผ่และแทยองมากกว่า) เมื่อเซนทำร้ายไผ่ไว้ เขาก็ถูกกระทำเช่นเดียวกัน แต่รุนแรงกว่าจนเขาทนไม่ได้ต้องพึ่งยาเสพติด จนกลายเป็นคนบ้าไปในที่สุด เช่นเดียวกับเอฟที่ทำให้แทยอนพี่ชายแทมินต้องตรอมใจตายเพราะความรักที่มอบให้แต่ไม่ได้รับความใยดี ก็ได้รับผลกรรมด้วยเช่นกัน กล่าวคือเอฟต้องมาคอยดูแลเซนที่ป่วย โดยหวังว่าสักวันหนึ่งเซนจะหายดีและรับรู้ความรักที่เขามีให้

ประเด็นสุดท้ายที่เสนอแนะคือ เสนอให้ตัดเครื่องหมาย comma (,) ในชื่อเรื่องออก เพราะตามหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษนั้น because สามารถตามด้วยประโยคได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องมี comma (,) คั่นระหว่าง because ซึ่งเป็นคำสันธานกับประโยคที่ตามมา และเห็นว่าชื่อเรื่องที่เหมาะสมน่าจะเป็น Because you’re my love ที่เป็นความรู้สึกที่แท้จริงของไผ่ที่มีต่อแทมิน และสารภาพไว้ในบรรทัดสุดท้ายของเรื่อง (ภาคปกติ) ซึ่งจะตรงกับเรื่องที่นำเสนอมาทั้งหมดมากกว่า Because you’re my friend

---------------------------------

     
 
ชื่อเรื่อง :  Hexagon
ใครแต่ง : zvans
14 ก.ย. 53
80 %
7 Votes  
#15 REVIEW
 
เห็นด้วย
17
จาก 19 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Hexagon

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 26 ต.ค. 52
นิยายออนไลน์เรื่อง Hexagon ของ Black king kite เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักเขียนมาขอให้วิจารณ์ ขณะที่ผมเขียนบทวิจารณ์นี้ Hexagon ลงถึงตอนที่ 31 ผู้แต่งได้ระบุว่านิยายเรื่องนี้เป็นแนวดาร์กไซไฟแฟนตาซี สาเหตุที่ผมเลือกอ่านนิยายเรื่องนี้เพราะตรงกับแนวที่ตนเองชอบคือไซไฟและแฟนตาซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไซไฟหรือวิทยาศาสตร์นั้น ในเว็บไซต์เด็กดีไม่ค่อยจะมีนิยายแนวนี้มากนัก

เมื่อได้อ่านชื่อ Hexagon ที่แปลว่าหกเหลี่ยม ในครั้งแรก ผมนึกไปถึงตึกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่เป็นรูปห้าเหลี่ยมจึงได้ชื่อว่า Pentagon ในภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดหลายเรื่องจะแสดงให้เห็นความพยายามของผู้ก่อการร้ายฝ่ายต่างๆ (บางทีก็เป็นมนุษย์ต่างดาว) ในการทำลายตึกนี้ เพราะถ้าทำลายได้ก็จะข่มขวัญอเมริกาหรือชาวโลกได้ทันที แต่ก็ไม่เคยทำลายได้สำเร็จ

นิยายเรื่อง “หกเหลี่ยม” นี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน และมีบรรยากาศของภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นไซไฟอย่างเต็มที่ บวกกับกลิ่นอายของเกมคอมพิวเตอร์และการ์ตูนญี่ปุ่นหลายต่อหลายเรื่อง เวลาที่อ่านก็จะรู้สึกได้ว่า “อ๋อ เรื่องนั้นไง เรื่องนี้ไง” อยู่เกือบตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะนำมาผสมผสานในเนื้อเรื่องได้โดยที่ไม่รู้สึกว่าลอกเลียนแบบ แต่ผมก็ยังไม่เห็นว่านิยายเรื่อง Hexagon นี้สามารถหลอมรวมแรงบันดาลใจจากเรื่องต่างๆ จนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองได้ชัดเจนเท่าไรนัก

เนื้อเรื่องของนิยายคือการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เรียกตัวละครหลักทั้งหกที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเพื่อก่อตั้งเป็นหน่วย “Hexagon” เพื่อ “ความมั่นคงของรัฐ” ผ่านการปฏิบัติการต่างๆ ตามที่จะได้รับคำสั่งมา ตัวละครทั้งหมดนั้นคือ (ข้อความแนะนำตัวละครทั้งหมดเป็นของผู้เขียน)


- อัจฉริยะไอคิว 200 (ฮารุ มิสุโนะ)จบมหาลัยตั้งแต่อายุ 15 ทำงานให้กระทรวงการต่างประเทศมาตั้งแต่เรียนจบ เรื่องทุกเรื่องถ้าผ่านไปไม่นานสามารถจำได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องท่องจำ
- ฮูลิแกน เรย์ ตำนานมีชีวิตของนักโจรกรรม โด่งดังมากว่าร้อยปี ไม่มีใครรู้ตัวจริง ไม่เคยมีใครจับได้ เคลื่อนไหวในเงามืดราวกับนักมายากลในยามราตรี
- นักแปรธาตุแห่งศตวรรษที่ 21 (โช คาลเลอร์) ผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้นพัฒนาเครื่องมือทางการทหารและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ โค้ดเนมว่า Shockolate
- นักฆ่าองค์กรลับระดับรัฐบาลโลก (ทอร์ช รีโนว่า) ชายที่ถูกเลี้ยงมาอย่างเครื่องจักรสังหาร ฆ่าคนตามคำสั่งโดยไม่กะพริบตา
- อดีตนักกีฬาของ N.B.A (เคน เทอร์เนอร์)ได้ชื่อกระฉ่อนว่าชอบบุกเดี่ยว ไม่แคร์เพื่อนฝูง มีดีที่ความสามารถ
- ดาราฮอลลีวู้ดหน้าใหม่ (โจว เอลทัน) แจ้งเกิดจากการเป็นไอดอลใสบริสุทธิ์ เล่นหนังมาแล้ว 5 เรื่อง อยู่ในช่วงโด่งดัง มีข่าวกับดาราหนุ่มมากหน้าหลายตา


จะเห็นได้ว่าตัวละครเอกทั้งหกมีความแตกต่างกันอย่างมาก เท่าที่อ่านมาได้ถึงตอนที่ 31 ผู้เขียนยังไม่เฉลยเสียทีเดียวว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลจึงเลือกเอาคนเหล่านี้มารวมไว้ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งที่บางคนเช่นดาราฮอลลีวู้ดหรือนักบาสเกตบอลก็ไม่น่าจะทำอะไรได้มากนัก แต่ก็มีการบอกใบ้เป็นนัยๆ เช่น นักบาสฯ สามารถปาระเบิดได้แม่นหรือดาราสามารถร้องเพลงสะกดผู้คนได้ดี ทว่าข้อมูลเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะปักใจเชื่อได้ว่า “ต้องเป็นพวกเขาเท่านั้นถึงจะเป็นหน่วย Hexagon ได้” อย่างไรก็ตามอาจมีการเฉลยเมื่อเรื่องราวดำเนินไปมากกว่านี้

แต่จุดหนึ่งที่ผมยังต้องตั้งคำถามคือการเลือกตัดสินใจเข้าหน่วยนี้ของตัวละครสามคน ได้แก่ โจว เคน และโช ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ค่อยมีเหตุผลที่ชัดเจนในการเลือกเข้าหน่วยนี้เท่าไรนัก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเข้ามาแล้วจะต้องทำงานอะไร อีกทั้งทั้งสามยังมีงานหลักที่ดูน่าจะมีอนาคตมากกว่า โจวเป็นดาราฮอลลีวู้ดชื่อเสียงโด่งดัง และต่อมาผู้เขียนเล่าว่าที่เธอมาเป็นดาราก็เพราะต้องการตามหาพี่ชายเพียงคนเดียว เคนก็เป็นนักบาสเกตบอลใน NBA ถึงแม้ว่าจะมีข่าวลือว่าเขาล้มมวย แต่นั่นก็ไม่น่าจะทำให้รายได้ของเขาลดลง และจากอดีตที่ทำให้เขาคิดถึงแต่ตนเองก็ไม่น่าจะถึงกับทำให้เขายอมสละชีวิตที่สุขสบายได้ ส่วนโชก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถสูงจนได้รับความเชื่อถือถึงแม้จะทดลองล้มเหลวมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง เพราะอะไรพวกเขาสามคนจึงต้องเลือกมาอยู่หน่วย Hexagon โดยไม่ได้ถูกบังคับ ส่วนอีกสามคนได้แก่เรย์ ทอร์ช และฮารุ นั้น พอจะเข้าใจได้ว่าพวกเขามีคุณสมบัติสอดคล้องกับหน้าที่ในหน่วย Hexagon เรย์กับทอร์ชเป็นคนในด้านมืดที่มีความสามารถด้านการต่อสู้ ส่วนฮารุถึงแม้ว่าจะไม่มีศักยภาพทางกายมากนัก แต่ความสามารถด้านการแฮ็กคอมพิวเตอร์และการจดจำที่ไม่เป็นรองใครก็คงทำให้หาคนอื่นเทียบได้ยาก

ผมเกิดคำถามขึ้นในใจว่าหากเคน โจว และโช ไม่เลือกที่จะเข้าหน่วยนี้ เรื่อง Hexagon จะดำเนินเรื่องอย่างไร หากใครสักคนปฏิเสธ หน่วยนี้ก็ไม่อาจจะถือกำเนิดขึ้นมาได้ และยิ่งมีการย้ำในเรื่องบ่อยๆ ว่า “ต้องเป็นหกคนนี้เท่านั้น” หากพวกเขาไม่เอาด้วย ก็เท่ากับว่าหน่วยนี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็ตีความอีกแง่ได้ว่า หน่วยนี้ไม่จำเป็นต้องมีใช่หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากแนะนำตัวละครแล้ว มีตัวละครอีกกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มของพวกตัวเอกมาก และสังกัดกับ DIA (Development Integrity Agency) เช่นเดียวกับหน่วย Hexagonแต่แตกต่างกันตรงที่ DIA ฟูมฟักเลี้ยงดูพวกเขามาตั้งแต่เด็ก ผมคิดในใจว่า ถ้าไม่มี Hexagon ก็ยังมีหน่วยนี้แทนได้ ซึ่งเท่ากับว่า Hexagon คงไม่มีความสำคัญเท่าไรกระมัง


นิยายเรื่องนี้เป็นแนวไซไฟแฟนตาซีที่มีการดำเนินเรื่องแบบภาพยนตร์ ผสมผสานกับเกมและการ์ตูน ผู้อ่านจึงไม่อาจปฏิเสธความเหนือจริงของเนื้อเรื่องได้ ผู้ที่จะอ่านนิยายเรื่องนี้จำเป็นต้องยอมรับการยิงปืนแม่นดุจจับวาง ความสามารถของสมองสุดอัจฉริยะ ฝีมือดาบที่พลิ้วไหวดุจสายน้ำและรุนแรงกว่ากระสุนปืน สัมผัสที่แหลมคมและอื่นๆ อีกมาก แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น นิยายประเภทนี้ก็ยังต้องมีเหตุผลในโลกหรือจักรวาลของตนเองเช่นกันจึงจะทำให้ผู้อ่านเชื่อได้ว่าเรื่องนี้ “สมจริง” ความไม่สมเหตุสมผลในเรื่อง Hexagon เห็นได้ชัดมากที่สุดจากความบังเอิญ เริ่มจากโชบังเอิญเป็นผู้สร้างยานอวกาศสุดแกร่งที่สร้างจากโลหะผสมและนาโนแมชชีน ฮารุบังเอิญเป็นผู้สร้างโปรแกรมในยานลำนั้น ต่อมาเมื่อกลุ่มตัวเอกและกลุ่มคู่แข่งต้องฝึกในโปรแกรมเสมือนจริง ฮารุบังเอิญเป็นผู้สร้างโปรแกรมเสมือนจริงนั้น ประโยค “คิดว่าใครเป็นคนสร้างกันล่ะ” ถูกใช้จนเฝือ หากผู้เขียนต้องการแสดงให้ผู้อ่านเห็นความเก่งของตัวละคร อาจสร้างสถานการณ์ให้โชและฮารุต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา เช่นเดียวกับที่โชสร้างหุ่นยนต์บินตัวเล็ก และฮารุสร้างโปรแกรมขึ้นมาใหม่ดังที่ผู้เขียนบรรยายไว้ในช่วงหลัง แต่ผมเห็นว่ายังมีสถานการณ์เช่นนี้น้อยเกินไป ผู้เขียนน่าจะให้โชและฮารุได้ใช้ความสามารถที่สร้างสรรค์มากขึ้นกว่านี้

นอกจากนี้ความไม่สมเหตุสมผลยังเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ตัวละครที่ชื่อจิงซ์ต้องเสียชีวิต เป็นไปได้อย่างไรที่ตึกของหน่วยงานราชการที่เป็นที่พักของบุคคลที่เป็นทรัพยากรสำคัญของทีมที่น่าจะมีศักยภาพเท่ากันหรืออาจเหนือกว่า Hexagon ด้วยซ้ำ จะละเลยด้านความปลอดภัยจนปล่อยให้เกิดการวางระเบิดขึ้นเช่นนั้น และการปล่อยน้ำเพื่อดับเพลิงยังมีรหัสผ่านป้องกันไว้อีก หากเป็นระบบที่ป้องกันผู้บุกรุกจะมีรหัสผ่านก็พอเข้าใจ แต่นี่คือระบบป้องกันเพลิงไหม้ที่น่าจะปล่อยน้ำได้ทันทีเมื่อตรวจจับอุณหภูมิได้ว่าสูงกว่าที่กำหนด ไม่อย่างนั้นแล้วจะมีรหัสผ่านไปเพื่ออะไร

Hexagon เป็นนิยายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น เกม การ์ตูน และภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง การได้รับแรงบันดาลใจนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด และผู้เขียนก็ไม่ได้ลอกเลียนแบบสิ่งเหล่านั้นในนิยายของตนเอง ทว่าการนำแรงบันดาลใจมาประยุกต์ใช้ในงานของตนเองนั้นยังไม่แนบเนียนเพียงพอ ผู้อ่านจะรู้สึกถึงความ “โดด” อยู่แทบจะตลอดเวลา เช่น โช คาลเลอร์ เป็นตัวละครที่อ่านปุ๊บก็รู้ว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก The Hulk เพราะความเป็นนักวิทยาศาสตร์ร่างใหญ่แรงเยอะ และมีมันสมองอัจฉริยะ เปรียบได้กับฮัลค์ที่ได้รับสติปัญญาจาก ดร. แบนเนอร์ (ทั้งสองมีร่างกายเดียวกัน แต่ฮัลค์จะปรากฏตัวเมื่อ ดร. แบนเนอร์หัวใจเต้นแรง)โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโชมีดวงตาสีเขียวเหมือนฮัลค์ด้วยแล้ว ก็รู้สึกว่าผู้เขียนจงใจเกินไปหรือเปล่า

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของแสงเลเซอร์ที่หั่นร่างกายของทหารเป็นลูกเต๋าในตอนแรกสุด ที่เหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง Resident Evil หรือช่วง “ภาคอวกาศ” ที่เหล่าตัวละครต้องได้พบกับสัตว์ประหลาดจากการทดลองเปลี่ยนพันธุกรรม “เซลล์ที” ดูช่างเหมือนกับเกม Resident Evil มาก แม้แต่ชื่อของเซลล์ยังเป็นชื่อเดียวกัน และมีซอมบี้กับสัตว์ประหลาดที่ให้ความรู้สึกเหมือนกันจนเกินไป ยังไม่นับรวมก่อนหน้านี้ที่ตัวละครอย่างทอร์ชหรือเรย์ที่ใช้ปืนเก่ง ก็มีการใช้ปืนคู่และสรรพอาวุธจำนวนมากเหมือนกับภาพยนตร์ของจอห์น วู และ The Matrix

ผมคิดว่าผู้เขียนน่าจะหลอมรวมแรงบันดาลใจต่างๆ ลงในนิยายของตนให้มีความกลมกลืนมากกว่านี้ ส่วนชื่อและลักษณะของตัวประหลาด แม้แต่บรรยากาศของการต่อสู้และการใช้อาวุธของตัวละคร ก็ไม่จำเป็นต้องให้ความรู้สึกเหมือนต้นแบบอย่างไม่ผิดเพี้ยน แต่จะทำอย่างไรให้นิยายมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีภาพยนตร์ เกม นิยายหรือการ์ตูน หลายเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจในทำนองนี้ แต่พวกเขาสามารถหลอมรวมแรงบันดาลใจในผลงานของตนได้ เช่น การ์ตูนเรื่องไยบะ ของโกโช อาโอยามา ที่เห็นได้ชัดว่าไยบะมีผมทรงเดียวกับโกคู ตัวละครเอกในเรื่องดรากอนบอล และโอนิมารู ตัวร้ายของเรื่อง ก็มีหน้าตาที่เหมือนกับพิคโคโล ตัวร้ายของเรื่องดรากอนบอลเช่นกัน แต่โกโชก็สามารถสร้างเอกลักษณ์ของตนเองได้จากลายเส้นที่ดูแล้วรู้ได้ทันทีว่าใครวาด และเนื้อเรื่องที่เป็นการรวบรวมลูกแก้วกายสิทธิ์ที่มีความสามารถต่างๆ มาต่อสู้และใช้ในการผจญภัย เมื่ออ่านไยบะจึงไม่รู้สึกว่าอ่านดรากอนบอล แต่ก็ยังคงรู้ว่าเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องใด

The Incredible Hulk ตัวละครต้นแบบของโช คาลเลอร์ ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่อง Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde ซึ่งมิสเตอร์ไฮด์เป็นบุคลิกแฝงที่ซ่อนตัวอยู่ใน ดร. เจคกิล แต่เรื่องราวของฮัลค์ก็แต่งได้อย่างมีเอกลักษณ์ของตนเองจนได้รับความนิยมอย่างยาวนาน โดยที่ผู้อ่านไม่รู้สึกว่ากำลังอ่านเรื่องเดียวกับ Dr. Jekyll and Mr. Hyde

ภาพยนตร์และเกมเรื่อง Resident Evil ที่ผู้เขียนนำมาใช้ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ชุด Living Dead แต่ Resident Evil ก็มีความแตกต่างจาก Living Dead หลายอย่าง รวมทั้งประเด็นแฝงที่ต้องการนำเสนอLiving Dead จะแฝงเรื่องของจิตใจที่โหดเหี้ยมของผู้คนเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายและการต่อต้านทุนนิยม แต่ Resident Evil จะพูดถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์กับมนุษย์ที่เกิดจากความละโมบของมนุษย์ และลักษณะของผีดิบหรือซอมบี้ ที่ Resident Evil เพิ่มสัตว์ประหลาดเข้ามาหลายอย่าง แม้แต่ซอมบี้เองก็มีลักษณะที่แตกต่างจาก Living Dead แต่เหล่าซอมบี้และสัตว์ประหลาดใน Hexagon อ่านแล้วไม่รู้สึกว่าแตกต่างจาก Resident Evil ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะบรรยายลักษณะภายนอกไม่เหมือนกัน แต่บรรยากาศโดยรวมแล้วก็ยังไม่แตกต่างอยู่นั่นเอง ผู้เขียนคงต้องกลับไปทบทวนว่าซอมบี้และสัตว์ประหลาดในเรื่อง Hexagon จะปรากฏตัวด้วยเหตุผลอะไร นอกจากการ “นำเข้า”จาก Resident Evil เพื่อให้เหล่าตัวละครได้แสดงฝีมือ


สิ่งที่ต้องขอชมเชยในนิยายเรื่อง Hexagon คือความกระชับ ผู้เขียนสามารถกำหนดบุคลิกของตัวละครแต่ละตัวได้ชัดเจน ผู้อ่านสามารถจับคู่เหมือนระหว่างตัวละครทั้งหกได้แก่ โชคู่กับฮารุในด้านความอัจฉริยะ เรย์คู่กับทอร์ชในด้านการต่อสู้ และเคนคู่กับโจวในแง่ส่วนเกินของกลุ่ม ซึ่งทำให้ผู้อ่านติดตามอ่านเพราะเกิดคำถามว่าเคนกับโจวจะได้รับการบรรจุในหน่วยเพื่ออะไร ตัวละครทั้งหกต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ถูกแบ่งออกเป็นช่วงๆ หรือภาค ซึ่งผมลองแบ่งด้วยตนเองตามที่ปรากฏคือมีสามภาค ได้แก่ภาคแนะนำตัว ภาคเผชิญหน้ากลุ่มเหมือน และภาคอวกาศ การแบ่งเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่านิยายยืดยาวเกินไปเพราะมีการจบลงเป็นช่วงๆ พร้อมทั้งการคลี่คลายโครงเรื่องหลักและการเล่าอดีตของตัวละครไประหว่างทาง ก็ถือว่าเป็นวิธีการดำเนินเรื่องที่ดี

ผู้เขียนพยายามบรรยายนิยายเรื่อง Hexagon ให้มีภาษาที่สละสลวย ซึ่งต้องขอแสดงความชื่นชม แต่การบรรยายฉากบางช่วงยังทำให้ผู้อ่านสับสน เช่นการต่อสู้ของเรย์และทอร์ชกับฝ่ายตรงข้ามในช่วงแรกๆ นั้น ถึงแม้จะมีถ้อยคำบรรยายจำนวนมากแต่อ่านแล้วกลับไม่รู้ว่าใครกำลังสู้กับใครในลักษณะอย่างไร ผู้เขียนมักจะแยกแยะตัวละครด้วยสีตา สีผม และ “ร่างหนา ร่างบาง ร่างสูง” เช่นเดียวกับนิยายออนไลน์เรื่องอื่นๆ ซึ่งถ้าใช้บ่อยครั้งเกินไปก็อาจทำให้ผู้อ่านสับสนว่าใครเป็นใคร เพราะตัวละครที่ผู้เขียนบรรยายว่า “ร่างหนา ร่างบาง ร่างสูง” ก็ไม่ได้มีเพียงคนเดียว นอกจากนี้ยังมีการแยกแยะตัวละครด้วยสีของลูกกระสุน ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสับสนเช่นกัน ผมขอแนะนำว่าผู้เขียนควรสลับมาใช้การบรรยายโดยใช้ชื่อตัวละคร และบอกว่าพวกเขาทำอะไรโดยตรงให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามใน “ภาคอวกาศ” อ่านแล้วรู้สึกเข้าใจมากขึ้น ผู้เขียนอาจได้ปรับปรุงส่วนนี้แล้ว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการสะกดผิดอยู่บ้าง เช่น การใช้ “คะ ค่ะ” “วะ ว่ะ” “นิหนา” (คำที่ถูกต้องคือ “นี่นา”) “โผล่ง” (คำที่ถูกต้องคือ “โพล่ง” เท่าที่อ่านพบว่าผู้เขียนสะกดผิดทุกครั้ง คาดว่าจะไม่ทราบจริงๆ ว่าใช้อย่างไร จึงขอแนะนำว่าให้ผู้เขียนไปศึกษาการสะกดให้ถูกต้องด้วยก็จะทำให้เรื่องสมบูรณ์มากขึ้น
     
 
ใครแต่ง : MNEMOSYNE / Klytie'B / kyomu
10 ก.ค. 53
60 %
9 Votes  
#17 REVIEW
 
เห็นด้วย
16
จาก 17 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Ai-wa Ai-shi- te-ru! คำสาปรักทักหัวใจนายตัวร้าย

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 26 พ.ย. 52
นิยายรักหวานแหววของ kyomu เรื่อง Ai-wa Ai-shi-te-ru! คำสาปรักทักหัวใจนายตัวร้าย ในขณะนี้ เพิ่งโพสต์ถึงตอนที่ 10 แต่เนื้อเรื่องจริงๆ เพิ่งจะถึงตอนที่ 7 เท่านั้น เรื่องนี้นับเป็นนิยายที่เกริ่นเรื่องด้วยบทนำได้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม เนื่องจากผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยเรื่องราวของ คาเรีย ชายผู้รักมั่นในเฟียร์น่า หญิงสาวอันเป็นที่รักเพียงคนเดียวเท่านั้น แม้ว่าเธอจะตายไปแล้ว จนทำให้องค์ลาซ ผู้ปกครองดินแดน Sacred Place โกรธที่คาเรียปฏิเสธความรักที่ลูนาริต้า พระธิดาผู้เลอโฉมของพระองค์มอบให้ จนออกคำสั่งให้เขาต้องลงมาเกิดในโลกมนุษย์ ทว่าคำสาปขององค์ลาซไม่ได้มีเพียงเท่านั้น แต่ยังสาปให้เขาต้องกลายเป็นผู้หญิงในวันที่ 14 ของทุกเดือน และต้องได้รับความเจ็บปวดทางกายแสนสาหัส ขณะเดียวกันยามที่เป็นผู้ชายเขาก็ไม่อาจแตะต้องหญิงใดได้ ถ้าหากหัวใจของผู้หญิงเหล่านั้นไม่มีเขาอยู่ ดัวยเงื่อนไขที่โหดร้ายของคำสาปเช่นนี้ จึงทำให้น่าติดตามว่าคาเรียจะดำรงชีวิตอย่างไรเมื่อมาเกิดในโลกมนุษย์แล้ว

เนื้อเรื่องจึงถูกกำหนดให้ต้องดำเนินไปตามกรอบของคำสาปที่ผู้เขียนเกริ่นไว้แล้วตั้งแต่บทนำ แต่เมื่ออ่านเรื่องจบถึงตอนที่ 7 กลับพบว่าผู้เขียนละเลยโจทย์ที่ตัวเองสร้างไว้เป็นแกนเรื่องหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขของคำสาปหลายประเด็น นับตั้งแต่การไม่อาจแตะต้องผู้หญิงที่ไม่รักเขา ผู้วิจารณ์เข้าใจว่าคำสาปจะต้องเริ่มต้นมีผลกับยากิ (ชื่อใหม่ของคาเรียเมื่อลงมาเกิดในโลกมนุษย์) นับตั้งแต่เขาเกิด เพราะในคำสาปไม่ได้ระบุเงื่อนไขว่าผลของคำสาปจะเกิดขึ้นเมื่อเขาเริ่มมีความรัก แต่ในเรื่องผู้เขียนกลับให้ยากิได้รับผลของคำสาปนี้เมื่อเขาอายุได้ 15 หลังจากฝันเห็นลูนาริต้า ขณะที่เฝ้าอาการของขนมผิง (แฟนสาวของเขาในชาตินี้) หน้าห้อง ICU ลูนาริต้าถามเขาอีกครั้งว่า “ท่านรักข้าได้หรือยัง คาเรีย” และเมื่อลูนาริต้าให้เขาเลือกระหว่างชีวิตของเขาเองกับขนมผิง เขาก็ยังยืนยันคำเดิมว่า “ข้าเลือกนาง...ข้ารักนาง” นับตั้งแต่นั้นมาคำสาปก็เริ่มต้น เพราะหลังจากนั้นเมื่อเขาสัมผัสหรือเฉียดเข้าใกล้ผู้หญิงทุกคน เขาจะทุรนทุราย เจ็บปวดราวกับจะถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ และจะสัมผัสได้เฉพาะผู้หญิงที่รักเขาด้วยใจจริงเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ก็เหลือเฉพาะผู้หญิงในครอบครัวเขานั่นเอง

ประเด็นที่ 2 คือ เขาต้องกลายเป็นผู้หญิงในวันที่ 14 ของทุกเดือน และต้องได้รับความเจ็บปวดทางกายแสนสาหัส นับตั้งแต่เกิดจนอายุ 20 ปีก็ยังไม่มีเหตุการณ์ในตอนใดเลยที่ระบุไว้ว่าเขาได้กลายเป็นผู้หญิงแม้สักเดือนเดียว แต่วันที่ส่งผลกับชะตาชีวิตของเขามากที่สุดกลับ เป็นวันที่ 28 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันเกิดของเขาเพียงวันเดียวเท่านั้น ที่ยากิมักจะต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวันเกิดตอนอายุ 15 ที่ขนมผิงถูกไม้ร่วงลงมากระแทก ขณะที่ให้ของขวัญวันเกิดเขา จนต้องกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา วันเกิดตอนอายุ 18 ปี ที่ขนมผิงเสียชีวิตขณะที่เขาไปเยี่ยมและนั่งกุมมือเธอไว้ หรือแม้แต่วันเกิดตอนอายุ 20 ปี ในขณะที่เขาไปที่สุสานของขนมผิง เขาก็ได้พบกับบาร์เลย์ หญิงสาวนอกครอบครัวเขาคนแรกหลังจากที่ขนมผิงตาย ที่สามารถแตะต้องตัวเขาได้โดยที่ไม่ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวด

ประเด็นที่ 3 คือ เงื่อนไขของคำสาปที่ระบุว่า เขาไม่สามารถสัมผัสผู้หญิงคนใดได้ หากหัวใจของผู้หญิงเหล่านั้นไม่มีเขาอยู่ ในเรื่องมีผู้หญิงหลายคนที่หลงรักยากิ แม้ว่าจะเป็นเพียงการหลงรูปก็ตาม ทว่าผู้หญิงเหล่านั้นก็มีคุณสมบัติตรงกับข้อยกเว้นในคำสาปที่ว่า มีเขาอยู่ในหัวใจ ก็ไม่น่าที่จะทำให้เขาต้องเจ็บปวด แต่ผู้หญิงเหล่านั้นก็ไม่สามารถแตะต้องตัวยากิได้เช่นกัน ถ้าเป็นเช่นนี้น่าจะระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมในคำสาปต่อไปว่า เขาไม่สามารถแตะต้องผู้หญิงคนใดได้เลย หากเขาและเธอไม่ได้รักกันด้วยใจจริง ก็น่าจะชัดเจนมากขึ้น สิ่งที่น่าแปลกอีกประการคือ เมื่อระบุว่าผู้ที่สามารถแตะต้องยากิได้ ต้องมีเขาในหัวใจ แต่เหตุใดบาร์เลย์ถึงแตะต้องตัวยากิได้ โดยไม่สร้างความเจ็บปวดใดๆ ให้เขาเลย ทั้งๆที่เธอก็ไม่ได้รักเขาหรือไม่มีเขาในหัวใจ ด้วยเหตุนี้ ฤทธิ์ของคำสาปจึงไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์ลาช แต่เป็นไปตามความต้องการของผู้เขียนในช่วงเวลาต่างๆ มากกว่า ว่าเวลานี้ต้องการให้ยากิได้รับหรือไม่ได้รับผลของคำสาปนั้น ทำให้คำสาปที่เป็นหัวใจของเรื่องดูจะด้อยความศักดิ์สิทธิ์ลง เพราะไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอนในการออกฤทธิ์ จึงอยากเสนอให้ผู้เขียนทบทวนคำสาปที่ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ในบทนำอีกครั้ง ว่าต้องการให้คำสาปมีผลต่อการดำเนินเรื่องอย่างไรแน่ เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับเนื้อเรื่องมากขึ้น

ในแง่ของเนื้อเรื่องโดยรวมนั้น ยังไม่สามารถที่จะกล่าวถึงได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ เพราะเรื่องเพิ่งจะดำเนินไปเพียงช่วงเริ่มต้น ซึ่งเรื่องมีแนวโน้มว่าจะดำเนินไปพร้อมๆ กับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างยากิ กับ บาร์เลย์ รุ่นพี่สาวปีสี่ ผู้หญิงคนแรกที่ยากิสนใจหลังจากที่ขนมผิงแฟนเก่าตายไปเมื่อสองปีก่อน และระหว่างยากิกับหมี่ฟั่น รุ่นน้องปีหนึ่งที่แอบชอบเขามาตั้งนานแล้วแต่ยากิไม่รู้ตัว อีกทั้งยากิและหมี่ฟั่นต้องผูกพันและเป็นแฟนกันไปจนกว่าจะจบการศึกษาตามกฎที่ประเพณีหอพัก..รักเธอ กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ชายที่อยู่หอชายคนใดสามารถสารภาพรักและพาหญิงสาวที่พักอยู่ในหอมาลงชื่อได้ภายในเวลา 5 นาทีที่กำหนด คนทั้งคู่จะต้องเป็นแฟนกันและมีสิทธิได้อยู่หอพักมหาวิทยาลัยต่อไปจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

ส่วนการใช้ภาษานั้น พบว่าผู้เขียนให้ความสำคัญกับความถูกต้องของภาษา ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำหรือการใช้สำนวนภาษา พบว่าไม่ค่อยมีที่ผิดมากนัก จะมีเพียงบางคำที่เขียนผิดซ้ำๆ หลายครั้ง จนทำให้เชื่อว่าผู้เขียนอาจคิดว่าคำนี้เขียนเช่นนี้จริงๆ เช่น สาส์น เขียนเป็น สาสน์ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เขียนให้สัดส่วนระหว่างบทสนทนาและบทบรรยายในปริมาณที่เกือบเท่ากัน แต่ในบางครั้งบทสนทนามีสัดส่วนมากกว่าบทบรรยาย ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนควรจะเพิ่มสัดส่วนของบทบรรยายให้มากขึ้น โดยให้มีปริมาณบทบรรยายประมาณ 2 ใน 3 ของเรื่อง ก็จะช่วยให้การดำเนินเรื่องมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนดูจะมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนอยู่แล้ว เพราะเมื่อพิจารณาจากบทนำก็เห็นได้ว่าผู้เขียนสามารถเขียนบทบรรยายได้ดี เป็นต้นว่าตอนที่อธิบายถึงประเพณีแห่ง Sacred หรือ จดหมายที่เป็นบทลงโทษขององค์ลาช

อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนควรตัดอีโมติคอนแสดงอารมณ์ในตอนท้ายประโยคออกบ้าง เนื่องจากผู้เขียนใช้วิธีการดังกล่าวบ่อยครั้ง บางครั้งก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้อิโมติคอนเพื่อปิดท้ายประโยคเสมอไป และเมื่อตัดทิ้งก็ไม่ได้ทำให้ประโยคเสียความแต่อย่างใด แต่ยังช่วยให้รู้สึกสบายตามากขึ้นด้วย เพราะเนื้อหาที่มีอีโมติคอนปิดท้ายเรียงกันหลายๆ ประโยคนั้นดูรกตาน่ารำคาญ เช่น


เจอกับพลุลอยขึ้นแสกหน้า -_-
“กรี๊ดดดด”
เสียงกรี๊ดแปดหลอดดังจนหอพักแทบระเบิด -_-*
………….
พลุอีกดอกลอยขึ้นแสกหน้า -_-**
“Happy Birthday ค่าพี่ยากิ >O
     
 
ใครแต่ง : Pedela Thira
17 ต.ค. 59
80 %
33 Votes  
#18 REVIEW
 
เห็นด้วย
16
จาก 17 คน 
 
 
บทวิจารณ์ จอมใจเจ้ารัตติกาล

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 15 ก.พ. 53
จากที่ได้อ่านนิยายแฟนตาซี เรื่อง จอมใจเจ้ารัตติกาล ที่แต่งโดยรินสเล็ตต์ ไปกว่า 40 ตอนแล้ว ก็ยังอยู่ในช่วงเกริ่นนำ หรือปูพื้นเรื่องเท่านั้น จึงคาดว่าเรื่องนี้ต้องเป็นนิยายขนาดยาว ถ้าพิมพ์เป็นเล่มก็คงหลายเล่มจบ เนื่องจากผู้แต่งวางโครงเรื่องไว้ใหญ่มาก มีทั้งโครงเรื่องหลัก คือ เรื่องราวความรักระหว่างเจ้ารัตติกาลกับดาเลเน่ เด็กหญิงชาวมนุษย์ที่ขณะนี้เพิ่งจะอายุ 6 ขวบ และการฟื้นคืนเผ่าพันธุ์รัตติกาลจากการล่มสลายเพราะเผ่าพันธุ์มนุษย์ ขณะเดียวกันก็มีโครงเรื่องย่อยๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวความลับของตัวละครหลายตัว เช่น เจ้ารัตติกาล บัลซัค (สัตว์พาหะที่ถูกขังอยู่ใต้ปราสาทเอวาซ) หรือ ซาเบียน (ผู้ทรยศแห่งเผ่าพันธุ์รัตติกาล) และความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกลุ่มต่างๆ เช่น รักสามเส้าระหว่าง ศาสตราจารย์เอเดรียน แอคคลิฟ (ครูใหญ่) ศาสตราจารย์ซิซีเลีย เดรานี (รองครูใหญ่) และคุณหนูเตย่า ริวอัน (แฟนเก่าของศาสตราจารย์เอเดียนก่อนสูญเสียความทรงจำ) ความเกลียดชังระหว่างศาสตราจารย์อิริเกล เอสโทรา กับ ซาเบียน (น้องชายฝาแฝดของศาสตราจารย์ซิซีเลีย) และความสัมพันธ์ระหว่างเด็กใหม่กับเด็กใหม่ และเด็กใหม่กับรุ่นพี่ที่ดูแล ทั้งนี้คาดว่าโครงเรื่องย่อยๆ น่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน


นิยายเรื่องคล้ายคลึงกับนิยายแนวแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับเผ่าพันธุ์อื่น ในที่นี้คือเผ่ารัตติกาล จนนำมาซึ่งสงครามและการทำลายล้าง เรื่องกำหนดให้ตัวเอกอยู่กันคนละเผ่าพันธุ์และเป็นเผ่าพันธุ์ที่เป็นศัตรูกันด้วย คือ พระเอกเป็นราชาแห่งเผ่าพันธุ์รัตติกาล ในขณะที่ ดาเลเน่
เครสเซน นางเอกของเรื่อง เป็นมนุษย์ที่ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกับเผ่ารัตติกาล โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ยังมีการผนวกเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนเวทมนตร์เข้าไปด้วย เพราะเรื่องกำหนดให้ ดาเลเน่ ต้องเข้ามาเรียนที่ปราสาทเอวาซ แห่งมหานครโอเซนไทน์ เพื่อความปลอดภัย ดังนั้นเรื่องราวส่วนใหญ่จึงดำเนินไปในโรงเรียนแห่งนี้ นับตั้งแต่การเปิดตัวอาจารย์ผู้สอน และนักเรียนรุ่นพี่ และรุ่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นเด็กใหม่ที่เพิ่งเข้าเรียนในปีนี้พร้อมกับดาเลเน่อีกหลายคน และคงจะเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องต่อไป เช่น หลิวหลงซิน (เด็กใหม่ลูกครึ่งชาวจีนกับเผ่าพันธุ์รัตติกาลที่สามารถได้ยินเสียงทูตรัตติกาลที่ถูกขังในเขตภวังค์ได้) หรือ เดมาน เครเดียส (เจ้ารัตติกาลที่ปลอมตัวเป็นเด็กใหม่ที่ได้รับหน้าที่ดูแลดาเลเน่) ในขณะนี้ผู้อ่านเริ่มทราบแล้วว่าโรงเรียนแห่งนี้แบ่งการเรียนการสอนเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง โดยแต่ละระดับจะใช้เวลาเรียนระดับละ 5 ปี ซึ่งนักเรียนที่เข้าใหม่แต่ละคนไม่จำเป็นต้องเริ่มเรียนที่ชั้นต้นระดับหนึ่ง แต่ก็จะเข้าเรียนในระดับใดนั้นขึ้นอยู่กับผลการทดสอบในตอนสอบเข้า แต่เนื่องจากยังอยู่ในช่วงต้นเรื่องจึงยังไม่ทราบถึงวิธีเรียนและสอนของโรงเรียนแห่งนี่ว่าจะต่างหรือเหมือนกับโรงเรียนเวทมนตร์ในนิยายแฟนตาซีเรื่องอื่นอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอ่านต่อไป


แม้ว่านิยายเรื่องนี้ยังไม่สามารถฉีกโครงเรื่องให้ต่างนิยายแนวแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ ดังที่กล่าวถึงข้างต้น แต่ก็มีการสร้างตัวละครบางตัวให้แตกต่างออกไป เช่น การสร้างเผ่าหมาป่าเวหา ซึ่งมีร่างทั้งเป็นหมาป่าและมนุษย์ ขณะที่เป็นหมาป่าจะมีขนสีขาวราวหิมะ ตาสีแดงเหมือนโลหิต มีปีก ซึ่งทำให้สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วจนได้ชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่เร็วที่สุดในโลก เมื่อเป็นมนุษย์ก็ยังคงมีดวงตาสีแดงเหมือนโลหิตเช่นเดิม และผิวขาว


นอกจากนี้ ผู้แต่งยังเลือกใช้กลวิธีการแต่งที่สร้างเรื่องให้น่าสนใจด้วยการเปิดปมปัญหา และความลับของตัวละคร เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจ ใคร่รู้ และเฝ้าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นความลับเรื่องอดีตของเจ้ารัตติกาล เหตุใดมนุษย์และเผ่าพันธุ์รัตติกาลที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติลุกขึ้นมาทำสงครามประหัตประหารกันเอง หรือ ดาเลเน่มีความสำคัญต่อเผ่าพันธุ์รัตติกาลอย่างไร ทว่าผู้แต่งใช้กลวิธีนี้บ่อยครั้งเกินไป จนอาจกล่าวได้ว่าใช้เพียงกลวิธีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการเปิดตัวละครใหม่ๆ หรือเหตุการณ์ใหม่ๆ เกือบทุกครั้งก็จะพ่วงด้วยความลับเบื้องหลังที่ผู้แต่งไม่ยอมเปิดเผย จนบางครั้งผู้อ่านก็รู้สึกว่าเรื่องราวที่กำลังอ่านอยู่นี้รู้กันเองเฉพาะภายในกลุ่มตัวละคร แต่ผู้อ่านไม่มีส่วนรับรู้ด้วยเลย เช่น ความหมายของดอกรัตติกาล ก็เป็นที่รู้กันเฉพาะคนเผ่าพันธุ์รัตติกาลเท่านั้น เช่นเดียวกับความผูกพันระหว่างเรเอต กับดาเลเน่ จะมีผู้รู้ความลับนี้เพียงเจ้ารัตติกาล กับ เบียงโก้ หัวหน้าเผ่าหมาป่าเวหา ผู้อ่านจึงดูเสมือนถูกกันให้เป็นเพียงคนนอก ความรู้สึกนี้อาจส่งผลให้ผู้อ่านบางคนเลิกติดตามเรื่องก็เป็นได้ เพราะไม่ว่าจะตามอ่านมากเท่าไร ก็ไม่ได้รู้อะไรเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่ามีความลับเพิ่มมากขึ้น


ในกรณีนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่าปมปัญหา หรือความลับของตัวละครที่ไม่ได้ส่งผลต่อแก่นเรื่องหรือโครงเรื่องโดยรวม (ว่าต้องปกปิดไว้แล้วเปิดเผยตอนสุดท้ายเพื่อสร้างความเข้มข้นให้กับเรื่อง) ก็น่าจะเปิดเผยออกมาบ้าง เช่น เหตุผลที่ซาเบียนทรยศเผ่าพันธุ์รัตติกาล ก็น่าจะเปิดเผยได้เพราะเป็นเรื่องราวในอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือเหตุผลที่ศาสตราจารย์ซิซีเลีย เดรานี ต้องนำบัลซัคมาซ่อนไว้ใต้ปราสาทเอวาซ ความผิดพลาดที่ทำให้เรเอตมีหน้าคล้ายผู้หญิง แต่ร่างกายเป็นผู้ชาย และความสำคัญของเรเอตต่อเผ่าพันธุ์หมาป่าเวหา หรือ เหตุการณ์อดีตเกี่ยวกับการที่มนุษย์ทำลายล้างเผ่าพันธุ์รัตติกาล ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นไปได้ว่า หากผู้แต่งยังใช้กลวิธีนี้เป็นหลักในการเขียนเรื่องต่อไป เรื่องราวจะเต็มไปด้วยความลับและปมปัญหาที่ไม่มีการคลี่คลาย จึงน่าเป็นห่วงแทนว่า ผู้แต่งจะใช้วิธีการใดมาคลี่คลายปมปัญหาและความลับที่สร้างไว้จำนวนมากนี้ได้ครบถ้วน


ผู้วิจารณ์เห็นว่าการแบ่งตอนในนิยายเรื่องนี้ แม้ว่าแต่ละตอนจะมีชื่อกำกับไว้ และผู้แต่งก็สามารถที่จะนำเสนอเรื่องราวในแต่ละตอนให้สอดคล้องกับชื่อตอนได้เป็นอย่างดี แต่บางครั้งผู้แต่งก็ขึ้นตอนใหม่ทั้งๆที่เนื้อเรื่องหรือเหตุการณ์ที่ดำเนินอยู่ในตอนนั้นยังไม่จบ เช่น ตอนที่ 11 และตอนที่ 12 เช่นเดียวกันตอนที่ 23 และ 24 และตอนที่ 31 และ 32 เห็นว่าผู้แต่งน่าจะรวมตอนดังกล่าวเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อตอนใหม่ให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดน่าจะดีกว่า


ความน่าสนใจอีกประการของเรื่องนี้คือ ผู้แต่งสามารถใช้ภาษาบรรยายและภาษาสนทนาได้อย่างลื่นไหล ช่วยให้ผู้อ่านสนุกไปกับเรื่องราวที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างจินตนาการถึงตัวละคร และฉากต่างๆ ที่ผู้แต่งบรรยายไว้ได้ไม่ยากนัก ส่วนคำผิดมีให้เห็นประปรายเท่านั้น เช่น สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ คฤหาสน์ เขียนเป็น คฤหาสถ์ พ่อค้าวาณิช เขียนเป็น พ่อค้าวานิชย์ แป๊บ เขียนเป็น แปบ กิจจะลักษณะ เขียนเป็น กิจลักษณะ และ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา


อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์เห็นว่าด้วยความสามารถในการใช้ภาษาได้อย่างลื่นไหล และวางโครงเรื่องได้อย่างน่าสนใจ จึงนับว่า จอมใจเจ้ารัตติกาล เป็นนินายแฟนตาซีที่น่าติดตามเรื่องหนึ่ง

---------------------------
     
 
ใครแต่ง : ไต้สู่จัง
19 พ.ค. 52
40 %
2 Votes  
#19 REVIEW
 
เห็นด้วย
15
จาก 16 คน 
 
 
บทวิจารณ์ แด่เธอ... ผู้เสียสละ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 21 ส.ค. 52
งานเรื่องสั้น แด่เธอ...ผู้เสียสละ ของ ไต้สู่จัง Kus38 นับเป็นงานวิจารณ์เรื่องสั้นเรื่องแรก เพราะบทวิจารณ์ที่ผ่านๆมาจะเป็นการวิจารณ์นวนิยายทั้งหมด เหตุผลประการสำคัญที่นำเรื่องสั้นเรื่องนี้มาวิจารณ์มิใช่เป็นเพราะความประทับใจเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว แต่เป็นเพราะ ไต้สู่จัง Kus38 ขอให้ช่วยวิจารณ์ผลงานเรื่องนี้ให้

แด่เธอ...ผู้เสียสละ เรื่องสั้นขนาดสั้นที่มีความยาวไม่เกิน 7 หน้า A4 หากพรินต์ออกมาอ่านนั้น มุ่งเสนอแนวคิดหลักของการเสียสละส่วนตัวเพื่อความสุขของผู้อื่น ในที่นี้ ผู้แต่งใช้การสละชีวิตของ อัน น้องสาวที่ให้แก่ อิน พี่สาวฝาแฝด นับเป็นความเสียสละสูงสุด เพื่อมาตั้งคำถามผู้อ่านถึงความเสียสละที่หดหายไปในสังคมปัจจุบัน แม้จะเป็นความเสียสละง่ายๆ คือการสละเงินเพียงบาทเดียวเพื่อทำบุญแก่ผู้ยากไร้ก็แทบจะหาได้ยากแล้วในสังคม จึงไม่อาจเทียบกับความเสียสละสูงสุดของอันได้

ความน่าสนใจในอีกด้านหนึ่งของเรื่องสั้นนี้คือ ฉากเปิดที่เป็นบันทึกความรู้สึกของพี่ที่มีต่อน้อง แต่น่าเสียดายว่าผู้เขียนน่าจะขยายบันทึกนี้ให้ยาวขึ้น เพราะผู้วิจารณ์เห็นว่าหากเรื่องสั้นเรื่องนี้สื่อหรือเล่าเรื่องด้วยบันทึกจากมุมมองของอิน น่าจะจับใจผู้อ่านมากขึ้น และน่าจะตอบโจทย์ประเด็นความเสียสละได้ชัดเจนและกินใจมากขึ้น

ผู้วิจารณ์เห็นว่าแนวคิดหลักที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอต่อผู้อ่านนั้นน่าสนใจ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าสารที่ผู้เขียนต้องการสื่ออาจจะไปถึงผู้อ่านได้ไม่แรง และไม่ชัดเจนอย่างที่ผู้เขียนต้องการ นั่นอาจเป็นเพราะการบรรยายเรื่องที่ค่อนข้างเยิ่นเย้อส่งผลให้โทนของเรื่องอืดเนือยมากเกินไป เพราะเรื่องสั้นส่วนใหญ่เป็นการเขียนเพื่อแสดงความคิดหลักเพียงความคิดเดียว หรือบางครั้งก็เป็นการนำเสนอฉากเพียงฉากเดียว เพื่อส่งสะท้อนความคิดหลักที่ต้องการนำเสนออย่างเด่นชัด จะเห็นได้ว่าประโยคบรรยายของผู้แต่งจำนวนหนึ่งหากทำให้กระชับขึ้นก็จะช่วยแก้ปัญหาความเนิบเนือยของเรื่องได้ส่วนหนึ่ง เช่น “กลับมาแล้วค่ะ” เสียงของเด็กสาวคนหนึ่งดังขึ้นก่อนที่ประตูบ้านจะถูกเปิดออกด้วยมือข้างหนึ่งของเด็กสาวคนเดิม อาจจะเปลี่ยนเป็น ““กลับมาแล้วค่ะ” เสียงของเด็กสาวคนหนึ่งดังขึ้นก่อนที่เธอจะเปิดประตูบ้านเข้ามา” หรือ ส่วนอันขณะนี้ก็ได้เปิดบันทึกประจำวันหน้าถัดจากเมื่อวานออก แล้วลงมือจดบันทึกเรื่องราวของวันนี้ลงไป อาจจะเปลี่ยนเป็น ส่วนอันก็จดบันทึกเรื่องราวของวันนี้ต่อจากบันทึกประจำวันหน้าเมื่อวาน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกประโยคในเรื่องจะต้องตัดหรือทำให้กระชับไปทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในเนื้อความช่วงนั้นๆ

อีกอย่างหนึ่งคือ การบรรยายของผู้เขียนที่ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลภูมิหลังของตัวละคร โดยการแสดงให้เห็นความแตกต่างในรายละเอียดของฝาแฝดคู่นี้ ไม่ว่าจะเป็นความชอบ นิสัย หรือแม้แต่อาชีพในอนาคต ผู้วิจารณ์เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนแนวคิดหลักที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในเรื่องนี้ ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์สำคัญอันถือว่าเป็นไคลแม็กซ์หรือจุดสูงสุดของเรื่องผู้เขียนกลับไม่ได้เน้น หรือขยายความให้ชัด เพราะผู้เขียนกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนั้นอย่างลวกๆ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนคือ ผู้เขียนเขียนถึงภูมิหลังแวดล้อมประมาณ 6 หน้า แต่เขียนถึงฉากที่สะท้อนแนวคิดหลักเพียงหน้าเดียวเท่านั้น จึงทำให้ความเสียสละของอันจมไปกับข้อมูลภูมิหลังของตัวละคร และไม่โดดเด่นขึ้นมา ในที่นี้ หากต้องการสร้างหรือย้ำความแรงทางอารมณ์เพื่อสื่อความคิดเกี่ยวกับความเสียสละของอัน ผู้เขียนจำเป็นต้องขยายหรือให้รายละเอียดเกี่ยวกับฉากนี้ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขณะที่อินจะถูกรถยนต์ชนแล้วอันเข้ามาช่วย หรือเพิ่มมุมมองหรือการสะท้อนความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ทั้งจากมุมมองของอิน ของอัน หรือแม้แต่ของแม่ให้มากขึ้น ก็น่าที่จะทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้น่าสนใจมากขึ้น และอาจจะต้องลดฉากที่ไม่ช่วยส่งแนวคิดหลักลงบ้าง เช่น ฉากเปิดที่อินเป็นแผลและอันทำแผลให้ ฉากการเดินทางไปเรียนพิเศษ

ข้อบกพร่องอีกลักษณะที่เห็นชัดในเรื่องสั้นเรื่องนี้คือ ความถูกต้องของการเขียน ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนยังมีปัญหาทั้งในเรื่องการสะกดคำ และการเลือกคำให้เหมาะกับบริบท เพราะพบว่ามีการสะกดคำผิดอยู่จำนวน หนึ่ง เช่น เขียน “แส้” เป็น “แซ่” หรือ “ทมัดทะแมง” เป็น “ทะมัดทะแมง” หรือ เขียน “ปฐมพยาบาล” เป็น “ประถมพยาบาล” ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็มีปัญหาการเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับบริบทด้วย เพราะมีการเลือกใช้คำที่ผิดบริบทอยู่หลายครั้ง เช่น ท่อนไม้ท่อนใหญ่คอยค้ำจุน ควรจะใช้ว่า ท่อนไม้ท่อนหนึ่งคอยค้ำยัน หรือ โดยที่มีอันคอยจับท่อนไม้ไว้ได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่มันจะตกไปทับเด็กสาวตรงหน้า ควรจะใช้ว่า โดยที่มีอันคอยจับท่อนไม้ไว้ได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่มันจะหล่นไปกระแทกเด็กสาวตรงหน้า

เมื่ออ่าน แด่เธอ... ผู้เสียสละ จบลง ก็ได้ข้อยืนยันกับตนเองว่าเหตุผลที่ไม่เคยวิจารณ์เรื่องสั้น เพราะเรื่องสั้นที่เขียนได้อย่างลงตัวนั้นหายาก จึงอาจจะต่างความเข้าใจของผู้เริ่มเขียน หรือนักเขียนมือใหม่ที่อาจจะเข้าใจผิดว่างานเรื่องสั้น เขียนได้ง่ายกว่านิยายเพราะสั้นกว่า แต่ในความจริง เรื่องสั้นนับเป็นประเภทงานวรรณกรรมที่เรียกร้องความสามารถในการเขียนที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ชัดเจน การเขียนที่กระชับ ตรง และสื่อแนวคิดอย่างเฉียบคม และการสร้างตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจะทำให้เรื่องสั้นเรื่องนั้นประทับใจผู้อ่านไปอีกนาน

---------------------------------
     
 
ใครแต่ง : curious_pandora
8 ก.พ. 53
80 %
3 Votes  
#20 REVIEW
 
เห็นด้วย
15
จาก 16 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Shadow...จังหวะหัวใจในความหมายต่าง

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 15 มี.ค. 53
ต้องสารภาพว่าเมื่อแรกที่ได้เห็นชื่อเรื่อง Shadow...จังหวะหัวใจในความหมายต่าง ที่นักเขียนคือคุณ curious_pandora มาขอให้ช่วยวิจารณ์นั้น ผมไม่ค่อยจะสนใจเรื่องนี้มากนัก เพราะคิดว่านิยายเรื่องนี้คงจะเป็นแนวรักหวานแหววตามสไตล์นักเขียนหญิงของเว็บไซต์เด็กดีทั่วไป แต่เมื่อพักจากนิยายเรื่องอื่นที่คิดว่าจะวิจารณ์ หันมาหาความผ่อนคลาย (คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น) กับนิยายเรื่องนี้ ก็พบว่าเรื่อง Shadow...จังหวะหัวใจในความหมายต่าง (ต่อไปขอเรียกว่า Shadow) นั้น แตกต่างจากนิยายในเด็กดีเรื่องอื่นๆอย่างน่าสนใจทีเดียว

สถานที่เกิดของเรื่องราวใน Shadow นั้น ผู้เขียนไม่ได้ระบุว่าเป็นประเทศใด หรือช่วงเวลาใด หรือแม้แต่ว่าเป็นโลกของเราหรือโลกที่ผู้เขียนจินตนาการขึ้น แต่เมื่อได้อ่านไประยะหนึ่งแล้วก็พอจะเดาได้ว่าคงจะเป็นโลกของเราในอนาคตนี่เอง เป็นอนาคตอันใกล้ที่ยังมีโทรศัพท์มือถือให้ใช้และรถยนต์ให้ขับ แต่ก็ไกลเพียงพอจะพัฒนาเทคโนโลยีการโคลนนิ่งมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์

มนุษย์โคลนนิ่งในเรื่องนี้ถูกเรียกว่า Shadow ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่องและยังเป็นการเปรียบของผู้เขียนว่าต้นแบบคือแสง ส่วน Shadow คือเงา เงานี้เองนำไปสู่การตั้งคำถามของผู้เขียนที่ส่งต่อมายังผู้อ่านว่า แสง หรือ เงา ที่สำคัญกว่ากัน เพราะ Shadow ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอวัยวะสำรองของต้นแบบ ที่มีความเหมือนกับต้นแบบทุกประการ และยิ่งกว่านั้น Shadow ยังมีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกเป็นของตนเองอีกด้วย

เรนะ นางเอกของเรื่อง (ซึ่งเป็นลูกกำพร้า อยู่กับพี่ชายเพียงสองคน เรน พี่ชายที่ทำงานอยู่ในศูนย์วิจัย Shadow) ในวัยเยาว์ป่วยหนักถึงขั้นต้องใช้อวัยวะของริเรีย Shadow ของตนเพื่อให้รอดชีวิต แต่เนื่องจากตนเองเคยสนิทกับริเรีย การที่ต้องแลกชีวิตกับริเรียจึงทำให้เธอต้องเสียใจจนฝันร้ายอยู่บ่อยๆ เมื่อเธอโตขึ้น เทมส์ เด็กหนุ่มข้างบ้านที่สนิทกับเธอก็เสียชีวิตโดยไม่อาจใช้ Shadow ได้ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เรนซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ Shadow ในกรณีที่ต้นแบบเสียชีวิตไปก่อน ติดงานที่ต่างประเทศ Shadow ของเทมส์ จึงต้องมาอยู่ที่บ้านเรนะเป็นการชั่วคราว อันเป็นจุดเริ่มต้นของความรักระหว่าง Shadow กับมนุษย์ และคำถามหลักของเรื่องที่ว่า โคลนนิ่งคือมนุษย์หรือไม่ และพวกเขาควรจะมีสิทธิ์เลือกที่จะสละชีวิตเพื่อต้นแบบของตนหรือไม่

ผมพบว่าผู้เขียนได้วางโครงเรื่องไว้เป็นอย่างดี และสามารถแก้ปมที่ตนเองผูกไว้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในใจของเรนะเรื่องของริเรีย, การปรับตัวของ Shadow ต่อสังคมที่รังเกียจเขา, จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ Shadow ไม่ปฏิบัติตนตามหน้าที่ของตน (คือการเป็นอะไหล่มนุษย์), Shadow ที่ไม่สามารถช่วยต้นแบบของตนได้จะต้องเผชิญกับชีวิตอย่างไร เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตอนท้ายที่เรนอาการปางตาย ก็ทำให้ผู้อ่านเชื่อได้ว่าพวกเขาจะเลือกสิทธิ์ของ Shadow ได้อย่างไม่ยัดเยียดจริยธรรมแบบเชิดชูมนุษย์อย่างสุดโต่งจนเกินไป จากการที่ได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากมนุษย์ของ Shadow หลายคน ทั้งของเทมส์ เรนะ เรน โดยเฉพาะ Shadow ของเจ้าชายซารัฟ ที่ตั้งชื่อให้ตนเองว่าคิว ซึ่งหมายถึงการตั้งคำถาม เขาเป็น Shadow คนแรกที่ตั้งคำถามถึงสิทธิ์ที่ควรจะได้รับของพวกตน เหล่า Shadow มีความรัก ความกลัว และอื่นๆ ที่สมควรต่อการเป็นมนุษย์ ซึ่งผู้เขียนได้แสดงไว้ตลอดทั้งเรื่อง

การตั้งชื่อให้ Shadow ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาแตกต่างจากมนุษย์ โดย Shadow แต่ละคนจะมีชื่อเรียกเป็นตัวเลขได้แก่ 1011 ของเทมส์ 844,845 ของเรนและเรนะ 1012 ของเจ้าชายซารัฟ นอกจากคิวที่ตั้งชื่อให้ตนเองแล้วก็ไม่มีใครตั้งชื่อให้กับพวกเขา นอกเสียจากเรนะที่คิดว่า Shadow จำเป็นต้องมีชื่อ จึงตั้งชื่อให้ 1011 ว่าทาโร่ตามชื่อสุนัขของตน (แต่ก็ทำให้ผู้อ่านสงสัยว่าการตั้งชื่อตามสุนัขจะแสดงให้เห็นว่าถึงที่สุดแล้ว แม้แต่นางเอกก็ยังไม่ยอมรับว่าเขาเป็นมนุษย์ใช่หรือไม่) และตั้งชื่อ Shadow ของตนเองว่าริเรีย

นอกจากจุดเด่นด้านการตั้งคำถามจริยธรรมแล้ว เรื่องความรักก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ผู้เขียนได้เขียนถึงความรักระหว่างเรนะกับทาโร่ ตั้งแต่เรนะไม่พอใจที่คนที่หน้าตาเหมือนกับเทมส์ทุกประการต้องมาอยู่ที่บ้าน เพราะเขาไม่อาจจะแทนที่เทมส์ได้ แต่ทาโร่สามารถเอาชนะใจเรนะได้ด้วยการดูแลเธออย่างดีในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำอาหาร ฯลฯ การที่เรนะสอนการประพฤติตัวในสังคมให้กับทาโร่ ยังทำให้เธอใกล้ชิดกับเขาจนเกิดความรักระหว่างกันขึ้น ถึงแม้จะมีศัตรูหัวใจเข้ามาก็ตาม แต่นั่นก็เพื่อให้ทั้งสองได้รู้ความจริงในใจตน และยังสามารถช่วยตอบคำถามได้ว่าทาโร่เป็นมนุษย์หรือไม่ เพราะเขาเองก็มีความรัก

นอกจากนี้ผู้เขียนก็ยังไม่ลืมที่จะตอบคำถามเล็กๆ น้อยๆ ที่ตั้งทิ้งไว้ตลอดเรื่อง เช่น หากใครคนหนึ่งใช้ Shadow ไปแล้ว เมื่อต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องใช้อีกจะทำอย่างไร (Shadow จะถูกโคลนขึ้นมาใหม่ทันทีที่ถูกใช้ไป) ใครที่จะมี Shadow ได้บ้าง (คนที่มีเงิน) ทำไมชื่อของตัวละครจึงเป็นชื่อของคนต่างวัฒนธรรม เช่น เรนะ เรน ซารัฟ นาตาชา เจน ฯลฯ และมีอาหารหลายประเภท เช่น อาหารไทย อาหารญี่ปุ่น อาหารฝรั่ง ฯลฯ (ไม่ได้อธิบายไว้ว่าเรื่องเกิดที่ประเทศอะไรหรือยุคใด จึงอาจอ้างได้ว่าเกิดขึ้นในยุคที่มีการข้ามวัฒนธรรมจนคนต่างชาติต่างภาษามาอยู่ร่วมกัน) เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้ผู้อ่านเช่นผมทึ่งได้ทีเดียว

ถึงแม้ผมจะประทับใจนิยายเรื่องนี้ แต่ก็มีอีกหลายจุดที่ต้องปรับปรุง ขอเริ่มจากความ “ง่ายเกินไป” ของการแก้ปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคมของทาโร่ เช่นระยะแรกเพื่อนชายในห้องไม่ชอบทาโร่ เพราะเป็น Shadow แต่กลับยอมรับเพียงเพราะเตะบอลเก่ง หรือเพื่อนของเรนะที่ได้พบที่ร้านกาแฟ เธอเป็นคนที่รังเกียจ Shadow เช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับเด็กคนนี้ต่อ ราวกับว่าจะมาปรากฏตัวเพื่อพูดจาให้ทาโร่รู้สึกเศร้าใจเท่านั้น หากจะเน้นเรื่องการเป็นพลเมืองชั้น 2 ของ Shadow ก็น่าจะให้ทาโร่ต้องเผชิญกับการต่อต้านให้นานและมากกว่านี้ หรือเรื่องของเจ้าไวท์ สุนัขที่ทั้งสองเก็บมาเลี้ยง ซึ่งผู้เขียนใส่เรื่องราวตอนนี้มาเพื่อให้ทาโร่ได้รู้จักความรักต่อเพื่อนร่วมโลก และความเศร้าจากการสูญเสียสิ่งที่ตนรัก

เหตุการณ์เหล่านี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว ราวกับว่าผู้เขียนใส่เข้ามาเพื่อให้นิยายเรื่องนี้ “มีครบทุกอย่าง” เท่านั้น แต่สิ่งที่กล่าวมานี้ยังไม่สามารถทำให้ผู้อ่านเชื่อและมีความผูกพันกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้เพียงพอ จึงขอแนะนำให้เพิ่มรายละเอียดส่วนนี้ให้มากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ขอแนะนำคือเรื่องของการหาข้อมูลด้านการแพทย์ของผู้เขียน ที่ยังมีความสมจริงน้อยมาก นับว่าเป็นจุดอ่อนที่เห็นได้ชัดมากที่สุดของเรื่องนี้ การเขียนถึงรายละเอียดต่างๆ ของผู้เขียนจะหมดความหมายไปทันที หากผู้เขียนยังไม่มีข้อมูลด้านนี้ที่สมจริงเพียงพอ เช่น ผู้เขียนละเลยข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนอวัยวะหรือใช้อวัยวะเทียม ซึ่งแม้แต่ในโลกปัจจุบันก็เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลาย การเปลี่ยนหัวใจไม่จำเป็นต้องใช้ Shadow เลย เพียงแต่ใช้หัวใจที่มีผู้อื่นบริจาคมาก็ใช้ได้แล้ว การติดเชื้อในกระแสเลือดไม่สามารถรักษาได้ด้วยการเปลี่ยนอวัยวะ หรือการใช้สเต็มเซลล์ (stem cell) ที่เป็นเซลล์ที่สามารถพัฒนาไปเป็นอวัยวะใดๆ ก็ได้ ถึงแม้ว่าในโลกปัจจุบันจะยังไม่เป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้จริง แต่ในโลกที่มีมนุษย์โคลนนิ่งอยู่เต็มไปหมด เพราะเหตุใดการเปลี่ยนอวัยวะจึงไม่ใช้สเต็มเซลล์ก่อน ถึงแม้สเต็มเซลล์จะต้องนำมาจากตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจเป็นปัญหาด้านจริยธรรม แต่การใช้โคลนนิ่งทั้งตัวไม่ยิ่งเป็นปัญหามากกว่าหรือ?

นอกจากนี้ในตอนที่โลกของเราสร้างแ ลลี่ หรือแกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลกได้ ก็เกิดประเด็นด้านจริยธรรมที่ถกเถียงกันทั่วโลกว่าการสร้างมนุษย์โคลนนิ่งนั้นเป็นการสมควรหรือไม่ และกระแสของโลกเห็นว่าไม่สมควร นิยายและภาพยนตร์เกี่ยวกับมนุษย์โคลนนิ่งส่วนใหญ่จึงเป็นการสร้างอย่างลับๆ ซึ่งแตกต่างจากในเรื่องนี้ หากผู้เขียนจะให้มนุษย์โคลนนิ่งเป็นที่ยอมรับในทางจริยธรรมสำหรับโลกแห่ง Shadow ผู้เขียนน่าจะต้องมีคำอธิบายสำหรับเรื่องนี้ด้วยว่าเพราะเหตุใดสังคมโลกในนิยายจึงยอมรับให้มีการผลิต Shadow ได้อย่างเป็นสาธารณะ

ด้านคำที่สะกดผิดมีน้อยมาก ที่เห็นได้บ่อยคือคำว่า “เหรอ” ที่เขียนผิดเป็น “หรอ” และมีภาษาพูดปรากฏในส่วนที่เป็นการบรรยายบ้างแต่ไม่มากนัก หากผู้เขียนจะปรับปรุงในส่วนนี้ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้นอีก
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12