หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ใครแต่ง : I L L R E I
23 ก.พ. 55
80 %
9 Votes  
#51 REVIEW
 
เห็นด้วย
8
จาก 8 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Stigma ตราประทับอันตราย

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 1 มิ.ย. 54

นิยายแฟนตาซีที่มีเรื่องเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา ของ ฟารา เรื่อง Stigma ตราประทับอันตราย นับเป็นนิยายแฟนตาซีที่มีความน่าสนใจและน่าติดตามเรื่องหนึ่ง แม้ว่าเพิ่งจะโพสต์ไปได้เพียง 11 ตอน และหากจะนับเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อเรื่องจริงๆ ก็มีเพียง 5 ตอนเท่านั้น นิยายแฟนตาซีเรื่องนี้นำความเชื่อทางคริสต์ศาสนามาเป็นปมสำคัญในการดำเนินเรื่อง นั่นก็คือสติกมา (stigma) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “รอยประทับแห่งมลทิน หรือความอดสู ที่มีมาจากบาดแผลห้าแห่งที่พระเยซูได้รับจากการตรึงไม้กางเขน” โดยเน้นไปที่สติกมาแห่งบาป ในที่นี้ก็คือบาปมหันต์ทั้ง 7 ประการตามความเชื่อของคริสต์ศาสนานั่นเอง ในช่วงต้นเรื่องก็เปิดตัวแทนของบาปดังกล่าวไปแล้ว 2 ตัวคือ เอ็นวี่แห่งริษยา และกลัทโทนี่แห่งตะกละ และตัวละครทั้งสองก็ได้สร้างความปั่วป่วนให้กับศาสนจักรแห่งนครนีโอวาติกันอย่างมาก โดยลักพาตัว โฮลี่เมเด้น ผู้ซึ่งเป็นแม่พระหนึ่งเดียวของสำนักวาติกันใหม่ และยังเป็นน้องสาวแท้ๆ ของพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันไป

ก่อนอื่นต้องขอชื่นชม ฟารา ที่กล้านำเรื่องราวความเชื่อของคริสต์ศาสนามาเป็นตัวดำเนินเรื่องสำคัญ การเขียนนิยายในลักษณะนี้นับเป็นดาบสองคม หากเขียนได้ดีอาจจะแค่เสมอตัว แต่ถ้ามีข้อมูลผิดพลาดก็จะได้รับการโจมตีหรือประณามจากผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนาอย่างเคร่งครัดก็เป็นได้ เพราะมิได้เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นจากจินตนาการเหมือนกับนิยายแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ แต่มีข้อเท็จจริงในทางคริสต์ศาสนาเป็นกรอบกำหนดไว้อีกชั้นหนึ่งด้วย ดังจะเห็นตัวอย่างแล้วจากกรณีที่นิยายเลื่องชื่อ The Da Vinci Code ของแดน บราวน์ ก็ถูกโจมตีอย่างมากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงต้องระมัดระวังในการนำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาใช้ ในที่นี้จะพบว่า ฟารา ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี สังเกตได้จากข้อมูลที่สอดแทรกไว้ในเรื่องขณะกล่าวถึงสัญลักษณ์และความเชื่อทางคริสต์ศาสนาที่นำมาอธิบายขยายความเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรื่อง ทั้งเรื่อง “งู” ที่ล่อลวงอาดัมและอีฟ หรือแม้แต่บาปมหันต์ทั้ง 7 ประการ ขณะเดียวกันก็ยังมีการขยายความที่นอกเหนือจากตัวเรื่อง ทั้งในส่วนของเชิงอรรถ และบทคั่นเวลาต่างๆ เช่น “ห้องเรียนเรื่อง ‘stigma’ โดยคุณเมด” ทั้งยังรวมไปถึงภาพประกอบของภาพวาดและมหาวิหารต่างๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน ฟารา ก็มิได้ดำเนินตามความเชื่อของคริสต์ศาสนาอย่างเคร่งครัดแต่เพียงอย่างเดียว หากเธอก็ตั้งคำถามกับความเชื่อในแง่มุมต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะให้กลัทโทนี่เป็นผู้ตั้งคำถามต่อโฮลี่เมเด้นเกี่ยวกับการเป็นพระผู้สร้างของพระผู้เป็นเจ้าว่า “เธอคิดว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างทุกอย่างรึเปล่า?”… “ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าก็ต้องสร้าง ‘ความชั่วร้าย’ ขึ้นมาด้วยจริงไหม ... ในเมื่อความชั่วร้ายเป็นสมบัติของพระเจ้า ดังนั้นพระเจ้าเองก็คือความชั่วร้ายเช่นกัน!” ประเด็นคำถามในลักษณะนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในนิยายเรื่องนี้เท่านั้น แต่มีการตั้งคำถามคล้ายๆ อย่างนี้มาแล้วในสังคมตะวันตกตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 และเข้มข้นมากขึ้นหลังช่วงสงครามโลก จนกระทั่งมีนักปรัชญาชาวเยอรมันที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ Friedrich Nietzsche ออกมาประกาศเลยว่า “พระเจ้าตายแล้ว” เพราะหากพระเจ้ามีอยู่และพระองค์เป็นพระผู้เมตตาจริง ก็ไม่น่าที่จะสร้างสิ่งเลวร้ายขึ้นในโลก นอกจากนี้ยังให้ เอ็นวี่ วิพากษ์ความยุติธรรม ซึ่งเป็น 1 ใน 7 เทวทูตสำคัญว่า “ความยุติธรรม คือ ‘ข้ออ้าง’ ที่มนุษย์ใช้ควบคุมมนุษย์ด้วยกันเองต่างหาก ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านั้น”

การตั้งคำถามต่อความเชื่อต่างๆ ในเรื่องนี้สามารถกระทำได้โดยไม่ขัดกับเรื่องในภาพรวม นั่นเป็นเพราะ ฟารา เลือกให้ตัวละครที่เป็นเสมือนปรปักษ์กับคริสต์ศาสนาเป็นตัวละครที่นำเสนอประเด็นเชิงวิพากษ์คริสต์ศาสนา ไม่ว่าจะเป็น เอ็นวี่ หรือ กลัทโทนี่ ขณะเดียวกันก็พบว่า ฟารา ยังสร้างเงื่อนไขครอบไว้อีกชั้นหนึ่งจนดูประหนึ่งว่า แม้จะเป็นปรปักษ์กัน แต่ตัวละครเหล่านี้ก็มิอาจที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอ็นวี่ ที่ไม่สามารถฆ่าตัวตายได้เพราะอยู่ภายใต้พระพรแห่งความเจ็บปวดอันถือเป็นคำสาปร้ายของพระเจ้า และบางครั้ง ฟารา ก็ยังให้ตัวละครที่นับถือศาสนาจักรอย่างเคร่งครัดเป็นผู้ตั้งคำถามขึ้นมาด้วยเช่นกัน เช่น การให้โฮลี่เมเด้นที่ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเลือกหนทางที่ขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้าเช่นเดียวกับอีฟ เธอก็ตั้งข้อสังเกตอันชวนคิดเกี่ยวกับการเลือกกินแอปเปิ้ลของอีฟตามคำชักชวนของงูว่า “บางที...ในยามที่อีฟตัดสินใจยอมรับผลไม้ต้องห้ามมาจากอสรพิษ บางทีแล้ว...อีฟอาจจะมีความสุขก็เป็นได้”

หากจะพิจารณาในแง่ของกลวิธีการนำเสนอเรื่องจะเห็นได้ว่ามีกลวิธีที่สำคัญอย่างน้อย 2 วิธีที่ช่วยให้เรื่องราวนี้มีความเข้มข้นและน่าติดตาม ประการแรกคือ การใช้ลักษณะของคู่ตรงข้าม (binary opposition) ในเรื่องนี้จะเป็นภาวะของการแบ่งคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจนของตัวละครสองกลุ่ม นั่นก็คือตัวละครฝ่ายพระเจ้า อันประกอบไปด้วยพระสันตะปาปา เทวทูตทั้ง 7 ภารดร และผู้นับถือคริสต์ศาสนา กับกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับพระเจ้า ที่นำทีมโดยเอ็นวี่ และ กลัทโทนี่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเป็นศัตรูกันอย่างเปิดเผย เพราะฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ต่อพระเจ้าออกมาประกาศตัวอย่างชัดเจนด้วยการลักพาตัวโฮลี่เมเด้น สตรีศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของคริศต์ศาสนาที่ไม่อาจปล่อยให้ตกอยู่ในเงื้อมือของฝ่ายต่อต้านได้ ทั้งนี้ การปะทะระหว่างสองกลุ่มนับวันก็ยิ่งขยายวงกว้างออกไปและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งช่วยสร้างความน่าตื่นเต้นและทวีความเข้มข้นให้กับเรื่องมากขึ้น
นอกจากการสร้างคู่ตรงข้ามขึ้นมาอย่างชัดเจนแล้ว ยังมีการสอดแทรกลักษณะ
ทวิภาวะ (duality) ของตัวละครหลักที่เป็นปรปักษ์ต่อกันไว้ด้วย นั่นก็คือการสร้างให้ เอ็นวี่ (ผู้นำของกลุ่มต่อต้านศาสนจักร) ถูกสร้างขึ้นจากความริษยาของโฮลี่เมเด้น (สัญลักษณ์สตรีศักดิ์สิทธิ์ของศาสนจักร เป็นดั่งพระผู้ไถ่ของมวลมนุษยชาติ) หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เอ็นวี่ก็คือบาปของโฮลี่เมเด้นนั่นเอง และตัวละครทั้งสองยังเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันด้วย ซึ่งทั้งสองคนแท้ที่จริงแล้วก็คือคนๆ เดียวกัน ซึ่งอาจจะแยกกันก็ตรงที่แบ่งให้ร่างซีกขวามีสัญลักษณ์แทนโฮลี่เมเด้น ไม่ว่าจะเป็นนัยน์ตาข้างขวาสีควอมารีน และสติกมารูปไม้กางเขนสีขาวที่หน้าอกข้างขวา ในขณะที่เอ็นวี่ครอบครองร่างกายด้านซ้าย นับตั้งแต่นัยน์ตาสีแดงข้างซ้าย และสติกมารูปกางเขนกลับหัวสีดำตรงหน้าอกเหนือตำแหน่งหัวใจข้างซ้าย

ประการต่อมาคือ การสร้างความลับหรือปริศนาที่มาของตัวละคร ในช่วงแรก ฟารา สร้างเรื่องให้ผู้อ่านคาดเดาไปต่างๆ นานาว่า เอ็นวี่ กับ โฮลี่เมเด้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะทั้งสองมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันราวกับเป็นคนๆเดียวกัน ก่อนที่จะเฉลยว่าแท้ที่จริงแล้ว เอ็นวี่ ก็คือส่วนหนึ่งของโฮลี่เมเด้น นั่นเอง ปริศนาต่อมาที่เปิดปมไว้คือ ความลับอะไรที่ ลิฟ พยายามปกปิดไม่ให้คนรักของเธอ จัสติน เทวทูตแห่งความยุติธรรมรับรู้ ซึ่งความลับนี้น่าจะสอดคล้องกับแผนการณ์ที่เอ็นวี่วางไว้เพื่อดึงตัวลิฟเป็นพวกเดียวกับเธอต่อไป

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้มีความน่าติดตามก็คือ ความสามารถในการเขียนของ ฟารา ทั้งในภาษาสนทนา และภาษาบรรยาย ซึ่งสังเกตได้ทั้งจากการบรรยายลักษณะของตัวละคร สถานที่ และบรรยากาศต่างๆ ไว้อย่างละเอียดจนผู้อ่านสามารถที่จะสร้างภาพดังกล่าวตามไปด้วยอย่างไม่ยากนัก นอกจากนี้ ฟารา ยังระมัดระวังในการเขียนมาก เพราะแทบจะไม่พบคำผิดเลย และเพื่อให้นิยายเรื่องนี้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากขึ้น จึงอยากจะเสนอคำเขียนผิดที่พบไว้ด้วย ดังนี้ องครักษ์ เขียนเป็น องค์รักษ์ ยาเสพติด เขียนเป็น ยาเสพย์ติด กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ และในบทแนะนำตัวละคร เขียน งูจงอาง เป็น งูจงอาจ

ยิ่งไปกว่านั้น Stigma ตราประทับอันตราย นับเป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้อ่านไม่สามารถคาดเดาทิศทางของเรื่องในตอนต่อไป รวมทั้งตอนจบของเรื่องได้ล่วงหน้า เนื่องจาก ฟารา เปิดตัวละครและเปิดเรื่องเท่าที่จำเป็นในบทนั้นๆ เท่านั้น ซึ่งนับเป็นกุศโลบายสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้อ่านที่อยากทราบว่าเรื่องจะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือว่าจะจบแบบไหน ก็ต้องติดตามอ่านนิยายเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบ ด้วยเหตุนี้ Stigma ตราประทับอันตราย จึงนับว่าเป็นนิยายแฟนตาซีแนวคริสต์ศาสนาที่น่าติดตามเรื่องหนึ่งก็ว่าได้

------------------------------

     
 
ชื่อเรื่อง :  A.I. ONLY
ใครแต่ง : Ma Machina
15 ก.ย. 57
80 %
8 Votes  
#52 REVIEW
 
เห็นด้วย
8
จาก 8 คน 
 
 
วิจารณ์ A.I. ONLY

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 27 ส.ค. 55
นิยายเรื่อง A.I. Only ของ Ma Machina หรือ juliatsally หรือ ปั๊บ ผู้มีงานอดิเรกอีกอย่างคือการวาดภาพ และได้วาดภาพประกอบให้กับนิยายของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากนักเขียนคนอื่นๆ ในเว็บเด็กดี ที่มักใช้ภาพถ่ายหรือภาพที่ตนเองไม่ได้วาด เป็นภาพประกอบนิยาย หรือภาพแทนตัวละคร ในที่นี้จะไม่ขอวิจารณ์ฝีมือการวาดภาพ นอกจากจะบอกว่า ภาพวาดตัวละครแต่ละตัวนั้น ค่อนข้างมีภาพลักษณ์ตรงกับที่บรรยายไว้ในนิยายทีเดียว ที่กล่าวเช่นนี้ได้เพราะอ่านนิยายไปได้ระยะหนึ่งแล้วจึงย้อนกลับมาดูภาพตัวละครอีกครั้ง จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าติดภาพตัวละครที่ผู้เขียนวาดขึ้น นอกจากนี้ผู้เขียนยังใช้เพลงช่วยเสริมบรรยากาศในแต่ละฉากอีกด้วย

นิยายเรื่องนี้มีความยาวค่อนข้างมาก คือเนื้อเรื่องหลักที่มีตัวละครเอกคือนักข่าวหนุ่มชื่ออดัมกับหุ่นยนต์สาวชื่อฤทัยนั้น มีความยาวถึงสามภาค ปัจจุบันผู้เขียนยังแต่งภาคที่สามไม่จบ จึงไม่แน่ใจว่า จะมีภาคต่อจากนี้หรือไม่ และยังมีภาคเสริมคือ A.I. ONLY 0.01: Beyond Destiny เล่าเหตุการณ์ก่อนหน้าภาคหลักอีกด้วย

เรื่องราวของ A.I. Only เกิดขึ้นในอนาคตหลังสงครามโลกครั้งที่สาม ซึ่งเป็นสงครามนิวเคลียร์ ทำให้อารยธรรมต่างๆ บนโลกต้องสูญสิ้น กัมมันตภาพรังสีแผ่ขยายปกคลุมไปทั่วโลก เหลือพื้นที่เพียงไม่กี่ส่วนที่ปลอดภัย มนุษย์ที่ยังเหลือเปลี่ยนระบบการปกครองใหม่ที่เป็นการรวมศูนย์กันทั้งโลก ในนาม “สันตินานาชาติ” หรือ “สาธารณรัฐเนฟฟา” แต่เนฟฟาก็มีองค์กรลับ “รีแบเรียน ฟอลคอน” ที่หวังใช้จักรกลครอบครองโลกคอยหนุนหลังอยู่ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ฝ่ายที่ทราบเรื่องนี้ก็ก่อตั้งฝ่ายปลดแอกขึ้นเพื่อต่อต้าน และยังมีฝ่าย Dragon World ชาวเอเชียเดิม ซึ่งประกาศตนว่าไม่เข้ากับฝ่ายใด แต่ในความเป็นจริงแล้วคอยหนุนหลังฝ่ายปลดแอกอยู่

โครงการ A.I. Only เป็นโครงการของรีแบเรียน ฟอลคอน เพื่อทดลองสร้างจักรกลชีวะที่มีรูปร่างและสติปัญญาเหมือนมนุษย์ แต่มีอาวุธร้ายแรง และหากสำเร็จจะใช้จักรกลนี้ในการสู้รบ แต่ ดร. ธีระ ซึ่งถูกบีบบังคับจากองค์กรให้ต้องทำโครงการนี้ ได้แอบทำเกินหน้าที่ คือใส่จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ให้กับต้นแบบด้วย จนเป็นที่มาของ EVE01 หรืออีวา หรือฤทัย นางเอกของเรื่อง

ส่วนอดัม ก็เป็นนักข่าวสงครามที่ได้พบกับฤทัยโดยบังเอิญ และได้ตกหลุมรักเธอตั้งแต่แรกเห็น ทั้งสองร่วมผจญภัย และร่วมต่อต้านรีแบเรียน ฟอลคอน ไปพร้อมๆ กับความรักที่ก่อตัวขึ้นในหัวใจคนทั้งสอง แม้ว่าคนรอบข้างพวกเขาจะไม่เชื่อว่า มนุษย์ จะมีความรักกับหุ่นยนต์ได้



ที่เล่ามาสามย่อหน้า คือความพยายามสรุปเนื้อหาสามภาคของนิยายเรื่องนี้ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะเห็นได้ว่าเนื้อเรื่องหลักของนิยายเรื่องนี้มีสองแนวทางควบคู่กัน คือเรื่องราวความรักระหว่างอดัมกับฤทัย และการต่อสู้ของกลุ่มปลดแอกกับรีแบเรียน ฟอลคอน ซึ่งผู้เขียนสามารถเล่าเรื่องทั้งสองแนวทางได้อย่างชัดเจน และเห็นภาพ แต่เนื้อเรื่องดูจะเน้นหนักไปที่ด้านของความรักมากกว่า และผู้เขียนได้เล่าเรื่องการผ่านอุปสรรคต่างๆ นานา ของคู่พระนาง จนผู้อ่านเชื่อมั่นในความรักของคนทั้งสอง แม้กระทั่งการร่วมรัก ผู้เขียนก็สามารถบรรยายได้อย่างโรแมนติกและไม่ลามกเลยแม้แต่น้อย เมื่อถึงฉากต่อสู้ เดินทาง หรือผจญภัย ผู้อ่านก็ได้สัมผัสกับโลกของ A.I. Only ในจินตนาการของผู้เขียนอย่างเต็มที่ ทั้งสถานที่ จักรกล อาวุธ และเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งขอยอมรับว่าผู้เขียนบรรยายได้อย่างน่าตื่นเต้น นอกจากนี้ ในตอนต้นเรื่อง เหล่าตัวละครยังต้องออกค้นหาชิ้นส่วนหัวใจจักรกลของฤทัย เพื่อนำมาติดตั้งให้เธอได้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ แต่นั่นกลับเป็นดาบสองคม เพราะความทรงจำของเธอสมัยเป็นนักฆ่าจะกลับคืนมา ซึ่งเป็นประโยชน์หลายอย่างต่อผู้เขียน เพราะนอกจากจะมีเรื่องราวการผจญภัยตามหาชิ้นส่วนแล้ว ยังสามารถทำให้ผู้อ่านได้ลุ้นว่าฤทัยจะกลับไปเป็นนักฆ่าหรือไม่ อีกทั้งยังทำให้เธอมีสภาพเหมือนมนุษย์ธรรมดาในขณะที่เกิดเรื่องราวความรักกับอดัม และเมื่อเธอ “อัพเกรด” แล้ว ผู้เขียนก็ยังได้ทำให้ฤทัยเปลี่ยนจากหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ที่มีอาวุธเป็นปืนที่แขน เป็น สุดยอดอาวุธสงคราม ที่มีจักรกลทั้งสิบสองที่ตั้งชื่อตามจักรราศีคอยปกป้อง ซึ่งทำให้เธอสามารถต่อสู้กับศัตรูได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ หลังจากที่เป็นรองมาโดยตลอด

คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนได้แฝงไว้ในเรื่องได้อย่างคมคาย กล่าวคือ ฤทัย ซึ่งเป็นหุ่นยนต์โดยกำเนิด และถูกเยาะเย้ยอยู่เสมอว่าเป็นหุ่นยนต์ ไม่อาจมีความรู้สึกได้เช่นมนุษย์ กลับมีร่างกายที่เหมือนมนุษย์ชนิดไม่บอกไม่รู้ แต่กลุ่มคนที่อ้างตนเองว่าเป็นมนุษย์อย่างรีแบเรียน ฟอลคอน แต่ละคนกลับมีอวัยวะหลายส่วนในร่างกายเป็นจักรกล ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และในหลายครั้งสามารถปฏิบัติการได้อย่างไร้ความรู้สึก จึงทำให้เหมือนเป็นการตั้งคำถามถึงนิยามของความเป็นมนุษย์

เนื้อหาของนิยายยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่เสริมอรรถรส เพิ่มความสนุกได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น บุคลิกของตัวละคร ที่ถึงแม้จะมีจำนวนมาก เพราะมีกันหลายฝ่าย แต่ผู้เขียนก็สามารถบรรยายให้ผู้อ่านได้เห็นความแตกต่างของตัวละครได้ชัดเจน เช่น อดัม เป็นคนรักษาคุณธรรมและมีความมั่นคงต่อรักแท้ ฤทัย นอกจากเวลาที่เธอนำอาวุธหรือหุ่นยนต์ผู้พิทักษ์ออกมา หรือบาดเจ็บจนเห็นสายไฟ เธอก็คือหญิงสาวผู้มีอารมณ์ขันธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ไม่มีความแตกต่างจากมนุษย์ ฮาคีม บุตรชายของผู้ร่วมสร้างฤทัย เป็นคนโผงผาง แต่มีความจริงใจ เซธ มนุษย์กึ่งจักรกล นักรบของรีแบเรียน ฟอลคอน เป็นผู้ที่ภักดีต่อผู้เป็นนายอย่างไม่เสื่อมคลาย ถึงแม้ว่าเขาจะหลงรักฤทัย และองค์กรทำในสิ่งที่เขาต้องตั้งคำถามหลายครั้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้เขียนก็ยังมีจังหวะการเล่าเรื่องราวย่อยของตัวละครแต่ละตัว โดยปิดบังความลับบางส่วนเอาไว้ แล้วค่อยเฉลยเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ประวัติของฤทัย ความรักครั้งแรกของอดัม เหตุผลที่ทำให้เซธภักดีต่อไคลฟ์ผู้เป็นนาย ความรักของตัวละครอีกหลายคู่นอกเหนือจากอดัมกับฤทัย เป็นต้น ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็ช่วยเสริมให้โลกของ A.I. Only ดูสมจริง และเพิ่มความสนุกของนิยายได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของ A.I. Only คือวิธีการเล่าเรื่องที่มักจะใช้วิธีการให้ตัวละครคิดหรือเล่าความรู้สึกของตนเองออกมา เช่น เรื่องราวความรักของตัวละครทั้งหลาย หรือการที่ตัวละครหลายตัวต้องออกมาเล่าถึงสาเหตุการกระทำของตน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนสามารถทำได้ แต่ขอแนะนำว่าควรจะสลับไปใช้วิธีเล่าอย่างอื่นบ้าง เช่น ใช้การกระทำของตัวละครเป็นสื่อ หรือการเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของตัวละครอื่น หรือการให้ผู้อ่านต้องเดาบ้าง ก็น่าจะเพิ่มอรรถรสให้กับนิยายได้มากขึ้น

ยังมีคำถามหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพิสูจน์ความรักระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ คือ มนุษย์นั้นไม่ได้เป็นอมตะเฉกเช่นหุ่นยนต์ เมื่อถึงวันหนึ่งเขาต้องจากเธอไป และฤทัยจะต้องอยู่คนเดียวไปจนตราบชั่วนิรันดร์ เมื่อถึงวันนั้นเธอจะทำอย่างไร เมื่อผู้เขียนได้บรรยายไว้ว่า เมื่อฤทัยคิดว่าอดัมเสียชีวิตไปแล้ว เธอพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง แต่ก็ไม่อาจทำลายชีวิตของตนเองได้ หากวันนั้นของอดัมมาถึงจริงๆ ก็สนใจว่าผู้เขียนจะให้คำตอบของคำถามนี้อย่างไร
     
 
25 ส.ค. 56
80 %
17 Votes  
#54 REVIEW
 
เห็นด้วย
8
จาก 8 คน 
 
 
วิจารณ์ จอมใจซาตาน

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 4 มี.ค. 56
จอมใจซาตาน (Satan’s Princess) นวนิยายแนวซึ้งกินใจผลงานของ กลิ่นเอื้อง ได้เขียนจนจบเรื่องแล้ว แต่ขณะที่อ่านนั้นผู้เขียนเพิ่งจะรีไรท์ใหม่และโพสต์ถึงแค่ตอนที่ 12 เท่านั้น เป็นเรื่องราวความรักระหว่างเจ้าหญิงวาเลนเทียร์ ผู้แสนสวยแห่งเมอร์ซีย์ ที่ต้องปลอมตัวเป็น วาเลน เลอเทียร์ นักเรียนทุนสาวจอมเฉิ่ม เชย ที่แต่งตัวล้าสมัย เพราะเป็นเงื่อนไขเดียวที่ทำให้เธอสามารถออกจากเมอร์ซีย์เพื่อมาเรียนต่อในวิชาที่ชื่นชอบในโรด้าได้ แต่ถ้ามีใครรู้ความจริง เธอต้องเดินทางกลับทันที เมื่อเจ้าหญิงต้องมาพบกับเจ้าชายเอลรอยด์ มงกุฎราชกุมารแห่งโรด้า ที่แอบปลื้มมานาน แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้ ทั้งๆ ที่ทราบอยู่แก่ใจเป็นอย่างดีว่าเจ้าชายทรงเกลียดผู้เกลียดคนโกหกจับใจ ขณะเดียวกันเจ้าชายเอลรอยด์ ก็ต้องประสบปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อพระมารดาบังคับให้เจ้าชายหาคู่ครองให้ได้ภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นพระมารดาจะเป็นผู้หาให้ เจ้าชายจึงคิดจะใช้ วาเลน เลอเดียร์ เป็นแฟนสาวกำมะลอเพื่อหลอกพระมาดา เรื่องราวความรักที่ตั้งอยู่บนการโกหกหลอกลวงจะดำเนินต่อไปอย่างไร ก็คงต้องติดตามอ่านกันต่อไป

แม้ว่าโครงเรื่องหลัก (main plot) ของนวนิยายเรื่องนี้จะไม่แตกต่างจากนวนิยายเรื่องอื่นๆ ในแนวนี้สักเท่าไร เพราะยังคงเป็นเรื่องราวความรักระหว่างเจ้าชายเอลรอยด์ ผู้ที่ประกาศตัวว่าเกลียดคนโกหกจับใจ กับเจ้าหญิงวาเลนเทียร์ ที่ต้องโกหกเพื่อปกปิดฐานะของตน ซึ่งความรักในลักษณะเช่นนี้ผู้อ่านพอที่จะคาดเดาได้ว่า เจ้าชายก็ต้องหลงรักเจ้าหญิงทั้งๆ ที่เธออยู่ในฐานะของสาวชาวบ้านธรรมดา และจะรู้สึกโกรธ ผิดหวัง และเสียใจเมื่อความจริงเปิดเผยว่าพระองค์เป็นเพียงคนเดียวที่ไม่รู้ว่าแท้จริงนางเอกคือเจ้าหญิงที่มีสิริโฉมสวยงาม จนเป็นเหตุให้หลบหน้า แต่ท้ายที่สุดก็มีเรื่องราวชักนำให้ทั้งสองเข้าใจและกลับมาคืนดีกันอีกครั้ง

กลิ่นเอื้อง ได้แก้ปัญหาเรื่องความซ้ำของโครงเรื่องในแนวนิยายนี้ไว้แล้ว โดยสร้างโครงเรื่องย่อย (sub-plot) ที่น่าสนใจดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับโครงเรื่อหลักอีก 2 โครงเรื่อง นั่นก็คือ ความรักระหว่างเจ้าชายฌาค พระเชษฐาของเจ้าหญิงวาเลนเทียร์ กับเจ้าหญิงเอลล่า พระขนิษฐาแห่งเจ้าชายเอลรอยด์ ที่คนทั้งคู่ต่างมีความรู้สึกดีๆ ต่อกัน แต่ไม่อาจแสดงออกให้อีกฝ่ายรู้ได้ เพราะเกรงว่าความสัมพันธ์และความรู้สึกดีๆ ในฐานะเพื่อนสนิทระหว่างพวกเขาจะหายไป หากอีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกับตน และการทรยศของพระมเหสีมาร์กาแรต แห่งเมอร์ซีย์ ที่ร่วมมือกับแกสตันสายลับแห่งอาณาจักรเลเรีย เพื่อพยายามโค่นล้มทั้งกษัตริย์แห่งเมอร์ซีย์และกษัตริย์แห่งโรด้า ซึ่งโครงเรื่องทั้งสามนับว่ามีส่วนในการช่วยเสริมในนิยายเรื่องนี้มีมิติที่หลากหลายมากขึ้นและชวนให้เรื่องน่าติดตาม

แม้ว่าจะได้ให้ภาพ image ของตัวพระเอกนางเอกไว้แล้ว แต่ กลิ่นเอื้อง ก็ยังใส่ใจที่จะบรรยายรูปร่างหน้าตาของตัวละครสองตัวนี้ไว้อย่างละเอียดด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกันการบรรยายตัวละครอื่นๆ นอกจาการบรรยายลักษณะของตัวละครแล้ว ก็ยังให้ความสำคัญกับการบรรยายฉาก และบรรยากาศต่างๆ เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องเกิดขึ้นในดินแดนสมมุติที่ผู้เขียนจินตนาการขึ้น จึงต้องใส่ใจที่อธิบายรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้มากกว่าการกล่าวถึงสถานที่หรือบรรยากาศที่ผู้อ่านคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตนาการภาพต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับที่ผู้เขียนคิดได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า กลิ่นเอื้อง สามารถบรรยายสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการสร้างบทสนทนา ซึ่งบทสนทนาต่างๆ ที่สร้างขึ้นนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างสีสัน อารมณ์ และความรู้สึกต่างๆ ให้เรื่องได้เป็นอย่างดีแล้ว บทสนทนาเหล่านี้ยังช่วยสร้างเป็นเอกลักษณ์และความโดดเด่นให้ตัวละครต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเพื่อนร่วมชั้นของวาเลนเทียร์ที่โรด้า

สำหรับข้อด้อยของนวนิยายเรื่องนี้ที่เห็นว่า กลิ่นเอื้อง ควรปรับปรุง คือ คำผิดที่พบเป็นจำนวนมาก เช่น บางอย่าง เขียนเป็น บางอย่า อุตส่าห์ เขียนเป็น อุส่าห์ ง้องแง้ง เขียนเป็น ง๊องแง๊ง ประกาศิต เขียนเป็น ประกาศศิต อ้าว เขียนเป็น อ่าว กุลีกุจอ เขียนเป็น กุลีกุจร ร่ำลา เขียนเป็น ล่ำลา เปิด เขียนเป็น เปิ่ด จิ๊จ๊ะ เขียนเป็น จิ๊กจัก วิพากษ์ เขียนเป็น วิพากย์ พึมพำ เขียนเป็น พึมพัม โรค เขียนเป็น โร เดี๋ยว เขียนเป็น เดียว อุณภูมิ เขียนเป็น อุณหภูมิ เป็น เขียนเป็น ปูน ทะนุถนอม เขียนเป็น ทนุถนอม รื่นรมย์ เขียนเป็น รื่นรมณ์ พิเรนทร์ เขียนเป็น พิเรนท์ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ สายัณห์สวัสดิ์ เขียนเป็น สายันสวัสดิ์ สงครามประสาท เขียนเป็น สงครามปราสารท ซี้ เขียนเป็น ซี๊ เลนซ์แว่นตา เขียนเป็น เลนด์แว่นตา ก้าวเท้า เขียนเป็น เก้าเท้า หมิ่นเกียรติ เขียนเป็น หมิ่นเกีย หน้าคร้ามเข้ม เขียนเป็น หน้าครามเข้ม ตัดพ้อ เขียนเป็น ตัดเพ้อ หย่อนยาน เขียนเป็น หยอนยาน ทรมาน เขียนเป็น ทรมาณ ลำคอ เขียนเป็น ลำขอ กอปรไปด้วย เขียนเป็น กอบไปด้วย ตะกร้า เขียนเป็น ตระกร้า ไม่ เขียนเป็น ไม้ สังเกต เขียนเป็น สังเกต อาจจะ เขียนเป็น อาจะ ปล่อย เขียนเป็น ปลอย สะเทิ้น เขียนเป็น สะเทิน หากแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้แล้วจะช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้ถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น

------------------------------------
     
 
ใครแต่ง : The.wolF
26 มิ.ย. 58
80 %
10 Votes  
#55 REVIEW
 
เห็นด้วย
8
จาก 8 คน 
 
 
วิจารณ์ P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก และ P.I.R.A.T.E.S ระวัง•ทะเล•คลั่ง!!

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 26 เม.ย. 56

นิยายเรื่อง P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก และ P.I.R.A.T.E.S ระวัง•ทะเล•คลั่ง!! ที่ The.wolF นำมาฝากไว้ให้วิจารณ์ ปัจจุบันเรื่องแรกแต่งจนจบแล้วกำลังรีไรท์ ส่วนเรื่องที่สองเขียนได้ 27 ตอนรวมตอนพิเศษ ทั้งสองเรื่องเกิดขึ้นในโลกใบเดียวกัน และใช้ตัวละครบางส่วนร่วมกัน จึงขอนำมาวิจารณ์พร้อมกัน
เนื้อเรื่องของ P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก เป็นเรื่องราวของเจ้าชาย ริกซัส อีกลีส ผู้ทรงคุณธรรมและต่อสู้ได้เก่ง แต่ดิบเถื่อน ฝีปากไว และไม่ค่อยชอบธรรมเนียมของชนชั้นสูง กับองครักษ์ปากจัดนาม เอียน ก็อดเด็น ซึ่งนอกจากจะมีฝีปากที่จัดจ้านพอๆ กับเจ้าชายแล้ว ยังมีฝีมือการต่อสู้ที่เหนือกว่าเจ้าชายเล็กน้อย จึงได้รับมอบหมายจากพระราชาไลโอเนลล์ ให้มา “ควบคุมความประพฤติ” ของพระอนุชา โดยได้ส่งองครักษ์ใหม่มาถึงเมืองทางเหนือที่เจ้าชายประทับอยู่ เนื้อเรื่องในช่วงแรกจึงเป็นนิยายแนวขบขันในพระราชวัง ที่ผู้อ่านจะได้เห็นคู่กัดทั้งสองปะทะคารม รวมถึงฝีมือต่อสู้ จนเลือดตกยางออก ราชบริพาร แม่บ้าน ทหารเลวเดือดร้อนกันวุ่นวาย พระราชาและราชครูกุมขมับ ฯลฯ

นอกจากช่วงที่ขบขันจะเป็นช่วงที่สนุกแล้ว ช่วงนี้ยังทำให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับตัวละครต่างๆ ในเรื่อง นอกจากเจ้าชายริกซัสและองครักษ์แล้ว ก็ยังมีตัวละครอื่นๆ เช่น พระราชาไลโอเนลล์ พระราชินี ราชครูยูคลิด แมรี่แอนหัวหน้าแม่บ้าน ที่จะค่อยๆ เข้ามาปูพื้นฐานของเรื่องราว เช่น บรรยากาศของเรื่อง กิจวัตรประจำวันของตัวละคร และนิสัยของตัวละครแต่ละคน ก่อนที่ผู้เขียนจะเพิ่มความเข้มข้นให้กับเนื้อเรื่องด้วยประเด็นที่จริงจังต่างๆ ที่เจ้าชายต้องพบ ไม่ว่าจะเป็น จารีตในวังหลวง ขุนนางทุจริต การถูกลอบสังหาร ถูกเวทมนตร์ที่ทำให้เจ้าชายทำร้ายประชาชนโดยไม่รู้ตัว ไปจนถึงเนื้อเรื่องหลักของนิยายเรื่องนี้ คือการที่เจ้าชายถูกเวทมนตร์ที่ไม่อาจถอนได้ คณะตัวละครจึงต้องออกเดินทางเพื่อเก็บสมุนไพรที่ใช้รักษา และต้องเกิดการผจญภัย ต่อสู้ตามวิสัยนิยายแฟนตาซี ซึ่งผู้เขียนได้อ้างระยะทางที่ห่างไกล ทำให้เจ้าชายที่ทรงพระประชวรหนักต้องเดินทางไปด้วย เนื่องจากถ้ารออยู่ที่พระราชวังอาจไม่ทันกาล และเจ้าชายต้องร่วมต่อสู้กับมังกรและแม่มด ทั้งๆ ที่กำลังประชวรอยู่ ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายไว้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเจ้าชายบาดเจ็บสาหัสปางตายจริงๆ

ในระหว่างที่เนื้อเรื่องเริ่มจริงจังขึ้น ตัวละครอื่นๆ ก็ทยอยกันเข้ามาในเนื้อเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแคโรไลน์ อดีตคนรักของเอียน จัสติน นักธนูมือฉมังและนักเวท บาโฟ ปิศาจหนุ่มผู้ทำงานให้นากาอิน นักเวทผู้มีวัตถุประสงค์บางอย่าง จนกระทั่งราล์ฟและวลาด สองโจรสลัดผู้ซึ่งจะเป็นตัวละครหลักในเรื่องต่อไป เข้ามาปรากฏตัวในตอนท้ายๆ จะเห็นได้ว่าตัวละครที่มีความสำคัญมีจำนวนค่อนข้างมาก และเนื้อเรื่องที่ต้องเน้นความสำคัญไปที่เจ้าชายเป็นหลักก็ทำให้ยากต่อการกระจายบทให้กับตัวละครต่างๆ แต่ปรากฏว่าผู้เขียนสามารถแบ่งบทบาทให้กับทุกตัวละครได้อย่างสมดุล ตัวละครแต่ละคนมีมิติและทำให้เรื่องราวของตัวละครเหล่านั้นเข้ามาเสริมความหนักแน่นให้กับเรื่องราวของเจ้าชายและองครักษ์ จนผู้อ่านเชื่ออย่างสนิทใจว่า เจ้าชายริกซัส หากได้ขึ้นครองราชย์ (แต่ดูจากนิสัยแล้วคงจะไม่) ก็คงจะเป็นกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมยิ่ง ส่วน เอียน ก็เป็นองครักษ์ที่พร้อมมอบกายถวายชีวิตให้กับผู้เป็นนายอย่างแท้จริง โดยที่ผู้เขียนไม่ต้องเขียนบอกลงไปในเนื้อเรื่องตรงๆ หรือให้ตัวละครเป็นคนพูด แต่ใช้การเล่าพฤติกรรมของตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ลักษณะนิสัย และคุณงามความดี (หรือความชั่ว) ของตัวละครได้ดีมาก
สำหรับเรื่อง P.I.R.A.T.E.S ระวัง•ทะเล•คลั่ง!! มีเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจาก P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก ซึ่งผู้เขียนบอกว่าไม่จำเป็นต้องอ่านอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ แต่ผมกลับเห็นว่า หากได้อ่านเรื่องเจ้าชายมาก่อน ก็จะทำให้อ่านเรื่องโจรสลัดได้สนุกขึ้น เพราะความน่าสนใจของนิยายชุดนี้อีกประการหนึ่งอยู่ที่ “จักรวาล” ที่ผู้เขียนได้วางไว้ตั้งแต่การเขียนเรื่องแรก ไม่ว่าจะเป็น ภูมิประเทศ เมืองต่างๆ การปกครอง การเดินทาง อาชีพ สิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ หลักการใช้เวทมนตร์ ฯลฯ ไว้ก่อนที่จะนำตัวละครต่างๆ ลงไปยัง “เวที” ที่นักเขียนได้จัดเตรียมไว้ให้พวกเขาได้มีชีวิต โดยเรื่อง P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก ตัวละครหลักจะเป็นพวกเจ้าชาย ส่วนเรื่อง P.I.R.A.T.E.S ระวัง•ทะเล•คลั่ง!! ตัวละครหลักก็จะเป็นกัปตันโจรสลัดราล์ฟ และลูกเรือโจรสลัดกลุ่ม “มารูน” ของเขา เมื่อตัวละครหลักเป็นโจรสลัดที่ต้องเดินทางตลอดเวลา จึงเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้เล่าถึงเมืองท่า ร้านค้าต่างๆ ตัวละครใหม่ๆ ตลอดจนกองทัพ และโจรสลัดกลุ่มต่างๆ เป็นการเปิดโลกของนิยายชุดนี้ให้กว้างขึ้นและมีความสมจริงมากขึ้นอีก

ประเด็นหลักที่ผมคิดว่าผู้เขียนพยายามจะสื่อในเรื่องของโจรสลัดคือเรื่องของการค้าทาส ซึ่งมีเกริ่นมาตั้งแต่ตอนที่พ่อครัวของมารูนได้ไปปรากฎตัวในเรื่องเจ้าชายแล้วว่า วลาดมีอดีตเป็นทาส และในเรื่องโจรสลัด แผนที่ที่ราล์ฟได้รับมา ก็คือแผนที่ไปยังเกาะมหาสมบัติที่รัฐบาลซ่อนไว้ และราล์ฟเชื่อว่า ที่นั่นไม่ได้มีสมบัติที่ซ่อนอยู่ แต่เป็นเกาะที่รัฐบาลค้าทาสอย่างลับๆ ซึ่งประเด็นนี้ค่อนข้างจะซีเรียสกว่าเรื่องเจ้าชายที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบัน พวกโจรสลัดยังเดินทางไปไม่ถึงเกาะแห่งนี้ และผู้เขียนยังไม่ได้นำเสนอประเด็นของทาสไว้ในเรื่องอย่างชัดเจน จึงยังไม่เห็นว่าผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นนี้อย่างไร

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เสริมเนื้อเรื่องหลักของนิยายด้วยการเขียนตอนพิเศษที่เกี่ยวกับตัวละครรอง และเรื่องราวในอดีตอีกหลายตอน ซึ่งหากผู้อ่านได้อ่านก็จะทำให้เข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้มากขึ้น แต่ถึงแม้ไม่อ่าน ก็ยังสามารถเข้าใจเรื่องราวของนิยายเรื่องนี้ได้ดีอยู่ นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าแฉและหน้า profile ของตัวละคร พร้อมด้วยรูปวาดตัวละครที่ผู้เขียนเป็นคนวาดเอง ซึ่งก็ต้องขอบอกว่าค่อนข้างตรงกับที่บรรยายไว้ในเนื้อเรื่อง

จุดเด่นประการหนึ่งที่ทำให้ผมเห็นว่านิยายชุดนี้น่าสนใจ คือการแต่งเรื่องใหม่ให้อยู่ในโลกหรือ “จักรวาล” เดิม วิธีนี้ทำให้ผู้เขียนสามารถสร้างตัวละครหลักชุดใหม่ออกมาได้อีกในเรื่องถัดไป โดยที่ยังมี “เวที” แห่งเดิม และใช้ตัวละครที่แต่งไว้ในเรื่องก่อนๆ เข้ามาเป็น “ดารารับเชิญ” ในเรื่องใหม่ ก็จะเป็นการทำให้โลกของนิยายชุดนี้มีชีวิตมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการ์ตูนคอมิคของ DC หรือ Marvel ที่มีการแต่งเรื่องแบบเป็น “จักรวาล” และให้ตัวละครต่างๆ ได้โลดแล่นในจักรวาลนี้ โดยที่แต่ละตัวจะมีบทบาทเด่นในหนังสือการ์ตูนฉบับที่เป็น “หัว” ของตนเอง ซึ่งทาง Marvel และ DC ก็มีการใช้นักเขียนบทและนักวาดภาพหลายคนในการแต่งเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโร่ที่พวกเรารู้จักกัน แต่สามารถทำให้เรื่องราวเกิดความหลากหลายไม่ซ้ำซาก ตามสไตล์ของนักวาดและนักเขียนแต่ละคน นั่นหมายความว่านิยายชุด “เจ้าชาย โจรสลัด” ของ The Wolf ก็อาจจะเชิญนักเขียนที่สนิทสนมกันมาแต่งเรื่องใหม่ที่อยู่ในโลกเดียวกันก็ได้ ซึ่งจะสร้างความหลากหลายให้กับเนื้อเรื่องได้มากขึ้นอีก

สำหรับสิ่งที่อยากให้ผู้เขียนปรับปรุงนั้นผมพยายามคิดอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่พบว่าผู้เขียนควรจะต้องปรับปรุงที่ใด ก็อาจจะถือได้ว่านิยายชุดนี้เท่าที่ได้อ่านก็มีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งแล้ว มีเพียงข้อเสนอแนะเล็กๆ น้อยๆ ว่า อยากให้ผู้เขียนศึกษาเรื่องราชวงศ์จากประเทศที่ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมา (คิดว่าคงเป็นประเทศในยุโรป) ว่าพระราชา พระราชินี ตลอดจนเจ้าหญิงเจ้าชายและข้าราชบริพารต่างๆ นั้น มีลำดับชั้นอย่างไร ต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไรบ้าง และราชวงศ์ปกครองแผ่นดินอย่างไร เพื่อความสมจริงของเรื่อง รวมถึงในส่วนของเรื่องราวโจรสลัด ก็อยากให้ลองศึกษาเรื่องของทหารเรือและโจรสลัด รวมถึงการปกครองของกองทัพ เพื่อเสริมให้เนื้อเรื่องมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น

     
 
ใครแต่ง : noonaa-Sratthawalee-Annetron
6 พ.ย. 60
80 %
15 Votes  
#56 REVIEW
 
เห็นด้วย
8
จาก 8 คน 
 
 
วิจารณ์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 22 พ.ย. 56
นวนิยายแนว Yaoi My gentle love ปิ๊งรัก คุณพ่อลูกติด (ที่มีความยาว 20 ตอน) ของ Poison เป็นเรื่องราวความรักระหว่างซูนเด็กชายวัย 17 ปี ที่หลงรักทิว พ่อม่ายลูกติดวัย 30 ปี คงต้องมาช่วยลุ้นซูนว่าจะทำอย่างไรเขาถึงจะสมหวังในรักครั้งนี้ได้
Poison สามารถที่จะสร้างนวนิยายชายรักชายเรื่องนี้ให้มีความแตกต่างได้ ทั้งๆ ที่ ผู้เขียนยังคงเน้นเรื่องความรักระหว่างชายเป็นหลัก ความรักความผูกพันระหว่างซูนกับทิว ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนยังเพิ่มมิติอื่นๆ ในเรื่อง ด้วยการสร้างโครงเรื่องรอง (sub-plot) ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวังในความรักของทิวที่
ถูกอเล็กซานดราอดีตภรรยาหักหลัง หรือความไม่เข้าใจกันระหว่างซูนกับแม่ของเขา หรือสัมพันธภาพอันเลวร้ายระหว่างดิวน้องชายของทิวกับพ่อ ซึ่งโครงเรื่องย่อยต่างๆ เหล่านี้ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีสีสัน และชวนติดตามเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังสร้างอุปสรรคความรักระหว่างซูนกับทิวขึ้นเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ การจะให้ผู้ชายแท้ที่เคยมีรักผู้หญิงจนมีลูกด้วยกัน หันกลับมารักเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ก็เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเอาการอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนยังเพิ่มเงื่อนไขความรักของทั้งคู่เข้ามาอีก เมื่อเรื่องราวความลับในอดีตของซูนผู้เขียนจะคลี่คลายและหาทางออกให้กับรักที่ดูจะมีแต่ทางตันครั้งนี้ได้อย่างสวยงาม
ผู้วิจารณ์เห็นว่าประเด็นความรักต้องห้ามระหว่างพี่น้อง (incest taboo) ที่ผู้เขียนนำมาเป็นอุปสรรคในความรักระหว่างทิวและซูนจะเข้มข้นและสะเทือนอารมณ์มากกว่านี้ หากผู้เขียนไม่ให้ฟิน (เพื่อสนิทซูน) ออกมาเปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างทิวกับครอบครัวของเขาก่อนที่จะเฉลยในตอนจบอีกครั้ง เพราะจะทำให้ผู้อ่านทราบความจริงพร้อมๆ กับซูน ก็จะช่วยให้ผู้อ่านมีอารมณ์สะเทือนใจร่วมไปกับซูนมากกว่านี้ เพราะประเด็นนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนหรือจุดหักมุมของเรื่องที่สร้างความสะเทือนในความรู้สึกของผู้อ่านรุนแรงกว่านี้ได้อีก อีกทั้ง การสร้างโครงเรื่องย่อยในประเด็นนี้พบว่า เรื่องราวบางตอนที่อธิบายไว้ก็ดูสับสนและไม่สมจริงท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของพ่อที่ปูพื้นให้ผู้อ่านทราบมาโดยตลอดว่าเป็นคนที่รักครอบครัวและเป็นมาเฟียใหญ่ จึงทำให้ยากที่จะเชื่อได้ว่า พ่อซึ่งรักครอบครัวมากจะยอมทิ้งภรรยาท้องแก่ใกล้คลอดทั้งสองคนและเดินทางไปต่างประเทศ จนไม่ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะที่ภรรยาทั้งสองคลอดลูกว่า ตนมีลูก 3 คน ตายไป 1 คน และอีกสองคนเป็นฝาแฝดชายหญิง จนกลายเป็นปมปัญหาต่อเนื่องตามมานานเกือบ 20 ปีเชียวหรือ อีกทั้ง การที่พ่อเป็นมาเฟียใหญ่ผู้มีอิทธิพลและมีลูกน้องเป็นจำนวนมาก จะยอมถูกลูบคมไม่สามารถตามหาภรรยาที่พาลูกชายของตนหนีตามชายชู้ไปได้นานถึง 17 ปีเชียวหรือ และเหตุใดพ่อถึงยอมให้ริน (ภรรยาคนที่สอง) พาฟูน (ลูกสาว) แยกออกไปอยู่ตามลำพังที่ต่างจังหวัด จนดิวและทิวพี่ชายของเธอก็ไม่มีโอกาสได้พบเธอมานานเกือบ 17 ปี และดิวเพิ่งมีโอกาสรู้เรื่องของฟูนเมื่อไม่นานมานี้เอง นับเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะว่าคนนอกอย่างฟินดูจะทราบเรื่องราวภายในครอบครัวของดิวมากกว่าคนในอย่างเขาเสียอีก
การที่ผู้เขียนเลือกใช้มุมมองของซูนเป็นผู้เล่าเรื่องนั้น ในด้านหนึ่งช่วยสร้างให้ผู้อ่านเข้าใจอารมณ์และมีความรู้สึกร่วมไปกับซูนขณะที่เขาประสบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขและความเศร้าที่เขาได้รับขณะที่หลงรักทิวว่ามีมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ในตอนต้นบทที่ผู้เขียนมักจะเปิดเรื่องไว้ หนึ่งถึงสองประโยคที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกของซูนในขณะนั้น นับว่าช่วยปูพื้นอารมณ์ของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเน้นเฉพาะอารมณ์และความรู้สึกของซูนพียงด้านเดียวเช่นนี้ ก็ทำให้ขาดมิติของทิว ตัวละครเอกอีกตัวหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย แม้ว่าผู้เขียนจะเปิดโอกาสให้ทิวบรรยายความรู้สึกที่เขามีต่อซูนแต่ต้องกักเก็บไว้กับตนเองมานานแล้วในตอนจบ แต่การที่ตัวละครชายที่เดิมมีชีวิตรักผู้หญิงปกติ จนมีลูกคนหนึ่งแล้ว เปลี่ยนใจมารักชอบเด็กหนุ่มวัย 17 ปี น่าจะต้องมีเหตุหรือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจเช่นนั้น พัฒนาการทางอารมณ์ของทิวในประเด็นนี้จึงน่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง หากเป็นไปได้อยากให้ผู้เขียนเสนอมุมของทิวในแง่เพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำเรื่องนี้มีความลุ่มลึกในเชิงอารมณ์ มีมิติและความน่าสนใจมากกว่าที่จะนำเสนอแต่มุมมองของซูนเพียงด้านเดียว
สำหรับการเขียนนั้นพบว่า ผู้เขียนมีความสามารถในการบรรยายและการสร้างบทสนทนา ซึ่งช่วยสร้างให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่ควรปรับปรุคือ การสะกดคำ เพราะว่าพบคำที่สะกิดผิดอยู่เป็นระยะๆ ตลอดเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้วรรณยุกต์ตรีผิดพลาด จึงอยากฝากข้อควรจำง่ายๆ ว่า วรรณยุกต์ตรี และจัตวาว่าจะใช้กับอักษรกลางเท่านั้น ซึ่งอักษรกลางมีเพียง 9 ตัว คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ สำหรับคำที่ใช้วรรณยุกต์ตรีผิดพลาดในเรื่อง เช่น ห้อมหอม เขียนเป็น ห๊อมหอม หน่อมแหน้ม เขียนเป็น หน่อมแหน๊ม ม้าก เขียนเป็น ม๊าก ง้องแง้ง เขียนเป็น ง๊องแง๊ง น้า เขียนเป็น น๊า หร้อก เขียนเป็น หร๊อก ซี้ เขียนเป็น ซี๊ ว้า เขียนเป็น ว๊า เคร้ง เขียนเป็น เคร๊ง เล้ย เขียนเป็น เล๊ย เบ้ปาก เขียนเป็น เบ๊ปาก หรือการสะกดผิดอื่น ๆ เช่น โจทก์ ( หมายถึง บุคคลที่ฟ้องคดีต่อศาล) เขียนเป็น โจทย์ (หมายถึง คำถาม ประเด็นปัญหา) เนอร์สเซอรี่ เนอสเซอรี่
เนิสเซอรี่ เขียนเป็น เนิสซารี่ ลูบไล้ เขียนเป็น ลูบไล่ หน้าค่าตา เขียนเป็น หน้าคร่าตา เหนี่ยว เขียนเป็น เอี่ยว ขัดเกลา เขียนเป็น ขัดเหลา ทารุณกรรม เขียนเป็น ทารุนกรรม เหรอ เขียนเป็น หรอ ต่างๆ นานา เขียนเป็น ต่างๆ นาๆ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา บ้องแบ๊ว เขียนเป็น บ๊องแบ๊ว พัลวัน เขียนเป็น พัลวัล เช็ค เขียนเป็น เชค ช็อค เขียนเป็น ช๊อค เซ็กส์ เขียนเป็น เซกซ์ เซ็นส์ เขียนเป็น เซ๊นส์ ละแวก เขียนเป็น ระแวก คุ เขียนเป็น ครุ ท็อป เขียนเป็น ท๊อป แลบลิ้น เขียนเป็น แล้บลิ้น บางครั้งยังมีการเลือกใช้คำขยายบางประโยคไม่เหมาะสม เช่น ยกมือค้ำเอว ควรใช้ว่า ยกมือเท้าเอว มดเจาะปาก ควรใช้ว่า มดกัดปาก โน้มหน้า ควรใช้ว่า ก้มหน้า หรือ ชะโงกหน้า คุยเรื่องอะไรอุ๋งอิ๋งๆ ควรใช้เป็น คุยเรื่องอะไรกระหนุงกระหนิง งุดตาลง ควรใช้เป็น หลุบตาลง หากแก้ไขคำที่สะกดผิดเหล่านี้ก็จะช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้ถูกต้อง สมบูรณ์และน่าอ่านขึ้น
     
 
ใครแต่ง : Небо
8 เม.ย. 55
80 %
4 Votes  
#57 REVIEW
 
เห็นด้วย
8
จาก 9 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Shaman Adventure ไปลุยนรกกับพี่สักสิบปีมั๊ยน้อง?

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 3 มิ.ย. 54
นิยายแนวแฟนตาซีเรื่อง Shaman Adventure: ไปลุยนรกกับพี่สิบปีดีมั๊ยน้อง? ของ Lady Drama (โลมาสีฟ้า) กระตุ้นความสนใจให้อยากอ่านตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้ว และเมื่ออ่านเรื่องที่โพสต์ไว้จำนวน 11 ตอนก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเป็นเรื่องของเอกภพ หมอผีรุ่นเยาว์จากอยุธยา กับ “ไอ้จุก” กุมารทองลูกรัก ที่รู้จักการใช้คาถาและควายธนูเพื่อปราบบรรดาผีๆ แบบไทย แต่ต้องหลุดเข้าไปยังดินแดนแฟนตาซีที่มีตั้งแต่มังกร ปีศาจ พ่อมด และสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน พวกเขาจะประยุกต์สิ่งที่รู้เพื่อเอาตัวรอดจากบรรดาปีศาจและสัตว์แปลกๆ ในดินแดนใหม่นี้ได้หรือไม่ อย่างไร

ความน่าติดตามของนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ว่าทิศทางของเรื่องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาจนไม่อาจคาดเดาได้ จากเดิมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือการพยายามหาทางกลับบ้านของเอกภพและจุก แต่เมื่อเรื่องเริ่มดำเนินไปก็ไม่แน่ใจแล้วว่าอะไรคือภารกิจหลักของเขาทั้งสองที่ผู้เขียนต้องการกันแน่ เพราะเมื่อเอกภพและจุกได้พบกับเดลฟี่ที่ถูกปีศาจเดลฟีโก้เข้าสิง พวกเขาก็ดูเหมือนว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนเป้าหมายตนเองเพื่อหาทางช่วยนำวิญญาณของเดลฟีโก้ออกจากร่างเดลฟี่ให้จงได้ แต่ต่อมาเรื่องก็กลับพลิกผันอีก เมื่อเอกภพทำสัญญากับเดลฟีโก้ว่าเขาจะช่วยทำเขากลายเป็นปีศาจแห่งความมืด เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เขาตามหาร่างที่แท้จริงของเขาจนเจอ เพื่อจะได้กลับไปยังหมู่บ้านของตนได้เสียที ขณะเดียวกัน Lady Drama ก็เริ่มปูเรื่องให้เอกภพมีความสามารถคล้ายคลึงกับซาแมน (ผู้ที่มีความสามารถในการคุมวิญญาณและซากศพได้) ซึ่งซาแมนนับเป็นบุคคลสำคัญและเป็นที่ต้องการของทุกอาณาจักรในขณะนี้ การเปลี่ยนแปลงจุดเน้นของเรื่องไปในหลากหลายทิศทางเช่นนี้ ทำให้โครงเรื่องหลัก (plot) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของนิยายพร่าเลือนไปอย่างน่าเสียดาย จนไม่อาจแน่ใจว่านักเขียนต้องการจะนำเสนอเรื่องราวใดกันแน่ ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ Lady Drama เน้นแก่นเรื่องหลักที่ต้องการเสนอให้ชัดเจนมากขึ้นก็จะช่วยให้ผู้อ่านจับทิศทางของเรื่องได้มากกว่านี้

นิยายเรื่อง Shaman Adventure: ไปลุยนรกกับพี่สิบปีดีมั๊ยน้อง? นับว่าแตกต่างจากนิยายแนวแฟนตาซียอดนิยมทั้งหลาย เพราะเรื่องนี้นำแฟนตาซีแบบไทยๆ คือความเชื่อทางไสยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น หมอผี กุมารทอง ควายธนู คาถา หม้อดิน มีดหมอ และวิธีการไล่ผีต่างๆ มาผสานกับแฟนตาซีแบบตะวันตก ทั้งเรื่องราวของปีศาจ มังกร หรือพลังเวทต่างๆ ได้อย่างลงตัว ซึ่งสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่า Lady Drama จะเปิดทางให้ไสยศาสตร์แบบไทยดูมีความขลังและดูจะมีพลังเหนือว่าพลังเวทแบบตะวันตกเสียอีก โดยเฉพาะฉากการปราบปีศาจเดลฟีโก้ ปีศาจผู้ชั่วร้ายที่คอยยื่นข้อเสนอต่างๆ ให้กับมนุษย์เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่มันต้องการ จะเห็นได้ว่าคนทั้งหมู่บ้านแอปเปิ้ลสีทองร่วมกันใช้พลังเวทที่มีทั้งหมดแล้ว ก็ไม่อาจจะเป็นคู่ต่อสู้ของปีศาจตนนี้ได้ แต่ท้ายที่สุดเดลฟีโก้ต้องสยบยอมให้กับการสะกดวิญญาณและการบริกรรมคาถาบูชาพุทธคุณของเอกภาพแทน

ขณะเดียวกัน Lady Drama ไม่เพียงแต่ใช้ความรู้ทางไสยศาสตร์ที่ติดตัวมาของเอกภพเพื่อต่อสู้กับปีศาจร้ายเท่านั้น แต่เขายังต้องประยุกต์สิ่งที่ตนรู้เข้ากับการดำรงชีวิตเพื่อเอาตัวรอดในดินแดนใหม่แห่งนี้ไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเพ่งกสินเพื่อจุดกองไฟประกอบอาหาร การใช้พลังคาถาเหล็กไหลเพื่อเสกให้ใบไม้กลายเป็นมีดใช้สำหรับประกอบอาหาร หรือแม้แต่การบริกรรมคาถาสร้างความแข็งแกร่งให้ไอ้จุก เพื่อไปจับหมูป่ามาเป็นอาหาร ขณะเดียวกันเมื่อเอกภพหลงมายังดินแดนใหม่นี้อย่างไม่ตั้งใจ เขาก็ไม่ได้เป็นเหมือนกับพระเอกนิยายแฟนตาซีทั่วไป ที่มักจะปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ด้วยการเรียนรู้พลังเวทต่างๆ แต่เขาก็ยังติดกับความชำนาญเดิมๆ เพราะเมื่อมีโอกาสก็แสวงหาสิ่งที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น เทียนไข เชือก ด้าย เข็ม ตุ๊กตาผ้า เมล็ดข้าว หม้อ หวาย หรือมีดดีๆ (เพื่อทำมีดหมอ) ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็นับเป็นอาวุธและเครื่องมือทำมาหากินสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับหมอผีไทย

นอกจากนี้ยังเห็นว่านักเขียนสอดแทรกความเห็นของตนเข้ามาเป็นระยะๆ ด้วยกลวิธีต่างๆ นับตั้งแต่การสะกิดผู้อ่านเพื่อบอกว่ากำลังจะเปลี่ยนทิศทางของเรื่อง เช่น “ตัวเอกของเรื่องจึงถูกเปลี่ยนเป็นเดลฟี่และดาลีนด้วยประการฉะนี้...” อีกทั้งยังให้ตัวละครออกมาเขียนเหน็บแนมนักเขียน เช่น “ ‘ดูเหมือนเรื่องนี้มันจะซับซ้อนกว่าที่เราคิดนะเนี้ย’ และดูเหมือนเขาจะถูกคนเขียนสกัดดาวรุ่งเข้าให้อีกแล้วนะเนี้ย เฮ้อ...ช้ำใจจริงๆ” และยังวิพากษ์และล้อเลียนนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนไว้อย่างเด่นชัดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากที่กล่าวถึงวิทยาลัยเรดดิคอฟ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่เก่าแก่ มีชื่อเสียง และสำคัญที่สุดของอาณาจักร
ลักซอล์ โดยให้เอกภพเป็นคนแสดงความเห็นว่าเขาไม่คิดจะเข้าไปเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ว่า

“แล้วไอ้เรดดิคอฟเนี้ยได้ชื่อว่าระบบรักษาความปลอดภัยเยี่ยมสุดๆ และมีคนสำคัญอยู่ในนั้นเยอะใช่มั้ย การที่เราเข้าไปเป็นนักเรียนในนั้นแล้วคิดจะชิ่งออกมาเงียบๆ ล่ะก็คงเป็นเรื่องยากซะยิ่งกว่ายาก ฉันเห็นมาหลายเรื่องแล้ว อิตอนที่พวกตัวเอกของเรื่องจะแอบหนีออกจากโรงเรียนหลังเสร็จภารกิจ เห็นแต่ได้เลือดบวกปางตายกันแทบทั้งนั้น หรือไม่ก็ไปพบมิตรภาพแสนงดงามในโรงเรียนจนลืมว่าตัวเองเข้าไปทำอะไร ต่อมาดันมีพ่อเป็นพระราชาโผล่มาจากไหนไม่รู้ กลายเป็นไฮโซแถมโดนศัตรูปองร้ายจนต้องสู้มันแทบทั้งเรื่อง ... ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมอยู่ๆ ระบบรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนดันมาห่วยแตกเอาตอนศัตรูจะบุกมาฆ่าทุกทีก็ไม่รู้”

ในเรื่องนี้ ความโดดเด่นของรูปร่างหน้าตาตัวละครดูจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่นักเขียนสนใจ มากเท่ากับลักษณะนิสัยเฉพาะของตัวละคร เพราะผู้อ่านจะจำจดตัวละครแต่ละตัวได้จากลักษณะเฉพาะตัวอันโดดเด่นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเอกภพ หมอผีวัยรุ่นที่เก่งเรื่องเวทมนตร์คาถา แต่แพ้เลือดที่พุ่งใส่ จุก กุมารทองวัย 2-3 ชวบ ที่บ้าการ์ตูน และมีอุลตราแมนเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ในดวงใจ หรือ เดลฟีโก้ ปีศาจที่ชั่วร้ายที่สุด มีพลังเวทสูง และมีไฟนรกเป็นอาวุธ แต่รักษาสัจจะและไม่เคยผิดสัญญากับใคร แม้แต่สัญญากับมนุษย์ก็ตาม นอกจากนี้ อารมณ์ขันที่แทรกอยู่เป็นระยะๆ ก็สร้างความสนุกสนานและชวนติดตาม โดยเฉพาะความคิดแบบเด็กๆ ของจุก ที่พบมังกรตัว “เป็นๆ” ครั้งแรกก็เรียกมังกรว่า “ควายธนู” แต่เมื่อเอกภพแก้ความเข้าใจผิดว่านี่คือมังกร ซึ่งก็เหมือนกับท่านเชนลอน ตัวละครในการ์ตูนเรื่องดาร์กอนบอล ผิดกันก็แค่สีผิวเท่านั้น จุกก็เปลี่ยนท่าทีปฏิบัติกับมังกรตัวนั้นราวกับแฟนคลับปฏิบัติกับซุปเปอร์สตาร์ในดวงใจ หรือการที่ให้มังกรส่งเสียงร้องอย่างตกใจที่โดนผีหลอก เมื่อจู่ๆ จุกก็หายตัวไปต่อหน้าต่อตา

ผู้วิจารณ์พบว่าปัญหาในการเขียนของ Lady Drama ไม่ได้อยู่ที่ภาษาเขียน ทั้งในส่วนของบทบรรยายและบทสนทนา แต่ปัญหากลับไปอยู่ที่คำผิด ซึ่งกระจายอยู่โดยตลอดเรื่อง คำผิดที่พบ คือ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา ขู่เข็ญ เขียนเป็น ขู่เข็น มอเตอร์ไซค์ เขียนเป็น มอเตอร์ไซน์ กรงเล็บ เขียนเป็น กงเล็บ บริกรรมคาถา เขียนเป็น บริกรรมคาทา ทรมาน เขียนเป็น ทรมาณ อานิสงส์ เขียนเป็น อานิสงค์ อำมหิต เขียนเป็น อัมหิต แข็ง เขียนเป็น แขง เหรอ / หรือ เขียนเป็น หรอ แล้วไง / แล้วอย่างไร เขียนเป็น แล้วไหง่ นอกจากนี้ยังมีการใช้คำผิดความหมาย เช่น หมูป่ามีผมสีส้มอยู่บนหัวหย่อมหนึ่ง น่าจะเปลี่ยนเป็น หมูป่ามีขนสีส้มอยู่บนหัวหย่อมหนึ่ง และคำที่ผิดอีกส่วนหนึ่งมาจากการใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์ตรี (หรือไม้ตรี) เพราะ Lady Drama ใช้อักษรต่ำกับรูปวรรณยุกต์ตรีเสมอ ทั้งๆ ที่หลักภาษาไทยที่ถูกต้องแล้ววรรณยุกต์รูปตรีต้องใช้กับอักษรกลางเท่านั้น (ซึ่งอักษรกลางมีเพียง 9 ตัว คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ) คำผิดที่พบคือ เหร๊อออ (ต้องเขียนว่า เหรอ) ห๊ะ (ต้องเขียนว่าฮะ หรือ หา) มั๊ย (ต้องเขียนว่า มั้ย) น๊า (ต้องเขียนว่า น้า) แว๊บ (ต้องเขียนว่า แว้บ) หร๊อก (ต้องเขียนว่า หรอก) และ แง๊ (ต้องเขียนว่า แง้)

ความน่าแปลกอีกประการหนึ่งคือ นิยายเรื่องนี้กลับใช้อีโมติคอน (emoticon) กับงานแฟนตาซี ทั้งๆ ที่ไม่นิยมกับงานแนวนี้เท่าใดนัก ในขณะที่นิยายแนวหวานแหววที่นิยมใช้
อีโมติคอนก็ลดความนิยมลงไปแล้ว เพราะบางครั้งอีโมติคอนไม่สามารถสื่อความกับผู้อ่านทุกคนได้ และบางครั้งสารที่ผู้เขียนส่งมาพร้อมกับอีโมติคอนกับสารที่ผู้อ่านตีความก็อาจไม่ตรงกันก็ได้ ขณะเดียวกัน การใช้ภาษาบรรยายความรู้สึกสามารถให้รายละเอียดได้ครอบคลุมและชัดเจนมากกว่าการใช้อีโมติคอน จึงเห็นว่า Lady Drama ควรใช้บทบรรยายแทนอีโมติคอนก็น่าจะทำให้สื่อสารได้ชัดเจนและตรงตามความตั้งใจมากขึ้น

-----------------------------

     
 
ชื่อเรื่อง :  หลงม่านฟ้า
ใครแต่ง : หัดมาร
6 ต.ค. 59
80 %
16 Votes  
#58 REVIEW
 
เห็นด้วย
8
จาก 10 คน 
 
 
วิจารณ์นิยาย

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 16 ต.ค. 56
หลงม่านฟ้า นวนิยายขนาดยาว แนว อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของ หัดมาร ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 14 ซึ่งเป็นเรื่องราวของ หนี่วา เทพผู้สร้าง ที่ทำผิดกฎสวรรค์ ด้วยการไปหลงรักและมีความสัมพันธ์กับ เสี่ยวทู่ ซึ่งเดิมเป็นดวงจิตที่หนี่วาสร้างกายหยายให้เป็นกระต่ายสีดำ ก่อนที่กลายร่างเป็นสตรีที่งดงามชวนให้ลุ่มหลงในภายหลัง ทั้งคู่ถูกเง็กเซียนฮ่องเต้ลงโทษให้ลงไปเกิดเป็นมนุษย์และจำกันไม่ได้ แต่หากทั้งคู่ตามหากันจนเจอและกลับมารักกันอีกครั้งก็จะพ้นผิดกลับมายังสวรรค์ได้อีกครั้ง และหนี่วาต้องลงไปแก้ไขกลียุคที่เกิดในโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เขาละทิ้งการงานด้วย แต่การลงไปเกิดในโลกมนุษย์ของทั้งคู่ต้องประสบอุปสรรค เนื่องจากองค์หญิงเฟยเทียนที่หลงรักหนี่วาสาปให้เสี่ยวทู่ตาบอด และหลงรักชายอื่นที่มิใช่หนี่วา เรื่องราวความรักของทั้งคู่จะลงเอยอย่างไรต้องติดตามต่อไป
ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ การเปิดเรื่องของด้วยการลงทัณฑ์ของเง็กเซียนฮ่องเต้ที่มีต่อหนี่วาและเสี่ยวทู่ พร้อมคำสาปขององค์หญิงเฟยเทียน ทำให้เรื่องราวชวนติดตามว่าชีวิตของทั้งคู่จะดำเนินไปอย่างไร นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีการสร้างตัวแปรต่างๆ เพื่อเป็นอุปสรรคขัดขวางมิได้คนทั้งสองได้พบกันและจดจำกันได้ ทั้งยังเพิ่มความซับซ้อนให้กับนวนิยาย โดยการสร้างโครงเรื่องย่อย (sub-plot) ขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ความรักสามเส้าระหว่าง จอมมารหยางเหว่ย หลางฟง (ปีศาจหมาป่า) ที่ต่างหลงรัก เฉินไป๋ทู่ (เสี่ยวทู่ขณะอยู่ในโลกมนุษย์) ชะตากรรมของเฉินไป๋ทู่ ที่มีผู้ทำนายว่า “เธอจะเกี่ยวพันกับมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ 2 คน เธอจะกลายเป็นสตรีที่สูงส่งเหนือหญิงใดในโลกหล้า แต่เธอจะทำลายล้างแผ่นดินเช่นกัน” ความแค้นระหว่างอ๋องจีฟา (ชื่อของหนี่วาขณะที่อยู่ในโลกมนุษย์) กับสนมต๋าจี ผู้ที่ทำให้เขาต้องกำพร้าพ่อ และความแค้นระหว่างสนมต๋าจี (นางปีศาจจิ้งจอก) อดีตสนมของจอมมารหยางเหว่ยกับจอมมารหยางเหว่ย และการจะขึ้นเป็นใหญ่ทั้งในแผ่นดินมนุษย์และในโลกปีศาจของสนมต๋าจี
การที่นวนิยายมีโครงเรื่องย่อยจำนวนมากเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้เขียนสามารถสร้างสมดุลทั้งระหว่างโครงเรื่องหลักกับโครงเรื่องย่อย และระหว่างโครงเรื่องย่อยต่างๆ ด้วยกัน แต่ใน หลงม่านฟ้า นั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนยังไม่สามารถสร้างความสมดุลดังกล่าวได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้วิจารณ์พบว่าจุดเน้นของเรื่องเคลื่อนไป จนท้ายที่สุดไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าผู้เขียนต้องการเน้นในประเด็นใดกันแน่ ทั้งนี้เพราะขณะที่เปิดเรื่องด้วยโครงเรื่องหลัก ความรักมั่นระหว่างหนี่วากับเสี่ยวทู่ ซึ่งความรักของทั้งคู่เป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดเรื่องราววุ่นวายในโลกมนุษย์ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก และมีตัวแปรสำคัญคือคำสาปขององค์หญิงเฟยเทียน ซึ่งสอดคล้องกับคำทำนายโชคชะตาของเสี่ยวทู่ที่เกิดมาเป็นเฉินไป๋ทู่ในโลกมนุษย์
หากจุดเน้นของนวนิยายเรื่องนี้เมื่ออยู่ในโลกมนุษย์กลับกลายเป็นเรื่องราวความรักสามเส้าระหว่างเฉินไป๋ทู่ จอมมารหยางเหว่ย และหนี่วาในร่างของจีฟา ซึ่งดูเหมือนว่าผู้เขียนลำเอียงสนใจที่จะนำเสนอแต่เรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ระหว่างเฉินไป๋ทู่กับจอมมารหยางเหว่ยมากกว่า ขณะที่จิตของเฉินไป๋ทู่จะมาพบและจดจำของหนี่วาในร่างของจีฟาได้ก็เฉพาะแต่ในฝัน หรือในขณะที่ดวงจิตออกจากร่างเท่านั้น รวมทั้งยังเน้นการบรรยายและสร้างเรื่องราวของจอมมารหยางเหว่ยมากกว่าที่จะกล่าวถึงเรื่องราวของจีฟาอีกด้วย จนดูประหนึ่งว่าจีฟาเป็นเพียงตัวประกอบมิใช่ตัวละครหลักอย่างที่ควรจะเป็น ผู้เขียนน่าจะหาโอกาสอ่านทบนวนิยายเรื่องนี้อีกครั้งว่า โครงเรื่องใดที่ต้องการใช้เป็นโครงเรื่องหลัก และสร้างให้โครงเรื่องดังกล่าวเด่นขึ้น หรือลดบทบาทของโครงเรื่องย่อยอื่นๆ ที่นำมาประกอบ
นอกจากนี้ การที่ผู้เขียนสร้างโครงเรื่องย่อยจำนวนมากเช่นนี้ ในด้านหนึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ในการสร้างความซับซ้อนในกับนวนิยาย และชวนให้น่าสนใจและน่าติดตามยิ่งขึ้น เพราะโครงเรื่องย่อยที่สร้างขึ้นมานั้นต่างมีเรื่องราวและปมเรื่องที่สนุกและน่าติดตาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนเริ่มเปิดปมในเรื่องไว้เป็นจำนวนมาก และแต่ละปมก็ค่อนข้างใหญ่และซับซ้อนมาก เช่น การลงทัณฑ์หนี่วากับเสี่ยวทู่ ชะตากรรมของไป๋ทู่ตามคำทำนาย ความลับของ
จอมมารหยางเหว่ยกับหญิงปริศนาที่เขารักฝังใจ ความรักและความแค้นระหว่างสนมต๋าจีกับจอมมารหยางเหว่ย ความแค้นและการแก้แค้นที่จีฟามีต่อสนมต๋าจี และ กลียุคที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์สมัยจักรพรรดิโจ้วหวาง ซึ่งบางปมสามารถที่จะสร้างเป็นนวนิยายเฉพาะเรื่องต่างหากได้เลย จึงน่าเป็นห่วงว่าผู้เขียนจะขมวดและคลี่คลายปมต่างๆ ที่สร้างขึ้นไปในทิศทางใดต่อไป
ในการสร้างตัวละครนั้น พบว่าแม้ว่าผู้เขียนจะสร้างตัวละครเป็นจำนวนมาก แต่ตัวละครที่สร้างขึ้นต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตน และมีสีสันที่น่าสนใจ ชวนติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเสี่ยวทู่ที่รัก เทิดทูน และเชื่อฟังหนี่วามาก แม้กระทั่งยอมรับโทษทัณฑ์ทั้งหมดแทนเขา จอมมารหยางเหวย ที่โหดเหี้ยม โหดร้าย เด็ดขาด แต่กลับอ่อนโยนเมื่ออยู่กับเฉินไป๋ทู่ จีฟา ฉลาด ลุ่มลึก เอาจริงเอาจัง รักและกตัญญูต่อครอบครัวอย่างมาก ขณะที่ หลางฟง รัก เอ็นดู และกป้อง เฉินไป๋ทู่ แม้ว่าตัวเองจะถูกลงทัณฑ์ก็ตาม แต่เขาก็ยัง ยกย่อบูชา เทิดทูน เชื่อฟัง และเกรงกลัวจอมมารด้วยเช่นกัน
ข้อพกพร่องหนึ่งที่พบในการสร้างตัวละครในเรื่องนี้คือ อายุของตัวละครกับพฤติกรรมบางอย่างของตัวละครบางตัวดูจะไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีฟา และ เฉินไป๋ทู่ เพราะว่าความคิด หรือการวางตัวในบางเหตุการณ์ดูจะโตกว่าหรือลุ่มลึกกว่าอายุจริงที่ผู้เขียนกำหนดไว้ อาทิ การให้จีฟาอายุเพียง 10 ขวบ เท่าทันความคิดที่เต็มไปด้วยเล่ห์เลี่ยมของสนมต๋าจี เป็นผู้บัญชาการและออกคำสั่งบรรดาองครักษ์ต่างๆ ถึงการวางกำลังปกป้องตำหนักและพระมารดาด้วยตัวเอง หรือการให้จีฟาออกรบตั้งแต่อายุ 12 และเขายังมีความมั่นใจว่าจะสามารถเผด็จศึกครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่าการออกบัญชาการการรบนั้น ผู้บัญชาการต้องมีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิที่มากพอ จึงจะควบคุมและปกครองกองทัพได้ นอกจากนี้ ขณะที่เขาอายุเพียงเท่านี้ยังสืบรู้ความลับที่สนมต๋าจีที่ปกปิดมาได้นานหลายปีว่า แท้ที่จริงแล้วนางมิใช่มนุษย์ แต่เป็นปีศาจจิ้งจอกอีกด้วย แม้ว่าผู้เขียนจะสร้างให้จีฟามีพลังพิเศษลึกลับบางอย่างก็ตาม แต่ก็ยากที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อและคล้อยตามได้ เพราะเมื่ออ่านแล้วมักจะจินตนาการได้ว่าตัวละครทั้งสองนี้น่าจะอายุมากที่กำหนดสัก 3-5 ปี ในแง่นี้ ผู้วิจารณ์คิดว่าผู้เขียนก็น่าจะทราบปัญหาในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นผู้เขียนคงจะไม่พยายามตอกย้ำอายุของตัวละครสองตัวนี้ให้ผู้อ่านตระหนักอยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าถ้าเพิ่มอายุตัวละครสองตัวนี้ให้เหมาะกับพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้เขียนจินตนาการไว้ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อทิศทางและอารมณ์โดยรวมของเรื่องที่ผู้เขียนต้องการเสนอเท่าใดนัก
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมบางอย่างของไป๋ทู่ที่ขัดกับลักษณะที่ผู้เขียนกำหนดให้ไป๋ทู่ตาบอดแต่กำเนิด และสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมทั้งยังดำเนินชีวิตเยี่ยงคนปกติได้โดยอาศัยประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ มาทดแทน แต่พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ไป๋ทู่ไม่น่าทำได้คือ การที่ไป๋ทู่เลียนแบบการวางตัวต่อหน้าข้าราชบริพารตามแบบจอมมาร โดยอาศัยการสังเกตและจดจำ เพราะทักษะเหล่านั้นเป็นการเรียนรู้ผ่านทางการมองเห็น จึงไม่น่าเชื่อว่าไป๋ทู่จะกระทำได้จริง สิ่งที่ไป๋ทู่น่าจะเรียนรู้ได้มากกว่านั้น ควรจะเป็นการเลียนแบบน้ำเสียง และจังหวะหรือลีลาการพูด มากกว่าเลียนแบบลักษณะท่าทางและการวางตัว
ในส่วนการเขียนนั้นเห็นว่า ผู้เขียนไม่มีปัญหาในการสร้างบทพรรณนา บทบรรยาย และบทสนทนาต่างๆ ซึ่งทำได้อย่างลื่นไหล ต่อเนื่อง และสอดคล้องไปกับเรื่องราวและตัวละครในแต่ละตอนได้เป็นอย่างดี ซึ่งสร้างความน่าอ่าน และน่าสนใจให้กับเรื่องได้ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาในการเขียนกลับอยู่ที่คำผิด ซึ่งมีให้เห็นเป็นระยะๆ ทั้งการเขียนวรรณยุกต์ผิดพลาด เช่น กรุ่มกริ่ม เขียนเป็น กรุมกริม กลั่นแกล้ง เขียนเป็น กลั้นแกล้ง ซุ่มตัว เขียนเป็น ซุ้มตัว หน้าท้องนูนป่อง เขียนเป็น หน้าท้องนูนป้อง บูดบึ้ง เขียนเป็น บูดบึง ผิดเพี้ยน เขียนเป็น ผิดเพี๊ยน เอื้อม เขียนเป็น เอือม ถามอยู่ปาวๆ เขียนเป็น ถามอยู่ป่าวๆ เอื้อมมือ เขียนเป็น เอือมมือ เฟี้ยว เขียนเป็น เฟี๊ยว ควานหา เขียนเป็น คว้านหา กระหน่ำ เขียนเป็น กระหนำ เลิ่กลั่ก เขียนเป็น เลิกลั่ก เทพไท้ เขียนเป็น เทพไท เดียวดาย เขียนเป็น เดี่ยวดาย ไอร้อนสุมกาย เขียนเป็น ไอร้อนสุ่มกาย เก็บงำ เขียนเป็น เก็บง้ำ หนวดเครารำไร เขียนเป็น หนวดเคราร่ำไร
นอกจากนี้ยังมีการสะกดผิด เช่น พระจันทร์ทรงกลด เขียนเป็น พระจันทร์ทรงกรด คุกคาม เขียนเป็น คุกคราม ตระการ เขียนเป็น ตระกาน พระสุรเสียง เขียนเป็น พระสุรัสเสียง เทิดทูน เขียนเป็น เทิดทูล สายฟ้าแปลบปลาบ เขียนเป็น สายฟ้าแปรบปราบ นางกำนัล เขียนเป็น นางกำนัน แพรพรรณ เขียนเป็น แพรภัณฑ์ บรรณาการ เขียนเป็น บัณณาการ (อำนาจที่ยิ่งใหญ่คอย)คานกัน เขียนเป็น ค้านกัน เปล่งเสียง เขียนเป็น แปร่งเสียง หว่านล้อม เขียนเป็น หวาดล้อม ไม่ทันกาล (ไม่ทันเวลา) เขียนเป็น ไม่ทันการ (ไม่พอดีกับงาน ไม่เหมาะแก่เวลา) อบอวล เขียนเป็น อบอวน ปวดใจแปลบ เขียนเป็น ปวดใจแปรบ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ กระดิกหางดิกๆ หรือ กระดิกหางดิ๊กๆ เขียนเป็น กระดิกหางหลิกๆ ปรนนิบัติ เขียนเป็น ปรนิบัติ สะอื้น เขียนเป็น สำอื้น ตะกอน เขียนเป็น
ตระกอน เชี่ยวกราก เขียนเป็น เชี่ยวกราด สะเปะสะปะ เขียนเป็น สะปัดสะเป ตะเกียกตะกาย เขียนเป็น ตระเกียก
ตระกาย ปะทุ เขียนเป็น ประทุ อิสริยยศ เขียนเป็น อิสริยศ ตะกุกตะกัก เขียนเป็น ตระกุกตระกัก อนุญาต เขียนเป็น อนุญาติ สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ ตาแดงก่ำ เขียนเป็น ตาแดงกร่ำ กลัดกลุ้มใจ เขียนเป็น กลัดกลั้นใจ ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ หลงใหล เขียนเป็น หลงไหล แผนการ เขียนเป็น แผนการณ์ ปรารถนา เขียนเป็น ปราถนา กลิ้งกลอก เขียนเป็น กลิ้งกรอก เคี่ยวเข็ญ เขียนเป็น เขี้ยวเข่น พิพาท เขียนเป็น พิพาก เสียวแปลบ เขียนเป็น เสียวแปรบ อีกทั้งยังมีการใช้คำที่ไม่เหมาะกับความ เช่น หยิบมือเล็กออกจากใบหน้า ควรเขียนว่า จับมือเล็กออกจากใบหน้า แทน และการใช้ลักษณนามผิด เช่น ปีศาจทุกตน เขียนเป็น ปีศาจทุกคน ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่า หากผู้เขียนแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้ถูกต้องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น
     
 
ใครแต่ง : Reana~Rika
4 มี.ค. 54
80 %
13 Votes  
#59 REVIEW
 
เห็นด้วย
7
จาก 7 คน 
 
 
Killer Online เมื่อนักฆ่าอยากเป็นนักบุญ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 15 ธ.ค. 54
นิยายแฟนตาซีของ Reana~Rika เรื่อง … Killer Online เมื่อนักฆ่าอยากเป็นนักบุญ ที่โพสต์ถึงตอนที่ 25 ซึ่งมีตอนพิเศษเพิ่มมาอีก 1 ตอน นิยายเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวคนกลุ่มหนึ่งที่ชะตาลิขิตให้ต้องโคจรมาพบกันทั้งในชีวิตจริงและในเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบเล่มเกมนี้ก็มีทั้งนาย หรือ ตะวันดับแสง มือสังหารฝีมือดี ที่เลือกอาชีพนักบวชในเกม วัฒน์ หรือ E-01 เจ้าพ่อมาเฟียตัวเอ้ ที่รู้จักกันในนาม ตะวันเมฆา หัวหน้ากิลที่ใหญ่และเก่งที่สุดในเกมนี้ เซบาเตียนหรือเชน ดาราหนุ่มผู้พิทักษ์ความยุติธรรม ที่เลือกเป็นบุนโด สมุนที่รักและชื่นชมตะวันเมฆามาก หรือแม้แต่ผู้หมวดที่ต้องการจับตัวทั้ง E-01 และตะวันดับแสงก็ยังชื่นชอบเกมนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งบางคนก็เป็นมิตรกันในโลกความจริง แต่กลับเป็นศัตรูหรือคู่แข่งกันในโลกของเกมก็ได้ หรือบางครั้งก็มีในลักษณะตรงข้ามด้วยเช่นกัน ทว่าเมื่อโลกในชีวิตจริงและโลกของเกมไม่ได้แยกกันเด็ดขาดอย่างที่เข้าใจ เส้นแบ่งระหว่างชีวิตจริงกับชีวิตในเกมเริ่มจะพร่าเลือนลงทุกขณะ จนชีวิตทั้งสองโลกเริ่มผสานรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ผู้คนที่อยู่ในทั้งสองโลกจะตัดสินใจต่อชะตาชีวิตของตัวเองอย่างไร ก็ต้องตามลุ้นกันต่อไป

นิยายเรื่องนี้สร้างความน่าสนใจและชวนให้ผู้อ่านติดตาม นับตั้งแต่เปิดเรื่องด้วยความลึกลับของสถาบันวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง ที่ผู้มีอำนาจในสถาบันวิจัยแห่งนี้สั่งฆ่านักวิจัยของคนกว่า 60 ชีวิตเมื่อพวกเขาพัฒนางานวิจัยชิ้นหนึ่งได้สำเร็จ จากนั้นเรื่องราวของสถาบันวิจัยแห่งนี้ก็หายไปจากเรื่อง และค่อยๆ เปิดเผยที่ละน้อยว่าผลการทดลองงานวิจัยที่เป็นเหตุให้ต้องสังหารหมู่นักวิจัยทั้งหมดในโครงการมีความเชื่อมโยงกันระหว่างบริษัทเกมคอมพิวเตอร์ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูง เพราะบริษัทได้ผันตัวเองมาเป็นบริษัทเกมชั้นนำที่นำผลการวิจัยชิ้นเอกที่พัฒนาได้มาเป็นสินค้าสำคัญเพื่อใช้ครอบครองโลก และแผนการที่วางไว้กำลังจะมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จเพราะเกมนี้ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

การใช้เกมคอมพิวเตอร์มาเป็นเนื้อหาหลักของนิยายเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากนิยายแนวนี้เรื่องอื่นนัก เพราะเกมที่ปรากฏในเรื่องไม่ต่างจากเกมที่ผู้อ่านคุ้นเคยในชีวิตจริงนัก ทั้งยังให้ตัวละครเป็นส่วนหนึ่งของเกมที่ต้องเก็บเลเวล กิล และทำภารกิจต่างๆ ด้วย แต่ผู้เขียนก็เพิ่มมิติและความน่าสนใจให้กับเรื่องโดยสร้างให้เรื่องราวต้องดำเนินไปเป็นในลักษณะสลับเรื่องราวไปมาระหว่างโลกในชีวิตจริงกับโลกในเกม ซึ่งดูเหมือนว่าโลกทั้งสองต่างกันและไม่น่าที่จะมาส่งผลให้กันและกันได้ ทว่าโลกทั้งสองที่ว่านี้กำลังเริ่มเคลื่อนเข้ามาใกล้กันมากขึ้น เพราะตัวละครสำคัญที่อยู่ในโลกจริงและโลกในเกมต่างเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันที่มีความสัมพันธ์กันทั้งเป็นมิตรและศัตรู ขณะเดียวกันผู้เขียนยังได้เปิดประเด็นใหม่ให้เรื่องดูน่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้น เมื่อเริ่มเปิดเผยว่าโลกในเกมที่เราคิดว่าเป็นโลกเสมือนที่สร้างขึ้นนั้น จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่ก็ได้ เพราะพื้นที่บางส่วนของเกมนี้ก็คือชุมชนที่มีอยู่จริงในโลก เช่น หมู่บ้านลับแล

ความยากประการหนึ่งของการเขียนเรื่องในแนวนี้คือ การสร้างความสมจริงเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามเรื่องราว เหตุการณ์ และเหตุผลเบื้องหลังที่ผู้เขียนนำเสนอ โดยส่วนตัวเริ่มรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยความสมจริงของนิยายเรื่องนี้ นับตั้งแต่ผู้เขียนเปิดประเด็นหมู่บ้านลับแล และให้เอลิส หนึ่งในตัวละครของหมูบ้านแห่งนั้นเป็นผู้เปิดเผยว่าแท้ที่จริงแล้วพื้นที่แห่งนี้มิใช่เกม แต่เป็นโลกแห่งหนึ่งที่ถูกกวาดล้างมาเมื่อ 660 ปีก่อน นับตั้งแต่มีรูปแบบของเกมนี้เกิดขึ้น และสถานที่แห่งนี้ยังอยู่นอกเหนือระบบการทำงานด้วยความคิด ซึ่งเป็นระบบหลักของการเล่นเกมนี้ เมื่อความจริงถูกเปิดเผยขึ้นเช่นนี้ ก็ทำให้ผู้วิจารณ์เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อเมืองลับแลอยู่นอกระบบความคิดอันเป็นกลไกสำคัญในการขับคลื่อนเกมนี้ แล้วเหตุใดผู้ที่อยู่ในเกมจึงสามารถมาเยือนสถานที่แห่งนี้ได้ เช่นเดียวกับคนที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้จะเข้าไปอยู่ในระบบคิดของเกมได้อย่างไร ความเคลือบแคลงประการต่อมาก็คือ หากพิจารณาจากจากระยะเวลาที่เลื่อมซ้อนกันระหว่างเมืองลับแลกับโลกแห่งความจริง เพราะในโลกแห่งความจริงเกมนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา แต่ในเมืองลับแลเกมนี้ส่งผลต่อชีวิตคนเมืองนี้มานานถึง 660 ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เมืองลับแลน่าจะเป็นโลกต่างมิติที่อยู่คู่ขนานกับโลกแห่งความจริงมีช่วงเวลาต่างกันอย่างน้อยก็ 1 ต่อ 110 ปี เมื่อเป็นเช่นนี้หากคนในสองโลกข้ามไปมาระหว่างกันก็น่าจะจะมีผลต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรอัน สมาชิกของเมืองลับแลที่ตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริงแล้ว กลไกของเวลาในตัวเขาจะปรับให้เข้ากับเวลาในโลกแห่งความจริงได้อย่างไร เพราะเวลาในเมืองลับแลเร็วกว่าโลกความจริงถึง 110 เท่า

นอกจากนี้ นักเขียนยังได้นำจุดเด่นของเกมมาเป็นปัจจัยหลักในการนำเสนอเรื่องครั้งนี้ด้วย นั่นคือ การใช้นามแฝง และการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของผู้เล่นก่อนที่จะเล่นเกม จึงทำให้ผู้เล่นเกมส่วนใหญ่แม้ในชีวิตจริงจะเคยพบกัน แต่เมื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์ในเกมไปมากก็ไม่อาจจำกันได้ การทำเช่นนี้นับว่าช่วยลดลักษณะคู่ตรงข้ามของตัวละครในโลกความจริงให้พร่าเลือนลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างตัวละครที่ทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวของตำรวจ และกลุ่มผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่เป็นศัตรูกันในชีวิตจริง แต่สามารถกลายเป็นเพื่อนกันในเกมคอมพิวเตอร์ที่เล่นอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งเงื่อนไขนี้อาจเอื้อให้เกิดความร่วมมือระหว่างคนสองกลุ่มก็เป็นได้ เพราะโดยส่วนตัวเห็นว่าแนวโน้มของเรื่องในท้ายที่สุดทั้งตำรวจและผู้ร้าย คือ ตะวันดับแสง และวัฒน์ หรือ E-01 อาจจะต้องร่วมมือกับผู้หมวด เพื่อโค่นล้มและกำจัดเจ้าของบริษัทเกมที่วางแผนครอบครองโลก

อย่างไรก็ดี การที่ตัวละครแต่ละตัวต่างมีรูปร่างหน้าตา บุคลิก บทบาท และชื่อที่ต่างกันระหว่างโลกจริงและโลกในเกมเช่นนี้ ทำให้ตัวละครในเรื่องมีจำนวนเพิ่มขึ้นในลักษณะเกือบเป็นทวีคูณซึ่งอาจสร้างความสับสนให้ผู้อ่านได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนตัวละครที่มีปริมาณมากเท่านั้น แต่ผู้เขียนยังเพิ่มความซับซ้อนให้กับตัวละครด้วยการเพิ่มมิติของเงื่อนไขในเชิงพื้นที่เข้าไปด้วย กล่าวคือ หากจะแบ่งตัวละครด้วยเกณฑ์ของพื้นที่อาจแบ่งได้เป็นสี่กลุ่มใหญ่ๆ คือ ตัวละครที่ปรากฏตัวเฉพาะในโลกความจริง เช่น พิทักษ์ พ่อของเมษ นายตำรวจที่รอดจากการสังหารของตะวันดับแสง และ เอก เพื่อนของวัฒน์และเป็นลูกชายของเพื่อนพิทักษ์ ตัวละครที่ปรากฏตัวเฉพาะทั้งในโลกความจริงและในโลกของเกม เช่น นาย/ตะวันดับแสง เมษ พลอย เชน/บุนโด วัฒน์/ตะวันเมฆา ตัวละครปรากฏตัวเฉพาะในโลกของเกมเท่านั้น เช่น กิลหรือ Mr. Skill และเฟย่า และตัวละครในเมืองลับแล เช่น เรอัน เอลิส และ ลูซิเฟอร์ ซึ่งตัวละครในกลุ่มนี้ก็แยกเป็นกลุ่มย่อยลงไปได้อีก คือ ตัวละครที่ปรากฏตัวเฉพาะในเมืองลับแลและในเกม เช่น ลูซิเฟอร์ และ เอลิส และตัวละครที่ปรากฏตัวเฉพาะในโลกความจริงและในเมืองลับแล เช่น เรอัน ด้วยเหตุนี้ ผู้อ่านจึงต้องทำการบ้านมากขึ้นด้วยการพยายามจดจำตัวละครและบทบาทของตัวละครทั้งหมดทั้งในโลกแห่งความจริงและในโลกของเกมที่ปรากฏสลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา จึงจะสามารถติดตามเรื่องราวได้อย่างต่อเนื่อง

การสร้างตัวละครที่ซับซ้อนและมีปริมาณมากเช่นนี้ ผู้เขียนคงจะต้องช่วยผู้อ่านด้วยการบรรยายลักษณะของตัวละครแต่ละตัวอย่างละเอียดก็จะช่วยลดความสับสนนี้ได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า Reana~Rika ยังไม่ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ไม่มากนัก โดยเฉพาะการบรรยายรูปร่างหน้าตาของตัวละคร ซึ่งส่วนใหญ่มักจะให้ภาพรวมกว้างๆ จนทำผู้อ่านจินตนาการภาพตัวละครตัวนั้นๆ ได้เพียงภาพร่างคร่าวๆ เท่านั้น เช่น บรรยายถึง ตะวันดับแสง (ในเกม) ว่า ... เขาเลือกปรับผมให้ยาวขึ้นจนถึงกลางหลัง เปลี่ยนเป็นสีขาวและรวบไว้หลวมๆ เปลี่ยนสีตาเป็นสีน้ำเงินเข้ม .... ทำให้ใบหน้าคม ดูอ่อนโยน ใจดี ... หรือ บุนโดว่า ชายร่างยักษ์สูงเกือบสองเมตรกล้ามใหญ่ หัวโล้นสะท้อนแสงแดด หรือ ตะวันเมฆา ว่า ...หน้าตาหล่ออย่างที่สมควรจะมีคนมาขอลายเซ็นจริงๆ .. แม้ว่าจะหล่อน้อยกว่านาย... หมอนั่นมีเส้นผมสีดำเข้มยาวระต้นคอตามทรงเท่ๆ ใบหน้าคม ล่ำสัน รูปร่างสมส่วน เหมาะที่จะเป็นายแบบ

สำหรับการเขียนนั้นพบว่า ผู้เขียนบรรยายเรื่องได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายเรื่องราวในโลกของเกม จนดูประหนึ่งว่าผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่ชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน จึงสามารถถ่ายทอดบรรยากาศภายในเกม วิธีการเล่น รวมไปถึงการต่อสู้ที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นเกมได้เป็นอย่างดี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามีคำสะกดผิดอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ เคาน์เตอร์ เขียนเป็น เคาเตอร์ สละสลวย เขียนเป็น สระสลวย เวท เขียนเป็น เวทย์ เพลี่ยงพลั้ง เขียนเป็น เพรี่ยงพรั้ง ครณา เขียนเป็น ครนา กลับตาลปัตร เขียนเป็น กลับตารปัด ล่ำสัน เขียนเป็น ล่ำสั้น ภักดี เขียนเป็น ภัคดี สบาย เขียนเป็น สะบาย คฤหาสน์ เขียนเป็น คฤหาส อนุญาต เขียนเป็น อนุญาติ อู้อี้ เขียนเป็น อู้อี้ ปะทะ เขียนเป็น ประทะ มั้ย เขียนเป็น มั๊ย คลุมเครือ เขียนเป็น ครุมเครือ เปอร์เซ็นต์ เขียนเป็น เปอร์เซน ครั้งแรก เขียนเป็น ครั้งแลก ต่างหู เขียนเป็น ต้มหู เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย คมกริบ เขียนเป็น คมกลิบ หา หรือฮะ เขียนเป็น ห๊ะ เกียรติ เขียนเป็น เกียรติ์ และ พะอืดพะอม เขียนเป็น พอืดพอม ซึ่งคำผิดเหล่านี้ลดทอนความสมบูรณ์ของเรื่องไปอย่างน่าเสียดาย


---------------------------


     
 
ใครแต่ง : The.wolF
27 ก.พ. 62
80 %
23 Votes  
#60 REVIEW
 
เห็นด้วย
7
จาก 7 คน 
 
 
วิจารณ์ P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก และ P.I.R.A.T.E.S ระวัง•ทะเล•คลั่ง!!

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 26 เม.ย. 56

นิยายเรื่อง P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก และ P.I.R.A.T.E.S ระวัง•ทะเล•คลั่ง!! ที่ The.wolF นำมาฝากไว้ให้วิจารณ์ ปัจจุบันเรื่องแรกแต่งจนจบแล้วกำลังรีไรท์ ส่วนเรื่องที่สองเขียนได้ 27 ตอนรวมตอนพิเศษ ทั้งสองเรื่องเกิดขึ้นในโลกใบเดียวกัน และใช้ตัวละครบางส่วนร่วมกัน จึงขอนำมาวิจารณ์พร้อมกัน
เนื้อเรื่องของ P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก เป็นเรื่องราวของเจ้าชาย ริกซัส อีกลีส ผู้ทรงคุณธรรมและต่อสู้ได้เก่ง แต่ดิบเถื่อน ฝีปากไว และไม่ค่อยชอบธรรมเนียมของชนชั้นสูง กับองครักษ์ปากจัดนาม เอียน ก็อดเด็น ซึ่งนอกจากจะมีฝีปากที่จัดจ้านพอๆ กับเจ้าชายแล้ว ยังมีฝีมือการต่อสู้ที่เหนือกว่าเจ้าชายเล็กน้อย จึงได้รับมอบหมายจากพระราชาไลโอเนลล์ ให้มา “ควบคุมความประพฤติ” ของพระอนุชา โดยได้ส่งองครักษ์ใหม่มาถึงเมืองทางเหนือที่เจ้าชายประทับอยู่ เนื้อเรื่องในช่วงแรกจึงเป็นนิยายแนวขบขันในพระราชวัง ที่ผู้อ่านจะได้เห็นคู่กัดทั้งสองปะทะคารม รวมถึงฝีมือต่อสู้ จนเลือดตกยางออก ราชบริพาร แม่บ้าน ทหารเลวเดือดร้อนกันวุ่นวาย พระราชาและราชครูกุมขมับ ฯลฯ

นอกจากช่วงที่ขบขันจะเป็นช่วงที่สนุกแล้ว ช่วงนี้ยังทำให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับตัวละครต่างๆ ในเรื่อง นอกจากเจ้าชายริกซัสและองครักษ์แล้ว ก็ยังมีตัวละครอื่นๆ เช่น พระราชาไลโอเนลล์ พระราชินี ราชครูยูคลิด แมรี่แอนหัวหน้าแม่บ้าน ที่จะค่อยๆ เข้ามาปูพื้นฐานของเรื่องราว เช่น บรรยากาศของเรื่อง กิจวัตรประจำวันของตัวละคร และนิสัยของตัวละครแต่ละคน ก่อนที่ผู้เขียนจะเพิ่มความเข้มข้นให้กับเนื้อเรื่องด้วยประเด็นที่จริงจังต่างๆ ที่เจ้าชายต้องพบ ไม่ว่าจะเป็น จารีตในวังหลวง ขุนนางทุจริต การถูกลอบสังหาร ถูกเวทมนตร์ที่ทำให้เจ้าชายทำร้ายประชาชนโดยไม่รู้ตัว ไปจนถึงเนื้อเรื่องหลักของนิยายเรื่องนี้ คือการที่เจ้าชายถูกเวทมนตร์ที่ไม่อาจถอนได้ คณะตัวละครจึงต้องออกเดินทางเพื่อเก็บสมุนไพรที่ใช้รักษา และต้องเกิดการผจญภัย ต่อสู้ตามวิสัยนิยายแฟนตาซี ซึ่งผู้เขียนได้อ้างระยะทางที่ห่างไกล ทำให้เจ้าชายที่ทรงพระประชวรหนักต้องเดินทางไปด้วย เนื่องจากถ้ารออยู่ที่พระราชวังอาจไม่ทันกาล และเจ้าชายต้องร่วมต่อสู้กับมังกรและแม่มด ทั้งๆ ที่กำลังประชวรอยู่ ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายไว้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเจ้าชายบาดเจ็บสาหัสปางตายจริงๆ

ในระหว่างที่เนื้อเรื่องเริ่มจริงจังขึ้น ตัวละครอื่นๆ ก็ทยอยกันเข้ามาในเนื้อเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแคโรไลน์ อดีตคนรักของเอียน จัสติน นักธนูมือฉมังและนักเวท บาโฟ ปิศาจหนุ่มผู้ทำงานให้นากาอิน นักเวทผู้มีวัตถุประสงค์บางอย่าง จนกระทั่งราล์ฟและวลาด สองโจรสลัดผู้ซึ่งจะเป็นตัวละครหลักในเรื่องต่อไป เข้ามาปรากฏตัวในตอนท้ายๆ จะเห็นได้ว่าตัวละครที่มีความสำคัญมีจำนวนค่อนข้างมาก และเนื้อเรื่องที่ต้องเน้นความสำคัญไปที่เจ้าชายเป็นหลักก็ทำให้ยากต่อการกระจายบทให้กับตัวละครต่างๆ แต่ปรากฏว่าผู้เขียนสามารถแบ่งบทบาทให้กับทุกตัวละครได้อย่างสมดุล ตัวละครแต่ละคนมีมิติและทำให้เรื่องราวของตัวละครเหล่านั้นเข้ามาเสริมความหนักแน่นให้กับเรื่องราวของเจ้าชายและองครักษ์ จนผู้อ่านเชื่ออย่างสนิทใจว่า เจ้าชายริกซัส หากได้ขึ้นครองราชย์ (แต่ดูจากนิสัยแล้วคงจะไม่) ก็คงจะเป็นกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมยิ่ง ส่วน เอียน ก็เป็นองครักษ์ที่พร้อมมอบกายถวายชีวิตให้กับผู้เป็นนายอย่างแท้จริง โดยที่ผู้เขียนไม่ต้องเขียนบอกลงไปในเนื้อเรื่องตรงๆ หรือให้ตัวละครเป็นคนพูด แต่ใช้การเล่าพฤติกรรมของตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ลักษณะนิสัย และคุณงามความดี (หรือความชั่ว) ของตัวละครได้ดีมาก
สำหรับเรื่อง P.I.R.A.T.E.S ระวัง•ทะเล•คลั่ง!! มีเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจาก P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก ซึ่งผู้เขียนบอกว่าไม่จำเป็นต้องอ่านอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ แต่ผมกลับเห็นว่า หากได้อ่านเรื่องเจ้าชายมาก่อน ก็จะทำให้อ่านเรื่องโจรสลัดได้สนุกขึ้น เพราะความน่าสนใจของนิยายชุดนี้อีกประการหนึ่งอยู่ที่ “จักรวาล” ที่ผู้เขียนได้วางไว้ตั้งแต่การเขียนเรื่องแรก ไม่ว่าจะเป็น ภูมิประเทศ เมืองต่างๆ การปกครอง การเดินทาง อาชีพ สิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ หลักการใช้เวทมนตร์ ฯลฯ ไว้ก่อนที่จะนำตัวละครต่างๆ ลงไปยัง “เวที” ที่นักเขียนได้จัดเตรียมไว้ให้พวกเขาได้มีชีวิต โดยเรื่อง P.R.I.N.C.E เจ้าชายสายพันธุ์นรก ตัวละครหลักจะเป็นพวกเจ้าชาย ส่วนเรื่อง P.I.R.A.T.E.S ระวัง•ทะเล•คลั่ง!! ตัวละครหลักก็จะเป็นกัปตันโจรสลัดราล์ฟ และลูกเรือโจรสลัดกลุ่ม “มารูน” ของเขา เมื่อตัวละครหลักเป็นโจรสลัดที่ต้องเดินทางตลอดเวลา จึงเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้เล่าถึงเมืองท่า ร้านค้าต่างๆ ตัวละครใหม่ๆ ตลอดจนกองทัพ และโจรสลัดกลุ่มต่างๆ เป็นการเปิดโลกของนิยายชุดนี้ให้กว้างขึ้นและมีความสมจริงมากขึ้นอีก

ประเด็นหลักที่ผมคิดว่าผู้เขียนพยายามจะสื่อในเรื่องของโจรสลัดคือเรื่องของการค้าทาส ซึ่งมีเกริ่นมาตั้งแต่ตอนที่พ่อครัวของมารูนได้ไปปรากฎตัวในเรื่องเจ้าชายแล้วว่า วลาดมีอดีตเป็นทาส และในเรื่องโจรสลัด แผนที่ที่ราล์ฟได้รับมา ก็คือแผนที่ไปยังเกาะมหาสมบัติที่รัฐบาลซ่อนไว้ และราล์ฟเชื่อว่า ที่นั่นไม่ได้มีสมบัติที่ซ่อนอยู่ แต่เป็นเกาะที่รัฐบาลค้าทาสอย่างลับๆ ซึ่งประเด็นนี้ค่อนข้างจะซีเรียสกว่าเรื่องเจ้าชายที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบัน พวกโจรสลัดยังเดินทางไปไม่ถึงเกาะแห่งนี้ และผู้เขียนยังไม่ได้นำเสนอประเด็นของทาสไว้ในเรื่องอย่างชัดเจน จึงยังไม่เห็นว่าผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นนี้อย่างไร

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เสริมเนื้อเรื่องหลักของนิยายด้วยการเขียนตอนพิเศษที่เกี่ยวกับตัวละครรอง และเรื่องราวในอดีตอีกหลายตอน ซึ่งหากผู้อ่านได้อ่านก็จะทำให้เข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้มากขึ้น แต่ถึงแม้ไม่อ่าน ก็ยังสามารถเข้าใจเรื่องราวของนิยายเรื่องนี้ได้ดีอยู่ นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าแฉและหน้า profile ของตัวละคร พร้อมด้วยรูปวาดตัวละครที่ผู้เขียนเป็นคนวาดเอง ซึ่งก็ต้องขอบอกว่าค่อนข้างตรงกับที่บรรยายไว้ในเนื้อเรื่อง

จุดเด่นประการหนึ่งที่ทำให้ผมเห็นว่านิยายชุดนี้น่าสนใจ คือการแต่งเรื่องใหม่ให้อยู่ในโลกหรือ “จักรวาล” เดิม วิธีนี้ทำให้ผู้เขียนสามารถสร้างตัวละครหลักชุดใหม่ออกมาได้อีกในเรื่องถัดไป โดยที่ยังมี “เวที” แห่งเดิม และใช้ตัวละครที่แต่งไว้ในเรื่องก่อนๆ เข้ามาเป็น “ดารารับเชิญ” ในเรื่องใหม่ ก็จะเป็นการทำให้โลกของนิยายชุดนี้มีชีวิตมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการ์ตูนคอมิคของ DC หรือ Marvel ที่มีการแต่งเรื่องแบบเป็น “จักรวาล” และให้ตัวละครต่างๆ ได้โลดแล่นในจักรวาลนี้ โดยที่แต่ละตัวจะมีบทบาทเด่นในหนังสือการ์ตูนฉบับที่เป็น “หัว” ของตนเอง ซึ่งทาง Marvel และ DC ก็มีการใช้นักเขียนบทและนักวาดภาพหลายคนในการแต่งเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโร่ที่พวกเรารู้จักกัน แต่สามารถทำให้เรื่องราวเกิดความหลากหลายไม่ซ้ำซาก ตามสไตล์ของนักวาดและนักเขียนแต่ละคน นั่นหมายความว่านิยายชุด “เจ้าชาย โจรสลัด” ของ The Wolf ก็อาจจะเชิญนักเขียนที่สนิทสนมกันมาแต่งเรื่องใหม่ที่อยู่ในโลกเดียวกันก็ได้ ซึ่งจะสร้างความหลากหลายให้กับเนื้อเรื่องได้มากขึ้นอีก

สำหรับสิ่งที่อยากให้ผู้เขียนปรับปรุงนั้นผมพยายามคิดอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่พบว่าผู้เขียนควรจะต้องปรับปรุงที่ใด ก็อาจจะถือได้ว่านิยายชุดนี้เท่าที่ได้อ่านก็มีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งแล้ว มีเพียงข้อเสนอแนะเล็กๆ น้อยๆ ว่า อยากให้ผู้เขียนศึกษาเรื่องราชวงศ์จากประเทศที่ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมา (คิดว่าคงเป็นประเทศในยุโรป) ว่าพระราชา พระราชินี ตลอดจนเจ้าหญิงเจ้าชายและข้าราชบริพารต่างๆ นั้น มีลำดับชั้นอย่างไร ต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไรบ้าง และราชวงศ์ปกครองแผ่นดินอย่างไร เพื่อความสมจริงของเรื่อง รวมถึงในส่วนของเรื่องราวโจรสลัด ก็อยากให้ลองศึกษาเรื่องของทหารเรือและโจรสลัด รวมถึงการปกครองของกองทัพ เพื่อเสริมให้เนื้อเรื่องมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น

     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12