jesjournal90
ดู Blog ทั้งหมด

เมื่อได้อ่านผู้ชนะสิบทิศ

เขียนโดย jesjournal90

เรามีหนังสือเรื่องผู้ชนะสิบทิศมาหลายปีแล้ว เห็นว่าเป็นวรรณกรรมขึ้นหิ้ง พอคุณตาเห็นหลานสนใจก็ซื้อให้ทันที แล้วก็หมกอยู่ในตู้หนังสือของคุณตาอยู่หลายปี (นิสัยไม่ดี) พอว่างๆ จึงรื้อมาอ่าน พออ่านแล้วมันตะขิดตะขวงใจ จากทีละเล็กทีละน้อยเป็นมากที่สุด เรายอมรับว่าพอโตขึ้น ประสบการณ์ทำให้ความรู้สึกเวลาอ่านนิยายไทยหรือวรรณคดีไทยแตกต่างจากเมื่อครั้งยังเด็ก ตอนเด็กๆ เราอ่านวรรณคดีไทยด้วยความรู้สึกเหมือนอ่านแฟนตาซี แต่ในวันนี้ เรากลับมีอาการเบ้ปาก มองบน กลอกตา เพราะเรารู้สึกว่าบทบาททางของเพศหญิงในงานต่างๆล้วนน่าสงสาร ความรักที่มาพร้อมกับความรุนแรง หักหลัง สภาพยอมจำนน ประหนึ่งถูกล่ามด้วยระบบความคิดชายเป็นใหญ่ ซึ่งมันตกกระทบมาถึงตัวผู้อ่านอย่างเราๆด้วย ตัวละครหญิงที่ว่าดีและไม่ดี ล้วนสร้างกรอบความคิดและการอบรมที่บิดเบี้ยวมาแต่โบราณ
แล้วผู้ชนะสิบทิศเกี่ยวอะไร แม้นิยายจะเขียนเชิงพงศาวดารเล่าถึงตำนานของพระเจ้าบุเรงนอง แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่ใช่นิยายประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ ยี่สิบเปอร์เซ็นต์จะถึงหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะท่านผู้เขียนแต่งตามจินตนาการบวกกับข้อความตามพงศาวดารเพียงไม่กี่บรรทัด หากพิจารณาตัวละครพระเอกอย่าง จะเด็ด หรือบุเรงนอง ตัวละครตัวนี้ถูกสร้างมาให้เหมือนกับเป็นภาพบุรุษที่ชายหนุ่มส่วนใหญ่อยากเป็น นั่นคือ หล่อจนสาวหลงตั้งแต่สาวน้อยยันแม่ม่าย เก่งกาจเจนการรบ จนแม้แต่บทบาทของมังตรากษัตริย์ หรือพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ยังถูกถ่ายทอดเพื่อให้ตัวละครจะเด็ดกลายเป็นคนกตัญญูและรักเพื่อน มากกว่าที่พระองค์จะทำกิจงานที่ให้เรารู้สึกว่าเป็นถึงองค์จักพรรดิแห่งพุกาม เพราะจะเด็ดหาเมียและเมืองมาขึ้นให้อย่างเดียว ถ้าอ่านจากประวัติของยาขอบแล้ว ก็คล้ายๆท่านอยู่ในเชิงเรื่องชู้สาว
เนื่องจากในนิยายเน้นเรื่องรักเท่ากับ เอ๊ะ! หรือมากกว่าเรื่องรบ คนอ่านส่วนใหญ่มักเถียงกันว่าใครคือนางเอกกันแน่ ระหว่างตะละแม่จันทราใจงามผู้เพียบพร้อมกับตะละแม่กุสุมาที่ร้อนแรงและอาภัพ (ผู้มักเป็นที่ชังโดยคนส่วนใหญ่ เพราะเธอมาที่หลัง) เราจะไม่มานั่งค้นหาว่าใครคือนางเอก หรือจะเด็ดรักใครที่สุด เพราะเมื่ออ่านจนจบ เราคิดว่าพระเอกก็รักตัวเองมากที่สุดอยู่ดี และต่อให้เถียงกันแทบตาย สุดท้าย ตะละแม่จันทรามีบทบาทมากกว่ากุสุมาในพาร์ทหลังๆ เนื่องจากเป็นชายาเอก และพระพี่นางของมังตรา ส่วนกุสุมาแทบจะไม่มีความสำคัญกับเรื่องเลยในช่วงหลัง
ลูกผู้หญิงถูกสอนสั่งให้รักนวลสงวนตัว เสี้ยวหนึ่งของอวัยวะก็อย่าให้ชายใดแตะต้อง แต่ถ้าชายคนนั้นเป็นพระเอกของเรื่องก็ยอมไปเถอะ ชาตินี้ไม่มีใครดีกว่าแล้ว สองประโยคหลังไม่มีใครสอน แต่เราสัมผัสได้เองจากวรรณกรรมหลายเรื่อง ในนิยายเรื่องนี้ แม้เพียงแค่ถูกเนื้อต้องตัว สาวๆต่างคิดว่าชาตินี้จะเด็ดต้องเป็นสามีพวกเธอเท่านั้น การแตะเนื้อต้องตัวเปรียบเสมือนการที่ผู้ชายมาจองตัวแล้ว และถึงแม้พวกเธอไม่เต็มใจให้เขาต้องตัว แต่ร่างกายก็เป็นสมบัติของชายที่กระทำอย่างแก้ไขไม่ได้
ทั้งจันทราและกุสุมาเหมือนกันตรงที่ เมื่อรู้ว่าจะเด็ดมีอีกคน ก็ขอให้เลือกอีกฝั่งแล้วตัดตนเสีย กุสุมานั้นเปรียบเสมือนไฟหากเทียบกับจันทราที่เป็นน้ำ เธอกล่าวต่อว่าจะเด็ดที่รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองมีคนรักเป็นถึงเจ้าหญิงเมืองตองอูอยู่แล้ว กลับมาหาหยอดคำหวานกับเธอ ส่วนจันทราเมื่อทราบข่าวว่าจะเด็ดติดเจ้าหญิงเมืองแปรก็ขอให้จะเด็ดตัดสัมพันธ์กับตนซะ จันทรานั้นจะกล่าวเรียบๆ ใช้วิธีไม่พูดเยอะ ตัดพ้อบ้าง แต่จะเห็นว่าสิ่งที่ทั้งสองคนทำทีแรกคือ “พยายามตัดใจ” แต่พระเอกกลับยื้อพวกนางไว้ ใช้เหตุผลต่างๆนานาเพื่อให้ทั้งสองยอมให้จะเด็ดมีสอง เมื่อพระเอกถูกกุสุมาต่อว่ามากๆ จึงเหมือนถูกแทงใจดำ กลายเป็นกุสุมาถูกโกรธแทน แถมยังถูกลวนลามแล้วพูดเยาะให้เธอช้ำใจเล่น ลูกผู้หญิงในเรื่อง แค่ถูกตัวก็เสียวสันหลังกันแล้ว พอถูกแกล้งเช่นนี้เพื่อให้ผู้ชาย ทั้งที่เป็นฝ่ายผิดสะใจ บทยรรยายยังทำให้คนอ่านคล้อยตามจะเด็ดมากกว่าฝ่ายหญิงที่ถูกบอกเล่าราวกับแสร้งทำจริตงอนไปเช่นนั้น หากกุสุมาอยู่ในสมัยนี้คงเดินวอล์คเอาท์และหมุนฟูลเทิร์นใส่จะเด็ด แต่เพราะเธออยู่ในยุคที่สังคมให้ความเป็นใหญ่กับชายมากกว่าปัจจุบัน กุสุมารู้สึกเหมือนตนนั้นไม่ต่างจากดอกไม้ที่ช้ำแล้ว
ส่วนจันทราเมื่อพยายามผลักไส จะเด็ดใช้วิธีประคองกอดนางไว้แล้วขู่จะตะโกนให้ข้าราชบริพารมาเห็น หญิงทั้งสองล้วนกลัวว่าจะได้รับความอับอายจากการถูกตราจองและครหา ทั้งๆที่อยู่ในที่ของตน แต่มีคนอื่นบุกมา ทั้งสองจำต้องยอมรับเหตุผลข้างๆคูๆของฝ่ายชาย ปล่อยให้เขาพูดและทำตามอำเภอใจ ยอมรับเหตุผลเอาแต่ได้ทั้งที่ใจระทม คำว่ารักสำหรับผู้หญิงนั้นดูจะยิ่งใหญ่และให้ได้ชีวิต ผิดกับฝ่ายชายอย่างเห็นได้ชัด เพราะพวกเธอรักเดียว แต่เขาแบ่งใจไว้หลายห้อง
เราลองคิดว่า ถ้าหากจะเด็ดไม่ขู่บังคับ พวกเธอคงปล่อยให้จะเด็ดไปกับอีกฝ่ายไปแล้ว หญิงสาวส่วนใหญ่ในเรื่องล้วนถูกอาวุธที่ชื่อว่าขนบธรรมเนียมบีบบังคับ ทำให้จำใจยอมโอนอ่อนยอมรับชะตากรรม คำว่ารักมากับการยอมรับข้อเสียของเขา ยอมรับทุกอย่างที่เป็นเขา แต่ทำไมเราไม่เห็นว่าฝ่ายชายจะยอมรับข้อเสียของฝ่ายหญิงได้เลย ตรงกันข้าม กลับพยายามเปลี่ยนแปลงข้อเสียที่ตนมอง อย่างเช่นต้องการให้กุสุมาลดอาการหึงหวงและยอมรับอ่อนน้อมต่อจันทรา แต่เหตุใดเมื่อคราวกุสุมาถูกชิงและจะเด็ดไม่รู้ข้อเท็จจริง กลับโกรธแค้นกุสุมาว่าทรยศหักหลังเช่นหญิงสาวแพศยา หากนับจำนวนหญิงสาวที่เขาทำให้เธอหลงรักทั้งหมด คำว่าแพศยาควรใช้กับใครกันแน่
หากการถูกเนื้อต้องตัวเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเช่นในสมัยนี้ ผู้หญิงจำเป็นจะต้องตกหลุมรักคนที่ลวนลามตัวเอง ข่มขู่ให้เสียเกียรติ แถมยังนอกใจเป็นว่าเล่นกันหรือเปล่า? และแม้หน้าตาเขาจะหล่อเหลามากก็ตาม เราจะยังยอมตกเป็นสิ่งของให้พวกเขามาหยิบจ้องจับจองกันหรือ?
สถานะของหญิงสมัยก่อนและหญิงในสมัยนี้ต่างกันตามกาลเวลา แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็ยังตกทอดมาอยู่ดี แม้ไม่รุนแรงเท่า แต่ก็ยังหลงเหลือ เห็นได้จากการผลิตละครซ้ำซาก นิยายพล็อตเดิมๆ ต่อให้นางเอกยุคใหม่จะกล้าต่อสู้ กล้าประลองฝีปาก แต่ความผุดผ่องบริสุทธิ์ยังคงสำคัญต่อสถานะนางเอก ค่านิยมนี้สะท้อนผ่านผู้อ่านนิยายเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ยาขอบยังตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ประชาชาติ จนแม้แต่ยาขอบยังบอกเองว่า นิยายเรื่องนี้ตามใจนักอ่านมากเหลือเกิน
แน่นอนว่าค่านิยมต่อมาที่มาพร้อมกับการรักนวลสงวนตัวคือให้คุณค่ากับพรหมจรรย์ของผู้หญิง ตะละแม่กุสุมาเป็นตัวละครที่เสียพรหมจรรย์ให้กับสอพินยา ตัวร้ายของเรื่อง เธอเสียโดยการถูกล่อลวง มอมยา และข่มขืนขณะหลับ นางจึงกลายเป็นภรรยาของสอพินยาโดยปริยาย ทีแรก กุสุมาคิดฆ่าตัวตาย แต่สถานการณ์หลายอย่าง ทั้งมารดาที่ห้ามไว้โดยยกบุญคุญของพ่อแม่ และค่านิยมที่ว่าเมื่อเสียตัวให้ชายใดแล้วย่อมตกเป็นของคนนั้น เจ้าหญิงเมืองแปรจึงจำเป็นต้องกลายเป็นชายาของพระอนุชาเมืองหงสาที่ตนหารักไม่ อย่างที่กล่าวไปแล้ว เมื่อจะเด็ดทราบ พิษรักแรงหึงรีบตามไปทวงคืน โดยอ้างว่าตนนั้นรักเธอก่อนและจองตัวเธอก่อน แต่กุสุมาไม่ต้องการเป็นผู้หญิงสองผัว จึงขอให้จะเด็ดกลับไป ขออย่าชิงตัวเธอให้ได้อาย อีกอย่างจะเด็ดเองก็เป็นคนมีพันธะหาใช่คนโสด กุสุมาเลือกที่จะตัดใจและยอมรับชะตากรรมอย่างกล้าหาญ สุดท้ายจะเด็ดก็ชิงตัวเธอมาอยู่ดี นำทัพไปรบ นำคนไปตาย เพื่อสนองความต้องการของตน และถ้าไม่สาบานกับจันทราไว้ว่าจะรักษาความบริสุทธิ์ของตนเอง จะเด็ดคงนอนกับกุสุมาไปแล้ว
เมื่อกุสุมาเสียตัว นักอ่านที่เชียร์กุสุมาถล่มยาขอบหนักมาก อันที่จริงเธอน่าสงสารจริงๆ แต่ยิ่งน่าสงสารอีกเมื่อยาขอบจะแต่งให้เธอเข้าพิธีอภิเษกพร้อมกับจันทรา ข้อนี้ทำให้คนชังกุสุมายิ่งกว่าเดิมเพราะสงสารจันทรา อันที่จริงยาขอบไม่ได้แหกกฎประเพณีอะไร เพราะในวรรณคดีไทยหลายเรื่องก็เข้าพิธีพร้อมกันแบบนี้ แถมอวดบารมีพระเอกเสียอีก ตัวละครที่น่าสงสารมีอยู่สองตัว คือ จันทราและกุสุมา สำหรับจันทรา หากลองนึกว่าเธอเป็นคนจริงๆ เป็นเจ้าหญิง รักกับพระเอกมาก่อนตั้งแต่เขายังเป็นเพียงลูกแม่นม ยอมให้จะเด็ดมีกุสุมาก็แล้ว ยังต้องเข้าพิธีพร้อมกับศัตรูหัวใจที่ผ่านการมีสามีมาแล้วหรือ หากมองในมุมกุสุมา ก็ใช่ว่าจะได้เปรียบจันทรา เพราะเธอไม่มีสิทธิเลือกเลย ฐานะของกุสุมาไม่ได้ด้อยกว่าจันทรา จะเสียตรงที่มาที่หลัง แล้วยังผ่านการมีสามีมาแล้วซึ่งมาจากถูกข่มขืน หากไม่เข้าพิธีพร้อมกับจันทรา สถานะของเธอคือชายารองทันที เจ้าหญิงที่มีศักดิ์เท่ากันกลับต้องมารองอีกคน เราเห็นใจทั้งคู่ที่ต้องมารักอิบ้านี่ แต่ถ้ามองในบริบทสังคม คนสมัยนี้นั้นมองกว่าผู้ชายมีมากเมียนั้นปกติ ยิ่งมียศศักดิ์ยิ่งมาก แต่ถ้าไม่รักในยศและฐานะของอีกฝ่าย คนเราจะอยากให้คนรักมีคนอื่นในใจนอกจากตัวเองอีกเหรอ
ทำไมคนอ่านจึงรักจันทรามากกว่า คงเป็นเพราะหนึ่ง มาก่อน สอง บริสุทธิ์ และสาม อุปนิสัยเย็นสุขุม ถึงขนาดมีเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งมาหายาขอบ ให้เปลี่ยนบทตรงนี้ซะ ทำอย่างไรก็ได้ให้จันทราแต่งก่อน ยาขอบจำต้องเปลี่ยนบทตรงนี้ตามคำขอที่ว่า ทำบุญให้คนแก่เถิด มันน่าเศร้านะ เมื่อเราเจอบทความที่เล่าเรื่องการเปลี่ยนบทตรงนี้ เพราะคนที่ตัดสินกุสุมา ชังกุสุมา และให้ค่าเธอน้อยกว่าตัวละครหญิงคนอื่นเพียงแค่เพราะเธอเสียบริสุทธิ์จากการไม่เต็มใจ นักอ่านที่ถึงกับมาขอยาขอบถึงขนาดนี้ คือ “ผู้หญิง”
ความน่ากลัวของการอบรวมสั่งสอนด้วยกรอบความคิดปิตาธิปไตย ทำให้แม้แต่ผู้หญิงก็ยังตีราคาตัวเองราวกับสิ่งของ ตัดสินราคาหญิงอื่น นักอ่านผู้สูงศักดิ์คนนั้นไม่ผิดเหรอก เธอเพียงแค่ถูกสอนมาแบบนั้นเอง พอถึงตรงนี้ เราอดสงสัยไม่ได้ว่า กุสุมาทำผิดอะไร ทั้งสอพินยาและจะเด็ดต่างเอาแต่ใจใช้กลและกำลังให้ได้เธอทั้งคู่ ถูกนินทาว่าเป็นคนสองผัว พอจะแต่งก็ต้องหนีงานเพราะแม่ผัวชัง (แม่จะเด็ดเป็นแม่นมของมังตราและจันทรา ย่อมรักจันทราเหมือนลูกและเข้าข้างจันทรามากกว่า)
ในนิยายผู้ชนะสิบทิศ มีหญิงนางหนึ่งที่ไม่ยอมถือว่าการจับเนื้อต้องตัวของจะเด็ดทำให้เธอตกเป็นของเขา คือ โชอั้ว เธอเป็นลูกสาวขุนนางแปร และเคียดแค้นจะเด็ดมาก หญิงสาวจึงมักแสดงท่าทีขบถต่อชายหนุ่ม จะเด็ดคิดว่าการปราบด้วยการถูกกอดและหอมแก้มจะสะกดไฟแค้นนั้น ตรงกันข้าม โชอั้วไม่ได้อ่อนไหวต่อรสสัมผัสเช่นคนอื่น แม้จะมีเอนเอียงอยู่บ้างตามประเพณีที่ผู้หญิงถือตัวมาก โชอั้วสนิทกับนอเทตยา (ลูกพี่ลูกน้องของกุสุมา) ที่กำลังเศร้าเพราะจะเด็ดไม่กล้ามาหาเนื่องจากกลัวกุสุมาหึง ในตอนนั้น กุสุมาทุกข์ใจเรื่องจันทราแล้ว ยังเห็นจะเด็ดเจ้าชู้กับลูกพี่ลูกน้องตัวเองอีก ย่อมไม่พอใจเป็นธรรมดา โชอั้วอยู่ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ บวกกับความแค้นไม่ชอบเจ้าหนุ่ม ความหวั่นไหวของโชอั้วที่มีต่อชายหนุ่มจึงไม่รุนแรงเท่าตัวละครอื่น เธอเป็นตัวละครหญิงที่ไม่ยอมต่อเพศชาย จะเด็ดไม่ชอบเท่าไหร่นัก ด้วยนิสัยแบบนี้ ท่านผู้เขียนกลับถ่ายทอดให้เธอเป็นคนไม่น่ารักในสายตาจะเด็ด ตอนหลังจึงถูกจะเด็ดหลอกล่อมาเป็นสนมของมังตราอีกด้วย แม้หลังจากนั้น โชอั้วจะเป็นเมียคนเดียวที่รักมังตราด้วยใจจริง แต่ก่อนจะรักกันก็ยังมีโมเม้นสวรรค์เบี่ยง ตบจูบนำมา เรียกว่า แม้แต่โชอั้วยังหลีกหนีความรุนแรงและการตีตราจองไม่พ้น
เราบอกตรงๆว่าอ่านแล้วไม่อินกับหลักการเหตุผลที่แสนย้อนแย้งของพระเอกเวลาหว่านล้อมสาวเท่าไหร่ แต่ขณะเดียวกัน มันคงเป็นธรรมชาติของความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา คือสอนอีกอย่าง นำเสนออีกอย่าง โดยเฉพาะกับการนำตัวละครผู้หญิงมาแย่งชิงพระเอกที่มากรักในหลายๆเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศนำเสนอความย้อนแย้งอีกมากมาย ตามที่จะกล่าวต่อไปหลังจากพูดถึง ปอละเตียง
หากวิเคราะห์ตัวละครหญิงในผู้ชนะสิบทิศ คนที่เหมือนจะเจ็บปวดแต่สุดท้ายแล้วกลับโชคดีที่สุดในเรื่องคือ ปอละเตียง เธอมีมีน้องสาวชื่อ เชงสอบู ทั้งสองเป็นพี่น้องชาวหงสาและทรยศบ้านเมืองเพื่อช่วยจะเด็ด จะเด็ดจีบไว้ใช้ทั้งคู่ แต่จะเอ็นดูเชงสอบูมากกว่าเพราะซื่อกว่าคนพี่ ปอละเตียงนั้นฉลาดและช่างสังเกต (มาแพ้คารมพระเอก) ด้วยความหัวไว จึงกุมใจจะเด็ดไม่ได้เพราะฉลาดเกิน ทั้งๆที่อุตส่าห์จากบ้านและครอบครัวตามเขามา สุดท้ายถูกจะเด็ดเล่นกลให้ตบแต่งกับจาเล็งกะโบ เพื่อนสนิทของตัวเองแทน ตอนแรก จะเด็ดคิดโละทั้งสองพี่น้องให้กับเพื่อนตน ให้เชงสอบูคู่กับสีอ่อง แต่เชงสอบูขอรับใช้จะเด็ดต่อ ด้วยความเอ็นดูจึงเก็บไว้ ส่วนปอละเตียงจะให้ได้กับจาเล็งกะโบโดยไม่ถามก่อนเหมือนตอนถามเชงสอบู เชงสอบูย่อมดีใจสิ ตัดหญิงไปได้คนหนึ่ง นายกองช้างอย่างจะเล็งกะโบถือเป็นแม่ทัพหลักคนหนึ่งที่มียศน่ายกย่องและเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ปอละเตียงจึงถูกจับผลัดจับผลูให้แต่งกับจาเล็งกะโบแบบงงๆ ไม่ทันตั้งตัว (ถามชั้นสักคำไหม เธอคงคิด) แต่โชคดีในโชคร้าย จาเล็งกะโบอาจไม่หล่อแบบจะเด็ด แต่รักเดียวใจเดียวและมีใจให้ปอละเตียงมาก่อน เมื่อปอละเตียงปลงใจกับนายกองช้าง จึงกลายเป็นหญิงที่มีความสุขที่สุด มากกว่าพวกกินน้ำใต้ศอกทั้งหลายที่ได้กับพระเอก
ยังมีตัวละครหญิงอีกมากมายที่ถูกแต่งเพื่อนอวยจะเด็ดจนเวอร์เกิน ทั้งกันทิมาที่ถูกจะเด็ดหยอดจนรักปักใจ ก่อนที่จะเด็ดจะสละกันทิมาให้เนงบา ตัวเองกลับชิงจีบนางก่อนเพราะเสียดายและรู้ว่าสาวก็มีใจอยู่ คือถ้าสาวคนใดรักเขาเนี่ย ฮีจะรับรักหมด กรณีกันทิมาคล้ายกับเมื่อครั้งจะเด็ดหว่านล้อมนันทวดี เมื่อทราบว่ามังตรารักนันทวดี จะเด็ดก็ขอให้นางเลือกมังตราโดยจูบลาไว้ ส่วนกันทิมา พระเอกพร่ำรำพันรักกับนาง หึงหวงนาง แต่สุดท้ายตลบหลังว่า ไปรักกับเนงบาเถอะ เพราะเนงบากับเราสนิทกัน เราเลยครองรักกันไม่ได้ เอ้า แล้วมุงจีบกันทิมาทำไมแว๊ถ้ารู้ตั้งแต่แรก จนถึงตอนท้าย เมื่อครั้งที่จะเด็ดทำสงครามกับยะไข่ และมังตราสิ้น กรุงหงสาถูกยึด นันทวดีตกเป็นสนมของสมิงสอตุด กันทิมาถูกใช้ให้ไปแจ้งข่าวกับจะเด็ด (นางเป็นม้าเร็วของทั้งจันทราและนันทวดี รวมทั้งยังรบเป็น) พอจะเด็ดทราบเรื่องว่ามังตราสิ้นและเมืองถูกยึด แถมนันทวดียังกลายเป็นสนมคนทรยศ กันทิมารับเคราะห์ถูกต่อว่าเต็มๆว่าทิ้งพระแม่หลวง แถมยังเอาเรื่องเนงบามากลับมาต่อว่าอีก (เพราะใคร อิเวร) นางน้อยใจว่าทำอะไรก็ไม่ดีจึงผูกคอตาย พอเราอ่านถึงชะตากรรมของกันทิมาที่ยาขอบวางไว้ เข้าใจว่าเป็นการเสริมภาพให้เห็นถึงตัวละครหญิงที่ยอมบูชารักเพื่อพระเอก
ยังมีตัวละครอีกมากมายที่ถูกสร้างให้ง่ายกับพระเอก โดยเฉพาะ ทั้งที่เก็บเนื้อเก็บตัวและหยิ่งในศักดิ์ศรีในตอนแรก ตอบสนองต่อประโยคที่เรากล่าวนำไว้ว่า จงรักนวลสงวนตัว แต่กับพระเอกไม่ต้อง อย่างตะละแม่มินบู เธอครองรักกับพระเจ้าหงสามาตั้งนานและไม่เคยมีสนมให้เคืองใจ เมื่อพระเจ้าหงสาพ่ายแพ้และถูกสังหาร ตัวเองตกเป็นเชลยจะถูกส่งตัวให้กับมังตรา จะเด็ดเห็นโฉมก็หยอดเหมือนเดิม แต่กะจะหยอดให้รักตัวเองแล้วค่อยส่งต่อมังตรา เป็นแผนการที่จะเด็ดคิดว่าตะละแม่จะยอมเป็นเมียมังตราแน่ๆ แต่ขอโทษเถอะ อ่านแล้ว ....คิดได้เนอะ
ประเด็นคือ เหตุใดยาขอบถึงให้ภาพหญิงที่มีศักดิ์ขนาดนี้ พอถูกหนุ่มรุ่นน้องแถมเป็นศัตรูป้อเข้าหน่อยก็มอบใจให้แล้ว พอรู้ว่าตัวเองต้องตกเป็นของมังตราคิดจะกระโดดน้ำตายเพื่อบูชารักที่มีต่อจะเด็ด ทั้งๆที่รู้จักกันไม่กี่วัน มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่เลย ทั้งยังเพิ่งเสียสามี เสียเมือง ทำไมยอมมาเป็นชายารองให้กับพระพี่เขยของมังตรา แล้วหนำซ้ำ ยังเป็นชายารองจากกุสุมาที่เคยเป็นน้องสะใภ้ตัว ถ้าตัวละครหญิงสะบั้นรักพระเอกไปหาคนอื่น ตัวละครหญิงนั้นจะผิดทันที แต่ถ้าสะบั้นรักเก่ามาหาพระเอก กลับเป็นการนำเสนอความใจกว้างของพระเอกแทน นี่คือการเอาไม่เลือกแต่ถูกต้องเพราะเป็นพระเอกในขนบใช่หรือไม่ ย้อนแย้งอีกแล้วสินะ
ถ้าเรายกตัวอย่างหรือนำเสนอตัวละครเกือบทุกตัว มันจะเป็นบทความที่ยาวมากๆ แต่แค่นี้คงเห็นพอสมควร ว่าผลของความคิดแบบปิตาธิปไตยส่งผลต่อคนอ่าน หรือคนในสังคมอย่างไร ทั้งยังความย้อนแย้งที่มักนำมาใช้สำหรับตัวละครเอก เพื่อให้คงความถูกต้องและศีลธรรมอันดีแบบพิสดาร แต่คนอ่านยอมรับได้เหมือนเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับการที่นักอ่านผู้หญิงมาขอให้ยาขอบเปลี่ยนบทนั่นแหละ เป็นเพราะถูกหล่อหลอมจนแม้แต่ผู้หญิงเองไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ แต่กลับคล้อยตามยอมรับค่านิยมมาตีค่าตัวเองและคนอื่นไปด้วย
นำมาจากบทความ เมื่อได้อ่านผู้ชนะสิบทิศ ลงใน Page Jesjournal

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น