พึงมอบความรักความสุขใจให้ตัวเองก่อน แล้วจึงแบ่งปันให้ผู้อื่น
เขียนโดย
littletree
เราก็จะพูดให้คนอื่นฟังเช่นนั้น
เราไม่ชอบถูกนินทา ไม่ชอบถูกด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคายเช่นไร
เราก็จะไม่ทำกับคนอื่นเช่นนั้น
ความรักจึงเริ่มจากตัวเองก่อนที่จะเผื่อแผ่ไปยังผู้อื่น
เมื่อรู้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเอง เราจึงคิดแบ่งปันสิ่งนั้นให้ผู้อื่น
เราจะมอบความรักและสิ่งที่มีคุณค่าให้กับคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อ
เรารู้จัก “รัก” และมอบสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่ตนเอง
แต่เรารู้จริงๆ หรือว่าอะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าแก่ตัวเองอย่างแท้จริง...
เราอาจจะคิดว่าตัวเองจะมีความสุขก็ต่อเมื่อร่ำรวย มีชื่อเสียง เป็นที่รัก
มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือฐานะทางสังคมที่ดี
แต่สิ่งเหล่านั้นสามารถมอบความสุขให้เราได้จริงๆ หรือ...
เราเชื่อว่าถ้าตัวเองร่ำรวย มีเงินมีทอง มีฐานะมั่นคงก็จะมีความสุข
เพราะเงินสามารถซื้อความสะดวกสบายได้
เงินทำให้เราซื้อสิ่งของมากมายที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดได้
จริงอยู่ ที่เราอาจจะมีความสุขเมื่อได้กินอาหารที่อร่อย...
จริงอยู่ ที่เราอาจจะมีความสุขเมื่อได้นอนบนที่นอนนุ่มๆ แอร์เย็นๆ ...
แต่เพื่อนๆ ลองคิดดูนะครับ
ถ้าวันไหนเราไปทำอะไรไม่ดีมาแล้วต้องกังวลร้อนใจ
เช่นมีเรื่องโกหกปิดบังพ่อแม่ ผิดใจกับเพื่อนที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน
หนักเข้าหน่อยก็แอบยักยอกเงินบริษัท ฉ้อราษฎร์บังหลวง
หรือลักขโมยของคนอื่นแล้วกลัวว่าสักวันจะถูกเปิดโปง ฯลฯ
ต่อให้ได้กินอาหารที่อร่อยระดับกุ๊กเทวดาเหาะลงมาทำก็ไม่ช่วยให้จิตใจเบิกบาน
ต่อให้ได้นอนบนที่นอนที่นุ่มราวกับปุยเมฆก็ไม่ช่วยให้เรานอนหลับสบาย
ทั้งนี้เพราะความสบายใจที่แท้จริงของเราไม่ได้อยู่ที่
"ความสุขทางกาย" "ลาภ" (เงินทองทรัพย์สมบัติ)
"ยศ" (ตำแหน่งหน้าที่การงาน) หรือ
"สรรเสริญ" (ชื่อเสียง คำชม ความนิยม เกียรติยศ)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ทำกรรมใดแล้วร้อนใจภายหลัง กรรมที่ทำแล้วนั้นไม่ดี”
เราจะมีใจเป็นปรกติไม่ทุกข์ร้อนก็ต่อเมื่อเราไม่ได้
"คิด" "พูด" หรือ "ทำ" สิ่งใดที่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
เราจะพบความสุขที่แท้จริงก็ต่อเมื่อ
มีใจที่ไม่หวั่นไหวแม้เผชิญความทุกข์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ และนินทา
ทรัพย์สมบัตินั้นอาจช่วยมอบความสะดวกสบายให้เรา
แต่มันไม่สามารถมอบความสุขใจที่ยั่งยืนให้แก่เราได้
ตำแหน่งหน้าที่การงานก็เป็นเพียงหัวโขนที่เขาสมมุติให้เราเป็น
(แต่ก็แน่นอนว่าเราต้องรับผิดชอบให้ตามตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ
เช่นเป็น "พ่อที่ดี" ของลูก
เป็น "สามีที่ดี" ของภรรยา
เป็น "หัวหน้า" ของลูกน้อง ฯลฯ)
ความนิยมชมชอบและสรรเสริญก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปบังคับใจทุกคนได้
ไม่มีใครไม่เคยถูกนินทาและไม่มีใครไม่เคยทำเช่นนั้นกับคนอื่น
แม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งดีพร้อมทุกอย่าง
ยังมีคนเกลียด มีคนนินทา และถูกใส่ร้ายป้ายสี
ความสบาย ลาภ ยศ สรรเสริญ จึงเป็นสิ่งที่เมื่อ "มีได้" ก็ "มีเสื่อม"
คนที่ดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งเหล่านี้...
คนที่มัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านี้...
คนที่หวาดกลัวว่าจะสูญเสียสิ่งเหล่านี้...
จึงไม่พ้นต้องเป็นทุกข์ กระวนกระวายใจอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
หากเราเรียนหนังสือหรือทำงานโดยมี "เป้าหมายหลัก"
ที่จะมีแสวงหาความสบาย ลาภ ยศ สรรเสริญนั้น
ถือเป็นความพยายามเพื่อสิ่งที่มีคุณค่าน้อยจนน่าเสียดาย
อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่า
ผมสนับสนุนให้เพื่อนๆ เป็นคนขี้เกียจ ไม่หนักเอาเบาสู้
หรือไร้ความตั้งใจนะครับ (- -")
ตรงกันข้ามเราควรจะมีความเพียร มุ่งมั่นตั้งใจเรียนและทำงานให้ดีที่สุด
เพื่อที่จะพัฒนาตนเอง ยกระดับจิตใจของตนเอง
หากเรามองว่าการทำงาน และปัญหาต่างๆ ที่เข้ามา
เป็นบททดสอบที่เราต้องฝ่าฟัน
การทำงานย่อมเป็นการฝึกให้เรารู้จัก
"อดทน" "เพียรพยายาม" "มีระเบียบวินัย" "เสียสละ" "กล้าหาญ"
"ให้อภัย" "มีสติ" "มีไหวพริบ" และ "ใช้ปัญญา"
คุณธรรมเหล่านี้เป็นสมบัติที่จะติดตัวเราไป
และใครก็พรากมันไปจากเราไม่ได้
แต่สิ่งเหล่านี้ก็สามารถเสื่อมได้เช่นกัน
หากเราไม่หมั่นฝึกฝนให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
"ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม"
หากเราหมั่นเจริญสติคอยรู้ตัว เจริญปัญญาคอยรู้คิดพิจารณา
รวมถึงฝึกฝนคุณธรรมด้านอื่นๆ จนเป็นนิสัยฝังอยู่ในสันดาน
คุณธรรมเหล่านี้ย่อมช่วยให้เรามีความสบายใจทั้งในปัจจุบัน และวันต่อๆ ไป
ตรงกันข้ามกับลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งเป็นทรัพย์ภายนอก
ที่เราควบคุมเหตุปัจจัยได้เพียงบางส่วน
เมื่อใดที่หมดบุญเก่า (เช่นตาย) เมื่อใดที่บาปเก่าตามทันและให้ผล
เมื่อนั้นเราต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้
หากเรามีความอดทน เมื่อเผชิญกับวิกฤตต่างๆ
เราจะมีความหนักแน่นและรับมือกับมันได้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง
หากเรามีความเพียร ไม่ว่าทำอะไรก็จะไม่ท้อหรือเลิกกลางกัน
แต่จะทำจนกว่าจะสำเร็จลุล่วง
หากเรามีใจรู้จักเสียสละ เราจะไม่รู้สึกเสียดายหรือมีความทุกข์มากนัก
เมื่อถึงคราวต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
หากเรามีสติปัญญา ก็จะรู้จักปล่อยวาง
และสามารถหาทางออกที่เหมาะสมกับแต่ละปัญหาได้
ทั้งการเรียนและการทำงาน สิ่งสำคัญที่สุดจึงไม่ได้อยู่ที่ “ทำงานอะไร”
(เว้นแต่งานที่เป็นมิจฉาชีพ และอาชีพที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงแนะนำนะครับ - -)
แต่อยู่ที่ “ทำงานอย่างไร”
การที่เราไม่เข้างานสาย ไม่เลิกก่อนเวลา ส่งงานให้ทันตามกำหนด
เป็นการฝึกระเบียบวินัย
การทำงานโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นงานที่ชอบหรือไม่ชอบ ลำบากหรือไม่ลำบาก
และมุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย
เป็นการฝึกความอดทนและความเพียร
การรู้จักสละเวลาแรงกายแรงใจเพื่อช่วยผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
การแบ่งปันเงินที่ได้มาจากน้ำพักน้ำของเราเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
เป็นการฝึกความเสียสละ
การรู้จักวางแผน รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
รู้จักพิจารณาโทษและประโยชน์จากสิ่งต่างๆ
เป็นการฝึกไหวพริบและสติปัญญา
หากมองเช่นนี้การทำงานก็คือการเอาชนะตัวเอง
เป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้เจริญยิ่งขึ้นไปวันละนิด
ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยความเพียรและความอดทนจะหวังผลที่ลัดสั้นไม่ได้
ร่างกายของเราสามารถแข็งแกร่งขึ้นได้ด้วยการออกกำลังกายฉันใด
จิตใจของเราก็เข้มแข็งขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนฉันนั้น
... ... ...
โลกทุกวันนี้หมุนไปเร็ว และเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ผู้คนต่างแก่งแย่งแข่งขันชิงดีชิงเด่นเพื่อที่จะเหนือกว่าคนอื่น
หากวิ่งตามโลก เราจะไม่มีวันได้หยุดพัก
เราจะไม่มีวันพบความสบายใจอย่างแท้จริง
(บางคนเรียนจบด็อกเตอร์ บางคนเป็นเจ้าของกิจการมีเงินมหาศาลแต่ก็ยังไม่มีความสุขอยู่ดี)
แล้วเราจะวิ่งตามโลกไปเพื่ออะไร... เพื่อใคร...
ทั้งที่ความสุขไม่ใช่สิ่งที่หายากขนาดนั้น
หากรู้สึกเหนื่อย... จะหยุดพักบ้างเป็นไร
หากวิ่งไม่ไหว... จะเดินเอาก็ได้
เวลาที่เราวิ่งมาเหนื่อยๆ ขอแค่ได้นั่งลงใต้ร่มไม้ที่มีลมพัดเย็นๆ
มีน้ำเย็นๆ ให้ดื่ม แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว
อาหารจะอร่อยก็ต่อเมื่อท้องหิว...
เราจะนอนหลับสนิทเมื่อเพลียและง่วงนอน...
หากรู้จักเอะใจสักนิด ความสุขในชีวิตประจำ
ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลตัวขนาดต้องดิ้นรนไขว่คว้า
เพียงเรารู้จักที่จะปล่อยวาง... หยุดพัก... หยุดวิ่งตามโลก...
แล้วเราจะรู้ว่าความสุขนี้อยู่ใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง
เพียงหลับตาสูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วหายใจออกยาวๆ
เท่านี้จิตใจของเราก็จะรู้สึกปลอดโปร่งแช่มชื่นขึ้นมาทันที
การเติมความสุขเล็กๆ ให้กับชีวิตในแต่ละวัน
รู้จักให้รางวัลกับตัวเองตามสมควรแก่ฐานะก็สำคัญ
หากเราไม่มีความสุขกายสบายใจเลย
ก็ย่อมไม่มีกำลังใจจะทำความดี และรักษาความดีไว้
... ... ...
ใครที่อยากได้ในสิ่งซึ่งตนยังไม่มี ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมี
หรือหวาดกลัวที่จะสูญเสียสิ่งที่มีอยู่
มากเสียจนเกินพอดี
ไม่มีสติปัญญาคอยรู้ คอยพิจารณาแยกแยะ
นอกจากตัวเขาเองจะเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อนใจแล้ว
ย่อมก่อปัญหาให้คนรอบข้าง
ทำให้คนรอบข้างพลอยทุกข์ร้อนไม่สบายใจไปด้วย
เพราะจิตใจของเขาแห้งผาก มีแต่ความกระสับกระส่ายเร่าร้อน
คนเช่นนี้แม้จะมอบความสุขความสบายแก่ผู้อื่นได้
ด้วยการแบ่งปันทรัพย์สินเงินทองหรือผลประโยชน์อื่นๆ
แต่เขาก็ไม่สามารถทำให้ผู้อื่น โดยเฉพาะคนใกล้ตัวมีความสบายใจได้เลย
เมื่อเงินทองหรือฐานะตำแหน่งสูญไป
แม้แต่คนใกล้ชิดก็อาจจะไม่อยากเข้าใกล้
ตรงกันข้ามกับบุคคลที่มีความสุข ความพอใจจากข้างใน
จิตใจของเขาชื่นบาน และสงบร่มเย็น เต็มไปด้วยความเมตตา
สามารถเติมเต็มจิตใจของผู้อื่น ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเกิดความสบายใจ
เช่นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
แม้ไม่มีทรัพย์สินหรือตำแหน่งจะมอบให้ แต่ผู้คนก็กราบไหว้นับถือ
พร้อมจะมอบเงินทองสิ่งของให้ด้วยความเต็มใจ
เพื่อให้ท่านได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
เราในฐานะฆราวาส แม้มิได้เป็นนักบวช (ผู้ฝึกตน)
ก็สามารถเจริญคุณธรรมต่างๆ ให้เพิ่มพูนขึ้นในจิตใจ
และมอบความรักและความสุขให้กับคนที่อยู่รอบๆ ตัวได้เช่นกัน
ขอเพียงเรารู้จักที่จะ “รัก”
และทำให้ตัวเองมีความสุขความสบายจากภายในเสียก่อน
แจ้ง Blog ไม่เหมาะสม
28 ก.พ. 53
815
1
ความคิดเห็น
lฮอๆๆๆๆๆๆก็แค่ขำๆ