lyradin
ดู Blog ทั้งหมด

ทำไมถึงยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะเป็น "คนดี"

เขียนโดย lyradin

ทำไมถึงยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะเป็น "คนดี" :::::

 

ปัญหาของการบอกว่าคนคนหนึ่งเป็นคนดีหรือเปล่า ก็คือมาตรฐานการตัดสินนั้นซับซ้อนมาก และน่าสับสนกว่าการตัดสินสิ่งของอื่นๆ 
เวลาถามว่า คนดีคืออะไร เราไม่เคยได้คำตอบที่เหมือนกัน นี่เป็นเพราะอะไร?


 

ลองคิดถึงของที่ง่าย ๆ ก่อน เช่น กรรไกร
กรรไกรที่ดีคืออะไร? ก็คือกรรไกรที่ตัดกระดาษขาดเรียบ ควบคุมง่าย ทนทาน ทำตามจุดประสงค์ของการมีกรรไกรได้
กระติกน้ำที่ดีล่ะ? ก็กระติกที่ปิดสนิท ฉนวนเก็บความร้อนความเย็นได้ ผลิตจากวัสดุปลอดภัยไม่ปนเปื้อนลงน้ำ รูปทรงเหมาะมือถือถนัด
ของพวกนี้ ทุกคนฟังแล้วพยักหน้าตามไปได้ เราเข้าใจได้ร่วมกัน ว่ามาตรฐานของสิ่งของพวกนี้คืออะไร


 

เอาล่ะ ทีนี้มาลองของที่ยากขึ้นมาหน่อย
เช่น นิยาย
นิยายที่ดีเป็นอย่างไร?
บางทีอาจจะสร้างเพื่อความสนุก บันเทิง ผ่อนคลายจิตใจ ให้คนได้หนีจากโลกความจริง
บางทีอาจจะสร้างเพื่อแสดงลำดับเหตุการณ์ที่ลึกลับซับซ้อน ชิงไหวชิงพริบ 
บางทีอาจจะสร้างเพื่อสะท้อนเผยแพร่แนวคิดใหม่ๆ สนับสนุนการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม แบบใดแบบหนึ่ง
คำตอบมันยากขึ้น เพราะเราเริ่มจะไม่แน่ใจ 'จุดประสงค์' ของการแต่งนิยายในตัวมันเองเสียแล้ว 
เรารู้แค่ว่า นี่เป็นเรื่องผีที่ดี(คือทำเราสยองตกใจได้) นี่เป็นเรื่องตลกที่ดี(ทำเราหัวเราะได้) นี่เป็นเรื่องล้อเลียนการเมืองที่ดี(เสียดสีได้มีเหตุผลและชั้นเชิง)
แต่ นิยาย เฉยๆ เราไม่แน่ใจว่ามันมีหน้าที่อะไร คนทุกคนคาดหวังอะไรจากมันบ้าง


 

ในชีวิตปกติเวลาเราบอกว่าใคร "ดี" เรามักจะหมายถึงว่า เขาทำได้ตรงตามมาตรฐานบทบาทหน้าที่ที่มีผลกับเรา
ถ้าเป็นเราเป็นรัฐบาล เราบอกว่าสังคมต้องการคนดี ก็แปลว่าเราต้องการพลเมืองดี ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ
ถ้าเราเป็นหญิงโสดที่กำลังหาคู่สมรส เราบอกว่าเราต้องการคนดี ก็แปลว่าเราต้องการผู้ชายที่รักและภักดีกับเรา นิสัยความคิดความเป็นอยู่เข้ากับเรา เราสามารถดูแลทำให้เขาพอใจได้และในทางกลับกันด้วย นอกจากนี้ถือว่า ไม่ดี
บ่อยครั้ง ลักษณะอันเดียวกันก็อาจจะถือว่าทั้งดีและไม่ดี อยู่ที่ส่งผลกับใคร เช่น "คนคนนี้เป็นเจ้านายที่ดี แต่เป็นลูกน้องที่ไม่ดี"


 

ดังนั้น เราจะเห็นว่าการตัดสินคนมีปัญหาในทำนองเดียวกับการตัดสินนิยาย
เหตุผลคือ เราต่างไม่แน่ใจว่า มาตรฐานของมนุษย์คืออะไร มนุษย์มีจุดประสงค์ในตัวเองเพื่ออะไร ก็เลยติ๊กลง checklist ไม่ค่อยถูก ว่าเราทำหน้าที่ได้ครบถ้วนไหม
ทั้งหมดนี้คือการกลับไปสู่คำถามอมตะที่ว่า "คนเราเกิดมาทำไม"


 

บางคนหาคำตอบจากศาสนา แต่รู้สึกว่าสำเร็จรูปเกินไป ไม่สอดคล้องกับชีวิต (ข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่คนชอบบ่นว่า ศาสนาโลกที่เรามีอยู่มันหลายพันปีทั้งนั้น โบราณเกินไปไหม ทำไมไม่มีศาสนาใหม่ๆที่เหมาะกับชีวิตปัจจุบันบ้าง แต่นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง และก็แสดงความสัมพัทธ์อีกเหมือนกัน) นอกจากนี้ แต่ละศาสนาก็มีข้อเสนอไม่เหมือนกัน มนุษย์ควรเลือกเชื่อฟังใคร
บางคนมองว่ามาตรวัดคือความเห็นชอบจากสังคมคนหมู่มาก ก็หนังดีๆมักจะมีคนชื่นชอบประทับใจหลายคน เป็นที่ยกย่องผ่านยุคสมัยไม่เสื่อมคลายไม่ใช่หรือ ดังนั้น คนดีก็น่าจะเป็นคนที่ได้รับการสรรเสริญยกย่องมาเป็นเวลานาน ฟังดูเหมือนประชามติ ประชาธิปไตยสุดๆ แต่ทำไมมันถึงขัดความรู้สึกอีกแล้ว


 

เหตุผลน่าจะเพราะ ในใจเราใฝ่หามาตรวัดคนดีที่ "ถูกต้อง เป็นข้อเท็จจริง ใช้ได้แน่นอนตลอดกาล"


เรามักจะงงที่มีศาสนาเยอะๆ มาสอนสิ่งที่ขัดแย้งกันแก่เรา โดยที่ทุกฝ่ายอ้างตัวเหมือนกันหมดว่าเป็นคนดี เราโหยหาอะไรที่มากกว่าความคิดของคนโบราณแต่ละสำนัก ซึ่งเราบังเอิญถูกป้อนใส่หัวมาตั้งแต่เล็ก แล้วแต่ว่าเกิดในภูมิภาค/วัฒนธรรมไหน
เราไม่ชอบที่นิยามคนดีสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความคิดเห็นของผู้คนจำนวนมาก เหมือนกับว่าเราต้องคอยนับโหวตอยู่เรื่อย ๆ และใช้ชีวิตเพื่อให้ผู้คนยอมรับพอใจ
ทั้งศาสนาวัฒนธรรม และ ประชามติ ดูสัมพัทธ์เกินไปทั้งนั้น
คงจะยอดเยี่ยม ถ้าชีวิตมีนิยามที่สากล มีจุดประสงค์ในการมีอยู่ชัดเจน เหมือนกรรไกรและกระติกน้ำที่ดี


 

เราสิ้นหวังที่ไม่มีใครสามารถบอกเรา
เราต่างติดแหง็กอยู่ในจักรวาลอันไร้ซึ่งคำตอบ
พอจะคิดคำตอบเอง ก็ต้องไปผจญกับคนนับล้านที่คิดแตกต่าง จนไม่รู้จะอยู่ด้วยกันอย่างไรสงบสุข เพราะการเป็นคนดีดูไม่ใช่แค่ความคิดเห็นธรรมดา ทว่าดูเป็นความจริงที่สำคัญบางอย่าง การตัดสินเรื่องนี้ดูสำคัญกว่าตัดสินนิยายหลายเท่า
แต่สุดท้ายแล้วเรากลับตัดสินไม่ได้ เป็นเองก็ไม่ได้


 

เรากลับเป็นได้แค่ คน เฉยๆ ผู้ไม่รู้ว่าจุดประสงค์ในการมีอยู่ของตัวเองคืออะไรเท่านั้น

 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น