spysky
ดู Blog ทั้งหมด

งานบุญผะเหวด...ในความทรงจำ

เขียนโดย spysky
 บุญผะเหวด เป็นสำเนียงชาวอีสานที่มาจากคำว่า บุญพระเวส หรือ พระเวสสันดร
เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา ตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า
หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เ รื่อง พระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในกรเทศน์ครั้งเดียว ภายในวันเดียว
จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตยโดยบุญผะเหวดนี้จะทำติดต่อกันสามวัน
งานบุญผะเหวดจะจัดขึ้นในเเดือนสี่ของชาวไทย หรือเดือน มีนาคมในปฏิทินสากล 

วันแรก วันเตรียมงานต่างๆที่วัดค่ะ

วันที่สอง วันโฮม กลางวันแห่ขบวนพระเวสสันดร กลางคืนมีหนังฉายหมอลำ

วันที่สาม ฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัดค่ะ
 
ภาพ พระเวสสันดร พระนางมัทรีและกัณหา-ชาลี 

งานบุญผะเหงดเป็นงานใหญ่ประจำปี

ก่อนงานบุญผะเหวดจะมาถึงสิ่งที่จะต้องทำและเตรียมเอาไว้มีตามนี้

อย่างแรกคือ

ข้าวต้มมัด , ข้าวหนม(ขนมเทียน)ไส้หวาน ไส้เค็ม  
 นุชกับแม่จะไปเกี่ยวใบตองที่สวนท่าริมแม่น้ำโขงค่ะเพื่อเอาใบตองมาห่อข้าวต้ม-ข้าวหนม

สวนของเราปลูกต้นกล้วยเอาไว้เยอะ คนอีสานเรียกแม่น้ำโขง ว่า( แม่น้ำของ)

หลังจากเกี่ยวใบตองได้เยอะแล้ว จะเอานำใบตองมาตากแดดเอาไว้ประมาณครึ่งวันค่ะ
อย่าตากนานเกินกว่านี้เดี๋ยวใบตองจะกรอบเกินไป ใช้ห่อข้าวต้มมัดไม่ได้

ญาติๆของเราที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงจะมาช่วยแม่ห่อข้าวต้มมัดและห่อข้าวหนมจ้ะ

สำหรับข้าวต้มข้าวหนมที่ทำไว้จะเอาไปทำบุญไส่บาตรในตอนเช้าของวันบุญ

ข้าวต้มมัดจะหั่นเป็นชิ้นเล็กๆและโรยหน้าด้วยมะพร้าวอ่อน

เพื่อนๆคงเคยทานกันแล้วเนาะ ตามตลาดก็มีขายค่ะลองซื้อมาทานดูนะ



  

 

อย่างที่สองคือ

 ข้าวเขียบ ( ข้าวเกรียบว่าว ในภาษากลาง) นั่นเอง

ก่อนจะมาเป็นข้าวเขียบมีขั้นตอนแบบนี้นะคะ

แช่ข้าวสารไว้ในตอนกลางคืนและตอนเช้าก็เอาข้าวสารที่แช่มานึ่ง

เมื่อนึ่งข้าวสุกแล้วก็นำข้าวนึ่งไปตำค่ะ ครกที่ใช้สำหรับตำข้าวเป็นครกกระเดื่อง

ขนาดของครกตำข้าวสมัยก่อนนั้นใหญ่มากๆดูจากรูปได้เลย
 

 เมื่อก่อนในหมู่บ้านยังไม่มีโรงสีข้าวชาวบ้านจะใช้ครกกระเดื่องนี้ตำข้าวค่ะ

บ้านนุชมีโรงสีข้าวเจ้าแรกของบ้านนาสุขสันต์เชียวนา

การตำข้าวแต่ละครั้งนั้นใช้แรงคนเยอะค่ะ สี่ซ้าห้าคนได้

หลังจากได้ข้าวนึ่งที่ตำละเอียดแล้วเราจะเอามาปั้นเป็นก้อน ๆ

คลึงเป็นแผ่นกลมๆแต่ไม่บางมาก ให้คิดถึงหน้าหน้าข้าวเกรียบว่าวนะคะ

นั่นแหละกลมๆแบบนั้นแหละ 

เสร็จแล้วก็นำไปวางไว้บนเสื่อเพื่อตากแดด เย็นๆถึงจะเก็บข้าวเขียบมาเก็บไว้

ถึงวันบุญผะเหวดจะเอาข้าวเขียบที่ทำไว้มาปิ้งและเอาไปทำบุญตักบาตรที่วัดค่ะ

 

ภาพ ข้าวเขียบ



 

 มาถึงอย่างที่สาม คือ ข้าวปุ้น(ขนมจีน)  

วิธีการทำข้าวปุ้นออกจะสลับซับซ้อนมาก ถ้าจะให้อธิบายคงหลายหน้ากระดาษเลยล่ะ

และที่สำคัญอธิบายไม่เป็นค่ะ ภาพนั้นมีอยู่ในหัวแล้วแต่อธิบายไม่เป็น

 จนใจจะเอามาเล่าให้ฟังจริงๆ เฮ้อ.......หัวอกคนอยากเล่าแต่เขียนไม่เป็น เศร้าๆ

อยากจะจูงมือทุกคนไปทำข้าวปุ้นกินกันที่บ้านนาสุขสันต์นะ

คิดว่าหลายๆคนน่าจะชอบ

ตอนเด็กๆชอบดูผู้ใหญ่เขาทำข้าวปุ้นกันสนุกดีนวดแป้งมันส์มาก

แม่นุชชอบทำขนมจีนน้ำยากะทิค่ะ นุชเลยติดทานน้ำยากะทิมาเด็กๆ

นุชเลยไม่ขอบอกวิธีการทำข้าวปุ้นละกัน เดี๋ยวจะ งง….  ไปกันใหญ่
แค่อธิบายวิธีการทำข้าวเขียบก็แทบเอาตัวไม่รอด
พูดเก่งแต่ไม่ถนัดภาษาเขียนเอาซะเลย


 

 อย่างที่สี่  คือ อาหารการกินเหล้ายาปลาปิ้งค่ะ สำนวนไทยๆว่าอย่างนี้

บ้านนุชอยู่ตรงสี่แยกของหมู่บ้านพอดีเป็นด่านแรกเลยก็ว่าได้

ผู้คนมักจะแวะมากินข้าวบ้านนุชก่อนเสมอๆ

พ่อเลยต้องเตรียมอาหารการกินเอาไว้เยอะเลย
แอบกระซิบพ่อทำเหล้าสาเกเอาไว้กินในงานนี้ด้วยค่ะ
การทำเหล้าสาเก รู้จ้าแต่บอกไม่ได้
เหอๆ

 

 

นี่คือสิ่งของที่ทุกบ้านจะต้องเตรียมเอาไว้ก่อนวันบุญจะมาถึงประมาณ 1-2 วันค่ะ

 

 ********************************

สองสามวันก่อนเริ่มงานบุญบ่าวสาว(หนุ่มสาว)

 จะช่วยกันทำความสะอาดรอบๆบริเวณวัดค่ะ

เอาไว้เวลาชาวบ้านแห่ขบวนพระเวสสันดรจะได้เดินอย่างสะดวกสบาย

ตกกลางคืนสาวๆในหมู่บ้านจะมารวมตัวกันที่วัดเพื่อทำดอกไม้ริบบิ้น

ดอกไม้ริบบิ้นที่ทำกันนั้นเอาไว้ขายให้กับคนที่มาเที่ยวงานบุญค่ะ

และจะขายให้กับคนที่แวะมาทานข้าวที่บ้านเรานั่นเอง

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วล่ะว่า มางานบุญผะเหวดนั้นจะต้องมีดอกไม้จากเจ้าของบ้านมาขายแน่นอนมันเป็นประเพณีค่ะ เจ้าของบ้านจะติดดอกไม้ไว้ที่แขนเสื้อของแขกค่ะ

ฉะนั้น ต้องเตรียมเงินเอาไว้นะคะ ส่วนใครจะให้เงินค่าดอกไม้เท่าไหร่นั้นก็แล้วแต่จิตศรัทธาของแต่ละคน
เงินที่ได้จากการขายดอกไม้จะนำไปถวายวัดจ๊ะ
อิ่มบุญกันทุกคน สาธุ

สำหรับดอกไม้ริบบิ้นต้องทำเอาไว้เยอะค่ะ เพราะบ้านทุกหลังต้องนำดอกไม้ไปขาย

ตอนกลางคืนประตูทางเข้าวัดจะมีสาวๆมายืนขายดอกไม้อีกรอบค่ะ

เพราะบางคนไม่ได้มาเที่ยวงานตอนกลางวัน

 บางคนมีดอกไม้ติดเต็มเสื้อเลยล่ะจ๊ะ หอบบุญกลับบ้านไม่ไหวแน่ๆ สาธุ(อีกรอบ)

คนที่มาเที่ยวงานบุญถ้าเกิดหิวข้าวขึ้นมา

จะแวะทานข้าวบ้านไหนก็แวะได้เลยไม่ต้องเกรงใจ

นุชบอกเอาไว้ตรงนี้เลยค่ะ เดี๋ยวบางคนสงสัยว่า ถ้าเราไม่มีญาติแล้ว เวลาที่เราไปเที่ยวงานบุญ

เกิดหิวข้าวขึ้นมาจะทำยังไง?

  อย่างที่บอกเอาไว้นั่นแหละค่ะงานบุญ

บางครั้งนุชเดินเข้าบ้านตัวเองยังแปลกใจเลย ไหงแขกเต็มบ้านแบบนี้หนอ

ไม่รู้มาจากไหนแต่ก็ชอบนะ….เห็นคนมานั่งกินข้าวต้มข้าวหนมเต็มบ้านแล้วสุขใจ

งานบุญผะเหวดญาติพี่น้องนุชที่อยู่ฝั่งลาวจะข้ามมาเที่ยวด้วยค่ะ

ปู่นุชเป็นคนลาวจ้ะเลยมีญาติฝั่งโน้นเยอะ

 

ก่อนจะถึงงานบุญผะเหวด

ชาวบ้านจะปักธงไว้ตามลานวัดค่ะเป็นสัญลักษณ์ว่างานบุญผะเหวดได้เริ่มขึ้นแล้ว

ชาวบ้านจะพากันมาเตรียมงานต่างๆที่วัดค่ะ ผู้เฒ่าผู้แก่จะทำปลาตะเพียนห้อยเอาไว้ตามต้นเสา

เอาด้ายมาถักเป็นรูปดาวแขวนไว้ตามเสาวัดด้วย

 บนวัดจะมีไปสายสินห้อยระโยงระยางเต็มไปหมด

เสียดายบุญผะเหวดที่เพิ่งผ่านมานุชไม่ได้กลับบ้าน ไม่งั้นละก็คงมีภาพมาให้ดูกัน

ตกบ่ายก่อนวันเริ่มงานบุญผะเหวดชาวบ้านจะตั้งขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองค่ะ

จุดเริ่มต้นของขบวนแห่ก็โน่นเลยทุ่งนาแห่งบ้านนาสุขสันต์ไปจบที่วัดค่ะ

ผู้คนที่ไปร่วมขบวนแห่จะพากันแต่งตัวสวยงาม

ใครมีเสื้อผ้าสวยๆก็งัดมาใส่วันนี้แหละ

ใครมีแคนก็เอาแคนมาเป่า ใครมีพิณก็เอาพิณมาดีด

บอกนิดนึงว่าพ่อนุชเล่นได้ทั้งแคนและพิณค่ะ

พ่อเป็นพระเอกหมอลำเก่าเชียวนา มีกลองยาวก็จะเอากลองยาวมาตีค่ะ

ขบวนแห่พระเวสสันดรก็ คล้ายๆขบวนแห่ขันหมากเจ้าบ่าว

บางคนอุ้มต้นกล้วย ต้นอ้อย อุ้มหมอนอุ้มเสื่อมีการร้องรำทำเพลงไปตลอดการแห่

แต่ละบ้านจะเตรียมน้ำมนต์เอาไว้ที่หน้าบ้านของตัวเองค่ะใช้รดคนในขบวนแห่พระเวสฯ

และเตรียมน้ำหวาน- น้ำเย็นเอาไว้ให้คนดื่มกินด้วยค่ะ เผื่อบางคนร้องเพลงมากแล้วคอแห้ง

ชาวบ้านแห่ไปก็จะเรียกขวัญพระเวสสันดรไป

เป็นการเชิญขวัญพระเวสสันดรเข้าเมือง

ในการแห่นั้นชาวบ้านรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงจะมาร่วมพิธีนี้ด้วยค่ะ

 ทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์และแห่พระเวส

โดยการแห่ผ้าผะเหวด(ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย  ในเรื่องพระมาลัยนี้ จะแสดงให้เห็นถึงที่มาของประเพณีบุญผะเหวด 
นี่ก็คือ กิจกรรมตอนกลางวันที่เรียกว่า วันโฮม   วันที่สองของงานบุญค่ะ
ครั้งหนึ่ง พระเวสสันดรพร้อมพระนางมัทรีและกัณหา-ชาลี เคยถูกขับไล่ออกจากวัง
เลยมีประเพณีเรียกขวัญพระเวสฯ กลับเข้าวังค่ะ



 

    

 กลางคืนจะมี มหรสพสมโภชตลอดทั้งคืนค่ะ

ใช้ศัพท์ซะโก้หรูเชียว เอาง่ายๆเนอะ ก็คือมีหนังกลางแปลงฉายกันยันสว่างนั่นเอง

มีรำวงซึ่งสาวรำวงก็เป็นสาวๆในหมู่บ้านจ๊ะ

 หมู่บ้านนุชจะขึ้นชื่อมากในเรื่องสาวรำวง เพราะหมู่บ้านนี้สาวสวยเยอะค่ะ (ชมหมู่บ้านตัวเอง)

ก่อนจะออกงานก็มีการซ้อมรำวงก่อนหลายคืนค่ะเพื่อให้เต้นพร้อมเพรียงในบางเพลง

 นุชชอบไปนั่งดูสาวๆเขาซ้อมเต้นกันสนุกดี นุชไม่มีโอกาสได้เป็นสาวรำวงหรอกจ้า (แหม..น่าเสียดาย)

เวลาเต้นรำวงอยู่บนเวทีเนี่ยเป็นอะไรที่ม่วนซื่นโฮแซวจริงๆ(สนุกมากๆ) ต้องซับเอาไว้ด้วย

เผื่อบางคนไม่รู้เรื่อง  คอนเสริตป๋าเบริด์ที่ว่าเด็ดสาระตีก็ไม่สู้หรอก

ในความรู้สึกของนุชเองอ่ะนะ …..นุชชอบเต้นแฮะ

 

 

สีสันในตอนกลางคืนนี่สุดๆไปเลยเอาไม่อยู่จริงๆไม่มีแอลกอฮอลส์ในเส้นเลือดสักหยด

แต่มันส์แบบ nonstop

ในงานบุญจะมีร้านค้าขายของมากมายค่ะ

ร้านขายลูกชิ้น ขายส้มตำ ขายน้ำปั่นก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

ถามว่ากินก๋วยเตี๋ยวตอนไหนอร่อยสุด?

ตอบได้เลยว่า ก็งานวัดนี่แหละและต้องหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเต้นรำด้วยนะ

มีร้านขายแตงโมซึ่งแตงโมพ่อค้าจะผ่าเป็นชิ้นๆมาขายค่ะ

 มีลูกเดือยมาขายแต่ไม่มีน้ำเต้าหู้นะและไม่มีปาท่องโก๋ด้วย

มีเม็ดมะขามคั่วมาขายเอาไว้กินเวลาดูหนังกลางแปลง…เคี้ยวเม็ดมะขามคั่วมันส์ดี

สำหรับเม็ดมะขามคั่วไม่แนะนำสำหรับคนฟันไม่ดี..ฟันโยก เพราะอาจจะทำให้ฟันของท่านหักได้

มีพ่อค้าขายลูกโป่งสวรรค์….ลูกโป่งสวรรค์ขาดไม่ได้เลยสำหรับงานวัด

ถ้าเด็กคนไหนมีลูกโป่งมาอวดเพื่อนๆในตอนเช้าของวันถัดมาแสดงว่าเค้าไปเที่ยวงานบุญมาแหละ
 

 *****************************************************************

 

บางปีในตอนกลางคืนจะมีหมอลำเพลินค่ะ หมอลำก็เล่นยันสว่างเหมือนกัน... 
นุชชอบดูหมอลำสุดๆ

พี่ตูน บอดี้สแลม ...มีฝ่อถ้าได้เล่นข้างๆเวทีหมอลำ 

สมัยก่อนหมอลำวงใหญ่ๆราคาไม่แพงเหมือนอย่างทุกวันนี้

 ชาวบ้านพอจะลงขันจ้างหมอลำได้

แต่ตอนนี้ไม่ไหวค่ะราคาหมอลำวงใหญ่ๆหลักแสนทั้งนั้น หมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านเล็กๆเท่านั้นไม่มีเงินจ้างคณะหมอลำวงใหญ่ๆหรอกค่ะ

ชาวบ้านเลยหันไปจ้างหมอลำซิ่งแทน

หมอลำซิ่งไม่แพงค่ะ สองสามหมื่นก็จ้างได้แล้วเล่นสนุกพอๆกับหมอลำวงใหญ่ๆ

หมอลำซิ่งใช้คนแสดง 5-6 คนค่ะ

นุชชอบดูหมอลำซิ่งค่ะ สนุกดี

ว่าไปแล้วสำหรับนุชอะไรๆก็สนุกทั้งนั้นแหละถ้าได้เที่ยวงานในหมู่บ้านของตัวเอง

 

บนศาลาวัดจะมีผู้เฒ่าผู้แก่จากหมู่บ้านอื่นนอนอยู่เต็มวัดเลยค่ะ

ผู้เฒ่าเพิ่น(ท่าน)มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันค่ะ ฟังจนถึงดึกดื่นง่วงก็นอนที่ศาลาวัดนั่นเลย

ตอนเช้าทำบุญใส่บาตรแล้วถึงจะเดินทางกลับบ้านกัน

ผู้เฒ่าบอกเอาไว้ว่าถ้าใครฟังเทศน์ในงานบุญเผะเหวดจนจบเรื่อง                     
ที่พระท่านเทศน์เราจะได้บุญเยอะค่ะ

 สำหรับนุชนั้นเที่ยวงานบุญผะเหวดมาก็หลายปีแล้วไม่เคยฟังเทศน์ฟังธรรมเลย

เฮ้อ เที่ยวอย่างเดียว

งานบูญผะเหวดที่บ้านนาสุขสันต์คนมาเที่ยวเยอะค่ะ

เป็นหมู่บ้านเล็กๆก็จริงแต่น้ำใจมีเยอะค่ะ

 คนมาเที่ยวงานบุญรำลือกันว่า  มาเที่ยวงานบุญบ้านนาสุขสันต์ครั้งใด

สนุกสนานทุกที ท้องตึงกลับบ้านทุกครั้งหน้าตาอิ่มเอิบแบกบุญกลับบ้านไม่หวาดไม่ไหว..สาธุ
 

 

สำหรับงานบุญผะเหวดเป็นงานบุญที่นุชอยากเที่ยวมากที่สุดค่ะ

เที่ยวที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่ากับเที่ยวงานบุญที่บ้านนาสุขสันต์จริงๆ

ออกจะเว่อร์นะ แต่ความรู้สึกมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

มันเป็นความรู้สึกผูกพันกับอดีตที่สนุกสนานนะจ๊ะ

แบบว่า เรานั้นย้อนอดีตกลับไปไม่ได้แล้ว

แต่ความทรงจำที่สนุกสนานก็ยังอยู่ในใจของเราเสมอ

เป็นอย่างไรบ้างคะ งานบุญผะเหวดที่บ้านนาสุขสันต์(ม่วนบ่ = สนุกมั้ย)

หลายคนอยากไปร่วมงานนี้เมื่ออ่านจบตอนนี้ก็น่ายังมีในบางจังหวัด

 อยากพาไปเที่ยวอยู่หรอกนะ ….สักวันหนึ่งเราจะไปด้วยกันจ้า

 

 

 

ลิงเขียว

 

ความคิดเห็น

พี่เคนล์ โกอินเตอร์
อ่านคร่าวๆแล้วม่วนขนาดครับ ไว้ผมมาละเลงแบบเต็มๆอีกทีนะครับ ตอนนี้ต้องลาไปนอนเพราะแสบตาครับ
A.Rays
A.Rays 2 มี.ค. 55 / 19:29
 ห๊ะๆๆๆ 

เหมือนที่บ้านผมเลย ก็มีงานพระเวสสันดร เคยได้เป็น ชาลีด้วย เจอฟาดจริงไปสองสามที อิอิ
แต่บ้านที่ผมอยู่ มันค่อยได้ช่วยกันทำเหมือนบ้านพี่ ก็มีบ้างคนที่จะมา แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ตอนนั้นยังจำได้ หมู่บ้านอยู่หลังวัด ตลอดเทศมหาชาติ ไฟสว่างตลอดเวลา 

อ่านแล้วก็คิดถึงเมื่อตอนเด็กๆ ที่ไปนอนหลับฟังเทศน์มหาชาติ ตอนนี้ไม่รู้ว่าเป็นยังไงแล้ว ห่างจากวัดพอสมควร - - 
พี่เคนล์ โกอินเตอร์

โอ้ย! คิดถึงบ้านนนน... 

ใครหลายๆคนคงต้องร้องแบบนี้ครับเมื่ออ่านที่พี่นุชสุดสวยรวยแฟนเล่าเสร็จแล้ว

สำหรับงาน ผะเหวดนั้น มีอะไรสนุกและน่ารื่นเริงมากๆตามที่อ่านจากหน้านี้

       ผมอ่านถึงตรงที่ว่า ใครหิวข้าวก็แวะกินได้ทุกบ้านนั้นแล้วก็นึกชอบใจจังครับ

คือที่ชอบไม่ใช่ว่าเห็นแก่กินนะครับ  แต่คิดว่า(คึดว่า) นี่คือชีวิตในต่างจังหวัด ซึ่ง

ในเมืองกรุงไม่มีให้เห็นเด็ดขาด แบบว่า ถ้าจะหาน้ำใจ หรือว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ต้องไปหาที่ต่างจังหวัด ที่นั่นจะไม่มีคำว่า “ซื้อขาย” ให้ใครต้องลำบากใจ

เพราะจะมีแต่คำว่า พี่น้องญาติสนิ ทมิตรสหายเท่านั้น

              ใครจะขอข้าวกินอิ่มแค่ไหน เขาก็ไม่ว่า ใครจะขอน้ำดื่ม

ก็ไม่มีใครเก็บค่าน้ำ(ประปา)แก้ว(จุ่มผ่านน้ำไม่ล้าง)ละสองบาทแบบ

ที่ร้านขายอาหารในกรุงฯเด็ดขาด มีแต่จะบอกให้ดื่มให้อิ่ม แล้วจะเปิดตูดจากไปโดยไม่ให้อะไรเลยก็ไม่มีใครหน้าบูด

              มีแต่ยินดีที่มาเยี่ยมยามกันเท่านั้น   นี่แหละคือสิ่งที่ชาวต่างจังหวัดเขามีให้กัน

บล๊อกตอนนี้ของพี่นุชสุดสวย ต้องชมว่า อิ่มบรรยากาศงานบุญ อ่านแล้วได้ยินเสียงคนเซ็งแซ่เดินไปทำบุญที่วัด

ได้กลิ่นข้าวหนม ได้กลิ่นข้าวปุ้นข้าวเขียบ  แล้วก็ได้กลิ่นอาหารที่เขาขายกันในงานวัด รวมถึงบรรยากาศหมอลำซิ่ง ซึ่งผมก็ชอบเช่นกัน กะว่ามีโอกาส หรือว่าแฟนกลับมา จะจ้างมางัน (แสดง)ให้สนุกเลยครับ เนี่ยกำลังรอแฟนกลับ แล้วรอถามแฟนว่าอยากดูคณะไหน แล้วจะรีบแจ้นไปวางมัดจำให้มาแสดงเพื่อให้แฟนหายงอนบ้าง

                 พี่นุชมีคุณพ่อเป็นพระเอกหมอลำ โอ้โห เก่งนะครับ แล้วก็คงหล่อเหมือนผมเนาะ ใครมีพ่อเป็นพระเอกหมอลำเนี่ย นับว่าคุยได้สามบ้านเจ็ดบ้านเลยนะจะบอกให้ ว่างๆเอารูปมาลงแล้วเล่าให้น้องๆ(หล่อ)อย่างผมฟังหน่อยได้ไหมพี่นุช

เขียนบล๊อกแล้วตั้งชื่อประมาณว่า  “ลูกสาวพระเอก” อย่างเนี้ย คงจะสนุก ลงรูปหล่อๆตอนคุณพ่อกำลัง โอละหน่อ...หน้าฮ้านให้ดูด้วยนะครับ

             หมู่บ้านพี่นุชมีแต่คนสวยจริงหรือครับ? แล้วตัวพี่นุชก็คงจะสวยเช่นกันนะผมว่า(ยอไว้ก่อนครับเดี๋ยวไม่เชียร์ผมกับแฟนให้คืนดีกันใช่ไหมครับหมอ)   สาวรำวงในงานบุญนับว่าเป็นการหาเงินเข้าวัด อันนี้ชอบครับ ฟังเพลงรำวงจังหวะสนุกเร้าใจมีความสุขจริงๆ

 

        ส่วนร้านขายแตง(โม) เอามาเขียนไว้ให้ผมคึดฮอดแฟนอีกแล้ว ก็รู้ว่าผมชอบแต่แตง(โม)ยังจะมาย้ำให้ผมชอบชื่อแตง(โม)อีกเหรอคร้าบพี่นุช ใครๆเขาก็รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้วว่าผมบ้าชอบแต่แตง(โม)มาตลอดปีตลอดชาติแล้ว ที่จริงผมน่ะชอบอาหารอีกอย่างนะ แต่พี่ก็ไม่เอามาลงไว้เลย ผมชอบทานก้อยครับ  จะก้อยกุ้ง ก้อยปลา ก้อยอะไรๆก็ชอบก้อยทั้งนั้นครับขอให้เป็นก้อยก็พอใจแล้ว(ใจจริงอยากเขียนอีกชื่อครับแต่กลัวใครบางคนวีน)แต่ผมพยายามลุ้นแล้วลุ้นอีกตอนที่อ่านบล๊อกนี้ ก็ลุ้นไม่ขึ้นว่ามีชื่อ"ก้อย"อยู่เลยเสียใจมากๆ

 

                             ชอบการเขียนแบบใสๆของข้อความที่พี่นุชเขียน

อย่างที่ผมเคยบอก การเขียนของพี่นุช มีเอกลักษณ์ตรงที่ว่า เป็นงานเขียนแบบ “ตรงไปตรงมา ซื่อบริสุทธิ์”

แบบว่า เวลาอ่านจะนึกถึงหน้าคนเขียนว่า กำลังยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ตอนเขียนถึงสิ่งต่างๆนั้น

        จะเขียนถึงอะไร ก็เว้ากันซื่อๆ ไม่มีอ้อมค้อม แต่ทุกๆคำที่เขียนออกมาแล้ว กลับมีเสน่ห์ แล้วก็มีความน่าอ่าน

คืออ่านแล้วสบายใจไงครับ อ่านแล้วสดชื่นออกไปทุกที(อย่ายิ้มมากไปครับปากจะแห้ง)

            อยากขอบคุณพี่นุชที่เขียนเล่าแบ่งปัน(แชร์)ประสบการณ์ ให้กับน้องๆฟัง

แล้วก็ได้รับความรู้ในเรื่องงานบุญของชาวบ้านอย่างรื่นรมณ์สมอุราเสียจริงๆ

แล้วก็จะติดสอยห้อยตามก้นพี่นุชไปฟังทุกๆเรื่องอย่างไม่ห่างเชียวครับ