ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ๓ ๒ ๑... >> ที่มาของสุภาษิต สำนวน คำพังเพยไทย

    ลำดับตอนที่ #46 : สำนวนไทยเกิดจากการละเล่น

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 42.48K
      52
      10 เม.ย. 53

    สำนวนไทยเกิดจากการละเล่น


    1. เข้าตาจน

    สำนวนนี้มาจากการละเล่นทีมีตัวหมากเดินตามตาราง เช่น หมากรุก หมากตัวใดต้องตกอยู่ในตาซึ่งไม่มีทางจะเดินต่อไปอีก ก็เรียกกันว่า จน คือแพ้ ใครที่ต้องตกอยู่ในที่อับจนไม่มีทางเบี่ยงบ่ายเอาตัวรอดได้ ก็เรียกว่า เข้าตาจน
    ตัวอย่าง
    “สิ้นคิดฤทราเข้าตาจน จนผลาญนฤมลให้มรณา”
    อิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2

    2. คลุกคลีตีโมง
    อยู่ร่วมกัน คลุกคลีอยู่ด้วยกัน คำว่า ตีโมง หมายถึงตีฆ้อง การเล่นของไทยในสมัยโบราณมักจะมีฆ้องกับกลองเป็นอุปกรณ์ เช่น โมงครุม ระเบ็ง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในบุณโณวาท คำฉันท์ว่า
    ตัวอย่าง
    “โมงครุ่มคณาชายกลเพศพึงแสยง ทับทรวงสอิ้งแผง ก็ตระกูตะโกดำ เทริดใส่บ่ใคร่ยล ก็ละเล่นละลานทำ กุมแส้ทวารำ ศรับร้องดำเนินวง”

    3. ถูกขา
    หมายความว่า เข้าคู่ หรือเข้าพวก หรือเข้าชุดกันได้สนิทสนมกลมเกลียวกันดีไม่ขัดเขิน เช่นเล่นฟุตบอลถูกขากัน เต้นรำถูกขากัน มูลของสำนวนนี้มาจากการเล่นที่ประกอบด้วยผู้เล่นหลาย ๆ คน เช่นเล่นไพ่ ถ้าเคยเล่นด้วยกันมาก่อนเรียกว่าถูกขากัน

    4. นักเลงอดเพลงไม่ได้
    มีนิสัยชอบแล้วอดไม่ได้ มูลของสำนวนน่าจะมาจากการเล่นเพลง นักเลง หมายถึงนักเล่น เมื่อเป็นนักเล่นแล้วเห็นคนอื่นเล่นเพลงกันก็อดที่จะเข้าร่วมวงไม่ได้ ต่อมาใช้กว้างออกไป หมายถึงอะไรก็ได้เมื่อชอบแล้วก็อดที่จะประพฤติไม่ได้

    5. โบแดง
    การแสดงออกที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถให้เป็นที่ยกย่อง มูลของสำนวนมาจากการเล่นเครื่องโต๊ะจีนในสมันรัชกาลที่ 4 คือ มีการประกวดตั้งโต๊ะจีน โต๊ะของผู้ใดมีเครื่องโต๊ะ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้ชำนาญเครื่องโต๊ะก็เอา แพรแดง ผูกทำขวัญชิ้นนั้น เครื่องโต๊ะจีนชิ้นใดได้แพรแดงก็แสดงว่าเป็นของดี ต่อมาเอาแพรมาทำเป็นโบแดง โบแดงกลายเป็นสำนวนใช้บอกถึงความสามารถดีเด่น ใครทำอะไรที่ดีเด่นก็จะเป็นที่ยกย่องนับถือ

    6. ประสมโรง
    เข้าร่วมเป็นพวก มูลของสำนวนนี้มาจากการเล่นละคร ในสมัยก่อนละครที่รวมเป็นคณะเรียกว่า โรง บางคนตั้งคณะละครขึ้น โดยนำเอาตัวละครจากที่ต่าง ๆ มารวมกันให้ได้เป็นโรง เรียกว่าประสมโรง

    7. เป็นปี่เป็นขลุ่ย
    พูดหรือทำอะไรถูกคอกัน กลมเกลียวไปด้วยกันอย่างดี มูลของสำนวนมาจากการเล่นปี่พาทย์ในวงปี่พาทย์คนเป่าปี่เป็นคนนำเครื่องอื่นตามกลมกลืนกัน ใครพูดหรือหรือทำอะไรนำขึ้น คนอื่น ๆ ตาม จะพูดว่า เป็นปี่เป็นขลุ่ย
    ตัวอย่าง
    “จะอุตสาห์ปาตะปารักษากิจ อวยอุทิศผลผลาถึงยาหยี
    จะเกิดไหนในจังหวัดปักพี ให้เหมือนปี่กับขลุ่ยต้องทำนองกัน”
    นิราศอิเหนาของสุนทรภู่

    8. เป็นหุ่นให้เชิด
    อยู่ในฐานะหรืออยู่ในอำนาจให้คนอื่นใช้เป็นเครื่องบังหน้าเขาให้ทำอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ตนไม่มีอำนาจที่จะทำได้ นอกจากต้องสำแดงตัวรับหน้าแทนเขาไปเรื่อย ๆ มูลของสำนวนนี้มาจากการเล่นหุ่น เช่น หุ่นใหญ่ หุ่นกระบอก ซึ่งมีคนเชิดตัวหุ่นอยู่ด้านหลัง จะให้ตัวหุ่นทำอย่างไรก็แล้วแต่คนเชิดทั้งสิ้น

    9. พ่อแจ้แม่อู
    หมายความว่า ต่างพันธุ์ผสมกันพันทาง พ่อแจ้ หมายความว่าพ่อเป็นไก่แจ้ แม่อู หมายความว่า แม่เป็นไก่อู ไก่อูเป็นไก่ที่สูงใหญ่กว่าไก่แจ้ ไก่ที่เอามาเล่นพนันชนกันเป็นไก่อู

    10. มือใครยาวสาวได้สาวเอา
    ใครมีกำลังความสามารถหรืออิทธิพล หรืออำนาจหรืออะไรก็ตามที่จะถือเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้แล้วรีบเอาทันทีเป็นลักษณะของการแย่งชิงกัน ใช้ในเรื่องอะไรก็ได้ ใช้ได้ทั่ว ๆ ไป มูลของสำนวนมาจากบทร้องเล่นโบราณที่ว่า “ซักส้าวเอย มะนาวโตงเตง ขุนนางมาเอง มาเล่นซักส้าว มือใครยาวส้าวได้ส้าวเอา มือใครสั้นเอาเถาวัลย์ต่อเข้า”

    11. ไม่มีปี่มีกลอง
    ทำหรือพูดขึ้นมาโดยไม่มีเค้ามูล มูลของสำนวนนี้มาจากการรำละคร หรือกระบี่กระบองที่ใช้ปี่กับกลองทำเพลง เป็นจังหวะประกอบรำ เช่น ในเสภาขุนช้างขุนแผนตอนโจรปล้นขุนศรีวิชัย จับขุนช้างกับนางแพรทองให้รำ มีกลอนว่า “เจ้าขุนช้างกับนางแพรทอง ว่าไม่มีปี่กลองรำไม่ได้ ” แปลว่าเมื่อจะรำก็ต้องมีปี่กลอง ดังนั้นอะไรที่เกิดขึ้นเงียบ ๆ เฉย ๆ โดยไม่มีเค้ามูล จึงพูดเป็นสำนวนว่า ไม่มีปี่มีกลอง

    12. ไม้ตาย
    นำหรือยกเอาข้อสำคัญมาใช้หรือกล่าวอ้าง โดยที่เชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องจำนน หรือไม่ไห้รอดพ้นไปได้หรือพ่ายแพ้ มูลของสำนวนมาจากเพลงกระบี่กระบอง ตลอดจนมวย เช่นเวลาตีต่อยหมายเอาที่สำคัญที่คู่ต่อสู้จะต้องแพ้ เช่น แสกหน้าดอกไม้ทัด (ซอกหู) ปลายคาง กำด้น การทำถ้าถูกที่สำคัญเหล่านี้เรียกว่า ไม้ตาย เมื่อแปลเป็นสำนวนพูดว่า “โดนไม้ตาย”

    13. ไม้นวม
    ทำหรือพูดอะไรก็ตามต่อผู้หนึ่งผู้ใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงเบาะ ๆ ไม่ให้หนักรุนแรง มูลของสำนวนมาจากปี่พาทย์ คือการบรรเลง ปี่พาทย์มีสองอย่าง ถ้าจะให้เสียงดังแรงใช้ไม้ตี ชนิดทีเรียกว่า “ไม้แข็ง” ถ้าจะให้เสียงเบาฟังนุ่มนวล ให้ใช้ไม้ตีที่เรียกว่า ไม้นวม นำมาใช้เป็นสำนวนหมายความว่า คนที่ทำผิดหรือทำอะไรรุนแรงเกินเลยไป แทนที่จะลงโทษก็ว่ากล่าวสั่งสอนให้รู้สำนึกตัวเรียกว่าใช้ไม้นวม

    14. ร้องจ๊อก
    ไม่ต่อสู้ ยอมแพ้ มูลของสำนวนมาจากการเล่นชนไก่ ขณะต่อสู้กัน ตัวใดแพ้ไม่ต่อสู้จะร้องออกเสียง จ๊อก และวิ่งหนีไป

    15. รำพัด
    หมายความว่า เล่นไพ่ตอง วิธีเล่นไพ่ตองมีไพ่ถือในมือ 11 ใบ เวลาคลี่ไพ่ออก ไพ่มีรูปเหมือนพัดด้ามจิ้ว รำเป็นท่าต่าง ๆ เรียกว่า รำพัด

    16. รำไม่ดีโทษปี่พาทย์
    ตัวเองทำไม่ดี ทำไม่ถูกหรือทำผิดแล้วไม่รู้ หรือไม่ยอมรับว่าตัวผิด กลับไปซัดไปโทษเอาคนอื่น มูลของสำนวนมาจากการฟ้อนรำ ทำท่าที่มีการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบ ปี่พาทย์เป็นหลักของการรำลีลาท่ารำ ต้องให้เข้ากับกระบวนปี่พาทย์ ผู้รำชำนาญก็รำเข้าปี่พาทย์ได้งามถ้าไม่ชำนาญก็ผิดจังหวะพลัดพลาดไปไม่งาม สำนวน รำไม่ดีโทษปี่พาทย์ หมายความว่า ตนรำไม่ดีแล้วไปโทษปี่พาทย์ว่าทำเพลงผิด
    ตัวอย่าง ท่าละครมีกลอนว่า
    “แม้ชำนาญการฝึกรู้สึกลับ บทสำหรับท่าทีที่แอบแฝง
    ย่อมเจนจัดคัดลอกออกสำแดง แม้นจะแกล้งทำบ้างก็ยังดี
    หากว่าไม่เชี่ยวชาญการฝึกหัด ถึงจะดัดตามต้อยสักร้อยสี
    ไม่นิ่มนวลยวลยลกลวิธี อาจโทษพาทย์กลองรับร้องรำ”

    17. ลงโรง
    หมายความว่า เริ่มลงมือทำ ตั้งต้นทำ ลงโรงเป็นภาษามโหรสพ เช่นการเล่นละครรำปี่พาทย์ทำเพลงไปก่อนเรียกว่า โหมโรง พอได้เวลาตัวละครออกแสดงเรียกว่า ลงโรง เล่นไปจนเลิก เรียกว่า ลาโรง แปลตามตัวว่า ลงมาที่โรง ลงโรงเมื่อใช้กับการเล่นมโหรสพ ก็แปลว่าเริ่มเล่น เริ่มแสดง เมื่อใช้เป็นสำนวนหมายความว่า เริ่มลงมือทำ ตั้งต้น

    18. ลดข้อกินเบียร์
    สำนวนนี้มาจากการเล่นบิลเลียด คนเล่นเก่งเมื่อไปอยู่ในหมู่คนเล่นไม่เก่งเวลาเล่นมักจะไม่บรรจงแทง หรือแสร้งหย่อนฝีมือให้เพลาลง จะได้มีคนเล่นด้วย การเล่นมักจะเล่นเป็นการพนัน คนแพ้ต้องเสีย โดยการกินเบียร์ คนเก่งที่แสร้งหย่อนมือเพื่อเล่นเอาเบียร์จึงพูดว่า ลดข้อกินเบียร์

    19. เล่นเอาเถิดเจ้าล่อ
    หมายความว่า สวนกัน สวนกันไปสวนกันมา คนละที่ไม่พบกัน ตามหากันคนนี้ไป คนนั้นมา ไม่พบกัน มูลของสำนวนนี้มาจากการเล่นที่เรียกว่า เอาเถิด ฝ่ายหนึ่งล่อให้ไล่ ฝ่ายหนึ่งตามจับ ฝ่ายล่อพยายามหลบหลีก ไม่ให้อีกฝ่ายไล่จับได้

    20. วุ่นเป็นงานหา
    หมายความว่า วุ่นต่าง ๆ มูลของสำนวนนี้มาจากการเล่นมหรสพ มหรสพที่เล่นในงานเรียกตามธุรกิจที่ติดต่อ มี 2 อย่าง คืองานหางานหนึ่ง กับงานช่วยอีกงานหนึ่ง งานหมายถึงงานที่เจ้าของงงานให้มหรสพ ไปเล่นในงาน และเสียเงินเป็นค่าจ้าง ให้แก่เจ้าของโรง ตามราคาที่ตกลงกันไว้ ส่วนงานช่วย เป็นงานที่เจ้าของโรงนำมหรสพไปช่วยเจ้าของงาน โดยไม่รับเงินค่าจ้าง

    21. ศอกกลับ
    หมายความว่า แก้เรื่องหรือข้อกล่าวหาย่อนกลับไปยังผู้กล่าวหา มูลของสำนวนมาจากการชกมวยไทย เวลาเข้าประชิดใช้ศอกกลับหลังให้ถูกคู่ต่อสู้ ถ้าถูกแล้วจะถูกอย่างจัง เรียกว่า ศอกกลับ การพูดหรือทำอะไรเป็นการแก้เรื่องหรือข้อหาให้ย้อนกลับไปที่ต้นเรือ่งจึงพูดว่า ศอกกลับ

    22. สายป่านสั้น
    หมายความว่า มีเงินน้อยทุนน้อย มูลของสำนวนมาจากการเล่นว่าวจุฬาคว้าปักเป้า ว่าวจุฬาต้องสายป่านที่ยาวจึงจะคว้าสะดวก และเมื่อติดปักเป้า ให้เสียท่าอย่างไรก็ได้แต่ถ้าสายป่านสั้นก็ทำอะไรไม่ได้ เช่นคนที่ทำงานหรือขยายกิจการอะไรให้ใหญ่โตไม่สำเร็จ

    23. สิ้นเขม่าไฟ
    สำนวนนี้มาจากการเล่นโต๊ะจีน เช่นเครื่องลายคราม เครื่องสีต่าง ๆ ในตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะแลถ้วยนั้น มีความตอนหนึ่งว่า
    ตัวอย่าง
    “ส่วนของเก่ากับของใหม่นั้น สังเกตได้ที่ของใหม่ยังไม่หมดผิวอย่างหนึ่ง เรียกในพวกเล่นโต๊ะว่า เขม่าไฟ คือน้ำเคลือบเงาอย่างกล้า สีดูยังสดเกินไป จับผิวเนื้อดูก็ยังระคายไม่เรียบราบไม่เหมือนกับของใหม่”

    24. หัวไม่วาง หางไม่เว้น
    หมายความว่าเอาทั้งหมด เอาทุกอย่าง ทำอยู่ตลอดเวลา สำนวนนี้มักพูดเกี่ยวการเล่น เด็กเล่นหัวไม่วาง หางไม่เว้น จึงอาจเอามาจากการเล่นของไทย ที่สมัยโบราณเรียกว่า งูกินหาง ซึ่งมีคำพูดอยู่ในตอนท้ายว่า กินหัวกินหาง กินกลางตลอดตัว มิฉะนั้นก็อาจมาจากปลา คือกินทั้งหัวกินทั้งหาง หมดคนเดียว ไม่ปล่อยให้คนอื่นได้กินบ้าง

    25. ออกโรง
    ออกแสดงการละเล่นมหรสพ คำว่าโรงหมายถึง โรงโขนโรงละคร โรงหนัง สำนวนนี้ใช้ในหารมหรสพแม้จะไม่เป็นโรงแต่เป็นการเล่นมหรสพอะไรก็ใช้ได้ บางครั้งใช้กับผู้ที่ออกทำงานด้วยตนเองทั้ง ๆ ที่ตนไม่ต้องทำ แต่ก็ออกทำเองก็ได้
    ตัวอย่าง
    “ทั้งรูปร่างจริตติดโอ่โถง เคยเล่นนอกออกโรงมาหลายหน
    ขับรำทำได้ตามจน ดีจริงยิ่งคนที่มาเอย”
    อิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2
    สุภา
    อ้างอิง : http://www.spiceday.com/picpost/viewthread.php?tid=50462&extra=&page=7
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×