การไหว้เจ้า การ ไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ ไหว้ครั้งแรก ของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย” ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย” ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย ไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง ไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย” ไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์ ไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย” ไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย” ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย” โป๊ย คือ 8 โจ่ย แปลว่า เทศกาล โป๊ยโจ่ย จึงหมายความว่า การไหว้เจ้า 8 เทศกาล ซึ่งนอกจากการไหว้เจ้า 8 เทศกาลนี้แล้ว บางบ้านอาจมีวันไหว้พิเศษกับเจ้าบางองค์ที่นับถือศรัทธา คือ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่น การไหว้วันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่า “ทีกงแซ” หรือ “ทีตี่แซ” ก็ได้ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน ไหว้อาเนี้ยแซ คือ ไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือ วันที่ 19 เดือน 2, วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9 ไหว้ แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3 ไหว้ เทพยดาผืนดิน คือ ไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3 ไหว้อาพั้ว “อาพั้ว” คือ พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก วันเกิดอาพั้ว หรือ “อาพั้วแซ” ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี ไหว้ เจ้าเตา ไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า “ไหว้เจ๊าซิ้ง” การ ไหว้เจ้าพิเศษนี้ แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละบ้านและแล้วแต่ความจำเป็น เช่น ถ้าที่บ้านไม่มีเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องไปไหว้อาพั้ว หรือถ้าที่บ้านไม่ได้ทำนาทำไร่ก็ไม่มีที่ และไม่มีความจำเป็นต้องไหว้โท้วตี่วิ้ง หรือเทพยดาผืนดิน
|
ความคิดเห็น