peiNing Zheng
ดู Blog ทั้งหมด

สำหรับนักเขียนมือใหม่ที่แสวงหาพล็อตพิสดารพันลึก

เขียนโดย peiNing Zheng
ขอชี้แจงก่อนอ่านบทความ
 
1. ข้าน้อยพิมพ์สัมผัสในความมืด อาจมีคำผิด
2. ข้าน้อยเพิ่งละจาก paper นรกของข้าน้อย อาจมีความเครียดแอบแฝงอยู่ในบทความนี้
3. ข้าน้อยไม่ได้หมายถึงนักเขียนหน้าใหม่ทุกคนหรือเฉพาะเจาะจงว่าหมายถึงใครเป็นพิเศษ แค่พูดในฐานะคนอ่านคนหนึ่งอ่านกระทู้บอร์ดนี้ได้ไม่นาน แต่คร่ำหวอดพอสมควรในการเจอนักเขียนมือใหม่ (ในแต่ละยุค) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
4. บทความนี้ยาวเหมือนกันนะ

===========================

เรื่องของเรื่องที่เขียนบทความนี้เพราะเห็นนักเขียนใหม่หลายคนที่พูดถึงพล็อตพิสดารพันลึกเพราะเบื่อพล็อตซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นในวงการการเขียนนิยายไม่ว่าจะเป็นในิยายในอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือก็ตาม หรือไม่ก็อยากสร้าความแตกต่างให้ผลงานของตัวเองเลยแสวงหาพล็อตที่แตกต่างคนอ่านจะได้สนใจ

ทั้งหมดนี้ข้าน้อยไม่ได้ไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านความคิดดังกล่าวแต่อย่างใด กลับกันข้าน้อยรู้สึกว่าเป็นการเริ่มต้นการเขียนที่ดีในการหาความแตกต่างให้กับผลงานของตัวเอง เพียงแต่ว่าสำหรับคนที่เห็นสิ่งเหล่านี้มาพอสมควร เลยอยากจะกล่าวอะไรสักเล็กน้อย

ในโลกของการเขียนนวนิยายมาเป็นร้อยปี และเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก แนวเรื่องที่ไม่ซ้ำน่ะ มันแทบไม่เหลือแล้วล่ะ

(อ้อ ปกติคำว่า "พล็อต" สำหรับข้าน้อยหมายถึงเหตุการณ์ที่ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน จะต่างกับคำว่า "พล็อต" ที่คนทั่วไปใช้ ดังนั้น ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป ข้าน้อยจึงขอใช้คำว่า "แนวเรื่อง" แทนขอรับ และเมื่อไรที่ข้าน้อยใช้คำว่า "พล็อต" แปลว่าเหตุการณ์ที่นำมาเรียงเข้าด้วยกันนะขอรับ)

นอกจากนี้เหล่าผู้เฟ้นหาเทคนิคการเขียนที่มีอยู่ล้วแต่พอดีบางอันที่มีคนไม่ค่อยใช้ ก็พยายามจะใช้มันกันจังเพราะเห็นว่าคนใช้น้อย ประเด็นที่คนส่วนมากใช้น้อยไม่ใช่เพราะอะไรหรอกขอรับ เพราะบางอันมันไม่ powerful เอาเสียเลย แต่ที่ปรากฏชื่อเทคนิคนั้นอยู่เพราะมันมีคนเคยทำ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เป็นการดีที่หาความแตกต่างให้กับงานของตัวเอง แต่ข้าน้อยจะบอกว่าสิ่งที่สร้างความ "แตกต่าง" ที่สุดของที่สุดของนักเขียน ไม่ใช่แนวเรื่อง ไม่ใช่เทคนิคที่แตกต่าง แต่เป็น "ไอเดีย" "ประสบการณ์" "ตัวตน" และ "จินตนาการ" ของคนเขียนนั่นแหละ จะไปหาที่ไหนไกลๆ ให้มันเมื่อยตุ่ม ข้าน้อยก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน

แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างที่ว่ากลับมีแค่ในนักเขียนบางคน แต่กลับไม่มีในบางคน ทั้งนี้เห็นได้จากตัวอย่างเรื่องที่ท่านนักอ่านทั้งหลายบ่นว่าเบื่อ มีแต่แนวเรื่องซ้ำๆ ไม่มีอะไรที่แตกต่างบ้างหรือไง ข้าน้อยไม่โทษคนอ่านนะ แต่ข้าน้อยโทษที่คนเขียนมากกว่า เพราะนั่นหมายความว่า "ตัวตน" ที่อยู่ในตัวคนเขียนออกมาน้อยมาก ถึงได้ทำให้คนอ่านรู้สึกแบบนี้

"ตัวตน" ที่ว่า อาจจะเรียกว่าแรงบันดาลใจ อาจจะเรียกว่าแนวคิดตั้งต้นของการเขียนหนังสือก็ได้ และสิ่งนี้ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างนักเขียนที่มีลักษณะเป็น "ศิลปิน" กับนักเขียนที่อยากเขียนด้วยเหตุที่ไม่ใช่เพราะ "แรงบันดาลใจ" ที่ตกผลึกของตัวเองเท่าที่ควร เช่น เขียนเพราะอยากได้รับการยอมรับในหมู่คน เพราะอยากได้ชื่อเสียงเงินทองจากการขายเรื่อง เพราะเห็นเขาทำก็ทำตามมั่ง ฯลฯ (ซึ่งข้าน้อยเชื่อว่าคงมีนักอ่านหลายคนเมื่อหลายปีก่อนเห็นการเขียนหนังสือเป็น El Dorado อะไรเทือกนั้น แต่ตอนนี้อาจจะขี้เกียจบ่นแล้วก็ได้ ข้าน้อยเลยมาบ่นเอง)

"พลัง" ของงานเขียนมันถึงได้แตกต่างกัน

พูดง่ายๆ เมื่อตกผลึกทางความคิด สิ่งนั้นย่อมเป็นของคนเขียนเอง ไม่ว่าใครก็เอาไปไม่ได้ ต่อให้เขียนในเรื่องราวตามแนวเรื่องซินเดอเรลล่า แต่สุดท้ายความคิดและจินตนาการของคนเขียนจะกลบสิ่งนั้นจนมิดไปเลย เช่น เรื่อง "สุดขอบจักรวาล" โดยจุฑารัตน์ (1 ในหนังสือ 100 เล่มที่ควรอ่าน ข้าน้อยใช้ตัวอย่างนี้บ่อยเพราะขี้เกียจคิด) นั่นคือเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้รับอำนาจพิเศษจากหินนอกโลก และหินเจ้ากรรมนั่นก็ดันเป็นขุมพลังที่จะช่วยให้หมู่พี่น้องซึ่งมีอาณาจักรนอกโลกของตัวเองมีอำนาจมากขึ้น ก็เลยมีคนจะมาเอาผลึกในตัวผู้หญิงคนนี้ไป จากนั้นก็เกิดเป็นสงครามใหญ่ในหมู่พี่น้อง ส่งผลให้เจ้าชายองค์หนึ่งกับผู้หญิงคนนี้ตกลงไปในดาวดวงหนึ่ง และต้องหาทางติดต่อกับยานของตัวเองให้ได้ จนกระทั่งหมากแต่ละตัวค่อยๆ ถูกกำจัดออกไป แล้วสุดท้ายเจ้าชายต้องส่งนางเอกไปยังโลกเพราะกำลังจะเกิดสงครามใหญ่ขึ้นในกลุ่มพี่น้องของเจ้าชาย แล้วสุดท้ายเมื่อทุกอย่างสิ้นสุด เจ้าชายกับผู้หญิงคนนี้ก็ลงเอยกันได้ด้วยดี

ดูเรื่องย่อแล้วอาจจะรู้สึกหรือเปล่าว่ามันคือ Cinderella motif? ถ้าอ่านเรื่องย่อแล้วไม่ ไปอ่านเล่มจริงจะไม่ยิ่งกว่า เพราะถูกจินตนาการของคนเขียนในเรื่องฉาก และพล็อตกลบซะเกือบมิดจนลืมไปแล้วว่านี่เป็นเรื่องของเจ้าชายผู้สูงศักดิ์จากต่างดาวกับผู้หญิงธรรมดาที่เป็นมนุษย์โลก

แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับนักเขียนบางคนที่มีความรู้สึกอยากเขียนเพราะ El Dorado ก็จะเริ่มจากการมองว่าเรื่องแบบไหนที่คนดูจะนิยมจะได้ขายได้ ได้รับการยอมรับรวดเร็ว มองซ้ายมองขวาก็หยิบเอาจากในโทรทัศน์ประเภทนางเอกอ่อนแอ พระเอกเถื่อนๆ พาไปกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่พบว่าเข้าใจผิด สุดท้ายนางเอกหนีมาได้ ให้เวลาพระเอกง้อนิดหนึ่ง อ้อ ต้องมีนางร้ายกรี๊ดแบบไร้เหตุผลได้ด้วยสินะ จากนั้นนางเอกก็ใจอ่อน ยอมคืนดี เอวัง

ถ้าเลียนแบบ norm นี้ไปเสียทุกอย่างตั้งแต่บุคลิกนางเอก พระเอก นางร้าย การ drive เส้นเรื่อง ทุกอย่างตรงตามสูตรเป๊ะ ก็ตามนั้น จะมาหาพล็อตที่แตกต่างไปทำไมในเมื่อไม่คิดจะเพิ่ม "ตัวตน" ของตัวเองในเรื่องเอาเสียเลย เอาของคนอื่นมาหมด จะถามหาเทคนิคการเขียนที่แตกต่างไปทำไม ในเมื่อจุดใหญ่ใจความที่เป็นวัตถุดิบสำคัญกลับไม่มี

สิ่งที่ข้าน้อยจะบอกก็คือ ในแนวเรื่องเดียวกันที่นางเอกอ่อนแอ พระเอกเถื่อน นางร้ายจอมกรี๊ด ลักพาตัวนางเอกไปกักขังเหมือนกัน ให้เวลาพระเอกตามง้อ และคืนดีในที่สุด ถ้าคนที่สามารถใส่ "ตัวตน" หรือ "ความคิด" ของตัวเองเข้าไปได้ ก็สามารถทำให้เรื่องที่ "ไม่มีอะไร" ให้กลายเป็น "มีอะไร" ได้ขึ้นมา

ขอยกตัวอย่างเรื่อง "จำเลยกามเทพ" โดย เด็กทะเล เป็นเรื่องคอมเมดี้ที่คนเขียนหยิบเอา "จำเลยรัก" และ "ทางผ่านกามเทพ" มาล้อเลียน คือสองเรื่องที่หยิบมานั่นเข้าคอนเซปต์ประเภทลักพาตัวมา ข้าน้อยไม่รู้จักคนเขียนเป็นการส่วนตัว แต่ message ในเรื่องเห็นได้ชัดว่าคนเขียนอยากพูดถึงการใช้ความรุนแรงของผู้ชายในนิยาย ก็เลยสร้างเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนอ่านเรียนรู้การให้เกียรติผู้หญิง เนื้อเรื่องย่อไปหาอ่านได้ หรือใครเคยอ่านเรื่องนี้น่าจะพอเข้าใจในสิ่งที่ข้าน้อยบอก

เนื้อเรื่องดำเนินมาแบบเดียวกันกับข้างบนเลย แต่เพราะคนเขียนมีสิ่งที่ต้องการสื่อ ทำให้ในความหมือนมีความแตกต่าง 

ทั้งที่แนวเรื่องเหมือนเป๊ะ แต่อ่านแล้วไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อเพราะเจอเรื่องซ้ำเลยขอรับ

ไม่ว่าคนเขียนหน้าใหม่ที่กำเนิดขึ้นมาจะด้วยเหตุผลของแรงบันดาลใจหรือ El Dorado ก็ตามที่ได้อ่านที่ข้าน้อยเขียน ถึงแม้จะเหมือนต่อว่า แต่ที่จริงไม่ว่าเหตุผลกลใดก็ตามที่ทำให้ท่านเลือกมาเขียน ข้าน้อยก็ยินดีนะเพราะนั่นแปลว่าคนอ่านอย่างข้าน้อยมีอะไรมาให้อ่านเยอะขึ้น เพียงแต่ว่าข้าน้ออยแค่รู้สึกว่าไม่ต้องหาพล็อตแนวแปลกประหลาดแหวกแนวก็ได้ เพราะสิ่งที่ทำให้แตกต่างมันขึ้นอยู่แรงบันดาลใจและประสบการณ์ของท่านเองทั้งสิ้น

ถ้าอยู่ดีๆ รู้สึกอยากเขียนโดยที่ยังไม่มีแม้แต่แนวเรื่อง แค่ประมาณ "อยากเขียนนิยายจังเลย เขียนอะไรดีนะ ขอบริจาคพล็อตหน่อยเถอะ" แบบนี้ข้าน้อยแนะนำว่าให้ "อยาก" ไปก่อนเถอะ บ่มเพราะความอยากเอาไว้ก่อนเพราะสิ่งสำคัญในการเขียนนิยายยังไม่ตกผลึกดี จนกระทั่งได้มาค่อยมาคิดเนื้อเรื่อง คิดกับมันแบบตั้งใจ อย่าทำให้ "ตัวตน" หรือ "แรงบันดาล" ที่มาจากผลผลิตประสบการณ์ของตัวเองไร้ค่าโดยการสาดใส่คนอ่าน แล้วสุดท้ายไปต่อไม่ได้ก็เข้าสู่ไหดองเพราะไม่ตั้งใจกับมันให้ดีพอ

(ข้าน้อยไม่ได้ว่าคนที่ยกนิยายเข้าไหจะไม่ตั้งใจกับนิยายนั้นแต่อย่างใด คนเรามันมีเหตุผลเยอะแยะที่ทำให้ต้องหยุดเขียน แต่การเข้าไหเพราะตัวเองไม่ใส่ใจกับเรื่องที่เขียน มันดูเสียเปล่าและน่าเสียดายไปหน่อยเท่านั้นเอง) 

ไม่รู้ว่าคนเขียนใหม่ๆ ที่ข้าน้อยอยากให้ได้อ่านจะมาเห็นบทความนี้หรือไม่ (เพราะหลายคนในบอร์ดดูจะเป็นสมาชิกที่ข้ามผ่านคำว่า "หน้าใหม่" อยู่หลายคน) ก้ได้แต่หวังว่าคำบ่นของข้าน้อยจะสามารถส่งเสียงไปถึงบ้าง แค่คนสองคนก็ยังดี

ปล. 1 เอาจริงๆ งานเขียนของคนเขียนหลายๆ คนในตอนนี้สะท้อนอยู่แล้วว่าคำบ่นของนักอ่านเมื่อสักสิบปีก่อนได้ผลหรือไม่น่ะนะ แต่ไม่ว่าตอนไหนๆ มันก็ควรมีใครสักคนที่บ่นเสียงดังๆ บ้างล่ะน่า ไม่ว่าจะได้ผลหรือไม่ก็ตาม

ปล. 2 ท่านนักเขียนหน้าใหม่คงงงว่า แล้ว "ตัวตน" ที่ว่ามันเป็นยังไง มันจะออกมาแปะอยู่ในตัวหนังสือในนิยายได้ยังไง แล้วคนอ่านรู้ด้วยเหรอว่าอันไหนมีตัวตนของคนเขียนอันไหนไม่มี ข้าน้อยจะบอกว่า บางทีคนอ่านบางคนจะรู้สึกเองว่าเรื่องของท่านมันต่างจากคนอื่นนะโดยที่แนวเรื่องก็เหมือนกันนี่แหละ แต่อาจจะไม่รู้หรือชี้แจงไม่ได้ว่ามันต่างจากเรื่องอื่นตรงไหนเท่านั้นเอง (ถ้าจะหาคนที่แจกแจงคงต้องพึ่งบริการคนวิจารณ์ที่มีประสบการณ์แหละขอรับ)

==================================

*เพิ่มเติม*

หลังจากที่ไปหาข้าวเย็นกิน เริ่มอารมณ์ดี  จึงมาเขียนเพิ่มเติมในประเด็นนี้

ถึงจะบอกว่าให้เอาตัวตนของตัวเองออกมา แต่คนเขียนหน้าใหม่คงมีคำถาม แล้วมันต้องเอาออกมายังไง? แล้วพออ่านคนอ่านบอกแค่ว่าก็ดีแล้วจบ พอเอาไปให้คนอ่านบางคนก็บอกว่า เฮ้ย! เหมือนอ่านเรื่องนี้เลยนี่หว่า เช่น เรื่องแนวโรงเรียนเวทย์มนตร์ ก็จะมีคนบอกว่าเหมือนแฮร์รี่ ทั้งนั้นเลย ไม่ใช่ไม่อยาก แต่จะให้ทำยังไง? 

ที่ข้าน้อยแนะนำต่อไปนี้ อาจจะไม่ใช่วิธีการประเมินตัวเองที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยอาจจะเป็นแนวทางให้กับคนเขียนที่เริ่มต้น และแสวงหาความแตกต่างของตัวเอง ซึ่งเชื่อว่ามีคนบ่นมาตลอด (นอกเหนือจากข้าน้อย) และคนเขียนหน้าใหม่หลายคนเองก็อยากทำแบบนั้นได้ แต่มันไม่รู้จะต้องทำยังไงนี่สิ

ตอนแรกว่าจะทำเป็น checklist แต่เปลี่ยนใจทำเป็นแผนผังแบบนี้ดีกว่า น่าจะดูได้ง่ายกว่า ขอให้ตอบด้วยความสัตย์จริงเพราะจะเข้าข้างตัวเองหรือไม่ก็ไม่มีประโยชน์ ท่านไม่ต้องตอบในที่นี้หรอกเพราะต่อให้ตอบ ข้าน้อยก็คงช่วยเหลืออะไรท่านไม่ได้ 

แต่ข้อเสียของ checklist นี้จะใช้ได้ผลดีก็ต่อเมื่อนิยายของท่าน
เขียนจบแล้วเท่านั้นถ้ายังเขียนไม่จบ ต่อให้ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ มันวัดอะไรไม่ได้

รูปใหญ่ไปไหมเนี่ย แต่กลัวอ่านลายมือข้าน้อยไม่ออกอ่ะ





*สำหรับข้อ 4* คืออาจจะเขินหรืออะไรก็ตาม แต่ประเด็นที่ข้าน้อยต้องการสื่อคือ ท่านภูมิใจกับมันมากพอที่จะอวดให้คนใกล้ชิดได้อ่านไหมว่านี่เป็นผลงานของตัวเอง

*สำหรับข้อ 6* สิ่งที่ใช้เปรียบเทียบส่วนมากก็คือการมีแนวโน้มที่จะคล้ายของตัวละคร (ไม่ได้หมายถึงอุปนิสัยนะ) เช่น ถ้าเป็นโรงเรียนเวทย์มนตร์ จะต้องมีหอพักแบบแยกตามอุปนิสัย มีงานแข่งกีฬาที่โลดโผนหรือไม่อีกทีก็ต้องงานแข่งหมากกระดาน จังหวะของเรื่องจะใกล้กันกับเรื่องต้นฉบับ (แต่ข้อนี้อาจจะจัดยากสักหน่อยถ้าคนไม่เคยทำ) หรือจะสร้างกลุ่มตัวละครเงียบๆ แต่กล้า หรือไม่ก็กลุ่มปากเปราะ (และต้องอยู่ในหอที่ดูร้ายๆ) เป็นต้น 

ลองทำไปก่อนเล่นๆ เดี๋ยวข้าน้อยไปเขียนข้อ 7 กับข้อ 8 ที่ความเห็นข้างล่าง 


============================================



เกริ่นก่อนว่าแผนผังนั่นเอาไว้ทดสอบตัวคนเขียนเองที่มีต่อผลงานของตัวเองก่อนที่จะไปสนใจสายตาของคนอ่านคนอื่น เพราะคนเขียนย่อมรู้ตัวเองว่าตัวเองทำอะไรไว้บ้างน่ะนะ แต่หลังจากข้อ 7 กับข้อ 8 จะเป็นเรื่องของความคิดเห็นของคนอ่านบ้างล่ะ
 
7.
 
ถ้าอ่านแล้วรู้สึกว่าไม่ได้เหมือนกับงานที่ตัวเองชอบ นับว่าเป็นผลงานที่ผ่านเกณฑ์ของตัวเองทีเดียว จากนี้คือ Feedback ของคนอ่านคิดว่ายังไงบ้าง พออ่านปุ๊บ เขาสามารถบ่งชี้ได้ทันทีหรือเปล่าว่าเหมือนเรื่องอะไร ถ้าท่านเป็นคนชอบอ่่านเรื่องนั้นจริงๆ แสดงว่าท่านน่าจะได้รับอิทธิพลจากเรื่องนั้นมาพอสมควรไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และอาจจะมีแนวโน้มว่ากลืนมาเต็มคราบจนไม่รู้ตัวเองด้วยว่าได้รับมาเยอะขนาดนี้
 
แต่ถามว่าเป็นเรื่องไม่ดีใช่ไหมที่คนมองว่าเรื่องของเราไปเหมือนกับนิยายเรื่องนั้นขนาดนี้ แล้วจะทำยังไงดีจึงจะใส่ตัวตนลงไปได้ เอาเป็นว่า ไม่ต้อง panic ไปนะท่าน เดี๋ยวข้าน้อยพูดถึงประเด็นนี้ต่อข้างล่าง ใจเย็น โอเค้?
 
แต่ถ้าคนอ่านก็ยังไม่พูดถึง แสดงว่าผลงานชิ้นนี้มีแนวโน้มที่จะแสดงตัวตนของท่านออกมาเยอะกว่าอิทธิพลของหนังสือที่ท่านได้รับมา ถ้าท่านมาได้ถึงขั้นนี้ ข้าน้อยก็เชื่อว่าท่านมีความคิดสร้างสรรค์ตามแบบของตัวเองค่อนข้างสูงทีเดียว แต่เป้นแค่แนวโน้มนะท่าน เพราะบางทีคนอ่านเขาแค่ไม่ได้พูดถึง หรือไม่เขาก็ไม่ได้อ่านเรื่องเดียวกับท่านก็อาจจะเป็นไปได้
 
8. ถ้าแม้แต่ตัวท่านเองยังมองว่าผลงานของตนเองช่างเหมือนกับเรื่องที่ท่านชอบ จะกล่าวไปไยถึงคนอื่น แต่ท่านลองให้คนอื่นอ่านดูก่อนก็ได้ ไม่ต้องถามนำล่ะว่าผลงานของท่านเหมือนงานชิ้นนั้นหรือไม่ ถ้ามีคนอ่านทัก ก็ถือเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ท่านคิดเป็นจริง ถ้าไม่มีใครทักสักแอะ แบบนั้นก็ต้องมาดูอีกทีแล้ว ออกแนวฟันธงยากในเคสนี้ (แต่ไม่จำเป็นต้องฟันธงอยู่แล้ว แค่เป็นไอเดียเฉยๆ)
 
ทีนี้ดูข้อ 7 กับ 8 ไปเรียบร้อยแล้วน่าจะพอให้ไอเดียคร่าวๆ ว่าลักษณะผลงานของตัวเองมี "ตัวตน" ของคนเขียนมากน้อยเพียงใด แต่ท่านไม่ต้องซีเรียสกับมันหรอก เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็นที่ข้าน้อยใส่ใจมากนัก สิ่งที่ข้าน้อยกำลังจะเขียนต่อไปนี้ต่างหาก เป็นจุดสำคัญของคำแนะนำนี้
 
1. ทำไมต้องตั้งเงื่อนไขให้เขียนให้จบก่อน?
 
เพราะถ้ายังไม่จบ ท่านสามารถแก้ตัว ไถลไถเถือกไปได้เรื่อยๆ เพราะท่านยังสามารถบอกได้ว่าผลงานท่านยังไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อไรที่จบแล้ว มันจะมีแนวโน้มที่หลอกตัวเองน้อยลง หรือถ้าคนอ่านที่อ่านจบคอมเมนต์ ท่านไม่มีข้อแก้ตัวว่าเป็นเพราะท่านยังเขียนไม่จบ คนอ่านมโนไปเอง นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง
 
อีกประเด็นหนึ่งถ้าท่านเขียนจบ และทำแบบทดสอบมาได้จนถึงข้อ 7 และ 8 มันแปลว่าท่านได้ลองย้อนกลับมาดูผลงานของตัวเองอย่างใส่ใจมากขึ้นว่ามันเป็นยังไง ท่านรู้สึกยังไงกับมัน ท่านภูมิใจกับมันไหม ถ้าท่านเขียนด้วยความรู้สึกนี้และพบว่าเหมือนกับงานที่ท่านได้รับอิทธิพลมาหรือไม่ มันจะทำให้ท่านเริ่มเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในงานเขียน และจะค่อยๆ แก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นรวมทั้งพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
 
2. ทำไมต้องให้ลองเอาไปเปรียบเทียบกับงานที่ตัวเองชอบ?
 
ข้าน้อยเคยกล่าวเสมอว่า "You write what you read" อ่านอะไรก็ได้อย่างนั้นแหละ เพราะงั้นในข้อนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยกเว้น และกฏนี้ไม่ได้งดเว้นกับใคร ไม่ว่าจะคนที่เพิ่งเริ่มเขียนหรือเขียนมานานก็หนีไม่พ้นทั้งสิ้น แต่อะไรคือความต่างล่ะ?
 
คนที่เริ่มต้นเขียนดูจะมีแนวโน้มที่จะผลิตงานใกล้เคียงกับผลงานที่ตัวเองได้รับอิทธิพลมาจนเกือบเหมือนและมี "ตัวตน" ในงานของตัวเองน้อย ในขณะที่คนเขียนมานานจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงจนสามารถพลิกแพลงแนวเรื่องดาษดื่นให้กลายเป็นเรื่องของตัวเองได้
 
ความต่างนั่นคือ "ตัวกรอง" ของแต่ละคน
 
ถ้าประสบการณ์และสิ่งที่เราได้เสพเป็น Input
ถ้าผลงานที่เราเขียนออกมาเป็น Output
ถ้าตัวเราเองเป็น "ตัวกรอง" ที่กรอง Input ที่ได้รับมาก่อนจะออกมาเป็น Output
 
ดังนั้นในกรณีที่ Output ค่อนข้างใกล้เคียงกับ Input นั่นแปลว่า "ตัวกรอง" มีตาข่ายที่ห่างทีเดียว ถึงได้ปล่อย Input มาอยู่ใน Output เยอะจน "ตัวตน" ของคนเขียนเจือจางเสียเหลือเกิน ในทางตรงข้าม ถ้า input กับ Output เป็นหนังคนละม้วน แสดงว่า "ตัวกรอง" มีประสิทธิภาพมาก และนี่เองที่เป็นความแตกต่าง
 
แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้ "ตัวกรอง" มีตาข่ายที่ถี่ขึ้น?
 
คำตอบคือ ประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ในการอ่าน การเรียนรู้ การเสพ Story ขอรับ
 
มันก็เหมือนท่านได้รับข้อมูลบางอย่าง ถ้าท่านรู้ ท่านเจอเคสมาเยอะ ท่านจะพอมองออกว่าข้อมูลนั้นเท็จจริงประการใด เป็นเพราะท่านมี "ตัวกรอง" ที่ดี ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าท่านต้องการมี "ตัวกรอง" ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ให้ Input ที่ท่านได้รับมาล้นไปอยู่ Output เสียเยอะ สิ่งที่ข้าน้อยบอกว่าเป็นคำตอบ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งขอรับ
 
คนที่มี "ตัวกรอง" ตาข่ายถี่ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเขียนมานาน หรือประสบการณ์การเขียนสูง มีคนเขียนหลายคนที่เริ่มต้นเขียน แต่ข้าน้อยอ่านแล้วรู้เลยว่าคนนี้ "ตัวกรอง" ตาข่ายถี่ คนเขียนเหล่านี้สั่งสมประสบการณ์ชีวิต และการอ่านมามากจนทำให้เขามี "ตัวกรอง" ที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งที่เขียนเรื่องแรก
 
ถ้าคนที่เขียนเรื่องแนวโรงเรียนเวทย์มนตร์ แต่ทั้งชีวิตอ่านแค่ "แฮร์รี่ พอตเตอร์" จะให้เอาความถี่ "ตัวกรอง" มาจากไหนในเมื่ออ่านมาแค่เรื่องเดียวทั้งที่จริงเรื่องโรงเรียนเวทย์มนตร์มีหนังสือที่มีความคิดสร้างสรรค์ลักษณะนี้ออกมาอยู่หลายเรื่องหลายเล่ม 
 
เขียนมาถึงตรงนี้ ข้าน้อยไม่รู้ว่าพอจะทำให้เข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่ข้าน้อยพยายามจะบอกตั้งแต่แรกเริ่มหรือไม่ว่าเพราะอะไรถึงไม่ต้องไปหาพล้อตแปลกพิสดารบานตะไท เพราะสุดท้ายสิ่งที่สร้างความต่างให้ผลงานของท่านก็คือ "ตัวตน" ของท่านเองนั้นแล
 
(พิมพ์จนเมื่อยมือไม่ไหวแล้วขอรับ ใช้เวลาเยอะกว่าที่คิด ขอตัวก่อนละขอรับ ไว้จะมาตอบทีหลังนะ ราตรีสวัสดิ์ขอรับ)





ความคิดเห็น

Daze-dazzle
Daze-dazzle 9 เม.ย. 59 / 11:21
อ่านบทความของพี่แล้วสนุกมากค่ะ จะขอติดตามนะคะ