peiNing Zheng
ดู Blog ทั้งหมด

ว่าด้วยการ Manage ตัวละครในนิยาย

เขียนโดย peiNing Zheng
จะเขียนหลายรอบแล้วล่ะในเรื่องการบริหารตัวละคร แต่ที่ยังไม่ได้เขียนเพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ระดับเบสิคนัก แต่จริงๆ แล้วมันก็เบสิคแหละ (อ้าว) ข้าน้อยมาตระหนักว่าจริงๆ แล้วจะเบสิคหรือว่าไม่เบสิค สุดท้ายแล้วเขียนนิยายมันก็คืออะไรหลายๆ อย่างมารวมกันอยู่ดี ถ้าคนไหนที่ทำได้ มันก็ดีไง แต่ถ้ายังจัดการไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เรียนรู้ไว้เผื่อไปใช้ต่อยอดเรื่องถัดไป เลยตัดสินใจเขียนสักที

เคยเห็นนิยายบางเรื่องไหม ที่ตัวละครมหาศาลบานตะไท อย่างเช่น เรื่องราวในโรงเรียน (ตัวอย่างคลาสสิคของข้าน้อย) ที่พระเอกเข้าไปในโรงเรียนก็พบกับเพื่อนร่วมชั้น มีอันธพาล มีผู้กล้า มีตัวโกง มีเพื่อนตัวโกง มีกลุ่มเพื่อนพระเอก พอเข้าไปอยู่ในหอ มีผู้คุมหออันดับหนึ่ง รองประธาน ผู้ช่วย เหรัญญิก มีรุ่นพี่หอเดียวกัน มีรูมเมทของพระเอก นอกจากนี้ยังมีอาจารย์สอนวิชาต่างๆ มีเพื่อนต่างหอ มีรุ่นพี่ต่างหอ หรือถ้าพระเอกเข้าชมรม ก็มีประธานชมรม รองประธานฯ เพื่อนร่วมชมรม รุ่นพี่ในชมรมเดียวกัน อาจมีศัตรูของพระเอกที่อาจเป็นคนนอก มีลูกน้องของศัตรู ฯลฯ

บางตัวละครให้บทบาทไว้ซะน่าติดตาม แต่แล้วพอเรื่องจบก็ปล่อยทิ้งไปซะงั้น มาให้อยากรู้แล้วจากไป

เคสประเภทนี้แหละที่ข้าน้อยขอบอกว่าเป็นเรื่องของปัญหาการจัดการตัวละคร

จริงๆ ปัญหานี้บางคนอาจจะไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาน่ะนะ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ (อ้าว) เพราะมันอาจจะทำให้เรื่องดีหรือสนุกกว่าเดิมก็ได้ แต่หมวกของข้าน้อยในตอนนี้นั่นคือ คนวิจารณ์งานเขียนคนหนึ่ง และหมวกนี้ทำให้ข้าน้อยต้องมองว่ามันคือปัญหา เพราะมันคือ "ส่วนเกิน" ของเรื่อง ไม่พูดก็คงไม่ได้

ถ้าเหตุการณ์หลักของโรงเรียนนี้ คือ พระเอกเป็นเด็กกำพร้าต้องการหาชาติกำเนิดของตัวเองและมีคนบอกว่าถ้ามาโรงเรียนนี้ จะทำให้ได้เจอพ่อแม่ และพออยู่ๆ ไปพบว่าพ่อกับแม่เคยเป็นครูที่่นี่แต่หายตัวไป มีข่าวลือว่าพ่อกับแม่ไปรวมกับพวกจอมมารทำลายล้างดินแดนเวทย์มนตร์ แต่พระเอกไม่เชื่อ ตามหาความจริงพร้อมกับเพื่อนสนิท และพบว่าที่จริงจอมมารที่ว่าก็คือครูใหญ่ของโรงเรียน และครูใหญ่เป็นผู้สังหารพ่อแม่พระเอกที่รู้ความจริง จนสุดท้ายพระเอกก็เปิดโปงครูใหญ่ได้ ครูใหญ่ถูกสภาจับ และโรงเรียนก็สงบสุข

ดังนั้นตัวละครสำคัญของเรื่องนี้คือ 1. พระเอก 2. ครูใหญ่ 3. พ่อแม่ (ซึ่งอาจมาในรูปแบบของผู้ถูกกล่าวถึงในความทรงจำ 4. เพื่อนสนิทพระเอก

ดังนั้น ตัวละครอื่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่ เพื่อนร่วมชั้น รุ่นน้องในชมรม ประธานหอ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ตัวละครหลัก แต่บางคนอาจเป็นคีย์ที่นำไปสู่การตามหาพ่อแม่ก็อาจจะให้บทมากกว่าเดิมหน่อย แต่ถ้าตัวละครนั้นทำหน้าที่ที่ไม่มีผลอะไรกับเนื้อเรื่องหลัก ก็ไม่ต้องไปให้บทอะไรมากนักหรอก

นี่เป็นตัวอย่างสมมุติในการจำแนกแจกบทให้ตัวละคร แต่ทีนี้ในระหว่างการตามหาพ่อแม่ อาจจะมีแข่งตีเทนนิสประจำปี พระเอกตีกับตัวร้ายต่างหอ เป็นศัตรูแบบไม่ถูกชะตากัน คนเขียนเลยให้บทกับตัวศัตรูคนนี้มากหน่อย แต่ปรากฏว่าความเป็นศัตรูที่ว่าดันไม่มีบทอะไรที่เกี่ยวพันกับเนื้อเรื่องหลักที่พระเอกจะต้องสืบหาพ่อแม่เลย คือ ชีวิตนี้มีเพื่อ against พระเอกแล้วก็จบ

ตรงนี้แหละที่ข้าน้อยรู้สึกว่า เป็นการให้กำเนิดตัวละครที่เสียเปล่า คือ สามารถให้หน้าที่อื่นกับตัวละครนี้ได้ไง แต่ไม่ใช้ ไปให้กำเนิดตัวละครอีกตัวเพื่อเป็นสุนัขรับใช้ครูใหญ่

พูดง่ายๆ คือ

ตัวละคร A หน้าที่ A (ที่มีผลต่อเรื่อง)
ตัวละคร B หน้าที่ B (ที่มีผลต่อเรื่อง)
ตัวละคร C หน้าที่ C (ที่ไม่มีผลต่อเรื่อง)

แต่ที่จริงแล้ว ตัวละคร A สามารถทำหน้าที่ได้ทั้ง A B C เท่ากับสามารถตัดตัวละครที่ไม่จำเป็นจากเรื่องไปได้ถึง 2 ตัว เป็นการใช้ตัวละครได้คุ้มค่า และนี่คือ "การจัดการ" ที่ข้าน้อยพยายามจะบอกตามหัวกระทู้เรื่อง

คำว่า "ตัด" ในที่นี้ ข้าน้อยไม่ได้หมายถึงตัด B C ออกไปจากเรื่องนี้เสมอไป แต่ลดบทบาทเขาน้อยลงจนกลายไปเป็นตัวประกอบก็ยังได้

การ Manage "ตัวละครไม่จำเป็น" สำคัญยังไง

จริงๆ ต้องย้อนกลับไปในเรื่องประเภทตัวละครก่อน ซึ่งมี criteria ในการจับต่างกันไป แต่ในที่นี้ข้าน้อยขอใช้การแบ่งเป็น 1. ตัวละครแบน คือ ตัวละครที่มีมิติจำกัด เช่น เจ้าชายในนิทานที่คนอ่านเห็นความเป็นชา(ร์)มของเจ้าชายอย่างเดียว 2. ตัวละครกลม คือ ตัวละครที่มีมิติหลายด้าน มีโกรธ มีเหวี่ยง มีมุมน่ารัก เป็นต้น (ขออธิบายสั้นๆ แค่นี้ ไปหาอ่านเอาเอง มีสิ่งที่ต้องศึกษามากกว่านี้เยอะ)

ส่วนมากปัญหาการจัดการตัวละครเกิดได้ทั้งตัวละครแบนและกลม แต่ตัวที่ก่อปัญหาเยอะมากกว่าคือ "ตัวละครกลม" 

ขึ้นชื่อว่ากลม แปลได้อีกอย่างคือ คนเขียนคงมีอะไรในใจกับตัวละครนั้นที่ต้องการนำเสนอคนอ่านในหลายแง่มุม ไมว่าจะเป็นตัวเอก หรือตัวรอง หรือแม้แต่่ตัวประกอบ และมันทำให้คนอ่านรู้จักตัวละครมากขึ้น ผูกพันมากขึ้น และนั่นมากับการคาดหวังให้คนเขียนกล่าวถึงตัวละครนั้นๆ ให้มากขึ้นไปอีก

ยิ่งคนเขียนปั้นตัวละครตัวใดตัวหนึ่งให้กลมเท่าไร หมายถึงความคาดหวังของคนอ่านต่อตัวละครนั้นๆ มากขึ้นเป็นเงาตามตัว และแน่นอนว่านั่นคือระดับความรับผิดชอบของคนเขียนที่มีต่อตัวละครนั้นๆ ในระดับเทียบเท่ากัน

แค่หาชะตากรรมตัวละครหลัก 4 ตัวให้ลงตัวก็เหนื่อยพอแล้ว ยังต้องมาจัดการพวกเบี้ยรายทางที่ให้บทไว้ซะดิบดีในตอนแรกอย่าง รุ่นพี่สุดเท่ประจำหอพักงี้ อย่างเพื่อนร่วมชั้นผู้กล้างี้ ฯลฯ นี่คือกรณีที่คนเขียนยังรับผิดชอบ แต่ถ้าคุมไม่ได้แล้ว ผลก็คือตามตัวอย่างที่ข้าน้อยยกไว้ตอนต้น ทิ้งขว้างแบบไม่เกรงใจคนอ่านทั้งสิ้น จนเกิดคำถามว่าจะให้กำเนิดมาเพื่อ? นอกจากนี้ตัวละครที่เป็น "ส่วนเกิน" ทั้งหลายทำให้เนื้อเรื่องยืดไปแบบไม่ได้อะไรเลย เรียกง่ายๆ ก็คือ ไม่น้ำเจิ่งนอง ก็อาจทำให้คนเขียนพายเรือออกทะเลไปได้

ถ้าไม่อยากเจอปัญหาเหล่านี้ ขอให้ไป Manage ตัวละคร ทั้งบทบาทรวมถึงชะตากรรมของพวกเขาให้ดี

แล้วก็ไม่ใช่ว่ารู้ว่าจะต้องให้จุดจบ หรือชะตากรรมกับตัวละครแต่ละตัวแล้วจะจบแค่นั้น ถ้าเป็นชะตากรรมแบบไร้เหตุผล ไร้ที่มา หรือไร้น้ำหนัก ก็ไม่ได้อีก บอกไปแล้วว่าความกลมของตัวละคร เท่ากับ คาดหวังของคนอ่านต่อตัวละครนั้นๆ นักเขียนบางคนข้าน้อยเห็นอยู่แหละว่าเขารับผิดชอบ รู้ว่าต้องปิดตัวละครนี้ให้ได้ แต่ปิดได้แบบข้าน้อยเอามือทาบอก แทบจะเอาอะไรเขวี้ยงใส่คนเขียน เพราะเป็นความรับผิดชอบที่ไม่รับผิดชอบแบบนี้ก็มีเหมือนกัน

การ Manage ไม่ใช่แค่ตัวละครเท่านั้น ควรทำทั้ง ฉาก เหตุการณ์ หรือองค์ประกอบที่อยู่ในนิยาย ทำให้ส่วนเกินออกมาน้อยที่สุด เพื่อตัดภาระคนเขียน ตัดภาระคนอ่าน และทำให้เรื่องกระชับขึ้นได้ขอรับ

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น