ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ห้องเรียนนิยาย

    ลำดับตอนที่ #14 : แด่นักเขียนที่กำลังเจ็บปวดกับความฝันของตัวเอง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 199
      2
      25 ก.ค. 61

    ไม่ได้ว่างหรอก ยังเขียนรายงานหัวฟูอยู่เลยค่ะ แต่คืนนี้รู้สึกอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมา ซึ่งก่อนจะอ่านกัน ขอออกตัวก่อนเลยว่า บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ได้อ้างอิงวิชาการ อาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้ ออกความเห็นกันได้นะคะ

    ก่อนอื่น สืบเนื่องจากบทความนี้ “ทำไมคนเจนวายถึงไม่มีความสุข?” ตามลิ้งค์นี้
    http://fjsk.in.th/2014/03/why-generation-y-yuppies-are-unhappy

    ขอเกริ่นก่อนว่า Generation Y (Yuppies) คือการจัดกลุ่มคนที่เกิดช่วงประมาณ พ.ศ. 2523-2540 ค่ะ คนเขียนบทความอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ รวมทั้งภาพประกอบที่ดูน่ารักดี อยากให้ได้อ่านกัน แต่ในที่นี้ขอเล่าคร่าวๆ ซึ่งเป็นส่วนของบทความผสานกับความเข้าใจของเราเองว่า เจ้าของบทความยกสมการหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ

    ความสุข = ความจริง – ความคาดหวัง

    ประเด็นคือคนรุ่นก่อน Gen Y มีสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้พวกเขาอยู่กับความเป็นจริงมากกว่าความคาดหวัง สมมติว่าความจริงเป็น 5 แต่ความคาดหวังของพวกเขามีเพียง 2 เมื่อนำมาใส่ในสมการแล้วก็จะเป็น

    5 – 2 = 3 นั่นคือคนก่อน Gen Y มีค่าความสุขเท่ากับ 3

    แต่แล้วพอเป็น Gen Y ซึ่งเป็นรุ่นที่เกิดในช่วงที่คนรุ่นก่อนเริ่มสร้างฐานะอยู่ตัว พวก Gen Y จึงเกิดมาพร้อมกับการเลี้ยงดูที่ยกให้เป็น ‘คนพิเศษ’ และด้วยมายาคตินี้เองผลักดันให้คนรุ่นนี้มีความทะเยอทะยานสูง มีความเชื่อว่าตนเองเหนือกว่าใคร ส่งผลให้ความคาดหวังของคนกลุ่มนี้สูงลิ่วเช่นกันเพราะพวกเขาได้รับความ ‘พิเศษ’ นี้จากครอบครัวมาตลอด

    สมมติว่าความจริงยังคงเท่าเดิมนั่นคือ 5 แต่ความคาดหวังของกลุ่ม Gen Y พุ่งไป 8 เมื่อนำมาใส่สมการก็จะเป็น

    5 – 8 = -3 นั่นคือ คน Gen Y มีค่าความสุขที่ติดลบ 3

    และยิ่งนานวันที่ Social Network กำลังครอบครองสังคม ตัวตนของคนจริงกับตัวตนใน Social Network นั้นต่างกัน ยากที่จะปฏิเสธว่าตัวตนของเราในยามที่ต้องการให้คนอื่นได้เห็นย่อมดูดีกว่าตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นธรรมดา แม้ว่าเราจะไม่ได้อาบน้ำสระผมก็จริง แต่เราไม่มีทางถ่ายรูปสภาพหัวซังกะตังให้ใครได้เห็นแน่นอน และถ้ามีเหตุให้ต้องถ่ายรูปลง Social Network ก็อาจจะยอมอาบน้ำซักที หรือไม่ก็มัดผมไปเลยจะได้ไม่เห็น หน้าไม่ล้างฟันไม่แปรงไม่เป็นไร กล้องฟรุ้งฟริ้งช่วยคุณได้

    แต่เหล่า Gen Y ที่เห็นสภาพที่ดูดีเสมอของเพื่อนในสังคม ทำให้เข้าใจว่าคนอื่นๆ เขาก็ดูเจ๋ง ดูประสบความสำเร็จ ดูมีตังค์กันทั้งนั้น เราดูด้อยกว่าเขาไปโดยปริยาย และนั่นยิ่งทำให้ความมั่นใจที่ตนเองเป็นคนพิเศษตามที่ถูกปลูกฝังมากระทบกระเทือนมากขึ้นไปอีก ทำให้เจ้าความสุขที่ -3 อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม อาจจะไปถึง -5 ก็เป็นไปได้

    แล้วบทความของ Gen Y เกี่ยวอะไรกับความสุขของนักเขียน?

    เพราะมันใกล้เคียงกันไงคะ โดยเฉพาะนักเขียนสมัยนี้ที่อยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตนี่แหละ คำกำจัดความนัยยะหนึ่งของคนเขียนก็คือ คนสร้างฝัน ถ้าพูดถึงคำนี้ พอจะเข้าใจหรือยังคะว่ามันเกี่ยวกับบทความข้างบนยังไง

    ความฝัน มักจะเป็นที่มาของความคาดหวัง ยิ่งฝันไกลเท่าไร ความคาดหวังต่อความฝันยิ่งมากเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่เราจะพูดต่อไป จะมีทั้งความคาดหวัง และความฝัน ขอให้แยกแยะมันให้ดีนะคะจริงๆ

    ไม่จำเพาะคนเขียนที่เป็น Gen Y หรอก คนเขียนทุกยุคต้องเผชิญหน้ากับสมการความสุขมาแล้วทั้งสิ้น ฝ่าฟันได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำต่อไป หรือไม่อีกทีก็คือล้มเลิกไปเลย เรามั่นใจว่าคนเขียนหนังสือทุกคนต่างผจญกับตัวเลขความสุขที่ติดลบมาแล้วทั้งสิ้น


    ความสุข = ความจริง – ความคาดหวัง

    ความจริงในที่นี้คืออะไร มีเยอะแยะตาแป๊ะไก่ แต่สิ่งหลักๆ ของความเป็นจริงในโลกก็คือ หนังสือของเราขายออกหรือเปล่า ในโลกของธุรกิจที่มีการแข็งขันและมีผลกำไรเป็นสิ่งสูงสุด สำนักพิมพ์ย่อมมองตลาดว่าคนชอบอะไร นิยมอะไรก็ผลิตสิ่งนั้นขึ้นมา ซึ่งเมื่อไรที่มีธุรกิจและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนมากมักจะเป็นปัจจัยหลักที่สวนทางกับความฝัน

    เรื่องที่ดีบางครั้งไม่จำเป็นต้องขายได้ เรื่องที่ขายได้บางครั้งไม่จำเป็นต้องดี เรื่องนี้เป็นธรรมดาโลกไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม

    ทีนี้แล้วความคาดหวังของนักเขียนมีอะไรบ้าง มีตั้งแต่อยากเป็นนักเขียนชื่อดังก้องโลก เป็นนักเขียนที่คนในประเทศให้การยอมรับ อยากเป็นนักเขียน Full Time วันๆ ได้ทำงานสิ่งที่ตัวเองชอบ อยากมีหนังสือตีพิมพ์ของตัวเอง อยากให้งานเขียนมีคนอ่านตีพิมพ์หรือไม่ตีพิมพ์ก็ไม่เป็นไร

    สมมติว่าความจริงเท่ากับ 5 ความคาดหวังอยากเป็นนักเขียนยิ่งใหญ่ก้องโลกมีค่าเท่ากับ 15

    5 – 15 = -10 ค่าความสุขเมื่อเทียบกับความเป็นจริงเท่ากับติดลบ 10 มันโหดร้ายกับความรู้สึกไม่น้อยทีเดียว

    จริงๆ จะบอกว่าความคาดหวังแต่ละคนส่วนมากก็ยิ่งใหญ่ทั้งนั้นแหละ แต่ความเป็นจริงตบความคาดหวังเหล่านั้นให้ย่อส่วนลงไปเรื่อยๆ จนเหลือน้อยนิดอย่างน่าสิ้นหวัง แต่มันเป็นสัญชาตญาณมนุษย์อยู่แล้วที่ไม่อยากเจ็บปวดกับมัน ทุกคนเรียนรู้สมการนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่อาจจะไม่ได้คิดใคร่ครวญให้จริงจังเท่าไร ความคาดหวังที่ถูกทำให้เล็กลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความฝันแค่ขอให้มีคนอ่านงานของฉันแค่คนเดียว ฉันก็พอใจแล้ว ค่าของมันก็คือ 6

    5 – 6 = -1 ความสุขกับความคาดหวังที่เล็กลงมีค่าติดลบ 1

    อย่างน้อยที่สุด มันไม่สาหัสเท่ากับติดลบ 10 ก็โอเค ฉันมีชีวิตเป็นนักเขียนต่อไปได้ ถ้าต้องเผชิญกับความคาดหวังระดับ 15 ไปนานๆ อาจปางตายก่อนได้ หรือไม่อีกทีหนึ่งก็คือ ไม่เหลือความเคารพในตัวเอง สิ้นหวังและสุดท้ายก็ล้มเลิกเปลี่ยนมันให้กลายเป็น 0 ไปเลย

    แต่ที่พูดไปนี่แค่กล่าวถึงนักเขียนในองค์รวมนะคะ แต่บทความนี้ต้องการเน้นนักเขียนที่อยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตเป็นพิเศษ เพราะอะไรหรือคะ? เพราะมันทำให้ ‘ความฝัน’ ปกติของคนเขียนทั่วไป มีปัจจัยที่ทำให้มันบิดเบี้ยวไปไม่ต่างจาก Social Network หรือกล้องฟรุ้งฟริ้งนั่นไงคะ

    นักเขียนด้วยกันเองมีการติดต่อกันผ่าน Social Network กันบ้าง และแน่นอนว่ามันทำให้เกิดการเปรียบเทียบขึ้นได้ง่าย ว่าฉันพยายามแทบตายทำไมไม่เห็นได้ตีพิมพ์สักทีในขณะที่เพื่อนร่วมวงการวันๆ ไม่เห็นทำอะไร เห็นถ่ายแต่รูปของกินขึ้นหน้า Facebook ทำไมหนังสือเขาถึงได้ตีพิมพ์ขายดิบขายดี ทั้งที่จริงเรื่องมันก็กะโหลกกะลา ไม่เห็นมีคุณค่าอะไรเลย ฯลฯ หรือเรื่องนั้นก็ดูเห่ย ทำไมยอดวิวยอดเม้นต์สูงจะอ่ะ (ว่าแล้วก็หันมาดูยอดวิวในนิยายตัวเอง)

    อย่างที่บอกไปแล้วว่าตัวตนที่อยู่ใน Social Network มักจะดูดีกว่าตัวตนที่แท้จริงเสมอ ยอดวิวยอดเม้นต์ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่ของจริงก็ได้ หมายความว่าไง? ก็เพราะเป็นเรื่องให้ลงอ่านฟรีไงคะ ค่าตอบแทนของการอ่านฟรีก็อาจจะให้คอมเม้นต์ไว้บ้าง แต่เมื่อไรที่ค่าตอบแทนของการอ่านคือ "เงิน" จากมายาจะเริ่มเข้าสู่ความจริงแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นอย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่องตีพิมพ์เลย พูดถึงแค่เรื่องยอดวิวกับยอดเม้นต์ก็เศร้าแทบแย่แล้ว เวลาเห็นเรื่องอื่นคนอ่านเยอะแยะอะไรงี้

    แม้จะรู้ความจริงในข้อนี้ แต่สุดท้ายแล้วบางคนก็ยังเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น ยิ่งทำให้ความสิ้นหวังในตัวตนของตนเองดูต่ำต้อยลงไปอีก จากที่ -10 ซึ่งก็ปางตายแล้ว มีปัจจัยนี้มาเกื้อหนุนที่อาจทำให้กลายเป็น -15 ได้ไม่ยากทีเดียว

    แล้วพูดมาถึงตรงนี้แล้วยังไง อยากให้เลิก? อยากให้หวังน้อยๆ อยากให้ทำอะไร?

    ขอย้อนกลับไปที่บทความเรื่อง Gen Y อีกครั้งนะคะ เจ้าของบทความแนะนำไว้ตามนี้ค่ะ (ขอยกมาทั้งข้อความเลยนะคะ)

    1. ทะเยอทะยานให้มากเข้าไว้เหมือนเดิม โลกนี้ยังมีหนทางไปสู่ความสำเร็จให้กับคนที่มีความทะเยอะทะยานสูงอยู่ ถึงหนทางอาจจะยังไม่แน่ชัด แต่ก็คุ้มที่จะสู้

    2. เลิกคิดว่าตัวเองพิเศษ ความเป็นจริงก็คือคุณ-ไม่ได้พิเศษอะไรเลย คุณคือ-เด็กที่ไหนก็ไม่รู้ที่ไม่มีประสบการณ์มากพอ คุณจะเป็นคนพิเศษได้ก็ต่อเมื่อทำงานหนักมาเป็นเวลานาน

    3. เลิกสนใจคนอื่น หญ้าบ้านคนอื่นเขียวกว่าบ้านตัวเองไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทุกวันนี้โลกมันสร้างภาพกันง่ายกว่าเดิม บางทีหญ้าบ้านคนอื่นอาจจะดูเหมือนทุ่งเลยก็ได้จากมุมมองของเรา ความจริงก็คือทุก ๆ คนเป็นเพียงพวกที่ยังลังเล, สงสัยในตัวเองและมีความผิดหวังเหมือนที่คุณเป็นนั่นแหละ เพียงแค่คุณทำหน้าที่ของคุณไปให้ดี ๆ คุณก็ไม่จำเป็นต้องอิจฉาคนอื่นอีกเลย

    ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่สามารถนำมาปรับใช้กับการทำยังไงให้นักเขียนที่ไร้ความสุขมีความสุขกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น

    1. คงความฝันเท่าเดิม แต่ลดความคาดหวังให้น้อยลง อย่างที่เราบอกไปแล้วว่าความฝันเป็นที่มาของความคาดหวัง แต่ไม่ได้หมายความว่าสองปัจจัยนี้จะตัวติดกันเป็นฝาแฝดอินจันนะคะ มันสามารถแยกออกได้หากคุณรู้ตัว มีสติใคร่ครวญกับมัน เมื่อไรที่คุณเจ็บปวดกับความฝัน เมื่อนั้นขอให้ใช้สติระลึกรู้เสียว่า สิ่งที่ทำให้คุณเจ็บปวดไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นความคาดหวังต่างหาก

    ขอให้ยึดความฝันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต แต่อย่าให้มันมาทำลายชีวิตด้วยมายาคติของความคาดหวังค่ะ

    2. เลิกคิดว่างานของฉันดีเลิศประเสริฐศรีจนแอบด่าสำนักพิมพ์ในใจว่าทำไมไม่รับงานกรูฟระ งานออกจะดีขนาดนี้ ให้อะไรต่อสังคม ให้ความบันเทิงกับคนอ่านถึงขนาดนี้ ฯลฯ จะบอกว่างานไหนดีหรือไม่ดีไม่มีใครสามารถตัดสินได้หรอกค่ะ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจริตของคนอ่านล้วนๆ โดยที่คนเขียนไม่อาจทำอะไรได้เลย รสนิยมคนอ่านคือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ในเมื่อควบคุมไม่ได้แล้วคนเขียนก็พยายามเหลือเกิน แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็มีแต่จะทุกข์เปล่าๆ

    สุดท้ายไม่ว่าสำนักพิมพ์จะรับหรือไม่ ก็จงก้มหน้าก้มตาเขียนไป คนเขียนที่ไม่หยุดพัฒนาตนเอง เป็นคนเขียนที่ประสบความสำเร็จแล้วค่ะ ไม่ว่าใครจะเห็นหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดตัวคุณเห็น คุณรู้อยู่แก่ใจ และคุณจะภูมิใจในสิ่งที่คุณเป็น

    ศักดิ์ศรีและความภูมิใจของนักเขียนเป็นสิ่งสำคัญ ตราบเท่าที่เรายังมองหน้าทุกคนได้ ไม่ต้องก้มหน้าก้มตาหลบด้วยความละอาย เท่าที่คือพรที่ยิ่งใหญ่เท่าที่นักเขียนคนหนึ่งพึงได้รับแล้วค่ะ

    3. ไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบกับใคร ภาพที่มองว่าสวยงามบางทีอาจจะเป็นแค่ความเข้าใจผิดของตัวเองที่ย้อนนำมาทำลายตัวเองโดยที่อีกฝ่ายก็ไม่ได้เจ็บปวดอะไรไปกับคุณ บางทีเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณทำให้เขาน้อยเนื้อต่ำใจ ถ้าเป็นไปได้ก็หยุดเปรียบเทียบกับเขาจะดีกว่า แล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำงานของคุณต่อไป

    ที่จริงพูดน่ะพูดได้ แต่วิสัยมนุษย์อาจจะอดไม่ได้ที่จะไปมองคนอื่นๆ เขาใช่ไหมล่ะ ดังนั้นถ้าจะไปมองใคร ขอให้มองเขาด้วยความนับถือ มองด้วยความชื่นชม คนเรามีสิ่งมากมายที่จะมองนับถือกันได้ง่ายๆ แล้วจงใช้ความนับถือนั้นเป็นพลังในแง่บวกที่ได้เห็นคนประสบความสำเร็จ

    อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้เห็นว่า เส้นทางความฝันมีจริง มีคนสู้กับขวากหนามต่างๆ และสามารถฝ่าฟันมันไปได้ เส้นทางนี้มันไม่ใช่ภาพลวงตาเพราะมีคนทำมันสำเร็จจริง แล้วเส้นทางความฝันนั้นจะหล่อเลี้ยงให้คุณก้าวต่อไปข้างหน้าได้ มันอาจจะเหนื่อย มันอาจจะล้า แต่เส้นทางนี้คือเส้นทางแห่งความสุขค่ะ ตราบเท่าที่มันมีความสุขอยู่ในนั้น ก็อย่าทำให้มันแปดเปื้อนด้วยพลังลบทั้งปวงนะคะ

    หวังว่าบทความ Gen-Y กับบทความนี้จะมีประโยชน์กับนักเขียนที่กำลังท้อใจ หมดพลังใจในการสานต่อความฝันของตัวเอง ขอให้เชื่อพลังในความฝัน ขอให้ลดความคาดหวังลง เพื่อให้เราเดินต่อไปได้อย่างมีความสุขนะคะ

    ไหนๆ ก็แปะเพลงให้กำลังใจซะหน่อย...ขอพลังแห่งความฝันจงมีแด่ท่านทั้งปวงค่ะ

    ปล. ขอบคุณผู้ให้แรงบันดาลใจในการเขียนบทความนี้แม้ว่าเราจะไม่รู้จักกันค่ะ
     
     
     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×