ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    108 ซองคำถาม lll

    ลำดับตอนที่ #21 : ฮาจิโกะ : ยอดสุนัขผู้ซื่อสัตย์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 372
      0
      4 มี.ค. 49




                                ฮาจิโกะ : ยอดสุนัขผู้ซื่อสัตย์



    คอลัมน์ถามตอบรอบโลกของเราวันนี้ เป็นคำถามจากคุณ วิไล อริยะวุฒิกุล ที่อยากรู้เรื่องราวความเป็นมาของรูปหล่อที่เป็นรูปสุนัข ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟชิบูยะประเทศญี่ปุ่น โดยคุณพอทราบเรื่องราวมาบ้างว่าเป็นสุนัขที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้าของ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอมาไขปัญหาคาใจนี้ให้หมดสิ้นไป
           
           สำหรับรูปหล่อของสุนัขอันโด่งดังแห่งย่านชิบูยะนั้น เป็นตัวแทนให้ระลึกถึงความซื่อสัตย์ของเจ้าฮาจิโกะ สุนัขพันธุ์อากิตะ ซึ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1923 ในจังหวัดอากิตะ โดยเมื่ออายุได้เพียง 2 เดือนเจ้าฮาจิโกะถูกส่งตัวไปอยู่กรุงโตเกียวกับเจ้านายของมันคือ เอซะบุโระ อุเอะโนะ ศาสตราจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล(มหาวิทยาลัยโตเกียวในปัจจุบัน) ซึ่งศาสตราจารย์รู้สึกภาคภูมิใจกับเจ้าฮาจิโกะเป็นอย่างมาก เนื่องจากมันเป็นสุนัขอากิตะสายพันธุ์แท้ซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้น
           
           ในวันที่เจ้านายต้องไปสอนหนังสือ ฮาจิโกะจะคอยส่งเจ้านายถึงประตูหน้าบ้าน โดยอุเอะโนะต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีชิบูยะ จากนั้นเมื่อถึงเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานแล้ว เจ้าฮาจิโกะจะมากระดิกหางรอพบเจ้านายของมันที่สถานีรถไฟเสมอ แต่แล้ววันหนึ่งในวันที่ 21 เดือนพฤษภาคม 1925 ศาสตราจารย์ อุเอะโนะ เกิดอาการเส้นโลหิตในสมองแตก และเสียชีวิตขณะอยู่ที่มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ในวันนั้น ฮาจิโกะยังคงมารอเจ้านายของมันที่สถานีรถไฟ โดยไม่มีทางรู้ได้เลยว่า มันจะไม่ได้พบกับเจ้านายของมันอีกแล้ว เนื่องจากเขาได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ
           
           หลังจากที่ศาสตราจารย์อุเอะโนะเสียชีวิต ภรรยาของเขาได้ย้ายบ้านไปและนำเจ้าฮาจิโกะไปให้กับญาติของศาสตราจารย์ที่อยู่ห่างออกไปจากสถานีรถไฟหลายกิโลเมตร แต่ว่าเจ้าสุนัขพันธุ์อากิตะผู้ซื่อสัตย์กลับไม่ยอมอยู่กับเจ้านายใหม่ของมัน เพราะทันทีที่มันหลุดออกมาได้ มันวิ่งตรงไปที่บ้านเก่าของมันแต่เมื่อไม่เจอใคร มันจึงกลับไปรอที่สถานีรถไฟเหมือนเมื่อครั้งที่เจ้านายของมันยังมีชีวิตอยู่ โดย คิคุซะบุโระ โคบายาชิ อดีตคนสวนของศาสตราจารย์ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟเป็นคนคอยดูแลเจ้าฮาจิโกะแทน
           
            ทุกวันเมื่อถึงเวลา 15.00 น. เจ้าฮาจิโกะจะวิ่งไปรอเจ้านายของมันที่สถานีรถไฟไม่เคยขาด ทำให้เรื่องราวความซื่อสัตย์ของมัน เริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องราวของมันถูกตีพิมพ์ลงบนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นในปี 1932 ทำให้ผู้คนทั่วสารทิศเดินทางมาดู มาเล่นกับเจ้าฮาจิโกะ นอกจากนั้น ชาวญี่ปุ่นยังได้ยกให้เจ้าฮาจิโกะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กๆอีกด้วย
           
            ในเดือนเมษายน 1934 อันโดะ เทะรุ ศิลปินชื่อดังจึงได้ทำรูปหล่อทองแดงของเจ้าฮาจิโกะขึ้นมาเพื่อยกย่อง และนำไปตั้งไว้ที่สถานีรถไฟชิบูยะ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม 1935 ฮาจิโกะก็ได้กลับไปพบกับเจ้านายของมันอีกครั้ง โดยมีคนพบว่าฮาจิโกะนอนตายยังจุดที่มันคอยมารอเจ้านายของมันทุกวันมานานกว่า 10 ปี ซึ่งข่าวการตายของฮาจิโกะนั้นถือว่าเป็นข่าวใหญ่มาก จนถูกตีพิมพ์ลงบนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น สำหรับร่างของฮาจิโกะนั้นถูกนำไปเก็บรักษาเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในกรุงโตเกียว
           
            แม้ว่าฮาจิโกะจะจากไปแล้วแต่เรื่องที่น่าสนใจจากฮาจิโกะยังคงไม่จบ เนื่องจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้เหล็กและโลหะเป็นอย่างมาก จนถึงกับต้องเอารูปหล่อของเจ้าฮาจิโกะมาหลอมเลยทีเดียว กระนั้นความซื่อสัตย์ของฮาจิโกะยังคงไม่เคยถูกลืมไปจากใจชาวญี่ปุ่น เพราะในเวลาต่อมาได้มีการจัดทำรูปหล่อของฮาจิโกะขึ้นมาอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 1947 และศิลปินผู้รับหน้าที่นี้ก็คือ อันโดะ ทะเคะชิ ลูกชายของ อันโ ดะ เทะรุ ผู้ที่ทำหน้าที่สร้างรูปหล่อฮาจิโกะเมื่อครั้งแรกนั้นเอง ซึ่งปัจจุบันจุดที่รูปหล่อฮาจิโกะตั้งอยู่นั้นได้กลายเป็นจุดนัดพบยอดนิยมของย่านชิบูยะ
           
            ทั้งนี้ นอกจากรูปหล่อที่ย่านชิบูยะแล้ว ยังคงมีรูปปั้นที่เตือนให้ระลึกถึงฮาจิโกะอยู่อีกหลายแห่ง เช่น ที่หน้าสถานีรถไฟโอะดะเตะ ในจังหวัดอากิตะ บ้านเกิดของเจ้าฮาจิโกะ เป็นต้น ส่วนเรื่องของเจ้าฮาจิโกะยังคงเป็นที่เล่าขานในญี่ปุ่น ถึงขนาดมีการนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน และอื่นๆอีกมากมาย



    +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×