ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    108 ซองคำถามII

    ลำดับตอนที่ #128 : เนบิวลา...แหล่งกำเนิดดวงดาว ตอน 2

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 148
      0
      22 มี.ค. 48

    เนบิวลา...แหล่งกำเนิดดวงดาว







    แม้ว่าในกาแล็กซีจะมีกลุ่มก๊าซที่มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลักเกาะกลุ่มกันเพียงบางเบาราวกับสุญญากาศ แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นในทุก ๆ ที่  ในบางบริเวณโดยเฉพาะตามแขนกังหันของกาแล็กซี โมเลกุลของก๊าซเหล่านั้นอาจจะอยู่ใกล้กันด้วยผลของแรงดึงดูด ซึ่งทำให้ก๊าซเหล่านี้รวมตัวกันเป็นก้อนก๊าซขนาดใหญ่ที่มีความกว้างนับสิบไปจนถึงนับร้อยปีแสง  บางส่วนของกลุ่มก๊าซนี้จะมีความหนาแน่นสูงกว่าในบริเวณอื่น แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของก๊าซที่อยู่กันหนาแน่นกว่าส่วนอื่นนี้ได้ทำให้มันยุบตัวเข้าหากันจนเกิดความร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในบริเวณกึ่งกลางของก๊าซที่ยุบตัวนี้ สิ่งหนึ่งกำลังเกิดขึ้น สิ่งที่กำลังจะกลายมาเป็นดาวฤกษ์ซ่อนตัวอยู่ภายในก้อนก๊าซที่หนาแน่นจนมองไม่เห็นจากภายนอก มันดูราวกับตัวอ่อนของไหมในรังที่ห่อหุ้มมันอยู่  และเมื่อแรงโน้มถ่วงทำให้ก้อนก๊าซนี้ร้อนจัดจนถึงจุดจุดหนึ่ง ปฏิกิริยานิวเคลียร์ก็จะเกิดขึ้น ณ จุดที่ความหนาแน่นของก๊าซสูงที่สุด และดาวฤกษ์ดวงใหม่ก็จะถือกำเนิดขึ้นมา สิ่งที่ซ่อนตัวอยู่ภายในก้อนก๊าซก็จะค่อย ๆ เผยโฉมขึ้นมาให้เราเห็นด้วยประกายแสงสว่างอันเจิดจ้าซึ่งจะผลักดันก้อนก๊าซที่ห่อหุ้มอยู่ให้กระจายตัวออกไป  และไม่ใช่แต่เพียงดาวฤกษ์ดวงเดียวเท่านั้นที่ถือกำเนิดขึ้นมา ก้อนก๊าซขนาดมหึมานี้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะสร้างดาวฤกษ์ขึ้นมาได้นับพัน ๆ ดวงเลยทีเดียว



          แหล่งกำเนิดดาวฤกษ์นี้มีอยู่มากมายตามบริเวณแขนกังหันของกาแล็กซี บางแห่งอยู่ใกล้กับเราจนสามารถมองเห็นได้ในยามค่ำคืนแม้ด้วยตาเปล่า บ้างก็อยู่ไกลออกไปจนยากที่จะสำรวจให้เห็นได้  ถ้าหากเราสำรวจไปยังกาแล็กซีแห่งอื่น ๆ ที่มีลักษณะรูปร่างแบบเดียวกับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราเอง เราก็จะเห็นสิ่งที่มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในกาแล็กซีแห่งอื่น ๆ ด้วย  ดวงดาวทั้งหลายรวมทั้งดวงอาทิตย์ของเราล้วนถือกำเนิดขึ้นมาจากกลุ่มก๊าซและฝุ่นเหล่านี้ ซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกมันว่า \"เนบิวลา\" (Nebula)  คำว่า \"เนบิวลา\" นี้มาจากภาษาละตินซึ่งมีความหมายว่า หมอก หรือ ก้อนเมฆ



          เนบิวลาที่ปรากฏให้เห็นมีอยู่หลายลักษณะ บ้างก็เป็นเพียงกลุ่มก๊าซที่ดูดำมืดจนมองไม่เห็นนอกเสียจากว่ามันจะไปปรากฏอยู่บนฉากหลังที่เต็มไปด้วยดวงดาวที่อยู่ไกลออกไป หรือบนฉากหลังซึ่งเป็นเนบิวลาที่เรืองแสงสว่าง  เนบิวลาแบบนี้เรียกว่า \"เนบิวลามืด\" หรือ \"Dark Nebula\"  ก้อนก๊าซนี้ยังไม่เกิดการยุบตัวที่จะสร้างดาวฤกษ์ขึ้นมา  แต่เนบิวลาอีกมากมายเป็นกลุ่มก๊าซที่เรืองแสงขึ้นมาเพราะมันได้สร้างดาวฤกษ์เกิดใหม่ขึ้นมาจำนวนมากมาย ดาวฤกษ์ที่ร้อนแรงบางดวงจะเปล่งพลังงานในย่านคลื่นความถี่สูงเช่นในย่านคลื่นอัลตราไวโอเลตจนทำให้ก๊าซที่อยู่รายรอบถูกกระตุ้นจนเรืองแสงสว่างขึ้นมาให้เราเห็น เนบิวลาเรืองแสงแบบนี้นักดาราศาสตร์เรียกว่า \"Emission Nebula\"   กลุ่มก๊าซและฝุ่นบางแห่งอยู่ไกลออกมาจากดาวฤกษ์ที่สว่างไสวจึงไม่ได้ถูกกระตุ้นให้เรืองแสงดังเช่น Emission Nebula ข้างต้น แต่ก๊าซและฝุ่นเหล่านี้จะดูดซับและสะท้อนแสงของดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลออกไปอีกทีหนึ่ง เนบิวลาแบบนี้จะมีสีฟ้าเพราะกลุ่มก๊าซจะทำหน้าที่แบบเดียวกับโมเลกุลของชั้นบรรยากาศของโลกที่กระจายแสงอาทิตย์จนทำให้ท้องฟ้ามีสีฟ้า เนบิวลาที่สะท้อนแสงจากดวงดาวนี้นักดาราศาสตร์เรียกว่า \"Reflection Nebula\"



          ไกลออกไปจากระบบสุริยะราว ๑,๕๐๐ ปีแสงในบริเวณแขนกังหันของกาแล็กซีทางช้างเผือกในบริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion)  จะมีเนบิวลาแบบเรืองแสงขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กับเรามากที่สุดปรากฏอยู่ สามารถมองเห็นได้ราง ๆ ด้วยตาเปล่าดูคล้ายกับดาวฤกษ์ที่ฝ้ามัว  แต่เมื่อเราใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ส่องสำรวจในบริเวณดังกล่าว ความลับของมันก็จะเผยโฉมขึ้น สิ่งที่เห็นดูคล้ายกับก้อนหมอกที่มีรูปร่างคล้ายพัดที่คลี่ออก  ภายในฝ้าแสงสีขาวอมเทานี้เราจะมองเห็นดวงดาวอยู่มากมาย ที่ใจกลางกลุ่มก๊าซนี้จะมีดาวฤกษ์สี่ดวงที่สว่างสะดุดตาอยู่  ฝ้าแสงที่เรามองเห็นนี้ก็คือกลุ่มก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซอื่น ๆ เช่น ออกซิเจน ที่เรืองแสงขึ้นมาเมื่อถูกกระตุ้นจากรังสีอัลตราไวโอเลตของดาวฤกษ์ที่ร้อนแรงเหล่านี้  กลุ่มก๊าซนี้มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้ากว้างราว ๆ ๑ องศา ด้วยระยะห่าง ๑,๕๐๐ ปีแสงทำให้สามารถประเมินได้ว่าก้อนก๊าซนี้มีความกว้างจริง ๆ ประมาณ ๓๐ ปีแสง  เนบิวลาเรืองแสงในกลุ่มดาวนายพรานที่กำลังพูดถึงนี้มีชื่อเรียกว่า \"Orion Nebula\" หรือมีชื่อตามบันทึกของ Charles Messier ว่า \"M-42\"



          Orion Nebula จัดว่าเป็นเนบิวลาแบบเรืองแสงขนาดใหญ่และสว่างมากที่สุดแห่งหนึ่งบนท้องฟ้า และเป็นวัตถุท้องฟ้าที่นักดาราศาสตร์อาชีพและสมัครเล่นทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุด  เราสามารถมองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ในกลุ่มก๊าซแห่งนี้ได้ดี แต่ไม่สามารถมองเห็นสีสันของเนบิวลานี้ได้แม้ว่าจะสังเกตโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่แล้วก็ตาม  ทั้งนี้เป็นเพราะตาของมนุษย์นั้นไม่ไวต่อสีในสภาพแสงที่จาง ๆ เช่นนี้ รวมทั้งสมองของเราจะเก็บและแปรสัญญาณภาพที่ตามองเห็นแต่ละภาพในเวลาสั้น ๆ เพียงแค่เศษเสี้ยวของวินาที ตาของเราไม่สามารถสะสมแสงได้นาน ๆ ดังเช่นกล้องถ่ายภาพ  แต่หากเราใช้การถ่ายภาพเพื่อสะสมแสงที่เดินทางมาจากที่ที่ไกลแสนไกลในเวลาที่นานมากพอ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นจากภาพถ่ายจะทำให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ ความงดงาม สีสัน และความเป็นไปของกลุ่มก๊าซแห่งนี้ได้ดี



          Orion Nebula ก็คือโรงงานผลิตดวงดาวแห่งหนึ่งในกาแล็กซีของเรา ก๊าซไฮโดรเจนที่มีอยู่มากที่สุดเมื่อถูกกระตุ้นโดยแสงในย่านคลื่นอัลตราไวโอเล็ตจากดวงดาวก็จะเกิดการเรืองแสงในย่านคลื่นสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งเมื่อผสมผสานกันจะทำให้เรามองเห็นเป็นสีแดงอมชมพูหรือสีบานเย็น  ส่วนก๊าซอื่น ๆ อาทิ ก๊าซออกซิเจน เมื่อถูกกระตุ้นด้วยพลังงานสูงก็จะเกิดการเรืองแสงในย่านคลื่นสีเขียว  การผสมผสานระหว่างสีที่เปล่งออกมาจากโมเลกุลของก๊าซต่างชนิดกันในสัดส่วนต่าง ๆ กัน จะทำให้เราเห็นเนบิวลานี้เรืองแสงเป็นหลายเฉดสีในภาพถ่าย เช่นสีแดงอมชมพูของก๊าซไฮโดรเจนเมื่อผสมผสานกับสีเขียวจากก๊าซออกซิเจนในสัดส่วนใกล้เคียงกันก็จะกลายเป็นเฉดสีเหลือง เป็นต้น  ดาวฤกษ์ที่เกิดขึ้นที่นี่เป็นดาวฤกษ์อายุน้อยประมาณ ๓ แสนถึง ๑ ล้านปีเท่านั้น  ดาวฤกษ์เกิดใหม่บางส่วนสามารถมองเห็นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แต่ดาวฤกษ์อีกบางส่วนยังคงซ่อนตัวอยู่ภายในกลุ่มก๊าซที่หนาแน่นจนมองไม่เห็นว่าเป็นดาวฤกษ์  ดาวฤกษ์อีกส่วนหนึ่งถูกความสว่างและความหนาแน่นของเนบิวลาบดบัง ทำให้มองเห็นได้ยาก  การสำรวจโดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล รวมทั้งการสำรวจในย่านคลื่นแสงอินฟราเรดจากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก ได้ค้นพบดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัวขึ้นและยังซ่อนตัวอยู่ภายในกลุ่มก๊าซที่หนาแน่นจำนวนมาก  นักดาราศาสตร์ค้นพบว่าเนบิวลาแห่งนี้ได้ก่อให้เกิดดาวฤกษ์ใหม่ ๆ ขึ้นแล้วไม่น้อยกว่า ๗๐๐ ดวงและดาวฤกษ์ที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มก๊าซอีกไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ดวง



    Orion Nebula จะไม่คงสภาพดังที่เห็นนี้ตลอดไป อีกหลายหมื่นหรือหลายแสนปีข้างหน้าเมื่อมันได้ก่อให้เกิดดาวฤกษ์จำนวนมากมาย พลังงานจากดาวฤกษ์เหล่านี้จะผลักดันก๊าซที่หลงเหลือจากการสร้างดวงดาวให้กระจายตัวออกไปสู่อวกาศกว้าง รอคอยเวลาที่จะกลับมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างดวงดาวรุ่นหลัง ๆ ต่อไปอีก  ส่วนดาวฤกษ์ที่ถือกำเนิดขึ้นมากมายที่นี่ก็จะกลายสภาพเป็นกระจุกดาวเปิดขนาดใหญ่ ดังเช่นกระจุกดาวคู่ (Double Cluster) และกระจุกดาว M-37 ที่ได้กล่าวถึงใน \"ส่องจักรวาล\" ฉบับก่อน ๆ



          ดวงอาทิตย์ของเราก็คงถือกำเนิดมาในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน พี่น้องของดวงอาทิตย์ที่ถือกำเนิดมาจากก้อนก๊าซเดียวกันคงอยู่ที่ไหนสักแห่งในกาแล็กซีแห่งนี้ แต่มันได้แยกย้ายจากกันไปเป็นเวลานานแล้วจนยากที่จะสืบสาวราวเรื่องไปจนค้นพบความจริง  คงมีแต่เพียงจินตนาการของเราเท่านั้นที่จะสามารถสัมผัสถึงอดีตที่เกิดขึ้นเมื่อราว ๕ พันล้านปีก่อนได







    *************************************
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×