ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    108 ซองคำถามII

    ลำดับตอนที่ #258 : ลายไทย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 778
      1
      28 ส.ค. 48







                                          ลายไทย



                  ทฤษฎีนาคปรกนาคแปลง การค้นพบใหม่ในศิลปะไทย







    ++++++++++++++++++++++++++



    ลายไทย



    ลายไทย เป็นสมบัติประจำชาติในความทรงจำของคนไทยมาช้านาน ดังปรากฏควบคู่กับวัฒนธรรมไทย เช่น ลวดลายในวัดวาอารามต่างๆ แต่ลายไทยในทุกวันนี้ถูกเข้าใจหรือถูกใช้อย่างถูกต้องแน่หรือ? เราเข้าใจลายไทยได้ตรงตามตัวจริงแน่หรือ? สถานภาพอันเปราะบางของลายไทย น่าจะเป็นตัวบอกอย่างชัดแจ้งว่า ลายไทยกำลังตายจากสังคมไป เพราะไม่มีความเข้าใจ ไม่มีความต้องการ ไม่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตผู้คนในปัจจุบัน สาเหตุเนื่องจากเราไม่รู้จักลายไทยที่แท้จริง กิจกรรมลายไทยทั้งหมดในปัจจุบันเป็นแค่เปลือกนอก เป็นแค่คราบงูที่ไม่ใช่งูจริง กัดไม่ตาย เลื้อยทะยานไม่ได้ รัดเอวใครก็ไม่แหลก เมื่อเราเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณก็ไปไม่ถึงชีวิต เมื่อไม่มีชีวิต มันก็ไม่สามารถเติบแตก รังแต่จะเหี่ยวเฉาตายลง



    ข้าพเจ้าย้อนกลับไปดูตำราลายไทยต่างๆ ว่าจะให้ความรู้ความเข้าใจอะไรเราได้บ้าง ก็พบว่า ตำราลายไทยมีเป้าหมายเพื่อการสื่อสารถ่ายทอดในหมู่ช่าง ผลิตช่างศิลป์เพื่อสร้างงานเลียนแบบอดีต อีกทั้งตัวตำราก็เขียนขึ้นในภาวะที่ลายไทยตายแล้ว พยายามปลุกฟื้นขึ้นมาใหม่ เพื่อสู้กับอารยธรรมต่างแดนที่หลั่งไหลเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๕ มวลตำราทั้งหมดล้วนเชื่อถือและคัดลอกต่อๆ กันมาในแนวเดียวกันทั้งสิ้น ต่างสรุปว่าลายไทยมีบ่อเกิดจากธรรมชาติ ขอยกตัวอย่างจากหนังสือลายไทย ภาพไทย ของปฏิพัทธ์ ดารดาษ ดังนี้ \"ลายกนกซึ่งเป็นแม่ลายของไทยนั้น เกิดจากการนำเอาสิ่งของตามธรรมชาติมาดัดแปลงขึ้น บางท่านว่าเกิดจากดอกบัวผ่าซีก บ้างว่าเกิดจากรวงข้าว บ้างว่าเกิดจากเปลวไฟ เพราะมีลายกนกที่เรียกว่ารวงข้าว และลายกนกเปลวรวมอยู่ด้วย ตามตำราของพระเทวาภินิมมิตร บอกว่าเกิดจากดอกบัวพันธุ์ต่างๆ ถึงอย่างไรก็ดีลายกนกนั้นแม้จะเกิดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน ๔ อย่างคือ ดอกบัว รวงข้าว เปลวไฟ หรือใบไม้ก็ตาม ก็ตรงกับหลักที่ว่า ต้องนำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติมาดัดแปลงปรุงแต่งให้สวยงามขึ้นทั้งสิ้น\"



    โดยตำราส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อผลิตช่างในการสร้างวัดวาอารามสืบต่องานช่างเดิม จึงต้องมีการคิดชื่อเรียกเพื่อสะดวกในการเรียกชื่อลายถ่ายทอดกันในหมู่ช่าง ดังข้อความจากหนังสือเล่มเดียวกัน \"หลักฐานในชื่อลายล้วนไม่สามารถยืนยันได้ว่าเรียกอย่างนั้นจริงๆ หรือถูกต้องกับที่เรียกกันมาในอดีตหือไม่ ชื่อลายบางชื่ออาจเรียกกันมาแต่ครั้งอดีต บางชื่อก็เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อครั้งได้รวบรวมเป็นตำรับตำรา ชื่อลายทั้งหลายอาจกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นพร้อมกับตำราลายไทย ซึ่งรวบรวมไว้โดยผู้ทรงความรู้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา\"



    หนังสือบอกอย่างชัดเจนว่าชื่อลายไทยต่างๆ ที่เรียกกันนั้น ไม่สามารถยืนยันว่าเรียกอย่างนั้นจริง นั่นก็คือชื่อลายทั้งหมดถูกคาดเดาตั้งขึ้น เห็นว่ามีรูปร่างคล้ายอะไรก็เรียกอย่างนั้น เปรียบได้กับตาบอดคลำช้าง จับหางก็ว่าช้างเหมือนเชือก จับตัวก็ว่าช้างเหมือนกำแพง ว่ากนกเหมือนเปลวไฟ กนกเหมือนรวงข้าว เหมือนดอกบัว ฯลฯ ประโยชน์ของตำราก็จำกัดวงแคบอยู่แค่ในหมู่ช่าง ไว้สืบทอดผลงานให้เหมือนผลงานช่างในอดีต



    การที่ตำราเหล่านี้แสดงภาพว่าช่างในอดีตนำธรรมชาติต่างๆ มาประดิษฐ์ ประดับประดานั้น ไม่สามารถสื่อถึงกระบวนคิดอันลุ่มลึกที่แท้จริงได้ พูดให้ตรงคือไม่สามารถเชื่อได้ลงว่า ศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของไทยจะเกิดจากนายช่างมานั่งคิดว่าจะเอาใบอะไร ดอกอะไรมาประดับ ประดิษฐ์ให้สวยงามดี มันตื้นเขินยิ่ง เป็นเพราะเราไม่สามารถเข้าถึงความจริงในแบบที่คนโบราณคิด ไม่สามารถเข้าถึงความคิดเบื้องหลังสิ่งปรากฏ นี่เป็นเหตุให้ลายไทยถึงกาลอวสาน ต่ำต้อย ย่ำแย่ ตกที่นั่งเป็นแค่ชิ้นส่วนทางประเพณีที่สืบทอดกระทำต่อๆ กันมา แห้งแล้ง ไร้ชีวิต เพราะไม่สามารถเฉียดเข้าใกล้จิตวิญญาณที่แท้จริงได้เลย



    ข้าพเจ้าจึงตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วเราจะสามารถเข้าใจลายไทยได้จริงๆ หรือไม่?



    คำถามนี้ถูกขบคิดอย่างต่อเนื่อง ว่าน่าจะมีความเชื่อบางอย่างที่แนบแน่นกับคนไทยอย่างแยกไม่ออก จนในที่สุดก็พบคำตอบที่ใกล้ความจริงปรากฏอยู่ในงานของนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์หลายท่านศึกษาไว้ว่า ภูมิภาคนี้มีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับน้ำอย่างเป็นวิถีชีวิต มีประเพณีที่สัมพันธ์กับน้ำมากมาย เช่น พิธีขอฝน ซึ่งมีหลักฐานเก่าไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ความเชื่อเรื่องน้ำเรื่องนาคนี้ มีที่มาจากความเชื่อที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงๆ เห็นได้จริงว่า น้ำให้ชีวิต เอื้อต่อการล่าสัตว์หาอาหาร เอื้อกับการเพาะปลูก การดำรงชีวิต มีการนำลักษณะพื้นฐานของน้ำมาใช้ประกอบพิธีกรรม ดังปรากฏในวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานรูปสัญลักษณ์ทางกายภาพของน้ำยุคแรกเริ่ม ยกตัวอย่างเช่น



    คุณสมบัติเด่นของน้ำที่สามารถเปลี่ยนได้ ๓ สถานะ หยดจากสวรรค์มาให้ชีวิตบนโลก และสามารถระเหยกลับสู่สวรรค์ สิ่งนี้สัมพันธ์กับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นวัฏจักร เป็นความเชื่อดั้งเดิมมาช้านาน ประกอบกับความรู้ที่ได้จากหนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา และบทความเรื่องน้ำในหนังสือเอกลักษณ์ไทย ที่พูดไว้ตรงกันว่า น้ำคือนาค



    \"พญานาคหรือนาค ก็คือสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำนั่นเอง เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็คงเนื่องมาจากรูปคลื่นของลำตัวพญานาคเป็นปฐม\" (ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา)



    ภายหลังเมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่มาถึงยังต้องเข้ามาปรับผสานกับความเชื่อดั้งเดิมเรื่องนาค-น้ำ ดังปรากฏในตำนานและนิทานพื้นบ้านมากมาย กล่าวให้ชัดก็คือ เมื่อครั้งพุทธศาสนาเข้ามาในภูมิภาคแถบนี้ ศาสนาพุทธจะต้องมาพึ่งนาคเพื่อเข้าถึงคนในท้องถิ่น ตรงนี้สำคัญมาก พุทธต้องอาศัยนาคกุมความเชื่อเดิม แล้วโยงมาพุทธศาสนา ว่าทำดีนาคคุ้ม ทำชั่วนาคลงโทษ เมื่อถือศีลนาคจะปกป้องคุ้มครอง เมื่อทำบาปทำความชั่วนาคจะลงโทษ นี่เป็นเหตุให้นาคเข้ามามีส่วนสัมพันธ์แนบชิดกับพุทธศิลป์แนบแน่นอย่างแยกไม่ออก ชนิดที่ว่าถ้าไม่มีนาคก็จะไม่มีศิลปวัตถุทางพุทธศาสนาทั้งปวง เพราะไม่รู้ว่าใครจะแปลงเป็นวิหาร อาคาร สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ชิ้นศิลปวัตถุดารดาษ



    ณ ทางแยกอันมืดมน ที่ศิลปะไทยถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนและถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นประเพณี บัดนี้ทฤษฎีนาคปรกนาคแปลงได้ออกมาเผยความจริงว่า ศิลปวัตถุอันเนื่องแต่พุทธศาสนาในประเทศไทยทั้งหมดอยู่ภายใต้ทฤษฎีความคิดเบื้องหลังเดียวคือนาคปรกนาคแปลง กล่าวสั้นๆ ก็คือ ลักษณะนานานั้นล้วนมาจาก รูปนาคปรก หรือไม่ก็รูปนาคที่แปลงออกไปทั้งสิ้น



    ผู้เขียนจะทยอยลงบทความเป็นตอนๆ อธิบายการค้นพบเป็นขั้นๆ ควบคู่ไปกับเสนอไวยากรณ์ลายไทยเพื่อเสริมความเข้าใจแก่ผู้อ่าน โดยมุ่งหวังให้ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดนี้เป็นเสมือนคู่มือแก่ท่านผู้อ่านสำหรับก้าวเดินทั่วแผ่นดินนี้อย่างเข้าใจ อ่านออกถึงภาษาที่บรรพบุรุษสร้าง สั่งสม และถ่ายทอดไว้ในวัดวาอารามเป็นมรดกตกทอดถึงรุ่นเรา รุ่นลูกหลานสืบมา



    เนื้อหาหลักคือการค้นพบ ๘ พบ แต่ละพบจะมีข้อย่อยที่สามารถขยายเป็นบทความให้ละเอียดเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้แก่ผู้อ่าน ดังนั้นบทความที่เสนอ ๑ บทความ อาจต้องรวมกับอีก ๔-๕ บทความ จึงจะแสดงพบ ๑ เป็นต้น



    ขอให้รู้ในเบื้องต้นก่อนว่าลายไทยไม่ใช่ลายประดับอย่างที่เข้าใจกันมา แต่ลายไทยเป็นการบอกความหมายว่าสิ่งนั้นคืออะไร เช่น ถ้าลายไทยปรากฏอยู่ที่ประตู ก็ไม่ได้ประดับประตูให้สวยงาม แต่บอกว่าประตูนั้นคืออะไร (ในที่นี้คือ นาคแปลงเพื่อปกป้องคุ้มกัน) เป็นต้น



    เมื่อลายไทยบอกความหมาย เมื่อความคิดเบื้องหลังการออกแบบทั้งหมดอยู่ภายใต้ทฤษฎีนาคปรกนาคแปลง ผลอันน่าประหลาดใจก็ทยอยหลั่งไหลถั่งเท เผยคำตอบที่ติดขัดค้างคาในศิลปะไทยจนหมดสิ้นว่า



    วิหาร คือนาคปรก ฉัตร คือนาคคายกันลงมาเป็นชั้นๆ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คือนาคคายกันลงมาเป็นชั้นๆ สันหลังคา คือนาคแล่นตัวออกสองทางจากจุดลายประจำยาม (อโนดาต) หน้าบัน คือนาคแหวกเพื่อปรกและเผยภาพ กระเบื้องมุงหลังคาชนิดแผ่นซ้อน คือเกล็ดนาค สีกระเบื้อง คือสีนาคที่มาจากรุ้งน้ำ กระเบื้องกาบกล้วย คือนาคทิ้งตัว กระเบื้องปิดชายหลังคารูปเทพนม คือนาคแปลง ลวดหรือเส้นคั่นในลายไทย คือน้ำ คันทวย คือการคลี่ตัวออกสี่ด้านของลายประจำยาม ผนัง คือการทิ้งตัวลงและคลี่ตัวออกด้านข้างผสานกันเป็นเนื้อผนัง ผนังก่ออิฐ ด้วยอิฐ คือดิน น้ำ ลม ไฟ คือธาตุสี่ คือชีวิต เพราะต้องการให้อาคารมีชีวิต ซึ่งหมายถึงตัวนาคผู้คุ้มครอง โบกปูน หินปูน คือนาค (น้ำ) ในสถานะของแข็งเบื้องปฐม อันเป็นการค้นพบตั้งแต่ครั้งบรรพกาลในวัฒนธรรมถ้ำศักดิ์สิทธิ์ ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง คือนาคคายกันลงมาเป็นชั้นๆ ฐานปัทม์ ฐานบัวลูกฟัก ฐานหน้ากระดาน ฐานทั้งหมด คือการคายเป็นชั้นๆ ของนาคในทิศทางตรงกับการคลี่ตัวด้านขวางในระเบียบของลายประจำยามทั้งสิ้น เสา คือระเบียบการทิ้งตัวลงเป็นชั้นๆ เหมือนผนัง แข้งสิงห์ คือนาคเกี่ยวตัวกัน ฐานแอ่นท้องสำเภา คือนาคบนน้ำ เสมา คือนาคกันเพื่อปกปักรักษาอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ ลาน คือผืนนาคที่คายสู่ดินระนาบ ดาวเพดาน คือลายดอกอกนาค จิตรกรรมฝาผนัง คือเรื่องเล่าโดยนาค เส้นสินเทา คือสัญลักษณ์นาคเล่าเรื่อง บัวหัวเสา คือนาคกลุ่ม



    นาคปรกธาตุ นภศูล คือนาคกลุ่มที่คายลงมาเป็นชั้นๆ แผ่ออกรอบทิศในรูปศาสตราวุธ หอก ดาบ เพื่อเป็นตัวป้องกัน บัวยอดปรางค์ คือนาคกลุ่มแผ่รอบ กลีบขนุน คือนาคปัก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงค้นพบ ข้าพเจ้าขอน้อมมาเชิดชูเกียรติ) สัตว์หิมพานต์ทั้งหมด คือนาคแปลง ย่อมุม คือนาคปักลงมีจำนวนเศียร หรือจำนวนตัว ๓, ๕, ๗ เศียร, ตัว อยู่เหนือน้ำ ทับหลัง คือนาคระเบียบอโนดาตเผยภาพเล่าเรื่อง ปรางค์มี ๔ ด้าน (ทิศ ๔) เนื่องจากคือระเบียบปากสระ ๔ ทางของอโนดาต หน้ากาล คือหน้านาคอโนดาต หยดน้ำค้างยอดเจดีย์ คือเม็ดน้ำกลม ปลียอด คือน้ำยืด ปล้องไฉน คือวงน้ำ บัลลังก์ คือแดนศักดิ์สิทธิ์ที่สวรรค์ต่อโลก องค์ระฆัง คือนาคในระเบียบของฟอง ซุ้มพระที่องค์เจดีย์ คือนาคแปลงเป็นพระพุทธองค์แสดงปาฏิหาริย์



    นาคแปลงพุทธรูป เปลวยอดเศียรพระพุทธรูป คือนาคปรกรูปหยดน้ำ ศกขดก้นหอย เป็นระเบียบวงน้ำไหลวนจากยอดเขา เม็ดศกกลม คือระเบียบฟอง ไรศก คือระเบียบนาคแหวกปรก พระพุทธรูปทรงเครื่อง คือนาคปรกแปลง (ที่สัมฤทธิผลที่สุดในเชิงออกแบบ)



    นาคลังกา พระลีลาสุโขทัย คือนาคราชการ์ดสโตน ลายก้านขด คือนาคแปลงเป็นลายม้วนในการ์ดสโตน เปลวยอดเศียรพระสุโขทัย คืออโนดาตสัญลักษณ์นาคปรกแปลง หม้อปูรณะคตะ คือนาคแปลงการ์ดสโตน ลายช่อ คือสัญลักษณ์นาคแปลง



    ปรกธรรม ภาพสัตว์คู่ คือนาคแปลง ลายทอง คือสุวรรณนาคาปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา



    ปรกสงฆ์ ลายหน้ากระดานลูกฟัก คือนาคปรกยิงพลังขนานพื้น เป็นบ่อเกิดของลายสักยันต์ทั้งมวล ลายราชวัตร คือลายข่ายเหล็กอยู่ในไตรภูมิพระร่วงว่ามีฤทธิ์เดชทางป้องกัน



    ปรกกษัตริย์ พระราชพิธีบรมศพ (พระเมรุ) คือนาคปรกพาสู่เขาพระสุเมรุสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กองทัพ ขบวนช้าง ม้า ไพร่พล คือนาคแปลงแสดงเดชว่ามีนาคเข้าพวก ปกป้องคุ้มครอง ขบวนเรือพระราชพิธี คือนาคแปลง ชุดพิธีบรมราชาภิเษก แสดงภาพกษัติย์ผู้ทรงธรรม (นาคปรก) ไม้ดัดประดับราชวัง คือนาคแปลง



    ปรกชาวบ้าน ขวัญ คืออโนดาตหมุนวน ปลาตะเพียนใบลาน คือนาคแปลงปกป้องลูกน้อย กระต่ายขูดมะพร้าว คือนาคแปลงเพื่อให้อาหารทิพย์ ลายผ้า คือนาคคายเป็นชั้นๆ ใส่ในเทศกาลพิเศษ เช่น งานบุญ







    ข้อเสนอแนะ



    ขอเชิญผู้อ่านทุกท่านมาร่วมเดินทาง ร่วมค้นพบ โดยท่านสามารถปะทะ ทดลองพิสูจน์ อย่าเชื่อหรือปฏิเสธโดยทันที ขอให้อ่านทำความเข้าใจบทความและไวยากรณ์ลายไทย จากนั้นเดินเข้าวัดใกล้บ้านท่าน เพื่อทำความเข้าใจไวยากรณ์ต่างๆ ในภาคสนาม ด้วยทฤษฎีนาคปรกนาคแปลงพกพานี้ จะเป็นคู่มือให้ท่านเข้าใจศิลปะไทยจนหมดสิ้น อีกทั้งท่านยังสามารถเป็นผู้ค้นพบเพิ่มเติมได้ว่าที่วัดใกล้บ้านท่านมีหลักฐานทางศิลปะที่แปลกแตกต่างออกไป



    ท่านอาจพบไวยากรณ์เสริมไวยากรณ์ (คล้ายสำนักสอนพิเศษที่ให้ความรู้นอกเหนือจากห้องเรียนปกติ) นั่นจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญอันหนึ่งของผู้เขียน ที่ต้องการให้ทฤษฎีนี้เปิดความรู้แก่คนไทย และสามารถใช้ประโยชน์กับความรู้ที่ได้พบอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สมกับเป็นสมบัติประจำชาติที่บรรพบุรุษของเราปลูกสร้างมาอย่างยากลำบาก และส่งต่อให้พวกเรารักษาสืบทอดไว้ตลอดไป









    ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++





    จากข้อความที่   writer: ดอญอ เด็กหญิงนิรนาม โพสถามมาค่ะ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×