ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    108 ซองคำถามII

    ลำดับตอนที่ #310 : GMOs

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 509
      0
      24 ต.ค. 48





                                     GMOs





    +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



    \"GMO คืออะไร





    \" ใน สมัยก่อนเรียก GMO ว่า Transgenic organisms ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาใหม่โดยการตัดต่อยีนส์ จากสิ่งมีชีวิตอื่น เข้าไปในสิ่งมีชีวิตนั้นๆ และยังอาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงยีนส์โดยการทำ cell fusion หรือการใช้การฉายแสงรังสี เพื่อเลือกลักษณะพันธุกรรมที่ต้องการ นั่นคือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมโดยมนุษย์เป็นคนทำ จึงได้เปลี่ยนมาเป็น GMO โดยเป็นคำย่อจาก Genetically Modified Organisms บางแห่งก็เรียก Living Modified Organism (LMO) หมายความว่าได้สิ่งมีชีวิตที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมไปและยังมีชีวิตอยู่ การใช้ Transgenic System ในการที่จะสร้างสิ่งต่างๆที่เราต้องการนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ค่อนข้างมาก



    งานที่ทำขณะนี้คือ การนำฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต มาใช้ให้เป็นประโยชน์ คือ growth hormone ของปลาบึก ปลาบึกเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตสร้างจากต่อมใต้สมองที่มีขนาดเล็กมากเพียงขนาดเม็ดถั่วเขียว การที่จะได้ฮอร์โมนจากปลาบึกเป็นปริมาณมากนั้น ไม่สามารถนำปลาบึกมาฆ่าแล้วเอาต่อมใต้สมองมาสกัด growth hormone วิธีการที่เป็นไปได้คือ นำยีนส์ในการสร้าง growth hormoneของปลาบึกไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่นนำไปใส่ในแบคทีเรียเพื่อให้สร้างgrowth hormone เมื่อมีการจับปลาบึกซึ่งนานๆจะจับได้ แล้วนำต่อมใต้สมองจากปลาบึกไปสกัด messenger RNA แล้วนำไปเปลี่ยนให้เป็น DNA ด้วยขบวนการที่เรียกว่า Complementary DNA Synthesis แล้วนำ DNAนี้ใส่เข้าไปใน plasmid ซึ่ง plasmids นี้จะนำ DNA ของปลาบึกใส่เข้าไปในแบคทีเรียได้ นับเป็นการนำยีนส์ของปลาบึกใส่เข้าไปในแบคทีเรีย ทำให้ได้แบคทีเรียซึ่งเหมือนกับแบคทีเรียธรรมดาแต่มียีนส์ที่สร้างฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของปลาบึกอยู่ หากนำเอายีนส์ที่สร้างฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตใส่ใน promoter ที่ถูกต้อง ของแบคทีเรียนั้น จะเกิดการสร้าง messenger RNA ของ growth hormoneในแบคทีเรีย และสุดท้ายมีการสร้างโปรตีน growth hormone ของปลาบึกในแบคทีเรียนี้ ซึ่งเราจะสามารถทดสอบได้ ว่ามีการสร้างจริงหรือไม่ ( ภาพในสไลด์ แสดงโปรตีนที่สร้างขึ้นโดยแบคทีเรีย E.coli และ แบคทีเรียที่มีการสอดใส่ยีนส์ โดยจะสร้าง growth hormone ของปลาบึก ออกมาด้วย)



    เมื่อแบคทีเรียสร้าง growth hormone แล้ว เราสามารถสกัดโปรตีนที่ได้จากแบคทีเรีย E. coli ที่ได้ทำการ engineered ให้ถูกต้อง เมื่อเรานำมาทำให้บริสุทธิ์จะได้ growth hormone ที่บริสุทธิ์ โดยจะแสดงฤทธิ์เร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ เช่นเมื่อเราเอาไปทดลองโดยฉีดเข้าปลาทอง ก็จะพบว่า ฮอร์โมนที่ผลิตใน E.coli นั้นเมื่อนำไปฉีดในปลาจะให้ biological activity คือทำให้ปลาที่ได้รับ growth hormone ในระดับพอเหมาะมีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าให้สูงเกินไปจะไม่เจริญเติบโต ขนาดที่พอเหมาะคือ 0.1 mcg / Gm ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยใหญ่ขึ้น 25 % บางตัวก็จะใหญ่มาก บางตัวก็ไม่ใหญ่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการนำ ผลิตผล จาก GMOไปใช้ ผลิต ผลิตภัณฑ์ มากมาย เช่นใช้แบคทีเรีย หรือ ยีสต์ ในการผลิตอินซูลินของคน growth hormone ของคน อินเทอร์เฟียรอน คัยโมซินซึ่งใช้ในการผลิตเนยแข็ง และโปรตีนอื่นๆ นับเป็นการใช้ microorganisms ผลิตสารที่ต้องการ



    ตัวอย่างอีกอันหนึ่งในการศึกษาเรื่อง GMO คือการสร้าง GMOเพื่อไปใช้ควบคุมปริมาณลูกน้ำยุง การศึกษาเรื่องนี้ได้ทำการวิจัยมานานแล้ว หลักการก็คือ เริ่มแรกทำการสำรวจแบคทีเรียในกระเพาะลูกน้ำยุง นำแบคทีเรียที่มีปริมาณมากในกระเพาะลูกน้ำยุงมา แล้วหาแบคทีเรียซึ่งเมื่อลูกน้ำยุงกินเข้าไปแล้วจะอยู่รอดได้ในกระเพาะลูกน้ำยุง ซึ่ง เรียกว่า Recolonization แบคทีเรียที่ศึกษามีชื่อว่า Enterobacter aerogenes ซึ่งมีในกระเพาะลูกน้ำยุง โดยมีความจำเพาะต่อยุงก้นป่อง Anopheles dirus แล้วทดสอบโดย feed แบคทีเรีย กลับไปในยุงลาย Aedes aegypti และ ยุงรำคาญ Culex spp. ให้ยุงพวกนี้กินดู ก็จะพบว่า แบคทีเรียที่เลือกมานี้ เมื่อให้กิน 1 วัน 2 วัน 7 วัน จะสามารถอยู่ในกระเพาะลูกน้ำยุง ของยุงก้นป่องAnopheles dirus เท่านั้น แต่ไม่อยู่ใน กระเพาะของลูกน้ำยุง ของอีก 2 ชนิดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเป็นลักษณะของแบคทีเรียที่เราต้องการคือแบคทีเรียที่มีความจำเพาะโตเฉพาะใน Anopheles dirus และอยู่ได้ในลูกน้ำยุงประเภทนี้



    หากดัดแปลง(modify)แบคทีเรียพวกนี้ เพื่อให้สร้างโปรตีนจำเพาะชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำไปใช้ในการควบคุมลูกน้ำยุง โดยนำยีนส์ชนิดหนึ่งไปใส่ในแบคทีเรียพวกนี้ ยีนส์ที่เรานำมาใช้เป็นยีนส์ที่มาจาก Bacillus thuringiensis israelensis (BTI) และ Bacillus sphaericus (BS) ยีนส์ดังกล่าวสร้างสารชีวภาพที่ฆ่าลูกน้ำยุงได้ โดยจะbindกับกระเพาะลูกน้ำยุง ทำให้มีการฆ่าลูกน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทดสอบการฆ่าลูกน้ำยุงโดยแบคทีเรียที่เรียกว่า Enterobacter aerogenes เป็นการใช้ plasmid ซึ่งจะมี promoter ที่เรียกว่า BS promoter เป็น plasmids ชนิดต่างๆ เปรียบเทียบกับแบคทีเรีย Bacillus sphaericus จะพบว่าแบคทีเรียตัวใหม่ที่ใส่ยีนส์นี้เข้าไป มีประสิทธิภาพฆ่าลูกน้ำยุงก้นป่องที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับแบคทีเรียตัวเดิม ในกรณีนี้แบคทีเรียตัวใหม่มีประสิทธิภาพฆ่าลูกน้ำได้สูงมาก ที่ LD50 5.4 x103 เซลล์ คือ 5400 เซลล์ แต่หากใช้ Bacillus sphaericus จะต้องใช้เป็นจำนวนมากเป็นแสนเซลล์ ดังนั้นมีประสิทธิภาพดีกว่าถึง 20 เท่า



    จัดเป็นการสร้าง Genetically Modified Organisms แล้วนำ organisms ไปใช้ทดสอบฆ่าลูกน้ำยุง ด้วยการทำที่ถูกต้องอาจสามารถนำไปใช้ควบคุมลูกน้ำยุงที่มีประสิทธิภาพมากกว่าต่อไป การทดลองประเภทนี้เรา ได้ตระหนักดีว่า เป็นการทดลองที่ต้องมีการควบคุมที่ดี เป็นการทดลองกระทำในห้องปฎิบัติการที่เรียกว่าระดับ P2 ซึ่งเป็นการทดลองที่จะไม่มีสิ่งมีชีวิตอะไรเล็ดรอดออกมาได้ ส่วนการทดลองที่จะนำไปใช้นอกห้องปฎิบัติการ ก็จะต้องมีการทดสอบ ซึ่งยังมีขั้นตอนอีกมาก เพื่อจะทดสอบว่า Genetically modified organisms จะส่งผลในเรื่องความปลอดภัยและในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นเรื่องของอนาคตที่จะไปทดสอบกันต่อไป ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้วยังเป็นเรื่องที่กระทำในห้องปฎิบัติการ และเป็นการศึกษาที่ในเมืองไทยขณะนี้



    เทคโนโลยี GMO ที่เกี่ยวกับสัตว์ มีหลักการดังนี้



    การศึกษา GMO ในสัตว์เพื่อจุดประสงค์อย่างหนึ่งจะทำได้อย่างไร การทำ transgenic mice เป็นการสร้างหนูที่มียีนส์อย่างอื่นเข้าไป modelการทำในห้องปฎิบัติการ มีหลักการคือ นำหนูมาผสมพันธุ์กัน เพื่อให้ได้ไข่ที่ได้รับการผสม (fertilized egg) จาก fertilized egg นำยีนส์ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง ฉีดเข้าไปใน nucleus เช่น ถ้าต้องการเปลี่ยน growth hormone ก็นำยีนส์growth hormoneฉีดเข้าไปเมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะนำไข่ไปฝากในหนูอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นหนูที่ทำให้ตั้งท้องเทียม (pseudopregnant) เมื่อนำไข่ที่มียีนส์ใหม่ใส่เข้าไป สิ่งที่ออกมาจะได้ลูกหนูซึ่งจะมี DNA ที่ใส่เข้าไป ก็ต้องไปวิเคราะห์ว่า เมื่อ integrate เข้าไปแล้ว มี copy number เป็นอย่างไร มี expression เป็นอย่างไร ซึ่งมีขั้นตอนมาก ในการทำ transgenic animal ก็จะทำแบบนี้ ส่วนรายละเอียดนั้น บางครั้งอาจมี variationได้ ไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสม แล้วฉีดสเปอร์มเข้าไป เอายีนส์ฝากเข้าไปในสเปอร์ม หรือเข้าไปในไข่ จะเป็นการเพิ่มยีนส์เข้าไป ซึ่งจะเป็นการสร้าง transgenic mice เช่นเดียวกัน ลักษณะอย่างนี้เป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการ โดยการฉีดยีนส์เข้าไป และเป็นยีนส์เพื่อใช้ในการทดลอง และเมื่อจะสร้าง transgenic animalในสัตว์ชนิดอื่น ก็จะใช้หลักการในลักษณะเดียวกันนี้ เช่นนำไปใช้ในการสร้างหมู (pig) ซึ่งมี growth hormone โดยการฉีดยีนส์growth hormone เข้าไปในหมู จะพบว่าหมูโตเร็วกว่าปกติ มีไขมันน้อย มีเนื้อสูง แต่พบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เช่นพบว่าหมูเป็นเบาหวาน และยังมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ในปลาก็เช่นเดียวกัน ในปลาจะทำได้ง่ายกว่า เมื่อฉีดยีนส์เข้าไปในไข่แล้ว สามารถฟักออกมาเป็นตัวได้เลย ในปลามีการฉีด growth hormoneเข้าไป เช่น ปลาซาลมอน พบว่าทำให้ปลาซาลมอนมีขนาดใหญ่มาก นอกจากนี้การ สร้าง transgenic pig เพื่อทำให้ร่างกายมนุษย์ไม่ปฎิเสธ (reject) อวัยวะของหมู เมื่อนำอวัยวะหมูมาปลูกถ่ายอวัยวะในคน เป็นเรื่องในอนาคตที่มีความเป็นไปได้สูงมาก



    สรุปว่าการสร้าง GMO หรือ LMO แพร่หลายและมีขอบเขตกว้างขวาง ต้องมีการควบคุมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคน โดยเฉพาะในสัตว์จะมีเรื่องจริยธรรมและศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างจากพืช



    ศาสตราจารย์ สพ.ญ. ดร. วันเพ็ญ ชัยคำภา:



    ข้อควรระวังเกี่ยวกับ GMO และนโยบายเกี่ยวกับ GMO ของประเทศในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ไทย GMO คือ สิ่งที่มีชีวิตที่ถูกตัดแต่งทางพันธุกรรม ด้วยกรรมวิธีตัดต่อยีนส์ ด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรมหรือ Genetic Engineering แต่ก่อน GMO อยู่ในห้องปฎิบัติการเป็นส่วนใหญ่และจะออกมาในภาคสนามบ้างก็มีการควบคุมของนักวิชาการที่ได้ระมัดระวังเป็นอย่างดี ในการตัดต่อยีนส์นั้นอาจมีสารพันธุกรรมที่แปลกปลอมปนเข้าไป มี promoter มีการคัดเลือก recombinant clone จะต้องมี selection marker ที่แพร่หลายมาก ก็คือ marker ที่มีการต้านยาปฎิชีวนะ ในปัจจุบันมีสินค้า ทั้งพืชและสัตว์ ที่มาจาก GMO เช่นการใช้ chymosan enzyme หรือที่เราเรียกว่า rennet ซึ่งปกติได้มาจากลำไส้ลูกวัว หรือ ลูกแพะ สกัดออกมาเพื่อที่จะใช้ในขบวนการทำเนยแข็ง ทำให้ต้นทุนต้นทุนการผลิตเนยแข็งสูงมาก เพราะกว่าจะได้ rennet หรือ chymosan ออกมา ต้องเอาลำไส้มาผ่านขบวนการมากมายกว่าจะได้ chymosan นักพันธุวิศวกรรม จึงได้ clone ยีนส์ เพื่อสร้าง chymosan ในเชื้อรา Aspergillus niger ซึ่งเมื่อได้ recombinant clone แล้ว จะสามารถผลิตเชื้อราเป็นอุตสาหกรรมเพื่อผลิต chymosan ทำให้ภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนการผลิตได้มาก สินค้าที่มาจาก GMO ประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ขายได้ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2537 ในปีเดียวกันนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ผลิตมะเขือเทศ GMO ออกมา สาเหตุที่ต้องผลิตมะเขือเทศ GMO ออกมาเนื่องจาก มะเขือเทศเมื่อเก็บตอนสุกแล้ว จะสุกงอมเร็วมาก เละ เหลว การที่มะเขือเทศสุกได้เพราะ มะเขือเทศที่แก่จัดจะสร้างสาร ethylene ด้วยความรู้ดังกล่าว นักพันธุวิศวกรรม จึงพยายามทำให้มะเขือเทศมีการสร้าง ethylene อย่างช้าๆ ทำให้มีการสุกงอมช้า ทำให้มะเขือเทศมีเนื้อแข็ง ไม่เละเหลว สามารถส่ง transgenic tomato ไปขายในที่อื่นที่อยู่ไกลออกไปได้ สิ่งเหล่านี้ใช้เป็นประโยชน์ในทางการค้า





    ทำไม เราต้องสนใจ GMO

    การตกแต่งพันธุ์พืชมีจุดประสงค์เพื่อ สร้างความทนทานต่อแมลง โรคพืชอื่นๆ เพิ่มความทนทานต่อยาฆ่าวัชพืช มีเอกชนบางบริษัท ได้ผลิตยาฆ่าวัชพืชขึ้นมา ถ้าพืชผักไม่ทนทานต่อยาฆ่าวัชพืช พืช (ที่เราปลูก) จะถูกฆ่าไปด้วย ทำให้มีการผลิตพืชที่สามารถต้านยาฆ่าวัชพืชได้ การผลิต GMO อีกประเด็นก็เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณค่าทางอาหาร เช่นทำให้มีวิตามินมากขึ้น หรือมีกลิ่นหอมมากขึ้น และคุณสมบัติอื่นๆ เพื่อให้เหมาะกับการตลาด การแปรรูป เป็นต้น ทำไม เราต้องสนใจ GMO ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เราพัฒนาการส่งออกได้ด้วยสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ พืช สัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ และ พืชเหล่านั้น เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ผลิตอาหารอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา อีกประเด็นหนึ่งคือ ผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศ ต้องติดตามสถานการณ์โลกทางด้านวิชาการ การตลาด การค้าระหว่างประเทศ ข้อกำหนดและวิธีการต่างๆ เช่นสหภาพยุโรป มีข้อกำหนดว่าสินค้าใดมาจาก GMO จะเข้าได้หรือไม่อย่างไร ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงแน่นอน อย่างไรก็ตามนักวิชาการภาครัฐ เอกชน หรือผู้ประกอบการ อาหารสัตว์ หรือ ผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ หรือ พืช ต้องให้ความสนใจ



    การพัฒนา GMO มีมานานแล้ว ในสมัยก่อนถ้าอยากจะได้สายพันธุ์วัวสายพันธุ์หนึ่ง เช่น ใช้แม่วัวพันธุ์ดี เอาสายพันธุ์จากยุโรป มา crossmating กับ สายพันธุ์พันธ์พื้นเมือง เพื่อให้ได้แม่วัวที่ผลิตน้ำนมดีขึ้น ติดลูกง่าย มีลูกดก ให้น้ำนมเยอะ ให้น้ำนมมีคุณภาพดี ทนโรคแมลง ทนโรคเขตร้อน การทำ animal selection แบบนี้ช้ามากกว่าจะได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมอย่างที่เรามุ่งหวัง เมื่อรู้ว่า ยีนส์ หรือ DNA หรือ รหัสชีวิต จะ manipulate ได้อย่างไร สามารถใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม ที่จะนำยีนส์ที่พึงประสงค์มาตัดต่อให้ หรือใส่เข้าไป ก็จะได้ลูกวัวที่จะโตเป็นแม่วัวที่มีลักษณะพึงประสงค์





    ประโยชน์จาก GMO

    1). ปรับปรุงพันธุ์พืชให้ต้านแมลง และโรค

    1.1 พันธุ์พืชต้านทานแมลง เป็นที่ทราบกันดีว่า แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (Bt) สามารถผลิตสารชีวภาพที่เมื่อนำมาฉีดพ่นคล้ายกับสารเคมีอื่นๆ สามารถฆ่าแมลงกลุ่มหนึ่งอย่างได้ผล ดังนั้นเพื่อลดการใช้สารเคมี นักพันธุวิศวกรรมจึงได้นำยีนส์จาก Bt มาปลูก หรือถ่ายฝากให้แก่พืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ฝ้าย ข้าวโพด และถั่วเหลือง เป็นต้น ทำให้พืชสายพันธุ์ที่ได้รับการถ่ายฝากยีนส์นี้ มีความต้านทานแมลงได้เอง โดยไม่ต้องฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลงจากภายนอก และใช้ได้ในเชิงการค้ามาแล้วในหลายประเทศ

    1.2 พืชพันธุ์ต้านโรคไวรัส

    1.3 การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีคุณภาพผลผลิตที่พึงประสงค์ เช่นเรื่องมะเขือเทศที่สุกงอมช้าลง

    1.4 การพัฒนาพันธุ์พืชให้ผลิตสารพิเศษ มีวิตามินมากขึ้น ผลิตสารต่างๆที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นพลาสติกย่อยสลายได้ โพลิเมอร์ต่างๆ

    2. การพัฒนาพันธุ์สัตว์ มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาอาหาร ผลจากประชากรของโลกที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ศักยภาพการเลี้ยงสัตว์ หรือพื้นที่ยังคงมีจำกัด หรือเท่าเดิม ด้วยเทคโนโลยี GMO ทำให้เรามีอาหารพอเพียงกับพลโลกที่เพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าว AP ในวอชิงตันแถลงภายใต้หัวข้อว่า Gene Therapy yields bigger pigs ว่า \"some days, hogs may not eat like pigs\" ทั้งนี้เพราะ Professor Robert J Schwartz ซึ่งเป็น Professor of Molecular and Cellular Biology ที่ Baylor College of Medicine ที่ Houston แถลงว่าได้พบวิธีเปลี่ยนยีนส์ให้หมู แล้วทำให้ลูกหมูโตเร็วกว่าปกติ ถึงร้อยละ 40 (มีน้ำหนักหนัก 92 ปอนด์ หมูธรรมดาจะหนักเพียง 65 ปอนด์) และมีขนาดใหญ่กว่าหมูปกติ ในขณะที่กินอาหารลดลง 25% หมูเหล่านี้ขับถ่ายของเสียลดลงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรที่เลี้ยงสุกรในสหรัฐอเมริกาพึงประสงค์ เพราะในหลายๆรัฐ ของเสียจากสุกรเป็นปัญหารบกวน ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากหมูแล้ว สัตว์อื่นๆ เช่น วัว สัตว์ปีก สัตว์น้ำต่างๆ ก็ถูกปรับปรุงพันธุ์ จุดประสงค์ส่วนใหญ่ ก็คือ โตเร็ว ใช้อาหารน้อย ค่าใช้จ่ายน้อยลง ทนทานโรคและแมลง ให้ผลผลิตมากกว่า เทคโนโลยีนี้เกษตรกรที่ผลิตสัตว์สนใจกันมาก ตัวอย่างสัตว์อื่นๆ เช่น วัวที่ทนโรคและแมลง ไข่ที่มีโคเลสเตอรอลน้อยลง ปลาทูน่าโตเร็วต้านทานโรค

    3). การพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้มีคุณสมบัติพิเศษ เราใช้ GMO ในการวิจัยและอื่นๆ การผลิตจุลชีพที่สามารถนำไปผลิต live attenuated mutants ของสายพันธุ์ที่มีชีวิตที่ได้จากตัวที่ก่อโรค โดยทำการตัดยีนส์ที่ทำให้เกิดโรคออกไป เช่น Choleraและ โรทาไวรัส นอกจากนั้นยังสามารถรวมยีนส์ของจุลชีพหลายๆชนิดเพื่อผลิต hybrids เพื่อทำให้มี multipotent vaccine ได้

    การผลิต vaccine component เช่นต้องการให้ผลิต adhesive factors มาก นำยีนส์ของการสร้าง fimbriae ใส่เข้าไป โดยมี promoter markers ผลิตส่วนประกอบของยา ผลิต insulin หรือผลิต clotting factors เพื่อการรักษาโรคเลือดออกต่างๆ รวมทั้งผลิตจุลินทรีย์ที่มีลักษณะพิเศษที่ใช้ย่อยคราบน้ำมันในทะเล เทคโนโลยีเดียวกันนี้อาจนำมาใช้ในการรักษา โดยใช้ gene therapy เป็นการใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมทั้งสิ้น



    ตัวอย่างของพืช GMO  

    มะเขือเทศ สุกช้า ไม่นิ่ม ประเทศที่อนุญาตให้ใช้บริโภคได้ เช่น สหรัฐอเมริกา

    ฟักทอง ต้านไวรัส ประเทศที่อนุญาตให้ใช้บริโภคได้ เช่น สหรัฐอเมริกา

    ถั่วเหลือง ต้านวัชพืช ประเทศที่อนุญาตให้ใช้ได้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์

    มันฝรั่ง ต้านแมลง ประเทศที่อนุญาตให้ใช้ได้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่นและใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์





    ฝ้ายที่ทนยาฆ่าวัชพืช Bacillus thuringiensis (Bt) มีความต้านทานแมลง โดยผลิตสาร ทนยาฆ่าวัชพืช มีในประเทศสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ประเทศไทยได้นำเข้ามาทดลองปลูก แต่เนื่องจากยังไม่มีระบบการควบคุม การกระจายไม่ให้ยีนส์หลุดออกไป จากพืชทดลอง ไปยังพืชอื่นๆ จึงยังทำให้ไม่ได้รับการอนุญาตให้ปลูกเป็นอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการผลิตดอกคาร์เนชั่น ที่ทนทานและให้สีต่างๆ



    สิ่งใดที่มีประโยชน์ย่อมมีโทษความปลอดภัยของอาหารที่มาจาก GMO มีมากน้อยแค่ไหน ทั้งในจุลชีพ พืช และสัตว์ เช่น การนำยีนส์จากแบคทีเรีย ตัวอย่างเช่น Bacillus thurigiensis ซึ่งควบคุมการสร้างสารพิษที่ฆ่าแมลงได้ใส่เข้าไปในพืชเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่สามารถสร้างสารพิษฆ่าแมลงได้เอง ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงพ่นให้แก่พืชจากภายนอก เป็นต้น พืชเหล่านี้เรียกว่า พืชข้ามพันธุ์ หรือ Transgenic plant ในปัจจุบันมี Transgenic animals หลายชนิดด้วย ทั้งที่ใช้ผลิตอาหาร และที่ใช้ในการวิจัยทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น การใช้transgenic mice ต่างๆ เป็นต้น





    ข้อควรระวังเกี่ยวกับ GMO

    เทคโนโลยีทุกอย่างเมื่อมีประโยชน์ก็มักจะมีโทษ พันธุวิศวกรรมที่นำมาใช้ตกแต่งสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตก็เช่นกัน อาจมีผลทางลบต่างๆด้วย หากกระทำโดยไม่ระมัดระวัง กล่าวคือ GMO ที่ผลิตขึ้น อาจมีปัญหาต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosafety) คือ



    อาจมีปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์

    มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)

    ในการตัดต่อยีนส์ ถ้าเป็นยีนส์จากสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน เช่น ยีนส์จากพืชถ่ายให้พืชย่อมมีปัญหาน้อย หรือ ยีนส์จากสิ่งมีชีวิตอื่นซึ่งไม่เป็นพิษภัยก็ไม่น่าจะก่อปัญหา โดยปกติยีนส์ที่ควบคุมลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งมักจะมียีนส์ช่วยแสดงหรือที่เรียกว่า promoter และเมื่อจะเลือกยีนส์ก็มักต้องใส่ยีนส์ช่วยการคัดเลือก คือ selection markers เช่น ยีนส์ต้านยาปฎิชีวนะเข้าไปด้วย มีคำถามว่ายีนส์เหล่านี้จะเป็นพิษเป็นภัยหรือไม่





    ปัญหาเกี่ยวกับผู้บริโภคอาหารที่ได้มาจากGMO

    ผลิตภัณฑ์จาก GMO ก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ เช่น หาก GMO มีสารพันธุกรรมจากไวรัส สารพันธุกรรมที่สร้างสารพิษ

    อาหารที่มาจาก GMO มีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าที่มาจากสายพันธุ์ตามธรรมชาติหรือไม่

    อาหาร GMO เช่น อาหารทะเล อาหารจากพืชตระกูลถั่ว ไข่ ซึ่งถูกตกแต่งพันธุ์โดยยีนส์จากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตอีกพวกหนึ่ง อาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของอาการภูมิแพ้ เช่น ยีนส์จากถั่ว brazil nut ซึ่งนำไปเพิ่มคุณค่าโปรตีนในถั่วเหลือง พบว่าผู้บริโภคเกิดภูมิแพ้ต่อถั่วเหลืองสายพันธุ์ใหม่นี้มาก

    สำหรับการตกแต่งพันธุกรรมในสัตว์จะปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น ต้องมีการประเมินความปลอดภัยที่ครอบคลุมมากกว่าของจุลินทรีย์และพืช

    ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

    สารพันธุกรรมที่ใช้ตกแต่งในสิ่งมีชีวิตอาจเกิดการแพร่กระจายและถ่ายทอดไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นๆได้หรือไม่ เช่น สารพันธุกรรมที่ใช้เป็นรหัสเลือก (selection markers) สร้างความต้านทานต่อยาปฎิชีวนะ สารพันธุกรรมที่ต้านยาปราบวัชพืช ซึ่งอาจทำให้เกิดการดื้อยาปราบศัตรูพืชโดยเฉพาะวัชพืช และจุลชีพอื่นๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมเหล่านี้



    การแพร่กระจายความต้านทานต่อยาปฎิชีวนะ ในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะ เชื้อโรคนั้นอาจมีผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ยาปฎิชีวนะในการฆ่าเชื้อโรคเพื่อการรักษาโรค เพราะฉนั้นการนำและใช้ GMO จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในเรื่องนี้ให้มาก ซึ่งอาจมีคำถามในหลายเรื่องเช่น ความปลอดภัยทางชีวภาพ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ราคา การค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลความเสี่ยง ข้อมูลข่าวสาร ทำอย่างไรจึงจะสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้บริโภคหรือไม่ จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร



    เมื่อเราตัดต่อยีนส์ให้อยู่ผิดที่ผิดทาง เช่นใส่ยีนส์ของ Bacillus thuringiensis ซึ่งสามารถฆ่าแมลงได้ เช่น ฝ้ายสามารถสร้างสารพิษ ฆ่าแมลงได้เอง ถ้าผีเสื้อและผึ้งมาดอมดมฝ้ายนี้แล้ว ผึ้งจะตายหรือไม่ เป็นปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ











    ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปอ่านได้ที่



    http://www.vet.ku.ac.th/library-homepage/journals/10-1/gmos.htm







    +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++





    จากข้อความที่ คคห ที่287  โพสถามมาค่า
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×