โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร (Mathayom Wat Benjamabopit School) ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานครในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 42 ตารางวา อยู่ในเขตพระราชฐาน เป็นโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดสอนเฉพาะนักเรียนชาย (โรงเรียนชายล้วน) ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปัจจุบันเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
เนื้อหา[ซ่อน] |
ประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า วัดเบญจมบพิตรตั้งอยู่ห่างไกล บรรดาศิษย์วัดซึ่งต้องอุปฐากรับใช้ภิกษุสามเณร ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปเล่าเรียนที่ห่างไกล จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเพื่อ "สอนศิษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดเมื่อ ร.ศ.119 (พ.ศ. 2443) ในชั้นต้นที่อาคารชั่วคราวหลังมุงจากใช้เสื่อลำแพนกั้นเป็นประตูและหน้าต่างเพียงหลังเดียว พระองค์ทรงกำหนดหลักสูตรแนวการสอนด้วยพระองค์เอง และเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2444 มีนักเรียน 40 คน เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์โดยตรง ไม่ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการสมัยนั้น
หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นผู้ใหญ่และเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ร่วมกันวางแผนปรับปรุงโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร อาทิเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)จัดทำหลักสูตรโรงเรียนตามพระราชดำริ ที่สำคัญยิ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารถาวร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้าง เป็นตึกทรงยุโรป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงใยในเรื่องการก่อสร้างเป็นอย่างยิ่ง แม้ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องได้รับพระราชทาน บรมราชานุญาตทุกอย่าง ขณะที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปได้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถเสด็จมาทรงควบคุมแทนพระองค์ และพระราชทานนามจารึกที่หน้าบันมุขกลางว่า "โรงเรียนเบญจมบพิตร สร้าง รัตนโกสินทรศก ๑๒๑" เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 121 (พ.ศ. 2445) หรือ ร.ศ. 121 แล้วได้โปรดเกล้าฯให้นักเรียนขึ้นเรียนบนอาคารถาวรหลังใหม่หลังจากฉลองอาคารแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2447 เป็นต้นมา
แล้วต่อมาทางการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก "โรงเรียนเบญจมบพิตร" เป็น "โรงเรียนมัธยมเบญจมบพิตร" เป็น "โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร" ตามลำดับ และสุดท้ายทางการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร" ในปัจจุบัน ส่วนชื่อ "โรงเรียนเบญจมบพิตร ได้นำไปใช้กับ โรงเรียนประถม"
- เป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทยที่ชื่อขึ้นต้นว่า "เบญจม" และเป็นโรงเรียนเดี่ยวที่ขึ้นต้น "เบญจม" ที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า"เบญจมบพิตร"
ซึ่งต่างจากโรงเรียนอื่นๆที่ขึ้นต้นว่า "เบญจม" ที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อาคารและสถานที่ภายในบริเวณโรงเรียน
- หลังที่ 1 (พุทธเจ้าหลวง ตึกสีชมพู) สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2445 เป็นอาคารทรงยุโรปแบบพิเศษ 2 ชั้น 8 มุข 16 ห้องเรียน ทรงยุโรป สถาปัตยกรรม Neo-Classic ตัวอาคารสีกาบบัว (สีแดงเจือขาว) หน้าต่างและกระเบื้องหลังคาสีเขียวอมน้ำเงิน (สีเขียวคอเป็ด) (ปัจจุบัน 2552หลังคาเป็นสีอิฐ)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ซึ่งเป็น "สมบัติของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอนุสรสิริประสาธน์ และเจ้าจอมมารดาเกสร เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๑" อยู่ด้านทิศตะวันตกของแนวกุฏิสงฆ์ ติดกำแพง ราคาก่อสร้าง 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้าง อาคารหลังนี้ได้รับการซ่อมแซมหลายครั้ง ครั้งหลังสุด กรมสามัญศึกษาได้ทำการซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ. 2525 ใช้งบประมาณ 2.4 ล้านบาท
อาคารเรียนหลังนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็น อาคารอนุรักษ์อาคารสถานที่ราชการอนุรักษ์ดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัล และประกาศนียบัตรแก่โรงเรียนเมื่อพ.ศ. 2528
- ปัจจุบันอาคารเรียนหลังนี้ยังมั่นคง แข็งแรง และสง่างาม โรงเรียนใช้เป็นสำนักงานของฝ่ายบริหารโรงเรียน ห้องเกียรติยศ ฝ่ายแนะแนว และห้องเพชรเบญจมบพิตร
(ในขณะนี้ พ.ศ. 2552 ทางโรงเรียนได้กำลังจัดหางบประมาณเพื่อบูรณะอาคารอีกครั้งเนื่องจากตัวอาคารด้านฝ่ายวิชาการ ได้เกิดการทรุด หากท่านผู้ใดมีจิตศรัทธรา ติดต่อได้ที่ 02-2814050)
- หลังที่ 2 (เทพศึกษา) :สร้างเมื่อพ.ศ. 2507 เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น ขนาด 15 ห้องเรียน ราคาก่อสร้าง 1.5 ล้านบาท ใช้เป็นห้องคอมพิวเตอร์ 2 ห้อง ห้องกลุ่มบริหารกิจการนักเรียน 1 ห้อง ห้อง Resource Center 1 ห้อง ห้องสมุด 5 ห้อง ห้องเรียนวิชาภาษาไทย 4 ห้องและห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย 1 ห้อง (Resource Center เปิดให้บริการเฉพาะนักเรียน ICP )
- หลังที่ 3 (พุทธิศึกษา) สร้างเมื่อพ.ศ. 2517 เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ขนาด 20 ห้องเรียน ราคาก่อสร้าง 2.4 ล้านบาท ใช้เป็นห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา 1 ห้อง ห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ 1 ห้อง และห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 1 ห้อง ห้องเรียนเกษตร 1 ห้อง ห้องเรียน ICP 3 ห้อง ห้องร้านค้าสหกรณ์โรงเรียน 1 ห้อง ห้องพระพุทธศาสนา 1 ห้อง
- หลังที่ 4 (ธรรมศึกษา) สร้างเมื่อพ.ศ. 2520 เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ขนาด 20 ห้องเรียน ราคาก่อสร้าง 3.9 ล้านบาท ใช้เป็นห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิศาสตร์ 1 ห้อง ห้องเรียนศิลปะ 3 ห้อง ห้องเรียนคณิตศาสตร์ 4 ห้อง ชั้นล่างเป็นห้องประชุม และห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ 1 ห้อง ห้องดนตรีไทย 1 ห้อง และ ชั้นบนสุดเป็นห้องวงโยธวาทิต (ดนตรีสากล)
- หลังที่ 5 (รัตนโกสินทร 200) สร้างเมื่อพ.ศ. 2522 แบบพิเศษ 4 ชั้น ราคาก่อสร้าง 3.3 ล้านบาท ใช้เป็นโรงฝึกงาน โรงอาหาร และห้องปฏิบัติการทางภาษา 1 ห้อง และห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี จำนวน 4 ห้อง
- หลังที่ 6 (อาคารพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2528 แบบพิเศษ 3 ชั้น ขนาด 12 ห้องเรียน ราคาก่อสร้าง 5 ล้านบาท พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก สร้างให้ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว ใช้เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ 12 ห้อง และห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 1 ห้อง
- หลังที่ 7 (เรือนพยาบาลพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก) เป็นอาคารเรือนทรงไทย พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และคุรุภัณฑ์ขนาด 4 เตียง สร้างด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ราคาก่อสร้าง 250,000 บาท ปัจจุบันได้ใช้เป็นห้องพักครู แล้วได้ย้ายสถานพยาบาลไปยังอาคารพระพุทธเจ้าหลวงชั้น 1
สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
- เครื่องหมายประจำโรงเรียน
- เครื่องหมายประจำโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ประกอบด้วย
- พระเกี้ยวน้อย เปล่งรัศมี มีเลข ๕ อยู่ข้างล่าง ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ รัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร
- อักษร “บ.บ.” อยู่ใต้ตัวเลข ๕ เป็นอักษรย่อของโรงเรียน
- คติธรรมประจำโรงเรียน คือ “อุฎฐาตา วินทฺเต ธนํ - ผู้หมั่น ย่อมหาทรัพย์ได้”
- สีประจำโรงเรียน
- ชมพู - เหลือง
- ชมพู ████ เป็นสีประจำวันอังคาร ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสัญลักษณ์เตือนใจนักเรียนและครู - อาจารย์ของโรงเรียน ให้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
- เหลือง ████ เป็นสีของพระพุทธศาสนา หมายถึง โรงเรียนตั้งอยู่ในวัดเบญจมบพิตร เป็นสัญลักษณ์เตือนใจของครู นักเรียนของโรงเรียนให้กระทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ประกอบในสิ่งที่ผิด ฝึกชำระจิตใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด ใช้ความสามารถคุ้มครองตนและเป็นคนมีธรรมะ คุ้มครองทุกเมื่อ
- เพลงประจำโรงเรียน
- มาร์ชเบญจมบพิตร
- ต้นไม้ประจำโรงเรียน
- ต้นอโศก
- ดอกต้นไม้ประจำโรงเรียน
- ดอกอโศก
ปูชนียวัตถุเป็นที่เคารพสักการะบูชาอย่างสูงของชาวเบญจมบพิตร
- พระพุทธชินราชจำลอง พระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
- พระสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ใต้รัตนบัลลังก์ขององค์พระพุทธชินราชจำลอง ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
- พระบรมรูปประทับยืนขนาดใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาร้อยปี
- พระบรมสาทิสลักษณ์ประทับยืนขนาดใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ห้องเกียรติยศของโรงเรียน
องค์ผู้อุปการะโรงเรียน
องค์ผู้อุปการะโรงเรียน คือ เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อาทิ สมเด็จพระวันรัต , สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณ) , สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ , พระพรหมจริยาจารย์ , พระพุทธวรญาณ
รายนามผู้บริหารโรงเรียน
ดูเพิ่มเติม รายนามผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร
คณะสี

- โดยหน้าบันพระอุโบสถ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้ผูกลายประกอบพระราชลัญจกรต่าง ๆ
- ในการผูกลายประกอบพระราชลัญจกร นอกจากสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ส่วนหนึ่ง พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร (พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ช่วยเขียนแบบ ในกำกับของ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ด้วย
ชื่อคณะสีล้วนมาจากหน้าบันพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
- ██ คณะนารายณ์ทรงครุฑ (สีแสด)ก่อตั้งวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2521
- ██ คณะมหาอุณาโลม (สีเขียว)ก่อตั้งวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2521
- ██ คณะไอยราพต (สีฟ้า)ก่อตั้งวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2521
- ██ คณะจักรรถ (สีแดง) ก่อตั้งวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2521
- ██ คณะจุลมงกุฎ (สีเทา) ก่อตั้งวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2531 แต่ปัจจุบันไม่ได้มีคณะสีนี้แล้ว
โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร เคยร่วมจัดงานสมานมิตร เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับโรงเรียนเพื่อนบ้าน โดยมี 3 โรงเรียนดังนี้ โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ โรงเรียนวัดราชาธิวาส และโรงเรียนวัดน้อยนพคุณ
ความคิดเห็น