ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หอสมุดต้องห้ามแห่งดาร์คแลนด์

    ลำดับตอนที่ #105 : มาชูปิ๊กชู นครสาบสูญแห่งชนเผ่าอินคา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 556
      0
      1 ก.ค. 59

    มาชูปิ๊กชู

     
                         มาชู ปิกชู (Machu Picchu) หรือ นครสาบสูญของชาวอินคา สูงขึ้นไปบนเทือกเขาแอนดีส ป้อมปราการแห่งมาชู ปิกชู(Machu Picchu) ดูราวกับลอยอยู่ในสายหมอก
     
     


         เมืองนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาซึ่งแต่ละด้านเป็นผาชันแลดูน่าหวาดเสียว นครมาชู ปิกชูเป็นของชนชาติอินคา (Inca) ที่สาบสูญไปนานแล้วและไม่มีใครค้นพบจนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลังจากจักรวรรดินี้ล่มสลายไปแล้วราว 400 ปี 

         ปัจจุบันนักท่องเที่ยวในเปรูสามารถเดินทางจากเมืองคุซโกไปยังนครมาชู ปิกชูโดยทางรถไฟและรถโดยสารประจำทางเป็นระยะทาง 96 กม. ได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง 

         แต่ในสมัยเมื่อปี ค.ศ.1911 ฮิแรม บิงแฮม นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีชาวอเมริกัน ต้องใช้เวลาเหนื่อยยากถึงห้าวันซอกซอนไปตามหุบเขาที่มีแม่น้ำอูรูบัมบาไหลผ่าน กว่าจะไปถึงซากเมืองโบราณที่มีชื่อเสียงนี้ 

         ในปัจจุบัน บิงแฮมเชื่อว่าเขาได้ค้นพบเมืองบิลกาบัมบา (Vilcabamba) ซึ่งเป็นที่มั่นของพวกอินคาเข้าแล้ว เมืองบิลกาบัมบาถูกทำลายราบเป็นหน้ากลองในช่วงที่สเปนบุกเข้าพิชิตจักรวรรดิอินคาเมื่อ ค.ศ.1572 บิงแฮมพยายามถ่ายทอดความอัศจรรย์ใจในการค้นพบเมืองนี้โดยการหวนรำลึกถึงอดีตให้ฟังว่า “ตอนนั้นดูเหมือนเป็นความฝันอันเหลือเชื่อ” 

         บิงแฮมมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าเขาได้ค้นพบเมืองบิลกาบัมบา ซึ่งเป็นเป้าหมายในการเดินทางมาสำรวจดินแดนเปรูของคณะจากมหาวิทยาลัยเยลครั้งนี้ แต่ว่าผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันลงความเห็นว่าเมืองบิลกาบัมบาตั้งอยู่ที่เอสปิริตู ปัมปา (Espiritu Pampa) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเปรู

     

         เมืองปราการเล็กๆ ที่บิงแฮมพบนี้น่าจะถูกพวกอินคาทิ้งร้างไว้ในสมัยก่อนที่เมืองบิลกาบัมบาจะถูกทำลาย และพวกซากปรักหักพังที่นี่ก็อยู่ในสภาพสมบูรณ์จนไม่น่าเป็นไปได้ว่าพวกสเปนเคยผ่ายกรายมาถึงมาชู ปิกชู ทั้งนี้เพราะพวกสเปนมีกิตติศัพท์ว่าไม่เคยละเว้นที่จะปล้นและทำลายล้างเมืองทุกเมืองที่ขวางหน้า ยิ่งกว่านั้น ในพงศาวดารของชาวสเปนก็ไม่มีการกล่าวถึงที่ตั้งของเมืองนี้ไว้เลย 

         คณะของบิงแฮมมาพบเมืองมาชู ปิกชูเข้าโดยบังเอิญ พวกเขาตั้งค่ายในหุบผาชันแห่งหนึ่งที่มีแม่น้ำไหลผ่าน ครั้นมีชาวนาคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่ามีซากเมืองโบราณอยู่บนภูเขาที่เรียกว่ามาชู ปิกชู(ซึ่งแปลว่ายอดเขาเก่า) ใกล้ๆ แถวนั้น แม้ว่าบิงแฮมกับคณะไม่เชื่อถือคำบอกเล่านั้นเท่าไหร่นัก 

         แต่ในวันรุ่งขึ้นพวกเขาก็ตามชาวนาผู้นั้นบุกป่าทึบขึ้นเขาไป เมื่อใกล้ถึงยอดซึ่งสูงจากพื้นเบื้องล่างไป 610 ม. ก็ถึงที่ราบหินโล่งเตียนยาวหลายร้อยเมตร สุดทางมีกำแพงหินแกรนิตสีขาว มีวัชพืชขึ้นคลุมมิด แต่ก็ยังสังเกตเห็นได้ถึงฝีมือก่อสร้างอันประณีต 

         บิงแฮมเขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าเริ่มตระหนักว่ากำแพงและวิหารรูปครึ่งวงกลม ซึ่งตั้งอยู่ติดกันนั้นสวยงามไม่แพ้สิ่งก่อสร้างด้วยหินงามประณีตที่สุดในโลก” มาชู ปิกชูเป็นเมืองที่มีลักษณะพิเศษในทุกๆ ด้าน มิใช่มีความพิเศษเพียงเพราะว่าผู้ที่สร้างมันขึ้นมานั้นยังไม่รู้จักใช้เครื่องมือที่ทำด้วยเหล็ก แรงงานสัตว์ชักลาก อีกทั้งยังไม่รู้จักใช้แม้แต่ล้อทุ่นแรง
     

         เมื่อบิงแฮมกลับมาที่นี่อีกครั้งในปีต่อมา เพื่อหักร้างถางพงและทำการขุดค้น เขาก็ได้ค้นพบสิ่งก่อสร้างรูปจัตุรัสซ้อนกันหลายชั้น โรงอาบน้ำ ลานกว้าง ท่อส่งน้ำ บ้านเรือน วัง และหมู่วิหาร อาคารต่างๆ สร้างขึ้นด้วยหินแกรนิตก้อนมหึมา 

         แต่ไม่มีการโบกปูนยึดไว้ ก้อนหินเหล่านี้ต่อเข้ากันได้พอดีจนแม้แต่ใบมีดก็ไม่สามรถแทรกผ่านเข้าไปได้ ช่วงหินวางเรียงหินแต่ละก้อนที่มีด้านเอียงไม่เท่ากันอย่างประณีต จนเสร็จสมบูรณืเหมือนจัดเรียงปริศนารูปต่อขนาดยักษ์ รูปแบบการก่อสร้างนี้เสริมให้กำแพงแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นทางป้องกันหนึ่งสำหรับบริเวณที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวดังเช่นในเทือกเขาแอนดีส 

         เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่บนสันเขาระหว่างภูเขาสองลูกคือ มาชู ปิกชู และอวยนา ปิกชู (Huayna Picchu) ซึ่งเป็นเสมือนปราการธรรมชาติอย่างวิเศษ มองากหน้าผาสูงชันลงไปจะเห็นภาพงดงามของหุบเขาแคบๆ ที่มีแม่น้ำอูรูบัมบาไหลผ่าน และเป็นทางที่ศัตรูจะต้องเดินทัพผ่านเพื่อมุ่งสู่กรุงคุซโก 

         เมืองหลวงของอินคา ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 110 กม. ผู้สร้างนครแห่งนี้รู้จักใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากทำเลที่ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ นับว่าชาญฉลาดสมกับที่เป็นผู้สร้างจักรวรรดิซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับจักรวรรดิโรมัน 
     

         มาชู ปิกชู สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 และคาดว่ามีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 1000 คน สังคมอินคามีโครงสร้างชนชั้น มีทั้งนักบวช ขุนนาง และกรรมกร ชาวอินคาทุกคนมีหน้าที่ สิทธิ และเอกสิทธิ์ตามสถานภาพ ที่พักและที่ทำงานของพวกขุนนางจะอยู่บนพื้นที่สูงขึ้นไป 

         ส่วนบ้านเรือนของชาวบ้านทั่วไปที่สร้างด้วยหินหยาบตั้งอยู่ต่ำลงมา ทิศตะวันตกของเมืองเป็นที่ตั้งของอินติอัวตานา (Intihuatana) หมายถึง เสาพันธนาการพระอาทิตย์ (Hitching Post of the Sun) ซึ่งเป็นยกพื้นเตี้ยสร้างขึ้นง่ายๆ โดยมีเสาหินตั้งอยู่ มีวิหารสองหลังอยู่เบื้องหน้าเสาหินอินติอัวตานาคือ วิหารตรีบัญชร (Temple of Three Windows) และวิหารใหญ่ (Principal Temple) วิหารทั้งสองนี้สร้างขึ้นแบบง่ายๆ และคงไม่มีหลังคาคลุมเพื่อให้นักบวชเฝ้ามองสวรรค์ได้ตลอดเวลา 

         ชาวอินคานับถือทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นเทพเจ้า สุริยเทพอินติ (Inti) เป็นที่เคารพบูชาสูงสุดในฐานะบรรพบุรุษของจักรพรรดิและเป็นเทพบิดรแห่งชาวอินคาทุกคน เชื่อกันว่าสุริยเทพอินติเป็นสวามีและเชษฐาของเทพแห่งดวงจันทร์ หรือมามา คียา (Mama Quilla) และมีบริวารเป็นดวงดาวและดาวเคราะห์ทั้งหลาย (ยกเว้นดาวศุกร์ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าเหมือนกัน) 

         ในพิธีฉลองเหมายัน (winter solstice) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกโคจรห่างจากพระอาทิตย์มากที่สุดในฤดูหนาว ชาวอินคาจะผูกรูปบูชาสุริยเทพอินติเข้ากับเสาหินอินติอัวตานา เป็นสัญลักษณ์ว่าพระอาทิตย์จะหวนกลับมาอีกในปีถัดมา มักมีการนำสัตว์หรือเด็กมาบูชายัญในพิธีฉลองนี้ด้วย 

         พวกอินคาอาจจะทิ้งเมืองมาชู ปิกชู ให้ร้างไปก่อนที่พวกสเปนจะมาถึงเมืองหลวงคุซโกในปี ค.ศ.1572 ก็ได้ แต่สาเหตุของการทิ้งเมืองอย่างกะทันหันนั้นไม่มีใครสืบทราบ หรือเป็นไปได้ว่าอาจมีการรบพุ่งกันเองระหว่างชาวอินคาเผ่าต่างๆ 

         ซึ่งบางครั้งอาจถึงกับส่งผลให้เมืองทั้งเองสูญสลายไปสิ้นก็ได้ หรืออาจเกิดโรคระบาดร้ายแรงซึ่งทำให้ชาวเมืองต้องอพยพทิ้งเมืองไป หรืออาจเป็นว่ามีคนล้มตายเป็นจำนวนมากจนชนชั้นปกครองต้องสั่งปิดเมืองอย่างถาวร 

         แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้มาชู ปิกชูกลายเป็นเมืองร้างนั้น อาจเป็นเรื่องลี้ลับตลอดไป ทว่าปมปริศนานี้ยังคงสร้างเสน่ห์น่าพิศวงหลงใหลให้แก่ซากเมืองโบราณนี้อยู่ นับได้ว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่น่าชมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×