นักเรียนเก๋าอังกฤษ - นิยาย นักเรียนเก๋าอังกฤษ : Dek-D.com - Writer
×

    นักเรียนเก๋าอังกฤษ

    โดย octoberner

    ช้าก่อน ๆ ใครอยากไปเรียนต่อต่างประเทศเชิญแวะมาอ่านเรื่องนี้ แล้วจะได้รู้แนวว่าเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยนั้น มันเป็นยังไง เรื่องจริงหลายตอนจบ จากประสบการณ์ในประเทศอังกฤษของอดีตเด็กโข่ง

    ผู้เข้าชมรวม

    972

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    5

    ผู้เข้าชมรวม


    972

    ความคิดเห็น


    28

    คนติดตาม


    52
    จำนวนตอน : 54 ตอน
    อัปเดตล่าสุด :  8 มิ.ย. 61 / 16:26 น.

    อีบุ๊กจากนิยาย ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

    สารภาพตรง ๆ เลยว่า  เรื่องนี้ผู้เขียนตั้งใจจะพิมพ์เป็นเล่ม   แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ซื้อ   จะเก็บไว้กับตัวก็เสียดายของ  เลยเอามาโพสต์ให้เด็ก ๆ อ่านเล่นดีกว่า   ถ้าพร้อมแล้ว ก็มาอ่านกันเลยจ้า

    A long lasting dream 
    ถ้าวันหนึ่งเพื่อนสนิทของคุณเดินเข้ามาบอกว่า  เธอกำลังจะไปใช้ชีวิตและศึกษาต่อ ณ.แดนไกล    คุณจะพูดอะไรกับเพื่อน   

    ก. ดีใจด้วยนะฝันเป็นจริงเสียที

    ข. เราจะเลี้ยงส่งแกวันไหนดี

    ค. เดี๋ยวฉันตามไป  แกอย่าเพิ่งรีบกลับนะ

    ง. แน่ใจหรือเปล่า   ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองคนเดียว  ไม่เหงาแย่เหรอ

    จ. ไปกี่ปี   เมื่อไรกลับ?   อย่าลืมของฝาก

    ฉ. ไม่ใช่ทุกข้อที่กล่าวมา

     

    หลังจากได้รับวีซ่าเข้าประเทศอังกฤษมาหมาด ๆ   ฉันรีบโทรไปบอกข่าวดีกับเพื่อนสนิท    และนี่คือบทสนทนาระหว่างเรา  

    “เราจะไปอังกฤษอาทิตย์หน้าแล้วนะ”

    “ตกลงแกจะกลับไปเรียนต่อจริง ๆ?”

    “ก็ใช่น่ะสิ”

    “อ้าว  แล้วงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ล่ะ”

    “ก็เลิกไง   ไม่ทำแล้ว  จะไปเรียนต่อ”

    “เอาจริงเหรอเนี่ย”

    “จริงดิ”

    “แกจะบ้าหรือเปล่า   อยู่ดี ๆ จะเลิกทำงาน  ไม่เออรี่รีไทร์ไปซะเลยล่ะ   แก่จนปูนนี้แล้วยังจะไปเรียนอะไรอีก!  กว่าจะจบกลับมาก็แก่งั่กพอดี   งานเขียนบทละครที่แกทำอยู่ทุกวันนี้มันใช้ความรู้ทางวิชาการซะที่ไหน   จะไปนั่งเรียนให้มันเมื่อยทำไม !

    ดูมันพูดเข้าสิ      ทำอย่างกับเพิ่งได้ยินแผนการที่งี่เง่าและผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิต     คนเค้าจะไปเรียนต่อ   ไม่ได้จะหนีตามผู้ชายซะหน่อย     ... แก่จนปูนนี้ ....   ฉันก็อายุเท่าแกนั่นแหละ   เพิ่งจะสามสิบสองขวบเท่านั้นเอง   ไม่เห็นแก่ตรงไหนเลย    

    ถึงคำประชดประชันของเพื่อนจะฟังแล้วแสลงหูไปบ้างแต่ฉันไม่โกรธหรอก   คิดซะว่าหากนางไม่ใช่เพื่อนบังเกิดเกล้าคงไม่พูดด้วยความห่วงใย (หรือเปล่าก็ไม่รู้) แบบนี้   

    เพื่อนก็น่าจะรู้ดีว่าถ้าไม่ไปตอนนี้ ...   แล้วแกจะให้ฉันไปตอนไหน    นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะแก่การไปเรียนต่อมากที่สุด  เพราะว่าฉัน...  

    1. ไม่มีครอบครัว   

    2. ก็เลยยังไม่มีลูก

    3. แถมไม่มีแฟนอีกต่างหาก   

    4. ไม่มีภาระหนี้สิ้น  ผ่อนบ้าน  ผ่อนรถ   ผ่อนไอโฟน   หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ 

    5. ไม่มีภาระต้องดูแลพ่อแก่แม่ชรา

    6. ไม่ได้ทำงานประจำก็เลยไม่ต้องลาออกจากงาน 

    7. สามารถซื้อตั๋วแล้วหิ้วกระเป๋าขึ้นเครื่องไปได้เลย

     

    แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เพื่อนพูดก็สมเหตุสมผลทุกอย่าง   งานเขียนบทละครต้องอาศัยจินตนาการมากกว่าความรู้ทางวิชาการ   ถึงกระนั้นฉันก็มีเหตุผลของตัวเองที่ไม่ค่อยเหมือนใคร   และจะไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางความมุ่งมั่นตั้งใจของว่าที่นักเรียนโข่งคนนี้ได้   

    “เขาว่ากันว่าการศึกษาคือการลงทุน    แกเคยได้ยินไหม”

    “แล้วแกมีเงินไปลงทุนเท่าไร”

    “...ก็สาม...กว่า ๆ”

    “สามล้าน?”

    “ไม่ถึงหรอก”

    “สามแสน?”

    “ไม่ใช่”

    “แล้วมันอะไรกันแน่   อย่าบอกนะว่าสามหมื่น”

    “ก็ประมาณนั้นแหละ”

    “นี่แกจะไปเรียนต่อที่อังกฤษด้วยเงินสามหมื่น ! ... เหรอ ... ล้อเล่นใช่ไหม”

    อ๊ะ อ๊ะ  อย่าดูถูกเงินสามหมื่นสิยะ    ถึงมันจะน้อยนิดแต่ก็ทำฝันให้เป็นจริงได้เหมือนกันนะ  

       

    ตอนที่เริ่มวางแผนเรื่องกลับไปเรียนต่อ   คือช่วงเวลาที่ฉันมีเงินนอนอยู่ในบัญชีประมาณหนึ่งแสนบาท   ซึ่งต่อมาก็ค่อย ๆ ร่อยหรอลงไปกับค่าดำเนินการต่าง ๆ   ทั้งค่าสอบ IELST   ค่าขอวีซ่า   ค่าโน่นนี่นั่น    รวมทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน   

    สุดท้ายพอถึงวันที่กำลังจะเดินทางไปประเทศอังกฤษเป็นรอบที่สอง   เพื่อพยายามเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเป็นครั้งที่สอง   ฉันเหลือเงินสดอยู่ในกระเป๋าเพียงสามหมื่นบาท  โฉนดที่ดินติดริมทะเล  คอนโดหรูย่านสาธร   พันธบัตรรัฐบาล   พระเครื่อง  แหวนเพชรมรดกจากคุณย่า   ก็ไม่มีสักอย่าง    (แล้วจะกล่าวถึงทำไม) 

    ก่อนหน้านี้ฉันเคยไปเรียนและใช้ชีวิตในลอนดอนมาแล้วครั้งหนึ่ง  (เขียนให้ดูดี   จริง ๆ แล้วไปเรียนภาษาและทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อตเสิร์ฟอาหารอยู่ในร้านไทย)   เคยสมัครเข้าเรียนป.โทในมหาวิทยาลัยแล้วแต่ยังไม่ได้เรียน     เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม      ห้าปีผ่านไปความฝันยังอยู่คงเดิมและฉันยังไม่มีค่าเทอมเหมือนเดิม     

    ความฝันนั้นเป็นเรื่องแปลก    มันก่อตัวขึ้นในจินตนาการ   จากนั้นก็เกาะติดหนึบอยู่กับเราเพื่อเฝ้าทวงถามว่าเมื่อไรจะลงมือทำฝันให้เป็นจริงเสียที    หากเราแกล้งทำหูทวนลม    มันจะเฝ้าเพียรกระซิบถามซ้ำ ๆ อยู่ร่ำไปว่า  เมื่อไร  เมื่อไร   เมื่อไร...    

    และถึงจะอธิบายเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ให้ฟังว่ายังไม่มีตังค์    ไม่มีเวลา   ตอนนี้ยังไม่พร้อม   รอให้ถูกหวยสักงวดก่อนได้ไหม ฯลฯ   แต่ดูเหมือนมันไม่เคยเข้าใจ     ยังคงตั้งคำถามเดิม ๆ รบกวนใจเรา   เมื่อไร  เมื่อไร  เมื่อไร...     

                    เมื่อเห็นว่าเรายังเพิกเฉย    ใช้ชีวิตไปวัน ๆ เหมือนลืมสิ่งที่เคยฝันไว้จนหมดใจ    มันก็ปล่อยท่อนฮุกหมัดเด็ดออกมา   “แล้วเธอจะมานั่งเสียดายในตอนที่มันสายเกินไปแล้ว”

    เหมือนถูกเสยปลายคางจนน๊อคเอ้าท์กลางอากาศ   ฉันหลับไปและเห็นภาพตัวเองย่างเข้าสู่วัยเฒ่าชะแลแก่ชรา    คำถามที่หาคำตอบไม่ได้ยังเฝ้าหลอกหลอน    แต่เปลี่ยนจากคำถามสั้น ๆ ว่า  เมื่อไร  เมื่อไร   เมื่อไร...     มาเป็นคำถามยาว ๆ ว่า   ทำไมเธอไม่เดินตามความฝันของตัวเองในวันที่ยังมีโอกาส? 

    เมื่อรู้สึกตัวตื่น  ฉันได้เหตุผลใหม่มาบอกตัวเองว่า   การลงมือทำตามความฝันบางครั้งก็ไม่ต้องใช้เหตุผลอะไรมากมายนักหรอก     

    แล้วในที่สุดคำถามที่ได้ฟังซ้ำ ๆ เป็นเวลาห้าปีก็กำลังจะจบลง   

    การเดินทางครั้งนี้เปรียบได้กับการกลับไปปิดจ๊อบ   ทำฝันที่ค้างเติ่งให้กลายเป็นความจริงเสียที  

       

    Wiser old man กล่าวไว้ว่า  คิดทำการใหญ่ต้องวางแผน    

    การเดินทางไปเรียนต่อด้วยเงินติดกระเป๋าเพียงสามหมื่นบาทยิ่งต้องวางแผนให้รอบคอบที่สุด    ทั้งเรื่องเรียน    เรื่องงาน    เรื่องเงิน   ที่พักอาศัย   อาหารการกิน  ฯลฯ    ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยวางแผนอะไรได้เป็นเรื่องเป็นราวเท่านี้มาก่อน    

    แต่ว่านะหลายครั้งที่เราวางแผนอะไรไว้ก็ตาม    มันมักไม่เป็นไปตามนั้นหรอก    ครั้งนี้ก็เหมือนกัน    จากตอนแรกที่คิดว่าชีวิตต่อจากนี้คงเป็นไปตามแผนการอย่างราบรื่น    แต่ก็ผิดแผนจนได้

         สุดท้ายแล้วนักเรียนโข่งจะเรียนจบป.โทอย่างที่มุ่งหวังไว้หรือไม่    จะมีความเป็นอยู่แบบไหน    จะประกอบอาชีพอะไร   จะหาค่าเทอมได้หรือเปล่า     กรุณาติดตามอ่านตอนต่อ ๆ ไป  

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    คำนิยม Top

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    คำนิยมล่าสุด

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    ความคิดเห็น