ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    India-Indie ซุบซิบกับสะใภ้อินเดีย

    ลำดับตอนที่ #495 : กว่าจะได้สาหรี่สักชุด มันช่างแสนยากเย็น

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 682
      24
      27 ก.ย. 61

    #ซุบซิบกับสะใภ้อินเดีย
    อีห่านว่าจะเขียนเรื่องนี้นานแล้วแต่ไม่มีเวลาสักที ( เพราะว่าทำงานเหรอ? - เปล่า...ขี้เกียจ 555+ ) ในสมัยก่อนตอนที่อีห่านเพิ่งสะสมสกิลและเลเวลอินเดียแรกๆ ก็ไม่ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเสื้อผ้าอินเดียเท่าไหร่เลย การใส่ส่าหรีครั้งแรกของอีห่าน คือไปซื้อที่พาหุรัด มันเป็นส่าหรีสำเร็จรูปที่สามารถสวมเหมือนกระโปรง แล้วก็เอาผ้ามาพันๆเสร็จเรียบร้อย ซึ่งมันจะมีพร้อมเสื้อตัวนึง เป็นเนื้อผ้าสีเดียวกัน เช่น ชุดส่าหรีสีส้ม เสื้อตัวในก็จะสีส้ม ปักเลื่อมลายพร้อยๆ

    เอาจริงๆชุดส่าหรีประเภทนี้ไม่ค่อยเห็นสวมกันที่อินเดียเลย แต่ที่ประเทศไทยมีขายเยอะมาก ซึ่งเหมาะกับการใส่ไปบูชาเทพเจ้ามากกว่าที่จะเอามาใส่เดินในชีวิตประจำวัน เพราะเอาจริงๆผู้หญิงอินเดียที่สวมส่าหรีหรือชุดซัลวาไม่นิยมสวมใส่ผ้าที่ปักเลื่อมลาย เวลาไปไหนมาไหนจะสวมส่าหรีเป็นผ้าพิมพ์ลายมากกว่า การใช้ส่าหรีที่เป็นเนื้อผ้าปักลวดลายด้วยเลื่อมหรือลูกปัดซึ่งเป็นงานฝีมือ จะนิยมใช้ออกงานเลี้ยงสังสรรค์มากกว่า อย่าได้คิดใส่ออกไปเดินตามถนนหนทางหรือสถานที่ท่องเที่ยวเลย อาจจะถูกมองได้เหมือนกันนะ

    และชุดส่าหรีที่นิยมสวมใส่ สีเสื้อตัดกับผ้าส่าหรีที่พัน เช่นผ้าส่าหรีสีเขียวมีลายน้ำตาล ก็อาจใช้เสื้อด้านในเป็นสีน้ำตาล และมีขอบแขนสีเขียวอะไรแบบนี้ จะค่อนข้างดีกว่าสวมเสื้อกับผ้าส่าหรีสีเดียวกัน

    ย้อนกลับไปที่เรื่องชุดส่าหรีสำเร็จรูปของอีห่านที่ซื้อที่พาหุรัด ด้วยความที่อีห่านไม่เคยซื้อชุดส่าหรีมาใส่จริงๆจังๆ ก็เลยคิดว่า มันคงไม่ยากอะไร แต่เอาจริงๆพอมาอยู่อินเดียเลยรู้ว่าการใส่ชุดส่าหรีสักชุด มันยุ่งยากตั้งแต่การซื้อชุดจนไปถึงการใส่ชุด ไม่ได้ง่ายเหมือนชุดส่าหรีสำเร็จรูปเลยสักนิดเดียว เพราะชุดส่าหรีที่ขายจริงๆมันคือผ้าผืนเดียวยาวๆ ที่มีลวดลายต่างๆกันไป ราคาของมันขึ้นอยู่กับ คุณภาพของเนื้อผ้าและลวดลายของเนื้อผ้า ร้านขายข้างทางก็ไม่ได้กระจอกกว่าร้านที่ขายขึ้นห้างขึ้นกับงานฝีมือ

    ประเด็นอยู่ที่อีห่านมีผ้าส่าหรีอยู่ประมาณ 5 ผืน แต่ไม่เคยสวมแล้ววันหนึ่งคิดจะสวมขึ้นมา ซึ่งมันก็สวมไม่ได้ไง เพราะว่ามีแต่ผ้า แต่ไม่มีเสื้อและปาติโคท ( เหมือนผ้าถุงซับใน ) สมัยก่อนอีห่านเคยคิดว่าไปหาซื้อเสื้อยืดที่ไหนก็ได้มั้งที่สีเดียวกันกับผ้าส่าหรี ส่วนปาติโคทไม่ต้องใส่ก็ได้มั้งเพราะคงไม่มีใครเห็น ซึ่งเอาจริงๆมันไม่ใช่

    อีห่านบอกพ่อแม่สามีว่าฉันอยากใส่ชุดส่าหรีจังเลย ฉันมีผ้าส่าหรีอยู่ 5 ผืน แม่สามีก็บอกว่าให้เอามาดูสิ อีห่านก็เลยหอบผ้าส่าหรี 5 ผืนออกมาจากตู้เสื้อผ้าเอาไปให้แม่สามีดู หลังจากแม่สามีเห็นปุ๊บก็ชักชวนพ่อสามีกับอีห่านออกไปจัดการเรื่องนี้ทันที

    เริ่มจากการโบกรถออโต้หรือตุ๊กตุ๊กอินเดีย ไปยังย่านร้านเสื้อผ้า แถวที่พัก บริเวณนั้นมีร้านขายเสื้อผ้าส่าหรีและชุดซัลวามากมาย เพื่อไปหาซื้อปาติโคทสำเร็จรูป กว่าจะหาเจอก็ต้องเข้าซอย เพราะไม่ใช่ว่าร้านขายชุดส่าหรี จะมีผ้าปาติโคทขาย พอเจอก็ซื้อมา 5 ตัว ด้วยการเลือกสีให้เข้ากับสีผ้าส่าหรี เมื่อซื้อผ้าปาติโคทเสร็จ ก็เดินกลับไปที่ร้านขายชุดส่าหรีต่างๆ เพื่อหาซื้อผ้าสำหรับทำเสื้อตัวใน ( ผ้าสำหรับทำเสื้อตัวใน อยู่ในรูปที่ 2 ผู้ชายสวมเสื้อเชิ้ตสีเหลืองกำลังเลือกหาสีผ้าที่เหมาะกับผ้าส่าหรีของอีห่านอยู่ ) เมื่อได้ผ้าสำหรับทำเสื้อตัวในมา 5 สี จากนั้นก็เอากลับไปให้ร้านตัดผ้าที่มีเยอะแยะมากมายกระจายอยู่ตามชุมชนใกล้บ้าน เอาง่ายๆว่าคุณสามารถหา ร้านตัดเสื้อผ้าส่าหรีกับร้านขายของชำในอินเดียได้ง่ายพอๆกับเซเว่นอีเลฟเว่นที่ประเทศไทย พอมาถึงร้านตัดเสื้อผ้า ก็ต้องเอาผ้าสำหรับตัดเสื้อตัวใน 5 สี พร้อมกับผ้าส่าหรีให้ช่างเอาไปตัดเป็นเสื้อตัวในให้ ซึ่งเราต้องอยู่ด้วยเพื่อให้เขาวัดขนาดไซส์ แขน อก เสื้อตัวในมันจะมีความยาวถึงประมาณใต้ราวนม ไม่ถึงเอว ง่ายๆว่าโชว์พุงกะทิ แต่การสวมส่าหรีมีหลายแบบอยู่ที่ว่าจะให้โชว์พุงหรือไม่โชว์พุงก็ได้ ซึ่งระยะเวลาในการตัดเสื้อตัวใน ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วและคิวงานของช่าง อยู่ราวๆประมาณ 2 ถึง 5 วัน พอเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ไปรับมันกลับมา

    จะเห็นได้ว่า กว่าจะได้ชุดส่าหรี 1 ชุดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน ทำเอาอีห่านไม่อยากซื้อชุดส่าหรีตัวใหม่เลย ขี้เกียจไปหาซื้อผ้าสำหรับทำเสื้อตัวในกับปาติโคทอีก

    ปล. ราคาค่าผ้าปาติโคท รวมกับผ้าสำหรับตัดเสื้อตัวใน และค่าตัดเสื้อตัวใน อยู่ราวๆ 2,000 กว่ารูปี ประมาณ 1,000 กว่าบาท แม่สามีออกให้หมด

    #พิมพ์ยาวไม่เหนื่อยเท่าคิดถึงตอนไปตะเวนหาซื้อผ้า #อย่างเหนื่อย







    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×