...
ภาพที่ 1: โพรงรอบจมูกหรือไซนัส (paranasal sinuses) มองจากด้านหน้า > Thank Health Blog for Kids > [ Marin4Kids ]
โพรงรอบจมูกมี 4 กลุ่ม ทว่า... ถ้ามองในท่าตรงจะเห็นชัดอยู่ 3 กลุ่มได้แก่
- (1). ฟรอนทัล (frontal = เหนือตา)
- (2). เอตมอยดัล (ethmoidal = หัวตา อยู่ระหว่างลูกตา)
- (3). แมกซิลลารี (maxillary = บริเวณแก้ม)
...
โพรงรอบจมูกทำหน้าที่สำคัญๆ ได้แก่ [ Disease-Treatment-Prevention ]
- (1). ลดน้ำหนักกะโหลกหรือกบาล ทำให้น้ำหนักหัวลดลง
- (2). อากาศในโพรงรอบจมุกทำหน้าที่เป็นฉนวนความร้อน ทำให้หัวไม่ร้อนหรือเย็นมากไปตามสิ่งแวดล้อม
- (3). ช่วยให้เสียงก้องกังวาล (resonance) เปรียบคล้าย "กล่อง (box)" ของเครื่องดนตรี เช่น โพรงอากาศในกีตาร์ ระนาด ฯลฯ ซึ่งถ้าไม่มีกล่องช่วย... เสียงจะเบาลง และก้องกังวาลน้อยลง
...
ผู้เขียนสังเกต(จากภาพเอกซเรย์)ว่า โฆษก ดีเจ คนเสียงนุ่ม-ทุ้ม-ลึกส่วนใหญ่มักจะมีขนาด (ปริมาตร) โพรงรอบจมูก (ไซนัส - ไม่ใช่จมูก) มากกว่าประชากรทั่วไป
...
ภาพที่ 2: โพรงรอบจมูกหรือไซนัส (paranasal sinuses) มองจากท่าหน้าตรง และมองจากด้านข้าง > Thank Resource Library > Dorland' Medical Dictionary > [ MerckSource ]
โพรงรอบจมูกหรือไซนัสมี 4 กลุ่มได้แก่
(1). ชุดเหนือตา หรือหน้าผาก (frontal - ฟรอนทัล)
(2). ชุดตรงกลาง ระหว่างตา (ethmoidal - เอตมอยดัล)
(3). ชุดแก้ม (maxillary - แมกซิลลารี)
(4). ชุดตรงกลาง อยู่เหนือด้านหลังโพรงจมูก (sphenoidal - สฟีนอยดัล)
...
ตำแหน่งของกลุ่มไซนัสมีส่วนช่วยให้พวกเราวินิจฉัยอาการโรคไซนัสอักเสบ หรืออุดตันได้ เนื่องจากไซนัสมีการสร้างน้ำเมือก หรือเสมหะออกมาช้าๆ แบบน้ำซับ (ไม่ใช่แบบน้ำพุ), น้ำเมือกหรือเสมหะนี้ช่วยให้เยื่อบุไซนัสทำงานได้ดี
เยื่อบุนี้มีขนขนาดจิ๋ว พัดโบกเสมหะไปสู่โพรงจมูก กลไกนี้คล้ายๆ กับการ "กวาดบ้าน", หลังจากนั้นจะพัดโบกไปทางด้านหลังจมูก และคนเราจะกลืนลงไป
...
คนเรานั้นวันๆ กลืนอะไรๆ เข้าไปมากกว่าที่คิด เฉพาะน้ำลายนี่... คนตัวโต (ประมาณ 70 กิโลกรัม) จะหลั่งน้ำลายออกมาแบบน้ำซับ วันละ 1.5 ลิตร แล้วกลืนเข้าไป
คนไทยมีสำนวนติเตียนคนที่ไม่รักษาคำพูดว่า "กลืนน้ำลาย"... จริงๆ แล้วคนเราก็กลืนน้ำลายกันทั้งนั้น ยกเว้นคนที่มีหลอดอาหารอุดตัน 100% เช่น เป็นมะเร็ง ฯลฯ
...
ร่างกายคนเรามีระบบสร้างอาโปธาตุ หรือธาตุน้ำต่างๆ มากมาย เช่น น้ำลาย เสมหะ น้ำมูก ฯลฯ... สร้างแล้วส่วนใหญ่จะไม่ทิ้งไปไหน อาศัยกลืนลงไป
ที่เป็นน้ำก็ดูดซึมกลับไปใช้ใหม่ (recycle), ที่เป็นโปรตีนก็ย่อยด้วยน้ำย่อย (enzymes) แล้วนำกลับไปใช้ใหม่อีก...
...
ไซนัสแต่ละกลุ่มมีระบบ "น้ำทิ้ง" หรือท่อน้ำเสียคล้ายๆ ท่อระบายน้ำแยกกัน... เวลาอุดตันส่วนใหญ่จะอุดตันเป็นบางกลุ่ม ทำให้เราแยกได้ว่า ตอนนี้ไซนัสกลุ่มไหนมีการอุดตัน เพราะอุดตันตรงไหนมักจะเจ็บตรงตำแหน่งของไซนัสพอดี
ไซนัสที่มีอาการไม่ชัดเจน คือ สฟีนอยดัล (sphenoidal) จะมีอาการปวดหนักๆ กลางหัว และค่อนไปด้านหลัง เนื่องจากอยู่ลึก, ส่วนไซนัสที่อยู่ตื้นอีก 3 กลุ่มจะมีอาการปวดตรงตำแหน่งชัดเจน
...
ภาพที่ 3: โพรงรอบจมูกหรือไซนัส (paranasal sinuses) เมื่อมองจากทางด้านหน้าจะเห็นชัด 3 ชุด > Thank Ben Glasgow M.D. > [ MedRounds ]
(1). ชุดหน้าผาก เหนือตา = frontal / แต้มสีแสด
(2). ชุดหัวตา หรือระหว่างลูกตา = ethmoidal / แ้ต้มสีเขียว-น้ำเงิน
(3). ชุดแก้ม = maxillary / แต้มสีม่วง
...
ภาพที่ 4: โพรงรอบจมูกหรือไซนัส (paranasal sinuses) มองจากด้านข้าง > Thank Ben Glasgow M.D. > [ MedRounds ]
ภายในโพรงไซนัสมีการหลั่งน้ำเมือก หรือเสมหะออกมาคราวละน้อยๆ คล้ายๆ กับ "น้ำซับ" เพื่อให้ความชุ่มชื้นภายในค่อนข้างคงที่
...
ไซนัสมีท่อระบายน้ำ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ ท่อน้ำทิ้ง (drainage) ของบ้านลงไปในโพรงจมูก ถ้าจมูกบวม เช่น หวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ภูมิแพ้ หลังกินเหล้า ฯลฯ จะทำให้ทางออกของท่อตัน
ภาวะท่อตันจะทำให้น้ำเมือกหรือเสมหะระบายออกไม่ได้ ทำให้ความดันในโพรงไซนัสสูงขึ้น เกิดอาการปวด ส่วนใหญ่จะปวดตรงกับตำแหน่งไซนัส และอาจกดเจ็บดังภาพข้างต้น
...
สารน้ำหรือวาโยธาตุในร่างกายนั้น... ถ้ามีการไหลเวียนดี ร่างกายจะเป็นไปด้วยดี สบายดี แต่ถ้าสารน้ำหรือวาโยธาตุที่ใดไม่ไหลเวียนแล้ว จะเข้าสูตร "นิ่งแล้วเน่า" ทันที
เสมหะหรือน้ำเมือกในไซนัสก็หนีกฏเกณฑ์ข้อนี้ไปไม่พ้น คือ "นิ่งแล้วเน่า" นั่นคือ เมื่อระบายออกไปไม่ได้... แรงดันจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ตามมาด้วยการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดหนอง เสมหะเขียวเหลือง หรือมีกลิ่นเหม็น อาจมีไข้ เพลีย ไม่สบาย หรือมากจนถึงช็อค (พบน้อยแต่ก็พบได้)
...
การล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือมีส่วนช่วยลดการตกค้างของสารก่อภูมิแพ้บนเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้อาการโรคภูมิแพ้ทเลาลง, ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นภายในโพรงจมูก, และช่วยชำระล้างคราบเสมหะ-น้ำมูก-น้ำลายที่อาจอุดตันท่อระบายน้ำของไซนัสได้
กลไกที่การล้างโพรงจมูกทำอะไรๆ ดีขึ้นเปรียบคล้ายการกวาดบ้าน-ฉีดน้ำล้าง-ถูพื้นที่ทำให้พื้นบ้านสะอาดขึ้น
...
ภาพที่ 5: ภาพแสดงเยื่อบุไซนัสและโพรงจมูก ซึ่งจะมีขนขนาดจิ๋ว (cilia) ช่วยโบกพัดน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ น้ำหนองไปทางด้านหลังจมูก ส่วนใหญ่คนเราจะกลืนลงไป > Thank [ MedicineNet ] & [ MedicineNet ]
เยื่อบุไซนัสและจมูกจะทำงานได้ดีที่สุดในภาวะที่โพรงจมูกมีความชื้นพอประมาณ ไม่แห้ง ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการดื่มน้ำให้พอตลอดวัน ไม่ทำให้โพรงจมูก-ไซนัสแห้งเกินไป ซึ่งพบบ่อยจากการเปิดแอร์เย็นจัด (ต่ำกว่า 25C หรือองศาเซลเซียส)
...
การสูบบุหรี่ ควันรถ ควันไฟ เช่น เผาใบไม้ เผาขยะ ใช้ฟืนหุงข้าว ฯลฯ หรือฝุ่นละอองในอากาศขนาดสูงๆ มีส่วนทำให้ขนขนาดจิ๋วในจมูกทำงานไม่ไหว เพราะเหนื่อยเกินไป
...
ภาพที่ 6: การล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยให้ฝุ่นละออง และสารก่อภูมิแพ้ตกค้างในโพรงจมูกลดลง ช่วยให้เยื่อบุโพรงจมูก-ไซนัสมีความชุ่มชื้นพอเหมาะ ช่วยลดอาการโรคภูมิแพ้ได้ดี > Thank [ MedicineNet ] & [ MedicineNet ]
การล้างโพรงจมูกทำเองได้โดยใช้เกลือ 1/2 ช้อนชาผสมน้ำสะอาด 375 มิลลิลิตร หรือประมาณครึ่งขวด(น้ำปลา) เขย่าให้ละลายเข้ากันดี ใช้หลอดฉีดยา (syringe / ไซริงจ์)
...
เมื่อได้น้ำเกลือแล้ว... ให้หาที่เหมาะๆ ซึ่งควรเป็นอ่างล้างหน้าอ่างล้างจาน พื้นไม่ลื่น อ้าปาก (เวลาทำจำเป็นต้องกลั้นหายใจทางจมูก ให้หายใจทางปากแทน) คว่ำหน้าลง เอียงหน้าเล็กน้อย แล้วฉีดน้ำเกลือเข้าในโพรงจมูกช้าๆ
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยให้อาการภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบดีขึ้นได้
..................................................................................
อ.ดร.เคนนี ชาน (Kenny Chan) และคณะ แหงมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐฯ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็ก 76 รายที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการช็อคจากพิษเชื้อโรค (toxic shock syndrome) พบว่า มีสาเหตุจากไซนัสอักเสบ 21%
อาการช็อคจากพิษเชื้อโรคมีอาการไข้สูง ผื่นผิวหนัง ความดันเลือดลดต่ำลงหรือช็อค และอาจถึงตายได้
...
วิธีลดความเสี่ยง (ความน่าจะเป็น) โรคไซนัส (โพรงรอบจมูก) อักเสบได้แก่ [ WebMD ], [ Med.CMU ]; [ KU.ac.th ]; [ BangkokHospital ]; [ RCOT.org ]; [ MayoClinic ]; [NIAID.NIH ]; [ FamilyDoctor ]; [ Kidshealth ]; [ PanyaThai ]; [ DiseaseTP ]
- (1). ป้องกันหวัด-ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่ โดยเน้นไม่เข้าใกล้-ไม่คลุกคลีกับคนไข้ คนที่เป็นหวัดมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบจากแบคทีเรียแทรกซ้อน 0.5-5% ทางที่ดี คือ ป้องกันหวัดเสีียตั้งแต่ต้น
- (2). ล้างมือด้วยสบู่หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนกินอาหาร-ก่อนดื่มน้ำ-ก่อนใช้มือขยี้จมูก, ปาก, รูหู-หลังเข้าห้องน้ำ-ก่อนเข้าบ้าน เพื่อลดโอกาสติดโรคในกลุ่มหวัด
...
- (3). หลีกเลี่ยง ไม่เข้าไปในห้องแอร์ หรือที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี เพื่อลดโอกาสติดโรคในกลุ่มหวัด
- (4). รักษาหวัด-ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่ให้ดี ใช้ยาลดน้ำมูก ยาภูมิแพ้ หรือยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่หมอแนะนำ
...
- (5). ดื่มน้ำให้มากพอเป็นประจำ เพื่อไม่ให้น้ำมูก-เสมหะข้นหนืด ซึ่งจะเพิ่มเสี่ยงต่อการอุดตันของท่อระบายหรือทางออกไซนัส
- (6). การดื่มน้ำอุ่นหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ เช่น ชาจีน ฯลฯ มีส่วนช่วยให้อาการหวัด-ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่ทุเลาลงได้
...
- (7). ไม่หายใจอากาศที่แห้งมากๆ เข้าไป โดยเฉพาะถ้าเป็นไปได้... ควรหลีกเลี่ยงการตั้งอุณหภูมิแอร์ต่ำกว่า 25C (องศาเซลเซียส)
- (8). ไม่สูบบุหรี่ และไม่ทำให้เกิดหรือหายใจเอาควันไฟเข้าไป เช่น ไม่จุดธูป-เทียนในที่อับ, ไม่ใช้ฟืนในบ้าน, ไม่เผาขยะ-ใบไม้, จุดยากันยุง(ชนิดขด) ฯลฯ
...
- (9). ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) ซึ่งเพิ่มเสี่ยงจมูกบวม
- (10). ป้องกัน-รักษาโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะภูมิแพ้ที่ทำให้คัดจมูก-น้ำมูกไหล
...
- (11). นอนให้พอ และไม่นอนดึกเกินไป เพื่อให้ภูมิต้านทานโรคดี
- (12). การนอนหัวสูง โดยใช้ไม้หรือแท่นคอนกรีตเสริมเหล็กรองขาเตียงด้านหัวให้สูงขึ้น ไม่ใช่หนุนหมอนหลายใบ (การหนุนหมอนหลายใบเพิ่มเสี่ยงปวดคอ คอเคล็ด) อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ในบางคน
...
- (13). ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ โดยเน้นการเดินเร็วและเสริมด้วยขึ้นลงบันไดตามโอกาส
- (14). ลดฝุ่นจากไรฝุ่น โดยการใช้หมอนใยสังเคราะห์ที่ซักได้ เลือกหมอน-ที่นอนชนิดป้องกันไรฝุ่น ซักผ้าปูที่นอน-ปลอกหมอน นำหมอน-ที่นอนออกไปตากแดด หลีกเลี่ยงการใช้พรม หรือชุดโซฟากำมะหยี่ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมไรฝุ่น
...
- (15). ลดฝุ่นจากแมลงสาบ โดยทำบ้านให้แห้งและสะอาด เก็บเศษอาหารให้ดี และอุดรูรั่วของบ้านให้ดี
- (16). ลดฝุ่นจากเชื้อรา โดยดูแลการระบายอากาศในบ้านให้ดี จัดบ้านให้มีของค่อนไปทางน้อย (ตามหลัก "5ส") ที่สำคัญ คือ ถ้าติดแอร์... ควรถอดไส้กรอกออกมาทำความสะอาดทุกๆ 2-4 สัปดาห์ (ดีที่สุด คือ ทุกๆ 2 สัปดาห์)
..
- (17). ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้คัดจมูก-น้ำมูกไหล (allergic rhinitis-sinusitis) ควรปรึกษาหมอ เพื่อพิจารณาใช้ยาแก้แพ้, ยาลดน้ำมูก, หรือยาพ่นจมูก และอาจต้องตรวจโพรงจมูกดูว่า มีอะไรอุดตันโพรงจมูก เช่น ติ่งเนื้อ (polyp) ฯลฯ ที่ไปอุดทางออกไซนัสหรือไม่
- (18). ล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือ โดยใช้เกลือ 1/2 ช้อนชาใส่ในน้ำสะอาดครึ่งขวด (375 มิลลิลิตร) เขย่าให้เข้ากันดี(จนเกลือละลายหมด).ใช้ขวดล้างโพรงจมูกหรือหลอดฉีดยาพลาสติก (syringe / ไซริงจ์) ฉีดเข้าโพรงจมูกช้าๆ ในท่าก้มหน้า อ้าปาก (ช่วงนี้ต้องหายใจทางปาก หรือกลั้นหายใจ)
...
- (19). การฉีดสเปรย์น้ำเกลือเข้าจมูกได้ผลค่อนข้างดี ทว่า...มีส่วนทำให้ได้รับเกลือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกมีขนขนาดจิ๋ว พัดไปทางด้านหลัง แล้วจะกลืนลงไป
- (20). หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ (มีคลอรีน) คราวละนานเกินไป และถ้าใช้วิธีกลับตัวตอนว่ายไป-กลับ จำเป็นต้องฝึกให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าโพรงจมูก หรือสำลักน้ำ
...
- (21). ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) กลุ่มเสี่ยงสูงหน่อย คือ คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป บุคลากรสุขภาพ คนที่มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่มโรคปอด-หัวใจ ควรปรึกษาหมอใกล้บ้านว่า คุ้มหรือไม่อย่างไรต่อไป
- (22). ฉีดวัคซีนเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้บ่อยที่สุด กลุ่มเสี่ยงสูงหน่อย คือ เด็กและคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาหมอใกล้บ้านว่า คุ้มหรือไม่อย่างไรต่อไป
...
- (23). รักษาสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะระวังฟันกรามซี่บนผุ เนื่องจากเชื้ออาจแพร่กระจายไปยังไซนัสได้
...
การป้องกันหวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่สำคัญที่การล้างมือด้วยสบู่ให้ถูกวิธี
กลไกสำคัญของการล้างมือคือ ทำให้ปริมาณเชื้อโรคลดน้อยลงอย่างน้อย 100 เท่า และการชะล้างคราบไขมันที่ติดอยู่กับผิวหนังออกไป
...
การศึกษารายงานหนึ่งพบว่า การล้างมือด้วยน้ำยาล้างจานฆ่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ (RSV) ดีกว่าการใช้สบู่ยาได้มากจนถึง 100 เท่า
กลไกที่เป็นไปได้ คือ น้ำยาล้างจานชำระล้างคราบไขมันได้ดีกว่าสบู่ทั่วไป ทว่า... ไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากอาจทำให้ผิวแห้ง คัน และเกิดแผลได้ง่าย ใช้สบู่ทั่วไป ล้างให้ถูกวิธีก็ใช้ได้แล้ว
...
ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
...> Thank Ben Glasgow M.D.> [ MedRounds ]; Thank Resource Library > Dorland' Medical Dictionary > [ MerckSource ]; Thank [ MedicineNet ] & [ MedicineNet ]; Thank Reuters
ที่มา
- Thank MayoClinic > Mayo Clinic Staff. Acute Sinusitis. October 11, 2008.
- Thank Reuters > Sinus infections may cause toxic shock in children. Maggie Fox, Bill Trott eds. June 15, 2009. / Source > Archives of Otolaryngology.
- Thank MedicineNet > Signs of sinusitis: Prevention and Treatment. Gailen D. Marshall M.D. 01/30/03.
- นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > > 16 มิถุนายน 2552.
- ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
ความคิดเห็น