ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รีวิว-แนะนำหนังแนวยูริ (yuri)

    ลำดับตอนที่ #3 : I can"t think straight เป็นมากกว่าหนังรักโรแมนติกหญิงรักหญิง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 9.89K
      5
      28 ก.ค. 52

    คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง
    โดย ติสตู


    I can"t think straight เป็นมากกว่าหนังรักโรแมนติกหญิงรักหญิง

    "ชามีม ซารีฟ" นักเขียนและผู้กำกับเชื้อสายอินเดีย นำนวนิยายของเธอเอง I can"t think straight มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน และออกฉายในวงไม่กว้างนักเมื่อปีก่อน

    อย่างไรก็ตามเสียงชื่นชมในทางบวกต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่มุมที่หนังนำเสนอเรื่องราวในลักษณะ คู่ขนาน และ คู่ขัดแย้ง ผ่านตัวละครหลักหญิงต่างเชื้อชาติสองคน แต่โคจรมาลงเอยกัน


    อาจบอกได้ว่า I can"t think straight เป็นเรื่องราวความรักของหญิงคู่หนึ่งที่ไม่ใช่เพียงตีกรอบว่านี่เป็นหนังว่าด้วยเรื่องราวของเพศที่สาม แต่ชารีฟใส่มุมมองความแตกต่างทางสังคม หลักศาสนา ความคิด และเพศสภาวะเข้าไปผสมผสาน ทำให้หนังมีแง่มุมมากกว่าเรื่องราวโรแมนติค

    I can"t think straight วางจุดศูนย์กลางเรื่องไปยัง "ทาล่า" และ "เลย์ล่า" หญิงสาวต่างเชื้อสายที่มีวงโคจรมารู้จักกัน "ทาล่า" คือลูกสาวคนโตในตระกูลเศรษฐีเชื้อสายปาเลสไตน์จากจอร์แดน 


    ส่วน "เลย์ล่า" เป็นเด็กสาวชนชั้นกลางในครอบครัวบริติช-อินเดียนเชื้อสายมุสลิม ทั้งคู่ต่างก็มีเงื่อนของตัวเอง "ทาล่า" กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานกับหนุ่มนักธุรกิจชาวตะวันออกกลางที่ผ่านความเห็นชอบจากครอบครัว หลังจากเธอมีปมเจ้าสาวที่กลัวฝนทำงานแต่งงานพังมาแล้ว 3 ครั้ง

    ฟาก "เลย์ล่า" กำลังออกเดทกับหนุ่มที่เพิ่งคบหาภายใต้การผลักดันอย่างออกนอกหน้าของแม่ แต่แล้วผู้หญิงที่ดูไม่แน่ใจกับความรักข้างตัวก็ได้เจอกัน

    พล็อตของ I can"t think straight มีมากกว่าความโรแมนติกของทาล่ากับเลย์ล่า แต่การใส่มุมมองการเมือง สังคม วัฒนธรรมเข้าไป ทำให้ตัวละครสองฝั่งสัญชาติมีมิติในตัว

    ทาล่านั้นเป็นคนหัวแข็งที่แหกคอกจากกฎประเพณีของปาเลสไตน์ และมักทำให้แม่ของเธอต้องหงุดหงิดเสมอกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาที่ค้านความเชื่อตามประเพณีโดยเฉพาะเรื่องราวทางศาสนา เชื้อชาติ 

    ทาล่ามีความเป็นเสรีนิยมหลุดมาจากกรอบสังคมวัฒนธรรมอันเคร่งครัดของปาเลสไตน์ และเธอก็แสดงออกมาได้เห็นเด่นชัด เมื่อได้รู้จักกับ เลย์ล่าในครั้งแรก บุคลิกที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง พูดจาตรงไปตรงมา ทำให้เลย์ล่าประทับใจเพื่อนใหม่คนนี้

    ฟากเลย์ล่านั้นอยู่ในครอบครัวที่แม่พยายามจะยึดความเป็นมุสลิมไว้ให้เหนียวแน่น รวมทั้งยังมีวิถีประเพณีที่มักจะกระตุ้นให้ลูกสาวได้ออกเรือน ซึ่งตัวละครอย่างเลย์ล่าที่ดูจะนิ่งเฉย แต่ลึกๆ คนดูก็สัมผัสได้ทันทีว่าเธอแอบมีความขบถเล็กๆ ผ่านความมุ่งมั่นที่ซ่อนอยู่โดยไม่แสดงออก เธออยู่ในสังคมครอบครัวอินเดียนในลักษณะที่ประเพณีแนวคิดบางอย่างอาจไม่ถูกใจนัก แต่เลย์ล่าไม่ใช่ตัวละครที่จะลุกขึ้นมาแสดงความเห็นต่างกับคนรอบข้างเช่นทาล่า

    กระทั่งเมื่อเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดำเนินต่อไปทาล่าเป็นฝ่ายกระตุ้นให้เลย์ล่ามีความมั่นใจที่จะกล้าเดินตามความฝันในเส้นทางนักเขียน และคลายความสับสนทางเพศของเลย์ล่าจนเธอมั่นใจ และภูมิใจที่จะเดินออกมาเผชิญกับความจริงในสังคม แต่การณ์กลับกลายว่า ทาล่ากลับเป็นฝ่ายที่ไม่กล้าเผชิญความจริง

    ความต่างของสองคนทำให้ตัวละครคู่นี้มีมิติในแง่การสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน นับตั้งแต่ความต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา ระดับทางสังคม ทั้งยังเป็นคู่รักเพศเดียวกัน ผู้กำกับฯ ได้ขยายความให้เห็นว่าปัจจัยที่ว่ามาเหล่านี้ส่งผลให้ ทาล่าที่ดูมีบุคลิกมั่นใจในตัวเอง

    แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่างการแต่งงาน กับความรักที่เธอมีต่อเพศเดียวกัน เธอกลับขีดเส้นที่จะทำตามกรอบจารีต ขณะที่เลย์ล่าที่ดูเป็นฝ่ายหลบซ่อนความรู้สึกและการแสดงออกมากกว่าตั้งแต่ต้น กลับรู้ใจตัวเองแน่ชัดและกล้าจะประกาศความจริงต่อครอบครัว

    I can"t think straight เชื่อมโยงให้เห็นว่าการดำเนินความสัมพันธ์สำหรับกลุ่มคนเพศที่สามนอกจากมีปัจจัยแวดล้อมในประเด็นการยอมรับจากครอบครัว สังคมแล้ว กรณีนี้ยังสร้างเงื่อนไขให้ยากขึ้นด้วยความแตกต่างทางด้านศาสนา

    แต่เหนือสิ่งอื่นใดหนังให้บทสรุปในแง่ดีว่าเงื่อนไขใดก็ไม่ยากนอกจากชนะใจตัวเอง

    จาก:  มติชนรายวัน  หน้า 22 วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11327

    หนังยูริซับไทยเรื่องอื่นๆ http://www.yuri-shop.com

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×