ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #70 : เซี่ยวกาง ทวารบาลเฝ้าประตู

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.21K
      11
      29 ส.ค. 64

    ถ้าท่านผู้อ่านลองสังเกตตามบานประตูทางเข้าหรือที่ซุ้มประตูวัด โบสถ์ วิหาร ศาลเจ้า หรือสถานที่ที่มีความสำคัญก็ดี ก็จะพบภาพของยักษ์ อมนุษย์ หรือเทวดายืนเฝ้าประตูอยู่

    นั้นแหละคือ ทราวบาล

    ตามคติโบราณถือว่าพระอินทร์เป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา ฉะนั้นทวารบาลตามประตูวัด และโบสถ์วิหาร จึงเป็นเทวดาที่สมมุติว่ามายืนพิทักษ์พระพุทธเจ้า (พระประธาน) รูปเทวดาที่เป็นทวารบาล ตามประตูสมัยอยุธยาจึงเป็นรูปเทวดาแบบไทย ถือพระขรรค์ ยืนอยู่ที่บานประตูทั้งสอง

    สำหรับทวารบาลที่ทำเป็นภาพ หรือไม้แกะสลักเป็นเทวดาแต่มีรูปร่างหน้าตาแปลกมีหนวดเครารุ่มร่ามลักษณะท่าทีกระเดียดไปทางจีน มีชื่อเรียกว่า เซี่ยวกาง หรือ มิ่งซิ้น (Menshen / Door Gods) จนพวกชาวบ้านพากันเรียกกันไปติดปากว่าจรีกางบ้าง เขี้ยวกางบ้าง

    คำว่า “เซี่ยวกาง” มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า ในปีจุลศักราช 1158 (พ.ศ. 2339) ว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้สร้างพระเมรุและมีเซี่ยวกางประจำประตู ส่วนในหนังสือ “ภาษาไทย ภาษาจีน” ของนายเฉลิม ยงบุญเกิด อธิบายไว้ว่า

    “ เซี่ยวกาง น. รูปทวารบาลคือผู้รักษาประตู มักทำไว้สองข้างประตู เข้าใจว่ามาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว อ่านว่า เซ่ากัง แปลว่า ยืนยาม ตู้ยาม ซุ้มยาม ทวารบาลของจีนจึงเป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย เชื่อกันว่าจะป้องกันภูตผีปีศาจ ไม่ให้ล่วงล้ำเข้าไปได้ ต่อมาจึงนิยมวาดรูปอวยซีจงและซินซกโป๊ เป็นทวารบาลวัดหรือศาลเจ้า

    เล่ากันว่าเมื่อพระเจ้าไท่จง (Emperor Taizong) แห่งราชวงศ์ถังทรงพระประชวร ในขณะที่ทรงพระประชวรได้ทอดพระเนตรเห็นแต่ปีศาจเป็นเนืองนิจ 

    และให้ให้นายทหารเอกชั้นผู้ใหญ่ 2 นาย คือ อวยซีจง (Yuchi Gong) และ ซินซกโป๊ (Qin Shubao) มายืนเฝ้าที่หน้าห้องบรรทม จึงเป็นประเพณีนิยมในการวาดรูปอวยซีจงและซินซกโป๊ไว้สองข้างประตูวัดและศาลเจ้า”

    ส่วนพระยาโกษากรวิจารย์ (บุญศรี ประภาศิริ) สันนิษฐานว่า 

    เซี่ยวกาง น่าจะมาจากคำว่า “จิ้นกางเสี่ยว” แล้วเรียกเพี้ยนเป็น “เซี่ยวกาง”

     

    ลักษณะของเซี่ยวกางไม่เหมือนเทวดาไทย คือมีหนวดเครายาว ถืออาวุธด้ามยาว การแต่งกายผิดไปจากโขนละครของไทย กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ใน สาส์นสมเด็จ ภาค 4 ว่า

     “อันเครื่องแต่งตัวเซี่ยวกางนั้นทำให้น่าสงสัยมาก หากจะดูแต่จำเพาะให้น่าสงสัยมาก หากจะดูแต่จำเพาะสิ่งที่เป็นของไทยทั้งนั้น แต่ไม่มีรูปภาพไทยอย่างอื่นแต่งตัวเหมือนอย่างนั้นเลย ท่วงทีไปทางข้างแขกหรือจีน จึงได้ลองคลำถามพระจีนเจนอักษรดูได้ความว่า ทางจีนจะมีรูปทำไว้ตามบานประตูเหมือนกันเรียกว่า “มิ่งซิ้น” แปลว่า เทวดารักษาบานประตู ไปทางพวกทวารปาละ เสียงไม่เข้าใกล้ เขี้ยวกาง เซี่ยวกาง จรีกาง อย่างใดเลย”

    เชี่ยวกางมีชื่อเสียงโด่งดังคือ ประตูเซี่ยวกาง วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งมีคนนิยมมาบนบานกับเซี่ยวกางแห่งนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อสำเร็จสมหวังดังที่ขอ มักจะแก้บนด้วยพวงมาลัยและผงกาแฟดำทาที่ปากเซี่ยวกางจนดำเต็มปาก
     

    มีเรื่องเล่าตั้งแต่ในยุคที่เมืองไทยยังสูบฝิ่นโดยไม่ผิดกฎหมาย มีชาวจีนคนหนึ่งติดฝิ่นงอมแงมเสียชีวิตตรงบริเวณประตูแห่งนี้ หลังจากทางวัดมาพบศพจึงทำพิธีกงเต๊กให้ ต่อมาชาวจีนคนนั้นได้ไปเข้าฝันสมเด็จท่านเจ้าอาวาสว่า ให้ทำที่ให้อยู่แล้วจะเฝ้าวัดให้ ทางวัดจึงสร้างกำแพงทำซุ้มประตูแล้วอัญเชิญดวงวิญญาณชาวจีนคนนั้นมาสถิตอยู่ ณ ประตูแห่งนี้

    ต่อมาก็มีเรื่องเล่ากันว่าของในวัดที่เคยถูกขโมยไปหลายครั้ง ล้วนได้คืนกลับมาหมดด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของดวงวิญญาณคนจีนที่คอยเฝ้าวัด ในเวลาต่อมาความศักดิ์สิทธิ์ของดวงวิญญาณคนจีนที่สิงสถิตที่ประตูเซี่ยวกางแพร่สะพัดไปทั่ว เนื่องจากในสมัยนั้นมีการเล่นหวย กข กันเยอะแยะ พวกเล่นหวยก็จะมาบนขอหวยกันมาก เมื่อสำเร็จผลตามประสงค์ก็จะเอาฝิ่นมาป้ายที่ปาก "เซี่ยวกาง" เป็นการแก้บน

    บางทีจะเป็นเพราะคนจีนสมัยรัชกาลที่ 3 - 4 สูบฝิ่นกันมาก คงคิดว่าเซี่ยวกางก็คงชอบด้วย ทำให้เกิดการสักการบูชาประตูเซี่ยวกาง ในระยะแรกนิยมแก้บนด้วยฝิ่น แต่ด้วยเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย 

    วิธีแก้บนจึงกลายเป็นกาแฟดำ ดอกไม้ ธูปเทียนแทนมี และนำถุงโอเลี้ยงหรือโอยั๊วะมาแขวนบูชาเพื่อเป็นการแก้บนเพราะมีสีดำคล้ายฝิ่น นอกจากนั้นก็ยังแขวนพวงมาลัยบูชาอีกด้วย

    [แต่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว]

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×