ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #76 : คำอธิษฐานสุดแรงของคุณพุ่ม

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.18K
      12
      1 ส.ค. 64

    คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง กวีหญิงฝีปากกล้าในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้มีความสนิทสนมกับเจ้านายถึงกับขนาดแย่งพระแสงดาบของพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไปเสียดื้อๆ (ติดตามได้ในตอนที่ 18 : คุณพุ่ม คุณสุวรรณ : กวีสาวสุดจี๊ด) 

    นอกจากนี้คุณพุ่มยังได้แต่งกลอนอธิษฐานล้อเลียนความประพฤติของเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายต่อหลายท่าน แต่คำค่อนขอดเหล่านั้นกลับเป็นที่ขบขันมากกว่าขุ่นเคือง 

    และคำอธิษฐานนั้นก็ช่างสัมผัสคล้องจองไม่ทิ้งลายปฏิภาณกวี ดังนี้

    • ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่
    • ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร
    • ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี
    • ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช
    • ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย
    • ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์
    • ขออย่าให้เป็นละครของของแม่น้อยบ้า
    • ขออย่าให้รู้ชะตาเหมือนอาจารย์เซ่ง
    • ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงสมฟัก
    • ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย
    • ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง
    • ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ

    โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า....

     

    1. ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่

    คนชิดของ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์  สิงหเสนี) เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา ยอดขุนพลแก้วคู่บารมีรัชกาลที่ 3 ผู้ขึ้นชื่อลือชาในความโหดเหี้ยมและเฉียบขาดในยามเศิกสงคราม กล่าวได้ว่าท่านฆ่าคนง่าย แม้จะคนรับใช้ใกล้ชิด ถ้าทำความผิด ไม่พอใจก็ให้ฆ่าเสีย ลูกท่านทำผิดกฎสงคราม ท่านก็ประหารลูกชายท่านไปซะเลย ส่วนคนรับใช้ใกล้ชิดถ้าทำผิดก็จะถูกถูกเฆี่ยนจนหลังลายทุกคน

     

    2. ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร

    คนใช้ของ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) จะถูกทำโทษนอกรีตต่างๆ เล่ากันว่าพลพายของเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้นต้องเข้มแข็ง พายเรือได้เร็ว พร้อมเพรียง และรู้กระบวนพายทุกท่า ถ้าทำบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องหามเรือขึ้นบก และคว่ำเรือลงพลพายทุกคนต้องถอง(กระทุ้งศอก) เรือพร้อมๆกัน เป็นการทำโทษ

     

    3. ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี

    คนต้มน้ำร้อนของ พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ขุนคลังแก้วของ รัชกาลที่ 3 ซึ่งเหมือนเป็นเซเลบชื่อดัง มีแขกไปมาหาสู่ไม่ได้ขาด คนต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกจึงต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดพัก

     

    4. ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช

    เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน ณ ราชสีมา) อยากเล่นมโหรีให้เหมือนขุนนางผู้ใหญ่ที่กรุงเทพ แต่มีแต่พวกข่าและลาวเชลย ก็เอามาหัดมโหรีไปแทน

     

    5. ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย

    ถ้าเป็นมหาดเล็กคนโปรดของ กรมขุนราชสีหวิกรม หรือ พระองค์ชุมสาย เจ้ากรมช่างศิลาในกรมช่างสิบหมู่ มักถูกจำโซ่ตรวน เวลาใช้ไม่ได้ดังพระราชหฤทัย

     

    6. ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์

    ฝีพายเรือพระที่นั่งของ เจ้าฟ้าอาภรณ์ นั้น ต้องขานยาวถี่กว่าเรือลำไหนๆทั้งหมด

     

    7. ขออย่าให้เป็นละครของของแม่น้อยบ้า

    ละครโรงอื่นๆ เล่นแลกเงิน แต่ละครของ แม่น้อย ธิดาเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ให้ข้าวหอม กะปิ กระเทียม ก็รับเล่น แล้วเอามาแจกเป็นบำเหน็จแก่ตัวละคร

    แต่เมื่อเปิดดูลำดับสกุล ณ ราชสีมา สายเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) พบว่า บุตรของท่านคนหนึ่ง คือ นายศัลยวิไชย หุ้มแพร (ทองคำ) เป็นสามีของแม่น้อย 

    ซึ่งแม่น้อยท่านนี้เป็นธิดาของ ท้าวเทพภักดี (ทองรอด) กับ พระยามหาเทพเสพกษัตริย์ (ทองปาน)

     

    8. ขออย่าให้รู้ชะตาเหมือนอาจารย์เซ่ง

    นายเซ่ง มักทำนายให้ทุกคนที่ไปดูดวงว่าดวงชะตาดีถึงขั้นจะได้เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นขุนนางผู้ใหญ่บ้าง เป็นเศรษฐีบ้าง ผู้คนหลงไปให้นายเซ่งดูชะตา ที่สุดนายเซ่งถูกลงพระราชอาญา

     

    9. ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงสมฟัก

    ท่านผู้หญิงสมฟัก เป็นภรรยาของขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ชอบเล่นเบี้ยเป็นอย่างมาก มีอุบายนอกลู่นอกทางเวลาอยู่ในบ่อนเบี้ย มักจะเปิดผ้าถุงให้นายบ่อนมัวหลงดู จนเป็นช่องให้พรรคพวกแอบเปิดไปดูได้ ซึ่งเป็นนักเลงรวยด้วยเหตุนี้

     

    10. ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย

    พระนายไวย คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เวลานั้นเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก เวลาเข้าเฝ้า นุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวอยู่ผืนเดียว ไม่รู้จักเปลี่ยน

     

    11. ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง

    เจ้าคุณวัง นั้นหมายถึง เจ้าจอมตานีในรัชกาลที่ 1  ธิดาของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาฯ (บุนนาค) กับเจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ท่านเป็นช่างร้อยดอกไม้ฝีมือดียิ่ง ต้องร้อยดอกไม้ไปช่วยงานเขาไม่เคยขาด จนดอกไม้ในสวนของเจ้าคุณวังไม่มีโอกาสได้บานกับต้น

     

    12. ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ

    ระฆังวัดอื่นๆ ตีเวลาจวนรุ่งกับจวนค่ำ วันละ 2 เวลา  แต่เมื่อ รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ โปรดให้ตีระฆังเป็นสัญญาณัติสงฆ์ในการอย่างอื่นอีก เช่น ตีเรียกสงฆ์ลงโบสถ์เช้าค่ำ เป็นต้น ระฆังวัดบวรนิเวศ จึงถูกตีมากกว่าระฆังวัดอื่นๆ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×