ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #82 : เรื่องอื้อฉาวของ "จมื่นราชามาตย์"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.24K
      12
      2 ก.ค. 62

    เพลงยาวบัตรสนเท่ห์ เป็นเพลงยาวที่แฉพฤติกรรมของ จมื่นราชามาตย์ หรือ พระยามหาเทพ (ทองปาน) ขุนนางในรัชกาลที่ 3


    เพลงยาวฉบับนี้เดิมไม่มีชื่อเรียก คนเขาเรียกตามเนื้อหาและลักษณะของกลอน นั่นคือเป็นบัตรสนเท่ห์เขียนลงกระดาษ แล้วนำไปปิดไว้ที่ทิมตำรวจหน้า (คล้ายๆสำนักงานตำรวจในอดีต) เพื่อเป็นการประจาน แต่เนื้อหาไม่หยาบคาย จึงเป็นที่กล่าวถึงและท่องจำกันได้ในหมู่ผู้นิยมกาพย์กลอนข้อความเป็นเพลงยาว 


    โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้แต่งเพลงยาวนี้คือ พระมหามนตรี (ทรัพย์) ต่อมาเพลงยาวนี้ได้รับการพิมพ์ลงในหนังสือวชิรญาณวิเศษ


    เรื่องของพระยามหาเทพนี้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ท่านจดเอาไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ดังนี้ 


    .....เจ้าคุณนั้นก็ทำยศเหมือนอย่างในหลวง ผูกแพใหญ่ขึ้นบนเรือที่ปากคลองหน้าบ้าน แล้วก็ลงมานั่งอยู่ในแพ มีหม่อมๆละครและมโหรี ห่มแพรสีทับทิมลงมาหมอบเฝ้าดูผ้าป่าอยู่หน้าแพ ก็เป็นการเอิกเริกอย่างใหญ่ในแผ่นดิน ครั้งหนึ่ง ถึงโดยว่าเจ้าและขุนนางผู้ใหญ่จะทำบ้างก็ไม่ได้เช่นนั้น 


    และเมื่อปีฉลู ตรีศกนั้น กรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ เป็นถึงพระราชบุตรีโปรดปรานมาก คนก็เข้าพึ่งพระบารมีแทบทั้งแผ่นดิน ทำผ้าป่ากระจาดใหญ่ขึ้นที่หน้าพระตำหนักน้ำครั้งหนึ่ง ก็ยังสู้พระยามหาเทพไม่ได้ พระยามหาเทพทำครั้งนั้น ก็เพื่อจะลองบุญวาสนาว่า ตัวกับกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ ผู้คนจะยำเกรงนับถือใครมากกว่ากัน……


    ตามพระราชพงศาวดารนั้นแสดงว่าพระยามหาเทพ (ปาน) นั้น เห็นจะเป็นขุนนางโปรดปรานมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 2 และมีบารมีมากถึงได้ทำตัวกร่างไปมาแบบนี้ (แม้แต่รัชกาลที่ 3 ก็คงจะทรงทราบ นี่เป็นอุทาหรณ์ว่าขุนนางข้าทูลละอองธุลีพระบาทนั้น ดีก็มี ชั่วก็มี พระเจ้าแผ่นดินท่านก็คงจะทรงหนักพระราชหฤทัยอยู่ไม่น้อย)

    .

    .

    มิเสียทีที่เขามีวาศนา
    แต่เหนๆได้เป็นขุนนางมา
    ไม่เหมือนราชามาตย์ในชาตินี้
    ประกอบหมดยศศักดิ์แลทรัพย์สิน
    เจ๊กจีนกลัวกว่าราชาเสรษฐี
    เมื่อชาติก่อนได้พรของหลวงชี
    จึงมั่งมีดูอัศจรรย์ครัน

    .

    .

    แสดงว่าเขาเป็นเจ้าพ่อขนาดใหญ่ที่คนจีนยังเกรงกลัวมากกว่า ราชาเสรษฐี (พระยาโชฎึกราชเศรษฐี – เจ้ากรมท่าซ้าย) ซึ่งบังคับบัญชาพวกจีน

    .

    .

    จะเข้าวังตั้งโห่เสียสามหน
    ตรวจพลอึกทึกกึกก้อง
    ห่อผ้ากาน้ำมีพานรองหอก
    สมุดชุดกล้องร่มค้างคาว

    .

    .

    (สมัยก่อนข้าราชการจะได้รับพระราชทานข้าวของเครื่องใช้มาจากพระเจ้าแผ่นดิน จึงนำมาอวดกันในหมู่ข้าราชการ)

    .

    .

    ถนนกว้างสี่วามาไม่ได้
    กีดหัวไหล่ไกวแขนให้ขัดข้อง
    พวกหัวไม้เห็นกลัวหนังหัวพอง
    ยกสองมือกราบออกราบดิน

    ด้วยอำนาจราชศักดิ์นั้นหนักหนา
    ถ้าเข้าคาแล้วแต่ล้วนเป็นสัตย์สิ้น
    มีทหารชาญชัยใจทมิฬ
    ดังจะกินเนื้อมนุษย์สุดภิภพ

    "ไชยภักดี"ว่าที่ขุนต่างใจ
    ทั้งนอกในไว้เวรก็เจนจบ
    "ศรีสังหาร"พนักงานการจำคบ
    "แสนใจรบ"รับเรียกค่าฤชา

    ทั้งสามนายยอมตายในใต้เท้า
    มิเสียทีมีบ่าวคราววาศนา
    เคยเชื่อใจไว้วางต่างหูตา
    รู้อัทธยาอาไศรยน้ำใจนาย

    .

    .

    ก็เห็นได้จากเพลงยาวนี้ว่า ไม่ว่าเป็นคุณหลวงหรือคุณพระ ถ้าเข้าคาของพระยามหาเทพแล้ว ถ้าไม่รับสารภาพ ก็จะถูกเอาเข้าขื่อคาทรมานจนต้องรับหมด


    พระยามหาเทพ (ปาน) มีลูกน้องซึ่งยอมตายในใต้เท้าอยู่สามนายชื่อ 

    "ขุนไชยภักดี" ทำหน้าที่คล้ายเลขานุการคนสนิท 

    "ขุนศรีสังหาร" พนักงานจำตรวนขื่อคาทรมานลงโทษ

     "ขุนแสนใจรบ" พนักงานเรียกค่าฤา (ค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับเฉพาะตัวบุคคล)

    .

    .

    ถึงวันพระไม่ชำระความในวัง
    ออกมานั่งหอนอกออกแขกเมือง
    พวกทนายเรียงรายของกำนัล
    เจ๊กนั่นจีนนี่มีหลายเรื่อง

    เฮ้ยบ่าวอุปราชใครขาดเคือง
    พวกหัวเมืองขัดสนขนไปกิน
    ปลูกเรือนเหมือนกับถวายฎีกา
    นึกคอยวาศนาเมื่อน่ากฐิน

    .

    .

    ปลูกบ้านใหญ่โตเหมือนพระราชวัง ห้องหับใหญ่โตเหมือนท้องพระโรงที่ใช้รับถวายฎีกาจากราษฎร


    เนื้อหา ในเพลงยาวนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า 


    "สะท้อน ภาพการปฏิบัติราชการของผู้ยิ่งใหญ่ในกรมพระตำรวจไว้อย่างสมบูรณ์....


     ...การเห่อยศศักดิ์ คลั่งในอำนาจวาสนา กระทั่ง เก็บเอาเด็กสาวมาเลี้ยงเป็นนางบำเรอ รีดเงิน รีดของกำนัล การจับประชาชนที่ทำเหมือนเสือจับเหยื่อ ระบบการทรมานและซ้อมผู้ต้องหา"

    .

    .

    เพลงยาวแผ่นนี้ พระยาบำเรอภักดิ์ สมัยนั้นเรียกกันว่า พระยาบำเรอภักดิ์ตกกระ เพราะท่านตกกระไปทั้งหน้าตาและแขน เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 เพราะมีผู้คนและขุนนางพากันมุงอ่าน ท่านจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย


    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าโปรดให้นำไปปิดไว้ดังเก่า รับสั่งแต่เพียงว่า "เขาหยอกกันเล่น" มิได้กริ้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

    .

    .

    เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเล่ากันมาถึงพระบรมราชปรีชาพร้อมพระราชสุขุมคัมภีรภาพ ทั้งทรงวางพระองค์เป็นกลาง (อาจเพราะทรงทราบอยู่แล้วถึงสันดานของพระมหาเทพ แต่เมื่อเป็นถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และมิได้มีความผิดถึงขั้นต้องลงพระราชอาญา หรือถอดถอน ทั้งการทำโทษแก่คนโทษก็เป็นหน้าที่ของพระยามหาเทพอยู่ จึงมิได้ทรงเอาเรื่องเอาราว)


    จนกระทั่งพระยามหาเทพ (ปาน) แพ้ภัยตนเอง เพราะไปรังแกจีนค้าฝิ่น จับแล้วรีดเอาเงินทอง พอเห็นจีนมั่งมีขึ้นก็จับมารีดเอาอีก พวกจีนเจ็บแค้นจึงคิดกันตั้งตนเป็นตั้วเหี่ย ต้องปราบปรามกันเป็นการใหญ่ โปรดฯให้พระยามหาเทพออกไปปราบ เลยไปถูกพวกจีนยิงตายซะเลย พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ก็ยังได้บรรยายไว้ว่าไม่มีใครไปช่วยเหลือ บุตรภรรยาก็มัวแต่ทะเลาะวิวาท แย่งชิงสมบัติกัน หลวงเสนาวานิช ซึ่งอยู่ที่นั่นด้วยเห็นว่าไม่มีผู้ใดทำหีบ ก็ไปเรียกบ่าวไพร่ของตัวมาช่วยต่อหีบขึ้น จึ่งได้ไว้ศพ อันนี้เป็นที่น่าสังเวชอย่างหนึ่ง

    .

    .

    .......กล่าวไว้เพื่อให้ท่านทั้งหลายสืบไปภายหน้ารู้ไว้ การเบียดเบียนข่มเหงคนทั้งปวงให้ได้ความเดือดร้อน เมื่อตนยังปกติมีชีวิตอยู่ พอสุขสบายไปได้ สิ้นชีวิตไปแล้ว ทรัพย์สินเงินทองเครื่องใช้ บ่าวทาส ก็ผันแปรเป็นอย่างอื่นไป บุตรก็ไม่ได้สืบตระกูล และบ้านเรือนใหญ่โตก็เป็นป่าหญ้าไปทั้งสิ้น.......

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×