sagime
ดู Blog ทั้งหมด

เด็กตีกันสาเหตุอดทนต่ำเอาแต่ใจ

เขียนโดย sagime

แนะพ่อแม่ต้องใส่ใจ 

          จิตแพทย์ชี้ปัญหาเด็กยกพวกตีกัน เพราะความอดทนต่ำ-เอาแต่ใจ แนะพ่อแม่เอาใจใส่กลุ่มเสี่ยงและเด็กเก็บกด ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นอาชญากร

           ที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 มกราคมนี้ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ยกพวกตีกันของวัยรุ่นซึ่งรุนแรงมากขึ้นว่า เกิดจากหลากหลายปัจจัย อาทิ ปัจจัยภายใน คือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน พื้นฐานอารมณ์ เช่น อารมณ์ร้อน อารมณ์เย็น หรือหวั่นไหววิตกง่าย ซึ่งติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด

           "ที่สำคัญคือวัยรุ่นไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเมื่อใดที่เด็กหรือวัยรุ่นมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง และถูกดูแคลนว่าด้อยความสามารถ พวกเขาก็จะแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจ ทั้งจากสังคมทั่วไปและจากภายในกลุ่มเพื่อน การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ยกพวกตีกัน เป็นวิธีการหนึ่งที่คิดและทำได้ง่าย ทำให้รู้สึกเด่นดัง เพื่อนเห็นความสามารถและได้รับการยอมรับ"

           พญ.วิมลรัตน์กล่าวว่า ในด้านปัจจัยแวดล้อมภายนอก คือสภาพครอบครัว ระบบการศึกษา และสังคม ที่สร้างความกดดันให้แก่เด็กหรือวัยรุ่น เช่น การบังคับหรือลงโทษ กวดขันอย่างเข้มงวด ปิดกั้นไม่ให้อิสระ การถูกตำหนิหรือต่อว่าจากสังคม การปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง หรือในทางตรงข้าม การประคบประหงมจนเกินเหตุ รวมทั้งสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงรอบด้านที่เด็กเห็นจนชินชา เป็นสาเหตุให้เด็กเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ใช้กำลังในการแก้ปัญหาได้ทั้งสิ้น

           สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างความอดทนกับความก้าวร้าวของเด็ก พญ.วิมลรัตน์กล่าวว่า ความอดทนและความก้าวร้าวสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะเมื่อไม่ได้อะไรดั่งใจ ทนไม่ได้ อึดน้อย ก็ต้องระบายออกถึงความผิดหวัง เสียใจ ซึ่งแต่ละคนก็จะแสดงความก้าวร้าวรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน อาจโวยวาย ด่าว่า ทำร้ายตัวเอง และทำร้ายผู้อื่นในที่สุด ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน จึงต้องฝึกความอึดหรือความอดทนให้กับเด็กโดยไม่ตามใจหรือช่วยเหลือมากเกินไป ควรให้พวกเขาเจอกับปัญหาอุปสรรคบ้าง เพื่อให้รู้จักการแก้ปัญหาด้วยตนเอง รู้จักการควบคุมอารมณ์ มีความอดทนในการรอคอย มีระเบียบวินัยในตนเอง ก่อนที่เขาจะแสดงความก้าวร้าวรุนแรงเกินเหตุจนกลายเป็นอาชญากรที่เราคาดไม่ถึง

           "การสังเกตว่าเด็กหรือวัยรุ่นจะมีแนวโน้มเป็นคนก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาหรือไม่นั้น นอกจากการสังเกตได้ง่ายจากเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมด้านอารมณ์อยู่แล้ว เช่น ชอบก่อกวน โหดร้ายทารุณสัตว์ ชกต่อย ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ทำลายข้าวของ ขู่คุกคาม ไม่เคารพกฎระเบียบต่างๆ เด็กวัยรุ่นที่เก็บตัว เก็บกด ไม่เคยได้ระบายความรู้สึกออกมาอย่างเหมาะสม ก็เป็นกลุ่มเด็กที่น่าเป็นห่วงและควรเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน เพราะมีโอกาสที่จะแสดงความก้าวร้าวรุนแรง เป็นอันตรายต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคมได้ทุกเมื่ออย่างน่ากลัว" พญ.วิมลรัตน์กล่าว

           ต่อแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น พญ.วิมลรัตน์กล่าวว่า อย่าโยนความผิดให้เด็กเพียงอย่างเดียว ก่อนอื่นต้องแบ่งกลุ่มเด็กออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นปัญหามาก เป็นหัวโจก ปลุกระดม กับกลุ่มเด็กปกติ หรือกลุ่มเด็กที่มีแนวโน้มจะก่อความก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งเด็กกลุ่มแรกอาจต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายมาช่วยแก้ จะเป็นหนทางหนึ่งในการฝึกความอดทนและเป็นระเบียบวินัย ให้เด็กเกิดการยอมรับว่าเขาทำผิด ก็ต้องได้รับผลจากการกระทำความผิดนั้น ทั้งนี้ ในระบบกฎหมายจะมีเรื่องการฟื้นฟูจิตใจให้ดีขึ้น ทั้งการปรับพฤติกรรมและอารมณ์ เพื่อให้ผู้กระทำผิดออกมาเป็นคนดีของสังคม ขณะที่ครอบครัว ชุมชน สังคม ก็ต้องให้การยอมรับ ไม่ตีตรา ตอกย้ำ ดูถูกเหยียดหยามถึงความผิดของพวกเขา เพื่อให้พวกเขามีโอกาสที่จะปรับตัว สามารถกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้

           ส่วนเด็กกลุ่มปกติหรือมีความเสี่ยง ก็ควรมีการส่งเสริมป้องกัน โดยมีพื้นที่ให้เด็กหรือวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเอง มากกว่าการคอยห้ามปรามหรือตำหนิพวกเขา ในส่วนของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ช่วยพวกเขาหาตัวตนให้ได้ พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์ การเสริมทักษะชีวิต มีกิจกรรมเสริมให้เรียนรู้ถึงผลที่จะได้รับจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา กิจกรรมฝึกความอดทน แยกแยะความถูกผิด รู้จักการให้อภัย สร้างระเบียบวินัยให้ตนเองได้ สำหรับเด็กและกลุ่มเพื่อนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างคุณค่าในตัวเอง และช่วยลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยการปลูกฝังความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นห่วงเป็นใยกัน คอยเตือนกันเมื่อเพื่อนจะทำผิด ชักจูงเพื่อนให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ที่เกิดจากความต้องการของเด็กเอง

 ที่มา http://www.thaihealth.or.th/node/13738

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น