sagime
ดู Blog ทั้งหมด

ยาเสพติด กำเนิดใหม่

เขียนโดย sagime

หลากชนิดฤทธิ์ร้ายภัยใกล้ตัว

 

 


ยาเสพติดที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยจะกระจายอยู่ใน 45 อำเภอทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 9-10 จังหวัด จากข้อมูลที่สำรวจได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะยาบ้า มีการลักลอบนำเข้ามาจาก 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

 

ยาเสพติดนับเป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศ เหตุเพราะเป็นที่มาของปัญหาต่าง ๆ อีกมากมายสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น ก่อให้เกิดอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ ขณะเดียวกันประเทศชาติต้องสูญเสียแรงงานและสูญเสียเงินงบประมาณในการป้องกันและปราบปราม รวมถึงการให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

   

จากการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ปี 2551 ที่ผ่านมา ภก.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ผู้ช่วยเลขาธิการด้านปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เล่าถึงความเคลื่อนไหวของยาเสพติดในปัจจุบันให้ฟังว่า มียาเสพติดกำเนิดใหม่ ซึ่งหมายถึง ยาเสพติดที่ยังไม่เคยถูกนำออกมาเผยแพร่ในสังคมมาก่อนหน้านี้จึงยังไม่ค่อยมีประชาชนผู้ใช้ยาปรากฏให้เห็น และยังไม่เคยมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงมาก่อน อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องสถานะทางกฎหมายที่ใช้ในการควบคุม โดยมีสาเหตุมาจากการหลีกเลี่ยงกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันมีการเข้มงวดกวดขันมากขึ้น รวมทั้งเป็นการนำเสนอสินค้าใหม่เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด

   

สำหรับยาเสพติดกำเนิดใหม่ที่ตรวจพบในประเทศไทย มีทั้งสิ้น 10 ชนิด ได้แก่ เอ็มซีพีพี เป็นเม็ดกลมแบน เสพโดยการกิน มีฤทธิ์เหมือน ยากลุ่มเอ็กซ์ตาซีหรือยาอี ผู้เสพจะมีอาการมึนงง ตาลาย ประสาทหลอน ชนิดต่อมาคือ ดีเอ็มเอ เป็นก้อนสีขาวใสคล้ายน้ำแข็งทุบ เสพโดยการสูบไอระเหยและการกิน มีฤทธิ์เหมือนยาบ้า ผู้เสพจะมีอาการประสาทหลอน รู้สึกพึงพอใจในตัวเอง     

   

ส่วนชนิดที่ 3 คือ ซินเทติก เฮโรอีน เป็นเม็ดยาวรีสีขาว มีร่องแบ่งครึ่งเม็ด มีฤทธิ์เหมือนเฮโรอีน เสพ โดยการกินและฉีด ผู้เสพจะมีอาการเคลิบเคลิ้ม ชนิดที่ 4 คือ ซินเทติก เฮโรอีน ฟีลส์ (3-เมทิลเฟนทานิล) มีลักษณะผงละเอียดสีน้ำตาลอ่อน บรรจุในถุงซิปล็อก เล็ก ๆ เสพโดยการสูดเข้าทางโพรงจมูก โดยจะมีอาการ มึนเมา ง่วงซึม ระบบหายใจถูกกด มีฤทธิ์เหมือนเฮโรอีน ชนิดที่ 5 นิว เฮโรอีน หรือ เอ็มพีทีพี เป็นผงละเอียดสีขาว บรรจุในถุงซิปล็อกเล็ก ๆ เสพโดยการสูดเข้าทางโพรงจมูก มีฤทธิ์เหมือนเฮโรอีน

   

มาถึงชนิดที่ 6 แคร็ก หรือ ร็อค มีลักษณะเป็นผง สีขาวบรรจุในถุงซิปล็อกเล็ก ๆ เช่นกัน เสพโดยการสูบไอระเหย มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้เกิดอาการตื่นเต้น ก้าวร้าว หลงผิดชนิดหวาดระแวง ชนิดที่ 7 เด็กซ์โทร (เด็กซ์โทรเมทอร์แฟน) เป็นกลุ่มยาเม็ดแก้ไอ เสพโดยการกิน ทำให้เกิดอาการมึนเมาและประสาทหลอน จิตสับสน ส่วนชนิดที่ 8 คือ ไฟแช็กแก๊ส เป็นไฟแช็กแก๊สสำเร็จรูปแบบใช้หมดแล้วทิ้ง เสพโดยการสูดดมเพื่อสูดเอาแก๊สบิวเทน ทำให้เกิดอาการมึนเมา ขาดสติ มีฤทธิ์กดประสาท ทำให้เกิดอันตรายต่อสมองได้

   

ยาเสพติดกำเนิดใหม่ ชนิดที่ 9 คือ บูโฟ เปเปอร์/ เคน โทดส์ สกิน มีลักษณะเป็นกระดาษซับหรือหนังกบ ตากแห้ง ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เมื่อเสพแล้วทำให้เกิดอาการประสาทหลอน นอนไม่หลับ มองเห็นภาพหลอน ภาพในอดีต ชนิดสุดท้าย คือ วันทูคอล สี่คูณร้อย หรือแปดคูณร้อย เป็นสารเสพติดสูตรผสม โดยมีส่วนผสมหลัก คือ ยาน้ำแก้ไอและน้ำต้มกระท่อม บางคนอาจผสม ยากล่อมประสาทเข้าไปด้วย พบมากในพื้นที่ภาคใต้ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยายังไม่ชัดเจน โดยยาเสพติดทั้ง 10 ชนิดนี้ ยังไม่ได้ถูกจัดอยู่ในยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทำให้ยากแก่การควบคุมและจับกุม

   

ด้านปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทยปัจจุบันยังพบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เพิ่มพงษ์ เชาวลิต ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงปีนี้มีปริมาณการผลิตยาบ้าและยาไอซ์ค่อนข้างสูง โดยมีการลักลอบนำเข้ามาในไทยมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะยาไอซ์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีการลักลอบนำเข้ามาไม่มากเท่าไรนัก แต่ปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้านับ 100 กิโลกรัม

   

การลักลอบแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การแพร่ระบาดในประเทศ และอีกส่วนหนึ่ง ส่งต่อไปยังต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งต่อไปยังต่างประเทศมากกว่า โดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน สังเกตได้จากการจับกุมครั้งใหญ่ที่มีการยึดยาเสพติดได้ตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป ล้วนเป็นการส่งต่อไปยังต่างประเทศแทบทั้งสิ้น

     

ยาเสพติดที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยจะกระจายอยู่ใน 45 อำเภอทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 9-10 จังหวัด จากข้อมูลที่สำรวจได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะยาบ้า มีการลักลอบนำเข้ามาจาก 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ตามลำดับ ในพื้นที่ประมาณ 10 อำเภอ ที่เหลืออีก 15 เปอร์เซ็นต์ มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอีก 5 เปอร์เซ็นต์ มาจากภาคกลาง ส่วนกัญชาจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เข้ามาทางภาคใต้ก็มี ได้แก่ ยาอีและยาแก้ไอ

   

เพิ่มพงษ์ กล่าวต่อว่า ยาเสพติดที่หลุดรอดจากการจับกุมได้นั้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยมีภูมิประเทศเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ยากแก่การควบคุมและจับกุม เพราะชายแดนที่มีระยะทางยาวหลายพันกิโลเมตร อีกทั้งกำลังที่วางไว้ตามแนวชายแดนมีจำนวนจำกัด จึงทำให้มีช่องทางในการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาได้

   

รวมถึงลักษณะภูมิประเทศในภาคเหนือมีช่องทางเป็นป่าเขา และทางภาคอีสานเป็นลำน้ำ ทำให้ผู้ลักลอบสามารถใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง ซึ่งในอดีตนิยมใช้เป็นคาราวานบุคคลลักลอบนำเข้ามา ปัจจุบันอาจจะเป็นคาราวานอยู่แต่จำนวนไม่มากเท่าในอดีตจะได้ไม่เป็นที่สงสัย

   

สำหรับเส้นทางการลักลอบจะใช้ 2 เส้นทางด้วยกัน คือ ทางด่านและช่องทางธรรมชาติ ซึ่ง 70 เปอร์เซ็นต์ นิยมใช้เส้นทางธรรมชาติเพราะคุ้นเคย ใช้เดินทางไปมาหาสู่กันอยู่แล้ว แต่ถ้ามาจากที่อื่น คนต่างถิ่น เช่น คนภาคใต้ ภาคกลาง จะใช้ช่องทางด่าน เพราะไม่ชำนาญทางช่องทางธรรมชาติอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ อีกทั้งประชาชนชายแดนบางส่วนมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งด้านความสัมพันธ์เป็นเครือญาติและได้ประโยชน์ทั้งค้า เสพและลำเลียง ทำให้มีการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศได้อย่างง่ายดาย

   

ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเมื่อสถานการณ์ยาเสพติดมีแนวโน้มที่สูงขึ้น การดำเนินการจึงต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนแรก คือ การลดการเสพ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องทำงานมากกว่าปกติ เพราะมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามาสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

   

อีกส่วนหนึ่ง คือ ต้องให้ประชาชนและสังคมเข้าใจว่า ปัญหายาเสพติดเป็นภัยใกล้ตัว ซึ่งจะกระทบกับชีวิตประจำวันของเราได้ ลำพังรัฐเพียงหน่วยเดียวคงแก้ปัญหาไม่ได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

   

ซึ่งยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันที่ดำเนินการอยู่นั้น หากทุกคนมีพื้นที่ของตนเองชัดเจนว่าอยู่ในรั้วอะไร ก็ป้องกันในรั้วนั้นให้ดีจะง่ายกว่าการให้ทุกคนมาช่วยแก้ปัญหายาเสพติดที่เน้นภาพรวมของประเทศ

   

ร่วมใจกันป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด หมั่นเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานและสังคมไทยสืบไป

 ที่มา http://www.thaihealth.or.th/node/12742

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น