sagime
ดู Blog ทั้งหมด

"โทรศัพมือถือ" ผู้ช่วยหรือภัยใกล้ตัว?

เขียนโดย sagime


นิตยสาร "ไทม์" สื่อทรงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาฉบับล่าสุด เขียนบทความตั้งคำถามดังๆ ถึงความปลอดภัยจากการใช้ "โทรศัพท์มือถือ" ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาก-น้อยขนาดไหนในห้วงเวลาเดียวกับที่ส.ส.อเมริกันกำลังผลักดันให้มีการออกกฎหมายบังคับผู้ผลิตมือถือต้องติด "ป้ายคำเตือน" ระดับการแผ่คลื่น-รังสีลงบนมือถืออย่างชัดเจน

เนื่องจากทุกวันนี้ "มือถือ" ได้กลายเป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 ของพลเมืองโลกไปแล้ว "ข่าวสดหลาก&หลาย" ขอนำข้อมูลของไทม์ฉบับดังกล่าวมาสรุปเรียบเรียงรายงานต่อสังคมไทย ซึ่งมีสถิติผู้ใช้มือถือหลายสิบล้านหมายเลข!

กระแสหวาดหวั่นว่า "คลื่นและรังสี" ที่แผ่ออกจาก "โทรศัพท์มือถือ" อาจทำอันตรายต่อสมองและอวัยวะภายในศีรษะ เริ่มแผ่ขยายวงกว้างขึ้นตามลำดับ ภายหลังจากปริมาณผู้ใช้มือถือทั่วโลก พุ่งทะลุหลัก 4,000 ล้านคน

เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ประเมินกันว่า มีผู้ใช้มือถือ 270 ล้านคน

ที่สำคัญ พฤติกรรมการใช้มือถือของคนทั่วโลกมีแนวโน้ม "คุยนาน" หรือ ใช้งานนานมากกว่าในอดีต

ล่าสุด นางแอนเดรีย โบแลนด์ ส.ส.รัฐเมนของสหรัฐ กำลังต่อสู้อย่างหนัก เพื่อผลักดันให้สภาท้องถิ่น ผ่านกฎหมายกำหนดให้บรรดาผู้ผลิตมือถือต้องเขียนป้ายคำเตือนประทับลงบนเครื่องมือถือ ว่า

"อุปกรณ์นี้แผ่นคลื่นแม่เหล็กและรังสี ซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็งสมอง"

และ "ผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในวัยเด็กและสตรีมีครรภ์ ไม่ควรนำมือถือวางใกล้กับศีรษะและลำตัว"

ความเคลื่อนไหวของโบแลนด์เกิดขึ้นหลังจากการรับฟังผลการทดลอง-ศึกษาจากหลายสถาบัน ซึ่งตั้งสมมติฐานว่า คลื่นมือถือส่งผลกระทบต่อเซลล์มนุษย์จริง

สำหรับโบแลนด์เอง ทุกวันนี้ไม่นิยมใช้มือถือรุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีกำลังรับ-ส่งสัญญาณแรงๆ เหมือนกับนักการเมืองอเมริกันส่วนใหญ่

แต่พอใจที่จะเปิดมือถือในช่วงที่คิดว่าจะมีคนโทร.เข้ามาหา และจำเป็นต้องโทร.ออกติดต่อธุระเท่านั้น!



ปัจจุบัน มีบางประเทศประกาศคำแนะนำด้านการใช้มือถือเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง

อาทิ ฟินแลนด์ ชาติผู้ผลิตมือถือรายใหญ่, อิสราเอล และฝรั่งเศส

กำไลมือถือของอัลซุส


นายเกวิน นิวสัน นายกเทศมนตรีมหานครซานฟรานซิสโกของสหรัฐ กล่าวว่า เริ่มศึกษาข้อมูลการแผ่รังสีของมือถืออย่างจริงจัง เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ลูกคนแรก

และเป็นที่มาทำให้ตนเรียกร้องให้นักการเมืองท้องถิ่นสนับสนุนการออกกฎหมาย บังคับให้ผู้ผลิตมือถือต้องพิมพ์ข้อมูลการแผ่รังสีเอาไว้บนบรรจุภัณฑ์มือถืออย่างชัดเจน

นอกจากนั้น ตรงจุดขายจะต้องมีป้ายแสดงรายละเอียดระดับการแผ่รังสีเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ข้อกังวลของทั้งโบแลนด์และนิวสัน จริงๆ แล้วถือว่าไม่ได้เข้าข่ายวิตกจริตจนเกินไป

เพราะว่ากันตามเทคนิคนั้น มือถือทุกยี่ห้อล้วนแผ่รังสีคลื่นวิทยุ (อาร์เอฟ) ในระดับต่ำ แต่แรงกว่าคลื่นวิทยุเอฟเอ็มทั่วๆ ไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมมือถือยืนยันว่า คลื่นอาร์เอฟดังกล่าวมีความแรงแค่ 1 ใน 1,000 ล้านส่วน เมื่อเทียบกับคลื่นรังสีซึ่งกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็ง เช่น รังสีเอ็กซ์ (เอกซเรย์)

บทสรุปของฝ่ายนี้ ก็คือ จนถึงปัจจุบันไม่เคยมีหลักฐานเชื่อมโยงจะจะว่า "มือถือก่อมะเร็ง" หรือ คลื่นมือถือจะอุ่นสมองมนุษย์ได้แต่อย่างใด!



นักวิทยาศาสตร์บางคนเตือนว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า มือถือไม่มีส่วนทำให้เกิดมะเร็ง

เช่น ดร.เฮนรี่ เล่ย ผู้เชี่ยวชาญวิชาประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่า

งานวิจัยอันตรายมือถือแยกได้เป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก ได้รับทุนสนับสนุนจากอุตสาหกรรมือถือ ซึ่งมักระบุว่าปลอดภัย

กับกลุ่มที่สอง ซึ่งทำงานโดยอิสระ กลุ่มนี้จะพบว่า คลื่นมือถือจะส่งผลให้กระบวนการทางชีวภาพในร่างกายมนุษย์เปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ ดร.เล่ยเคยร่วมทดลองจัดสภาพแวดล้อมให้ "หนู" ได้รับรังสีคลื่นอาร์เอฟนาน 2 ชั่วโมง

และคลื่นดังกล่าวมีระดับไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัยที่ทางการสหรัฐกำหนดเอาไว้

ผลพบว่า หน่วยพันธุกรรมในเซลล์สมองหนูตัวนี้ได้รับความเสียหาย
ศ.ดาริอุซ เลสซินสกี นักวิจัยสังกัดหน่วยงานความปลอดภัยด้านรังสีและนิวเคลียร์ ประเทศฟินแลนด์ เปิดเผยว่า

ทีมงานของตนศึกษาพบว่า คลื่นรังสีอาร์เอฟอาจเป็นสาเหตุทำให้เซลล์เกิดความตึงเครียด และขัดขวางกระบวนการไหลเวียนของโลหิตในสมอง

"รังสีจากมือถืออาจทำร้ายเซลล์ทางอ้อม เนื่องจากไปขัดขวางความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองของดีเอ็นเอ

"และเพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามือถือมีความปลอดภัย" ศ.เลสซินสกี กล่าว

ด้านนายจอห์น วอลล์ ประชาสัมพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมมือถือสากล "ซีทีไอเอ" โต้ว่า ถ้ารังสีคลื่นอาร์เอฟเพิ่มความเสี่ยงป่วยเป็น "มะเร็งสมอง" จริง ก็น่าจะมีข้อมูลดังกล่าวปรากฏฟันธงอยู่ในผลวิจัยมือถือ ซึ่งใช้ระยะเวลานานๆ
แต่ที่ผ่านๆ มา ไม่เคยพบหลักฐานเหล่านี้เลย อีกทั้งผลศึกษาสุขภาพผู้ใช้มือถือ ระหว่างปี 2525-2538 จำนวน 421,000 คนในประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี 2550 จัดทำโดย "สมาคมมะเร็งเดนมาร์ก" ก็ไม่พบความเชื่อมโยงเช่นเดียวกัน     ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขชาวเดนมาร์ก 4 แสนกว่าคนนั้น ไม่ได้รวมกลุ่ม "นักธุรกิจ" ซึ่งใช้มือถือมากกว่าคนทั่วไปเข้าไปด้วย

ดร.ไซกัล ซาเด็ตสกี นักวิจัยโรคมะเร็ง สถาบันเกิร์ตเนอร์ อิสราเอล ซึ่งเคยมีผลงานการวิจัยชี้ว่า คลื่นมือถืออาจก่อมะเร็งต่อมน้ำลาย กล่าวว่า

มีความพยายามตั้งองค์กรกลางขึ้นมาทดสอบผลลัพธ์การใช้มือถือขึ้นมา โดยมีสมาชิก 13 ประเทศ เรียกว่า "อินเตอร์โฟน" แต่ไม่ได้ข้อสรุปเสียที

วิธีป้องกันตัวเองดีที่สุด สำหรับคนห่วงในสุขภาพ ได้แก่

1. ไม่ใช้มือถือโดยไม่จำเป็น

2. ใช้วิธีเปิดลำโพง หรือ สวมชุดหูฟัง (บลูทูธช่วยลดคลื่นเช่นกัน แต่ยังได้รับผลกระทบอยู่บ้างเล็กน้อย)

3. อย่าวางมือถือไว้ใกล้ตัว

4. เด็กจะมีกะโหลกบางกว่าผู้ใหญ่ โอกาสที่รังสีจะแผ่สู่สมองจึงมีสูง ผู้ปกครองควรเลือกเวลาที่เหมาะสมก่อนซื้อมือถือให้บุตรหลาน

5. ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องซื้อให้เด็กๆ อาจแนะนำให้ใช้วิธีส่งข้อความแทนยกมือถือขึ้นมาโทร.บ่อยๆ

ไทม์ปิดท้ายบทความชิ้นนี้ ว่า สำหรับส.ส.โบแลนด์ และ ศ.ซาเด็ตสกี ประเด็นสำคัญที่ต้องการเตือน ก็คือในเมื่อยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ฟันธงว่า มือถือปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่

การวางมาตรฐานป้องกันไว้ก่อน เช่น ติดป้ายเตือนระดับรังสีเพื่อให้ผู้บริโภครับทราบจึงเป็นทางออกเบื้องต้นที่ควรกระทำ

ข้อมูล : บทความ How Safe Is Your CellPhone?, ไทม์ 15 มี.ค. 2553

วิวัฒนาการ"มือถือ"

1.พ.ศ.2465 : ตำรวจนครชิคาโก สหรัฐ ทดลองใช้โทรศัพท์ที่ใช้ "คลื่นวิทยุ" ซึ่งมีความถี่สูงกว่าคลื่นเอเอ็มเพียงเล็กน้อยสื่อสารกัน

2.ทศวรรษ 2480 : ทหารสหรัฐยังใช้วิทยุสื่อสารขนาดใหญ่สมัยเกิดสงคราม

3.พ.ศ.2502 : เรจินัลด์ เบลวินส์ อธิบดีกรมไปรษณีย์อังกฤษ เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการโทรศัพท์ระบบคลื่นวิทยุสำหรับรถยนต์เป็นครั้งแรก

4. พ.ศ.2515 : หนึ่งในต้นแบบโทรศัพท์มือถือยุคแรกๆ ที่ต่อสัญญาณเข้าสู่โทรศัพท์บ้านได้ เปิดตัวในกรุงลอนดอน อังกฤษ

5. พ.ศ.2526 : มาร์ติน คูเปอร์ ผู้พัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ โทรศัพท์มือถือเชิงพานิชย์รุ่นแรกของโลก คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ "มือถือกระติกน้ำ"

6.พ.ศ.2531 : มือถือกระติกน้ำได้รับความนิยมแพร่หลายตามลำดับ ในภาพนี้แฟรงก์ พิคาร์ด นักกีฬาสกีชาวฝรั่งเศส ใช้มือถือรุ่นนี้โทร.กลับบ้านหลังชนะโอลิมปิกฤดูหนาว

7.พ.ศ.2540 : บ.ฟิลิปส์เปิดตัว "มือถืออัจฉริยะ" หรือ สมาร์ตโฟนยุคแรกๆ ตั้งชื่อว่า "เดอะซินเนอร์ยี่" ใช้เชื่อมต่ออีเมล์ อินเตอร์เน็ต และแฟ็กซ์ ได้

8.พ.ศ.2543 : บ.พานาโซนิกเผยโฉมต้นแบบเครื่องเล่นเกมที่ผสานเข้ากับโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง

9. พ.ศ.2549 : มือถือกลายเป็นอุปกรณ์พกพาประจำตัวของชาวโลก อีกทั้งยังใช้งานง่ายและมีฟังก์ชั่นเสริมมากมาย รวมถึงโหมดถ่ายภาพ

10.พ.ศ.2550 : นอกจากมนุษย์จะใช้มือถือสื่อสารทางเสียงแล้ว การส่งข้อความเอสเอ็มเอส หรือแชทผ่านมือถือ ก็ได้รับความนิยมเฟื่องฟูเช่นกัน

11.พ.ศ.2551 : มือถือรุ่นใหม่ๆ เดินหน้าเข้าสู่ยุค "3 จี" โดยพร้อมเพรียง ช่วยให้การเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งราคายังถูกลงตามลำดับ

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น