ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    กฎหมายคอมพิวเตอร์ 2550

    ลำดับตอนที่ #11 : ต่อ(น่ารู้)เมื่อลิงไฮเปอร์ ต้องเจอกฎหมาย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.19K
      0
      23 ก.ย. 50


    image

    โจทก์ในคดีนี้ คือ กลุ่มบรรณาธิการ นิตยสารออนไลน์ฉบับหนึ่ง ชื่อ „DM“ ได้ฟ้องผู้ประกอบการเว็บ News-Suchdienst Paperboy ซึ่งเป็นเว็บไซท์เปิดให้บริการ "คุ้ยข่าว" หรือ ตรวจค้นหาข่าว จากเว็บไซท์อื่น ตามคำที่ผู้ใช้พิมพ์ โดยแสดงผลเป็นหน้าข่าวสารจากเว็บข่าวต้นตอ (จริง ๆ ก็คือ ดำเนินการในลักษณะของ เครื่องมือสืบค้น นั่นเอง) เป็นจำเลย

    ใน 2 ข้อหา คือ หนึ่ง ละเมิดงานอันเป็น ลิขสิทธิ์ของโจทก์ ด้วยการค้นหา และเชื่อมโยงหน้าเว็บไซท์ของจำเลย เข้าสู่เนื้อหางานของกลุ่มโจทก์โดยตรง กับสอง การกระทำของจำเลย ขัดต่อกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้เพราะทำผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตเกิดความสับสนได้ว่า ผลงานที่แสดงนั้น เป็นงานของจำเลย ไม่ใช่ของโจทก์ เป็นผลให้โจกท์ต้องเสียลูกค้าผู้เข้าชมเว็บไป

    ศาลชั้นต้นตัดสินให้โจทก์ชนะครับ แต่ศาลอุทธรณ์กลับยกฟ้อง จนเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นฎีกา ศาลตัดสินยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหา โดยให้เหตุผลว่า บทความที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของโจทก์ ไม่มี เทคนิคหรือวิธีการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลนั้นจากบุคคลอื่นไว้แต่อย่างใด

    แค่เพียงการ "แนะนำ" งานนั้น โดยใช้วิธีเชื่อมต่อ แบบ Deep Links ไปยังเนื้อหาที่เว็บไซท์ ของโจทก์โดยตรง ก็ไม่ได้ไปกระทบ หรือเกี่ยวข้องกับ "สิทธิการใช้ข้อมูล" ของโจทก์ ทั้งนี้แม้จะไม่ได้มีการทำ Deep-Link ไว้ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตก็สามารถเรียกดู หน้าบทความดังกล่าวนั้น ผ่านทางชื่อ URL โดยใช้เว็บบราวเซอร์ปกติธรรมดาได้อยู่แล้ว การทำ Deep-Link ถือเป็นแค่เพียงเทคนิคที่ทำให้การเรียกดูง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

    อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายครับ เพราะศาลไม่ได้อธิบายในประเด็นที่ว่า หากบทความที่ถูกเชื่อมต่อ มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงไว้ แต่ยังมีคนเชื่อมต่อเข้าไป "เอกสิทธิ์" ในส่วนใด (หมายถึง เผยแพร่ ทำซ้ำ หรือดัดแปลง) ที่อาจถูกตัดสินว่า จำเลยได้ทำละเมิด

    ข้อหาในส่วนที่สองที่ว่า เป็นการละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า เนื้อหาที่อยู่ในบทความที่ถูกเชื่อม แสดงให้เห็นชัดเจน ได้อยู่ในตัวเองอยู่แล้วว่า เป็นงานของเว็บไซท์ต้อตอของโจทก์ และถูกเชื่อมมา ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่า การเชื่อมต่อไปยังเนื้อหาดังกล่าว เป็นการละเมิด หรือเอารัดเอาเปรียบเว็บไซท์ของโจกท์

    นอกจากนี้ ในคำพิพากษา ศาลยังชี้ให้เห็นอีกด้วยครับว่า เมื่อโจทก์ตัดสินใจเอง ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า จะใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่ข้อมูล โจทก์ก็ควรต้องยอมรับ และเข้าใจลักษณะการทำงานเฉพาะของอินเตอร์เน็ทด้วย หากปราศจากเครื่องมือช่วยสืบค้น หรือไม่มีเทคโนโลยีการเชื่อมต่อถึงกันแล้ว คุณประโยชน์ของอินเตอร์เน็ตย่อม ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่

    เช่นนี้ โจทก์ย่อมไม่สามารถเรียกร้องไม่ให้มีการใช้เทคนิคการเชื่อมต่อข้อมูลแบบนี้ บนอินเตอร์เน็ท เพื่อที่จะทำให้ข้อมูลของโจทก์รอดพ้นจากการโฆษณาไปได้


    เป็นไงครับ ชัดเจนแจ่มแจ้งดีทีเดียว ไม่ต้องมานั่งตีความกันเองอีกเหมือนเมืองไทย (ฮา) และนอกจากคำตัดสินของศาลสูงข้างต้นแล้ว ศาลแห่งรัฐเมืองโคโลนญ์ LG Köln (AZ: 6 U 71/00) ก็เคยตัดสินคดีการเชื่อมต่อด้วยวิธี Deep Links ไว้ไม่ต่างกัน

    สำหรับเอกสิทธิ์ในการ “เผยแพร่” ผลงาน ก็ทำนองเดียวกันครับ นักกฎหมาย เยอรมันส่วนใหญ่เห็นว่า แค่เพียงทำไฮเปอร์ลิงก์ ไม่ได้ทำลาย หรือลำเมิดเอกสิทธิ์ในส่วนนี้ของเจ้าของผลงาน โดยให้เหตุผลว่า การเชื่อมโยงไปอย่างเดียวเช่นนั้น ยังไม่อาจถือได้ว่า ผู้เชื่อมโยงอยู่ในสถานะ “ผู้นำเสนอ” หรือ “ผู้เผยแพร่งาน” เหล่านั้นแล้ว ผู้ใช้อินเตอร์เน็ท ย่อมรับรู้ได้ อยู่แล้วว่า งานที่เขาสนใจ และแสดงอยู่ ถูกนำเสนอโดยเว็บที่ถูกเชื่อม

    เอกสิทธิ์ที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ไม่ว่าจะที่อเมริการ หรือเยอรมัน ว่าผู้เชื่อมละเมิดหรือไม่ คือ เอกสิทธิ์ในการ ทำซ้ำ หรือดัดแปลงผลงาน ด้วยวิธีการเชื่อมโยงแบบ Inline Links และ Framing โดยปราศจากความยินยอมจากเจ้าของ ครับ เพราะดังกล่าวแล้วว่า วิธีนั้นเหมือนกับผู้ลิงค์ ไปตัดตอนผลงานของเจ้าของ มาเป็นส่วนหนึ่งของเว็บตัวเอง จนน่าจะถือได้ว่าเอางานมา ทำซ้ำ หรือ ทำสำเนาในเว็บตัวเองอีกรอบ และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ทได้ว่า งานนั้นถูกนำเสนอโดยผู้เชื่อม เมื่อไม่ได้ขออนุญาตก่อน จึงต้องมาวิเคราะห์ว่า มีความผิดหรือไม่

    ในเยอรมันมีการตัดสินการทำ Inline Links ไปบ้างแล้วหลายคดี เพียงแต่คดียังไม่ถึงที่สุด จึงยังไม่มีข้อยุติเหมือนอย่างคดีการทำ Deep Links แต่ศาลชั้นแรก ๆ ส่วนใหญ่ก็ตัดสินแนว ๆ เดียวกันครับคือ ถือว่าการดึงเอาภาพ หรือเนื้อหาของผู้อื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของเว็บ โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการทำซ้ำผลงาน ผิดตามกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ไม่มีการอ้างที่มา ที่ไป หรือกล่าวถึงเจ้าของผลงานที่แท้จริง หรือเว็บไซท์ต้นต่อกำกับ ไว้เลย

    การทำ Framing เคยมีคดีพิพาทเกิดขึ้นในสหรัฐมาแล้ว กล่าวคือ คดี Washington Post Co v Total NEWS Inc 97 Civ 1190 (SDNY) ที่ Washington Post เป็นโจทก์ ฟ้อง Total News เป็นจำเลยในข้อหา ละเมิดลิขสิทธิ์ในข่าว ด้วยการใช้และ ตีพิมพ์ซ้ำโดยไม่ได้ รับอนุญาต ทำให้โจทก์เสียรายได้จากโฆษณา โดยจำเลยเอาข่าวใน เว็บไซท์ของตน ไปใส่ในกรอบซึ่งรอบล้อมไปด้วยสัญลักษณ์ และโฆษณาของจำเลยเอง อีกทั้งชื่อ URL ของโจทก์ก็ถูกดึงให้ไปอยู่ในชื่อ URL ของจำเลยด้วย การกระทำของจำเลย ทำให้เกิด ความสับสนต่อผู้ใช้ และถือเป็นการแข่งขันอันไม่เป็นธรรม

    ...แต่ในที่สุด คดีนี้ก็จบลง โดยการยอมความกัน จำเลยยอมยุติการทำแฟรมมิ่ง และเปลี่ยนไป เป็นการทำไฮเปอร์ลิงก์แบบธรรมดาแทน ศาลจึงยังไม่ได้ลงมือชี้ขาดว่า การทำเช่นนั้น ควรเป็นความผิดหรือไม่

    คดีการทำ Framing ในเยอรมัน ศาลสูงแห่งรัฐฮัมบวร์ก Oberlandesgericht Hamburg ก็เคยตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2001 (Urteil vom 22.2.2001 - Az. 3 U 247/00) คือ เว็บไซท์รวบรวมฐานข้อมูล (Datanbank) โปรเจกต์ งานเขียน งานวิจัย ทางการแพทย์ภายใต้ชื่อโดเมน www.roche-lexikon.de เป็นโจทก์ ฟ้องร้อง เว็บไซท์ www.medizin-forum.de ซึ่งเป็นอีกเว็บไซท์หนึ่ง ที่ทำขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูล และข่าวสารทางการแพทย์เหมือนกัน เป็นจำเลย

    ในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน เนื่องจากเว็บของจำเลยทำการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังเว็บโจทก์ แล้วนำเนื้อหาแท้ ๆ ของโจทก์ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย มาแสดงผลภายใน "กรอบ" ของเว็บไซท์จำเลย โดยไม่มีการอ้างอิงใด ๆ ถึงที่มา และเว็บไซท์เจ้าของผลงาน ศาลสูงตัดสินว่า การกระทำของจำเลย ถือเป็นการละเมิดผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ด้วยการ "ทำซ้ำ" แล้วนำมาเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ และยังขัดกับกฎหมายป้องกันการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมด้วย

    มาที่บ้านเราครับ อย่างที่บอก ปัจจุบันปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ยังไม่ได้ถูกหยิบยก ขึ้นมาอย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะยังไม่มีข้อพิพาท ประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน ที่ได้รับความสนใจ จะเป็นเรื่องการแอบดาวน์โหลด เพลง หนัง เกมส์ หรือ โปรแกรม Software ที่มีลิขสิทธิ์ กันเสียมากกว่า


    image

    โดยเฉพาะอันหลังนี่ ประเทศเราเป็นเจ้าพ่อ ที่บิลเกตกลัวมากเชียวล่ะครับ เพราะนอกจากจะลักลอบทำซ้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนบุคคลแล้ว ยังนำมาวางขายกันเกลื่อนกลาด ในราคาถูกกว่าซอร์ฟแวร์ของจริงซะด้วย เคยมีรายงานว่า ตลาดซอร์ฟแวร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีซอร์ฟแวร์เถื่อนวางขายอยู่ราว 40%, ประเทศเยอรมัน 76%, ประเทศญี่ปุ่น 81% แต่ประเทศไทยเรานี่ มีถึง 98% เชียวนะครับ...ทำเป็นเล่นไป

    กลับมาที่ประเด็นการทำลิงก์ประเภทต่าง ๆ กันอีกนิด เพราะถ้าถามผม โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วย อย่างยิ่งกับ แนวทางชัดเจนที่ใช้อยู่ของประเทศเยอรมัน เกี่ยวกับการทำลิงก์ธรรมดา และ Deep Links นะครับ เพราะด้วยวิธีการดังกล่าว ลิงก์ มันแค่ทำหน้าที่เหมือน „แม่สื่อ แม่ชัก“ แนะนำให้ ผู้อยากใช้ กับ ผู้อยากให้ บริการข้อมูล ได้มาจี๋จ๋า พบเจอกันเท่านั้นเอง แทบไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ ต่อ „ชื่อ URL“ "ความเข้าใจของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต" หรือแม้แต่ "จำนวนความนิยมของผู้เข้าชม" เลย


    image

    ดังนั้นใครที่ตัดสินใจทำอะไร หรือลงเผยแพร่ผลงาน อะไรในอินเตอร์เน็ตแล้ว ควรต้องยอมรับไว้เลยว่า สักวันหนึ่งอาจถูกที่อื่นนำไปลิงก์ไว้ โดยเขาจะร้องขอหรือไม่ก็ตาม ข้ออ้างประเภท เธอต้องรับผิด เพราะแอบทำซ้ำเอาไปเผยแพร่ใหม่ โดยไม่ได้ขออนุญาตฉัน ....ผมว่า...นอกจากจะไม่สร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นอุปสรรคขัดขวาง การใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตของคนอื่น ๆ เขาอีก

    ใครที่ร้องขอแบบนั้น ผมแนะนำว่า แทนที่จะเผยแพร่งาน ก็เก็บงานของคุณไว้ในเครื่องคอม ฯ ส่วนตัวนะครับ แล้วค่อย ๆ ย่องออกมาถามว่า ใครอยากรู้ข้อมูลของฉันบ้าง ? ยกมือขึ้น แล้วเดี๋ยวจะใช้อีเมล์ ส่งไฟล์ไปให้ ...แบบนั้นค่อยแฟร์กับผู้ใช้คนอื่น ๆ หน่อย

    ความอิสระเต็มที่ในการเชื่อมต่อนี้ ก็ไม่น่าจะแตกต่างกันครับ ในกรณีของ Caching ที่มีวัตถุประสงค์ ทำซ้ำไว้ชั่วคราว เพื่อความสะดวกรวดเร็วของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ปัญหาที่น่าคิดอยู่บ้างก็เห็นจะมีก็แต่ Inline Links กับ Framing นั่นล่ะ เพราะน่าจะมีลักษณะการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เหมือนกัน ทีนักกฎหมายควรต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรกับมันดี

    สุดท้าย เราก็คงต้องรอความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้กันต่อไป

    แต่จะว่าก็ว่าเถอะครับ ถ้าประเทศไหนลงมือกำหนดให้ "การเชื่อมโยง" ข้อมูลของกันและกันในอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าด้วยวิธีการใด เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ไปเสียหมด แถมห้ามไม่ให้เชื่อมโยงกันแบบพร่ำเพรื่อ หรือถ้าจะเชื่อมก็ต้องไปขออนุญาตเจ้าของก่อนทุกครั้ง ผมเดาว่า นักคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่นักกฎหมายในยุคไร้พรมแดนแบบนี้ หลายคน คงต้องหัวเราะกันทั้งน้ำตา แหง ๆ

    แล้วแทนที่จะเรียกอินเตอร์เน็ตว่า "ทางด่วนข้อมูล" ก็อาจต้องเปลี่ยนเป็น "สุสานข้อมูล" ที่ผู้ใช้ต้องไปตามหา ตามขุดจาก แต่ละหลุมกันเอาเอง


    image

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×