ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    กฎหมายคอมพิวเตอร์ 2550

    ลำดับตอนที่ #12 : (น่ารู้)นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ห่วงกฎหมายคอมพิวเตอร์ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.43K
      0
      23 ก.ย. 50

    นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ห่วงกฎหมายคอมพิวเตอร์ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล


    คปส.จัดสัมมนาวิพากษ์กฎหมายการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบการ เอ็นจีโอ และนักวิชาการห่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ชี้โทษตามกฎหมายนี้ร้ายแรงแต่กลับบัญญัติไว้ไม่ชัดเจน ทำให้ขณะนี้ตำรวจนำไปใช้เป็นช่องทางขูดรีดร้านอินเทอร์เน็ต

    สมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาเรื่อง “วิพากษ์กฎหมายสื่อฉบับใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” ในหัวข้อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กับผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าว รัฐบาลเร่งรีบออก และทั้งที่มีโทษอาญารุนแรง แต่การบังคับใช้กฎหมายกลับกำหนดไว้คลุมเครือ ระหว่างความผิดทางคอมพิวเตอร์กับความผิดทางอาญา แม้กฎหมายจะให้ความคุ้มครองทางสิทธิเสรีภาพ แต่กลับมีข้อยกเว้นโดยใช้ข้ออ้างความมั่นคงและเรื่องศีลธรรม จึงเห็นว่า กฎหมายที่บังคับใช้ เขียนคำนิยามไม่ชัดเจน จนอาจเกิดปัญหาการตีความ ในอนาคตรัฐบาลจะสามารถควบคุมโครงสร้างอินเทอร์เน็ตได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงควรออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนตัว

    ด้านนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายที่ออกมาทำให้รัฐเข้ามาเซ็นเซอร์มากขึ้น ในอดีตไทยมีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตสูงมาก ม็อบขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นการรวมตัวทางอินเทอร์เน็ตแล้วออกมาเคลื่อนไหว โดยเว็บไซต์ที่คนไทยให้ความสนใจสูง เป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาการเมือง อินเทอร์เน็ตจึงถือเป็นสื่อทางเลือก และเมื่อถูกปิดกั้น แคมฟร็อก จึงเป็นช่องทางใต้ดิน ซึ่งม็อบสนามหลวงขณะนี้ใช้เป็นช่องทางถ่ายทอดภาพและเสียง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีความพยายามจะปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ชุดใหญ่ โดยกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว คือ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการทำมาหากินทางเว็บไซต์ กฎหมายที่ปกป้องความมั่นคง ขณะที่กฎหมายที่จะใช้ปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชนกลับไม่ผ่านความเห็นชอบ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีบรรยากาศที่ประชาชนจะสามารถต่อสู้หรือต่อรองกับอำนาจรัฐได้

    ขณะที่นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า กฎหมายคอมพิวเตอร์มีการริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กฎหมายกำลังจะเข้าสภา แต่สุดท้ายก็เงียบ รัฐบาลนี้จึงพยายามผลักดันอีกครั้ง โดยร่างกฎหมายขึ้นใหม่มีการแก้ไขให้เปลี่ยนไปจากร่างเดิม ประมาณร้อยละ 90 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรา 20 ที่ให้อำนาจบล็อกเว็บไซต์ก็ได้รับการแก้ไข โดยไม่สามารถบล็อกเว็บไซต์การเมืองหรือเนื้อหาหมิ่นประมาทได้ ที่สำคัญการสั่งบล็อกเว็บไซต์จะทำได้เมื่อมีคำสั่งศาล และรัฐมนตรีต้องรับทราบ แต่เนื่องจากรัฐบาลนี้อ่อนการประชาสัมพันธ์ ทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจ ยืนยันว่าเว็บไซต์ที่จะถูกบล็อกได้ก็ต่อเมื่อมีเนื้อหาเป็นความผิดต่อองค์พระประมุข การก่อการร้าย และขัดต่อศีลธรรมอันดี เช่น เรื่องภาพลามกอนาจาร นอกเหนือจากนี้ไม่เข้าข่าย อีกทั้งกฎหมายยังมีบทลงโทษเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบอย่างเคร่งครัด แม้แต่ระดับอธิบดีก็ไม่สามารถใช้อำนาจเกินขอบเขตในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใต้บังคับบัญชาได้

    นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นชัดเจนในขณะนี้คือ ยังไม่มีกฎกระทรวง ทำให้ตำรวจเริ่มเข้าไปหากินกับร้านอินเทอร์เน็ต หากตรวจสอบพบว่ามีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ก็อ้างมาตรา 26 เรื่องไม่จัดเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ต
    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงได้ออกหนังสือเวียนภายใน ห้ามตำรวจเปรียบเทียบปรับ ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดพบปัญหาดังกล่าว ตนขอให้เก็บหลักฐานไว้ และตนพร้อมสู้คดีให้ และขอเรียกร้องให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เร่งออกกฎกระทรวงมาบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อป้องกันความผิดพลาดและความเสียหาย

    นายปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวยอมรับหลักการของกฎหมายนี้ แต่จะต้องประกาศให้ชัดเจนว่า เจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบเว็บไซต์ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการถูกยัดยาบ้าผ่านอินเทอร์เน็ต การยึดอายัติคอมพิวเตอร์ไปตรวจสอบจะต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบที่โปร่งใส ในส่วนของการจัดเก็บข้อมูลต้องชัดเจนว่าให้จัดเก็บอย่างไร ไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการมากเกินไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรดูแลตัวเอง เพื่อปกป้องผู้บริโภค ถ้าภาคเอกชนมีความเข้มแข็ง ภาครัฐก็จะถอยออกไปเอง ส่วนเรื่องการบล็อกเว็บไซต์ ขอให้มีประกาศชัดเจนว่าเว็บนี้ถูกบล็อกโดยคำสั่งศาล เพราะทำผิดเรื่องอะไร เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดี. –สำนักข่าวไทย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×