lenyaclub
ดู Blog ทั้งหมด

“เครื่องประดับ” อวัยวะชิ้นที่ 33 สำคัญไฉน ?

เขียนโดย lenyaclub

shutterstock_134817470

 

 

เครื่องประดับ” อวัยวะชิ้นที่ 33 สำคัญไฉน ?

 

การประดับร่างกายด้วยวัสดุหรือวัตถุต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในอารยธรรมของมนุษยชาติ ในยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์ใช้กระดูกสัตว์ เขี้ยวสัตว์ ขนสัตว์ หรือกระโหลกของสัตว์ มาใช้ประดับร่างกาย หลายพันปีต่อมา เมื่ออารยธรรมเจริญก้าวหน้าขึ้น มนุษย์ค้นพบแร่ธาตุ โลหะ และอัญมณี ก็ได้เกิดกระบวนการแปรรูปของมีค่าเหล่านั้น ให้กลายเป็นเครื่องประดับ ซึ่งผู้ที่ได้ครองครองและสวมใส่เครื่องประดับในสมัยก่อน ก็มักจะเป็นบุคคลชั้นสูง เช่น กษัตริย์ นักบวช นักรบชั้นสูง หรือ คหบดีผู้มั่งคั่ง

เพราะนอกจากการแสดงถึงสถานภาพ แสดงถึงอำนาจบารมีแล้ว เครื่องประดับยังแฝงไว้ด้วยความเชื่อต่างๆ เช่น คุ้มครองจากภัยอันตราย ,ป้องกันมนต์ดำ ,ป้องกันภูติผี ,เสริมสร้างความกล้าหาญ ,ดึงดูดความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนความเชื่อว่ามีอำนาจวิเศษในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูพลังชีวิต

ชุมชนโบราณบางแห่งเชื่อว่า ในโลกหลังความตาย “เครื่องประดับ”จะเป็นเครื่องหมายระบุตัวตนของผู้ตาย ว่าเป็นใคร เป็นคนในชนชั้นใด รวมทั้งยังเป็นเหมือน “ค่าผ่านทาง” ให้ยมทูตนำดวงวิญญาณไปสู่สคติภพอีกด้วย

ในปัจจุบัน “เครื่องประดับ” นอกจากจะยังคงสถานะของ “สิ่งสูงค่า” ซึ่งมีไว้สำหรับบุคคลชั้นสูงของประเทศ เช่น กษัตริย์แล้ว ยังเป็นวัตถุที่บ่งบอกฐานะและรสนิยมของผู้สวมใส่ เครื่องประดับที่โดดเด่นด้วยอัญมณี เช่น แหวนมรกต ,ต่างหูล้อมเพชร ,สร้อยทองคำขาวประดับจี้พลอยสีชมพู ล้วนดึงดูดสายตาผู้คนรอบข้าง และส่งเสริมให้ผู้สวมใส่โดดเด่นในหมู่คน

เมื่อเครื่องประดับเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งมี คนบางคนที่ไม่ได้มีฐานะแต่อยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนมีฐานะ ก็จะใช้เครื่องประดับเป็นตัวปกปิดฐานะที่แท้จริงของตนเอง

ในอีกความหมายหนึ่ง เครื่องประดับยังเป็นทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ โดยมีกฏเกณฑ์การตีราคาที่เป็นสากล และต่อรองตามความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย ดังนั้น ธุรกิจด้านเครื่องประดับและอัญมณีจึงเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาทในแต่ละปี

เมื่อมองย้อนกลับไปในกระบวนการผลิตและการค้าเครื่องประดับและอัญมณี จะพบว่า มีความสลับซับซ้อน มีผู้คนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการมากมาย เต็มไปด้วยการใช้เทคนิควิธีการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผสมผสานกับศิลปะ ภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย อาจกล่าวได้ว่า เครื่องประดับแต่ละชิ้น อัญมณีแต่ละเม็ด ต่างมีที่มา ต่างมีเรื่องราวของตัวมันเอง และเมื่อมันถูกจำหน่ายออกไป มันก็จะเริ่มต้นเรื่องราวใหม่พร้อมกับความทรงจำของเจ้าของคนใหม่ของมัน

เครื่องประดับมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แม้ว่า คนๆ นั้นจะเป็นคนที่ไม่นิยมสวมใส่เครื่องประดับ หรือไม่มีเครื่องประดับเป็นสมบัติส่วนตัวเลยแม้แต่ชิ้นเดียว แต่เมื่อถึงวันสำคัญของชีวิตอย่าง “วันแต่งงาน” เครื่องประดับหนึ่งชิ้น ที่ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญทันทีนั่นคือ “แหวนแต่งงาน” ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้าบ่าว หรือฝ่ายเจ้าสาว เครื่องประดับที่เรียกกันว่าแหวนแต่งงานนี้ คือสัญลักษณ์ของการครองคู่ คือเครื่องหมายแห่งคำมั่นสัญญาที่คนสองคนจะรักและมั่นคงต่อกัน

การให้ความหมายต่อวัตถุใดๆ เป็นค่านิยมทั่วไปสำหรับผู้คนในสังคม แต่วัตถุส่วนใหญ่นั้น เมื่อเวลาผ่านไป ย่อมเสื่อมค่าเสื่อมราคาลง แต่ “เครื่องประดับและอัญมณี” หากเก็บรักษาอย่างดี ยิ่งเวลาผ่านไป ราคากลับจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น คุณค่าในทางจิตใจอันเกิดจากความผูกพันก็สะสมเพิ่มขี้นตามกาลเวลา หากสูญเสียไปด้วยเหตุต่างๆ เช่น สูญหาย ถูกทำลาย จิตใจก็พลอยชอกช้ำไม่น้อยไปกว่าการสูญเสียสิ่งสำคัญอื่นๆ ในชีวิต

ดังนั้น หากจะกล่าวว่า เครื่องประดับคือ “อวัยวะชิ้นที่ 33” ก็น่าจะเป็นความหมายที่ไม่เกินจริงแต่อย่างใดเลย

 

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ หากต้องการคัดลอกหรือนำไปเผยแพร่ต่อ กรุณาติดต่อทีมงานบริษัทฯ webmaster@lenyajewelry.com

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น