การจะซื้อของขวัญให้คนที่เรารักสักชิ้น หากไม่มีโจทย์ หรือข้อกำหนดบางอย่างไว้บ้าง เช่น เขาน่าจะชอบแบบนี้ หรือไม่น่าจะชอบแบบนั้น การเลือกก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าของที่เราจะซื้อให้เขานั้นคือ “เครื่องประดับ” การเลือกก็ดูจะเพิ่มความยากมากขึ้นไปอีก

ลองพิจารณาตามขั้นตอนเหล่านี้ อาจช่วยให้คุณเลือกซื้อเครื่องประดับได้ถูกใจคนรับมากขึ้นในครั้งต่อไป

1.งบประมาณ แน่นอน การจะซื้อของใดๆ ย่อมต้องพิจารณาก่อนว่าในกระเป๋าเรามีเงินเท่าไร หากเครื่องประดับชิ้นนั้นสวยบาดใจ แต่ราคาเกินกว่างบประมาณ ก็คงต้องตัดใจ หันมาพิจารณาเท่าที่สตางค์เราอำนวยจะดีกว่า เพราะไม่มีผู้รับคนไหนจะดีใจที่เห็นเราเป็นหนี้เพราะซื้อของขวัญให้ อย่าลืมว่า ของที่มอบให้กันนั้น “ราคา” เป็นเรื่องแรกที่คนซื้อต้องคิด แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยสำหรับคนรับ

2.โอกาส เครื่องประดับนั้น แม้จะเป็นของขวัญชิ้นหนึ่ง แต่มันสามารถสร้างความประทับใจได้มากกว่าปกติธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้เครื่องประดับในโอกาสต่างๆ เช่น ครบรอบหนึ่งปีของการแต่งงาน ครบรอบหนึ่งปีของการคบกันเป็นแฟน หรือในโอกาสเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ย่อมสร้างความทรงจำให้กับผู้รับได้มากกว่าของขวัญทั่วไป แต่ถ้าไม่ใช่โอกาสพิเศษ ของขวัญชิ้นนี้อาจจะไม่เปล่งประกายมากเท่าที่ควร

3.ไลฟ์สไตล์ของผู้รับ หากผู้รับเป็นคนเรียบๆ ง่ายๆ เครื่องประดับก็ไม่ควรจะดูหวือหวา แต่ถ้าผู้รับเป็นคนชอบสังคม ชอบแต่งตัว เครื่องประดับที่ดูโดดเด่นก็น่าจะโดนใจมากกว่า นอกจากนี้ หากผู้รับเป็นคนที่มีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเองมาก เช่น นักดนตรี คนทำงานศิลปะ การเลือกเครื่องประดับก็อาจจะต้องใช้ความจำเพาะเจาะจงเพิ่มขึ้นอีกหน่อย

4.ดีไซน์ของเครื่องประดับ เป็นอีกสิ่งที่สามารถสื่อความหมายแทนใจผู้ให้ได้ เช่น หากจะมอบเครื่องประดับให้คนที่เรารัก ดีไซน์รูปหัวใจย่อมเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่ง หรือหากจะมอบให้คนที่เราเคารพนับถือ ดีไซน์รูปมงกุฎหรือรูปทรงเพชรที่สื่อถึงอำนาจ ก็น่าสนใจ

5.อัญมณี อัญมณีแต่ละชนิดก็มีความหมาย มีความเชื่อในพลังอำนาจที่แตกต่างกันไป เราควรให้เครื่องประดับที่มีอัญมณีที่เหมาะสมกับ ราศี ปีเกิด ของผู้รับ ซึ่งจะเป็นการสื่อความหมายที่ดี

6.การสวมใส่ได้หลายโอกาส แม้ว่าเครื่องประดับอาจถูกมองว่าไม่ได้มี function ในการใช้งานได้มากมายนัก แต่หากเป็นเครื่องประดับที่พิจารณาแล้ว สามารถสวมใส่ได้ในหลายโอกาสก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้รับ เช่น ปากกาประดับเพชร กระจกประดับพลอย เป็นต้น

หากพิจารณาได้ตาม 6 ข้อนี้ ก็เชื่อได้ว่า น่าจะได้เครื่องประดับที่ใกล้เคียงกับความชอบของผู้รับ

คนเป็นจำนวนมากไม่ได้นิยมสะสมและสวมใส่เครื่องประดับ ดังนั้นเมื่อได้รับเครื่องประดับเป็นของขวัญ จึงมักจะเก็บใส่ตู้ไว้มากกว่าจะหยิบมาใส่ แต่กระนั้น เครื่องประดับที่ได้รับก็ย่อมเป็นเครื่องแทนใจที่ “สื่อความหมาย” จากผู้ให้ ที่ผู้รับสามารถสัมผัสและรับรู้ได้ทุกครั้งที่ได้เห็น

ความสำคัญของ เครื่องประดับที่ได้มอบให้นั้น อาจไม่ได้อยู่ที่การใช้งาน แต่อยู่ที่การรับรู้ถึงความหมาย และการซาบซึ้งถึงความปรารถนาดีที่มีให้กันตลอดไป

 

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ หากต้องการคัดลอกหรือนำไปเผยแพร่ต่อ กรุณาติดต่อทีมงานบริษัทฯ webmaster@lenyajewelry.com