ruby

ในจำนวนเจ็ดสิบหกจังหวัดของประเทศไทย มีความแตกต่างหลากหลายกันออกไปมากมายหลายอย่าง แต่ถ้าถามถึงเรื่อง “อัญมณี” จังหวัดทีโดดเด่นที่สุดในด้านนี้คือ “กาญจนบุรี” และ “จันทบุรี”

กาญจนบุรีนั้น นับเป็นเมืองแห่งอัญมณีด้านตะวันตกติดชายแดนประเทศพม่า แต่หากเป็นด้านตะวันออก ซึ่งติดกับทะเล ย่อมต้องหมายถึงจังหวัด “จันทบุรี”

จันทบุรีเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี มีการสร้างบ้านเมืองมาตั้งแต่ก่อนสมัยจะรวมเป็นราชอาณาจักรไทย ผ่านศึกสงคราม การผลัดเปลี่ยนผู้ปกครอง จนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสอยู่นานถึง 11 ปีก่อนจะกลับมาเป็นของไทย และเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกมาจนถึงปัจจุบัน

จันทบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมือง “หลากมิติ” คือนอกจากจะมีทั้งการทำเกษตร ปลูกไม้ผล ทำไร่ ทำการประมง และการท่องเที่ยวแล้ว จันทบุรียังมีอุตสาหกรรมที่สำคัญมากนั่นคือ “อุตสาหกรรมพลอย”

เมืองจันทบุรีมีชื่อเสียงด้านการทำพลอยมาเนิ่นนานสืบย้อนไปได้ไกลถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้ชื่อว่าเป็น “อัญมณีแห่งทะเลอ่าวไทย” เนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาของจังหวัดจันทบุรี เอื้ออำนวยให้เกิดแร่ธาตุหลายประเภท เช่น แร่ทรายแก้ว ,หินออ่น,แร่ควอตซ์ ,แร่ดินขาว และรัตนชาติที่มีชื่อเสียง เช่น พลอยสีแดง พลอยสีน้ำเงิน พลอยสีเหลือง พลอยสีขาว  โดยเฉพาะพลอยสีแดงนั้น คือที่มาของชื่อ “ทับทิมสยาม”ซึ่งเป็นอัญมณีสูงค่าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

การกำเนิดของพลอยแต่ละเม็ดนั้น ต้องใช้เวลานานนับร้อยล้านปี เริ่มต้นจากลาวาร้อนระอุปะทุขึ้นสู่ผิวโลก เมื่อแข็งตัวก็กลายเป็นหินอัคนีเนื้อละเอียดที่เรียกว่าหินบะซอลต์ ( Basalt ) แต่ในขณะที่ลาวายังอ่อนตัวอยู่ถ้าได้สัมผัสดูดซับแร่อลูมินา(Alumina )ในหินฟิลไลต์ (Phylite)ที่อยู่ใกล้เคียง และได้ผสมกับออกซิเจนในบรรยากาศโลกในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะกลายเป็นผลึกอะลูมิเนียมออกไซด์ปราศจากสี เรียกว่าแร่คอรันดัม(Corundum)ที่มีความแข็งสูงมาก เป็นรองแค่เพชรเท่านั้น

แร่คอรันดัมจะกลายเป็นพลอยหลากสีในสกุลแซฟไฟร์ (Sapphire)เมื่อมีแร่ธาตุอื่นๆ เข้าไปผสมอยู่ในเนื้อ ก็จะแปรสภาพให้พลอยมีสีแตกต่างหลากหลาย เช่น เมื่อมีแร่เหล็กและไทเทเนียมปนอยู่จะกลายเป็นสีน้ำเงิน ,ถ้ามีโครเมียมปนอยู่จะกลายเป็นสีชมพู และถ้ามีโครเมียมปนในปริมาณจะกลายเป็นสีแดง

จังหวัดจันทบุรีมีพลอยหลากสีกระจายตัวอยู่ทั่วจังหวัด จึงทำให้เกิดแหล่งพลอยมากมายหลายแห่ง สร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านเป็นจำนวนมาก การขุดพลอยและร่อนพลอย ไม่ใช่ใครก็ทำได้ แต่ต้องใช้ประสบการณ์ใช้ความรู้เฉพาะด้าน รวมทั้งความอดทนไม่ยอมแพ้ จึงจะสามารถค้นพบพลอยเม็ดงามได้

เมื่อได้พลอยเม็ดงามแล้ว ผู้ที่ขุดพบจะนำไปขายต่อให้กับผู้รับซื้อที่ “ถนนอัญมณี”ในตัวอำเภอเมือง ซึ่งมีการซื้อขายกันทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ซึ่งมีบรรยากาศที่คึกคัก และมีมูลค่าการซื้อขายนับสิบล้านบาทต่อวัน จากนั้นพลอยเม็ดงามก็จะเข้าสู่กระบวนการเจียรนัย และนำไปประกอบเป็นเครื่องประดับที่สวยงาม

ในแต่ละปี การซื้อขายพลอยในจังหวัดจันทบุรี มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดจันทบุรีและประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ชื่อเสียงและความงามของ “พลอยเมืองจันทน์”เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่คนไทยเอง ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยสนใจ ไม่เคยชื่นชม

หากสุดสัปดาห์นี้ เรายังไม่มีโปรแกรมจะไปไหน การไปเที่ยวจังหวัดจันทบุรีซึ่งอยู่ห่างกรุงเทพฯ เพียงสองร้อยกว่ากิโลเมตร น่าจะให้เราได้ครบทั้งชิมผลไม้รสเลิศราคาถูก อาหารอร่อย ทะเลงาม โบราณสถาน และชื่นชมกับความงามของ “ทับทิมสยาม” พลอยสีแดงสดที่ได้รับการยกย่องให้ทัดเทียมเพชรน้ำงาม

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ หากต้องการคัดลอกหรือนำไปเผยแพร่ต่อ กรุณาติดต่อทีมงานบริษัทฯ webmaster@lenyajewelry.com