b_bigbike
ดู Blog ทั้งหมด

ลักษณะและนิสัย แมวไทย ทั้ง 6 สายพันธุ์

เขียนโดย b_bigbike

“แมวไทย” (Siamese Cat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Felis silvestris catus แมวไทยจัดเป็นแมวพันธุ์แท้ ที่สืบเชื้อสายมาจากแมวโบราณ เป็นสัตว์ขนสั้นที่สวยสง่าที่สุดในโลก ในฐานะหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติไทย นอกจากนี้รูปร่างลักษณะที่สวยงามของแมวไทยแล้ว สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างของแมวไทยก็คือ อุปนิสัย ที่รักอิสระ ฉลาด เป็นตัวของตัวเอง รักบ้าน รักเจ้าของ ทั้งหมดเมื่อมารวม ๆ กันทำให้ แมวไทย ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทั้งในบ้านเราเองและต่างประเทศ เราทุกคนจึงควรมีหน้าที่ดูแลและมอบความรักให้กับ แมวไทย ทุกสายพันธุ์ เพื่อให้แมวไทยยังคงอยู่คู่ประเทศของเราไปอีกนาน

ที่มาของแมวไทย

สำหรับที่มาของ แมวไทย ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า แมวไทย นั้นมีจุดกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือมีทั้งสิ้นกี่สายพันธุ์กันแน่ แต่ตามสมุดข่อยโบราณระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า แมวไทย ในสมัยอยุธยานั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 23 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็นแมวให้คุณทั้งสิ้น 17 สายพันธุ์ ดังนี้ วิเชียรมาศ ศุภลักษณ์ มาเลศ โกนจา นิลรัตน์ วิลาศ เก้าแต้ม รัตนกำพล นิลจักร มุลิลา กรอบแว่น ปัดเสวตร กระจอก สิงหเสพย์ การเวก จตุบท และแซมเศวตร โดยมีแมวให้โทษอีกทั้งสิ้น 6 สายพันธ์คือ ทุพลเพศ พรรณพยัคฆ์ ปีศาจ หิณโทษ กอบเพลิง และเหน็บเสนียด

เหตุที่แบ่งเป็นแมวให้คุณกับแมวให้โทษนั้น เป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณโดยดูจากบุคลิกลักษณะของแมวไทยแต่ละสายพันธุ์ ว่าเลี้ยงแล้วจะนำสิ่งที่ดี ๆ หรือสิ่งชั่วร้ายมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ ถัดจากบันทึกในสมัยอยุธยา เรื่องราวของแมวไทยก็ได้หายไปจากหลักฐานต่าง ๆ จนกระทั่งมาปรากฏอีกทีในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระองค์ได้ทรงพระราชทานแมวไทยสายพันธุ์วิเชียรมาศคู่หนึ่งให้กับกงสุลอังกฤษ

ซึ่งกงสุลอังกฤษคนนั้นได้นำ แมวไทย ไปประกวดที่ประเทศอังกฤษโดยผลปรากฏว่าแมวไทยชนะเลิศในประเภทแมวขนสั้น ส่งผลให้แมวไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทั้งนี้ในสมัยนั้นแมวไทยจะเลี้ยงอยู่ในวังเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นแมวพันธุ์วิเชียรมาศ ชาวบ้านธรรมดาไม่มีสิทธิ์ในการเลี้ยงแมวไทย และห้ามไม่ให้ซื้อขายแมวไทยกันด้วย

กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน จากเดิม แมวไทย มีทั้งสิ้น 23 สายพันธุ์ ทุกวันนี้แมวไทยเหลือเพียง 6 สายพันธุ์เท่านั้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแมวไทยในวังเริ่มลดจำนวนลง แมวกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่กระจัดกระจายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ในวัด หรือตามบ้านเรือนประชาชน ขาดการควบคุมดูแลอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทำให้แมวไทยไปผสมกันเองตามธรรมชาติจนเกิดการข้ามสายพันธุ์ ในยุคหลัง ๆ แมวไทยเดิมพันธุ์แท้ เริ่มหายากเข้าไปทุกที จนสุดท้ายเริ่มหมดไปเรื่อย ๆ เหลืออยู่เพียง 6  สายพันธุ์

ลักษณะและนิสัย แมวไทย

“แมวไทย” (Siamese Cat) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กินเนื้อเป็นอาหาร มีเขี้ยว และเล็บแหลมคมสามารถหดซ่อนเล็บได้เช่นเดียวกับเสือ โดยทั่วไป ศีรษะไม่กลมหรือแหลมจนเกินไป หน้าผากกว้าง จมูกสั้น หูตั้งสั้น ลำตัวเพรียวบาง รูปร่างขนาดปานกลาง ขายาวเรียวได้ส่วนกับลำตัว ขนแน่นอ่อนนุ่มไปทั้ง เรือนร่าง หางยาว โคนหางใหญ่ปลายหางเรียวแหลมชี้ตรง และมีสีสันงดงามแปลกตา

ด้านนิสัย แมวไทย มีอุปนิสัยที่โดดเด่น คือ มีความฉลาด มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิด รู้จักประจบ รักบ้าน รักเจ้าของ และเหนืออื่นใด คือ รักความอิสระเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกประจำตัวที่ทำให้แตกต่าง จากแมวพันธุ์อื่น

แมวไทยที่หลงเหลือในปัจจุบันทั้ง 6 สายพันธุ์ มีดังนี้

1. แมววิเชียรมาศ : ตรงกับความหมายว่า เพชรแห่งดวงจันทร์ หรือ Moon Dimond แมววิเชียรมาศเป็นแมวไทยชนิดแรกที่ฝรั่งรู้จัก และตั้งชื่อว่า SIAMESE CAT หรือ SEAL POINT (แมวแต้มสีครั่ง)

ลักษณะประจำสายพันธุ์ แมววิเชียรมาศ มีขนสั้นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน มีแต้มสีน้ำตาลไหม้ที่บริเวณใบหน้า หูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่ หางและที่อวัยวะเพศ รวม แห่ง หัวไม่กลมหรือแหลมเกินไป หน้าผากใหญ่และแบน จมูกสั้น หูตั้งใหญ่ มีนัยน์ตาสีฟ้า หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง ขายาวเรียวได้ส่วนกับลำตัว

2. แมวขาวมณี : ขาวมณี (ขาวปลอด) เป็นแมวไทยพันธุ์แท้ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมากที่สุด แม้ว่าแมวขาวมณีไม่มีบันทึกในสมุดข่อยโบราณ แต่หาหลักฐานได้ตามจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่าง ๆ ในเขต ธนบุรี เช่น ในอุโบสถวัดทองนพคุณ

ลักษณะประจำสายพันธุ์ แมวขาวมณี ขนสั้นสีขาวตลอดทั้งตัว หัวไม่กลมหรือแหลมเกินไป หน้าผากใหญ่และแบน จมูกสั้น หูตั้งใหญ่ มีนัยน์ตาสีฟ้า หรือสีเหลืองอำพัน ถ้านำแมวตาสีฟ้าและตาสีเหลืองมาผสมกัน จะได้แมวขาวมณีตา สี คือสีฟ้าข้างหนึ่งและสีเหลืองอำพันข้างหนึ่ง หางยาว ปลายหางแหลมชี้ตรง ขายาวเรียวได้ส่วนกับลำตัว

3. แมวสีสวาด : สีสวาดหรือแมวโคราชหรือ แมวมาเลศ หรือแมวดอกเลา เป็นแมวที่พบที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือเรารู้จักกันในนามว่าโคราช

ลักษณะประจำสายพันธุ์ แมวสีสวาด มีขนสั้น สีสวาด (Silver blue) ตลอดทั้งตัว หัวเป็นรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่และแบน หูใหญ่ตั้ง ปลายหูมน ผิวหนังที่บริเวณจมูกและริมฝีปากสีเงิน หรือม่วงอ่อน มีนัยน์ตาสีเขียวสดใสหรือสีเหลืองอำพัน หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง ขายาวเรียวได้ส่วนกับลำตัว

4. แมวโกญจา : แมวโกญจาหรือบางที่เรียกว่า โกนจา เป็นแมวสีดำสนิทตลอดทั้งตัว ขนสั้น และไม่มีสีอื่นใดปะปนเลยแม้แต่น้อย มีขนเส้นเล็กและนุ่ม ส่วนหัวของแมวชนิดนี้มีลักษณะกลมแต่ไม่โตมากนัก มีปากที่เรียวแหลม หูตั้ง หางยาว ปลายหางแหลมตรง ตาเป็นสีเหลืองอมเขียว ลักษณะรูปร่างที่สมส่วน คล่องแคล่ว

ลักษณะประจำสายพันธุ์ แมวโกญจา มีขนสั้น สีดำตลอดทั้งตัว หัวกลมไม่ใหญ่มาก หูใหญ่ตั้ง มีนัยน์ตาสีเหลืองอมเขียว หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง ขายาวเรียวได้ส่วนกับลำตัว

5. แมวศุภลักษณ์ : คนต่างชาติมักเข้าใจว่าแมวทองแดงเป็นแมวพม่า เนื่องจากปี พ.ศ. 2473 ดร.โจเซฟ ซี ทอมสัน ชาวอเมริกัน ได้นำแมวตัวเมียสีน้ำตาลจากประเทศพม่ากลับไปจดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษและตั้งชื่อว่า Burmese Cat หรือแมวพม่า แต่สำหรับคนไทยถือว่าแมวทองแดงเป็นแมวไทย เนื่องจากโครงสร้างและลักษณะนิสัยเป็นแบบฉบับแมวไทย

ลักษณะประจำสายพันธุ์ แมวศุภลักษณ์ มีขนสั้น สีน้ำตาลเข้มคล้ายสีสนิม (สีทองแดง) ส่วนหู ใบหน้า ปลายขา หาง จะมีสีน้ำตาลเข้มกว่าบริเวณลำตัวทั่วๆ ไป หัวค่อนข้างกลมและกว้าง หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง หูตั้งใหญ่ มีนัยน์ตาสีเหลืองอำพันหางยาว ปลายหางแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขาวยาวเรียวได้ส่วนกับลำตัว

6. แมวแซมเสวตร : แซมเสวตร (แปลว่า แซมสีขาว)  เชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ในหลายปีที่ผ่านเริ่มค้นพบว่ายังมีเหลืออยู่

ลักษณะประจำสายพันธุ์ แมวแซมเสวตร มีขนสีดำแซมด้วยสีขาวไปทั้งตัว แต่ขนบางและค่อนข้างสั้น ส่วนหัวไม่กลม หรือแหลมเกินไป หูตั้งใหญ่ มีนัยน์ตาสีเขียวอมเหลืองเหมือนแสงหิ่งห้อย หางยาว ปลายหางแหลมชี้ตรง ขายาวเรียวได้ส่วนกับลำตัว

ภูมิปัญญาการพัฒนาสายพันธุ์แมวไทย

สืบเนื่องจากคนไทยมีความเชื่อว่าแมวแต่ละชนิดให้คุณแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงมีการผสมพันธุ์เพื่อรักษาสายพันธุ์แท้ โดยผสมพันธุ์แมวสายพันธุ์เดียวกันแต่ไม่เป็นเครือญาติกัน เพื่อป้องกันการเกิดเลือดชิด ทำให้ได้ลูกแมวที่มีความแข็งแรง มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์แท้ ในปัจจุบันถือว่า แมวไทย สายพันธุ์แท้มีอยู่เพียง 5 สายพันธุ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์แมวไทยให้คงอยู่ จึงมีการสืบเสาะตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหา แมวไทย ที่มีลักษณะใกล้เคียงพันธุ์แท้มาใช้ในการผสมพันธุ์ เพื่อให้เกิดระดับพันธุ์แท้ที่สูงขึ้น

หลังจากนั้นวางแผน การผสมพันธุ์ภายในเครือญาติ และคัดเลือกพันธุ์ให้ตรงกับสายพันธุ์ รวมทั้งคัดเลือกลักษณะความแข็งแรงด้วย จนกระทั่งถึงชั่วรุ่นที่ 8 จึงถือว่าเป็นแมวไทยพันธุ์แท้ ผู้เลี้ยงได้ใช้ความรู้ดั้งเดิมว่าด้วยลักษณะเด่นของแมวไทย สายพันธุ์ต่างๆ ในการคัดเลือกพันธุ์ เพื่อจับคู่ผสมพันธุ์เพื่อให้เกิดลักษณะที่ต้องการ

ภูมิปัญญาการเลี้ยงแมวไทย

แต่เดิมผู้เลี้ยงแมวไทย จะเลี้ยงด้วยอาหารที่ปรุงขึ้นเองในครัว ได้แก่ ข้าวคลุกปลาทู เนื่องจากเป็นอาหารที่หาได้ง่าย แมวเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเลือกกิน ดังนั้นอาหารที่ให้ต้องมีกลิ่นหอม การสับเปลี่ยนอาหารจะทำให้แมวไม่เบื่ออาหาร ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ของแมวได้มีการถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สืบต่อกันมา การเลี้ยง แมวไทย จะนิยมเลี้ยงตามลักษณะแมวให้คุณตามตำราแมวโบราณว่า การเลี้ยงแมวตามลักษณะที่ดีต้องดูแลอย่างดีไม่ให้ดุด่า ทำร้ายทุบตีแมว แต่ต้องจัดอาหารใส่ภาชนะดีๆ ให้กิน อาบน้ำทาแป้ง ประพรมด้วยเครื่องหอม แมวก็จะให้คุณแก่ผู้เลี้ยง แต่หากเลี้ยงไม่ดีก็อาจส่งผลให้เกิดโทษได้

ปัจจุบันสายพันธุ์ แมวไทย มีการสูญหายคงเหลือเพียงไม่กี่ชนิด จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการอนุรักษ์สายพันธุ์ แมวไทย เพาะพันธุ์จนได้สายพันธุ์ แมวไทยแท้ กระทั่งมีการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ แมวไทย เช่น ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ให้บุคคลที่สนใจเข้าชมและศึกษาสายพันธุ์ แมวไทย ที่อนุรักษ์ไว้

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น