“เห็บสุนัข” ศัตรูที่อยู่คู่กับน้องหมา เพื่อนๆหลายคนที่บ้านมีน้องหมาหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ อาจเคยประสบกับปัญหาเจ้าปรสิตตัวร้ายอย่าง "เห็บ" กันมาบ้างแล้ว ซึ่งจะพบกันบ่อยๆในบ้านที่มีสุนัขหรืออาจพบได้ทั่วไปบนตัวสุนัขจรจัดเกือบทุกตัว ถ้างั้นเรามาดูกันดีกว่า ว่าเจ้าเห็บอันตรายต่อน้องหมาขนาดไหน

เห็บสุนัข (Brown dog tick) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhipicephalus sanguineus ซึ่งแตกต่างจากแมลงทั่วไป คือตัวเต็มวัยมีแปดขาเหมือนแมงมุมแต่เห็บจะไม่มีส่วนหัวยื่นออกมา มีเฉพาะปากที่ยื่นเพื่อใช้แทงเข้าใต้ผิวหนังและเกาะแน่นบนตัวสุนัขแล้วดูดเลือดเป็นอาหาร ลักษณะของเห็บแบ่งได้เป็นสองชนิด คือตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ลักษณะทั่วไปของเห็บสุนัข

เห็บสุนัข มีแปดขา สีแดงอมน้ำตาล แต่เมื่อกินเลือดจนอิ่มสีจะเปลี่ยนเป็นเทาๆ ส่วนที่เราเห็นกันเป็นตัวกลมๆสีเทาเกือบเท่าเมล็ดถั่ว นั่นคือตัวเมียที่มีไข่ในท้องพร้อมจะขยายพันธุ์ได้แล้ว เมื่อเห็บตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์และกินเลือดจนอิ่มตัวเป่งแล้ว มันจะถอนส่วนปากและออกจากตัวสัตว์เลี้ยงไปเพื่อไปวางไข่ สถานที่เหมาะสมที่มันต้องการคือตามมุมอับต่างๆ หรือที่มืดและชื้น เห็บตัวเมียสามารถไต่ผนังที่ตั้งฉากได้ ดังนั้นบางทีซอกรอยแตกตามผนังต่างๆหรือแม้แต่รูกุญแจมันก็สามารถไปวางไข่ได้

วงจรชีวิตของเห็บ

เห็บตัวเมียสามารถวางไข่ได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งจะกินเวลาเป็นสิบๆวัน ไข่ทั้งหมดจะมีจำนวนประมาณ 2,000-6,000 ฟอง เมื่อวางไข่เสร็จ ตัวเมียจะแห้งเหี่ยวตายไปเอง สามสัปดาห์ผ่านไป ไข่ทั้งหมดจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนซึ่งจะมีเพียงหกขาแต่สามารถเคลื่อนที่ได้ว่องไวมาก ตัวอ่อนทั้งหมดจะหาตัวสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ เพื่อขึ้นไปกินเลือดประมาณ 2-3 วัน เมื่ออิ่มแล้วจะปล่อยตัวเองลงมาเพื่อไปหาที่ลอกคราบ เพื่อเป็นตัวกลางวัยซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแปดขา ทำเช่นนี้สลับไปจนโตเต็มวัยและสามารถขยายพันธุ์ได้ วงจรชีวิตของเห็บจะสมบูรณ์ได้ภายในเวลา 45-50 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ

วิธีการดึงเห็บสุนัขออก ให้จับบริเวณปากเห็บที่กำลังกัดแล้วดึงขึ้นให้ส่วนหัวหลุดออกให้หมด นำไปแช่ในน้ำมัน ไม่ควรกำจัดด้วยการบีบให้แตกเพราะมีเชื้อโรคต่างๆ (ความเชื่อที่ว่าบีบแล้วลูกในท้องจะแตกออกมาไม่จริง ไข่ที่ออกมาจากการบีบไม่สามารถฟักได้) 

  • จะเห็นได้ว่าเห็บสุนัขสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วและง่ายมาก ถ้าขยายพันธุ์สำเร็จครั้งนึงจะมีเห็บเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นพันๆตัว นอกจากนี้เห็บยังสามารถทำให้น้องหมาหรือสัตว์เลี้ยงของเราป่วยเป็นโรคต่างๆได้ เช่น โรคโลหิตจาง โรคผิวหนัง โรคตับ โรคไต โรคพยาธิในเม็ดเลือด เป็นต้น ควรกำจัดและป้องกันควบคู่กันอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีหลายทางเลือกไม่ว่าจะเป็นยาหยอด สเปรย์ แป้ง แชมพู สำหรับกำจัดเห็บบนตัวสัตว์เลี้ยงหรือรอบๆบ้าน (แต่ควรเลือกยี่ห้อที่เชื่อถือได้และปลอดภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง ถ้าไม่แน่ใจว่าปลอดภัยหรือไม่ ควรปรึกษาสัตวแพทย์)

การกำจัดเห็บสุนัข ดังนั้นเริ่มต้นง่ายๆเลย ลองกลับไปดูน้องหมาหรือสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ว่าเค้ามีเห็บอยู่บนตัวหรือไม่ มีอาการเกาผิดปกติหรือเปล่า ถ้ามีควรรีบกำจัดทั้งบนตัวสัตว์เลี้ยงเองและบริเวณรอบๆที่อยู่ หรือถ้ายังไม่มีควรป้องกันและดูแลอย่างสม่ำเสมอ อย่านิ่งนอนใจว่า “อุ้ย..มีสองสามตัวเอง ไม่เป็นไรหรอก” ปล่อยไว้อีกทีน้องหมาอาจจะมีเห็บเยอะแยะจนกำจัดยากหรือป่วยไปแล้วก็ได้

ที่มา http://petsocietythailand.com/?p=2357