การศึกษาของนักวิจัยสหรัฐฯ พบว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการและโซดาที่เสริมฟอสเฟตเพื่อ “ความซ่า” นั้น ได้เร่งสัญญาณ “ความแก่” ในหนูทดลอง อาทิ โรคไต ภาวะแคลเซียมเกาะผนังเส้นเลือดหัวใจ อีกทั้งยังเร่งความเสื่อมต่อกล้ามเนื้อและผิวหนังอย่างรุนแรง “คนเราต้องการอาหารเพื่อสุขภาพและการรักษาความสมดุลของฟอสเฟตในอาหาร อาจเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาว หลีกเลี่ยงฟอสเฟตทีเป็นพิษแล้วเป็นสุขกับชีวิตที่มีสุขภาพดี” ไซน์เดลีระบุคำพูดของ ดร.นพ.ชอว์กัท ราซแซค (Shawkat Razzaque) จากภาควิชาการแพทย์ การติดเชื้อและภูมิคุ้มกัน (Department of Medicine, Infection and Immunity) จากมหาวิทยาลัยทันตแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard School of Dental Medicine) สหรัฐฯ ราซแซคและคณะได้ศึกษาผลกระทบจากการได้รับฟอสเฟตปริมาณสูงในหนู 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นหนูที่ไม่มียีน “โกลโธ” (klotho) ซึ่งเป็นสาเหตุให้ระดับฟอสเฟตเป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งหนูกลุ่มนี้มีชีวิตอยู่ได้ 8-15 สัปดาห์ กลุ่มถัดมาเป็นหนูที่ขาดยีนโกลโธและยีน NaPi2a พบว่าร่างกายหนูมีฟอสเฟตในระดับต่ำ และหนูกลุ่มนี้มีอายุได้ 20 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ขาดยีนเช่นเดียวกับหนูกลุ่มที่ 2 แต่กลุ่มนี้ได้รับอาหารที่ฟอสเฟตสูง ซึ่งพบว่าหนูกลุ่มสุดท้ายตายหมดภายใน 15 สัปดาห์ งานวิจัยนี้ชี้ว่าฟอสเฟตมีความเป็นพิษต่อหนูและอาจมีผลกระทบเดียวกันต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ซึ่งรวมถึงมนุษย์ด้วย “โซดาคือพาหนะลำเลียงคาเฟอินของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก แต่มีฟอสเฟตเป็นผู้โดยสารมาด้วย งานวิจัยนี้ชี้ว่าความสมดุลของฟอสฟอรัสในร่างกายเรานั้นมีอิทธิพลต่อกระบวนการแก่ ดังนั้นอย่าให้ทิปแก่มันเลยนะ” นพ.เจอรัลด์ ไวสส์แมนน์ (Gerald Weissmann) บรรณาธิการวารสารฟาเซบ (FASEB) ซึ่งเผยแพร่ผลงานวิจัยนี้ให้ความเห็น ทั้งนี้ งานวิจัยของราซแซคพบระดับฟอสเฟตสูงในอาหารผ่านกระบวนการและเครื่องดื่มโซดา รวมถึงน้ำอัดลมด้วย
|
|
|
|
|
|
ความคิดเห็น