5 ข้อควรรู้ต่อไปนี้คือวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหากคุณทำสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆเปียกน้ำ ซึ่งบางข้ออาจเป็นวิธีที่คุณคาดไม่ถึงมาก่อน
1. อย่า(พยายาม)ใช้งานต่อ
แปลไทยเป็นไทยคือให้รีบปิดเครื่อง เพราะไม่ว่าสมาร์ทโฟนของคุณยังทำงานได้อยู่แม้จะเปียกน้ำเพียงใด แต่ตาเปล่าไม่อาจมองทะลุได้ว่ามีน้ำบางหยดที่หลงเข้าไปในส่วนวงจรไฟฟ้าของเครื่องหรือไม่ ดังนั้นอย่าประมาทด้วยการใช้งานต่อไปแบบปิดตาข้างเดียว เพราะโอกาสเกิดเหตุเครื่องช็อตตามมานั้นมีสูง ซึ่งทำให้ความเสียหายเล็กน้อยอาจจะขยายเป็นความเสียหายที่ใหญ่ขึ้น
2. เขย่าพอช่วยได้
สิ่งที่ควรทำต่อมาคือพยายามสลัดน้ำออกจากเครื่องให้มากที่สุด การเขย่านั้นเป็นข้อควรปฏิบัติพื้นฐานที่ช่วยสลัดน้ำออกจากเครื่องได้จริง ซึ่งง่ายและทำได้ทุกคน
3. ร้อนยิ่งอันตราย
ความคิดอันดับ 1 ของคนทั่วไปในการกำจัดความชื้นจากอุปกรณ์ใดๆนั้นคือการใช้ไดร์เป่าผม แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้ไดร์ฟเป่าผมนั้นอาจสร้างความเสียหายกับเครื่องมากกว่าจะซ่อมแซม เพราะน้ำกับไฟฟ้านั้นบางครั้งไม่ทำปฏิกิริยากัน แต่เมื่อมีความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นจะมีปฏิกิริยาแน่นอน
ลักษณะการใส่ถุงกันความชื้น Silica Packets ในถุงพลาสติก เพื่อแทรกสมาร์ทโฟนที่เปียกน้ำไว้ภายใน
4. คลายชื้นด้วยถุง "ซิลิกาพ็อคเก็ต"
ถุงกันความชื้น Silica Packets ที่มักมีคำว่า “Do not eat!” เตือนไว้ว่าห้ามรับประทานนี้เองที่เป็นสุดยอดของการช่วยชีวิตสมาร์ทโฟนเปียกน้ำ ถุงกันชื้นที่เรามักพบในกระเป๋าเครื่องหนัง ห่อขนม รวมถึงในกีตาร์นี้มีประโยชน์มากในการดึงความชื้นออกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นแทนที่จะทิ้ง แต่ให้คุณรวบรวมถุงกันชื้นเหล่านี้ราว 20 ถุงแล้วใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่พอสมควร จากนั้นค่อยนำสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทรกไว้ภายใน ระยะเวลาที่ควรแช่ไว้คือ 24-48 ชั่วโมง จึงจะได้ผลดี
"ข้าว" วัสดุที่ใช้แทนถุงกันชื้นได้อย่างดี
5. ข้าวเม็ดใช้แทนถุงกันชื้น
ในทางทฤษฎี ถุงกันชื้นนั้นดีที่สุดในการกำจัดความชื้นสมาร์ทโฟน แต่ในทางปฏิบัติใครหนอจะมีถุงกันชื้นถึง 20 ถุงเป็นของสะสม หากมีเหตุสุดวิสัย เดินเข้าครัวแล้วใช้ข้าวแทนถุงกันชื้นเหล่านี้ คุณอาจจะนำข้าวสารใส่ถุงพลาสติกแล้วแทรกสมาร์ทโฟนที่เปียกไว้ภายใน ซึ่งควรทิ้งไว้มากกว่า 24 ชั่วโมงเช่นกัน
สรุป 5 คาถาควรจำคือ อย่าใช้งานต่อ-เขย่าพอช่วยได้-ร้อนยิ่งอันตราย-คลายชื้นด้วยถุงซิลิกาพ็อคเก็ต-ข้าวเม็ดกันชื้นดี ส่วนคาถาข้อ 6 คือ"ส่งเข้าศุนย์" เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งในกรณีที่สถานการณ์เครื่องยังไม่น่าไว้วางใจ
ที่มา http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000046180
ความคิดเห็น